ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์
หมวดที่๑๑
ว่าด้วย การมีสังวร
236_2
ผู้ชี้ชวนวิงวอน !
ภิกษุท. ! กิจอันใด ที่ศาสดาผู้เอ็นดู แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดูแล้ว จะพึงทำแก่สาวกทั้งหลาย
กิจอันนั้น เราได้ทำแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย.
ภิกษุท. ! นั่น โคนไม้ทั้งหลาย นั่น เรือนว่างทั้งหลาย.
ภิกษุท. ! พวกเธอทั้งหลายจงเพียรเผากิเลส อย่าได้ประมาท.
พวกเธอทั้งหลาย อย่าได้เป็นผู้ที่ต้องร้อนใจ ในภายหลังเลย.
นี่แล เป็นวาจาเครื่องพรํ่าสอนพวกเธอทั้งหลายของเรา.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
237
ผู้มีหลักเสาเขื่อน
ภิกษุท. ! ภิกษุผู้มีสังวรนั้น เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อเห็นรูปด้วยตา ฟังเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรส ด้วยลิ้น สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ ก็ไม่สยบ อยู่ใน อารมณ์ที่น่ารัก ไม่เคียดแค้น ในอารมณ์อันไม่น่ารัก เป็นผู้ตั้งไว้ซึ่งกายคตาสติ มีจิตไม่เลื่อนลอย ตามอารมณ์ ย่อมรู้ตามที่เป็นจริง ซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับแห่ง บาปอกุศลที่เกิดแล้ว แก่เขานั้นโดยสิ้นเชิง.
ภิกษุท. ! เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์หกชนิด อันมีที่อยู่อาศัยต่างกัน มีที่เที่ยวหากิน ต่างกัน มาผูกรวมกัน ด้วยเชือกอันมั่นคง คือ เขาจับงูมาผูกด้วย เชือกเหนียวเส้นหนึ่ง จับจระเข้ จับนก จับสุนัขบ้าน จับสุนัขจิ้งจอก และ จับลิง มาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่ง ๆ ครั้นแล้ว นำไปผูกไว้กับ เสาเขื่อน หรือเสาหลักอีกต่อหนึ่ง.
ภิกษุท. ! ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้นมีที่อาศัย และที่เที่ยวต่างๆ กัน ก็ยื้อแย่ง ฉุดดึงกัน เพื่อจะไปสู่ ที่อาศัยและที่เที่ยวของตนๆ งูจะเข้าจอมปลวก จระเข้จะลงนํ้า นกจะบิน ขึ้นไปในอากาศ สุนัขจะเข้าบ้าน สุนัขจิ้งจอก จะไปป่าช้า และลิงก็จะไปป่า
ภิกษุท. ! ในกาลใดแล ความเป็นไปภายในของสัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้น มีแต่ความ เมื่อยล้าแล้ว ในกาลนั้น มันทั้งหลายก็จะพึงเข้าไปยืนเจ่า นั่งเจ่า นอนเจ่า อยู่ข้างเสาเขื่อน หรือเสา หลักนั้นเอง. ข้อนี้ฉันใด
ภิกษุท. ! ภิกษุรูปใดได้อบรมกระทำให้มากในกายคตาสติแล้ว
ตาก็จะไม่ฉุด เอา ภิกษุนั้น ไปหารูป ที่น่าพอใจ
รูปที่ไม่น่าพอใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอ รู้สึกอึดอัดขยะแขยง
หูก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหา เสียง ที่น่าฟัง
เสียงที่ไม่น่าฟัง ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัด ขยะแขยง
จมูก ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไป หากลิ่นที่น่าสูดดม
กลิ่นที่ไม่น่าสูดดมก็ไม่เป็น สิ่งที่เธอรู้สึก อึดอัด ขยะแขยง
ลิ้น ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้น ไปหารสที่ชอบใจ
รสที่ไม่ชอบใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึก อึดอัด ขยะแขยง
กายก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหา สัมผัส ที่ยั่วยวนใจ
สัมผัสที่ไม่ยั่วยวนใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึก อึดอัด ขยะแขยง
และใจ ก็จะไม่ฉุด เอาภิกษุนั้นไปหาธรรมารมณ์ที่ถูกใจ
ธรรมารมณ์ที่ไม่ถูกใจก็ไม่เป็นสิ่ง ที่เธอ รู้สึกอึดอัดขยะแขยง
ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.
ภิกษุท. ! ภิกษุผู้มีสังวร เป็นอย่างนี้.
ภิกษุท. ! คำว่า “เสาเขื่อน หรือเสาหลัก” นี้เป็นคำเรียกแทนชื่อ แห่งกายคตาสติ.
ภิกษุท. ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจ ไว้ว่า “กายคตาสติของเรา ทั้งหลาย จักเป็นสิ่งที่เราอบรม กระทำให้มาก กระทำให้เป็นยาน เครื่องนำไป กระทำให้เป็นของที่ อาศัย ได้เพียรตั้งไว้เนือง ๆ เพียรเสริมสร้างโดย รอบคอบ เพียรปรารถสมํ่าเสมอด้วยดี” ดังนี้.
ภิกษุท. ! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล.
239
ไม่ตกอบายดีกว่า
ภิกษุท. ! อินทรีย์คือดวงตา ถูกแทงด้วยซี่เหล็กอันร้อนจัดเป็นเปลวลุกโชนเสีย ยังดีกว่าการถือเอา โดยลักษณะที่เป็นการรวบถือ หรือโดยการแยกถือเป็นส่วนๆ ในรูป อันเห็นด้วยตานั้น ไม่ดีเลย.
ภิกษุท. ! วิญญาณ อันกำหนัดด้วยความยินดีในการถือเอา โดยลักษณะที่เป็นการ รวบถือทั้งหมด ก็ตาม วิญญาณอันกำหนัดแล้ว ด้วยความยินดีในการถือเอาโดยลักษณะที่เป็น การแยกถือเป็นส่วน ๆ ก็ตาม กำลังตั้งอยู่ ถ้าแหละบุคคลตายลงในขณะนั้นไซร้ คติที่เขาจะ พึงไป มีสองอย่าง คือ นรก หรือกำเนิดเดรัจฉาน. ข้อนี้เป็นฐานะที่แน่นอน. ภิกษุท. ! เรากล่าวอย่างนี้เพราะเห็นโทษอันนี้เอง.
ภิกษุท. ! อินทรีย์คือหูถูกกระชากด้วยขอเหล็กอันร้อนจัดเป็นเปลว ลุกโชนเสีย ยังดีกว่าการถือเอา โดยลักษณะที่เป็นการรวบถือ หรือโดยการแยกถือเป็นส่วนๆ ในเสียง อันฟังด้วยหูนั้น ไม่ดีเลย. _ _ฯลฯ_ _ ภิกษุท. ! เรากล่าวอย่างนี้เพราะเห็นโทษ อันนี้เอง.
ภิกษุท. ! อินทรีย์คือจมูก ถูกคว้านภายในด้วยมีดที่คมอันร้อนจัดเป็น เปลวลุกโชน เสีย ยังดีกว่าการถือเอา โดยลักษณะที่เป็นการรวบถือหรือโดยการแยกถือเป็นส่วนๆ ในกลิ่นอันดมด้วยจมูกนั้น ไม่ดีเลย. _ _ฯลฯ_ _ ภิกษุท. ! เรากล่าวอย่างนี้เพราะเห็น โทษอันนี้เอง.
ภิกษุท. ! อินทรีย์คือลิ้น ถูกตัดเสียด้วยมีดโกนที่คมกล้าอันร้อนจัด เป็นเปลวลุกโชน เสีย ยังดีกว่าการถือเอา โดยลักษณะที่เป็นการรวบถือ หรือโดยการแยกถือเป็นส่วนๆ ในรสอันลิ้มด้วยลิ้นนั้น ไม่ดีเลย. _ _ฯลฯ_ _ ภิกษุท. ! เรากล่าวอย่างนี้เพราะเห็นโทษ อันนี้เอง.
ภิกษุท. ! อินทรีย์คือกาย ถูกแทงด้วยหอกที่คมอันร้อนจัดเป็นเปลว ลุกโชนเสีย ยังดีกว่าการถือเอา โดยลักษณะที่เป็นการรวบถือ หรือโดยการแยกถือเป็นส่วนๆ ในโผฏฐัพพะอันสัมผัส ด้วยกายนั้น ไม่ดีเลย.
ภิกษุท. ! วิญญาณอันกำหนัดแล้วด้วยความยินดีในการถือเอา โดยลักษณะที่เป็น การรวบ ถือ ทั้งหมดก็ตาม วิญญาณอันกำหนัดแล้ว ด้วยความยินดีในการถือเอาโดย ลักษณะ ที่เป็นการแยกถือเป็น ส่วนๆ ก็ตาม กำลังตั้งอยู่ ถ้าแหละบุคคลตายลง ในขณะนั้นไซร้คติที่เขา จะพึงไปมีสองอย่าง คือ นรก หรือกำเนิดเดรัจฉาน. ข้อนี้เป็นฐานะ ที่แน่นอน. ภิกษุท. ! เรากล่าวอย่างนี้เพราะเห็นโทษอันนี้เอง.
ภิกษุท. ! การนอนหลับยังดีกว่า แม้เราจะกล่าวว่าการนอนหลับ เป็นโทษ ไร้ผล เป็นความ หลงใหล สำหรับ ผู้ที่มีชีวิตอยู่ ก็จริงแล แต่เพราะการตื่นที่เต็มไปด้วยวิตก อันเลวทราม อาจทำลาย (ภาวะแห่ง) สงฆ์เสียได้นั้น ไม่ดีเลย.
ภิกษุท. ! เรากล่าวดังนี้เพราะเห็นโทษอันตํ่าทราม สำหรับผู้ที่มีชีวิตอยู่ด้วย อาการ อย่างนี้.
240
ช้างนาบุญ
ภิกษุท. ! ช้างหลวงที่ประกอบด้วยองค์ห้า ย่อมเป็นช้างคู่ควรแก่พระราชา เป็นโภคะประจำองค์ พระราชา นับว่าเป็นองค์อวัยวะของพระราชา.
องค์ห้าอะไรบ้างเล่า ?
องค์ห้า คือช้างหลวงในกรณีนี้เป็นช้างที่
อดทนต่อรูป ทั้งหลาย (1)
อดทนต่อเสียง ทั้งหลาย (2)
อดทนต่อกลิ่น ทั้งหลาย (3)
อดทนต่อรส ทั้งหลาย (4)
อดทนต่อโผฏฐัพพะ ทั้งหลาย (5)
ภิกษุท. ! ช้างหลวงที่อดทนต่อรูปทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! ในกรณีนี้ ช้างหลวงเมื่อออกศึก ได้เห็นหมู่พลช้างก็ดี หมู่พลม้าก็ดี หมู่พลรถก็ดี หมู่พลราบ ก็ดี (ของฝ่ายข้าศึก)แล้ว ก็ไม่ระย่อ ห่อหด ย่อมยืนหยัด ย่อมอาจที่จะเข้าสู่การรบได้. ภิกษุท. ! ช้างหลวงอย่างนี้ชื่อว่า อดทนต่อรูปทั้งหลาย.
ภิกษุท. ! ช้างหลวงที่อดทนต่อเสียงทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! ในกรณีนี้ ช้างหลวงเมื่อออกศึก ได้ยินเสียงหมู่พลช้างก็ดี หมู่พลม้า ก็ดี หมู่พลรถก็ดี หมู่พลราบ ก็ดี ได้ยินเสียงกึกก้องแห่งกลอง บัณเฑาะว์สังข์ และมโหระทึกก็ดี แล้วก็ไม่ ระย่อ ห่อหด ย่อมยืนหยัด ย่อมอาจที่จะเข้าสู่การรบได้. ภิกษุท. ! ช้างหลวงอย่างนี้ชื่อว่า อดทนต่อเสียงทั้งหลาย.
ภิกษุท. ! ช้างหลวงที่อดทนต่อกลิ่นทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! ในกรณีนี้ ช้างหลวงเมื่อออกศึก ได้กลิ่นมูตรและกรีส (ปัสสาวะและ อุจจาระ) ของช้าง ทั้งหลาย ชนิดที่เป็นชั้นจ่าเจนสงครามเข้าแล้ว ก็ไม่ระย่อ ห่อหด ย่อมยืนหยัด ย่อมอาจ ที่จะเข้าสู่การรบได้. ภิกษุท. ! ช้างหลวงอย่างนี้ชื่อว่า อดทนต่อกลิ่นทั้งหลาย.
ภิกษุท. ! ช้างหลวงที่อดทนต่อรสทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! ในกรณีนี้ ช้างหลวงเมื่อออกศึก เมื่อไม่ได้รับการทอดหญ้าและนํ้า มื้อหนึ่ง หรือสองมื้อ สามมื้อ สี่มื้อ หรือห้ามื้อ ก็ไม่ระย่อ ห่อหด ย่อม ยืนหยัด ย่อมอาจที่จะเข้าสู่การรบได้. ภิกษุท. ! ช้างหลวง อย่างนี้ชื่อว่า อดทนต่อรสทั้งหลาย.
ภิกษุท. ! ช้างหลวงที่อดทนต่อโผฏฐัพพะทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! ในกรณีนี้ ช้างหลวงเมื่อ ออกศึก ถูกศรที่เขายิงมาอย่างแรงเข้า หนึ่งลูก หรือสองลูก สามลูก สี่ลูก หรือห้าลูก ก็ไม่ระย่อ ห่อหด ย่อมยืนหยัด ย่อมอาจที่จะเข้าสู่การรบได้. ภิกษุท. ! ช้างหลวงอย่างนี้ชื่อว่า อดทนต่อ โผฏฐัพพะทั้งหลาย.
ภิกษุท. ! ฉันใดก็ฉันนั้นเหมือนกัน : ภิกษุเมื่อประกอบด้วยเหตุห้าอย่างแล้ว ย่อมเป็น ผู้ที่น่าบูชา ด้วยของที่จัด ไว้บูชา น่าต้อนรับด้วยของที่จัดไว้ต้อนรับ น่ารับทักษิณาทาน ที่อุทิศเพื่อผู้ตาย น่าไหว้ และเป็น เนื้อนาบุญชั้นดีเยี่ยม ของโลก.
เหตุห้าอย่างอะไรบ้างเล่า ? ห้าอย่าง คือเป็นผู้
อดทนต่อรูปทั้งหลาย
อดทนต่อเสียงทั้งหลาย
อดทนต่อกลิ่นทั้งหลาย
อดทนต่อรสทั้งหลาย
อดทนต่อโผฏฐัพพะทั้งหลาย.
ภิกษุท. ! ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อรูปทั้งหลายเป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้เห็นรูปด้วยตาแล้ว ไม่กำหนัดย้อมใจ ในรูป อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ย่อมสามารถที่จะดำรงจิตให้เป็นปกติอยู่ได้. ภิกษุท. ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า อดทนต่อรูปทั้งหลาย.
ภิกษุท. ! ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อเสียงทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้ฟังเสียงด้วยหูแล้ว ไม่กำหนัดย้อมใจ ในเสียง อันเป็นที่ตั้งแห่งความ กำหนัด ย่อมสามารถที่จะดำรงจิตให้เป็นปกติอยู่ได้. ภิกษุท. ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า อดทนต่อเสียงทั้งหลาย.
ภิกษุท. ! ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อกลิ่นทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้ดมกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ไม่กำหนัดย้อมใจในกลิ่น อันเป็นที่ตั้งแห่งความ กำหนัด ย่อมสามารถที่จะดำรงจิตให้เป็นปกติอยู่ได้. ภิกษุท. ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า อดทนต่อกลิ่นทั้งหลาย.
ภิกษุท. ! ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อรสทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ไม่กำหนัดย้อมใจในรส อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ย่อมสามารถที่จะดำรงจิตให้เป็นปกติอยู่ได้. ภิกษุท. ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า อดทนต่อรสทั้งหลาย.
ภิกษุท. ! ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อโผฏฐัพพะทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ไม่กำหนัด ย้อมใจในโผฏฐัพพะ อันเป็น ที่ตั้ง แห่งความกำหนัด ย่อมสามารถที่จะดำรงจิตให้เป็นปกติอยู่ได้. ภิกษุท. ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า อดทนต่อโผฏฐัพพะทั้งหลาย.
ภิกษุท. ! ภิกษุเมื่อประกอบด้วยเหตุห้าอย่างเหล่านี้แล้ว ย่อมเป็น ผู้ที่น่าบูชา ด้วยของที่จัดไว้ บูชา น่าต้อนรับ ด้วยของที่จัดไว้ต้อนรับ น่ารับ ทักษิณาทานที่อุทิศเพื่อผู้ตาย น่าไหว้ และเป็นเนื้อนาบุญ ชั้นดีเยี่ยมของโลก แล.
243
ผู้พิชิตสงครามถึงที่สุดแล้ว
ภิกษุท. ! นักรบอาชีพบางประเภท ทนต่อผงคลีได้ ทนต่อยอดธงชัย ของข้าศึกได้ ทนต่อเสียง โห่ร้องได้ ทนต่อการสัมประหารกันได้ เขาสู้ เข้าผจญการสงครามนั้น เป็นผู้พิชิต สงคราม แล้วเข้ายึดครอง สนามรบไว้ได้. นักรบอาชีพบางประเภทในกรณีนี้เป็นเช่นนี้ เป็นนักรบ อาชีพประเภทที่ห้า มีอยู่ในโลก หาได้ในโลก
ภิกษุท. ! นักบวชเปรียบด้วยนักรบอาชีพชนิดนี้ก็มีอยู่ในหมู่ภิกษุ หาได้ในหมู่ภิกษุ เหมือนกัน. ในกรณีนี้คือ ภิกษุทนต่อ “ผงคลี” ได้ ทนต่อ “ยอดธงชัยของข้าศึก” ได้ ทนต่อ “เสียงโห่ร้อง” ได้ ทนต่อ “การ สัมประหารกัน” ได้ เธอสู้เข้าผจญการสงครามนั้น เป็นผู้พิชิต สงคราม แล้วเข้ายึดครองสนามรบไว้ได้.
ข้อว่า “สงครามวิชัย” สำหรับภิกษุนั้น ได้แก่อะไรเล่า ? ภิกษุท. ! ในกรณีนี้คือ ภิกษุอยู่ป่า หรืออยู่โคนไม้ หรืออยู่เรือนว่าง มีมาตุคามเข้า ไปนั่งเบียดนอนเบียด นั่งทับ นอนทับ. เมื่อเธอถูกกระทำ เช่นนั้น ก็สลัดทิ้ง ปลดเปลื้องเอาตัวรอด หลีกไปได้ตามประสงค์.
ภิกษุนั้น ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัดเงียบ คือ ป่า โคนไม้ภูเขา ลำธาร ท้องถํ้า ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง (อย่างใดอย่างหนึ่ง). เธอไปสู่ป่า หรือไปสู่โคนไม้หรือไปสู่ เรือนว่างแล้ว ย่อมนั่งคู้ขาเข้า เป็นบัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติ เฉพาะหน้า. เธอละ อภิชฌา ในโลก มีจิตปราศจากอภิชฌา คอยชำระ จิตจากอภิชฌา ละความประทุษร้ายด้วย อำนาจ พยาบาท มีจิตไม่พยาบาท เป็นผู้กรุณา มีจิตหวังความ เกื้อกูลในสัตว์ทั้งหลาย คอยชำระจิต จากความ ประทุษร้าย ด้วยอำนาจพยาบาท ละถีนมิทธะ มีจิต ปราศจาก ถีนมิทธะ มุ่ง อยู่แต่ ความสว่างในใจ มีสติสัปชัญญะ คอยชำระจิตจาก ถีนมิทธะ ละ อุทธัจจ กุกกุจจะ ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ในภายใน คอยชำระจิตจากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา ข้ามพ้น วิจิกิจฉาเสียได้ ไม่ต้องกล่าวว่า “นี่อะไร
นี่อย่างไร ในกุศลธรรมทั้งหลาย (เพราะความสงสัย)” คอยชำระจิตจาก วิจิกิจฉา.
ภิกษุนั้น ครั้นละนิวรณ์ห้าประการ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองจิตและทำ ปัญญาให้ถอย กำลัง เหล่านี้ได้แล้ว เพราะสงัดจากกามทั้งหลาย _ _ ฯลฯ_ _ บรรลุฌานที่หนึ่ง _ _ _ ที่สอง _ _ ที่สาม _ _ และที่สี่แล้วแลอยู่.
เธอ ครั้นจิตตั้งมั่น บริสุทธ์ิผ่องใส ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นธรรมชาติ อ่อนโยน ควรแก่การงาน ตั้งอยู่ได้ ถึงความไม่หวั่นไหวเช่นนี้แล้ว ก็น้อมจิตไปเฉพาะต่อ อาสวักขยญาณ. เธอ ย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับไม่เหลือ แห่งทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึง ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ และย่อมรู้ชัดตาม ที่เป็นจริง ว่า เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุให้เกิดอาสวะ นี้ความดับ ไม่เหลือแห่งอาสวะ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับ ไม่เหลือแห่ง อาสวะ เมื่อรู้อยู่อย่างนี้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ ครั้นจิตหลุดพ้นแล้ว ก็เกิดญาณ ว่า หลุดพ้นแล้ว.
เธอ ย่อมรู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้อง ทำเพื่อความ เป็น อย่างนี้มิได้มีอีก” ดังนี้.
ความที่ภิกษุนั้นสลัดมาตุคามทิ้งพาตัวรอดไปได้กระทั่งถึงการทำตน ให้สิ้นอาสวะ นี้ได้ในข้อว่า “สงครามวิชัย” สำหรับภิกษุนั้น. ภิกษุท. ! เปรียบเหมือนนักรบอาชีพ ที่ทนต่อ ผงคลีได้ ทนต่อยอดธงชัย ของข้าศึกได้ ทน ต่อเสียงโห่ ร้องได้ ทนต่อการสัมประหารกันได้ เข้าสู้เข้าผจญสงครามนั้น เป็นผู้พิชิต สงคราม แล้วเข้ายึดครองสนามรบไว้ได้ฉันใด ภิกษุท. ! เรา กล่าวนักบวชนี้ว่า มีนักรบอาชีพชนิดนั้น เป็นคู่เปรียบ ฉันนั้น.
ภิกษุท. ! นักบวชบางคนในกรณีนี้เป็นเช่นนี้ เป็นนักบวชเปรียบด้วยนักรบอาชีพ ประเภทที่ห้า มีอยู่ในหมู่ภิกษุ หาได้ในหมู่ภิกษุแล.
246
ผู้พิชิตสงครามถึงที่สุดแล้ว (อีกนัยหนึ่ง)
ภิกษุท. ! นักรบอาชีพบางประเภท ถือดาบและโล่สอดใส่ธนูและแล่ง เข้าสู่สงคราม อันประชิด แล้ว. เขาสู้เข้า ผจญ การสงครามนั้น เป็นผู้มีชัยชนะ ในสงคราม แล้วเข้ายึดครอง สนามรบไว้ได้. นักรบอาชีพบางประเภทในกรณีนี้ เป็นเช่นนี้ เป็นนักรบอาชีพประเภทที่ห้า มีอยู่ในโลก หาได้ในโลก . . .
ภิกษุท. ! นักบวชเปรียบด้วยนักรบอาชีพชนิดนี้ ก็มีอยู่ในหมู่ภิกษุหาได้ใน หมู่ภิกษุ เหมือนกัน. ในกรณีนี้คือ ภิกษุเข้าไปอาศัยหมู่บ้านหรือนิคม แห่งใดแห่งหนึ่งอยู่. เวลาเช้า เธอครองจีวร ถือบาตร เข้าไปสู่หมู่บ้านหรือ นิคมนั้น เพื่อบิณฑบาต. ด้วยการรักษากาย รักษา วาจา รักษาจิต ตั้งสติไว้มั่น และด้วยการสำรวมอินทรีย์ทั้งหลาย เธอได้เห็นรูป ด้วยตา ได้ฟังเสียง ด้วยหู ได้ดมกลิ่นด้วยจมูก ได้ลิ้มรสด้วยลิ้น ได้สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกาย และได้รู้ธรรมารมณ์ ด้วยใจ แล้ว ก็ไม่รวบถือเอาทั้งหมด และไม่แยกถือเอาเป็นส่วนๆ. สิ่งที่เป็นอกุศลลามก คือ อภิชฌาและโทมนัส มักไหลไปตาม ภิกษุผู้ไม่สำรวม ตา หูจมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะการไม่สำรวมอินทรีย์ใดเป็นเหตุ เธอก็ปฏิบัติเพื่อ ปิดกั้นอินทรีย์เหล่านั้นไว้ เธอรักษาและถึงความสำรวมตา หูจมูก ลิ้น กาย ใจ.
ภิกษุนั้น ภายหลังอาหาร กลับจากบิณฑบาตแล้ว ย่อมเสพเสนาสนะ อันสงัดเงียบ คือ ป่า โคนไม้ภูเขา ลำธาร ท้องถํ้า ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง (อย่างใดอย่างหนึ่ง). เธออยู่ป่า หรืออยู่โคนไม้หรืออยู่เรือนว่าง ย่อมนั่งคู้ขาเข้า เป็น บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติ เฉพาะหน้า. เธอละอภิชฌาในโลกเสีย ได้ _ _ _ฯลฯ_ _ _ฯลฯ_ _ _ ภิกษุนั้น ครั้นละ นิวรณ์ห้าประการ อันเป็น เครื่องเศร้าหมองจิตและทำปัญญาให้ถอยกำลังเหล่านี้ได้แล้ว เพราะสงัดจาก กามทั้งหลาย _ _ _ฯลฯ_ _ _ บรรลุฌานที่หนึ่ง_ _ _ฯลฯ_ _ _ ที่สาม_ _ _ และที่สี่แล้วแลอยู่.
เธอ ครั้นจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ผ่องใส ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็น ธรรมชาติ อ่อนโยน ควรแก่การงาน ตั้งอยู่ได้ถึงความไม่หวั่นไหว เช่นนี้แล้ว ก็น้อมจิตไปเฉพาะต่ออาสวัก ขยญาณ. เธอ ย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึง ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ และย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุให้เกิด อาสวะ นี้ความดับ ไม่เหลือแห่งอาสวะ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือ แห่งอาสวะ. เมื่อรู้อยู่อย่างนี้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตก็หลุดพ้น ทั้งจากกามาสวะ ภวาสวะ และ อวิชชาสวะ ครั้นจิตหลุดพ้นแล้วก็เกิดญาณว่า หลุดพ้นแล้ว. เธอย่อมรู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จ แล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำ เพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีกแล้ว” ดังนี้.
ภิกษุท. ! เปรียบเหมือนนักรบอาชีพผู้นั้น ถือดาบและโล่สอดใส่ธนูและแล่ง เข้าสู่สงครามอัน ประชิดแล้ว. เขาสู้เข้าผจญการสงครามนั้น เป็น ผู้มีชัยชนะในสงคราม แล้วเข้ายึดครองสนามรบไว้ได้ ฉันใด ภิกษุท. ! เรา กล่าว นักบวชนี้ว่า มีนักรบอาชีพชนิดนั้น เป็นคู่เปรียบ ฉันนั้น.
ภิกษุท. !
นักบวชบางคนในกรณีนี้เป็นเช่นนี้เป็นนักบวช เปรียบด้วยนักรบอาชีพ ประเภทที่ห้า มีอยู่ในหมู่ภิกษุ หาได้ในหมู่ภิกษุแล.
248
ผู้อยู่ในร่องรอย
ภิกษุท. ! ภิกษุที่ทำตนเป็นพระประจำสกุล เมื่อประกอบด้วยการ กระทำห้าอย่างแล้ว ย่อมทำให้ สกุลทั้งหลาย ให้ความรัก ให้ความพอใจ ให้ความเคารพ และตั้งไว้ในภาวะที่ควร. ห้าอย่างอะไรบ้างเล่า ? ห้าอย่างคือ
(๑) ไม่แสดงอาการเป็นกันเองกับคนที่ยังไม่ถึงขนาดเป็นกันเอง.
(๒) ไม่แทรกแซงในสิ่งที่ไม่ได้รับอำนาจมอบหมาย.
(๓) ไม่คบคนฝ่ายปฏิปักษ์.
(๔) ไม่พูดกระซิบที่หู.
(๕) ไม่ขอมากเกินไป.
ภิกษุท. ! ภิกษุที่ทำตนเป็นพระประจำสกุล เมื่อประกอบด้วยการ กระทำห้าอย่าง เหล่านี้ ย่อมทำให้สกุล ทั้งหลาย ให้ความรัก ให้ความพอใจ ให้ความเคารพ และตั้งไว้ในภาวะ ที่ควร แล.
249
ผู้สมควรอยู่ป่า
ภิกษุท. ! ภิกษุที่ประกอบด้วยเหตุสี่อย่างแล้ว สมควรที่จะเสพเฉพาะ ซึ่งเสนาสนะ เงียบสงัด อันเป็นป่า และ ป่าชัฏ. เหตุสี่อย่างอะไรบ้างเล่า ? สี่อย่าง คือ
(๑) เป็นผู้มีความครุ่นคิดในทางการออกจากกาม.
(๒) เป็นผู้มีความครุ่นคิดในทางไม่พยาบาท.
(๓) เป็นผู้มีความครุ่นคิดในทางไม่เบียดเบียน.
(๔) เป็นคนมีปัญญา ไม่โง่เขลาเงอะงะ.
ภิกษุท. ! ภิกษุที่ประกอบด้วยเหตุสี่อย่างเหล่านี้แล้ว สมควรที่จะเสพ เฉพาะซึ่ง เสนาสนะ เงียบ สงัด อันเป็นป่า และป่าชัฏแล.
249-1
ผู้ต้องติดต่อด้วยสตรี
ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า :-
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์ทั้งหลาย จะปฏิบัติในมาตุคาม (สตรี) อย่างไร ”
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า :-
“อานนท์ ! การไม่พบปะกัน”.
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ! เมื่อยังมีการพบปะกัน จะพึงปฏิบัติอย่างไรเล่า ?”
“อานนท์ ! การไม่พูดด้วย”.
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อต้องพูดด้วย จะพึงปฏิบัติอย่างไรเล่า ?”
“อานนท์ ! ถ้าต้องพูดด้วย พึงมีสติแล”.
250
ผู้ทำตามคำสั่งแท้จริง
ภิกษุท. ! ถ้าหากพวกโจรผู้ทำโจรกรรม พึงเลื่อยอวัยวะใหญ่น้อย ทั้งหลาย ด้วยเลื่อย มีที่สำหรับ จับทั้งสอง ข้างไซร้แม้ในการที่ถูกทำเช่นนั้น ภิกษุใด มีใจประทุษร้ายต่อโจรนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า มิได้ทำ ตามคำสั่งสอนของเรา เพราะเหตุนั้น.
ภิกษุท. ! แม้ในเรื่องนั้น พวกเธอทั้งหลายพึงตั้งใจสำเหนียกไว้ว่า “จิตของเรา ต้องไม่ผิดปรกติ ด้วย เราจัก ไม่เปล่งออกซึ่งวาจาอันเป็น บาปด้วย เราจักเป็นผู้อยู่อย่างผู้ที่มี ความเอ็นดู คิดจะทำประโยชน์ เกื้อกูลมีจิตเมตตา หาโทษจิตแทรกมิได้ด้วย เราจักอยู่ ด้วยใจอัน ประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปยังบุคคล นั้น ด้วย และจักอยู่ด้วยใจ อัน ประกอบด้วย เมตตาอันไพบูลย์ใหญ่หลวงหาประมาณมิได้ไม่มีเวร ปราศจาก พยาบาท แผ่ไปยังสัตว์โลก ทั้งปวง โดยมีบุคคลนั้นเป็นอารมณ์ด้วย.” ดังนี้.
ภิกษุท. ! พวกเธอทั้งหลาย พึงตั้งใจสำเหนียกไว้อย่างนี้แล.
251
กระดองของบรรพชิต
ภิกษุท. ! เรื่องเคยมีมาแต่ก่อน : เต่าตัวหนึ่งเที่ยวหากินตามริมลำธาร ในตอนเย็น สุนัขจิ้งจอก ตัวหนึ่ง ก็เที่ยวหากินตามริมลำธารในตอนเย็นเช่น เดียวกัน.
เต่าตัวนั้นได้เห็นสุนัขจิ้งจอกซึ่งเที่ยวหากิน (เดินเข้ามา) แต่ไกล ครั้นแล้วจึงหด อวัยวะทั้งหลาย มีศีรษะ เป็นที่ห้า เข้าในกระดองของตนเสีย เป็น ผู้ขวนขวายน้อยนิ่งอยู่.
แม้สุนัขจิ้งจอกก็ได้เห็นเต่าตัวที่เที่ยวหากินนั้นแต่ไกล เหมือนกัน ครั้นแล้ว จึงเดินตรงเข้าไป ที่เต่า คอยช่องอยู่ว่า “เมื่อไรหนอ เต่าจักโผล่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งออก ในบรรดาอวัยวะทั้งหลาย มีศีรษะ เป็นที่ห้า แล้วจักกัดอวัยวะส่วนนั้น คร่าเอาออกมากินเสีย” ดังนี้.
ภิกษุท. ! ตลอดเวลาที่เต่าไม่โผล่อวัยวะออกมา สุนัขจิ้งจอกก็ไม่ได้โอกาส ต้องหลีกไปเอง
ภิกษุท. ! ฉันใดก็ฉันนั้น มารผู้ใจบาป ก็คอยช่องต่อพวกเธอ ทั้งหลายติดต่อ ไม่ขาดระยะ อยู่เหมือนกันว่า “ถ้าอย่างไร เราคงได้ช่อง ไม่ทางตา ก็ทางหูหรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ” ดังนี้.
ภิกษุท. ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้พวกเธอทั้งหลาย จงเป็นผู้คุ้มครอง ทวารในอินทรีย์ ทั้งหลาย อยู่เถิด ได้เห็นรูปด้วยตา ได้ฟังเสียง ด้วยหู ได้ดมกลิ่นด้วยจมูก ได้ลิ้มรสด้วยลิ้น ได้สัมผัสโผฏฐัพพะ ด้วยกาย หรือได้รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว จงอย่าได้ถือเอา โดยลักษณะ ที่เป็นการรวบถือทั้งหมด อย่าได้ ถือเอาโดย ลักษณะที่เป็นการแยกถือเป็นส่วน ๆ เลย สิ่งที่เป็นอกุศล ลามก คือ อภิชฌาและโทมนัส จะพึงไหลไปตาม
บุคคลผู้ไม่สำรวม ตา หูจมูก
ลิ้น กาย ใจ เพราะการไม่สำรวมอินทรีย์ใด เป็นเหตุ พวกเธอ ทั้งหลาย จงปฏิบัติเพื่อการปิดกั้นอินทรีย์นั้นไว้ พวกเธอทั้งหลายจงรักษาและถึงความ สำรวม ตา หูจมูก ลิ้น กาย ใจ เถิด.
ภิกษุท. ! ในกาลใด พวกเธอทั้งหลาย จักเป็นผู้คุ้มครองทวารใน อินทรีย์ทั้งหลายอยู่ ในกาลนั้น มารผู้ใจบาป จักไม่ได้ช่องแม้จากพวกเธอ ทั้งหลาย และจักต้องหลีกไปเอง เหมือนสุนัขจิ้งจอกไม่ได้ช่อง จากเต่าก็หลีกไปเอง ฉะนั้น.
“เต่า หดอวัยวะไว้ในกระดอง ฉันใด ภิกษุพึงตั้งมโน วิตก(ความตริตรึกทางใจ) ไว้ใน กระดอง กล่าวคือ อารมณ์แห่งกัมมัฏฐาน ฉันนั้น. เป็นผู้ที่ตัณหาและทิฏฐิไม่อิงอาศัยได้ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่กล่าว ร้าย ต่อใครทั้งหมด เป็นผู้ดับสนิทแล้ว” ดังนี้แล.
252
ผู้เอาตัวรอดได้เพราะสังวรด้วยความรู้
ภิกษุท. ! เมื่อบุคคลรู้อยู่เห็นอยู่ซึ่ง (เรื่องราวของ) ตา ตามที่เป็น จริง รู้อยู่เห็นอยู่ซึ่ง (เรื่องราวของ) รูป ตามที่เป็นจริง รู้อยู่เห็นอยู่ซึ่ง (เรื่องราวของ) ความรู้แจ้งทางตา ตามที่เป็นจริง รู้อยู่เห็นอยู่ซึ่ง (เรื่องราว ของ) สัมผัส ทางตา ตามที่เป็นจริง และรู้อยู่เห็นอยู่ซึ่ง (เรื่องราวของ) เวทนา อันเกิดจากสัมผัสทางตา ที่เป็นสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง ตามที่เป็นจริง
เขาย่อม ไม่หลงรักในตา ไม่หลงรักในรูป ไม่หลงรักในความรู้แจ้งทางตา ไม่หลงรัก ในสัมผัส ทางตา และไม่หลงรัก ในเวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางตา ทั้ง ที่เป็นสุข เป็นทุกข์และ ไม่ทุกข์ไม่สุข เมื่อไม่หลงรัก ไม่ผูกใจ ไม่หลงใหลไปตาม แต่มีปรกติพิจารณาเห็นโทษ ของสิ่ง นั้น ๆ อยู่ดังนี้แล้ว ความยึดถือในขันธ์ทั้งห้าของเขา ก็หยุดฟักตัว ในกาลต่อไป
ตัณหาคือความทะยานอยากอันระคนด้วยความเพลิดเพลิน และความกำหนัดรัก ซึ่งมีปรกติ เพลินเฉพาะ ต่ออารมณ์นั้น ๆ ของบุคคลนั้น ก็เสื่อมถอยคลายคืน ต่อนั้นไป ความกระวน กระวายทางกาย ก็เสื่อมถอย คลายคืน ความ กระวนกระวายทางจิตก็เสื่อมถอย คลายคืน ความร้อนรุมทาง กายก็เสื่อมถอย คลายคืน ความร้อนรุมทางจิตก็เสื่อม ถอยคลายคืน ความร้อน กลุ้มทางกายก็เสื่อมถอยคลายคืน ความร้อนกลุ้มทางจิตก็เสื่อมถอยคลายคืน เขาได้เสวยสุข ทั้งทางกายและทางใจ
ทิฏฐิความเห็นของเขา ผู้เป็นแล้วอย่างนี้ย่อมเป็นสัมมาทิฏฐิ (ความเข้าใจที่ถูกต้อง) ความคิด ของ ผู้เป็นแล้วอย่างนี้ย่อมเป็นสัมมาสังกัปปะ (ความมุ่งหมายที่ถูกต้อง) ความเพียร ของผู้เป็นแล้ว อย่างนี้ ย่อมเป็นสัมมา วายามะ (ความพยายามที่ถูกต้อง) ความระลึกของ ผู้เป็นแล้วอย่างนี้ย่อมเป็นสัมมาสติ (ความระลึกที่ถูกต้อง) สมาธิของ ผู้เป็นแล้วอย่างนี้ย่อม เป็นสัมมาสมาธิ (ความตั้งจิตมั่นไว้ในแนว ที่ถูกต้อง) กายกรรม วจีกรรม และอาชีวะของเขา ก็บริสุทธิ์ ดีแล้วมาตั้งแต่แรก อริยอัฏฐังคิกมรรคของเขา ย่อมถึงความเจริญเต็มที่ด้วยอาการ อย่างนี้.
เมื่อเขาทำอริยอัฏฐังคิกมรรคให้เจริญอยู่อย่างนี้สติปัฏฐานสี่ _ _ สัมมัปปธานสี่_ _อิทธิบาทสี่ _ _อินทรีย์ห้า _ _พละห้า __ _โพชฌงค์เจ็ด _ _ ย่อมถึงความงอกงามบริบูรณ์ ได้แท้. ธรรมสองอย่า ของเขาคือ สมถะ และ วิปัสสนา ชื่อว่าเข้าคู่กันได้อย่างแน่นแฟ้น _ _
(ในกรณีของ หูจมูก ลิ้น กาย ใจ ก็มีข้อคามอย่างเดียวกัน)
254
ผู้สำรวมมาจากภายใน เปรียบด้วยหม้อเต็มปิดไว้
ภิกษุท. ! นักบวชเต็ม ปิดไว้เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุท. ! การเดิน การถอยกลับ การแลดูการเหลียวดูการคู้แขนคู้ขา การเหยียดมือ เหยียดเท้า การทรงสังฆาฏิ ถือบาตร ครองจีวร ของนักบวช บางคนในธรรมวินัยนี้ย่อมเป็นที่น่า เลื่อมใส ทั้งนักบวช ผู้นั้น ก็รู้ชัดตามที่เป็น จริงว่า “นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับ ไม่เหลือแห่งทุกข์ นี้ข้อ ปฏิบัติให้ถึง ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์” ดังนี้ด้วย.
ภิกษุท. ! นักบวชเต็ม ที่ถูกปิดไว้เป็นอย่างนี้. เรากล่าวนักบวชนี้ว่า เปรียบเหมือน หม้อเต็ม ที่เขาปิดไว้ ฉะนั้นแล.
254-2
ผู้สำรวมมาจากภายใน
เปรียบด้วยนํ้าลึก – เงาลึก
ภิกษุท. ! นักบวชลึก มีเงาลึก เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! การเดิน การถอยกลับ การแลดูการ เหลียวดู การคู้แขนคู้ขา การ เหยียดมือเหยียดเท้า การทรงสังฆาฏิถือบาตร ครองจีวร ของนักบวชบางคน ในธรรมวินัยนี้ย่อม เป็นที่น่าเลื่อมใส ทั้งนักบวชผู้นั้น ก็รู้ชัดตาม ที่เป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับ ไม่เหลือ แห่งทุกข์” ดังนี้ด้วย.
ภิกษุท. ! นักบวชลึก มีเงาลึก เป็นอย่างนี้. เรากล่าวนักบวชนี้ว่า เปรียบเหมือนห้วง นํ้าลึก มีเงาลึก ฉะนั้นแล.
เปรียบด้วยมะม่วงสุก สีผิวก็สุก
ภิกษุท. ! นักบวชสุก มีผิวสุก เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุท. ! การเดิน การถอยกลับ การแลดูการ เหลียวดู การคู้แขนคู้ขา การ เหยียดมือเหยียดเท้า การทางสังฆาฏิถือบาตร ครองจีวร ของนักบวชบางคน ในธรรมวินัยนี้ ย่อม เป็นที่น่าเลื่อมใส ทั้งนักบวชผู้นั้น ก็รู้ชัดตาม ที่เป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความ ดับทุกข์ไม่เหลือแห่งทุกข์” ดังนี้ด้วย.
ภิกษุท. ! นักบวชสุก มีผิวสุก เป็นอย่างนี้. เรากล่าวนักบวชนี้ว่า เปรียบเหมือน มะม่วงสุก สีผิวของมัน ก็ดูสุก ฉะนั้นแล.
255
ผู้ได้รับผลแห่งอินทรียสังวร
ภิกษุท. ! เมื่ออินทรียสังวร มีอยู่ศีล ก็ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยเมื่อศีล มีอยู่สัมมาสมาธิ ก็ถึงพร้อมด้วย อุปนิสัย
เมื่อสัมมาสมาธิมีอยู่ยถาภูตญาณทัสสนะ ก็ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยเมื่อ ยถาภูตญาณทัสนะ มีอยู่นิพพิทาวิราคะ ก็ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย เมื่อนิพพิทาวิราคะ มีอยู่วิมุตติ ญาณทัสสนะ ก็ถึงพร้อมด้วย อุปนิสัย.
ภิกษุท. ! เปรียบเหมือนต้นไม้เมื่อสมบูรณ์ด้วยกิ่งและใบแล้ว สะเก็ด เปลือกนอก ก็บริบูรณ์เปลือก ชั้นใน ก็บริบูรณ์กระพี้ก็บริบูรณ์แก่น ก็บริบูรณ์. ข้อนี้ฉันใด
ภิกษุท. ! เมื่ออินทรียสังวร มีอยู่ศีล ก็ถึงพร้อม ด้วยอุปนิสัย เมื่อศีล มีอยู่สัมมาสมาธิ ก็ถึงพร้อม ด้วยอุปนิสัย เมื่อสัมมาสมาธิมีอยู่ยถาภูตญาณทัสสนะ ก็ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะ มีอยู่นิพพิทาวิราคะ ก็ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย เมื่อนิพพิทาวิราคะ มีอยู่วิมุตติญาณทัสสนะ ก็ถึงพร้อมด้วย อุปนิสัย ฉันนั้นเหมือนกัน แล.
หมวดที่สิบเอ็ด จบ.
ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์
หมวดที่ ๑๒
ว่าด้วย การเป็นอยู่ชอบ
259
ผู้รู้เท่าทันลาภสักการะ
ภิกษุท. ! ลาภสักการะและเสียงเยินยอ เป็นอันตรายที่ทารุณ แสบเผ็ด หยาบคาย ต่อการบรรลุ พระนิพพาน อันเป็นธรรม เกษมจากโยคะไม่มีธรรมอื่น ยิ่งกว่า.
ภิกษุท. ! สมณพราหมณ์พวกใด รู้จักความเป็นสิ่งยวนใจ รู้จักโทษ อันตํ่าทราม รู้จักอุบาย เป็นทาง พ้น ในกรณี อันเกี่ยวกับลาภสักการะและ เสียงเยินยอ ตรงตามที่เป็นจริง. สมณพราหมณ์พวกนั้น ย่อมกระทำให้แจ้ง ด้วยปัญญา อันยิ่งเอง เข้าถึงแล้วและอยู่ในธรรม อันสงบได้.
ภิกษุท. ! สมณพราหมณ์พวกใด รู้จักมูลฐานเป็นที่ตั้งขึ้น รู้จักความ ดับไม่เหลือ รู้จักความเป็น สิ่งยวนใจ รู้จักโทษอันตํ่าทราม รู้จักอุบาย เป็นทางพ้น ในกรณีอันเกี่ยวกับลาภ สักการะ และเสียงเยินยอ ตรงตามที่เป็นจริง สมณพราหมณ์พวกนั้น ย่อมกระทำให้แจ้งด้วย ปัญญา อันยิ่งเอง เข้าถึงแล้วและอยู่ในธรรมอันสงบได้.
ภิกษุท. ! สมณพราหมณ์พวกใด รู้จักลาภสักการะ และเสียงเยินยอ รู้จักมูลฐาน เป็นที่ตั้งขึ้น แห่งลาภ สักการะ และเสียงเยินยอ รู้จักความดับสนิท แห่งลาภสักการะ และเสียงเยินยอ รู้จักข้อปฏิบัติ ให้ถึงความดับสนิท แห่งลาภ สักการะและเสียงเยินยอ สมณพราหมณ์พวกนั้น ย่อมกระทำให้แจ้งด้วย ปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงแล้วและอยู่ใน ธรรม อันสงบได้.
260
ผู้รู้จักอันตรายของทิฏฐธรรมสุข
ภิกษุท. ! ลาภสักการะและเสียงเยินยอ เป็นอันตรายที่ทารุณ แสบเผ็ด หยาบคาย ต่อการบรรลุ พระนิพพาน อันเป็นธรรมเกษมจากโยคะ ไม่มีธรรม อื่นยิ่งกว่า.
ภิกษุท. ! เรากล่าว ลาภสักการะและเสียงเยินยอ ว่าเป็นอันตราย แม้แก่ภิกษุผู้เป็น อรหันต์ สิ้นอาสวะแล้ว ดังนี้.
ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดังนี้ ท่านพระอานนท์ได้ทูลถามขึ้นว่า “ลาภสักการะ และเสียง เยินยอ เป็น อันตรายแก่ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว ชนิดไรเล่า พระเจ้าข้า ?” ดังนี้.
อานนท์ ! เราหาได้กล่าวลาภสักการะและเสียงเยินยอ ว่าเป็นอันตราย ต่อเจโตวิมุตติ อันไม่กลับ กำเริบแล้ว ไม่.
อานนท์ ! แต่เรากล่าวลาภสักการะ และเสียงเยินยอ ว่าเป็นอันตราย ต่อการอยู่ เป็นสุขใน ทิฏฐธรรมนี้ ซึ่งภิกษุ ผู้อยู่ด้วย ความไม่ประมาท มีเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปแล้ว ในธรรมเครื่อง สงบ. ได้ลุถึงแล้ว.
อานนท์ ! ลาภสักการะและเสียงเยินยอเป็นอันตรายที่ทารุณ แสบเผ็ด หยาบคาย ต่อการบรรลุ พระนิพพาน อันเป็นธรรมเกษม จากโยคะ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ด้วยอาการอย่างนี้.
อานนท์ ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจ ไว้ว่า “เราทั้งหลาย จักไม่เยื่อใย ในลาภ สักการะและเสียงเยินยอที่เกิดขึ้น. อนึ่ง ลาภสักการะและ เสียงเยินยอที่เกิดขึ้นแล้ว ต้องไม่มาห่อหุ้มอยู่ที่จิตของเรา” ดังนี้.
อานนท์ ! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล.
261
ผู้ควรปลีกตัวออกจากหมู่ได้
ภิกษุท. ! ภิกษุเมื่อประกอบด้วยธรรมห้าอย่างแล้ว สมควรที่จะให้ปลีกตัวออกจาก หมู่สงฆ์ได้. ธรรมห้าอย่างอะไรบ้างเล่า ? ห้าอย่าง คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
(๑) เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้.
(๒) เป็นผู้สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้.
(๓) เป็นผู้สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้.
(๔) เป็นผู้สันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริกขารตามมีตามได้.
(๕) เป็นผู้มากด้วยความคิดในการออกจากกาม.
ภิกษุท. ! ภิกษุเมื่อประกอบด้วยธรรมห้าอย่างเหล่านี้แล สมควรที่จะให้ปลีกตัวออกจาก หมู่สงฆ์ได้.
261-1
ผู้ที่น่าเคารพ
ภิกษุท. ! ภิกษุเมื่อประกอบด้วยธรรมเจ็ดอย่างแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่น่ารัก น่าพอใจ น่าเคารพ น่าสรรเสริญ ของเพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยกัน.
ธรรมเจ็ดอย่าง อะไรบ้างเล่า ? เจ็ดอย่าง คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ :
(๑) เป็นผู้ไม่ต้องการลาภ.
(๒) เป็นผู้ไม่ต้องการสักการะ.
(๓) เป็นผู้ไม่ต้องการทำตัวให้เด่น.
(๔) เป็นผู้มีความละอาย (ต่อการเป็นทาสกิเลส).
(๕) เป็นผู้มีความกลัว (ต่อการเป็นทาสกิเลส).
(๖) เป็นผู้มีความต้องการน้อย.
(๗) เป็นผู้มีความเห็นถูกต้องตามคลองธรรม.
ภิกษุท. ! ภิกษุเมื่อประกอบด้วยธรรมเจ็ดอย่างเหล่านี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ที่น่ารัก น่าพอใจ น่าเคารพ น่าสรรเสริญ ของเพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยกันแล.
262
ผู้ที่น่ารัก
ภิกษุท. ! ภิกษุเมื่อประกอบด้วยธรรมแปดอย่างแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่น่ารัก น่าพอใจ น่าเคารพ น่าสรรเสริญ ของเพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยกัน. ธรรมแปดอย่างอะไรบ้างเล่า ? แปดอย่าง คือ
(๑) ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ไม่ต้องการลาภ.
(๒) เป็นผู้ไม่ต้องการสักการะ.
(๓) เป็นผู้ไม่ต้องการทำตัวให้เด่น.
(๔) เป็นผู้รู้จักกาล.
(๕) เป็นผู้รู้จักประมาณ.
(๖) เป็นคนใจสะอาด.
(๗)ไม่เป็นคนพูดมาก.
(๘)ไม่เป็นคนมักด่าว่าร้ายเพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์วยกัน.
ภิกษุท. ! ภิกษุเมื่อประกอบด้วยธรรมแปดอย่างเหล่านี้แล้ว ย่อมเป็น ผู้ที่น่ารัก น่าพอใจ น่าเคารพ น่าสรรเสริญ ของเพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยกันแล.
263
ภิกษุท. ! ภิกษุที่ดี :
ภิกษุท. ! ภิกษุที่ดี
(๑) พึงทำตนให้อยู่เหนือ ลาภ ที่เกิดขึ้น
(๒) พึงทำตนให้อยู่เหนือ ความเสื่อมลาภ ที่เกิดขึ้น
(๓) พึงทำตนให้อยู่เหนือ ยศ ที่เกิดขึ้น
(๔) พึงทำตนให้อยู่เหนือ ความเสื่อมยศ ที่เกิดขึ้น
(๕) พึงทำตนให้อยู่เหนือ สักการะ ที่เกิดขึ้น
(๖) พึงทำตนให้อยู่เหนือ ความเสื่อมสักการะ ที่เกิดขึ้น
(๗) พึงทำตนให้อยู่เหนือ ความปรารถนาที่เลวทราม ที่เกิดขึ้น
(๘) พึงทำตนให้อยู่เหนือ ความได้เพื่อนไม่ดีที่เกิดขึ้น
ภิกษุท. ! เพราะอาศัยอำนาจแห่งประโยชน์อะไร จึงต้องทำเช่นนั้น ? เพราะว่า เมื่อภิกษุไม่ทำ เช่นนั้น อาสวะทั้งหลายที่เป็นเครื่องทำลายล้างและ ทำความเร่าร้อน จะพึงเกิดขึ้นแก่เธอ. แต่เมื่อภิกษุ ทำตน ให้อยู่เหนือลาภ (เป็น ต้น) ที่เกิดขึ้นหรือมีมาแล้ว อาสวะทั้งหลายที่เป็นเครื่องทำลาย ล้างและทำความ เร่าร้อนย่อมไม่เกิดแก่เธอได้. ภิกษุท. ! เพราะอาศัยอำนาจแห่งประโยชน์เหล่านี้แล ภิกษุจึงต้องทำเช่นนั้น.
ภิกษุท. ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจ ไว้ว่า “เราทั้งหลาย จักทำตน ให้อยู่เหนือ ลาภ เหนือความเสื่อมลาภ เหนือยศ เหนือความเสื่อมยศ เหนือสักการะ เหนือความเสื่อมสัก การะ เหนือความ ปรารถนา ที่เลวทราม เหนือความมีเพื่อน ไม่ดีที่เกิดขึ้นแล้วๆ” ดังนี้.
ภิกษุท. ! พวกเธอพึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล.
(ข. เกี่ยวกับธรรมเนียมการเป็นอยู่ของพระอริยเจ้า ๕ เรื่อง)
264
การเป็นอยู่อย่างบรรพชิต
ภิกษุ ท. ! เราอนุญาตให้ผู้ทำการให้อุปสมบท พึงบอกนิสสัยสี่(แก่ผู้อุปสมบทแล้ว) ดังนี้ว่า :-
“การบรรพชา อาศัยการบริโภคคำข้าวที่หาได้ด้วยกำลังปลีแข้ง เธอ พึงทำความ อุตสาหะ ในสิ่งนั้น ตลอดชีวิต. ลาภที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษที่พึงรับได้คือ อาหารที่ถวายสงฆ์ อาหารที่เฉพาะสงฆ์ การนิมนต์เพื่อฉันอาหาร อาหารที่ถวาย ตามสลาก อาหารที่ถวายในปักษ์ อาหารที่ถวายในวันอุโบสถ และอาหารที่ถวายในวันขึ้นหรือแรมหนึ่งคํ่า.
การบรรพชา อาศัย (การนุ่งห่ม) ผ้าบังสุกุลจีวร เธอพึงทำความอุตสาหะในสิ่งนั้น ตลอดชีวิต.
ลาภที่เกิดขึ้น เป็นพิเศษที่พึงรับได้คือ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน และผ้าแกมกัน หลายอย่าง.
การบรรพชา อาศัยโคนต้นไม้เป็นที่อยู่อาศัย เธอพึงทำความอุตสาหะ ในสิ่งนั้น ตลอดชีวิต. ลาภที่เกิดขึ้น เป็นพิเศษที่พึงรับได้คือ วิหาร เรือนมุง แถบเดียว เรือนชั้น เรือนโล้น และถํ้า.
การบรรพชา อาศัยยาอันประกอบขึ้นด้วยมูตรเน่า เธอพึงทำความ อุตสาหะในสิ่งนั้น ตลอดชีวิต. ลาภที่เกิดขึ้น เป็นพิเศษที่พึงรับได้คือเนยใส เนยข้น นํ้ามัน นํ้าผึ้ง และนํ้าอ้อย” ดังนี้.
265
ผู้เป็นเชื้อสายแห่งพระอริยเจ้า
ภิกษุท. ! อริยวงศ์ (ธรรมที่เป็นเชื้อสายของพระอริยเจ้า) สี่อย่างเหล่านี้ปรากฏว่า เป็นธรรม อันเลิศ ยั่งยืน เป็นแบบแผนมาแต่ก่อน ไม่ถูกทอดทิ้งแล้วไม่เคยถูกทอดทิ้งเลย
ไม่ถูกทอดทิ้งอยู่ จักไม่ถูกทอดทิ้งเป็นธรรม อันสมณ พราหมณ์ทั้งหลาย ที่เป็นผู้รู้ไม่คัดค้าน แล้ว.
อริยวงศ์สี่อย่างอะไรบ้างเล่า ? สี่อย่างคือ
(๑) ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็น ผู้สันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้และเป็นผู้สรรเสริญ ความสันโดษ ด้วยจีวรตามมี ตามได้ ไม่ทำอเนสนา (การแสวงหาไม่สมควร) เพราะจีวร เป็นเหตุ ไม่ได้จีวรก็ไม่ทุรนทุราย ได้จีวรแล้วก็ไม่ยินดีเมา หมกพัวพัน เห็นส่วนที่เป็นโทษแห่ง สังสารวัฏฏ์ มีปัญญาในอุบายที่จะถอนตัว ออกอยู่เสมอ นุ่งห่มจีวรนั้น. อนึ่ง ไม่ยกตน ไม่ข่ม ผู้อื่น เพราะความสันโดษ ด้วยจีวรตามมีตามได้นั้น. ก็ภิกษุใดเป็นผู้ฉลาด ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่น ในความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้นั้น เราเรียกภิกษุนี้ว่า ผู้สถิต อยู่ในอริยวงศ์อันปรากฏว่าเป็นธรรมเลิศมาแต่เก่าก่อน.
(๒) อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเป็น ผู้สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ และเป็นผู้ สรรเสริญความสันโดษ ด้วย บิณฑบาตตามมีตามได้ ไม่ทำอเนสนา (การแสวงหาไม่สมควร) เพราะบิณฑบาตเป็นเหตุ ไม่ได้บิณฑบาตก็ไม่ทุรนทุราย ได้บิณฑบาตแล้วก็ไม่ยินดีเมาหมก พัวพัน เห็นส่วนที่เป็นโทษแห่ง สังสารวัฏฏ์ มีปัญญาในอุบายที่จะถอนตัวออกอยู่เสมอ บริโภค บิณฑบาต นั้น. อนึ่ง ไม่ยกตนไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้นั้น. ก็ภิกษุใดเป็น ผู้ ฉลาด ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นในความสันโดษด้วยบิณฑบาต ตามมีตามได้นั้น เราเรียกภิกษุนี้ว่า ผู้สถิตอยู่ใน อริยวงศ์ อันปรากฏว่าเป็นธรรมเลิศมา แต่เก่า ก่อน.
(๓) อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเป็น ผู้สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้และ เป็นผู้ สรรเสริญความสันโดษด้วย เสนาสนะ ตามมีตามได้ ไม่ทำอเนสนา (การแสวงหาไม่สมควร) เพราะเสนาสนะเป็นเหตุ ไม่ได้เสนาสนะก็ไม่ทุรนทุราย ได้เสนาสนะแล้วก็ไม่ยินดีเมาหมก พัวพัน เห็นส่วนที่เป็นโทษแห่ง สังสารวัฏฏ์ มีปัญญาในอุบายที่จะถอนตัวออกอยู่เสมอ ใช้สอย เสนาสนะนั้น. อนึ่ง ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้นั้น. ก็ภิกษุใดเป็นผู้ฉลาด ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่น ในความสันโดษด้วย เสนาสนะ ตามมีตามได้นั้น เราเรียกภิกษุนี้ว่า ผู้สถิตอยู่ในอริยวงศ์อันปรากฏ ว่าเป็นธรรมเลิศ มาแต่เก่าก่อน.
(๔) อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเป็น ผู้มีใจยินดีในการบำเพ็ญสิ่งที่ควร บำเพ็ญ ยินดีแล้ว ในการบำเพ็ญ สิ่งที่ ควรบำเพ็ญ เป็นผู้มีใจยินดีในการละสิ่งที่ควรละ ยินดีแล้วในการ ละสิ่ง ที่ควรละ. อนึ่ง ไม่ยกตนไม่ข่ม ผู้อื่น เพราะเหตุดัง กล่าวนั้น. ก็ภิกษุใดเป็นผู้ฉลาด ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่น ในการ บำเพ็ญสิ่ง ที่ควรบำเพ็ญและการละสิ่งที่ควรละนั้น เราเรียกภิกษุนี้ว่า ผู้สถิต อยู่ในอริยวงศ์อันปรากฏว่า เป็นธรรมเลิศ มาแต่เก่าก่อน.
ภิกษุท. ! อริยวงศ์สี่อย่างเหล่านี้แล ปรากฏว่า เป็นธรรมเลิศ ยั่งยืน เป็นแบบแผน มาแต่เก่าก่อน ไม่ถูกทอดทิ้ง แล้ว ไม่เคยถูกทอดทิ้งเลย ไม่ถูก ทอดทิ้งอยู่จักไม่ถูกทอดทิ้ง เป็นธรรมอันสมณ พราหมณ์ ทั้งหลาย ที่เป็นผู้รู้ไม่คัดค้าน แล้ว.
ภิกษุท. ! ก็แลภิกษุผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยอริยวงศ์สี่ อย่างเหล่านี้ แม้หากอยู่ใน ทิศตะวันออก _ _ ทิศตะวันตก _ _ ทิศเหนือ _ _ ทิศใต้เธอย่อมยํ่ายีความไม่ยินดีเสียได้ ข้างเดียว ความไม่ยินดี หายํ่ายี เธอได้ไม่. ที่เป็นเช่น นั้นเพราะอะไร ? เพราะเหตุว่า ภิกษุ ผู้มีปัญญา ย่อมเป็นผู้ยํ่ายีเสียได้ทั้งความ ไม่ยินดีและความยินดี ดังนี้.
267
ผู้อยู่ด้วยเครื่องอยู่แบบพระอริยเจ้า
ภิกษุท. ! การอยู่แบบพระอริยเจ้า ซึ่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย ได้อยู่มาแล้วก็ดีกำลังอยู่ ในบัดนี้ ก็ดีจักอยู่ต่อไปก็ดี มีเครื่องอยู่สิบประการเหล่านี้. สิบประการอะไรบ้างเล่า ? สิบประการ คือ
ภิกษุท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ละองค์ห้าได้ขาด ประกอบพร้อม ด้วยองค์หก มีอารักขา อย่างเดียว มีพนัก พิงสี่ด้าน เป็นผู้ถอนความเห็นว่าจริง ดิ่งไปคนละทางขึ้นเสียแล้ว เป็นผู้ละการแสวงหา สิ้นเชิงแล้ว เป็นผู้มีความดำริอัน ไม่ขุ่นมัว เป็นผู้มีกายสังขารอันสงบ รำงับแล้ว เป็นผู้มีจิตหลุดพ้นด้วยดี เป็น ผู้มีปัญญาในความหลุดพ้นด้วยดี.
ภิกษุท. ! (๑) ภิกษุเป็นผู้ละองค์ห้าได้ขาด เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละกามฉันทะ ละพยายาท ละถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ และละวิจิกิจฉา ได้แล้ว. ภิกษุท. ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้ละองค์ห้า ได้ขาด.
ภิกษุท. ! (๒) ภิกษุเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยองค์หก เป็น อย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้เห็นรูป ด้วยตา ได้ฟังเสียง ด้วยหู ได้ดมกลิ่นด้วยจมูก ได้ลิ้มรสด้วยลิ้น ได้สัมผัส โผฏฐัพพะด้วย กาย และได้รู้ธรรมารมณ์ ด้วยใจแล้ว ก็เป็นผู้ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา มีสติมีสัมป ชัญญะอยู่ได้. ภิกษุท. ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่าเป็นผู้ประกอบ พร้อมด้วย องค์หก.
ภิกษุท. ! (๓) ภิกษุเป็นผู้มีอารักขาอย่างเดียว เป็นอย่างไร เล่า ? ภิกษุท. ! ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ ประกอบ การ รักษาจิตด้วยสติ. ภิกษุท. ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่ามีอารักขาอย่างเดียว.
ภิกษุท. ! (๔) ภิกษุเป็นผู้มีพนักพิงสี่ด้าน เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ พิจารณาแล้ว เสพของสิ่งหนึ่ง พิจารณาแล้วอดกลั้นของสิ่งหนึ่ง พิจารณาแล้วเว้น ขาด ของสิ่งหนึ่ง พิจารณาแล้วบรรเทา ของสิ่งหนึ่ง ภิกษุท. ! ภิกษุอย่างนี้
269
ชื่อว่าเป็นผู้มีพนักพิงสี่ด้าน.
ภิกษุท. ! (๕) ภิกษุเป็นผู้ถอนความเห็นว่าจริงดิ่งไปคนละทาง ขึ้นเสียแล้ว เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ถอน สละ คาย ปล่อย ละ ทิ้ง เสียแล้ว ซึ่งความเห็นว่าจริง ดิ่งไป คนละทาง มากอย่าง ของเหล่าสมณพราหมณ์มากผู้ด้วยกัน ที่มีความเห็นว่า “โลกเที่ยง บ้าง โลกไม่เที่ยงบ้าง โลกมีที่สุดบ้าง โลกไม่มี ที่สุดบ้าง ชีวะ ก็อันนั้น สรีระก็อันนั้นบ้าง ชีวะก็อันอื่น สรีระก็อันอื่นบ้าง ตถาคตภายหลังแต่การตาย ย่อมมีอีกบ้าง ตถาคตภายหลังแต่การตาย ย่อมไม่มีอีกบ้าง ตถาคตภายหลังแต่การตาย ย่อมมีอีกก็มีไม่มีอีกก็มีบ้าง ตถาคตภายหลัง แต่การตาย ย่อมมีอีกก็หามิได้ไม่มีอีกก็หามิได้ บ้าง. ภิกษุท. ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่าเป็นผู้ถอนความเห็นว่าจริง ดิ่งไปคนละ ทาง (ปัจเจกสัจจะ) ขึ้นเสียแล้ว
ภิกษุท. ! (๖) ภิกษุเป็นผู้ละการแสวงหาสิ้นเชิงแล้ว เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุท. ! ภิกษุในธรรม วินัยนี้เป็นผู้ละ การแสวงหากามแล้ว เป็นผู้ละการ แสวงหาภพแล้ว และการ แสวงหาพรหมจรรย์ ของเธอนั้นก็ระงับไปแล้ว. ภิกษุท. ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่าเป็นผู้ละการ แสวงหา สิ้นเชิงแล้ว.
ภิกษุท. ! (๗) ภิกษุเป็นผู้มีความดำริไม่ขุ่นมัว เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละ ความดำริ ในทางกามเสียแล้ว เป็นผู้ละความดำริในทางพยาบาทเสียแล้ว และเป็นผู้ละความดำริ ในทางเบียดเบียน เสียแล้ว. ภิกษุท. ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่าเป็นผู้มี ความดำริไม่ขุ่นมัว.
ภิกษุท. ! (๘) ภิกษุเป็นผู้มีกายสังขารอันสงบรำงับแล้ว เป็น อย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! ภิกษุใน ธรรม วินัยนี้ เพราะละสุขเสียได้เพราะละทุกข์เสียได้ และเพราะความดับหายไป แห่ง โสมนัส และโทมนัส ในกาลก่อน จึงบรรลุฌานที่๔ อันไม่มีทุกข์และสุข มีแต่ความที่สติเป็น ธรรมชาติ ที่บริสุทธ์ิเพราะ อุเบกขา แล้วแลอยู่. ภิกษุท. ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้มีกายสังขาร อันสงบ รำงับแล้ว.
ภิกษุท. ! (๙) ภิกษุเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นด้วยดีเป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีจิต หลุดพ้น แล้วจากราคะ จากโทสะ จาก โมหะ. ภิกษุท. ! ภิกษุอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้มีจิต หลุดพ้น ด้วยดี.
ภิกษุท. ! (๑๐) ภิกษุเป็นผู้มีปัญญาในความหลุดพ้นด้วยดีเป็น อย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดว่า “เราละ ราคะ โทสะ โมหะ เสียแล้ว ถอนขึ้นได้กระทั่งราก ทำให้เหมือนตาล ยอดเน่า ไม่ให้มีไม่ให้เกิด ได้อีกต่อไป” ดังนี้. ภิกษุท. ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้มีปัญญา ในความหลุดพ้น ด้วยดี.
ภิกษุท. ! ในกาลยืดยาวฝ่ายอดีต พระอริยเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งได้เป็น อยู่แล้ว อย่างพระอริยเจ้า พระอริยเจ้า ทั้งหมดเหล่านั้น ก็ได้เป็นอยู่แล้ว ในการอยู่อย่างพระอริยเจ้า สิบประการนี้เหมือนกัน.
ภิกษุท. ! ในกาลยืดยาวฝ่ายอนาคต พระอริยเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งจัก เป็นอยู่อย่าง พระอริยเจ้า พระอริยเจ้า ทั้งหมดเหล่านั้น ก็จักเป็นอยู่ในการอยู่อย่างพระอริยเจ้า สิบประการนี้เหมือนกัน.
ภิกษุท. ! ในกาลบัดนี้พระอริยเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่ง กำลังเป็นอยู่อย่างพระอริยเจ้า พระอริยเจ้า ทั้งหมด เหล่านั้น ก็กำลังเป็นอยู่ในการอยู่อย่างพระอริยเจ้า สิบประการนี้ เหมือนกัน.
ภิกษุท. ! การอยู่แบบพระอริยเจ้า ซึ่งพระอริยเจ้าทั้งหลายได้อยู่มา แล้วก็ดีกำลังอยู่ ในบัดนี้ก็ดี จักอยู่ต่อไป ก็ดีมีเครื่องอยู่สิบประการเหล่านี้แล.
271
ผู้ระลึกถึงสถานที่ ที่ควรระลึกตลอดชีวิต
ภิกษุท. ! สถานที่สามแห่ง เป็นที่ระลึกตลอดชีวิตของพระราชาผู้เป็น กษัตริย์มุรธา ภิเษกแล้ว. สามแห่งที่ไหน บ้างเล่า ? สามแห่งคือ พระราชา ผู้เป็นกษัตริย์มุรธาภิเษก ประสูติณ ตำบลใด ตำบลนี้เป็น ที่ระลึกตลอดชีวิตของ พระราชาพระองค์นั้นเป็นแห่งที่หนึ่ง พระราชา ได้เป็นกษัตริย์มุรธาภิเษกแล้ว ณ ตำบลใด ตำบลนี้เป็นที่ระลึกตลอดชีวิต ของพระราชาพระองค์นั้น เป็นแห่งที่สอง พระราชาผู้เป็นกษัตริย์ มุรธาภิเษก ทรงผจญสงคราม ได้ชัยชนะแล้ว เข้ายึดครอง สนามรบนั้นไว้ได้ณ ตำบลใด ตำบลนี้เป็นที่ระลึก ตลอดชีวิตของ พระราชาพระองค์นั้นเป็นแห่งที่สาม
ภิกษุท. !ฉันใดก็ฉันนั้น : สถานที่สามแห่ง เป็นที่ระลึกตลอดชีวิต ของภิกษ ุเหมือนกัน. สามแห่ง ที่ไหนบ้างเล่า ? สามแห่งคือ :-
ภิกษุ ปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมนํ้าฝาด ออกบวชจากเรือน เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้อง ด้วยเรือน ณ สถานที่ใด สถานที่นี้เป็นที่ควรระลึกตลอดชีวิต ของภิกษุนั้นเป็นแห่งที่หนึ่ง.
ภิกษุ ย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริงว่า ทุกข์เป็นเช่นนี้ๆ เหตุให้เกิด ทุกข์เป็นเช่นนี้ๆ ความดับไม่เหลือ แห่งทุกข์ เป็นเช่นนี้ๆ และข้อปฏิบัติให้ถึง ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นเช่นนี้ๆ ณ สถานที่ใด สถานที่นี้ ก็เป็นที่ควร ระลึก ตลอดชีวิตของภิกษุนั้นเป็นแห่งที่สอง.
ภิกษุ กระทำให้แจ้งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้เพราะความสิ้นไป แห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญา อันยิ่งเอง ใน ทิฏฐธรรม เข้าถึงแล้ว แลอยู่ ณ สถานที่ใด สถานที่นี้ก็เป็นที่ควรระลึกตลอดชีวิต ของภิกษุ นั้นเป็น แห่งที่สาม.
ภิกษุ ท. ! สถานที่สามแห่งเหล่านี้เป็นที่ควรระลึกตลอดชีวิตของ ภิกษุแล.
272
ผู้สอบทานตัวเอง
ภิกษุ ท. ! ข้อสอบทานสิบอย่างเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักบวชควรพิจารณา เนือง ๆ. สิบอย่างอะไรบ้างเล่า ? สิบอย่างคือ
(๑) นักบวชควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า บัดนี้เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว (อาการกิริยาใด ๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้น ๆ)
(๒) นักบวชควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า ความเลี้ยงชีวิตของเราเนื่องด้วย ผู้อื่น (เราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย)
(๓) นักบวชควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า อาการกายวาจาอย่างอื่น ที่เรา จะต้องทำให้ดีขึ้นไปกว่านี้ยังมีอยู่อีก (ไม่ใช่เพียงเท่านี้)
(๔) นักบวชควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า ตัวของเราเองติเตียนตัวเราเอง โดยศีลได้หรือไม่
(๕) นักบวชควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า ผู้รู้ใคร่ครวญแล้ว ติเตียนเรา โดยศีลได้หรือไม”
(๖) นักบวชควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของ รักของชอบใจทั้งนั้น
(๗) นักบวชควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เป็น ผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง อาศัย เราทำดีก็ตามทำชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
(๘) นักบวชควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้ เราทำอะไรอยู่”
(๙) นักบวชควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรายินดียิ่ง ในเรือนว่าง
(๑๐) นักบวชควรพิจารณาเนืองๆ ว่า ปัญญาเครื่องรู้เห็นพิเศษ ที่สามารถจะทำความเป็นอริยะ อันยิ่งกว่า มนุษยธรรม ที่เราได้บรรลุแล้ว มีอยู่หรือไม่ซึ่งจะให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขิน ในเวลาที่ถูกเพื่อนผู้ประพฤติ พรหมจรรย์ด้วยกันถามในกาลภายหลัง
ภิกษุท. ! ข้อสอบทานสิบอย่างเหล่านี้แล เป็นสิ่งที่นักบวชควร พิจารณาเนือง ๆ
274
ธรรมทายาท
ภิกษุท. ! พวกเธอทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาท (คือรับมรดกธรรม) ของเราเถิด อย่าเป็น อามิสทายาท (คือรับมรดกสิ่งของ) เลย. ความที่ควรจะ เป็นห่วงของเราในพวกเธอ ทั้งหลาย มีอยู่ว่า “ทำอย่างไรเสีย สาวกทั้งหลาย ของเรา ก็คงจะเป็นธรรมทายาท ไม่เป็น อามิสทายาท ” ดังนี้.
ภิกษุท. ! ถ้าพวกเธอเป็นอามิสทายาท ไม่เป็นธรรมทายาทของเราแล้ว พวกเธอ ทั้งหลาย ก็จะถูกเขาตราหน้าว่า “สาวกทั้งหลายของพระศาสดาเป็น อามิสทายาทอยู่โดย ปรกติหาได้เป็นธรรม ทายาทไม่เลย” ดังนี้. แม้เราเอง ก็จะถูก เขา ยกโทษว่า “สาวกทั้งหลาย ของพระศาสดา ล้วนแต่เป็น อามิสทายาท กันเป็นปรกติหาได้เป็นธรรมทายาทไม่เลย” ดังนี้.
ภิกษุท. ! ถ้าพวกเธอพากันเป็นธรรมทายาทของเรา และไม่เป็นอามิส ทายาท แล้วไซร้พวกเธอ ทั้งหลาย ก็จะได้รับการยกย่องว่า “สาวกทั้งหลายของ พระศาสดา ล้วนแต่เป็นธรรมทายาทกันอยู่โดย ปรกติหาได้เป็นอามิสทายาท ไม่” ดังนี้. แม้เราเอง ก็จะได้รับการยกย่องว่า “สาวกทั้งหลายของ พระศาสดา ล้วนแต่พากันเป็นธรรมทายาททั้งนั้น หาได้เป็นอามิสทายาทไม่เลย” ดังนี้ด้วย เหมือนกัน.
ภิกษุท. ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้พวกเธอทั้งหลาย จงพากันเป็น ธรรมทายาท ของเราเถิด อย่างได้เป็น อามิสทายาทเลย. ความที่ควรจะเป็นห่วง ของเราในพวกเธอ ทั้งหลาย มีอยู่ว่า “ทำอย่างไร เสีย สาวกทั้งหลายของเราพึง เป็นธรรมทายาทเถิด อย่าได้เป็นอามิสทายาทเลย” ดังนี้.
275
ฉันอาหารวันละหนเดียว
ภิกษุท. ! เราย่อมฉันโภชนะแต่ในที่นั่งแห่งเดียว(คือฉันหนเดียวลุกขึ้น แล้วไม่ฉัน อีกในวันนั้น). ภิกษุท. ! เมื่อเราฉันโภชนะแต่ในที่นั่งแห่งเดียวอยู่ย่อมรู้สึก ความเป็นผู้มีอาพาธ น้อย มีทุกข์น้อย มีความเบากาย กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง และมีความผาสุกด้วย.
ภิกษุท. ! มาเถิด แม้พวกเธอทั้งหลาย ก็จงฉันโภชนะแต่ในที่นั่ง แห่งเดียว. ภิกษุท. ! พวกเธอทั้งหลาย เมื่อฉันโภชนะแต่ในที่นั่งแห่งเดียวอยู่จักรู้สึกความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีทุกข์น้อย มีความเบากาย กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง และมีความผาสุกด้วย
275-2
หลังอาหารแล้วภาวนา
สารีบุตร ! คำของเธอทั้งหลาย เป็นสุภาษิตได้โดยปริยาย. เธอทั้งหลาย จงฟังคำ ของเราบ้าง. สารีบุตร ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้เวลาหลังอาหาร กลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ (ขัดสมาธิ) ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หวัง อยู่ว่า “จิตของเรา ยังไม่หลุดพ้น จากอาสวะทั้งหลาย เพราะยังไม่สิ้น อุปาทาน เพียงใด เราจักไม่เลิกถอน การนั่งคู้บัลลังก์ นี้เพียงนั้น” ดังนี้.
สารีบุตร ! ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามสง่า เพราะมีภิกษุประเภทนี้เข้าอาศัยอยู่แล.
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
๑. บาลีพระพุทธภาษิต กกจูปมสูตร มู. ม. ๑๒/๒๕๑/๒๖๕.
๒. บาลีพระพุทธภาษิต มหาโคสิงคสาลสูตร มู. ม. ๑๒/๔๐๙/๓๘๒ ตรัสแก่ท่านพระสารีบุตร ที่ป่า โคสิงคสาลวัน. ณ ที่นี้ท่านพระมหาสาวก ล้วนแต่เป็นเถระ มีชื่อเสียงคนรู้จักมาก ได้พากันสนทนา ด้วยเรื่องว่า “ป่า โคสิงคสาลวัน จะชื่อว่าเป็นป่าที่ งามสง่า เพราะมีภิกษุประเภทไหนเข้าอาศัยอยู่ ?”
ท่านพระอานนท์ ตอบว่า เพราะมีภิกษุ พหูสูต
ท่านพระเรวัต ตอบว่า เพราะมีภิกษุผู้ยินดีในการหลีกเร้น
ท่านพระอนุรุทธ ตอบว่า เพราะมีภิกษุผู้มีทิพยจักษุญาณ
ท่านพระมหากัสสปะ ตอบว่า เพราะมีภิกษุผู้ถือธุดงค์และสมบูรณ์ด้วยธรรมขันธ์ห้า ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ตอบว่า เพราะมีภิกษุผู้สามารถ โต้ตอบอภิธรรมไม่ติดขัด และท่านพระสารีบุตร ตอบว่า เพราะมีภิกษุผู้สามารถเข้าอยู่วิหาร สมาบัติได้ตามต้องการ เมื่อต่างท่านต่างความเห็น จึงพากันไปเฝ้า ทูลขอให้ตัดสินว่า คำของ ใครเป็นสุภาษิต กว่า พระผู้มี พระภาคเจ้า ได้ตรวจตอบดังข้อความข้างบนนั้น.
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
276
ผู้ขึงสายพิณพอเหมาะ
ดูก่อนโสณะ ! เมื่อเธอเข้าไปสู่ที่ลับหลีกเร้นอยู่แต่ผู้เดียว ความคิดได้เกิดขึ้นแก่เธอว่า “สาวกของพระผู้มี พระภาคเจ้าเหล่าใด ซึ่งปรารภความเพียร อยู่เราก็เป็นผู้หนึ่งในบรรดา สาวกเหล่านั้น ถึงอย่างนั้น จิต ของเราก็ยังหาพ้น จากอาสวะเพราะไม่ถือมั่นได้ไม่. อันที่จริง โภคะในสกุลของเรา ก็ยังมีอยู่มากเราอาจจะใช้สอยโภคะและบำเพ็ญบุญได้อยู่ ถ้ากระนั้น เราควรสึกไปใช้สอยโภคะ และบำเพ็ญบุญเอาจะดีกว่า” ดังนี้มิใช่หรือ ?
"เป็นเช่นนั้นจริง พระเจ้าข้า.” พระโสณะทูลตอบ.
ดูก่อนโสณะ ! เธอมีความคิดในเรื่องนี้เป็นอย่างไร เมื่อก่อนแต่ครั้ง เธอยังเป็น คฤหัสถ์ เธอ เชี่ยวชาญ ในเรื่อง เสียงแห่งสายพิณ มิใช่หรือ ?
“เป็นเช่นนี้พระเจ้าข้า”
ดูก่อนโสณะ ! เธอจะสำคัญข้อนี้เป็นไฉน : เมื่อใด สายพิณของเธอขึง ตึงเกินไป เมื่อนั้น พิณของเธอจะมีเสียง ไพเราะน่าฟังหรือ จะใช้การได้หรือ ?
“ไม่เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า.”
ดูก่อนโสณะ ! เธอจะสำคัญข้อนี้เป็นไฉน : เมื่อใด สายพิณของเธอ ขึงหย่อนเกินไป เมื่อนั้น พิณของเธอ จะมี เสียงไพเราะ น่าฟังหรือ จะใช้การ ได้หรือ ?
“ไม่เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า”
ดูก่อนโสณะ ! แต่ว่า เมื่อใด สายพิณของเธอ ไม่ตึงนักหรือไม่หย่อน นักขึงได้ ระเบียบเสมอ ๆ กันแต่พอดี เมื่อนั้น พิณของเธอ ย่อมมีเสียง ไพเราะ น่าฟังหรือ ใช้การได้ดี มิใช่หรือ ?
“เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า.”
ดูก่อนโสณะ ! ข้อนี้ก็เป็นเช่นนั้นแล กล่าวคือ ความเพียรที่บุคคล ปรารภจัดเกินไป ย่อมเป็นไป เพื่อความ ฟุ้งซ่าน ที่ย่อหย่อนเกินไปย่อมเป็นไปเพื่อ ความเกียจคร้าน. โสณะ ! เพราะเหตุนั้นแล เธอจงตั้ง ความเพียรแต่พอดี จงเข้า ใจความที่อินทรีย์ทั้งหลาย๑ ต้องเป็นธรรมชาติเสมอ ๆ กัน จงกำหนดหมายใน ความพอดีนั้นไว้เถิด.
“พระเจ้าข้า ! ข้าพระองค์จักปฏิบัติอย่างนั้น”.
กาลต่อมา ท่านพระโสณะได้เริ่มตั้งความเพียรแต่พอเสมอ ๆ กัน ไม่ยิ่งไม่หย่อน ได้ทราบความ ที่อินทรีย์ ทั้งหลายต้องเป็นธรรมชาติเสมอ ๆ กัน กำหนดหมายในข้อนั้นไว้แล้ว ก็ปลีกตัวออกจากหมู่อยู่แต่ ผู้เดียว ไม่ประมาท ทำความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปแล้ว ในแนวนั้น ไม่นานนักก็ได้ทำให้รู้แจ้งถึงที่สุด ของพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ซึ่ง เป็นที่ต้อง ประสงค์ ของเหล่ากุลบุตร ผู้ออกบวชจากบ้านเรือน เป็นผู้ไม่มี บ้านเรือน ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรม เข้าถึงแล้วแลอยู่.
ท่านได้รู้ว่า “ชาติของเราสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่น เพื่อความเป็น อย่างนี้มิได้มี” ดังนี้. ท่านพระโสณะ ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งแล้ว ในโลก.
277
ผู้มีธรรมเป็นที่พึ่ง
อานนท์ ! ก็สารีบุตร พาเอาสีลขันธ์สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณ ทัสสนขันธ์ ติดตัวปรินิพพาน ไปด้วยหรือ ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ท่านพระสารีบุตร จะได้พาเอาสีลขันธ์ฯลฯ วิมุตติญาณ ทัสสนะขันธ์ของ พวก ข้าพระองค์ติดตัวปรินิพพานไปด้วย ก็หามิได้ แต่ว่าสำหรับพวกข้า พระองค์นั้น ท่านพระสารีบุตร เป็นผู้ กล่าวสอน ชี้แจงให้รู้ให้เห็น ชี้ชวนให้รับเอาไปปฏิบัติ ให้กล้า ในการทำ ให้พอใจในการทำ เป็นผู้ไม่ เหน็ดเหนื่อย ในการแสดงธรรม เป็นผู้ อนุเคราะห์แก่เพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยกันทั้งหลาย พวกข้าพระองค์ทั้งหลาย ยัง ตามระลึกโอชะอันเกิด แต่ธรรม โภคะอันเป็นธรรม และการอนุเคราะห์ ด้วยธรรม ของท่านพระสารีบุตรนั้นได้อยู่พระเจ้าข้า”
ท่านพระอานนท์กราบทูล.
อานนท์ ! เราได้กล่าวเตือนไว้ก่อนแล้วมิใช่หรือว่า “ความเป็นต่าง ๆ ความพลัดพราก ความเป็น อย่างอื่น จากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ย่อมมี อานนท์ ! ข้อนั้น จักได้มาแต่ไหนเล่า สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัย ปรุงแล้ว มีความชำรุดไปเป็นธรรมดา สิ่งนั้นอย่าชำรุด ไปเลย ดังนี้ ข้อนั้น ย่อมเป็นฐานะที่มีไม่ได้”.
อานนท์ ! เปรียบเหมือนเมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นเหลืออยู่ส่วนใดเก่า ครํ่ากว่าส่วนอื่น ส่วนนั้นพึง ย่อยยับไปก่อน ข้อนี้ฉันใด อานนท์ ! เมื่อภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่มีธรรมเป็นแก่นสาร เหลืออยู่ สารีบุตรปรินิพพาน ไปแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน. อานนท์ ! ข้อนั้น จักได้มาแต่ไหนเล่า : สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัย ปรุงแล้ว มีความชำรุดไปเป็นธรรมดา สิ่งนั้นอย่าชำรุดไป เลย ดังนี้ ข้อนั้น ย่อมเป็นฐานะที่มีไม่ได้.
อานนท์ ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้พวกเธอทั้งหลาย จงมีตนเป็น ประทีป มีตนเป็น สรณะ อย่าเอา สิ่งอื่นเป็นสรณะเลย จงมีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ อย่ามีสิ่งอื่นเป็น สรณะเลย.
อานนท์ ! ภิกษุมีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็น สรณะ มีธรรมเป็น ประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?
อานนท์ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นกายในกายเนือง ๆ อยู่ พิจารณาเห็น เวทนา ในเวทนา ทั้งหลายเนือง ๆ อยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตเนือง ๆ อยู่ พิจารณาเห็นธรรม ในธรรมทั้งหลายเนือง ๆ อยู่ มีเพียรเผากิเลส มีความ รู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติจะพึงกำจัด อภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้. อานนท์ ! ภิกษุอย่างนี้แล ชื่อว่ามีตนเป็นประทีป มีตนเป็น สรณะ ไม่เอาสิ่งอื่น เป็นสรณะ มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็น สรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ เป็นอยู่.
อานนท์ ! ในกาลบัดนี้ก็ดีในกาลล่วงไปแห่งเราก็ดีใครก็ตาม จักต้อง มีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ มีธรรมเป็น ประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่น เป็นสรณะ เป็นอยู่. อานนท์ ! ภิกษุพวกใด เป็นผู้ใคร่ในสิกขา ภิกษุพวกนั้นจักเป็นผู้อยู่ใน สถานะ อันเลิศที่สุดแล.
279
ผู้ไม่ประมาทในความตายแท้จริง
ภิกษุท. ! มรณสติ (ความระลึกถึงความตาย) อันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมีผล ใหญ่มี อานิสงส์ใหญ่หยั่งลงสู่นิพพาน มีนิพพานเป็นที่สุด. พวกเธอเจริญมรณสติอยู่บ้างหรือ ?
เมื่อรับสั่งดังนั้นแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งทูลขึ้นว่า
“แม้ข้าพระองค์ก็เจริญมรณสติอยู่พระเจ้าข้า”.
พ. “เธอเจริญมรณสติอย่างไรเล่า ? ภิกษุ !”
ภิ. “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ในการเจริญมรณสตินี้ข้าพระองค์มีความคำนึงอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงวันหนึ่งคืนหนึ่ง. เราพึงใส่ใจถึงคำสอนของ พระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด. การปฏิบัติตามคำสอน ควรทำให้มากแล้วหนอ’ ดังนี้. ข้าพระองค์เจริญ มรณสติอย่างนี้แล พระเจ้าข้า”.
อีกรูปหนึ่งทูลว่า “ถึงข้าพระองค์ก็เจริญมรณสติอยู่พระเจ้าข้า”.
พ. “เธอเจริญมรณสติอย่างไรเล่า ? ภิกษุ !”
ภิ. “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ในการเจริญมรณสตินี้ข้าพระองค์มีความคำนึงอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วเวลากลางวัน. เราพึงใส่ใจถึงคำสอนของ พระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด. การปฏิบัติตามคำสอน ควรทำให้มากแล้วหนอ’ ดังนี้. ข้าพระองค์เจริญ มรณสติอย่างนี้แล พระเจ้าข้า”.
อีกรูปหนึ่งทูลว่า “ถึงข้าพระองค์ก็เจริญมรณสติอยู่พระเจ้าข้า”.
พ. เธอเจริญมรณสติอย่างไรเล่า ? ภิกษุ !
ภิ. “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ในการเจริญมรณสตินี้ข้าพระองค์มีความคำนึงอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วขณะที่ฉันบิณฑบาตเสร็จมื้อหนึ่ง. เราพึง ใส่ใจถึงคำสอนของ พระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด. การปฏิบัติตามคำสอน ควรทำให้มากแล้วหนอ’ ดังนี้. ข้าพระองค์เจริญมรณสติ อย่างนี้แล พระเจ้าข้า”. อีกรูปหนึ่งทูลว่า “ถึงข้าพระองค์ก็เจริญ มรณสติอยู่พระเจ้าข้า”.
พ. “เธอเจริญมรณสติอย่างไรเล่า ? ภิกษุ !
ภิ. “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ในการเจริญมรณสตินี้ข้าพระองค์มีความคำนึงอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วขณะที่ฉันอาหารเสร็จเพียง ๔ -๕ คำ. เรา พึงใส่ใจถึงคำสอนของ พระผู้มี พระภาคเจ้าเถิด. การปฏิบัติตามคำสอน ควรทำให้มากแล้ว หนอ ดังนี้ข้าพระองค์เจริญมรณสติ แม้อย่างนี้แล พระเจ้าข้า”.
อีกรูปหนึ่งทูลว่า “ถึงข้าพระองค์ก็เจริญมรณสติอยู่พระเจ้าข้า”.
พ. “เธอเจริญมรณสติอย่างไรเล่า ? ภิกษุ !”
ภิ. “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ในการเจริญมรณสตินี้ข้าพระองค์มีความคำนึงอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วขณะที่ฉันอาหารเสร็จเพียงคำเดียว. เรา พึงใส่ใจถึงคำสอนของ พระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด. การปฏิบัติตามคำสอน ควรทำให้มากแล้ว หนอ’ ดังนี้. ข้าพระองค์เจริญมรณสติ แม้อย่างนี้แล พระเจ้าข้า”.
อีกรูปหนึ่งทูลว่า “ถึงข้าพระองค์ก็เจริญมรณสติอยู่พระเจ้าข้า”.
พ. “เธอเจริญมรณสติอย่างไรเล่า ? ภิกษุ !
ภิ. “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ในการเจริญมรณสตินี้ข้าพระองค์มีความคำนึงอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วขณะที่หายใจเข้าแล้วหายใจออก หรือชั่ว ขณะหายใจออก แล้ว หายใจเข้า. เราพึงใส่ใจถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด. การปฏิบัติตาม คำสอน ควรทำให้มาก แล้วหนอ’ ดังนี้. ข้าพระองค์เจริญมรณสติแม้อย่างนี้แล พระเจ้าข้า”.
เมื่อสิ้นคำทูล ทั้งหมดแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า
ภิกษุท. ! ภิกษุพวกที่เจริญมรณสติอย่างนี้ว่า “โอหนอ
เราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงวันหนึ่งคืนหนึ่ง _ _ ดังนี้ก็ดี
เราจจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วเวลา กลางวัน _ _ ดังนี้ก็ดี
เราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วขณะที่ฉันบิณฑบาตเสร็จมื้อ หนึ่ง _ _ ดังนี้ก็ดี เราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วขณะที่ฉันอาหารเสร็จ เพียง ๔ -๕ คำ.
เราพึงใส่ใจถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด.
การปฏิบัติตามคำสอน ควรทำให้มากแล้วหนอ” ดังนี้ก็ดี
ภิกษุเหล่านี้เราเรียกว่ายังเป็น ผู้ประมาทอยู่ยังเจริญมรณสติเพื่อความ สิ้น อาสวะช้าไป.
ภิกษุท. ! ฝ่ายภิกษุพวกที่เจริญมรณสติอย่างนี้ว่า
“โอหนอ
เราอาจจะ มีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วขณะฉันอาหารเสร็จเพียงคำเดียว _ _ ” ดังนี้ก็ดี ว่า
“โอหนอ เราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วขณะที่หายใจเข้า แล้วหายใจออก หรือชั่วขณะหายใจออกแล้ว หายใจเข้า. เราพึงใส่ใจถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เถิด. การปฏิบัติตามคำสอน ควรทำให้มากแล้ว หนอ” ดังนี้ก็ดี
ภิกษุเหล่านี้เราเรียกว่า เป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว เป็นผู้เจริญมรณสติเพื่อ ความสิ้น อาสวะอย่างแท้จริง.
ภิกษุท. ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจ ไว้ว่า “เราทั้งหลาย จักเป็นผู้ไม่ ประมาทเป็นอยู่ จักเจริญมรณสติเพื่อ ความสิ้นอาสวะอย่างแท้จริง” ดังนี้.
ภิกษุท. ! เธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจ ไว้อย่างนี้แล.
282
ทางรอดสำหรับภิกษุไข้
ภิกษุท. ! ภิกษุไข้ผู้มีกำลังน้อยรูปใด ไม่ละจากธรรมห้าอย่าง เธอพึงหวังผลอันนี้ ได้คือ เธอจักทำ ให้แจ้งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้เพราะความสิ้นไป แห่ง อาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอัน ยิ่งเอง ในทิฏฐธรรม เข้าถึงแล้วแลอยู่ต่อกาลไม่นานเลย. ธรรมห้าอย่างอะไรบ้างเล่า ? ห้าอย่างคือ
(๑) เป็นผู้พิจารณาเห็นความไม่งามในกายอยู่เป็นประจำ
(๒) เป็นผู้มีการกำหนดหมายความปฏิกูล ในอาหาร อยู่เป็นประจำ
(๓) เป็นผู้มีการกำหนดหมายความไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง อยู่เป็น ประจำ
(๔) เป็นผู้มีการกำหนดหมายความไม่เที่ยง ในสังขารทั้งปวง อยู่เป็น ประจำ
(๕) เป็นผู้มีสติอันตนเข้าไปตั้งไว้ดีแล้วในกาย แล้วเห็นการเกิดดับใน ภายใน.
ภิกษุท. ! ภิกษุไข้ผู้มีกำลังน้อยรูปใด ไม่ละจากธรรมห้าอย่างเหล่านี้ เธอพึงหวังผล อันนี้ได้คือ เธอจักทำให้แจ้งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันหา อาสวะมิได้เพราะความสิ้นไป แห่ง อาสวะ ทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรม เข้าถึงแล้วแลอยู่ต่อกาลไม่นานเลย แล.
283
ผู้อยู่ใกล้นิพพาน
ภิกษุท. ! ภิกษุเมื่อประกอบพร้อมด้วยธรรมสี่อย่างแล้ว ไม่อาจที่จะ เสื่อมเสีย มีแต่จะ อยู่ใกล้ นิพพาน อย่างเดียว. ธรรมสี่อย่างอะไรบ้างเล่า ? สี่อย่างคือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้คุ้มครอง ทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ เป็นผู้ตามประกอบใน ชาคริยธรรม อยู่เป็นประจำ.
ภิกษุท. ! ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ มีศีล มีการสำรวมด้วยปาติโมกขสังวร มีมรรยาท และโคจรสมบูรณ์อยู่ เป็นผู้เห็นเป็นภัยในโทษทั้งหลาย แม้เล็กน้อย สมาทาน ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย. ภิกษุท. ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่าเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล.
ภิกษุท. ! ภิกษุเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็น อย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้เห็นรูปด้วยตา ได้ฟังเสียง ด้วยหู ได้ดมกลิ่นด้วยจมูก ได้ลิ้มรส ด้วยลิ้น ได้สัมผัส โผฏฐัพพะด้วยกาย และได้รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ก็ไม่รวบถือเอาทั้งหมด และไม่แยกถือเอา
เป็นส่วน ๆ ๑ สิ่งที่เป็นอกุศลลามกคืออภิชฌาและโทมนัส มักไหลไปตาม ภิกษุผู้ไม่ สำรวม ตา หูจมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะการไม่สำรวมอินทรีย์ใดเป็นเหตุ เธอก็ปฏิบัติเพื่อปิดกั้น อินทรีย์นั้นไว้ เธอรักษา และถึงความสำรวม ตา หูจมูก ลิ้น กาย และใจ. ภิกษุท. ! ภิกษุอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลาย.
ภิกษุท. ! ภิกษุเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงฉันอาหาร ไม่ฉัน เพื่อเล่น ไม่ฉันเพื่อมัวเมา ไม่ฉันเพื่อประดับ ไม่ฉันเพื่อ ตกแต่ง แต่ฉันเพียง เพื่อให้กายนี้ตั้งอยู่ได้เพื่อให้ชีวิตเป็นไป เพื่อป้องกันความลำบาก เพื่อ อนุเคราะห์ พรหมจรรย์โดยกำหนดรู้ว่า “เราจะกำจัดเวทนาเก่า (คือหิว) เสียแล้ว ไม่ทำเวทนาใหม่ (คืออิ่มจนอึดอัด) ให้เกิดขึ้น ความที่อายุดำเนินไปได้ความ ไม่มีโทษเพราะอาหาร และความอยู่ผาสุกสำราญจะมีแก่เรา” ดังนี้. ภิกษุท. ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ.
ภิกษุท. ! ภิกษุเป็นผู้ตามประกอบในชาคริยธรรมอยู่เนืองนิจ เป็น อย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมชำระจิตให้หมดจด สิ้นเชิงจากกิเลสที่กั้นจิต ด้วยการเดิน จงกรม ด้วยการนั่ง ตลอดวันยังคํ่าไปจน สิ้นยามแรกแห่งราตรี ครั้นยามกลางแห่งราตรีย่อม สำเร็จ การนอนอย่าง ราชสีห์ (คือ) ตะแคงข้างขวา เท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะในการ ลุกขึ้น ครั้นยามสุดท้ายแห่งราตรีกลับลุกขึ้นแล้ว ก็ชำระจิตให้หมดจดสิ้นเชิงจากกิเลส ที่กั้นจิต ด้วยการเดินจงกรม และด้วยการนั่งอีก.
ภิกษุท. ! ภิกษุอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ตามประกอบในชาคริยธรรมอยู่เนืองนิจ.
ภิกษุท. ! ภิกษุเมื่อประกอบพร้อมด้วยธรรมสี่อย่างเหล่านี้แล้ว ไม่อาจ ที่จะเสื่อมเสีย มีแต่จะอยู่ใกล้นิพพานอย่างเดียวแล.
----------------------------------------------------------------------
๑. คือการไม่รวบถือเอาผัสสะทั้งหมดเป็นตัวเราของเรา หรือไม่แยกถือแต่ละส่วนของ องค์ประกอบ ผัสสะว่า เป็นตัวเรา ของเรา (สำหรับผู้เดินมรรคในระดับผัสสะ) และการ ไม่ถือเอาเป็นอารมณ์สำหรับยินดียินร้าย ทั้งโดย ส่วนรวมและส่วนปลีกย่อย ของอารมณ์นั้น ๆ (สำหรับผู้เดินมรรคในระดับเวทนา).
----------------------------------------------------------------------
285
ผู้จักทำนิพพานให้แจ้ง
ภิกษุท. ! ภิกษุผู้ที่พอใจในความคลุกคลีกันเป็นหมู่ๆ ยินดีในความ คลุกคลีกัน เป็นหมู่ๆ ตามประกอบความพอใจในความคลุกคลีกันเป็นหมู่ๆ เป็นผู้พอใจในหมู่ ยินดีในหมู่ ตามประกอบความพอใจ ในหมู่ อยู่แล้วหนอ เธอนั้น จักมาเป็นผู้โดดเดี่ยว ยินดียิ่งในความสงัด เงียบนั้น ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่มีได้.
เมื่อไม่เป็นผู้โดดเดี่ยวยินดียิ่งในความสงัดเงียบแล้ว จักถือเอานิมิตแห่ง สมาธิจิต และ วิปัสสนาจิต ได้นั้น ข้อนี้ก็ไม่เป็นฐานะที่มีได้.
เมื่อไม่ได้ถือเอานิมิตแห่งสมาธิจิต และวิปัสสนาจิตแล้ว. จักยังสัมมาทิฏฐิแห่ง วิปัสสนา ให้บริบูรณ์นั้น ข้อนี้ก็ไม่เป็นฐานะที่มีได้.
เมื่อไม่ทำสัมมาทิฏฐิแห่งวิปัสสนาให้บริบูรณ์แล้ว จักยังสัมมาสมาธิแห่ง มรรคและ
ผลให้ บริบูรณ์ นั้น ข้อนี้ก็ไม่เป็นฐานะที่มีได้.
เมื่อไม่ทำสัมมาสมาธิแห่งมรรคและผลให้บริบูรณ์แล้ว จักละสัญโญชน์ทั้งหลายนั้น ข้อนี้ก็ไม่เป็น ฐานะที่มีได้.
เมื่อไม่ละสัญโญชน์ทั้งหลายแล้ว จักทำนิพพานให้แจ้งนั้น ข้อนี้ ก็ไม่เป็น ฐานะที่มีได้เลย.
ภิกษุท. ! ภิกษุผู้ที่ไม่พอใจในความคลุกคลีกันเป็นหมู่ๆ ไม่ยินดีในความคลุกคลี กันเป็นหมู่ๆ ไม่ตามประกอบความพอใจในความคลุกคลีกัน เป็นหมู่ๆ ไม่เป็นผู้พอใจในหมู่ ไม่ยินดีในหมู่ ไม่ตาม ประกอบ ความพอใจ ในหมู่ อยู่แล้วหนอ เธอนั้น จักมาเป็นผู้โดดเดี่ยว ยินดียิ่งในความสงัด เงียบนั้น ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้.
เมื่อเป็นผู้โดดเดี่ยวยินดียิ่งในความสงัดเงียบแล้ว จักถือเอานิมิตของสมาธิจิตและ ของ วิปัสสนาจิต ได้นั้น ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้.
เมื่อถือเอานิมิตของสมาธิจิตและของวิปัสสนาจิตได้แล้ว จักยังสัมมาทิฏฐิแห่ง วิปัสสนา ให้บริบูรณ์ได้นั้น ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้.
เมื่อทำสัมมาทิฏฐิแห่งวิปัสสนาให้บริบูรณ์ได้แล้ว จักยังสัมมาสมาธิแห่ง มรรคและผล ให้บริบูรณ์ ได้นั้น ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้.
เมื่อทำสัมมาสมาธิแห่งมรรคและผลให้บริบูรณ์ได้แล้ว จักละสัญโญชน์ทั้งหลาย ได้นั้น ข้อนี้เป็น ฐานะที่มีได้เป็นได้.
เมื่อละสัญโญชน์ทั้งหลายได้แล้ว จักทำนิพพานให้แจ้งได้นั้น ข้อนี้เป็น ฐานะที่มีได้ เป็นได้แล.
286
ผู้เป็นอยู่อย่างถูกพระพุทธอัธยาศัย
ภิกษุท. ! เราเป็นผู้มั่นแล้วในข้อปฏิบัตินี้. ภิกษุท. ! เราเป็นผู้ มีจิตมั่นแล้วใน ข้อปฏิบัตินี้. ภิกษุท. ! เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้พวกเธอ ทั้งหลาย จงปรารภความเพียรให้ยิ่งกว่า ประมาณ เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อ บรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุเพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้ง. เราจักรอคอยพวกเธอ ทั้งหลายอยู่ณ ที่ นครสาวัตถี นี้แล จนกว่าจะถึงวันท้าย แห่งฤดูฝน ครบสี่เดือน เป็นฤดูที่บานแห่งดอกโกมุท (เพ็ญเดือนสิบสอง).
พวกภิกษุผู้เป็นชาวชนบท ได้ทราบข่าวนี้ก็พากันหลั่งไหลไปสู่นครสาวัตถี เพื่อเฝ้าเยี่ยม พระผู้มีพระภาคเจ้า. ฝ่ายพระเถระผู้มีชื่อเสียงคนรู้จักมาก ซึ่งมีท่านพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะพระมหา กัจจายนะ พระมหาโกฏฐิตะ พระมหากัปปินะ พระมหาจุนทะ พระเรวัต พระอานนท์และพระเถระรูปอื่น อีกหลายท่าน แบ่งกันเป็นพวก ๆ พากันสั่งสอนพรํ่าชี้แจง พวกภิกษุใหม่ๆ อย่างเต็มที่
พวกละสิบรูปบ้าง ยี่สิบรูปบ้าง สามสิบรูป บ้าง สี่สิบรูปบ้าง. ส่วนภิกษุใหม่ๆ เหล่านั้น เมื่อได้รับ คำสั่งสอน ได้รับคำพรํ่าชี้แจงของพระเถระ ผู้มีชื่อเสียงทั้งหลาย อยู่ก็ย่อมรู้คุณวิเศษ อันกว้างขวางอย่างอื่น ๆ ยิ่งกว่าแต่ก่อน เป็นดังนี้จนกระทั่งถึงวันเพ็ญเดือนสิบสอง.
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายสืบไปว่า
ภิกษุท. ! ภิกษุบริษัทนี้ไม่เหลวไหลเลย.
ภิกษุท. ! ภิกษุบริษัทนี้ไม่เหลวแหลกเลย.
ภิกษุบริษัทนี้ตั้งอยู่แล้วในธรรมที่เป็นสาระล้วน.
ภิกษุท. ! บริษัทเช่นใด มีรูปลักษณะที่น่าบูชา น่าต้อนรับ น่ารับ ทักษิณาทาน น่าไหว้เป็นเนื้อ นาบุญชั้นดีเยี่ยมของโลก หมู่ภิกษุนี้ก็มีรูปลักษณะเช่นนั้น ภิกษุบริษัทนี้ ก็มีรูปลักษณะเช่นนั้น.
ภิกษุท. ! บริษัทเช่นใด มีรูปลักษณะที่ทานอันบุคคลให้น้อย แต่กลับ มีผลมาก ทานที่ให้มาก ก็มีผลมากทวียิ่งขึ้น หมู่ภิกษุนี้ก็มีรูปลักษณะ เช่นนั้น ภิกษุบริษัทนี้ ก็มีรูปลักษณะเช่นนั้น.
ภิกษุท. ! บริษัทเช่นใด มีรูปลักษณะยากที่ชาวโลกจะได้เห็น หมู่ภิกษุนี้ก็มีรูป ลักษณะเช่นนั้น ภิกษุบริษัทนี้ก็มีรูปลักษณะเช่นนั้น.
ภิกษุท. ! บริษัทเช่นใด มีรูปลักษณะที่ควรจะไปดูไปเห็น แม้จะต้อง เดินสิ้นหนทาง นับด้วย โยชน์ๆ ถึงกับต้องเอาห่อเสบียงไปด้วยก็ตาม หมู่ภิกษุนี้ก็มีรูปลักษณะเช่นนั้น ภิกษุบริษัทนี้ก็มีรูปลักษณะ เช่นนั้น.
ภิกษุท. ! ในหมู่ภิกษุนี้มีพวกภิกษุซึ่งเป็น พระอรหันต ผู้สิ้นอาสวะ แล้ว ผู้อยู่จบ พรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว มีภาระปลงลงได้แล้ว มีประโยชน์ของตนเอง บรรลุแล้วโดยลำดับ มีสัญโญชน์ในภพสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ทั่วถึงโดยชอบ พวกภิกษุแม้เห็นปานนี้ก็มีอยู่ในหมู่ภิกษุนี้.
ภิกษุท. ! ในหมู่ภิกษุนี้มีพวกภิกษุซึ่งสิ้นสัญโญชน์เบื้องตํ่าห้า เป็น โอปปาติกะแล้ว จักปรินิพพาน ในที่นั้น ไม่เวียนกลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา พวกภิกษุแม้เห็นปานนี้ ก็มีอยู่ในหมู่ภิกษุนี้.
ภิกษุท. ! ในหมู่ภิกษุนี้มีพวกภิกษุซึ่งสิ้นสัญโญชน์สาม และมีความ เบาบางไปของ ราคะ โทสะ โมหะ เป็น สกทาคามีมาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียว เท่านั้น แล้วจักกระทำที่สุดแห่ง ทุกข์ได้ พวกภิกษุแม้เห็น ปานนี้ก็มีอยู่ใน หมู่ภิกษุนี้.
ภิกษุท. ! ในหมู่ภิกษุนี้มีพวกภิกษุซึ่งสิ้นสัญโญชน์สาม เป็นโสดาบัน มีอันไม่ตกตํ่า เป็นธรรมดา ผู้เที่ยงแท้ผู้แน่ที่จะตรัสรู้ข้างหน้า พวกภิกษุแม้เห็นปานนี้ก็มีอยู่ในหมู่ภิกษุนี้.
ภิกษุท. ! ในหมู่ภิกษุนี้มีพวกภิกษุซึ่ง ประกอบความเพียรเป็น เครื่องต้องทำเนือง ๆ ในการอบรม สติปัฏฐานสี่ สัมมัปปธานสี่ อิทธิบาทสี่ อินทรีย์ห้า พละห้า โพชฌงค์เจ็ด อริยมรรค มีองค์แปด เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อสุภ อนิจจสัญญา และอานาปานสติ พวกภิกษุแม้เห็นปานนี้ก็มีอยู่ในหมู่ภิกษุนี้.
289
จุดประสงค์ของพรหมจรรย์
ภิกษุท. !
พรหมจรรย์นี้มิใช่มีลาภสักการะ และเสียงสรรเสริญเป็นอานิสงส์ พรหมจรรย์นี้มิใช่มี ความถึงพร้อมแห่งศีลเป็นอานิสงส์ พรหมจรรย์นี้มิใช่มีความถึงพร้อม แห่งสมาธิเป็น อานิสงส์ พรหมจรรย์นี้ มิใช่มีความถึงพร้อมแห่งญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์.
ภิกษุท. ! ก็เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบ อันใดมีอยู่ พรหมจรรย์นี้มีเจโตวิมุตตินั่นแหละ เป็นประโยชน์ ที่มุ่งหมาย
มีเจโตวิมุตตินั่นแหละ เป็นแก่นสาร
มีเจโตวิมุตตินั่นแหละ เป็นผลสุดท้าย ของพรหมจรรย์แล.
289-1
เครื่องประดับของพรหมจรรย์
ภิกษุท. ! พรหมจรรย์ที่ประพฤติกันอยู่นี้มีการทำตามสิกขาเป็น อานิสงส์ มีปัญญา เป็นยอด มีวิมุตติเป็นแก่นสาร มีสติเป็นอธิปไตย.
ภิกษุท. ! พรหมจรรย์มีการทำตามสิกขาเป็นอานิสงส์เป็น อย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! ในกรณีนี้ สิกขาที่เนื่องด้วยอภิสมาจาร เราบัญญัติแล้วแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อให้คนที่ยังไม่ เลื่อมใสเกิดความเลื่อมใส เพื่อให้คน ที่เลื่อมใสแล้ว เลื่อมใสยิ่งขึ้น. สิกขาที่เนื่องด้วย อภิสมาจาร เราบัญญัติแล้ว
แก่สาวกทั้งหลาย เพื่อให้คนที่ยังไม่เลื่อมใสเกิดความเลื่อมใส เพื่อให้คนที่เลื่อมใส แล้วเลื่อมใส ยิ่งขึ้น ในลักษณะอย่างใด ๆ สาวกนั้นก็เป็นผู้ทำตาม สิกขานั้น ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย สมาทาน ศึกษาอยู่ในสิกขาบท ทั้งหลาย ในลักษณะอย่างนั้น ๆ. อนึ่ง สิกขาที่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เราบัญญัติแล้ว แก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความสิ้นทุกข์ โดยชอบ ด้วยประการทั้งปวง.
สิกขาที่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เราบัญญัติแล้วแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อ ความ สิ้นทุกข์โดยชอบ ด้วยประการทั้งปวง ในลักษณะอย่างใด ๆ สาวกนั้น ก็เป็นผู้ทำตาม สิกขานั้น ไม่ขาด ไม่ทะลุไม่ด่าง ไม่พร้อย สมาทาน ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ในลักษณะอย่างนั้น ๆ
ภิกษุท. ! พรหมจรรย์มีสิกขา เป็นอานิสงส์เป็นอย่างนี้แล.
ภิกษุท. ! พรหมจรรย์มีปัญญาเป็นยอด เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! ในกรณีนี้ ธรรมทั้งหลาย เราแสดงแล้วแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบด้วยประการทั้งปวง. ธรรมทั้งหลาย เราแสดงแล้วแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบด้วยประการทั้งปวง ในลักษณะอย่างใด ๆ ธรรม ทั้งปวงนั้น สาวกของเรา ก็พิจารณาเห็นได้อย่างดีด้วยปัญญา ในลักษณะ อย่างนั้น ๆ.
ภิกษุท. ! พรหมจรรย์มีปัญญาเป็นยอด เป็นอย่างนี้แล.
ภิกษุท. ! พรหมจรรย์มีวิมุตติเป็นแก่นสาร เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! ในกรณีนี้ ธรรมทั้งหลาย เราแสดงแล้วแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อ ความสิ้นทุกข์โดยชอบด้วยประการทั้งปวง. ธรรมทั้งหลาย เราแสดง แก่สาวก ทั้งหลาย เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบด้วยประการทั้งปวง ในลักษณะอย่างใด ๆ
ธรรมทั้งปวงนั้น สาวกของเรา ก็ถูกต้องได้แล้ว๑ ด้วยความหลุดพ้น ใน ลักษณะ อย่างนั้น ๆ ภิกษุท. ! พรหมจรรย์มีวิมุตติเป็นแก่นสาร เป็นอย่างนี้แล.
ภิกษุท. ! พรหมจรรย์มีสติเป็นอธิปไตย เป็นอย่างไรเล่า ? สติอัน สาวกของเราตั้งไว้ ด้วยดี ในภายในว่า “เราจักทำสิกขาที่เนื่องด้วยอภิสมาจารที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ดังนี้บ้าง เราจักประคับ ประคองสิกขาที่เนื่อง ด้วยอภิสมาจารย์ที่บริบูรณ์แล้วไว้ด้วยปัญญา ในสถานะนั้น ๆ ดังนี้บ้าง”.
สติอันสาวกของเราตั้งไว้ด้วยดีในภายในว่า “เราจักทำสิกขาที่เป็นเบื้องต้นแห่ง พรหมจรรย์ ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ดังนี้บ้าง เราจักประคับประคองสิกขา ที่เป็นเบื้องต้นแห่ง พรหมจรรย์ที่บริบูรณ์แล้ว ไว้ด้วยปัญญา ในสถานะนั้น ๆ ดังนี้บ้าง”.
สติอันสาวกของเราตั้งไว้ด้วยดีในภายในว่า “เราจักพิจารณาด้วย ปัญญาให้เห็นธรรม ที่ยังไม่เห็น ในสถานะนั้น ๆ ดังนี้บ้าง เราจักประคับประคอง ธรรมที่พิจารณาเห็นแล้ว ไว้ด้วยปัญญา ในสถานะนั้น ๆ ดังนี้บ้าง”.
สติอัน สาวกของเราตั้งไว้ด้วยดีในภายในว่า “เราจักถูกต้องธรรม ที่ยังไม่ถูกต้อง ด้วยความ หลุดพ้น ดังนี้บ้าง เราจักประคับประคองธรรมที่ได้ถูกต้องแล้วไว้ด้วย ปัญญา ในสถานะนั้น ๆ ดังนี้บ้าง” ดังนี้. ภิกษุท. ! พรหมจรรย์มีสติเป็น อธิปไตยเป็นอย่างนี้แล.
ภิกษุท. ! ที่เรากล่าวว่า “พรหมจรรย์ที่ประพฤติกันอยู่นี้. มีสิกขาเป็น อานิสงส์ มีปัญญาเป็นยอด มีวิมุตติเป็นแก่นสาร มีสติเป็นอธิปไตย” ดังนี้นั้น เรากล่าวหมาย เอาอธิบายที่ว่ามานี้แล.
292
ผลของพรหมจรรย์ที่แยบคาย
ภูมิชะ ! สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นผู้ที่มีความ เข้าใจถูกต้อง มีความมุ่งหมาย ถูกต้อง มีคำพูดถูกต้อง มีการทำงาน ถูกต้อง มีการเลี้ยงชีวิตถูกต้อง มีความพยายามถูกต้อง มีความระลึก ถูกต้อง มีความตั้งจิตมั่นไว้อย่างถูกต้อง สมณะหรือ พราหมณ์เหล่านั้น ถ้าแม้ประพฤติพรหมจรรย์โดย หวังผล ก็ต้องได้รับผล ถ้าแม้ประพฤติ พรหมจรรย์โดยไม่หวังผล ก็ต้องได้รับผล ถ้าแม้ประพฤติพรหมจรรย์ ทั้งโดยหวังผล และไม่หวังผล ก็ต้องได้รับผล ถ้าแม้ประพฤติพรหมจรรย์โดยหวังผลก็มิใช่ไม่หวังผลก็มิใช่ ก็ยังต้องได้รับผล. ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ? เพราะเหตุแห่งการได้รับผลนั้น เป็นสิ่งที่เขาทั้งหลายเหล่านั้น ได้ทำไว้อย่า ลึกซึ้งแยบคาย.
ภูมิชะ ! เช่นเดียวกับบุรุษผู้ต้องการนํ้ามัน เสาะหานํ้ามัน เที่ยว แสวงหานํ้ามันอยู่ เขาเกลี่ยเยื่อ เมล็ดงาลงในราง ประพรมด้วยนํ้าแล้วคั้น เรื่อยไป แม้บุรุษนั้น ทำความหวัง _ _ ทำความไม่หวัง _ ทั้งทำความหวัง และความไม่หวัง_ _ทั้งทำความหวังก็หามิได้ความไม่หวัง ก็หามิได้ก็ตาม เมื่อเขาเกลี่ย เยื่อเมล็ดงาลงในราง ประพรมด้วยนํ้า แล้วคั้นอยู่เรื่อยไป บุรุษนั้น ก็ต้องได้นํ้ามันอยู่เอง.
ข้อนี้เพราะเหตุอะไร ? เพราะเหตุแห่งการได้นํ้ามันนั้น เป็นสิ่งที่บุรุษนั้นได้ทำแล้ว โดยลึกซึ้งแยบคาย ฉันใดก็ฉันนั้น.
(ทรงให้อุปมาโดยทำนองนี้อีกสามข้อ คือบุรุษผู้ต้องการนํ้านม รีดนํ้านมจากแม่โค ลูกอ่อน บุรุษผู้ต้องการเนย ปั้นเนยจากนมที่หมักเป็นเยื่อแล้ว บุรุษผู้ต้องการไฟ สีไฟจาก ไม้แห้ง ก็ย่อมได้ผล ตามที่ตนต้องการ แม้จะทำความหวังหรือความ ไม่หวังก็ตามผลนั้น ๆ ก็ย่อมมีให้เอง เพราะได้มีการทำ ที่ถูกต้องลงไปแล้ว)
293
โพธิปักขิยธรรม
ภิกษุท. ! ธรรมเหล่าใดที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ธรรมเหล่านั้น พวกเธอทั้งหลาย พึงรับเอาให้ดีพึงเสพให้ทั่วถึง พึงอบรม กระทำ ให้มาก โดยอาการ ที่พรหมจรรย์นี้จักมั่นคง ดำรงอยู่ได้ตลอดกาลนาน.
ข้อนั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่คนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่คนเป็น อันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก และเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขทั้งแก่เทวดาแลมนุษย์ทั้งหลาย.
ภิกษุ ท. ! ธรรมเหล่าไหนเล่า ที่เราแสดงด้วยปัญญาอันยิ่ง ? ธรรม เหล่านั้นได้แก่
สติปัฏฐาน ๔
สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔
อินทรีย์๕
พละ ๕
โพชฌงค์ ๗
อริยมรรคมีองค์ ๘.
ภิกษุ ท. ! ธรรมเหล่านี้แล ที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง เป็นสิ่ง ที่พวกเธอ ทั้งหลาย พึงรับเอาให้ดีพึงเสพให้ทั่วถึง พึงอบรม กระทำให้มาก โดยอาการที่พรหมจรรย์นี้ จักมั่นคง ดำรงอยู่ได้ ตลอดกาลนาน. ข้อนั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่คนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่คนเป็นอัน มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก และเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ทั้งแก่เทวดาแลมนุษย์ทั้งหลาย.
293-1
สติปัฏฐานที่เอียงไปนิพพาน
ภิกษุท. ! ลำแม่นํ้าคงคา ลุ่มไปทางทิศตะวันออก ลาดไปทางทิศ ตะวันออก เทไปสู่ ทิศตะวันออก ข้อนี้แม้ฉันใด ภิกษุท. ! ภิกษุอบรม
สติปัฏฐานสี่อยู่กระทำสติปัฏฐานสี่ให้มากอยู่ก็ย่อมเป็นผู้ลุ่มไปทางนิพพาน ลาดไป ทางนิพพาน เทไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน.
ภิกษุท. ! ภิกษุอบรมสติปัฏฐานสี่กระทำสติปัฏฐานสี่ให้มากอยู่ย่อมเป็นผู้ลุ่มไปทางนิพพาน ลาดไปทาง นิพพาน เทไปสู่นิพพาน เป็น อย่างไรเล่า ?
ภิกษุท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกายเนือง ๆ อยู่ เป็นผู้ พิจารณาเห็นเวทนา ในเวทนา ทั้งหลายเนือง ๆ อยู่ เป็นผู้พิจารณาเห็น จิตในจิตเนือง ๆ อยู่ เป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมในธรรม ทั้งหลายเนือง ๆ อยู่ มีความเพียรเผากิเลส มีความรู้สึกตัว ทั่วพร้อม มีสติพึงกำจัดอภิชฌาและ โทมนัส ในโลกเสียได้.
ภิกษุท. ! ภิกษุอบรมสติปัฏฐานสี่อยู่กระทำสติปัฏฐานสี่ให้มากอยู่ย่อมเป็นผู้ลุ่มไปทางนิพพาน ลาดไป ทางนิพพาน เทไปสู่นิพพาน ด้วยอาการ อย่างนี้แล.
294
สัมมัปปธานที่เอียงไปนิพพาน
ภิกษุท. ! ลำแม่นํ้าคงคา ลุ่มไปทางทิศตะวันออก ลาดไปทางทิศ ตะวันออก เทไปสู่ ทิศตะวันออก ข้อนี้แม้ฉันใด ภิกษุท. ! ภิกษุอบรมสัมมัปปธานสี่อยู่กระทำสัมมัปปธานสี่ ให้มาก อยู่ก็ย่อมเป็นผู้ลุ่มไปทาง นิพพาน ลาดไปทางนิพพาน เทไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน.
ภิกษุท. ! ภิกษุอบรมสัมมัปปธานสี่กระทำสัมมัปปธานสี่ ให้มากอยู่ย่อมเป็นผู้ลุ่มไป ทางนิพพาน ลาดไปทางนิพพาน เทไปสู่นิพพาน เป็น อย่างไรเล่า ?
ภิกษุท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมยังฉันทะให้เกิด ย่อมพยายาม ย่อมปรารภ ความเพียร ย่อมประคองจิต ตั้งจิตไว้เพื่อการไม่ให้เกิดขึ้นแห่งสิ่ง อันเป็นอกุศลลามกทั้งหลาย ที่ยังไม่เกิด เพื่อละเสียซึ่งสิ่งอันเป็นอกุศลลามก ที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อการเกิดขึ้นแห่งกุศล ทั้งหลาย ที่ยังไม่เกิดขึ้น และเพื่อความ ตั้งอยู่ได้ไม่เลอะเลือน เพื่อความงอกงาม ไพบูล์เจริญ บริบูรณ์แห่ง สิ่งอันเป็นกุศลทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นแล้ว.
ภิกษุท. ! ภิกษุอบรมสัมมัปปธานสี่อู่กระทำสัมมัปปธานสี่ให้มากอยู่ย่อมเป็นผู้ลุ่มไป ทางนิพพาน ลาดไปทางนิพพาน เทไปสู่นิพพาน ด้วย อาการอย่างนี้แล.
295
อิทธิบาทที่เอียงไปนิพพาน
ภิกษุท. ! ลำแม่นํ้าคงคา ลุ่มไปทางทิศตะวันออก ลาดไปทางทิศ ตะวันออก เทไปสู่ ทิศตะวันออก ข้อนี้แม้ฉันใด ภิกษุท. ! ภิกษุอบรม อิทธิบาทสี่อยู่กระทำอิทธิบาทสี่ให้มากอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้ลุ่มไปทาง นิพพาน ลาดไปทางนิพพาน เทไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน.
ภิกษุท. ! ภิกษุอบรมอิทธิบาทสี่กระทำอิทธิบาทสี่ให้มากอยู่ย่อม เป็นผู้ลุ่มไป ทางนิพพาน ลาดไปทางนิพพาน เทไปสู่นิพพาน เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมอบรมอิทธิบาทประกอบพร้อมด้วย เครื่องปรุงแต่ง อันมีสมาธิ สัมปยุตด้วยฉันทะ เป็นปธานกิจ ย่อมอบรม อิทธิบาทประกอบพร้อมด้วย เครื่องปรุงแต่ง อันมีสมาธิ สัมปยุตด้วยวิริยะ _ _ อันมีสมาธิสัมปยุตด้วยจิตตะ _ _ อันมีสมาธิ สัมปยุตด้วยวิมังสา เป็นปธานกิจ (คือกิจที่เกี่ยวกับการป้องกัน การละ การเจริญ และการรักษา)
ภิกษุท. ! ภิกษุอบรมอิทธิบาทสี่อยู่กระทำอิทธิบาทสี่ให้มากอยู่ ย่อมเป็นผู้ลุ่มไปทาง นิพพาน ลาดไปทาง นิพพาน เทไปสู่นิพพาน ด้วยอาการ อย่างนี้แล.
296
อินทรีย์ที่เอียงไปนิพพาน
ภิกษุท. ! ลำแม่นํ้าคงคา ลุ่มไปทางทิศตะวันออก ลาดไปทางทิศ ตะวันออก เทไปสู่ ทิศตะวันออก ข้อนี้แม้ฉันใด ภิกษุท. ! ภิกษุอบรม อินทรีย์ห้าอยู่กระทำอินทรีย์ห้า ให้มากอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้ลุ่มไปทางนิพพาน ลาดไปทางนิพพาน เทไปสู่นิพพาน ฉันนั้น เหมือนกัน.
ภิกษุท. ! ภิกษุอบรมอินทรีย์ห้า กระทำอินทรีย์ห้าให้มากอยู่ย่อมเป็น ผู้ลุ่มไปทาง นิพพาน ลาดไปทางนิพพาน เทไปสู่นิพพาน เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมอบรมอินทรีย์คือ สัทธา วิริยะ สติสมาธิและปัญญา ชนิดที่อาศัย วิเวกอาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปสู่ความปล่อยวาง.
ภิกษุท. ! ภิกษุ อบรมอินทรีย์ห้าอยู่ กระทำอินทรีย์ห้าให้มากอยู่ ย่อมเป็นผู้ลุ่มไปทาง นิพพาน ลาดไปทางนิพพานเทไปสู่นิพพานด้วยอาการอย่างนี้แล.
296-1
พละที่เอียงไปนิพพาน
ภิกษุท. ! ลำแม่นํ้าคงคา ลุ่มไปทางทิศตะวันออก ลาดไปทางทิศ ตะวันออก เทไปสู่ ทิศตะวันออก ข้อนี้แม้ฉันใด ภิกษุท. ! ภิกษุอบรม พละห้าอยู่กระทำพละห้าให้มากอยู่ ก็ย่อม เป็นผู้ลุ่มไปทางนิพพาน ลาดไป ทางนิพพาน เทไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน.
ภิกษุท. ! ภิกษุอบรมพละห้า กระทำพละห้าให้มากอยู่ย่อมเป็นผู้ลุ่มไปทางนิพพาน ลาดไปทาง นิพพาน เทไปสู่นิพพาน เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมอบรมสัทธาพละ วิริยพละ สติพละ สมาธิพละ และปัญญาพละ ชนิดที่อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปสู่ความปล่อยวาง
ภิกษุท. ! ภิกษุอบรมพละห้าอยู่กระทำพละห้าให้มากอยู่ก็ย่อม เป็นผู้ลุ่มไปทาง นิพพาน ลาดไป ทาง นิพพาน เทไปสู่นิพพาน ด้วยอาการ อย่างนี้แล.
297
โพชฌงค์ที่เอียงไปนิพพาน
ภิกษุท. ! ลำแม่นํ้าคงคา ลุ่มไปทางทิศตะวันออก ลาดไปทางทิศ ตะวันออก เทไปสู่ ทิศตะวันออก ข้อนี้แม้ฉันใด ภิกษุท. ! ภิกษุอบรม โพชฌงค์เจ็ดอยู่กระทำ โพชฌงค์เจ็ด ให้มาก อยู่ก็ย่อม เป็นผู้ลุ่มไปทางนิพพาน ลาดไปทางนิพพาน เทไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน.
ภิกษุท. ! ภิกษุอบรมโพชฌงค์เจ็ด กระทำโพชฌงค์เจ็ดให้มากอยู่ ย่อมเป็นผู้ ลุ่มไปทาง นิพพาน ลาดไปทางนิพพาน เทไปสู่นิพพาน เป็น อย่างไรเล่า ?
ภิกษุท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมอบรมสติสัมโพชฌงค์ ย่อม อบรมธัมมวิจย สัมโพชฌงค์ ย่อมอบรมวิริยสัมโพชฌงค์ ย่อมอบรมปีติสัม โพชฌงค์ ย่อมอบรมปัสสัทธิ สัมโพชฌงค์ ย่อมอบรมสมาธิ สัมโพชฌงค์ ย่อมอบรมอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ชนิดที่อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปสู่ความ ปล่อยวาง
ภิกษุท. ! ภิกษุอบรมโพชฌงค์เจ็ดอยู่กระทำโพชฌงค์เจ็ด ให้มากอยู่ย่อมเป็นผู้ลุ่มไป ทางนิพพาน ลาดไปทางนิพพาน เทไปสู่นิพพาน ด้วยอาการ อย่างนี้แล.
298
อัฏฐังคิกมรรคที่เอียงไปนิพพาน
ภิกษุท. ! ลำแม่นํ้าคงคา ลุ่มไปทางทิศตะวันออก ลาดไปทางทิศ
อริยอัฏฐังคิกมรรคอยู่กระทำอริยอัฏฐังคิกมรรคให้มากอู่ก็ย่อมเป็นผู้ลุ่มไป ทาง นิพพาน ลาดไปทางนิพพาน เทไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน.
ภิกษุท. ! ภิกษุอบรมอริยอัฏฐังคิกมรรค กระทำอริยอัฏฐังคิกมรรค ให้มากอยู่ย่อมเป็น ผู้ ลุ่มไปทางนิพพาน ลาดไปทางนิพพาน เทไปสู่นิพพาน เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมอบรมสัมมาทิฏฐิ ย่อมอบรม
สัมมาสังกัปปะย่อม อบรม สัมมาวาจา ย่อมอบรมสัมมากัมมันตะ ย่อมอบรมสัมมาอาชีวะ ย่อมอบรมสัมมาวายามะ ย่อมอบรมสัมมาสติ ย่อมอบรมสัมมาสมาธิ ชนิดที่อาศัยวิเวกอาศัยวิราคะ
อาศัยนิโรธ น้อมไปสู่ความปล่อยวาง.
ภิกษุท. ! ภิกษุอบรมอริยอัฏฐังคิกมรรคอยู่กระทำอริยอัฏฐังคิกมรรค ให้มากอยู่ย่อม เป็นผู้ ลุ่มไปทางนิพพาน ลาดไปทางนิพพาน เทไปสู่นิพพาน ด้วยอาการอย่างนี้แล.
299
เชิงรองของจิต
ภิกษุท. ! หม้อ ที่ไม่มีเชิงรองรับ ย่อมกลิ้งได้ง่าย. ส่วนหม้อที่มีเชิง รองรับ ย่อมกลิ้ง ได้ยาก. ภิกษุท. ! ฉันใดก็ฉันนั้น จิตที่ไม่มีเครื่อง รองรับ ย่อมหมุนไปได้ง่าย. ส่วนจิต ที่มีเครื่องรองรับ ย่อมหมุนไปได้ยาก.
ภิกษุท. ! เครื่องรองรับของจิต เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุท. ! อริยอัฏฐังคิกมรรคนี้แล ได้แก่ความเข้าใจอันถูกต้อง ความดำริอัน
ถูกต้อง การพูดจาอันถูกต้อง การทำงานอันถูกต้อง การเลี้ยงชีวิตอันถูกต้อง ความ พยายามอัน ถูกต้อง ความระลึกอันถูกต้อง ความตั้งใจมั่นคงอันถูกต้อง อริยอัฏฐังคิกมรรคนี้แล เป็นเครื่อง รองรับของจิต.
300
อริยสัมมาสมาธิ
ภิกษุ ท. ! เราจักแสดง สัมมาสมาธิอันเป็นอริยะ ที่ประกอบด้วย มูลฐาน และเครื่อง ปรุง พร้อม อย่างทั่วถึง แก่พวกเธอทั้งหลาย. พวกเธอจงฟังข้อนั้น.
ภิกษุ ท. ! สัมมาสมาธิอันเป็นอริยะ ที่ประกอบด้วยมูลฐาน และ เครื่องปรุง พร้อมอย่างทั่วถึง เป็นอย่างไรเล่า ? สัมมาสมาธิอันเป็นอริยะนั้น ได้แก่ความเข้าใจอันถูกต้อง ความดำริอันถูกต้อง การพูดจาอันถูกต้อง การทำงานอันถูกต้อง การเลี้ยงชีวิตอันถูกต้อง ความพยายามอันถูกต้อง ความระลึกอันถูกต้อง ความตั้งใจมั่นอันถูกต้อง.
ภิกษุ ท. ! ภาวะแห่งความเป็นหนึ่งของจิต แวดล้อมแล้วด้วยองค์ทั้ง ๗ เหล่านี้แล เราเรียกว่า สัมมาสมาธิอันเป็นอริยะ ที่ประกอบด้วยมูลฐาน และเครื่องปรุงพร้อมอย่างทั่วถึง.
301
โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์
สุภัททะ ! ในธรรมวินัย ที่ไม่มีอริยมรรคมีองค์๘ ย่อมไม่มีสมณะที่๑ (โสดาบัน) ที่๒ (สกทาคามี) ที่๓ (อนาคามี) ที่๔ (อรหันต์).
สุภัททะ ! ในธรรมวินัยนี้แล มีอริยมรรคมีองค์๘ จึงมีสมณะที่๑ ที่๒ ที่๓ที่๔.
สุภัททะ ! ถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบไซร์ โลกก็จะ ไม่ว่างจาก พระอรหันต์ ทั้งหลายแล.
(ง. เกี่ยวกับระเบียบแห่งการอยู่กันเป็นหมู่๘ เรื่อง)
301-1
หมู่ซึ่งอยู่เป็นผาสุก
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ภิกษุสงฆ์อยู่ด้วยอาการอย่างไร จึงชื่อว่าอยู่เป็นผาสุก ?” ท่านพระอานนท์ทูลถาม พระผู้มีพระภาคเจ้า.
อานนท์ ! เมื่อภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีลด้วยตนเองแล้ว ไม่กล่าว ข่มผู้อื่น ด้วยศีล อันยิ่ง (ของตน). อานนท์ ! ภิกษุสงฆ์อยู่ด้วยอาการอย่างนี้จึงชื่อว่าอยู่เป็นผาสุก.
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ปริยายอื่นยังมีอีกหรือไม่ภิกษุสงฆ์อยู่ด้วยอาการอย่างไร จึงชื่อว่า อยู่เป็นผาสุก ?”
อานนท์ ! มีอยู่ : เมื่อภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ด้วยตนเองแล้ว ไม่กล่าวข่มผู้อื่นด้วย ศีลอันยิ่ง ประการหนึ่ง และยังเป็นผู้คอยจ้องดูตนเอง ไม่มัวเพ่งดูคนอื่น อีกประการหนึ่ง. อานนท์ ! ภิกษุสงฆ์อยู่ด้วย อาการ อย่างนี้จึงชื่อว่าอยู่เป็นผาสุก.
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ปริยายอื่น ยังมีอีกหรือไม่ภิกษุสงฆ์อยู่ด้วยอาการอย่างไร จึงชื่อว่าอยู่เป็น ผาสุก ?”
อานนท์ ! มีอยู่ : เมื่อภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ด้วยตนเองแล้ว ไม่กล่าวข่มผู้อื่น ด้วยศีลอันยิ่ง เป็นผู้คอยจ้องดูตนเอง ไม่มัวเพ่งดูคนอื่น และ ยังเป็นผู้ไม่ปรากฏชื่อเสียง ก็ไม่กระวนกระวายใจเพราะ ความ ไม่ปรากฏชื่อเสียง นั้น อีกประการหนึ่ง. อานนท์ ! ภิกษุสงฆ์อยู่ด้วยอาการอย่างนี้จึงชื่อว่า อยู่เป็นผาสุก.
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ปริยายอื่น ยังมีอีกหรือไม่ภิกษุสงฆ์อ ยู่ด้วยอาการอย่างไร จึงชื่อว่าอยู่เป็น ผาสุก ?”
อานนท์ ! มีอยู่ : เมื่อภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ด้วยตนเองแล้ว ไม่กล่าวข่มผู้อื่น ด้วยศีลอันยิ่ง เป็นผู้คอยจ้องดูตนเอง ไม่มัวเพ่งดูคนอื่น เป็น ผู้ยังไม่ปรากฏชื่อเสียง ก็ไม่กระวน กระวายใจ เพราะความ ไม่ปรากฏชื่อเสียงนั้น และยังเป็นผู้ได้ตามต้องการ ได้ไม่ยาก ได้ไม่ลำบาก ซึ่งฌานสี่อันเป็น ธรรมเป็น ไปในจิตอันยิ่ง เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม อีกประการ หนึ่ง. อานนท์ ! ภิกษุสงฆ์อยู่ด้วยอาการ อย่างนี้ จึงชื่อว่าอยู่เป็นผาสุก.
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ปริยายอื่น ยังมีอีกหรือไม ่ภิกษุสงฆ์อยู่ด้วยอาการอย่างไร จึงชื่อว่าอยู่ เป็นผาสุก ?”
อานนท์ ! มีอยู่ : เมื่อภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ด้วยตนเองแล้ว ไม่กล่าวข่มผู้อื่นด้วย ศีล อันยิ่ง เป็นผู้คอยจ้องดูตนเอง ไม่มัวเพ่งดูคนอื่น เป็นผู้ยังไม่ปรากฏชื่อเสียง ก็ไม่กระวน กระวายใจ เพราะความ ไม่ปรากฏ ชื่อเสียงนั้น เป็นผู้ได้ตามต้องการ ได้ไม่ยาก ได้ไม่ลำบาก ซึ่งฌานสี่อันเป็นธรรมเป็นไป ในจิตอันยิ่ง เป็นธรรมเครื่องอยู่ เป็นสุขในทิฏฐธรรม และยัง เป็นผู้ทำให้แจ้ง เจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะ ทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในทิฏฐธรรม เข้าถึงแล้วแลอยู่อีกประการ หนึ่ง.
อานนท์ ! ภิกษุสงฆ์อยู่ด้วยอาการอย่างนี้จึงชื่อว่าอยู่เป็นผาสุก. อานนท์ ! เรากล่าวว่า ธรรมเครื่องอยู่ ผาสุกอื่นซึ่งสูงกว่า หรือประณีตกว่า ธรรมเครื่องอยู่ผาสุก (คือการทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ) นี้หามีไม่เลย.
303
ผู้มีธรรมเครื่องอยู่ผาสุก
ภิกษุท. ! ธรรมเป็นเครื่องอยู่ผาสุกห้าอย่างเหล่านี้. ห้าอย่างอะไร บ้างเล่า ? ห้าอย่างคือ :-
(๑) การทำซึ่งประกอบด้วยเมตตา ที่ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปตั้งไว้เฉพาะแล้ว ในเพื่อนผู้ ประพฤติ พรหมจรรย์ด้วยกันทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ.
(๒) การพูดซึ่งประกอบด้วยเมตตา ที่เธอเข้าไปตั้งไว้เฉพาะแล้ว ใน เพื่อนผู้ประพฤติ พรหมจรรย์ ด้วยกันทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งทั้งในที่ลับ.
(๓) การคิดซึ่งประกอบด้วยเมตตา ที่เธอเข้าไปตั้งไว้เฉพาะแล้ว ใน เพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ด้วยกันทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งทั้งในที่ลับ.
(๔) ศีลเหล่าใดซึ่งเป็นศีลไม่ขาด ไม่ทะลุไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท ผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกแตะต้อง ด้วย ตัณหาทิฏฐิและเป็นไปพร้อมเพื่อสมาธิ เธอ เป็นอยู่อย่างผู้มีศีลเสมอกัน ด้วยศีลทั้งหลาย เช่นนั้น ในเพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยกันทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งทั้งในที่ลับ.
(๕) ความเห็นอันใดซึ่งเป็นความเห็นอันประเสริฐ เป็นความเห็นที่ผลัก ดันไปในทางที่ถูก ย่อมนำไป เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ แก่ผู้ทำตามความ เห็นนั้น เธอเป็นอยู่อย่างผู้มีความเห็น เสมอกัน ด้วยความเห็นเช่นนั้น ใน เพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยกันทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งทั้ง ในที่ลับ.
ภิกษุ ท. ! ธรรมเป็นเครื่องอยู่ผาสุกห้าอย่างเหล่านี้แล.
304
ภิกษุเก่าคอยช่วยภิกษุใหม่
อานนท์ ! ภิกษุเหล่าใด เป็นผู้ใหม่บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้ ภิกษุเหล่านั้น อันพวกเธอทั้งหลาย พึงชักชวน พึงให้ตั้งมั่น พึงให้ดำรงอยู่เฉพาะในธรรมห้าอย่าง. ธรรมห้าอย่างอะไรบ้างเล่า ? ห้าอย่างคือ
(๑) ภิกษุใหม่นั้น อันเธอทั้งหลายพึงชักชวน พึงให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่เฉพาะ ในปาติโมกขสังวร ด้วยอาการอย่างนี้ว่า “มาเถิด ผู้มีอายุ ท. ! พวกเธอ ทั้งหลาย จงเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยมรรยาท และโคจรอยู่เถิด จงเป็นผู้เห็นเป็นภัยในโทษ ทั้งหลายแม้เป็นโทษเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด” ดังนี้.
(๒) ภิกษุใหม่นั้น อันพวกเธอทั้งหลายพึงชักชวน พึงให้ตั้งมั่น พึงให้ดำรงอยู่เฉพาะ ในอินทรียสังวร ด้วยอาการอย่างนี้ว่า “มาเถิด ผู้มีอายุ ท. !
พวกเธอทั้งหลาย จงเป็นผู้คุ้มครอง ทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลาย มีสติคอยอารักขา มีสติคอยปกป้อง มีใจถูกคุ้มครองแล้ว ประกอบด้วยใจอันสติ คอยอารักขาแล้ว อยู่เถิด” ดังนี้.
(๓) ภิกษุใหม่นั้น อันพวกเธอทั้งหลาย พึงชักชวน พึงให้ตั้งมั่น พึง ให้ดำรงอยู่ เฉพาะ ในการหยุดพูดพล่าม ด้วยอาการอย่างนี้ว่า “มาเถิด ผู้มีอายุ ท. ! พวกเธอทั้งหลาย จงเป็นผู้พูดแต่น้อยคำ จงทำการหยุดการ พูดพล่ามเสียเถิด” ดังนี้.
(๔) ภิกษุใหม่นั้น อันพวกเธอทั้งหลาย พึงชักชวน พึงให้ตั้งมั่น พึง ให้ดำรงอยู่ เฉพาะ ในการหลีกออกจากหมู่ด้วยกาย ด้วยอาการอย่างนี้ว่า “มาเถิด ผู้มีอายุ ท. ! พวกเธอทั้งหลาย จงเป็นผู้สมาทานการอยู่ป่า จงเสพ เฉพาะเสนาสนะอันเงียบสงัดที่เป็นป่า และป่าชัฏเถิด” ดังนี้.
(๕) ภิกษุใหม่นั้น อันพวกเธอทั้งหลาย พึงชักชวน พึงให้ตั้งมั่น พึง ให้ดำรงอยู่ เฉพาะ ในความเห็นชอบ ด้วยอาการอย่างนี้ว่า “มาเถิด ผู้มีอายุ ท. ! พวกเธอทั้งหลาย จงเป็นสัมมาทิฏฐิ ประกอบด้วยความเห็นชอบเถิด” ดังนี้.
อานนท์ ! ภิกษุเหล่าใด เป็นผู้ใหม่บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้ ภิกษุเหล่านั้น อันพวกเธอทั้งหลาย พึงชักชวน พึงให้ตั้งมั่น พึงให้ดำรง อยู่เฉพาะ ในธรรมห้าอย่างเหล่านี้แล.
305
การเป็นอยู่ที่ไม่เสื่อม แบบที่หนึ่ง
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ประชุมกัน
ให้มากพอ อยู่เพียงใด ความเจริญก็เป็นสิ่งที่ภิกษุทั้งหลายหวังได้ไม่มีความเสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น.
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักพร้อมเพรียงกันเข้าประชุม จักพร้อม เพรียงกันเลิกประชุม จักพร้อมเพรียงกันทำกิจที่สงฆ์จะต้องทำ อยู่เพียงใด ความเจริญก็เป็นสิ่งที่ภิกษุทั้งหลาย หวังได้ไม่มีความเสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น.
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่เคยบัญญัติจักไม่เพิกถอน สิ่งที่บัญญัติ ไว้แล้ว จักสมาทานศึกษาในสิกขาบทที่บัญญัติไว้แล้วอย่าง เคร่งครัด อยู่เพียงใด ความเจริญ ก็เป็นสิ่งที่ ภิกษุทั้งหลายหวังได้ไม่มีความ เสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น.
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ภิกษุพวกที่เป็นเถระ มีพรรษายุกาล บวชนาน เป็นบิดาสงฆ์เป็นผู้นำสงฆ์และ ตนจักต้องเข้าใจตัวว่าต้องเชื่อฟัง ถ้อยคำ ของท่านเหล่านั้น อยู่เพียงใด ความ เจริญ ก็เป็นสิ่งที่ภิกษุทั้งหลายหวังได้ ไม่มีความเสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น.
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักไม่ลุอำนาจแก่ตัณหา ซึ่งเป็นตัวเหตุก่อให้เกิดภพใหม่ ที่เกิดขึ้นแล้ว อยู่เพียงใด ความเจริญก็เป็นสิ่งที่ภิกษุทั้งหลายหวังได้ไม่มีความเสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น.
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักมีใจจดจ่อในเสนาสนะป่า อยู่เพียงใด ความเจริญก็เป็นสิ่ง ที่ภิกษุ ทั้งหลาย หวังได้ไม่มีความเสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น.
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักเข้าไปตั้งสติไว้อย่างมั่นเหมาะว่า “ทำไฉนหนอ ขอเพื่อน ผู้ประพฤติ พรหมจรรย์ด้วยกัน ซึ่งมีศีลเป็นที่รัก ยังไม่มา ขอให้มา ที่มาแล้ว ขอให้อยู่เป็นสุข เถิด” ดังนี้อยู่เพียงใด ความเจริญก็เป็นสิ่งที่ภิกษุทั้งหลายหวังได้ไม่มีความเสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น.
ภิกษุท. ! ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อมเจ็ดประการเหล่านี้ยัง คงดำรงอยู่ได้ใน ภิกษุทั้งหลาย และพวกเธอก็ยังเห็นพ้องต้องกันในธรรมเจ็ด ประการเหล่านี้อยู่เพียงใด. ความเจริญก็เป็น สิ่งที่ภิกษุทั้งหลายหวังได้ไม่มีความเสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น.
307
การเป็นอยู่ที่ไม่เสื่อม แบบที่สอง
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักไม่เป็นผู้พอใจในการทำงานก่อสร้างไม่ประกอบ ความเป็น ผู้พอใจ ในการทำงาน ก่อสร้าง อยู่เพียงใด ความเจริญ ก็เป็น สิ่งที่ภิกษุทั้งหลายหวังได้ไม่มี ความเสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น.
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักไม่เป็นผู้พอใจในการคุย ไม่ประกอบ ความเป็นผู้พอใจ ในการคุย อยู่เพียงใด ความเจริญก็เป็นสิ่งที่ภิกษุทั้งหลาย หวังได้ไม่มีความเสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น.
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักไม่เป็นผู้พอใจในการนอน ไม่ประกอบ ความเป็นผู้ พอใจในการนอน อยู่เพียงใด ความเจริญก็เป็นสิ่งที่ภิกษุทั้งหลาย หวังได้ไม่มีความเสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น.
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักไม่เป็นผู้พอใจในการจับกลุ่มคลุกคลีกัน ไม่ประกอบความ เป็นผู้พอใจ ในการจับกลุ่มคลุกคลีกัน อยู่เพียงใด ความเจริญก็เป็นสิ่ง ที่ภิกษุทั้งหลายหวังได้ ไม่มีความเสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น.
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักไม่เป็นผู้มีความปรารถนาอันเลวทราม ไม่ลุอำนาจแก่ความ ปรารถนา อันเลวทราม อยู่เพียงใด ความเจริญ ก็เป็นสิ่งที่ภิกษุทั้งหลายหวังได้ไม่มีความ เสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น.
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักไม่เป็นผู้มีมิตรชั่ว สหายชั่ว เพื่อนเกลอ ชั่ว อยู่เพียงใด ความเจริญ ก็เป็นสิ่งที่ภิกษุทั้งหลายหวังได้ไม่มีความเสื่อม เลยอยู่เพียงนั้น.
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักไม่เป็นผู้หยุดเลิกเสียในระหว่างเนื่องจาก ได้บรรลุ คุณวิเศษสัก เล็กน้อยแล้ว อยู่เพียงใด ความเจริญก็เป็นสิ่งที่ภิกษุทั้งหลาย หวังได้ไม่มีความ เสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น.
308
การเป็นอยู่ที่ไม่เสื่อม แบบที่สาม
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักเป็น ผู้มีศรัทธา อยู่เพียงใด.
ความเจริญ ก็เป็นสิ่งที่ภิกษุทั้งหลายหวังได้ไม่มีความเสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น.
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักเป็น ผู้มีหิริฯลฯ
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักเป็น ผู้มีโอตตัปปะ
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักเป็น พหุสูต ฯลฯ
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักเป็น ผู้ปรารภความเพียร ฯลฯ
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักเป็น ผู้มีสติฯลฯ
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักเป็น ผู้มีปัญญา อยู่เพียงใด
ความเจริญก็เป็นสิ่งที่ภิกษุทั้งหลายหวังได้ไม่มีความเสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น.
309
การเป็นอยู่ที่ไม่เสื่อมแบบที่สี่
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักอบรมสติสัมโพชฌงค์อยู่เพียงใด
ความเจริญก็เป็นสิ่งที่ภิกษุทั้งหลายหวังได้ไม่มีความเสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น.
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักอบรมธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ฯลฯ
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักอบรมวิริยสัมโพชฌงค์ฯลฯ
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักอบรมปีติสัมโพชฌงค์ฯลฯ
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักอบรมปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ฯลฯ
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักอบรมสมาธิสัมโพชฌงค์ฯลฯ
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักอบรมอุเบกขาสัมโพชฌงค์อยู่เพียงใด
ความเจริญก็เป็นสิ่งที่ภิกษุทั้งหลายหวังได้ไม่มีความเสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น.
309-1
การเป็นอยู่ที่ไม่เสื่อมแบบที่ห้า
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักอบรมอนิจจสัญญา อยู่เพียงใด ความ เจริญก็เป็นสิ่งที่ภิกษุทั้งหลายหวังได้ไม่มีความเสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น.
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักอบรมอนัตตสัญญา ฯลฯ
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักอบรมอสุภสัญญา ฯลฯ
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักอบรมอาทีนวสัญญา ฯลฯ
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักอบรมปหานสัญญา ฯลฯ
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักอบรมวิราคสัญญา ฯลฯ
ภิกษุท. ! ภิกษุทั้งหลาย จักอบรมนิโรธสัญญาอยู่เพียงใด ความเจริญก็เป็นสิ่งที่ ภิกษุทั้งหลายหวังได้ ไม่มีความเสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น.
ภิกษุท. ! ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อมเจ็ดประการเหล่านี้ ยังคงดำรงอยู่ได้ ในภิกษุทั้งหลาย และพวกเธอก็ยังเห็นพ้องต้องกันในธรรมเจ็ด ประการเหล่านี้อยู่เพียงใด ความเจริญก็เป็นสิ่งที่ ภิกษุทั้งหลาย หวังได้ไม่มีความเสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น.
หมวดที่สิบสอง จบ
|