เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ  

 
  เรื่องการบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ 977
 
เพจชุดการบำเพ็ญบารมี 977 978 979 980  
 
 

การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ

977

คำชี้แจงเฉพาะภาคนี้
ต้องท่องเที่ยวมาแล้ว เพราะไม่รู้อริยสัจจ์
ตลอดวัฏฏสงสารของพระองค์ ไม่เคยทรงบังเกิด ในชั้นสุทธาวาส
ในวัฏฏสงสารที่ล่วงมาแล้ว เคยทรงบูชายัญญ์และบำเรอไฟแล้วอย่างมาก
ทิฏฐานุคติแห่งความดี ที่ทรงสั่งสมไว้แต่ภพก่อน ๆ
ชาติที่ ๑ ครั้งมีพระชาติเป็นโชติปาลมาณพ
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

978 ชาติที่ ๒ ครั้งมีพระชาติเป็นพระเจ้ามหาสุทัศน์
ชาติที่ ๓ ครั้งมีพระชาติเป็นปุโรหิต สอนการบูชายัญญ์
ชาติที่ ๔ ครั้งมีพระชาติเป็นพระเจ้ามฆเทวราช
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
979 ชาติที่ ๕ ครั้งมีพระชาติเป็นมหาโควินทพราหมณ์
ชาติที่ ๖ ครั้งมีพระชาติเป็นรถการ ช่างทำรถ
ชาติที่ ๗ ครั้งมีพระชาติเป็นอกิตติดาบส
ชาติที่ ๘ ครั้งมีพระชาติเป็นพระจันทกุมาร
ชาติที่ ๙ ครั้งมีพระชาติเป็นสังขพราหมณ์
ชาติที่ ๑๐ ครั้งมีพระชาติเป็นเวลามพราหมณ์
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
980 ชาติที่ ๑๑ ครั้งมีพระชาติเป็นพระเวสสันดร ***
ชาติที่ ๑๒ ครั้งมีพระชาติเป็นมาตังคชฎิล
ชาติที่ ๑๓ ครั้งมีพระชาติเป็นจูฬโพธิ์์
ชาติที่ ๑๔ ครั้งมีพระชาติเป็นเจ้าชายยุธัญชยะ
ที่สุดแห่งการท่องเที่ยวของพระองค์
 
 


พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ หน้าที่ ๕๘๑ - หน้าที่ ๖๑๔ ภาค ๖


เรื่องการบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ


คำชี้แจงเฉพาะภาคนี้

          เรื่องราวที่กล่าวถึงพระชาติในอดีตของพระองค์ ซึ่งข้าพเจ้าประมวลมาไว้ใน ภาคนี้นั้น เลือกเก็บแต่เรื่องที่มีในคัมภีร์ชั้นบาลีพระไตรปิฎก เว้นเรื่องจำพวกที่เรา เรียก กันว่า “ชาดก” และ อรรถกถาเสีย จึงได้มาไม่กี่เรื่อง. สำหรับท้องเรื่องชาดก (อรรถกถาชาดก) ที่มีตอนประชุม กลับชาติเป็นพระพุทธภาษิต ดังที่เราเคยอ่านกัน ทั่วไปนั้น ไม่มีในบาลี จึงมิได้นำเรื่องประเภทนี้มารวบรวมไว้ด้วย และมีมากมาย จนเหลือที่จะรวบรวมมา.

          อนึ่ง เฉพาะคัมภีร์บาลีจริยาปิฎก ซึ่งมีอยู่ ๓๕ เรื่องนั้น ได้ประมวลมาไว้ในที่นี้ เพียง ๘ เรื่อง เลือกเอาเฉพาะแปลกกัน และจัดไว้ตอนปลายของภาคอีกพวกหนึ่ง นอกจากเรื่องมหาสุทัศนจริยาซึ่งใส่ไว้ ตอนกลาง.

          ประการหนึ่ง การที่นำเรื่องบุรพชาติของพระองค์มากล่าวไว้ในเรื่อง “พุทธประวัติจากพระโอษฐ์” นี้ มีความมุ่งหมายให้ผู้อ่านกำหนดพิจารณา ให้เห็น พระพุทธจริยา ที่เรียกกันว่าการสร้างบารมีหรือสั่งสมความดีของพระองค์ เพื่อถือเอา เป็นทิฏฐานุคติเครื่องดำเนินตาม มิได้มุ่งเล่านิยาย เพราะหนังสือเล่มนี้มุ่งกล่าวหนัก ไปทางธรรม แทนการกล่าวหนักไปทางนิยาย หรือตำนานดั่งที่เคยปรารภมาแล้ว ข้างต้น เท่านั้น. -- ผู้รวบรวม.



ต้องท่องเที่ยวมาแล้ว เพราะไม่รู้อริยสัจจ์

          ภิกษุ ท. !  เพราะไม่รู้ถึง ไม่แทงตลอด ซึ่งอริยสัจจ์สี่อย่าง เราแหละ พวกเธอทั้งหลาย จึงท่องเที่ยวไปแล้วในวัฏฏสงสาร ตลอดกาลยืดยาวนาน ถึงเพียงนี้.  

ภิกษุ ท. !  เพราะไม่รู้ถึง เพราะไม่แทงตลอดซึ่งอริยสัจจ์สี่ อย่างเหล่า ไหนเล่า ? สี่อย่างคือ อริยสัจจ์คือทุกข์ อริยสัจจ์คือเหตุให้เกิดทุกข์ อริยสัจจ์คือ ความดับ ไม่เหลือแห่งทุกข์ อริยสัจจ์คือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.

ภิกษุ ท. !  เพราะไม่รู้ถึง ไม่แทงตลอด ซึ่งอริยสัจจ์สี่ประการ เหล่านี้แล เราและพวกเธอทั้งหลาย จึงได้ท่องเที่ยวไปแล้ว ในสังสารวัฏตลอดกาลยืด ยาวนานถึงเพียงนี้. ...ฯลฯ...
๑.  บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๔๑/๑๖๙๘. ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่โกฏิคาม แคว้นวัชชี.
(ในบาลีแห่งอื่น กล่าวอริยธรรมสี่ คือ อริยศีล อริยสมาธิ อริยปัญญา อริยวิมุตติ แทนที่ อริยสัจจ์สี่ข้างบนนี้. - มหา. ที. ๑๐/๑๔๒/๑๐๙).


ตลอดวัฏฏสงสารของพระองค์
ไม่เคยทรงบังเกิด ในชั้นสุทธาวาส

(การท่องเที่ยว- การบังเกิด- การอยู่ในอาศัย- ในชั้นสุทธาวาส จะไม่มีโอกาสมาเกิดในโลกมนุษย์ เพราะจะปรินิพพานในภพนั้น)

สารีบุตร !  สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีถ้อยคำมีความเห็นว่า “ความบริสุทธิ์ มีได้ เพราะการท่องเที่ยวในสังสารวัฏ”. สารีบุตร !  ก็สังสารวัฏที่เราไม่เคยท่องเที่ยว มาแล้วแต่หลัง ตลอดกาลยืดยาวนาน นั้น หาได้ไม่ง่ายเลย เว้นเสียแต่ในหมู่เทพ ชั้นสุทธาวาส. สารีบุตร ! ถ้าเราท่องเที่ยว ไปในหมู่เทพเหล่าสุทธาวาส ก็จะไม่พึงมา สู่โลกนี้ได้เลย. (ย่อมปรินิพพานในภพนั้น).

สารีบุตร !  สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีถ้อยคำมีความเห็นว่า “ความบริสุทธิ์ มีได้ เพราะการอุบัติ (บังเกิด)”. สารีบุตร !  ก็การบังเกิดที่เราไม่เคยบังเกิด มาแล้ว แต่หลัง ตลอดกาล ยืดยาวนานนั้น หาได้ไม่ง่ายเลย เว้นเสียแต่การบังเกิด ในหมู่เทพ ชั้นสุทธาวาส. สารีบุตร ! ถ้าเราบังเกิดในหมู่เทพชั้นสุทธาวาส ก็จะไม่พึงมาสู่โลกนี้ ได้เลย (ย่อมปรินิพพานในภพนั้น).

สารีบุตร !  สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีถ้อยคำมีความเห็นว่า “ความบริสุทธิ์ มีได้ เพราะภพเป็นที่อยู่อาศัย. สารีบุตร !  ก็ภพที่เราไม่เคยอยู่อาศัยมาแล้วแต่หลัง ตลอดกาลยืดยาวนานนั้น หาได้ไม่ง่ายเลย เว้นเสียแต่การอยู่อาศัยในหมู่เทพชั้น สุทธาวาส. สารีบุตร ! ถ้าเราอยู่อาศัยในหมู่เทพชั้นสุทธาวาส ก็จะไม่พึงมาสู่โลกนี้ ได้เลย (ย่อมปรินิพพานในภพนั้น).

๒.  บาลี มหาสีหนาทสูตร มู. ม. ๑๒/๑๖๒/๑๘๗. ตรัสแก่พระสารีบุตร ที่วสสัณฑ์ ใกล้กรุง เวสาลี.


ในวัฏฏสงสารที่ล่วงมาแล้ว
เคยทรงบูชายัญญ์และบำเรอไฟแล้วอย่างมาก

          สารีบุตร !  สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีถ้อยคำมีความเห็นว่า “ความบริสุทธิ์ มีได้ เพราะการบูชายัญญ์”. สารีบุตร !  ก็ยัญญ์ที่เรายังไม่เคย บูชามาแล้ว แต่หลัง ตลอดการท่องเที่ยวอันยืดยาวนาน เป็นกษัตริย์บ้าง เป็นกษัตริย์ผู้ได้มุรธาภิเษกบ้าง เป็นพราหมณ์มหาศาลบ้าง นั้น หาได้ไม่ง่ายเลย.

          สารีบุตร !  สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีถ้อยคำมีความเห็นว่า “ความบริสุทธิ์ มีได้ เพราะการบำเรอไฟ”. สารีบุตร ! ก็ไฟที่เรายังไม่เคยบูชามาแล้ว แต่หลัง ตลอดการท่องเที่ยวอันยืดยาวนาน เป็นกษัตริย์บ้าง เป็นกษัตริย์ผู้ได้มุรธาภิเษก (การสรงน้ำในพิธีบรมราชาภิเษก) บ้าง เป็นพราหมณ์มหาศาลบ้าง นั้น หาได้ไม่ง่ายเลย.

๑.  บาลี มหาสีหนาทสูตร มู. ม. ๑๒/๑๖๓/๑๙๐. ตรัสแก่พระสารีบุตร ที่วนสัณฑ์ ใกล้กรุงเวสาลี.



ทิฏฐานุคติแห่งความดี

ที่ทรงสั่งสมไว้แต่ภพก่อน ๆ

          ภิกษุ ท. !  เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ ในชาติก่อน ในภพก่อน ในที่อยู่อาศัยก่อน ได้เป็นผู้บากบั่นในกุศล ถือมั่นในกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ในการบริจาคทาน การสมาทานศีล การรักษาอุโบสถ การปฏิบัติมารดาบิดา การปฏิบัติสมณพราหมณ์ การอ่อนน้อมต่อผู้เจริญในตระกูล และในอธิกุศลธรรม อย่างอื่น ๆ. เพราะได้กระทำ ได้สั่งสม ได้พอกพูน ได้มั่วสุมกรรมนั้น ๆ ไว้ ภายหลังแต่การตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

          ภิกษุ ท. !  เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ในภพก่อน ในที่อยู่อาศัย ก่อน ได้เป็นผู้นำสุขมาสู่มหาชน เป็นผู้บรรเทาภัยคือความสะดุ้ง หวาดเสียว จัดการ คุ้มครองรักษาโดยธรรม ได้อวยทานพร้อมทั้งบริวารฯ. ...ได้เป็นผู้เว้นจาก ปาณาติบาต วางเสียซึ่งศาสตรา และอาชญา มีความละอายเอ็นดู กรุณาเกื้อกูลแก่ สัตว์มีชีวิต ทั้งปวงฯ. ...ได้เป็นผู้ให้ทานด้วยของควรเคี้ยว ควรบริโภค ควรลิ้ม ควรจิบ ควรดื่ม อันมีรสประณีตฯ. .ได้สงเคราะห์ผู้อื่นด้วยการสงเคราะห์ทั้งสี่ คือการให้สิ่งของวาจาที่ไพเราะ การประพฤติประโยชน์ท่าน และความวางตน เสมอกันฯ. ...ได้เป็นผู้ กล่าววาจาประกอบด้วยอรรถ ด้วยธรรม แนะนำชนเป็นอันมาก เป็นผู้นำประโยชน์สุข มาสู่ชนทั้งหลาย ตนเองก็เป็นผู้บูชาธรรม. เพราะได้กระทำ ได้สั่งสมพอกพูน มั่วสุม กุศลกรรมนั้น ๆ ไว้ ภายหลังแต่การตาย เพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์

บาลี ลักขณสูตร ปา. ที. ๑๑/๑๕๙/๑๓๑. ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่เชตวัน ใกล้กรุงสาวัตถี.

          ภิกษุ ท. !  เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ในภพก่อน ในที่อยู่อาศัยก่อน ได้เป็นผู้สอนศิลปะ วิทยาการ ข้อปฏิบัติ และกรรมวิทยา ด้วยความเคารพ ด้วยหวังว่าสัตว์เหล่านั้น พึงรู้ได้รวดเร็ว พึงปฏิบัติได้รวดเร็ว ไม่พึงโศกเศร้าสิ้นกาลนานฯ. ...ได้เป็นผู้เข้าไปหาสมณพราหมณ์แล้ว สอบถามว่า   ‘ท่านผู้เจริญ !  อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ ทำอย่างใดไม่มีประโยชน์ เป็นทุกข์ไปนาน ทำอย่างใดมีประโยชน์เป็นสุขไปนาน ฯ. ...ได้เป็นผู้ไม่มักโกรธ ไม่มากไปด้วยความแค้น แม้ชนเป็นอันมาก ว่ากล่าวเอา ก็ไม่เอาใจใส่ ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่คุมแค้น ไม่แสดงความโกรธ ความร้ายกาจ ความเสียใจให้ปรากฏ. ทั้งเป็นผู้ให้ทานผ้า ที่ทำด้วยเปลือกไม้ ผ้าด้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ สำหรับลาด และนุ่งห่ม อันมีเนื้อละเอียด ฯลฯ.

          ภิกษุ ท. !  เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ในภพก่อน ในที่อยู่อาศัยก่อน ได้เป็นผู้สมานญาติมิตร สหายชาวเกลอ ผู้เหินห่างแยกกันไปนาน ได้สมานไมตรี ระหว่างมารดากับบุตร บุตรกับมารดา บิดากับบุตร บุตรกับบิดา พี่น้องชายกับพี่น้องหญิง พี่น้องหญิงกับพี่น้องชาย ครั้นทำความสามัคคีได้แล้ว ก็พลอยชื่นชมยินดีด้วยฯ. ...ได้เป็นผู้สังเกตชั้นเชิงของมหาชน รู้ได้สม่ำเสมอ รู้ได้เอง รู้จักบุรุษธรรมดา รู้จักบุรุษพิเศษ ว่าผู้นี้ ๆ ควรแก่สิ่งนี้ ๆ ได้เป็นผู้ทำประโยชน์ อย่างพิเศษ ให้แก่ชนเหล่านั้นฯ. ...ได้เป็นผู้ใคร่ต่อประโยชน์ต่อความเกื้อกูล ความผาสุก ความเกษมจากโยคะ แก่ชนเป็นอันมาก ว่า ไฉนหนอ ชนเหล่านี้ พึงเจริญด้วยศรัทธา ศีล การศึกษา ความรู้ ความเผื่อแผ่ ธรรม ปัญญา ทรัพย์ และ ข้าวเปลือก นาและสวน สัตว์สองเท้า สี่เท้า บุตรภรรยา ทาส กรรมกร และด้วย ญาติมิตรพวกพ้อง ฯลฯ.

          ภิกษุ ท. !  เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ในภพก่อน ในที่อยู่ อาศัยก่อน ได้เป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ด้วยมือก็ตาม ด้วยก้อนดินก็ตาม ท่อนไม้ก็ตาม ศาสตราก็ตามฯ. ...ได้เป็นผู้ ไม่ถลึงตา ไม่ค้อนควัก ไม่จ้องลับหลัง เป็นผู้แช่มชื่น มองดูตรง ๆ มองดูผู้อื่นด้วยสายตาอันแสดงความรัก ฯ. ...ได้เป็น หัวหน้าของชนเป็นอันมาก ในกุศลกิจทั้งหลาย ได้เป็นประธานของหมู่ชน ผู้ประกอบ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ในการจำแนกทาน การสมาทานศีล การอยู่อุโบสถ การประพฤติเกื้อกูลแก่มารดาบิดา สมณพราหมณ์ การนบนอบต่อผู้เจริญในตระกูล ในอธิกุศลธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งฯ. ...ได้เป็นผู้ละเว้น จากมุสาวาท พูดคำจริง หลั่งคำสัตย์เที่ยงแท้ ซื่อตรง ไม่หลอกลวงโลก ฯลฯ.

          ภิกษุ ท. !  เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ในภพก่อน ในที่อยู่ อาศัยก่อน ได้เป็นผู้ละเว้นวาจาส่อเสียด (คือพูดยุให้เขาแตกกัน) คือไม่ฟังจากข้างนี้ แล้วไปบอกข้างโน้นเพื่อทำลายข้างนี้ ไม่ฟังจากข้างโน้นแล้วมาบอกข้างนี้ เพื่อ ทำลายข้างโน้น แต่เป็นผู้ที่สมานพวกที่แตกกันแล้ว ให้กลับคืนดีกัน และส่งเสริม พวกที่พร้อมเพรียงกันฯ. ...ได้เป็นผู้ละเว้นการกล่าวคำหยาบ กล่าวแต่วาจาที่ไม่มีโทษ เป็นสุขแก่หู เป็นที่ตั้งแห่งความรักซึมซาบถึงใจ เป็นคำพูด ของชาวเมือง เป็นที่พอใจ และชอบใจของชนเป็นอันมาก ฯลฯ.

          ภิกษุ ท. !  เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ในภพก่อน ในที่อยู่อาศัยก่อน ได้เป็นผู้ละเว้นการพูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้กล่าวควรแก่เวลา กล่าวคำจริง กล่าวเป็นธรรม กล่าวมีอรรถ กล่าวเป็นระเบียบ กล่าวมีที่ตั้ง มีหลักฐาน มีที่สุด ประกอบด้วย ประโยชน์ฯ. ...ได้เป็นผู้ละมิจฉาชีพ มีการเลี้ยงชีพชอบ เว้นจากการ ฉ้อโกง การ หลอกลวงคดโกงด้วยเครื่องชั่ง เครื่องตวง เครื่องวัด เว้นจากการตัด การฆ่า การผูกมัด การทำร้าย การปล้น การกรรโชก ฯลฯ. เคยทรงบังเกิดเป็นมหาพรหม สักกะ ฯลฯ

          ภิกษุ ท. !  แต่ชาติที่แล้วมาแต่อดีต ตถาคตได้เคยเจริญเมตตาภาวนา ตลอด ๗ ปี จึงไม่เคยมาบังเกิดในโลกมนุษย์นี้ ตลอด ๗ สังวัฏฏกัปป์ และ วิวัฏฏกัปป์. ในระหว่างกาลอันเป็นสังวัฏฏกัปป์นั้น เราได้บังเกิดใน อาภัสสรพรหม. ในระหว่างกาลอันเป็นวิวัฏฏกัปป์นั้น เราก็ได้อยู่พรหมวิมานอันว่างเปล่าแล้ว.

          ภิกษุ ท. !  ในกัปป์นั้น เราได้เคยเป็นพรหม ได้เคยเป็นมหาพรหม ผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครครอบงำได้ เป็นผู้เห็นสิ่งทั้งปวงโดยเด็ดขาด เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด.

          ภิกษุ ท. !  เราได้เคยเป็นสักกะ ผู้เป็นจอมแห่งเทวดา นับได้ ๓๖ ครั้ง. เราได้เคยเป็นราชาจักรพรรดิ ผู้ประกอบด้วยธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม มีแว่นแคว้น จดมหาสมุทรทั้งสี่เป็นที่สุด เป็นผู้ชนะแล้วอย่างดี มีชนบทอันบริบูรณ์ ประกอบด้วย แก้วเจ็ดประการ นับด้วยร้อยๆ ครั้ง ทำไมจะต้องกล่าวถึง ความเป็นราชา ตามธรรมดา ด้วย.

          ภิกษุ ท. !  ความคิดได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ผลวิบากแห่งกรรมอะไรของเราหนอ ที่ทำให้เราเป็นผู้มีฤทธิ์มากถึงอย่างนี้ มีอานุภาพมากถึงอย่างนี้ ในครั้งนั้น ๆ.

          ภิกษุ ท. !  ความรู้สึกได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ผลวิบากแห่งกรรม ๓ อย่างนี้แล ที่ทำให้เรามีฤทธิ์มากถึงอย่างนี้ มีอานุภาพมากถึงอย่างนี้ วิบากแห่งกรรม ๓ อย่าง ในครั้งนั้น คือ ผลวิบากแห่ง ทาน การให้ ๑ แห่ง ทมะ การบีบ บังคับใจ ๑ แห่ง สัญญมะ การสำรวมระวัง ดังนี้..

๑.  บาลี อิติวุ. ขุ. ๒๕/๒๔๐/๒๐๐. ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย.

(ย่อ)ความดีที่ตถาคตสั่งสมไว้แต่ปางก่อน
- สร้างกุศล ถือมั่นในกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต บริจาคทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถ
- เว้นจากปาณาติบาต วางศาสตรา และอาชญา เอ็นดู กรุณา เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวง
- เข้าหาสมณพราหมณ์ สอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มี
- เป็นผู้ใคร่ต่อประโยชน์ เกื้อกูล ความผาสุก ความเกษมจากโยคะ แก่ชนเป็นอันมาก
- เป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ ด้วยมือก็ตาม ด้วยก้อนดิน ท่อนไม้ ศาสตรา เป็นผู้ไม่ถลึงตา
- เป็นผู้ละเว้นวาจาส่อเสียด กล่าวคำหยาบ กล่าวแต่วาจาที่ไม่มีโทษ เป็นสุขแก่หู
- เป็นผู้ละเว้นการพูดเพ้อเจ้อ กล่าวคำจริง เป็นธรรม มีอรรถ เป็นระเบียบ กล่าวมีที่ตั้ง
- เป็นผู้ละมิจฉาชีพ เลี้ยงชีพชอบ เว้นจากการ ฉ้อโกง หลอกลวงคดโกงด้วยเครื่องชั่ง
- เคยเจริญเมตตาภาวนา ตลอด ๗ ปี ตลอด ๗ สังวัฏฏกัปป์ และ วิวัฏฏกัปป์.
- เราเคยเป็นอาภัสสรพรหม ในระหว่างกาลอันเป็นสังวัฏฏกัปป์ นั้น
- เราก็ได้อยู่พรหมวิมานอันว่างเปล่าในกาลวิวัฏฏกัปป์ นั้น
- เราเคยเป็นพรหม ได้เคยเป็นมหาพรหม ผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครครอบงำได้
- เราเคยเป็นสักกะ ผู้เป็นจอมแห่งเทวดา นับได้ ๓๖ ครั้ง
- เราเคยเป็นราชาจักรพรรดิ ผู้ประกอบด้วยธรรม (เป็นจักรพรรดิ์)
- เราเคยเป็นพระราชาโดยธรรม มีแว่นแคว้น จดมหาสมุทรทั้งสี่ (ลูกน้องจักรพรรดิ์)
- วิบกกรรมที่ทำมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากมี ๓ อย่าง คือ ๑.ทาน ๒.ทมะ ๓.สัญญมะ



ชาติที่ ๑
ครั้งมีพระชาติเป็น โชติปาลมาณพ

          อานนท์ !  ความคิดอาจมีแก่เธอว่า ผู้อื่นต่างหาก ที่เป็นโชติปาลมาณพ ในสมัยโน้น. อานนท์ ! เธอไม่ควรเห็นเช่นนั้น เรานี่เองได้เป็น โชติปาลมาณพแล้ว ในสมัยนั้น......

          อานนท์ !  ครั้งดึกดำบรรพ์ พื้นที่ตรงนี้เป็นนิคมชื่อ เวภฬิคะ มั่งคั่งรุ่งเรือง มีคนมาก เกลื่อนกล่น. อานนท์ ! พระผู้มีพระภาค นามว่า กัสสปะ * ทรงอาศัยอยู่ ณ นิคมเวภฬิคะนี้ ได้ยินว่า อารามของพระองค์ อยู่ตรงนี้เอง ท่านประทับนั่งกล่าวสอน หมู่สาวก ตรงนี้.
* (กัสสปะ คือ ชื่อพระพุทธเจ้าองค์ก่อน พระตถาคตในยุคมนุษย์อายุ 20,000 ปี)

          อานนท์ !  ในนิคมเวภฬิคะ มีช่างหม้อชื่อ ฆฏิการะ เป็นอุปัฏฐากอันเลิศ ของ พระผู้มีพระภาคกัสสปะนั้น. ฆฏิการะมีสหายรักชื่อโชติปาละ.

อานนท์ !  ครั้งนั้น ฆฏิการะเรียก โชติปาลมาณพ(ตถาคตในอดีตชาติ) ผู้สหาย มาแล้วกล่าวว่า เพื่อนโชติปาละ ! มา เราไปด้วยกัน เราจักไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า กัสสปะ. การเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น บัณฑิตลงเห็น พร้อมกันว่า ดี. อย่าเลย เพื่อนฆฏิการะ ! มีประโยชน์อะไรด้วยการเห็นสมณะหัวโล้น.

เพื่อนโชติปาละ ! ไปด้วยกันเถอะ ฯลฯ การเห็นพระสัมมา สัมพุทธเจ้านั้น บัณฑิต ลงเห็นพร้อมกันว่า ดี.
อย่าเลย เพื่อนฆฏิการะ ! มีประโยชน์อะไรด้วยการเห็นสมณะ หัวโล้น. (โต้กันดั่งนี้ถึงสามครั้ง).
ถ้าเช่นนั้น เราเอาเครื่องขัดถูร่างกายไปอาบน้ำที่แม่น้ำกันเถอะ เพื่อน !

          อานนท์ ! ครั้งนั้น ฆฏิการะและโชติปาลมาณพได้ถือเครื่องขัดสีตัว ไปอาบน้ำ ที่แม่น้ำ ด้วยกันแล้ว ฆฏิการะได้กล่าวกะโชติปาลมาณพอีกว่า เพื่อนโชติปาละ ! นี่เอง วิหารแห่ง พระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะอยู่ไม่ไกลเลย ไปเถอะเพื่อน ! เราจะไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยกัน การเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้น บัณฑิตลงเห็นพร้อมกัน ว่า ดี.

          อย่าเลยเพื่อน ฆฏิการะ !  มีประโยชน์อะไรด้วยการเห็นสมณะ หัวโล้นนั้น. (โต้กันดังนี้ถึง ๓ ครั้ง).

          อานนท์ ! ฆฏิการะ ได้เหนี่ยวโชติปาลมาณพที่ชายพก แล้วกล่าวว่าเพื่อน โชติปาละ ! ตรงนี้เอง วิหารของพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ไกลเลย ไปเถอะเพื่อน เราจักไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยกัน การเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัณฑิตลงเห็น พร้อมกันว่า ดี.

          อานนท์ !  ครั้งนั้นโชติปาละ พยายามโดยวิธีที่ ฆฏิการะ ต้องปล่อยชายพก นั้น ได้แล้ว กล่าวว่า อย่าเลยเพื่อน ฆฏิการะ ! ประโยชน์อะไรด้วยการเห็นสมณะ หัวโล้น. อานนท์ ! ลำดับนั้น ฆฏิการะ เหนี่ยวโชติปาลมาณพ ผู้อาบน้ำสระเกล้า เรียบร้อยแล้ว เข้าที่มวยผมแล้ว กล่าวดั่งนั้นอีก.

          อานนท์ !  โชติปาลมาณพ เกิดความคิดขึ้นภายในใจว่า น่าอัศจรรย์หนอท่าน ไม่เคยมีเลยท่าน คือข้อที่ ฆฏิการะช่างหม้อ มีชาติอันต่ำ มาอาจเอื้อมจับเรา ที่มวยผม ของเรา เรื่องนี้เห็นจักไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเสียแล้วหนอ. ดังนี้ จึงกล่าวกะฆฏิการะ ช่างหม้อ

          เพื่อนฆฏิการะ ! นี่จะเอาเป็นเอาตายกันเจียวหรือ ? เอาเป็นเอาตายกัน ทีเดียว เพื่อนโชติปาละ ! เพราะการเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการดีจริง ๆ.
เพื่อนฆฏิการะ ! ถ้าเช่นนั้น ก็จงปล่อย เราจักไปด้วยกันละ.

          อานนท์ ! ลำดับนั้น ฆฏิการะและโชติปาลมาณพ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาค กัสสปะ ถึงที่ประทับ. ฆฏิการะผู้เดียว ถวายอภิวาทแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควร ส่วนโชติปาล มาณพ ได้ทำความคุ้นเคยชื่นชมกับพระผู้มีพระภาค เจ้ากัสสปะ นั่งอยู่แล้ว. ฆฏิการะ ได้ทูลพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะว่า พระองค์ผู้เจริญ !  นี่คือ โชติปาล มาณพ สหายรักของข้าพระพุทธเจ้า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงทรงแสดง ธรรมแก่เขาเถิด.

          อานนท์ !  พระผู้มีพระภาคกัสสปะ ได้ทำให้ฆฏิการะและโชติปาละเห็นจริง ถือเอา อาจหาญและร่าเริงเป็นอย่างดี ด้วยธรรมิกถาแล้ว. ทั้งสองคนเพลิดเพลิน ปราโมทย์ ต่อ ภาษิตของพระองค์ บันเทิงจิต ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท ทำ ประทักษิณ แล้วจึ่งหลีกไป.

          อานนท์ !  ลำดับนั้น โชติปาลมาณพได้กล่าวถามกะฆฏิการะว่า เพื่อน ฆฏิการะ ! เพื่อนก็ฟังธรรมนี้อยู่ ทำไมจึงยังไม่บวชออกจากเรือน เป็นผู้ไม่หวัง ประโยชน์ ด้วยเรือนเล่า? เพื่อนไม่เห็นหรือ เพื่อนโชติปาละ ! ฉันต้องเลี้ยงมารดา บิดาผู้แก่ และตาบอดอยู่. เพื่อนฆฏิการะ !  ถ้าเช่นนั้น ฉันจักบวช ออกจากเรือน ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนละ.

อานนท์ !  ครั้งนั้น เขาทั้งสองได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกัสสปะอีก. ฆฏิการะ กราบทูลว่า พระองค์ผู้เจริญ ! โชติปาละสหายรักของข้าพระพุทธเจ้านี่แล ประสงค์จะบวช ขอพระองค์จงให้เขาบวชเถิด.

          อานนท์ !  โชติปาลมาณพ ได้บรรพชาและอุปสมบทในสำนักแห่ง พระผู้มี พระภาคกัสสปะแล้ว ราวกึ่งเดือน พระผู้มีพระภาคกัสสปะ ก็เสด็จจาริก  ไปยังเมือง พาราณสี. ...ฯลฯ...

          อานนท์ !  ความคิดอาจมีแก่เธอว่า คนอื่นต่างหากที่เป็นโชติปาลมาณพ ในสมัย โน้น. อานนท์ ! เธอไม่ควรคิดไปอย่างนั้น เรานี่เอง เป็นโชติปาล มาณพ แล้วในสมัยโน้น

.  บาลี ฆฏิการสูตร ม. ม. ๑๓/๓๗๕/๔๐๕. ตรัสแก่พระอานนท์ ที่รุกขมูลแห่งหนึ่ง ระหว่าง การเดินทาง ในชนบท แห่งโกศล.
๒.  เนื้อความท่อนนี้ อยู่ท้ายสูตร นำมาจั่วหน้า เพื่อให้เข้าใจง่ายว่าตรัสถึงเรื่องในชาติก่อน.

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์