เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ  

 
  เรื่องการบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ 979
 
เพจชุดการบำเพ็ญบารมี 977 978 979 980  
 
 

การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ

977

คำชี้แจงเฉพาะภาคนี้
ต้องท่องเที่ยวมาแล้ว เพราะไม่รู้อริยสัจจ์
ตลอดวัฏฏสงสารของพระองค์ ไม่เคยทรงบังเกิด ในชั้นสุทธาวาส
ในวัฏฏสงสารที่ล่วงมาแล้ว เคยทรงบูชายัญญ์และบำเรอไฟแล้วอย่างมาก
ทิฏฐานุคติแห่งความดี ที่ทรงสั่งสมไว้แต่ภพก่อน ๆ
ชาติที่ ๑ ครั้งมีพระชาติเป็นโชติปาลมาณพ
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

978 ชาติที่ ๒ ครั้งมีพระชาติเป็นพระเจ้ามหาสุทัศน์
ชาติที่ ๓ ครั้งมีพระชาติเป็นปุโรหิต สอนการบูชายัญญ์
ชาติที่ ๔ ครั้งมีพระชาติเป็นพระเจ้ามฆเทวราช
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
979 ชาติที่ ๕ ครั้งมีพระชาติเป็นมหาโควินทพราหมณ์
ชาติที่ ๖ ครั้งมีพระชาติเป็นรถการ ช่างทำรถ
ชาติที่ ๗ ครั้งมีพระชาติเป็นอกิตติดาบส
ชาติที่ ๘ ครั้งมีพระชาติเป็นพระจันทกุมาร
ชาติที่ ๙ ครั้งมีพระชาติเป็นสังขพราหมณ์
ชาติที่ ๑๐ ครั้งมีพระชาติเป็นเวลามพราหมณ์
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
980 ชาติที่ ๑๑ ครั้งมีพระชาติเป็นพระเวสสันดร ***
ชาติที่ ๑๒ ครั้งมีพระชาติเป็นมาตังคชฎิล
ชาติที่ ๑๓ ครั้งมีพระชาติเป็นจูฬโพธิ์์
ชาติที่ ๑๔ ครั้งมีพระชาติเป็นเจ้าชายยุธัญชยะ
ที่สุดแห่งการท่องเที่ยวของพระองค์
 
 


พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ หน้าที่ ๕๘๑ - หน้าที่ ๖๑๔ ภาค ๖


เรื่องการบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ

 
ชาติที่ ๕
ครั้งมีพระชาติเป็นมหาโควินทพราหมณ์

ฟังคลิป

          ปัญจสิขะ !  เราคงยังระลึกได้อยู่ ในสมัยนั้น เราได้เป็นพราหมณ์ ชื่อ มหาโควินท์ เราได้แสดงทางปฏิบัติ เพื่อการเข้าอยู่ร่วมกับพวกพรหมทั้งหลาย แก่สาวกทั้งหลาย เหล่านั้น. แต่พรหมจรรย์นั้น หาได้เป็นไปเพื่อความหน่ายความ คลาย กำหนัด ความดับสนิท ความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพานไม่ แต่เป็นไปเพียงเพื่อเข้าถึงพรหมโลก เท่านั้น.

          (การแสดงทางปฏิบัติแก่สาวก ของมหาโควินทพราหมณ์นั้น ทราบได้จากคำ ของ ปัญจสิขคันธัพพบุตร ตอนหนึ่ง ดังต่อไปนี้ : มหาโควินทพราหมณ์ มีจิตประกอบ ด้วยเมตตา แผ่จิตไปสู่ทิศที่หนึ่ง และทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็ดุจเดียวกัน. ด้วยเหตุนี้ เป็นว่า มหาโควินท พราหมณ์  มีจิตประกอบด้วยเมตตาอย่างไพบูลย์เยี่ยมยอด หาที่เปรียบมิได้ ปราศจากเวร และพยาบาทแผ่ไปทั่วโลกทั้งปวง เพราะแผ่ทั่วไป ทั้งใน เบื้องบน เบื้องล่าง และเบื้องขวาง โดยรอบ. มหาโควินทพราหมณ์มีจิต ประกอบด้วยกรุณา ...มุทิตา ...อุเบกขา ฯลฯ แผ่ไปทั่วโลกทั้งปวง เพราะแผ่ทั่วไป ทั้งในเบื้องบน เบื้องล่าง และเบื้องขวางโดยรอบ แล้วและชี้ทาง เพื่อเข้าอยู่ร่วมกับ ชาวพรหมโลก แก่พวกสาวกทั้งหลายด้วย).

          ปัญจสิขะ !  ก็แต่ว่า พรหมจรรย์ของเราในบัดนี้แล ย่อมเป็นไปพร้อม เพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับสนิท ความรำงับ ความรู้ยิ่งความรู้พร้อม และนิพพาน โดยท่าเดียว. พรหมจรรย์นั้น คือ อริยมรรคมีองค์แปดได้แก่ ความเห็นชอบ ดำริชอบ พูดชอบ การงานชอบ ดำรงชีพชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจมั่นชอบ ดังนี้.

.  บาลี มหาโควินทสูตร มหา. ที. ๑๐/๒๘๕/๒๓๔. ตรัสแก่ ปัญจสิขคันธัพพบุตร ที่ภูเขา คิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์.


ชาติที่ ๖
ครั้งมีพระชาติเป็นรถการ ช่างทำรถ ๑

          ภิกษุ ท. !  ในกาลดึกดำบรรพ์ ยังมีพระราชาทรงพระนามว่าปเจตนะ.  ครั้งนั้น พระเจ้าปเจตนะ ตรัสเรียกช่างทำรถมารับสั่งว่า นี่แน่ะสหายรถการ !  นับแต่นี้ล่วงไป อีก ๖ เดือน สงครามจักมีแก่เรา. เจ้าอาจทำล้อรถใหม่คู่หนึ่ง ให้เราได้หรือไม่ ?
ช่างทำรถทูลรับต่อพระเจ้าปเจตนะว่า ขอเดชะ ฯ ข้าพระองค์อาจทำได้ พระเจ้าข้า !.

ครั้งนั้นแล ช่างทำรถ ทำล้อได้ข้างเดียวสิ้นเวลา ๖ เดือน หย่อนอยู่ ๖ วัน.
พระเจ้าปเจตนะ ตรัสเรียกช่างทำรถมารับสั่งถามว่า แน่ะสหายรถการ !  นับแต่นี้ ล่วงไป ๖ วัน สงครามจักเกิดแล้วละ.

ล้อรถคู่ใหม่สำเร็จแล้วหรือ ? ช่างทำรถทูลว่า ขอเดชะ ฯ โดยเวลา ๖ เดือน หย่อนอยู่ ๖ วัน นี้ล้อ สำเร็จได้ข้างเดียว พระเจ้าข้า !.

พระราชารับสั่งว่า แน่ะสหายรถการ !  ก็เจ้าอาจจะทำล้อข้างที่ ๒ ให้สำเร็จ โดยใช้เวลาเพียง ๖ วันนี้ ได้หรือไม่ ?

ช่างทำรถทูลว่า ขอเดชะ ฯ ข้าพระองค์ อาจทำได้ พระเจ้าข้า ! .

ที่นั้นเอง ช่างทำรถได้ทำล้อข้างที่ ๒ สำเร็จได้โดยใช้เวลาเพียง ๖ วัน เขาจึงนำล้อ คู่ใหม่ ไปเฝ้าพระเจ้าปเจตนะ ครั้นไปถึงแล้วกราบทูลว่า ขอเดชะ ฯ  นี่พระเจ้าเข้า ล้อรถคู่ใหม่ ของพระองค์สำเร็จแล้ว.

๑.  บาลี ติก. อํ. ๒๐/๑๔๐/๔๕๔. ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี.

พระราชารับสั่งว่า สหายรถการ ! ล้อข้างที่ทำแล้ว ๖ เดือนหย่อน ๖ วัน กับล้อข้าง ที่ทำแล้วใน ๖ วันนี้ ต่างกันอย่างไร เราไม่เห็นความต่างกัน ของมันที่ตรงไหน ?

ช่างทำรถทูลว่า ความต่างของล้อทั้งสอง มีอยู่ พระเจ้าข้า ขอเชิญพระองค์ ทอดพระเนตร ความต่างกันของล้อเถิด. ว่าแล้ว ช่างทำรถก็หมุนล้อ ข้างที่ทำแล้ว ๖ วัน ให้กลิ้งไป. มันกลิ้งไป พอสุดกำลังหมุนแล้วก็ ตะแคงล้มลงดิน.

แล้วเขาก็หมุนล้อข้างที่ทำ ๖ เดือนหย่อน ๖ วันให้กลิ้งไป มันกลิ้งไปสุดกำลังหมุน แล้วก็ตั้งตรงอยู่เองได้ราวกะติดอยู่กับเพลา.

พระเจ้าปเจตนะตรัสถามว่า สหายรถการ !  เหตุอะไร ปัจจัยอะไรล้อข้างที่ทำแล้ว ๖ วันนี้ จึงกลิ้งไปสุดกำลังหมุนแล้วจึงตะแคงล้มลงดิน เหตุอะไรปัจจัยอะไร ล้อข้างที่ทำแล้ว ๖ เดือนหย่อน ๖ วันนั้นจึงกลิ้งไป สุดกำลังหมุนแล้ว ตั้งตรงอยู่เอง ได้ราวกะติดอยู่กับเพลา ?

ช่างทำรถทูลชี้แจงว่า ขอเดชะฯ ล้อข้างที่ทำแล้ว ๖ วันนี้ กงของมันก็ประกอบด้วย เนื้อไม้ที่คด ที่มีโทษ ที่เจือเนื้อผุและกระพี้. ถึงกำและดุมของมันก็เช่นเดียวกัน ประกอบด้วยเนื้อไม้ที่คด ที่มีโทษ ที่เจือเนื้อผุ และกระพี้. เพราะความที่กงกำดุม ของมันประกอบด้วยเนื้อไม้ที่คด ที่มีโทษ ที่เจือเนื้อผุ และกระพี้ มันกลิ้งไปสุด กำลังหมุน แล้วจึงตะแคงล้มลงดิน. ส่วนล้อข้างที่ทำแล้ว ๖ เดือนหย่อน ๖ วัน กงของมันก็ไม่มีเนื้อคด ไม่มีโทษ เป็นไม้ที่หมด เนื้อผุและกระพี้. เพราะความที่กง กำ ดุมของมัน ไม่มีเนื้อคด ไม่มีโทษเป็นไม้ที่หมด เนื้อผุและกระพี้ มันกลิ้งไปสุดกำลัง หมุนแล้ว จึงตั้งตรง อยู่เองได้ ราวกะติดอยู่กับเพลา.

          ภิกษุ ท. !  เธอทั้งหลาย อาจจะมีความคิดว่า ช่างทำรถคราวนั้นเป็นคนอื่น เป็นแน่ แต่เธอทั้งหลาย อย่าเข้าใจอย่างนั้น. เราเองเป็นช่างทำรถในกาลนั้น. ภิกษุ ท. !  ในครั้งนั้น เราเป็นผู้ฉลาดต่อความคดของไม้โทษ (มีปมและตาเป็นต้น) ของไม้ และความมีเนื้อ ไม่บริสุทธิ์ของมัน.

          ภิกษุ ท. !  แต่กาลบัดนี้ เราเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ฉลาด ต่อความคดทางกาย ทางวาจา ทางใจ ต่อโทษทางกาย ทางวาจา ทางใจ  ต่อกิเลส เพียงดังน้ำฝาดทางกาย ทางวาจา ทางใจ.

          ภิกษุ ท. !  ความคดทางกาย ทางวาจา ทางใจ โทษทางกาย ทางวาจา ทางใจ กิเลสเพียงดังน้ำฝาดทางกาย ทางวาจา ทางใจ ของผู้ใดผู้หนึ่ง จะเป็นภิกษุ ก็ตาม ภิกษุณีก็ตาม ยังละไม่ได้แล้ว ภิกษุ ภิกษุณีเหล่านั้นก็หล่นไปจากธรรมวินัยนี้ เหมือนล้อรถข้างที่ทำแล้ว ๖ วัน ฉะนั้น.

          ความคดทางกาย ทางวาจา ทางใจ โทษทางกาย ทางวาจา ทางใจ กิเลส เพียงดังน้ำฝาด ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ของผู้ใดผู้หนึ่ง จะเป็นภิกษุก็ตาม ภิกษุณีก็ตาม อันเธอละได้แล้ว ภิกษุ ภิกษุณี เหล่านั้นก็ตั้งมั่นอยู่ในธรรมวินัยนี้ได้ เหมือนล้อรถ ข้างที่ทำแล้ว ๖ เดือน หย่อน ๖ วัน ฉะนั้น.

          ภิกษุ ท. !  เพราะฉะนั้น ในข้อนี้ ท่านทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้ว่า เราทั้งหลาย
จักละความคดทางกาย โทษทางกาย
กิเลสเพียงดังน้ำฝาดทางกาย
จักละความคดทางวาจา โทษทางวาจา กิเลสเพียงดังน้ำฝาดทางวาจา
จักละความคดทางใจ โทษทางใจ กิเลสเพียงดังน้ำฝาดทางใจ.

ท่านทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล.



ชาติที่ ๗
ครั้งมีพระชาติเป็นอกิตติดาบส

          บารมีใด ๆ อันเราประพฤติสั่งสมแล้ว ในระยะกาลนับได้ สี่อสงไขยแสนกัลป์ บารมีนั้นทั้งหมด เป็นเครื่องบ่มโพธิญาณให้สุก บารมีที่เราประพฤติแล้ว ในภพ น้อยใหญ่ ในกัลป์ก่อนๆ นั้น จักงดไว้ก่อน จักกล่าวเฉพาะบารมีที่เรา ประพฤติในกัลป์ นี้ ท่านจงฟังคำของเรา.

          ในกาลใด เราเป็นดาบส นามว่า อกิตติ(พระพุทธเจ้าในอดีต) อาศัยอยู่ในป่า หลวงสงัดเงียบ ว่างจากคน ไปมา ในกาลนั้น ด้วยอำนาจการบำเพ็ญตบะกรรมของเรา ท้าวสักกะ*ผู้เป็นใหญ่ยิ่งในไตรทิพย์ ได้ร้อนใจทนอยู่ไม่ได้แล้ว. เธอแปลงเพศ เป็นพราหมณ์ เข้ามาขออาหารกะเรา.
*(ท้าวสักกะ เป็นจอมเทพชั้นดาวดึงส์)

          เราเห็นพราหมณ์นั้น ยืนอยู่แทบประตูของเรา จึงให้ใบไม้ อันเรานำมาจากป่า ไม่มีมัน และไม่เค็มไปทั้งหมด. ครั้งให้แล้ว ก็คว่ำภาชนะเก็บ และไม่ออกแสวงหา ใหม่ เข้าสู่บรรณศาลาแล้ว.

          ในวันที่สอง และที่สาม พราหมณ์นั้นได้มาขอกะเราอีก. เรามิได้มีจิตหวั่นไหว ไปจากเดิม ไม่ได้อ่อนอกอ่อนใจ ได้ให้ไปหมดทั้งภาชนะ อย่างเดียว กับวันก่อน. ความทรุดโทรมแห่งผิวพรรณในสรีระของเรา จะมีเพราะเหตุอดอาหารนั้น ก็หาไม่ เราฆ่าเวลาเป็นวัน ๆ นั้นได้ด้วยความยินดี โดยสุข อันเกิดจากปีติ. หากว่าเรา ได้ ปฏิคาหก* อันประเสริฐ ตลอดเวลาตั้งเดือนหรือสองเดือนเรา ก็จะคงเป็น ผู้มีจิต ไม่หวั่นไหวไปจากเดิม ไม่อ่อนอกอ่อนใจ และให้ทาน อันสูงสุดได้สม่ำเสมอ.
*( ปฏิคาหก แปลว่า ทานที่ผู้รับบริจาค)

          เมื่อเราให้ทานแก่พราหมณ์นั้น เราจะได้ปรารถนายศ หรือลาภก็หามิได้ เราปรารถนาอยู่ซึ่งสัพพัญญุตญาณ (อันจะเกิดได้เพราะการถูกบ่ม โดยทานนั้น) จึงได้ประพฤติแล้วซึ่งกรรม ทั้งหลายเหล่านั้น.

๑.  บาลี อกิตติจริยา จริยา. ขุ. ๓๓/๕๕๑/๑.
๒.  นัยว่า ข่าวการบำเพ็ญตบะอย่างสูงสุดของใครก็ตาม ย่อมทราบถึงท้าวสักกะผู้มักระแวง อยู่ เสมอว่า จะมีใคร บำเพ็ญตบะเพื่อหวังแย่งบัลลังก์ของตน.
๓.  ดาบสนี้ ฉันใบหมากเม่าต้มเปล่า ๆ เป็นอาหาร เพื่อตัดความกังวลในเรื่องนี้.



ชาติที่ ๘
ครั้งมีพระชาติเป็นพระจันทกุมาร

          ครั้งอื่นอีก เราเป็นโอรสของพระราชาเอก ในนครบุบผวดี มีนามอันเขา ขนานให้ว่า จันทะ. ในกาลนั้น เรารอดพ้นไปได้จากการถูกฆ่าบูชายัญญ์ (ซึ่งปุโรหิตผู้อาฆาต ทูลยุยง พระราชบิดาให้หลงเชื่อ) เกิดความสลดสังเวชขึ้น ภายในใจ ได้บำเพ็ญมหาทานแล้ว.

          เมื่อไม่ได้ทักขิเณยยบุคคล ผู้มารับทาน เราก็ยังไม่ดื่ม ไม่เคี้ยว ไม่บริโภค อาหารด้วยตนเอง บางคราว ๖ วันบ้าง ๕ วันบ้าง. พาณิชสะสมสินค้าไว้นำไปขาย ในที่ ที่จะมีกำไรมาก ย่อมมีกำไรมากฉันใด การงดเว้นสิ่งที่จะบริโภค เองเพื่อบำเพ็ญ ทาน แก่ผู้อื่นก็ฉันนั้น.

          เพราะเหตุนั้น ทุกคนพึงให้ทานแก่ผู้อื่น จักเป็นความดีเกิดขึ้น ๑๐๐ เท่า. เราเองมองเห็นอำนาจแห่งประโยชน์อย่างนี้นี่แล้ว จึงบำเพ็ญทานทุก ๆ ภพ.

          เราไม่ก้าวถอยกลับจากการให้ทาน ก็เพื่อการลุถึงโดยลำดับซึ่งปัญญา เป็นเครื่องรู้พร้อม.

๑.  จันทกุมารจริยา จริยา. ขุ. ๓๓/๕๕๖/๗.
๒.  เคี้ยว คือของกินเล่น หรืออาหารว่าง.



ชาติที่ ๙
ครั้งมีพระชาติเป็นสังขพราหมณ์

(เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ชื่อ สยัมภู ถวายร่มและรองเท้า)

          ครั้งอื่นอีก เมื่อเราเป็นพราหมณ์มีนามว่า สังขะ ได้ไปที่ท่าเรือ เพื่อเดินทาง ข้ามสมุทร. ณ ที่นั้นเราได้เห็นท่านผู้ชนะกิเลสได้โดยตนเอง เป็นผู้อันกิเลสจะทำให้ กลับแพ้อีกมิได้ ท่านผู้นั้นเดินทางกันดาร ไปในท่ามกลางพื้นทรายอันร้อนจัด.

          เราเห็นท่านสยัมภู ผู้นั้น ในขณะที่ท่านเดินทางอยู่ เกิดความคิดขึ้น ภายในใจว่า ‘นาบุญนี้ อันเราผู้แสวงบุญมาถึงเข้าแล้วโดยลำดับ. ก็เมื่อชาวนาได้ เนื้อนา อย่างดีแล้ว ยังไม่หว่านพืชลงในนานั้น ก็แปลว่าเขามิได้เป็นผู้มีความต้องการ ด้วยข้าวเปลือก นี่เป็นฉันใด เราก็จะเป็นฉันนั้น ถ้าว่าเราเป็นผู้ต้องการบุญเห็นนาบุญ อันสูงสุดแล้ว ก็หาลงมือประกอบกรรม นั้นไม่ ฯลฯ.’

          เราคิดดั่งนี้แล้ว ลงจากรองเท้า กราบลงที่บาทของท่านผู้สยัมภูนั้น แล้ว ถวายร่ม และรองเท้าของเราแด่ท่านเพราะกรรมนั้น (ในชาตินี้) เราจึงได้ เสวยสุข เป็นสุขุมาลชาติ(ตระกูลดี) ยิ่งกว่าตั้งร้อยเท่า และทั้งเป็นการทำทาน บารมีของเราให้เต็ม เราจึงให้ทาน แด่ท่านผู้เช่นนั้น.

๑.  บาลี สังขจริยา จริยา. ขุ. ๓๓/๕๕๒/๒.
๒.  พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง.



ชาติที่ ๑๐
ครั้งมีพระชาติเป็นเวลามพราหมณ์


          คหบดี !  ในกาลดึกดำบรรพ์ ได้มีพราหมณ์ผู้หนึ่ง ชื่อเวลามะ. เวลามพราหมณ์นั้น ได้บริจาคทานอันเป็นทานอย่างใหญ่หลวง เห็นปานนี้คือ :-

ได้ให้ถาดทองจำนวนแปดหมื่นสี่พัน อันบรรจุเต็มด้วยเงิน. ได้ให้ถาดเงินจำนวนแปดหมื่นสี่พัน อันบรรจุเต็มด้วยทอง. ได้ให้ถาดสำริดจำนวนแปดหมื่นสี่พัน อันบรรจุเต็มด้วยเงิน.

ได้ให้ช้างจำนวนแปดหมื่นสี่พัน ประดับแล้วด้วยเครื่องทอง ธง ก็ทำด้วยทอง ตาข่ายเครื่องปิด ก็ล้วนทำด้วยทอง.

ได้ให้รถจำนวนแปดหมื่นสี่พัน หุ้มบุด้วยหนังราชสีห์ ด้วยหนังพยัคฆ์ด้วยหนังเสือเหลือง ด้วยผ้ากัมพลเหลือง ประดับแล้วไปด้วยเครื่องทอง ธงก็ทำด้วยทอง ตาข่ายเครื่องปิด ก็ล้วนทำด้วยทอง.

ได้ให้แม่โคนมจำนวนแปดหมื่นสี่พัน ล้วนกำลังมีนมไหลรูดรองได้.
ได้ให้นางสาวน้อยจำนวนแปดหมื่นสี่พัน ซึ่งแต่ละนางมีตุ้มหูประดับมณี.
ได้ให้บัลลังก์จำนวนแปดหมื่นสี่พัน ซึ่งลาดด้วยขนเจียม ลาดด้วยสักหลาด ลาดด้วยผ้าปัก ลวดลาย ลาดด้วยเครื่องลาดที่ทำด้วยหนังชะมด มีเพดานแดง มีหมอนข้างแดง.

ได้ให้ผ้าจำนวนแปดหมื่นสี่พัน คือผ้าทอด้วยเปลือกไม้อันละเอียดอ่อน ผ้าไหม อันละเอียดอ่อน ผ้าฝ้ายอันละเอียดอ่อน. ฉะนั้น จึงไม่ต้องกล่าวถึง การให้ข้าวให้น้ำ ให้ของเคี้ยวของบริโภค ให้เครื่องลูบไล้เครื่องทา และให้เครื่องนอน. เวลามพราหมณ์นั้น บริจาคให้ไป ๆ เหมือนแม่น้ำไหลไม่ขาดสาย.

          คหบดี !  ก็ความคิดอาจมีแก่ท่านว่าผู้อื่นต่างหากที่เป็นเวลามพราหมณ์ ผู้ให้ทานอันใหญ่หลวงในครั้งนั้น. คหบดี ! ท่านไม่ควรคิดไปอย่างนั้น เรานี่เอง ได้เป็น เวลามพราหมณ์ในสมัยนั้น เราเอง ได้บริจาคทานอันใหญ่หลวงนั้น.
          คหบดี !  ก็แต่ว่า การให้ทานในครั้งกระโน้น ใคร ๆ ที่จะสมควรรับ ทักษิณาทาน มิได้มีเลย ใคร ๆ ที่จะช่วยให้การให้ทักษิณาทานนั้น บริสุทธิ์ได้ ก็ไม่มีเลย.

๓.  บาลี นวก. อํ. ๒๓/๔๐๖/๒๒๔. ตรัสแก่อนาถปิณฑิกคหบดี ที่อารามเชตวัน.

 

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์