เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  มหานิทเทส คัมภีร์ว่าด้วยศาสตร์ ขยายความพระไตรปิฎก เชื่อว่าเป็นผลงานของพระสารีบุตร 961
 
   
  มหานิทเทส (5)
  (1) ว่าด้วยมารเสนา
  (2) ว่าด้วยคุณลักษณะของสัตบุรุษ
  (3) ว่าด้วยพระอรหันต์
  (4) ว่าด้วยผู้ยึดถืออยู่ในทิฏฐิ
  (5) ว่าด้วยอานิสงส์ในทิฏฐิ
  (6) ว่าด้วยทัศนะของผู้ฉลาด
  (7) ว่าด้วยภูมิธรรมของพระอรหันต์
  (8) ว่าด้วยพระอรหันต์ได้ชื่อว่าพราหมณ์
  (9) พระอรหันต์ได้ชื่อต่างๆ
 
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๙ สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส
 

(1)

ว่าด้วยมารเสนา
(เสนา แปลว่าไพร่พล)

     [๑๓๔] คำว่า บุคคลผู้มีปัญญากว้างขวางดังแผ่นดินนั้น เป็นผู้กำจัดเสนาในธรรม ทั้งปวงคือ ในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่ทราบอย่างใดอย่างหนึ่ง มีความว่า มารเสนาเรียกว่าเสนา กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ราคะ โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ (ผูกโกรธ) ฯลฯ อภิสังขาร(ปัจจัยปรุงแต่งของจิต) คืออกุศลกรรมทั้งปวงชื่อว่า มารเสนา

     สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
กิเลสกาม เรากล่าวว่าเป็นมารเสนาที่ ๑ ของท่าน
ความไม่ยินดีเรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๒ ของท่าน
ความหิวกระหาย เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๓ ของท่าน
ตัณหา เรากล่าวเป็นเสนาที่ ๔ ของท่าน  
ความง่วงเพราะหาวนอน เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๕ ของท่าน
ความขลาดเรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๖ ของท่าน
ความลังเลใจ เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๗ ของท่าน
ความลบหลู่และความกระด้าง เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๘ ของท่าน
ลาภความสรรเสริญสักการะและยศที่ได้โดยทางผิดเรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๙ ของท่าน
ความยกตนและข่มผู้อื่น เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๑๐ ของท่าน


     ดูกรพระยามาร เสนาของท่านเหล่านี้ เป็นผู้มีปกติกำจัดผู้มีธรรมดำ คนไม่กล้าย่อม ไม่ชนะเสนานั้นได้ ส่วนคนกล้าย่อมชนะได้ ครั้นชนะแล้วย่อมได้สุข ดังนี้.

     เมื่อใด มารเสนาทั้งหมดและกิเลสอันทำความเป็นปฏิปักษ์ทั้งหมด อันบุคคล ผู้มีปัญญากว้างขวางดังแผ่นดินนั้นชนะแล้ว ให้แพ้แล้ว ทำลายเสีย กำจัดเสีย ทำให้ไม่สู้หน้าแล้วด้วยอริยมรรค ๔ เมื่อนั้นบุคคลผู้มีปัญญากว้างขวางดังแผ่นดินนั้น เรียกว่า เป็นผู้กำจัดเสนา.

     บุคคลนั้นเป็นผู้กำจัดเสนาใน รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ทราบ (จมูก ลิ้น กาย) อารมณ์ที่รู้แจ้ง เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า บุคคลผู้มีปัญญากว้างขวาง ดังแผ่นดิน นั้น เป็นผู้กำจัดเสนา ในธรรมทั้งปวง คือในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่ทราบ อย่างใดอย่างหนึ่ง.

     [๑๓๕] คำว่า ซึ่งบุคคลนั้นนั่นแหละ ผู้เห็น ผู้ประพฤติเปิดเผย มีความว่า ซึ่งบุคคลนั้น นั่นแหละ ผู้เห็นธรรมอันหมดจด เห็นธรรมอันหมดจดวิเศษ เห็นธรรม อันหมดจดรอบเห็นธรรมอันขาว เห็นธรรมอันขาวรอบ.

     อีกอย่างหนึ่ง ผู้มีความเห็นอันหมดจด มีความเห็นอันหมดจดวิเศษ มีความเห็นอันหมดจดรอบ มีความเห็นอันขาว มีความเห็นอันขาวรอบ.

     คำว่าเปิดเผย มีความว่าเครื่องปิดบัง คือ ตัณหา กิเลส อวิชชา.

     เครื่องปิดบังเหล่านั้น อันบุคคลนั้นเปิดเผยแล้ว กำจัดเลิกขึ้น เปิดขึ้น ละ ตัดขาด สงบ ระงับ ทำไม่ให้ควรเกิดขึ้นเผาเสียแล้วด้วยไฟ คือญาณ.

     คำว่าผู้ประพฤติ คือ ผู้ประพฤติ ผู้เที่ยวไป เป็นไป หมุนไป รักษา ดำเนินไปให้อัตภาพ ดำเนินไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ซึ่งบุคคลนั้นนั่นแหละ ผู้เห็น ผู้ประพฤติเปิดเผย.

     [๑๓๖] คำว่า ใครๆ ในโลกนี้ พึงกำหนด ... ด้วยกิเลสอะไรเล่า มีความว่า คำว่า กำหนด ได้แก่ความกำหนด ๒ อย่าง คือ
ความกำหนดด้วยตัณหา ๑
ความกำหนดด้วยทิฏฐิ ๑
ฯลฯ

     นี้ชื่อว่าความกำหนดด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความกำหนดด้วยทิฏฐิ.

     บุคคลนั้นละความกำหนดด้วยตัณหา สละคืนความกำหนดด้วยทิฏฐิแล้ว เพราะเป็นผู้ละความกำหนดด้วยตัณหาสละคืนความกำหนดด้วยทิฏฐิแล้ว ใครๆ จะพึงกำหนดบุคคลนั้นด้วยราคะ โทสะ โมหะ มานะทิฏฐิ อุทธัจจะ วิจิกิจฉา อนุสัย อะไรเล่าว่า เป็นผู้กำนัด ขัดเคือง หลง ผูกพัน ถือมั่น ถึงความฟุ้งซ่าน ถึงความไม่ตกลง หรือถึงโดยเรี่ยวแรง.

     กิเลสเครื่องปรุงแต่งเหล่านั้นอันบุคคลนั้นละแล้ว เพราะเป็นผู้ละกิเลส เครื่องปรุง แต่ง เหล่านั้นแล้ว ใครๆ จะพึงกำหนดคติแห่งบุคคลนั้นด้วยกิเลสอะไรเล่าว่า เป็นผู้เกิด ในนรก เกิดในกำเนิดดิรัจฉาน เกิดในเปรตวิสัย เป็นมนุษย์เป็นเทวดา เป็นสัตว์มีรูป เป็นสัตว์ไม่มีรูป เป็นสัตว์มีสัญญา เป็นสัตว์ไม่มีสัญญา หรือเป็นสัตว์ มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่.

     บุคคลนั้นไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ไม่มีการณะ อันเป็นเครื่องกำหนด กำหนดวิเศษ ถึง ความกำหนดแห่งใครๆ.

     คำว่า ในโลก คือ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ใครๆ ในโลกนี้ พึงกำหนด ... ด้วยกิเลสอะไรเล่า.

     เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า บุคคลมีปัญญากว้างขวาง ดัง แผ่นดิน นั้น เป็นผู้กำจัดเสนาในธรรมทั้งปวงในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรือ อารมณ์ที่ทราบอย่างใดอย่างหนึ่ง ใครๆในโลกนี้ พึงกำหนดซึ่งบุคคลนั้น นั่นแหละ ผู้เห็น ผู้ประพฤติ เปิดเผย ด้วย กิเลสอะไรเล่า.

     [๑๓๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่าสัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมไม่กำหนด ย่อมไม่ทำตัณหา และทิฏฐิไว้ในเบื้องหน้า สัตบุรุษเหล่านั้น ย่อมไม่กล่าวว่า เป็นความหมดจดส่วนเดียว สัตบุรุษเหล่านั้นละกิเลสเป็นเครื่องถือมั่น ผูกพัน ร้อยรัดแล้ว ไม่ทำความหวังใน ที่ไหนๆ ในโลก.

(2)

 ว่าด้วยคุณลักษณะของสัตบุรุษ

     [๑๓๘] คำว่า สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่กำหนด ย่อมไม่ทำตัณหาและทิฏฐิไว้ ในเบื้องหน้า มีความว่า คำว่า กำหนด ได้แก่ ความกำหนด ๒ อย่าง คือ ความกำหนดด้วยตัณหา ๑ ความกำหนดด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ
นี้ชื่อว่าความกำหนดด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความกำหนดด้วยทิฏฐิสัตบุรุษเหล่านั้นละความกำหนดด้วยตัณหา สละคืนความกำหนดด้วยทิฏฐิแล้ว เพราะเป็นผู้ละความกำหนดด้วยตัณหา สละคืนความกำหนดด้วยทิฏฐิแล้ว สัตบุรุษเหล่านั้น จึงไม่กำหนดซึ่งความกำหนดด้วยตัณหา หรือความกำหนดด้วยทิฏฐิ คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดพร้อม ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดเฉพาะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่กำหนด

     คำว่า ย่อมไม่ทำตัณหาและทิฏฐิไว้ในเบื้องหน้า มีความว่า ความทำไว้ในเบื้องหน้า ๒ อย่าง คือ ความทำไว้ในเบื้องหน้าด้วยตัณหา ๑ ความทำไว้ในเบื้องหน้าด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความทำไว้ในเบื้องหน้าด้วยตัณหาฯลฯ นี้ชื่อว่าความทำไว้ในเบื้องหน้าด้วยทิฏฐิ สัตบุรุษเหล่านั้น ละความทำไว้ในเบื้องหน้าด้วยตัณหา สละคืนความทำไว้ในเบื้องหน้า ด้วยทิฏฐิแล้ว เพราะเป็นผู้ละความทำไว้ในเบื้องหน้า ด้วยตัณหา สละคืนความทำไว้ในเบื้องหน้าด้วยทิฏฐิแล้ว จึงไม่กระทำตัณหา และทิฏฐิไว้ในเบื้องหน้าด้วยเที่ยวไป คือ เป็นผู้ไม่มีตัณหาเป็นธงชัย ไม่มีตัณหาเป็นธงยอด ไม่มีตัณหาเป็นใหญ่ ไม่มีทิฏฐิเป็นธงชัย ไม่มีทิฏฐิเป็นธงยอด ไม่มีทิฏฐิเป็นใหญ่ เป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่แวดล้อมเที่ยวไป เพราะฉะนั้น.

       จึงชื่อว่า สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่กำหนด ย่อมไม่ทำตัณหาและทิฏฐิ ไว้ในเบื้องหน้า.

     [๑๓๙] คำว่า สัตบุรุษเหล่านั้น ย่อมไม่กล่าวว่า เป็นความหมดจดส่วนเดียว มีความว่า สัตบุรุษเหล่านั้น ย่อมไม่กล่าว ไม่บอก ไม่พูด ไม่แสดง ไม่แถลง ซึ่งความไม่หมดจดส่วนเดียว ความหมดจดจากสงสาร ความหมดจดโดยอกิริยา ทิฏฐิวาทะว่า สัตว์สังขารเที่ยง ว่าเป็นความหมดจดส่วนเดียว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สัตบุรุษเหล่านั้น ย่อมไม่กล่าวว่าเป็นความหมดจดส่วนเดียว.

     [๑๔๐] คำว่า สัตบุรุษเหล่านั้น ละกิเลสเป็นเครื่องถือมั่น ผูกพันร้อยรัดแล้ว มีความว่า กิเลสเป็นเครื่องผูกพัน ได้แก่กิเลสเป็นเครื่องผูกพัน ๔ อย่าง คือ กิเลส เป็นเครื่อง ผูกพันทางกาย คือ อภิชฌา พยาบาท ลีลัพพตปรามาส ความยึดมั่นว่า สิ่งนี้จริง.

     ความกำหนัด ความเพ่งเล็งด้วยทิฏฐิของตน เป็นกิเลสเครื่องผูกพันทางกาย.
     ความอาฆาต ความไม่ยินดี ความพยาบาท ในถ้อยคำของชนอื่น.
     สีลัพพตปรามาส คือ ความยึดถือศีล หรือวัตรหรือทั้งศีลและวัตรของตน.
     ความเห็น ความยึดถือว่าสิ่งนี้จริงของตน เป็นกิเลสเครื่องผูกพันทางกาย.

     เพราะเหตุไรจึงเรียกว่าเป็นกิเลสเครื่องถือมั่น ผูกพัน เพราะสัตว์ทั้งหลาย ย่อมถือ เข้าไปถือ จับ ถือมั่น ยึดมั่น ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คติ อุปบัติ ปฏิสนธิ ภพสงสาร วัฏฏะ ด้วยกิเลสเป็นเครื่องผูกพันเหล่านั้น เพราะเหตุนั้นจึงเรียกว่า เป็นกิเลสเครื่องถือมั่น ผูกพัน. คำว่า ละคือสลัด ละกิเลสเป็นเครื่องผูกพันทั้งหลาย.
     อีกอย่างหนึ่ง สัตบุรุษเหล่านั้นแก้ละ กิเลสทั้งหลายที่ผูกพัน ร้อยรัด รัดรึง พัน ตรึง เหนี่ยวรั้ง ติด ข้อง เกี่ยวพัน พันอยู่เหมือนชนทั้งหลายทำความปลดปล่อย ไม่กำหนด วอ รถ เกวียน รถมีเครื่องประดับ ฉะนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สัตบุรุษ เหล่านั้น ละกิเลสเป็นเครื่องถือมั่น ผูกพัน ร้อยรัดแล้ว.

     [๑๔๑] คำว่า ย่อมไม่ทำความหวังในที่ไหนๆ ในโลก มีความว่า ตัณหา เรียกว่าความหวัง ได้แก่ความกำหนัด ความกำหนัดกล้า ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล.

     คำว่า ย่อมไม่ทำความหวัง คือ ย่อมไม่ทำความหวัง ไม่ให้ความหวังเกิด ไม่เกิดพร้อม ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดเฉพาะ.

     คำว่า ในที่ไหนๆ คือในที่ไหนๆ ในที่ใดที่หนึ่งทุกๆ แห่ง ในภายใน ภายนอกหรือทั้งภายในภายนอก.

     คำว่า ในโลก คือ ในอบายโลก ฯลฯ อายตนโลก เพราะฉะนั้น. จึงชื่อว่า ย่อมไม่ทำความหวังในที่ไหนๆ ในโลก.

     เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมไม่กำหนด ย่อมไม่ทำ ตัณหาและทิฏฐิไว้ในเบื้องหน้า สัตบุรุษ เหล่านั้น ย่อมไม่กล่าวว่า เป็นความหมดจดส่วนเดียวสัตบุรุษเหล่านั้น ละกิเลส เป็นเครื่องถือมั่น ผูกพัน ร้อยรัดแล้ว ไม่ทำความหวังในที่ไหนๆ ในโลก.

     [๑๔๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่าพระอรหันต์นั้น ล่วงแดนแล้ว ลอยบาปแล้ว รู้และเห็นแล้ว มิได้มีความยึดถือ มิได้มีความกำหนัดในกามคุณ เป็นที่กำหนัด มิได้กำหนัดในสมาบัติเป็นที่คลายกำหนัด มิได้มีความยึดถือว่า สิ่งนี้ยอดเยี่ยม.

(3)

ว่าด้วยพระอรหันต์



      [๑๔๓] คำว่า พระอรหันต์นั้นผู้ล่วงแดนแล้ว ลอยบาปแล้ว รู้และเห็นแล้ว มิได้มีความยึดถือ มีความว่า แดน ได้แก่ แดน ๔ อย่าง
     คือสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส อนุสัย คือทิฏฐิ อนุสัยคือวิจิกิจฉา และเหล่ากิเลส ที่ตั้งอยู่ฝ่ายเดียว กัน นี้เป็นแดนที่ ๑.

     สังโยชน์คือกามราคะ สังโยชน์คือปฏิฆะ อนุสัยคือกามราคะ อนุสัยคือปฏิฆะ ส่วนหยาบๆ และเหล่ากิเลสที่ตั้งอยู่ฝ่ายเดียวกัน นี้เป็นแดนที่ ๒.

     สังโยชน์คือกามราคะ สังโยชน์คือปฏิฆะ อนุสัยคือกามราคะ อนุสัยคือปฏิฆะ ส่วนละเอียด และเหล่ากิเลสที่ตั้งอยู่ฝ่ายเดียวกัน นี้เป็นแดนที่ ๓

     รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา อนุสัยคือมานะ อนุสัยคือภวราคะ อนุสัยคืออวิชชา และเหล่ากิเลสที่ตั้งอยู่ฝ่ายเดียวกัน นี้เป็นแดนที่ ๔.

     เมื่อใด พระอรหันต์นั้นเป็นผู้ก้าวล่วง ก้าวล่วงด้วยดี ล่วงเลยแดน ๔ อย่างเหล่านี้ ด้วยอริยมรรค ๔ เมื่อนั้น พระอรหันต์นั้น จึงเรียกว่าเป็นผู้ล่วงแดนแล้ว.

     คำว่า ผู้ลอยบาปแล้ว คือ ชื่อว่าผู้ลอยบาป เพราะเป็นผู้ลอยแล้วซึ่งธรรม ๗ ประการ ฯลฯ เป็นผู้อันตัณหา และทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว เป็นผู้คงที่ ชื่อว่าเป็นพราหมณ์.
     คำว่านั้น ได้แก่พระอรหันต์ผู้ขีณาสพ.

     คำว่า รู้แล้ว คือรู้แล้วด้วยปรจิตญาณ หรือ ด้วยปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คำว่า เห็นแล้ว คือเห็นแล้วด้วยมังสจักษุ หรือด้วยทิพยจักษุเพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระ อรหันต์ นั้นผู้ล่วงแดนแล้ว ลอยบาปแล้ว รู้แล้ว และเห็นแล้วมิได้มี (ความยึดถือ).

     คำว่า ความยึดถือ คือ พระอรหันต์นั้น (มิได้มี) ความถือ ถือมั่นยึดมั่น ติดใจ น้อมใจไปว่า สิ่งนี้ยอดเยี่ยม เลิศ ประเสริฐ วิเศษ เป็นใหญ่ สูงสุด บวร.

     คำว่า ไม่มี คือ ย่อมไม่มี ไม่ปรากฏ ไม่เข้าไปได้.

     ความยึดถือนั้น อันพระอรหันต์นั้น ละตัดขาด สงบ ระงับ ทำไม่ให้ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟ คือญาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าพระอรหันต์นั้นผู้ล่วงแดนแล้ว ลอยบาปแล้ว รู้และเห็นแล้ว มิได้มีความยึดถือ.

     [๑๔๔] คำว่า มิได้มีความกำหนัดในกามคุณเป็นที่กำหนัด มิได้กำหนัดในสมาบัติ เป็นที่คลายกำหนัด มีความว่า ชนเหล่าใด กำหนัด รักใคร่ หลงใหล ติดใจ ลุ่มหลง ข้อง เกี่ยวพัวพัน ในกามคุณ ๕ ชนเหล่านั้น เรียกว่ากำหนัดในกามคุณเป็นที่กำหนัด.

     ชนเหล่าใด กำหนัด รักใคร่ หลงใหล ติดใจ หลุ่มหลง ข้อง เกี่ยว พัวพัน ใน รูปาวจรสมาบัติ และ อรูปาวจรสมาบัติ ชนเหล่านั้น เรียกว่ากำหนัดแล้วในสมาบัติ เป็นที่ คลายกำหนัด.

     คำว่า มิได้มีความกำหนัดในกามคุณเป็นที่กำหนัด มิได้กำหนัดในสมาบัติเป็นที่ คลายกำหนัด คือ เมื่อใดกามราคะ รูปราคะ และอรูปราคะ เป็นกิเลสอันพระอรหันต์ นั้นละ ตัดมูลรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดังตาลยอดด้วน ทำให้ไม่มี ทำให้ไม่เกิดขึ้น ต่อไปเป็นธรรมดา เมื่อนั้น พระอรหันต์นั้นชื่อว่ามิได้มีความกำหนัด ในกามคุณ เป็นที่กำหนัด มิได้กำหนัดในสมาบัติเป็นที่คลายกำหนัด โดยเหตุเท่านั้น.

     [๑๔๕] คำว่า มิได้มีความยึดถือว่าสิ่งนี้ยอดเยี่ยม มีความว่า คำว่านั้น คือ พระอรหันต์ผู้ขีณาสพ.

     พระอรหันต์นั้นมิได้มี ความถือ ถือมั่น ยึดมั่น ติดใจ น้อมใจไปว่า สิ่งนี้ยอดเยี่ยม เลิศ ประเสริฐ วิเศษ เป็นใหญ่ สูงสุด บวร.

     คำว่า ไม่มี คือย่อมไม่มี ไม่ปรากฏ ไม่เข้าไปได้ ความยึดถือนั้น อันพระอรหันต์ นั้น ละ ตัดขาด สงบ ระงับ ทำไม่ให้ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มิได้มีความยึดถือว่าสิ่งนี้ยอดเยี่ยม.

     เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่าพระอรหันต์นั้น ผู้ล่วงแดนแล้ว ลอยบาปแล้ว รู้ และเห็นแล้วมิได้มีความยึดถือ มิได้มีความกำหนัดในกามคุณ เป็นที่กำหนัด มิได้กำหนัดในสมาบัติเป็นที่คลายกำหนัด มิได้มีความยึดถือว่า สิ่งนี้ยอดเยี่ยมดังนี้.

จบ สุทธัฏฐกสุตตนิเทสที่ ๔.



ปรมัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๕

     [๑๔๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่าชันตุชนยึดถืออยู่ในทิฏฐิทั้งหลายว่า สิ่งนี้ยอดเยี่ยม ย่อมทำสิ่งใดให้ยิ่งในโลก ชันตุชนนั้น กล่าวสิ่งทั้งปวงอื่นจากสิ่งนั้นว่า เลว เพราะฉะนั้นชันตุชนนั้นย่อมเป็นผู้ไม่ล่วงเลยวิวาททั้งหลาย.

(4)

 ว่าด้วยผู้ยึดถืออยู่ในทิฏฐิ

     [๑๔๗] คำว่า ยึดถืออยู่ในทิฏฐิทั้งหลายว่า สิ่งนี้ยอดเยี่ยม มีความว่า มีสมณพราหมณ์บางพวก เป็นเจ้าทิฏฐิ สมณพราหมณ์เหล่านั้น รับเอา ถือเอา ยึดมั่น ถือมั่นทิฏฐิ ๖๒ อย่างใดอย่างหนึ่งว่า สิ่งนี้ยอดเยี่ยม เลิศ ประเสริฐ วิเศษ เป็นใหญ่ สูงสุด บวร ย่อมอยู่ อยู่ร่วมยู่อาศัย อยู่รอบด้วยทิฏฐิของตนๆ เหมือนพวกผู้อยู่ ครองเรือนทั้งหลาย อยู่ในเรือน หรือพวกบรรพชิตผู้มีอาบัติอยู่ในกองอาบัติ หรือพวก ผู้มีกิเลสอยู่ในกองกิเลส ฉะนั้น เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ยึดถืออยู่ในทิฏฐิทั้งหลายว่า สิ่งนี้ยอดเยี่ยม.

     [๑๔๘] คำว่า ชันตุชนย่อมทำสิ่งใดให้ยิ่งในโลก มีความว่า ศัพท์ว่า ยทํ แปลว่าใด.

     คำว่า ย่อมทำให้ยิ่ง มีความว่า ชันตุชนย่อมทำสิ่งใดให้ยิ่ง ให้เลิศ ประเสริฐ วิเศษ เป็นใหญ่ สูงสุด บวร คือ ย่อมให้บังเกิด บังเกิดเฉพาะว่า พระศาสดานี้ เป็นพระสัพพัญญูพระธรรมนี้ อันพระศาสดาตรัสดีแล้ว คณะสงฆ์นี้ปฏิบัติดีแล้ว ทิฏฐินี้เจริญ ปฏิปทานี้พระศาสดาบัญญัติดีแล้ว มรรคนี้ให้พ้นทุกข์ได้.

     คำว่า ชันตุชน ได้แก่สัตว์ นรชน ฯลฯ มนุษย์ คำว่าในโลก คือ อบายโลก ฯลฯ อายตนโลก. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ชันตุชนย่อมทำสิ่งใดให้ยิ่งในโลก.

     [๑๔๙] คำว่า ชันตุชนนั้น กล่าวสิ่งทั้งปวงอื่นจากสิ่งนั้นว่า เลว มีความว่า ชันตุชนย่อมคัดค้าน โต้แย้ง ปฏิเสธ ซึ่งลัทธิอื่นทั้งปวงเว้นศาสดา ธรรมที่ศาสดาบอก คณะสงฆ์ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรค ของตน คือกล่าว บอก พูด แสดง แถลง อย่างนี้ว่า ศาสดานั้น ไม่ใช่สัพพัญญู ธรรมไม่เป็นธรรมอันศาสดากล่าวดีแล้ว หมู่คณะ ไม่เป็นผู้ ปฏิบัติดีแล้ว ทิฏฐิไม่เป็นทิฏฐิอันเจริญ ปฏิปทาไม่เป็นปฏิปทาอันศาสดา บัญญัติดีแล้ว มรรคไม่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ ความหมดจด ความหมดจดวิเศษ ความหมดจดรอบ ความพ้น ความพ้นวิเศษ หรือความพ้นรอบ มิได้มีในลัทธินั้น พวกถือลัทธินั้น ย่อมไม่หมดจด ไม่หมดจดวิเศษ ไม่หมดจดรอบ ไม่พ้น ไม่พ้นวิเศษ หรือไม่พ้นรอบในลัทธินั้น พวกลัทธินั้นย่อมเป็นผู้เลว เลวทรามต่ำช้า ลามก สกปรก ต่ำต้อย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ชันตุชนนั้น กล่าวสิ่งทั้งปวงอื่นจากสิ่งนั้นว่า นี้เลว.

      [๑๕๐] คำว่า เพราะฉะนั้น ชันตุชนนั้นย่อมเป็นผู้ไม่ล่วงเลยวิวาททั้งหลาย มีความว่าเพราะฉะนั้น เพราะการณะนั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะนิทานนั้น ชันตุชนนั้นย่อมเป็นผู้ไม่ล่วงเลย ไม่ก้าวล่วง ไม่ก้าวล่วงพร้อม ซึ่งความทะเลาะ บาดหมาง แก่งแย่ง วิวาทมุ่งร้ายกันเพราะทิฏฐิ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เพราะฉะนั้น ชันตุชนนั้นย่อมเป็นผู้ไม่ล่วงเลยซึ่งวิวาททั้งหลาย.

     เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า. ชันตุชนยึดถืออยู่ในทิฏฐิทั้งหลายว่า สิ่งนี้ยอดเยี่ยม ย่อมทำสิ่งใดให้ยิ่งในโลก ชันตุชนนั้นกล่าวสิ่งทั้งปวงอื่นจากสิ่งนั้นว่า เลว เพราะฉะนั้นชันตุชนนั้น ย่อมเป็นผู้ไม่ล่วงเลยวิวาททั้งหลาย.

     [๑๕๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่านรชน ย่อมเห็นอานิสงส์ใดในทิฏฐิของตนก็ดี ในอารมณ์ที่เห็นก็ดี ในอารมณ์ที่ได้ยินก็ดี ในศีลและวัตรก็ดี ในอารมณ์ที่ทราบก็ดี นรชนนั้นถือมั่นซึ่งทิฏฐินั้นนั่นแหละ ในลัทธิของตนนั้น ย่อมเห็นสิ่งอื่นทั้งปวงโดยความเป็นของเลว.

(5)

ว่าด้วยอานิสงส์ในทิฏฐิ

     [๑๕๒] คำว่า นรชนย่อมเห็นอานิสงส์ใดในทิฏฐิของตนก็ดี ในอารมณ์ที่เห็นก็ดี ในอารมณ์ที่ได้ยินก็ดี ในศีลและวัตรก็ดี ในอารมณ์ที่ทราบก็ดี มีความว่า ศัพท์ว่า ยทตฺตนิตัดบทเป็น ยํ อตฺตนิ.

     ทิฏฐิ ชื่อว่าทิฏฐิของตน นรชนย่อมเห็นอานิสงส์ ๒ ประการในทิฏฐิของตน คือ อานิสงส์มีในชาตินี้ ๑ อานิสงส์มีในชาติหน้า ๑.

     อานิสงส์ในทิฏฐิมีในชาตินี้เป็นไฉน? ศาสดาเป็นผู้มีทิฏฐิอย่างใด พวกสาวก ก็เป็นผู้มีทิฏฐิอย่างนั้น พวกสาวกย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ซึ่งศาสดา ผู้มีทิฏฐิอย่างนั้นและย่อมได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ที่มีการสักการะเป็นต้นนั้นเป็นเหตุ นี้ชื่อว่าอานิสงส์ในทิฏฐิมีในชาตินี้.

     อานิสงส์ในทิฏฐิมีในชาติหน้าเป็นไฉน? นรชนนั้นย่อมหวังผลในอนาคตว่า ทิฏฐินี้ควรเพื่อความเป็นนาค เป็นครุฑ เป็นยักษ์ เป็นอสูร เป็นคนธรรพ์ เป็นมหาราช เป็นพระอินทร์ เป็นพรหม หรือเป็นเทวดา ทิฏฐินี้เหมาะสมเพื่อความหมดจด หมดจดวิเศษ หมดจดรอบคอบพ้น พ้นวิเศษ พ้นรอบ สัตว์ทั้งหลาย ย่อมหมดจด หมดจดวิเศษ หมดจดรอบ พ้น พ้นวิเศษพ้นรอบ ด้วยทิฏฐินี้ เราจักหมดจด หมดจดวิเศษ หมดจดรอบ พ้น พ้นวิเศษ พ้นรอบด้วยทิฏฐินี้ ดังนี้ นี้ชื่อว่าอานิสงส์ในทิฏฐิ มีในชาติหน้า.

     นรชนย่อมเห็นอานิสงส์ในทิฏฐิของตน ๒ประการนี้.

     นรชนย่อมเห็นอานิสงส์ ๒ ประการ แม้ในความหมดจดด้วยอารมณ์ที่เห็นคือ อานิสงส์มีในชาตินี้ ๑ มีในชาติหน้า ๑ ย่อมเห็นอานิสงส์ ๒ ประการ แม้ในความหมดจดด้วยอารมณ์ที่ได้ยิน ย่อมเห็นอานิสงส์ ๒ ประการ แม้ในความหมดจดด้วยศีล ย่อมเห็นอานิสงส์ ๒ ประการแม้ในความหมดจดด้วยวัตร ย่อมเห็นอานิสงส์ ๒ ประการ แม้ในความหมดจดด้วยอารมณ์ที่ทราบ คือ อานิสงส์มีในชาตินี้ ๑ อานิสงส์มีในชาติหน้า ๑.

     อานิสงส์ในความหมดจดด้วยอารมณ์ที่ทราบ มีในชาตินี้เป็นไฉน?ศาสดาเป็นผู้มีทิฏฐิอย่างใด พวกสาวกก็เป็นผู้มีทิฏฐิอย่างนั้น ฯลฯ นี้ชื่อว่าอานิสงส์ ในความหมดจดด้วยอารมณ์ที่ทราบมีในชาตินี้.

     อานิสงส์ในความหมดจดด้วยอารมณ์ที่ทราบ มีในชาติหน้าเป็นไฉน?  นรชนนั้นย่อมหวังผลในอนาคตว่า ทิฏฐินี้ควรเพื่อความเป็นนาค ฯลฯ นี้ชื่อว่าอานิสงส์ ในความหมดจดด้วยอารมณ์ที่ทราบ มีในชาติหน้านรชนย่อมเห็น คือ แลเห็น เหลียวเห็น เล็งเห็น พิจารณาเห็นอานิสงส์ ๒ ประการเหล่านี้ แม้ในความหมดจด ด้วยอารมณ์ที่ทราบ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่านรชนย่อมเห็นอานิสงส์ใด ในทิฏฐิของตน ก็ดี ในอารมณ์ที่เห็นก็ดี ในอารมณ์ที่ได้ยินก็ดี ในศีลและวัตรก็ดี ในอารมณ์ที่ทราบก็ดี.

     [๑๕๓] คำว่า นรชนนั้นถือมั่นทิฏฐินั้นนั่นแหละ ในลัทธิของตนนั้น มีความว่า คำว่าตเทว แปลว่า ซึ่งทิฏฐินั้น. คำว่า ตตฺถ แปลว่า ในทิฏฐิของตน คือ ในความควร ในความชอบใจในลัทธิของตน. คำว่า ถือมั่น คือถือ ถือเอา รับเอา ยึดมั่น ถือมั่นว่า สิ่งนี้ยอดเยี่ยม เลิศระเสริฐ วิเศษ เป็นใหญ่ สูงสุด บวร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นรชนนั้น ถือมั่นทิฏฐินั้น นั่นแหละในลัทธิของตนนั้น.

      [๑๕๔] คำว่า ย่อมเห็นสิ่งอื่นทั้งปวงโดยความเป็นของเลว มีความว่า นรชนนั้น ย่อมเห็น คือแลเห็น เหลียวเห็น เล็งเห็น พิจารณาเห็น ซึ่งศาสดา ธรรมที่ศาสดาบอก หมู่คณะทิฏฐิ ปฏิปทา มรรคอื่น โดยความเป็นของเลว เลวทราม ต่ำช้า ลามก สกปรก ต่ำต้อยเพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ย่อมเห็นสิ่งอื่นทั้งปวงโดยความเป็นของเลว

        เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่านรชน ย่อมเห็นอานิสงส์ใด ในทิฏฐิ ของตนก็ดี ในอารมณ์ที่เห็นก็ดี ในอารมณ์ที่ได้ยินก็ดี ในศีลและวัตรก็ดี ในอารมณ์ที่ทราบ ก็ดี นรชนถือมั่นทิฏฐินั้นนั่นแหละ ในลัทธิของตนนั้น ย่อมเห็นสิ่งอื่น ทั้งปวงโดยความเป็นของเลว.

     [๑๕๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่าผู้ฉลาดทั้งหลาย ย่อมกล่าวทัสนะที่ตนอาศัยแม้นั้น ว่าเป็นเครื่องร้อยรัดเห็นทัสนะอื่นว่าเลว เพราะฉะนั้นแหละ ภิกษุไม่พึงอาศัยรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ทราบ ศีลและวัตร.

(6)

ว่าด้วยทัศนะของผู้ฉลาด

     [๑๕๖] คำว่า ผู้ฉลาดทั้งหลาย ย่อมกล่าวทัสนะแม้นั้น ว่าเป็นเครื่องร้อยรัด มีความว่าผู้ฉลาด ได้แก่ผู้ฉลาดเหล่าใด คือ ผู้ฉลาดในขันธ์ ฉลาดในธาตุ ฉลาดใน อายตนะ ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในสติปัฏฐาน ฉลาดในสัมมัปปธาน ฉลาดในอิทธิบาท ฉลาดในอินทรีย์ฉลาดในพละ ฉลาดในโพชฌงค์ ฉลาดในมรรค ฉลาดในผล ฉลาดในนิพพาน ผู้ฉลาดเหล่านั้นย่อมกล่าวอย่างนี้ คือ ย่อมกล่าว บอก พูด แสดง แถลงอย่างนี้ว่า ทัสนะนั้นเป็นกิเลสเครื่องร้อยรัด เป็นกิเลสเครื่องยึดเหนี่ยว เป็นกิเลสเครื่องผูกพัน เป็นกิเลสเครื่องพัวพัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้ฉลาดทั้งหลาย ย่อมกล่าวทัสนะแม้นั้นว่าเป็นเครื่องร้อยรัด.

     [๑๕๗] คำว่า ทัสนะที่ตนอาศัยแล้ว ย่อมเห็นทัสนะอื่นว่าเลว มีความว่า ทัสนะที่ตนอาศัยแล้ว คือ ภิกษุอาศัย อิงอาศัย ติดพัน เข้าถึง ติดใจ น้อมใจถึง ทัสนะใด คือ ศาสดาธรรมที่ศาสดาบอก หมู่คณะ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรคใด.

     คำว่า ย่อมเห็นทัสนะอื่นว่าเลว คือ ย่อมเห็น แลเห็น เหลียวเห็น เล็งเห็น พิจารณาเห็น ซึ่งทัสนะอื่น คือ ศาสดา ธรรมที่ศาสดาบอกหมู่คณะ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรคอื่น โดยความเป็นของเลว เลวทราม ต่ำช้า ลามก สกปรกต่ำต้อย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทัสนะที่ตนอาศัยแล้วย่อมเห็นทัสนะอื่นว่าเลว.

     [๑๕๘] คำว่า เพราะฉะนั้นแหละ ภิกษุไม่พึงอาศัยรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ทราบ ศีลและวัตร มีความว่า เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณะนั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้นเพราะนิทานนั้น ภิกษุไม่พึงอาศัย ไม่พึงถือ ไม่พึงยึดมั่น ไม่พึงถือมั่น ซึ่งรูปที่เห็นบ้างความหมดจดเพราะรูปที่เห็นบ้าง เสียงที่ได้ยินบ้าง ความหมดจด เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง อารมณ์ที่ทราบบ้าง ความหมดจด เพราะอารมณ์ที่ทราบบ้าง ศีลบ้าง ความหมดจดเพราะศีลบ้าง วัตรบ้างความหมดจด เพราะวัตรบ้าง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เพราะฉะนั้นแหละ ภิกษุไม่พึงอาศัยรูป ที่เห็นเสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ทราบ ศีลและวัตร.

     เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ผู้ฉลาดทั้งหลาย ย่อมกล่าวทัสนะ ที่ตนอาศัย แม้นั้น ว่าเป็นเครื่องร้อยรัดย่อมเห็นทัสนะอื่นว่าเลว เพราะฉะนั้นแหละ ภิกษุไม่พึงอาศัยรูปที่เห็นเสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ทราบ ศีลและวัตร.

     [๑๕๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  ภิกษุไม่พึงกำหนดแม้ทิฏฐิในโลก ด้วยญาณ หรือ แม้ด้วยศีลและวัตรไม่พึงนำเข้าไปซึ่งตนว่า เสมอเขา ไม่พึงสำคัญตนว่า เลวกว่าเขา หรือแม้ว่าวิเศษกว่าเขา.

      [๑๖๐] คำว่า ภิกษุไม่พึงกำหนดแม้ทิฏฐิในโลกด้วยญาณ หรือแม้ด้วยศีลและวัตร มีความว่า ภิกษุไม่พึงกำหนดซึ่งทิฏฐิ คือ ไม่พึงให้เกิด ไม่พึงให้เกิดพร้อม ไม่พึงให้บังเกิดไม่พึงให้บังเกิดเฉพาะ ด้วยญาณในสมาบัติ ๘ ด้วยญาณในอภิญญา ๕ ด้วยมิจฉาญาณ ด้วยศีลด้วยวัตร หรือด้วยศีลและวัตร. คำว่า ในโลก คือ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลกธาตุโลก อายตนโลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุไม่พึงกำหนดแม้ในทิฏฐิในโลก ด้วยญาณหรือแม้ด้วยศีลและวัตร.

      [๑๖๑] คำว่า ไม่พึงนำเข้าไปซึ่งตนว่า เสมอเขา มีความว่า ไม่พึงนำไปซึ่งตน ว่าเราย่อมเป็นผู้เสมอเขาด้วยชาติ ด้วยโคตร ด้วยความเป็นบุตรแห่งสกุล ด้วยความเป็นผู้มีรูปงามด้วยทรัพย์ ด้วยการปกครอง ด้วยหน้าที่การงาน ด้วยหลักแหล่งแห่งศิลปศาสตร์ ด้วยวิทยฐานะด้วยการศึกษา ด้วยปฏิภาณ หรือด้วยวัตถุอื่นๆ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่พึงนำเข้าไปซึ่งตนว่าเสมอเขา.

     [๑๖๒] คำว่า ไม่พึงสำคัญตนว่า เลวกว่าเขา หรือแม้ว่าวิเศษกว่าเขา มีความว่าไม่พึงนำเข้าไปซึ่งตนว่า เราย่อมเป็นผู้เลวกว่าเขา ด้วยชาติ ด้วยโคตร ด้วยความเป็นบุตรแห่งสกุลหรือด้วยวัตถุอื่นๆ และไม่พึงนำเข้าไปซึ่งตนว่า เราย่อมเป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา ด้วยชาติด้วยโคตร ฯลฯ หรือด้วยวัตถุอื่นๆ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่พึงสำคัญตนว่า เราเลวกว่าเขาหรือแม้ว่าวิเศษกว่าเขา.

     เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่าภิกษุไม่พึงกำหนดแม้ทิฏฐิในโลก ด้วยญาณ หรือแม้ด้วยศีลและวัตรไม่พึงนำเข้าไปซึ่งตนว่า เสมอเขา ไม่พึงสำคัญ ตนว่าเลวกว่าเขาหรือแม้ว่าวิเศษกว่าเขา.

     [๑๖๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่านรชนนั้น ละตนแล้ว ไม่ถือมั่น ไม่ทำนิสัยแม้ใน เพราะญาณ เมื่อชนทั้งหลายแตกกัน นรชนนั้นก็ไม่เล่นไปกับพวก ไม่ถึงเฉพาะแม้ซึ่ง ทิฏฐิ อะไร.

     [๑๖๔] คำว่า ละตนไม่ถือมั่น มีความว่า ละความเห็นว่าเป็นตน ละความถือ. อีกอย่างหนึ่ง คำว่า ละตน คือ ละเว้น บรรเทา ทำให้สิ้น ทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งความถือ ถือมั่นยึดมั่น ความติดใจ ความน้อมใจไป ด้วยสามารถแห่งตัณหา ด้วยสามารถแห่งทิฏฐิ.

     ละตนไม่ถือมั่นคือไม่ยึด ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น ด้วยอุปาทาน ๔ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ละตนไม่ถือมั่น.

     [๑๖๕] คำว่า นรชนนั้นไม่ทำซึ่งนิสัยแม้ในเพราะญาณ มีความว่า นรชนนั้นไม่ทำ ตัณหานิสัย หรือทิฏฐินิสัย คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดพร้อม ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิด เฉพาะในเพราะญาณในสมบัติ ๘ หรือในเพราะญาณในอภิญญา ๕ หรือในเพราะ มิจฉาญาณ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า นรชนนั้นไม่ทำซึ่งนิสัยแม้ในเพราะญาณ.

      [๑๖๖] คำว่า เมื่อชนทั้งหลายแตกกันแล้ว นรชนนั้นก็ไม่แล่นไปกับพวก มีความว่าเมื่อชนทั้งหลายแยกกัน แตกกัน ถึงความเป็นสองฝ่าย เกิดเป็นสองก๊ก มีทิฏฐิต่างกัน มีความควรต่างกัน มีความชอบใจต่างกัน มีลัทธิต่างกัน อาศัยทิฏฐินิสัยต่างกัน ถึงฉันทาคติ ถึงโทสาคติถึงโมหาคติ ถึงภยาคติ นรชนนั้น ย่อมไม่ถึงฉันทาคติ ไม่ถึงโทสาคติ ไม่ถึงโมหาคติ ไม่ถึงภยาคติ

     ไม่ถึงด้วยอำนาจแห่งราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจะ วิจิกิจฉา อนุสัย และไม่ไปดำเนินไป เลื่อนลอยไป แล่นไปเพราะธรรมทั้งหลาย อันทำความเป็นพวก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อชนทั้งหลายแตกกันแล้ว นรชนนั้นไม่แล่นไปกับพวก.

     [๑๖๗] คำว่า ไม่ถึงเฉพาะแม้ทิฏฐิอะไรๆ มีความว่า ทิฏฐิ ๖๒  อันนรชนนั้นละ ตัดขาดสงบ ระงับ ทำไม่ให้ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ นรชนนั้นไม่ถึง เฉพาะ ไม่มาถึงฉพาะซึ่งทิฏฐิอะไรๆ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่ถึงเฉพาะแม้ซึ่ง ทิฏฐิอะไรๆ.

     เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า นรชนนั้นละตนแล้วไม่ถือมั่น ไม่ทำนิสัย แม้ในเพราะญาณ เมื่อชน  ทั้งหลายแตกกันแล้ว นรชนนั้นก็ไม่แล่นไป กับพวก ไม่ถึงเฉพาะแม้ซึ่งทิฏฐิอะไรๆ.

     [๑๖๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่าความตั้งไว้ซึ่งส่วนสุดทั้งสอง ย่อมไม่มีแก่ พระอรหันตขีณาสพใดเพื่อภพน้อยภพใหญ่ ในโลกนี้หรือโลกหน้า พระอรหันต์นั้น ย่อมไม่มีเครื่องอยู่อะไรๆ ย่อมไม่มีการถึงความตกลงในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น.

(7)

ว่าด้วยภูมิธรรมของพระอรหันต์

     [๑๖๙] คำว่า ความตั้งไว้ซึ่งส่วนสุดทั้งสอง ย่อมไม่มีแก่พระอรหันต์ เพื่อภพน้อย ภพใหญ่ ในโลกนี้หรือโลกหน้า มีความว่า ใด ได้แก่พระอรหันตขีณาสพใด.

     คำว่า ส่วนสุด คือ
ผัสสะเป็นส่วนสุดที่ ๑ ผัสสสมุทัยเป็นส่วนที่ ๒.
อดีตเป็นส่วนสุดที่ ๑ อนาคตเป็นส่วนสุดที่๒.
สุขเวทนาเป็นส่วนสุดที่ ๑ ทุกขเวทนาเป็นส่วนสุดที่ ๒.
นามเป็นส่วนสุดที่ ๑ รูปเป็น ส่วนสุดที่ ๒.
อายตนะภายใน ๖ เป็นส่วนสุดที่ ๑ อายตนะภายนอก ๖ เป็นส่วนสุดที่ ๒.
กายของตนเป็นส่วนสุดที่ ๑ สมุทัยแห่งกายของตนเป็นส่วนสุดที่ ๒.

ตัณหาเรียกว่า ความตั้งไว้ได้แก่ความกำหนัด ความกำหนัดกล้า ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล.

     คำว่า เพื่อภพน้อยภพใหญ่ ได้แก่เพื่อภพน้อยภพใหญ่ คือ
เพื่อกรรมวัฏ และวิปากวัฏ เพื่อกรรมวัฏ เป็นเครื่องเกิดใน กามภพ
เพื่อวิปากวัฏ เป็นเครื่องเกิดใน กามภพ
เพื่อกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดใน รูปภพ
เพื่อวิปากวัฏ เป็นเครื่องเกิดใน รูปภพ
เพื่อกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดใน อรูปภพ
เพื่อวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดใน อรูปภพ
เพื่อความเกิดบ่อยๆ เพื่อความไปบ่อยๆ
เพื่อความเข้าถึงบ่อยๆ
เพื่อปฏิสนธิบ่อยๆ
เพื่อบังเกิดขึ้นแห่งอัตภาพบ่อยๆ.

คำว่า โลกนี้ คือ อัตภาพของตน.
คำว่า โลกหน้า คืออัตภาพของผู้อื่น.
คำว่า โลกนี้ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณของตน.
คำว่า โลกหน้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณของผู้อื่น.
คำว่า โลกนี้ คืออายตนะภายใน ๖.
คำว่า โลกหน้า คือ อายตนะภายนอก ๖.
คำว่า โลกนี้ คือ มนุษยโลก.  
คำว่า โลกหน้า คือ เทวโลก.
คำว่า โลกนี้ คือ กามธาตุ.
คำว่า โลกหน้า คือ รูปธาตุ อรูปธาตุ.
คำว่า โลกนี้ คือ กามธาตุ. รูปธาตุ.
คำว่า โลกหน้า คือ อรูปธาตุ.

     คำว่า ความตั้งไว้ซึ่งส่วนสุดทั้ง ๒ ย่อมไม่มีแก่พระอรหันต์ใด เพื่อภพน้อย ภพใหญ่ในโลกนี้หรือโลกหน้า คือ ความตั้งไว้ซึ่งส่วนสุดทั้ง ๒ ย่อมไม่มี ไม่ปรากฏ ไม่เข้าไปได้แก่พระอรหันต์ใด เพื่อภพน้อยภพใหญ่ ในโลกนี้หรือโลกหน้า คือความ ตั้งไว้ นั้น ย่อมเป็นกิริยาอันพระอรหันต์ใดละ ตัดขาด สงบ ระงับเสียแล้ว ทำให้ไม่ควร เกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ความตั้งไว้ซึ่งส่วนสุดทั้ง ๒ ย่อมไม่มีแก่พระอรหันต์ใดเพื่อภพน้อยภพใหญ่ ในโลกนี้หรือโลกหน้า.

     [๑๗๐] คำว่า พระอรหันต์นั้นย่อมไม่มีเครื่องอยู่อะไรๆ มีความว่า เครื่องอยู่ ได้แก่เครื่องอยู่ ๒ อย่าง คือ เครื่องอยู่คือตัณหา ๑ เครื่องอยู่คือทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่าเครื่องอยู่คือตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าเครื่องอยู่คือทิฏฐิ.

     คำว่า นั้น ได้แก่พระอรหันตขีณาสพนั้น.

     คำว่าพระอรหันต์นั้น ย่อมไม่มีเครื่องอยู่ คือ เครื่องอยู่นั้นไม่มี ไม่ปรากฏ ย่อมไม่เข้าไปได้ คือเป็นธรรมอันพระอรหันตขีณาสพนั้นละ ตัดขาด สงบ ระงับแล้ว ทำให้ไม่ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระอรหันต์นั้น ย่อมไม่มีเครื่องอยู่อะไรๆ.

       [๑๗๑] คำว่า ย่อมไม่มีการถึงความตกลงในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น มีความว่า ในธรรมทั้งหลาย คือในทิฏฐิ ๖๒.

     คำว่า ถึงความตกลง มีความว่า ตัดสินแล้ว ชี้ขาด ค้นคว้าแสวงหา เทียบเคียง ตรวจตรา สอบสวน ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว ทำให้เป็นแจ้งแล้ว จึงจับมั่นยึดมั่น ถือมั่น รวบถือ รวมถือ รวบรวมถือ คือความถือ ความยึดถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น ความน้อมใจเชื่อว่า สิ่งนี้จริง แท้ แน่ เป็นตามสภาพ เป็นตามจริง มิได้วิปริตดังนี้ ย่อมไม่มีไม่ปรากฏ ไม่เข้าไปได้ คือ เป็นธรรมอันพระอรหันตขีณาสพนั้น ละ ตัดขาด สงบ ระงับแล้วทำให้ไม่ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ย่อมไม่มีการถึงความตกลงในธรรมทั้งหลายทั้งหลายแล้วถือมั่น.

    เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่าความตั้งไว้ซึ่งส่วนสุดทั้งสอง ย่อมไม่มีแก่ พระอรหันตขีณาสพใด เพื่อภพน้อยใหญ่ ในโลกนี้หรือโลกหน้า พระอรหันต์นั้น ย่อมไม่มีเครื่องอยู่อะไรๆ ย่อมไม่มีการถึงความตกลงในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น.

     [๑๗๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ทิฏฐิสัญญาให้เกิดขึ้นแม้เล็กน้อย ที่สัญญา กำหนดแล้ว ในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่ทราบในโลกนี้ ย่อมไม่มีแก่ อรหันต์ นั้น ใครๆในโลกนี้ พึงกำหนด ซึ่งพระอรหันต์นั้น เป็นผู้พราหมณ์ ไม่ยึดถือ ทิฏฐิ ด้วยกิเลสอะไรเล่า.

(8)

ว่าด้วยพระอรหันต์ได้ชื่อว่าพราหมณ์

     [๑๗๓] คำว่า ทิฏฐิที่สัญญาให้เกิดขึ้นแม้เล็กน้อย ที่สัญญากำหนดแล้ว ในรูป ที่เห็นเสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่ทราบในโลกนี้ ย่อมไม่มีแก่พระอรหันต์นั้น มีความว่า ทิฏฐิอันสัญญาให้เกิดขึ้น อันสัญญากำหนด ปรุงแต่งตั้งไว้ เพราะเป็นทิฏฐิ มีสัญญา เป็นประธาน มีสัญญาเป็นใหญ่ และความถือต่างด้วยสัญญา ในรูปที่เห็นบ้าง ในความหมดจดเพราะรูปที่เห็นบ้าง ในเสียงที่ได้ยินบ้าง ในความหมดจดเพราะเสียง ที่ได้ยินบ้าง ในอารมณ์ที่ทราบบ้าง ในความหมดจดเพราะอารมณ์ที่ทราบบ้าง ย่อมไม่มี ไม่ปรากฏ ไม่เข้าไปได้ แก่พระอรหันตขีณาสพนั้น คือทิฏฐินั้น อันพระขีณาสพ ละ ตัดขาด สงบ ระงับแล้ว ทำให้ไม่ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟ คือ ญาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทิฏฐิที่สัญญาให้เกิดขึ้นแม้เล็กน้อย ที่สัญญา กำหนดแล้ว ในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่ทราบ ในโลกนี้ ย่อมไม่มีแก่ พระอรหันต์นั้น.

     [๑๗๔] คำว่า ซึ่งพระอรหันต์นั้น ผู้เป็นพราหมณ์ ไม่ยึดถือทิฏฐิ มีความว่า พราหมณ์ได้แก่พระอรหันต์ผู้ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เพราะลอยเสียแล้ว ซึ่งธรรม ๗ ประการ ฯลฯ ผู้อันตัณหา ทิฏฐิไม่อาศัย เป็นผู้คงที่ เรียกว่าเป็นพราหมณ์.

     คำว่า ซึ่งพระอรหันต์นั้น ผู้เป็นพราหมณ์ไม่ยึดถือทิฏฐิ มีความว่า ซึ่งพระอรหันต์ นั้น ผู้เป็นพราหมณ์ ไม่ยึด ไม่ถือเอา ไม่ถือมั่น ไม่ยึดน ซึ่งทิฏฐิ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ซึ่งพระอรหันต์นั้น ผู้เป็นพราหมณ์ ไม่ยึดถือทิฏฐิ

     [๑๗๕] คำว่า ใครๆ ในโลกนี้พึงกำหนด ... ด้วยกิเลสอะไรเล่า มีความว่า กำหนดได้แก่ความกำหนด ๒ อย่าง คือความกำหนดด้วยตัณหา ๑ ความกำหนดด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความกำหนดด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความกำหนดด้วยทิฏฐิ.

     บุคคลนั้นละความกำหนดด้วยตัณหา สละคืนความกำหนดด้วยทิฏฐิแล้ว เพราะเป็นผู้ละความกำหนดด้วยตัณหา สละคืนความด้วยกำหนดด้วยทิฏฐิแล้ว ใครๆ จะพึงกำหนดบุคคลนั้นด้วยราคะ โทสะ โมหะ มานะทิฏฐิ อุทธัจจะ วิจิกิจฉา อนุสัยอะไรเล่าว่า เป็นผู้กำหนัด ขัดเคือง หลง ผูกพัน ถือมั่น ถึงความฟุ้งซ่าน ถึงความไม่ตกลง หรือถึงโดยเรี่ยวแรง.

     กิเลสเครื่องปรุงแต่งเหล่านั้น อันบุคคลนั้นละแล้ว เพราะเป็นผู้ละกิเลส เครื่องปรุงแต่งเหล่านั้นแล้ว ใครๆ จะพึงกำหนดคติแห่งบุคคลนั้นกิเลสอะไรเล่าว่า เป็นผู้เกิดในนรก เกิดในกำเนิดดิรัจฉาน เกิดในเปรตวิสัย เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นสัตว์มีรูป เป็นสัตว์ไม่มีรูป เป็นสัตว์มีสัญญา เป็นสัตว์ไม่มีสัญญา หรือเป็นสัตว์มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่.

     บุคคลนั้นไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ไม่มีการณะอันเป็นเครื่องกำหนด กำหนดวิเศษ ถึงความกำหนด. คำว่า ในโลก คือในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลกขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ใครๆ ในโลกนี้พึงกำหนด ... ด้วยกิเลสอะไรเล่า.

     เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่าทิฏฐิที่สัญญาให้เกิดขึ้นแม้เล็กน้อย ที่สัญญากำหนดแล้ว ในรูปที่เห็นเสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่ทราบ ในโลกนี้ ย่อมไม่มี แก่พระอรหันต์นั้นใครๆ ในโลกนี้ พึงกำหนดซึ่งพระอรหันต์นั้น ผู้เป็นพราหมณ์ ไม่ยึดถือทิฏฐิ ด้วยกิเลสอะไรเล่า.

     [๑๗๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่าพระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย ย่อมไม่กำหนด ย่อมไม่ทำตัณหาและทิฏฐิไว้ในเบื้องหน้า แม้ธรรมคือทิฏฐิทั้งหลาย อันพระอรหันต์เหล่านั้นไม่ปรารถนาเฉพาะแล้ว พระอรหันต์ผู้เป็นพราหมณ์ อันใครๆ ไม่พึงนำไปได้ด้วยศีลและพรต ย่อมเป็นผู้ถึงฝั่ง ไม่กลับมา เป็นผู้คงที่.

(9)

พระอรหันต์ได้ชื่อต่างๆ

     [๑๗๗] คำว่า พระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย ย่อมไม่กำหนด ย่อมไม่ทำตัณหา และทิฏฐิไว้ในเบื้องหน้า มีความว่า กำหนด ได้แก่ ความกำหนด ๒ อย่าง คือ ความกำหนดด้วยตัณหาความกำหนดด้วยทิฏฐิ ๑.

     ความกำหนดด้วยตัณหาเป็นไฉน? วัตถุที่ทำให้เป็นเขต เป็นแดน เป็นส่วน เป็นแผนก กำหนดถือเอา ยึดถือเอาว่าของเรา ด้วยส่วนแห่งตัณหามีประมาณเท่าใด ย่อมยึดถือเอาว่าของเราซึ่งวัตถุมีประมาณเท่านั้นว่า สิ่งนี้ของเรา สิ่งนั้นของเรา สิ่งมีประมาณเท่านี้ของเราสิ่งของๆ เรามีประมาณเท่านี้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เครื่องลาด เครื่องนุ่งห่ม ทาสีและทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา นา ที่ดิน เงิน ทอง บ้าน นิคม ราชธานี แว่นแคว้นชนบท ฉาง คลัง เป็นของเรา ย่อมยึดถือว่า เป็นของของเรา แม้ซึ่งแผ่นดินใหญ่ทั้งสิ้นด้วยสามารถแห่งตัณหา ตลอดถึง ตัณหาวิปริต ๑๐๘ นี้ชื่อว่า ความกำหนดด้วยตัณหา.

     ความกำหนดด้วยทิฏฐิเป็นไฉน? สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ อันตคาหิกทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ ทิฏฐิ ความไปคือทิฏฐิ รกเรี้ยวคือทิฏฐิ กันดารคือทิฏฐิ เสี้ยนหนามคือทิฏฐิ ความดิ้นรนคือทิฏฐิ เครื่องประกอบคือทิฏฐิ ความถือ ความถือมั่น ความยึดมั่น ความยึดถือ ทางผิด คลองผิด ความเห็นผิด ลัทธิเดียรถีย์ ความถือโดย แสวงหา ผิด ความถือวิปริตความถือวิปลาส ความถือผิด ความถือแน่นอนว่าจริง ในสิ่งไม่จริง อันใดเห็นปานนี้ และทิฏฐิ ๖๒มีประมาณเท่าใด นี้ชื่อว่าความกำหนดด้วย ทิฏฐิ.

     พระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย ละความกำหนดด้วยตัณหา สละคือความกำหนด ด้วยทิฏฐิแล้ว เพราะเป็นผู้ละความกำหนดด้วยตัณหา สละคืนความกำหนดด้วย ทิฏฐิแล้ว พระอรหันต์เหล่านั้น จึงไม่กำหนดความกำหนด ด้วยตัณหา หรือความกำหนดด้วยทิฏฐิ คือไม่ให้เกิดไม่ให้เกิดพร้อม ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดแล้วเฉพาะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าไม่กำหนด.

     คำว่า ย่อมไม่ทำตัณหาและทิฏฐิไว้ในเบื้องหน้า มีความว่า ทำไว้ใน เบื้องหน้า ได้แก่ความทำไว้ในเบื้องหน้า ๒ อย่าง คือ
ความทำไว้ในเบื้องหน้าด้วยตัณหา ๑
ความทำไว้ในเบื้องหน้าด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ

นี้ชื่อว่าความทำไว้ในเบื้องหน้าด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความทำไว้ในเบื้องหน้าด้วยทิฏฐิ

พระอรหันตขีณาสพทั้งหลายนั้น
ละความทำไว้ในเบื้องหน้า ด้วยตัณหา
สละคืนความทำไว้ในเบื้องหน้า ด้วยทิฏฐิเสียแล้ว
เพราะเป็นผู้ละความทำไว้ในเบื้องหน้า ด้วยตัณหา
สละคืนความทำไว้ในเบื้องหน้า ด้วยทิฏฐิแล้ว
จึงไม่กระทำตัณหาหรือทิฏฐิ ไว้ในเบื้องหน้า

เที่ยวไปคือเป็นผู้ไม่มีตัณหาเป็นธงชัย ไม่มีตัณหาเป็นธงยอด ไม่มีตัณหาเป็นใหญ่
ไม่มีทิฏฐิเป็นธงชัยไม่มีทิฏฐิเป็นธงยอด ไม่มีทิฏฐิเป็นใหญ่ จึงชื่อว่าเป็นผู้อัน ตัณหา และทิฏฐิไม่แวดล้อมเที่ยวไปเพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย ย่อมไม่กำหนด ย่อมไม่ทำตัณหาและทิฏฐิไว้ ในเบื้องหน้า.

     [๑๗๘] คำว่า แม้ธรรมคือทิฏฐิทั้งหลาย อันพระอรหันต์เหล่านั้นไม่ปรารถนา เฉพาะแล้ว มีความว่า ทิฏฐิ ๖๒ เรียกว่า ธรรม. คำว่า เหล่านั้น คือพระอรหันต ขีณาสพเหล่านั้น.

     คำว่า ไม่ปรารถนาเฉพาะแล้ว คือไม่ปรารถนาเฉพาะว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้น จริง สิ่งอื่นเปล่าไม่ปรารถนาเฉพาะว่า โลกไม่เที่ยง ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า แม้ธรรมคือทิฏฐิทั้งหลายอันพระอรหันต์เหล่านั้น ไม่ปรารถนาเฉพาะแล้ว.

     [๑๗๙] คำว่า พระอรหันต์ผู้เป็นพราหมณ์ อันใครๆ ไม่พึงนำไปได้ด้วยศีล และ พรตมีความว่า ศัพท์ว่า น เป็นปฏิเสธ.

     คำว่า พราหมณ์ คือ พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เพราะลอยเสียแล้ว ซึ่งธรรม ๗ ประการ ฯลฯ ผู้อันตัณหาทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว เป็นผู้คงที่ เรียกว่า เป็นพราหมณ์. คำว่า พระอรหันต์ผู้เป็นพราหมณ์ อันใครๆ ไม่พึงนำไปได้ด้วยศีล และพรต อ พระอรหันต์ผู้เป็นพราหมณ์ ย่อมไม่ไป ไม่ออกไป ไม่เลื่อนลอยไป ไม่แล่นไป ด้วยศีลหรือด้วยพรต หรือด้วยศีลและพรต เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระอรหันต์ผู้เป็นพราหมณ์ อันใครๆ ไม่พึงนำไปได้ด้วยศีลและพรต.

     [๑๘๐] คำว่า ย่อมเป็นผู้ถึงฝั่ง ไม่กลับมา เป็นผู้คงที่ มีความว่า อมตนิพพาน เรียกว่าฝั่ง ได้แก่ธรรมเป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นตัณหา ความสำรอก ความดับ ความออกจากตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด.
     ผู้ใดไปถึงฝั่ง บรรลุฝั่งแล้ว ไปถึงส่วนสุด บรรลุส่วนสุดแล้ว ไปถึงที่สุด บรรลุที่สุดแล้ว ฯลฯ ภพใหม่มิได้มีแก่ผู้นั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้ถึงฝั่ง.

     คำว่า ย่อมไม่กลับ คือ กิเลสเหล่าใด อันอริยบุคคลละแล้วด้วยโสดาปัตติมรรค อริยบุคคลนั้นย่อมไม่ถึงอีก ไม่กลับถึง ไม่กลับมาสู่กิเลสเหล่านั้น กิเลสเหล่าใดอันอริยบุคคลละแล้วด้วยสกทาคามิมรรค อริยบุคคลนั้น ย่อมไม่ถึงอีก ไม่กลับถึง ไม่กลับมาสู่กิเลสเหล่านั้น กิเลสเหล่าใดอันอริยบุคคลละแล้วด้วยอนาคามิมรรค อริยบุคคลนั้น ย่อมไม่ถึงอีก ไม่กลับถึง ไม่กลับมาสู่กิเลสเหล่านั้น กิเลสเหล่าใดอันอริยบุคคลละแล้วด้วยอรหัตมรรค อริยบุคคลนั้นย่อมไม่ถึงอีก ไม่กลับถึง ไม่กลับมาสู่กิเลสเหล่านั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าย่อมเป็นผู้ถึงฝั่ง ไม่กลับมา.

     คำว่า ผู้คงที่ คือพระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ โดยอาการ ๕ คือ
เป็นผู้คงที่ใน อิฎฐารมณ์ และ อนิฏฐารมณ์
*
เป็นผู้คงที่เพราะอรรถว่า สละแล้ว
เป็นผู้คงที่เพราะอรรถว่า ข้ามแล้ว
เป็นผู้คงที่เพราะอรรถว่า พ้นแล้ว
เป็นผู้คงที่เพราะแสดงออก ซึ่งธรรมนั้นๆ.
* (อิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ หรือสิ่งที่น่าปรารถนาน่าพอใจ ได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข, ตรงข้ามกับ อนิฏฐารมณ์)

     พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์อย่างไร? พระอรหันต์เป็นผู้คงที่แม้ในลาภ แม้ในความเสื่อมลาภ แม้ในยศ แม้ในความเสื่อมยศ แม้ในสรรเสริญ แม้ในนินทา แม้ในสุข แม้ในทุกข์.
     หากว่าชนทั้งหลาย พึงลูบไล้แขนข้างหนึ่งแห่งพระอรหันต์ด้วยเครื่องหอม พึงถากแขนข้างหนึ่งด้วยมีด พระอรหันต์ย่อมไม่มีความยินดีในการลูบไล้ ด้วยเครื่องหอมโน้น และไม่มีความยินร้ายในการถากด้วยมีดโน้น เป็นผู้ละ การยินดียินร้ายเสียแล้ว เป็นผู้ล่วงเลยการดีใจและการเสียใจแล้ว เป็นผู้ก้าวล่วง ความยินดีความยินร้ายเสียแล้ว พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ในอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์อย่างนี้.

     พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะอรรถว่าสละแล้วอย่างไร? พระอรหันต์สละ คาย ปล่อย ะ สละคืนเสียแล้ว ซึ่งความกำหนัด ความขัดเคือง ความหลง ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ ความลวง ความโอ้อวด ความกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ความเมา ความประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง พระอรหันต์ ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะอรรถว่าสละแล้วอย่างนี้.

     พระอรหันต์ชื่อว่าผู้คงที่ เพราะอรรถว่าข้ามแล้วอย่างไร? พระอรหันต์ข้ามแล้ว ข้ามขึ้นข้ามพ้น ก้าวล่วง ก้าวล่วงด้วยดี เป็นไปล่วงซึ่งกาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ และคลองแห่งสงสารทั้งปวง พระอรหันต์นั้นอยู่จบแล้ว ประพฤติจรณะแล้ว ฯลฯ ภพใหม่มิได้มีแก่พระอรหันต์นั้น เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะอรรถว่าข้ามแล้วอย่างนี้.

     พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะอรรถว่าพ้นแล้วอย่างไร? พระอรหันต์มีจิตพ้นแล้วพ้นวิเศษ พ้นดีแล้ว จากความกำหนัด ความขัดเคือง ความหลง ความโกรธ ความผูกโกรธความลบหลู่ ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ ความลวง ความโอ้อวด ความกระด้างความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ความเมา ความประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวงความกระวนกระวาย ทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อกุสลาภิสังขารทั้งปวง พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะอรรถว่าพ้นแล้วอย่างนี้.

     พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะแสดงออกซึ่งธรรมนั้นๆ อย่างไร?
     พระอรหันต์
     ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะแสดงออกว่า เป็นผู้มีศีล ในเมื่อศีลมีอยู่.
     ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะแสดงออกว่า เป็นผู้มีศรัทธา ในเมื่อศรัทธามีอยู่.
     ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะแสดงออกว่า เป็นผู้มีความเพียร ในเมื่อความเพียรมีอยู่.
     ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะแสดงออกว่า เป็นผู้มีสติ ในเมื่อสติมีอยู่.
     ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะแสดงออกว่า เป็นผู้ตั้งมั่น ในเมื่อสมาธิมีอยู่.
     ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะแสดงออกว่า เป็นผู้มีปัญญา ในเมื่อปัญญามีอยู่.
     ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะแสดงออกว่า เป็นผู้มีวิชชา ๓ในเมื่อวิชชามีอยู่.
     ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะแสดงออกว่า เป็นผู้มีอภิญญา ๖ ในเมื่ออภิญญามีอยู่.

     พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะแสดงออกซึ่งธรรมนั้นๆ อย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าย่อมเป็นผู้ถึงฝั่ง ไม่กลับมา เป็นผู้คงที่ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค จึงตรัสว่า พระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย ย่อมไม่กำหนด ย่อมไม่ทำตัณหาและทิฏฐิ  ไว้ในเบื้องหน้า แม้ธรรมคือทิฏฐิทั้งหลาย อันพระอรหันตขีณาสพเหล่านั้น ไม่ปรารถนา เฉพาะแล้ว พระอรหันต์ผู้เป็นพราหมณ์ อันใครๆไม่พึงนำไปได้ด้วยศีลและพรต ย่อมเป็นผู้ถึงฝั่ง ไม่กลับมา เป็นผู้คงที่ ดังนี้.

จบปรมัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๕.
>[๑๘๑]

(มหานิทเทส คัมภีร์ว่าด้วยศาสตร์ขยายความพระไตรปิฎก ชื่อว่าเป็นผลงานของพระสารีบุตร)

 

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์