พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๙
สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส หน้าที่ ๑๑๗
(มหานิทเทส คัมภีร์ที่ขยายความพระไตรปิฎก เชื่อว่าเป็นผลงานของพระสารีบุตร)
ว่าด้วยเปรียบสิ่งที่ได้ เหมือนความฝัน
[๑๙๗] คำว่า สิ่งที่มาประจวบด้วยความฝัน แม้ฉันใด มีความว่า สิ่งที่มาประจวบ คือ สิ่งที่มาปรากฏ มาตั้งอยู่ ประชุมแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สิ่งที่มาประจวบด้วย ความฝัน แม้ฉันใด.
[๑๙๘] คำว่า บุรุษตื่นแล้วย่อมไม่เห็น มีความว่า บุรุษผู้ฝันเห็นดวงจันทร์ เห็นดวงอาทิตย์ เห็นมหาสมุทร เห็นขุนเขาสิเนรุ เห็นช้าง เห็นม้า เห็นรถ เห็นคน เดินเท้า เห็นขบวนเสนา เห็นสวนที่น่ารื่นรมย์ เห็นป่าที่น่ารื่นรมย์ เห็นภูมิภาคที่น่า รื่นรมย์ เห็นสระน้ำที่น่ารื่นรมย์ ครั้นตื่นแล้วย่อมไม่แลเห็นสิ่งอะไรๆ ฉันใด เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุรุษตื่นแล้วย่อมไม่เห็น.
[๑๙๙] คำว่า ... ชนที่รัก ... แม้ฉันนั้น มีความว่า ศัพท์ว่า ฉันนั้น เป็นอุปไมยยัง
อุปมาให้ถึงพร้อม. คำว่า ชนที่รักคือชนที่รัก ที่ถือว่าของเรา ซึ่งได้แก่มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว บุตร ธิดา มิตร พวกพ้อง หรือญาติสาโลหิต เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ... ชนที่รัก ... แม้ฉันนั้น.
[๒๐๐] คำว่า ย่อมไม่เห็น ... ผู้ตายจากไปแล้ว มีความว่า ชนผู้ตาย ทำกาละแล้ว เรียกว่าผู้จากไปแล้ว ย่อมไม่เห็น ไม่แลเห็น ไม่ประสบ ไม่พบ ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าย่อมไม่เห็น ... ผู้ตายจากไปแล้ว. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า บุรุษตื่นแล้ว ย่อมไม่เห็นสิ่งที่มาประจวบด้วยความฝัน แม้ฉันใด ใครๆก็ไม่เห็นชนที่รัก ซึ่งตายจากไปแล้ว แม้ฉันนั้น.
[๒๐๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ชนทั้งหลายที่เห็นกันก็ดี ที่ได้ยินชื่อเรียกกันก็ดี ชนเหล่านั้นที่จากไปแล้ว ยังเหลือแต่ชื่อเท่านั้นที่พูดถึงกันอยู่.
|