เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  มหานิทเทส คัมภีร์ว่าด้วยศาสตร์ ขยายความพระไตรปิฎก เชื่อว่าเป็นผลงานของพระสารีบุตร 959
 
   
  มหานิทเทส (3)
  (1) ว่าด้วยความยึดถือ ๒ อย่าง
  (2) ว่าด้วยผัสสะต่างๆ
  (3) ว่าด้วยปริญญา ๓ ประการ
  (4) ว่าด้วยเดียรถีย์กับมุนี
  (5) ว่าด้วยกิเลสเครื่องตรึงจิต ๓
  (6) ว่าด้วยทิฏฐิ
  (7) ว่าด้วยศีลและวัตร
  (8) ผู้ได้ชื่อว่าภิกษุ
  (9) ว่าด้วยผู้มีอริยธรรม
  (10) ว่าด้วยทิฏฐิธรรม
  (11) ว่าด้วยสันติ ๓
  (12) ว่าด้วยการถือมั่น
 
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๙ สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส


(1)
ว่าด้วยความยึดถือ ๒ อย่าง


     [๕๖] คำว่า ท่านทั้งหลายจงเห็นหมู่สัตว์ ผู้ดิ้นรนอยู่ในเพราะวัตถ ที่ยึดถือ ว่าของเรา มีความว่า ความยึดถือว่าของเรา ได้แก่ความยึดถือว่าของเรา ๒ อย่าง คือ ความยึดถือว่าของเรา ด้วยตัณหา ๑ ความยึดถือว่าของเราด้วยทิฏฐิ ๑.

      ความยึดถือว่าของเราด้วยตัณหาเป็นไฉน? วัตถุที่ทำให้เป็นเขต เป็นแดน เป็นส่วนเป็นแผนก กำหนดถือเอา ยึดถือเอาว่าของเรา ด้วยส่วนแห่งตัณหา มีประมาณ เท่าใด ย่อมยึดถือว่าของเรา ซึ่งวัตถุมีประมาณเท่านั้น ว่าสิ่งนี้ของเรา สิ่งนั้นของเรา สิ่งมีประมาณเท่านี้ของเราสิ่งของๆ เรามีประมาณเท่านี้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เครื่องลาด เครื่องนุ่งห่มทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา นา ที่ดิน เงิน ทอง บ้าน นิคมราชธานี แว่นแคว้น ชนบท ฉางข้าว คลังเป็นของๆ เรา ย่อมยึดถือว่าเป็นของเรา แม้ซึ่งแผ่นดินใหญ่ ทั้งสิ้น ด้วยสามารถแห่งตัณหา ตลอดถึงตัณหาวิปริต ๑๐๘ นี้ชื่อว่าความถือว่าของเราด้วยตัณหา.

     ความยึดถือว่าของเราด้วยทิฏฐิเป็นไฉน? สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐, มิจฉาทิฏฐิ มีวัตถุ ๑๐, อันตคาหิกาทิฏฐิมีวัตถุ (ความเห็นสุดโต่ง) ๑๐, ทิฏฐิ ความไปคือทิฏฐิ รถเลี้ยว คือทิฏฐิ กันดารคือทิฏฐิ เสี้ยนหนามคือทิฏฐิ ความดิ้นรนคือทิฏฐิ เครื่องประกอบคือ ทิฏฐิ ความถือ ความถือมั่น ความยึดมั่นความยึดถือ ทางผิด คลองผิด ความเป็นผิด ลัทธิเดียรถี ความถือโดยแสวงหาผิด ความถือวิปริตความถือวิปลาส ความถือผิด ความถือแน่นอน ว่าจริง ในสิ่งที่ไม่จริงอันใด เห็นปานนี้ และทิฏฐิ ๖๒ มีประมาณเท่าใด นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าของเราด้วยทิฏฐิ.

     คำว่า ท่านทั้งหลายจงเห็นหมู่สัตว์ผู้ดิ้นรน อยู่ในเพราะวัตถุที่ยึดถือว่า ของเรา มีความว่าหมู่สัตว์แม้ผู้มี ความหวาดระแวงในการแย่งชิงวัตถุ ที่ยึดถือว่า ของเรา ย่อมดิ้นรน คือ ย่อมดิ้นรนเมื่อเขากำลังชิงเอาบ้าง เมื่อเขาชิงเอาแล้วบ้าง แม้ผู้มีความหวาดระแวงในความแปรปรวนไปแห่งวัตถุที่ยึดถือว่าของเรา ย่อมดิ้นรน คือ ย่อมดิ้นรน ย่อมกระเสือกกระสน ทุรนทุรายหวั่นไหว เอนเอียง กระสับกระส่าย ไปมา เมื่อวัตถุนั้นกำลัง แปรปรวนไปอยู่บ้าง เมื่อวัตถุนั้นแปรปรวนไปแล้วบ้าง ท่านทั้งหลาย จงเห็น จงแลดู ตรวจดู เพ่งดู พิจารณาดู ซึ่งหมู่สัตว์ผู้ดิ้นรน กระเสือก กระสน ทุรนทุราย  หวั่นไหว เอนเอียง  กระสับกระส่ายไปมาอยู่อย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ท่านทั้งหลายจงเห็นหมู่สัตว์ผู้ดิ้นรนอยู่ใน เพราะวัตถุที่ยึดถือว่าของเรา.

     [๕๗] คำว่า เหมือนฝูงปลาที่ดิ้นรนอยู่ในน้ำน้อย อันมีกระแสสิ้นไป มีความว่า ฝูงปลาที่ถูกฝูงกา เหยี่ยว หรือนกยาง จิกฉุดขึ้นกินอยู่ ย่อมดิ้นรน กระเสือกกระสน ทุรน ทุราย หวั่นไหว เอนเอียง กระสับกระส่ายไปมา ในที่มีน้ำน้อย  มีน้ำนิดหน่อย มีน้ำแห้งไป ฉันใด หมู่สัตว์แม้ผู้ที่มีความหวาดระแวงในการแย่งชิง วัตถุที่ยึดถือ ว่าของเรา ย่อมดิ้นรนคือ ย่อมดิ้นรน เมื่อเขากำลังชิงเอาบ้าง เมื่อเขาชิงเอาแล้วบ้าง แม้ผู้มีความหวาดระแวง ในความแปรปรวนไปแห่งวัตถุที่ยึดถือว่าของเรา ย่อมดิ้นรน คือ ย่อมดิ้นรน ย่อมกระเสือกกระสนทุรนทุราย หวั่นไหว เอนเอียง กระสับกระส่ายไปมา เมื่อวัตถุนั้นกำลังแปรปรวนไปอยู่บ้างเมื่อวัตถุนั้น แปรปรวน ไปแล้วบ้าง ฉันนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เหมือนฝูงปลา ที่ดิ้นรนอยู่ในน้ำน้อยอันมีกระแสสิ้นไป.

     [๕๘] คำว่า นรชนเห็นโทษแม้นั้นแล้ว... พึงเป็นผู้ไม่ยึดถือว่าของเราประพฤติ มีความว่า เห็นแล้ว คือประสบ เทียบเคียง พิจารณา ตรวจตรา ทำให้แจ่มแจ้งซึ่งโทษนั้น ในเพราะวัตถุที่ยึดถือว่าของเรา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เห็นโทษแม้นั้นแล้ว.

     คำว่า พึงเป็นผู้ไม่ยึดถือว่าของเราประพฤติ มีความว่า ความยึดถือว่าของเรา ได้แก่ความยึดถือว่า ของเรา ๒ อย่างคือ ความยึดถือว่าของเราด้วยตัณหา ๑ ความยึดถือว่าของเราด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความยึดถือ ว่าของเราด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าของเราด้วยทิฏฐิ นรชนพึงละความยึดถือว่าของเรา ด้วยตัณหา สละคืนความยึดถือว่าของเราด้วยทิฏฐิแล้ว ไม่ยึดถือว่าของเรา ซึ่งจักษุโสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ ไม่ยึดถือว่าของเรา คือไม่ถือ ไม่ถือมั่น ไม่ยึดมั่น รูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สกุล คณะ อาวาส ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาตเสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร กามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ กามภพ รูปภพ อรูปภพอสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจโวการภพ อดีตอนาคต ปัจจุบัน ทิฏฐสุตมุตวิญญาตัพพธรรม พึงประพฤติไป คือ พึงอยู่ เป็นไป หมุนไปรักษา ดำเนินไป ให้อัตภาพดำเนินไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นรชนเห็นโทษแม้นั้นแล้ว ...พึงเป็นผู้ไม่ยึดถือว่าของเราประพฤติ.

     [๕๙] คำว่า ไม่ทำซึ่งตัณหาเครื่องเกี่ยวข้องในภพทั้งหลาย มีความว่าในภพ ทั้งหลายคือในกามภพ รูปภพ อรูปภพ ตัณหาเรียกว่าเครื่อง เกี่ยวข้อง ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดกล้า ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล. คำว่า ไม่ทำซึ่งตัณหา เครื่องเกี่ยวข้อง ในภพทั้งหลาย คือ ไม่ทำซึ่งตัณหาเครื่องเกี่ยวข้อง คือ ไม่ทำซึ่ง ความพอใจ ความรัก ความกำหนัด ความชอบใจ คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดเสมอ ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิด เฉพาะในภพทั้งหลายเพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่ทำซึ่ง ตัณหา เครื่องเกี่ยวข้องในภพ ทั้งหลาย.

    เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงเห็นหมู่สัตว์ผู้ดิ้นรน อยู่ใน เพราะวัตถุที่ยึดถือว่า ของเราเหมือนฝูงปลา ดิ้นรนอยู่ใน น้ำน้อย อันมีกระแส สิ้นไป นรชนเห็นโทษ แม้นั้นแล้ว ไม่ทำซึ่งตัณหาเครื่อง เกี่ยวข้องในภพ ทั้งหลาย พึงเป็นผู้ไม่ ยึดถือว่าของเราประพฤติ.

     [๖๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ธีรชนพึงจำกัดความพอใจในที่สุดทั้งสอง กำหนดรู้ ผัสสะแล้ว ไม่เป็นผู้ ตามติดใจ ตนติเตียนกรรมใด ไม่ทำกรรม นั้นอยู่ ย่อมไม่ติดใน ทิฏฐารมณ์ และสุตารมณ์.

     [๖๑] คำว่า พึงกำจัดความพอใจในที่สุดทั้งสอง มีความว่า ที่สุด คือ
     ผัสสะเป็นที่สุด อัน ๑ ผัสสสมุทัย เป็นที่สุดอัน ๒.
     อดีตเป็นที่สุดอัน ๑ อนาคตเป็นที่สุดอัน ๒.
     สุขเวทนาเป็นที่สุดอัน ๑ ทุกขเวทนาเป็นที่สุดอัน ๒.
     นามเป็นที่สุดอัน ๑ รูปเป็นที่สุดอัน ๒.
     อายตนะภายใน ๖ เป็นที่สุดอัน ๑ อายตนะภายนอก ๖ เป็นที่สุดอัน ๒.
     สักกายะเป็นที่สุดอัน ๑ สักกายสมุทัยเป็นที่สุดอัน ๒.
     คำว่า ความพอใจ ได้แก่ความพอใจคือความใคร่ ความกำหนัดคือความใคร่ ความเพลินคือความใคร่ ในกามทั้งหลาย ความปรารถนาในกาม ความเสน่หาในกาม ความเร่าร้อนในกาม ความหลงในกาม ความติดใจในกาม ห้วงคือกาม ความประกอบ ในกาม ความยึดถือในกาม เครื่องกั้นกางคือกามฉันทะ.

     คำว่า พึงกำจัดความพอใจในที่สุดทั้งสอง คือพึงกำจัด พึงกำจัดเฉพาะ พึงละ พึงบรรเทา พึงทำให้สิ้นไป พึงให้ถึงความไม่มีในภายหลัง ซึ่งความพอใจ ในที่สุดทั้งสอง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงกำจัดความพอใจ ในที่สุดทั้งสอง.

(2)
ว่าด้วยผัสสะต่างๆ

     [๖๒] คำว่า กำหนดรู้ผัสสะแล้วไม่เป็นผู้ตามติดใจ มีความว่า ผัสสะได้แก่ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส อธิวจนสัมผัส (สัมผัสทางนามคือใจ) ปฏิฆสัมผัส (สัมผัสทางรูป) สัมผัสเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา สัมผัสเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา สัมผัสเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขม สุขเวทนา ผัสสะ อันสัมปยุต ด้วยกุศลจิต ผัสสะอันสัมปยุตด้วยอกุศลจิต ผัสสะอันสัมปยุตด้วยอัพยากตจิต ผัสสะอันสัมปยุตด้วยกามาวจรจิตผัสสะอันสัมปยุตด้วยรูปาวจรจิต ผัสสะอันสัมปยุตด้วย อรูปาวจรจิต ผัสสะเป็นสุญญตะ ผัสสะเป็นอนิมิตตะ ผัสสะเป็นอัปปณิหิตะ ผัสสะเป็นโลกิยะ ผัสสะเป็นโลกุตตระ ผัสสะเป็นอดีตผัสสะเป็นอนาคต ผัสสะเป็นปัจจุบัน ผัสสะใดเห็นปานนี้ คือความถูกต้อง ความถูกต้องพร้อม ความที่จิตถูกต้องพร้อม นี้ชื่อว่า ผัสสะ.

     คำว่ากำหนดรู้ผัสสะแล้ว คือ กำหนดรู้ซึ่งผัสสะโดยปริญญา ๓ ประการ คือ ญาตปริญญา ตีรณปริญญา ปหานปริญญา.

(3)
ว่าด้วยปริญญา ๓ ประการ

     ญาตปริญญาเป็นไฉน? ธีรชนย่อมรู้ซึ่งผัสสะ คือ ย่อมรู้ ย่อมเห็นว่านี้จักขุสัมผัส นี้โสตสัมผัส นี้ฆานสัมผัส นี้ชิวหาสัมผัส นี้กายสัมผัส นี้มโนสัมผัส นี้อธิวจนสัมผัส นี้ปฏิฆสัมผัส นี้สัมผัสเป็นที่ตั้งแห่ง สุขเวทนา นี้สัมผัสเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา นี้สัมผัสเป็นที่ตั้งแห่ง อทุกขมสุขเวทนา นี้ผัสสะอันสัมปยุตด้วย กุศลจิต นี้ผัสสะ อันสัมปยุตด้วยอกุศลจิต นี้ผัสสะอันสัมปยุตด้วยอัพยากตจิต นี้ผัสสะอันสัมปยุตด้วย
กามาวจรจิต นี้ผัสสะอันสัมปยุตด้วยรูปาวจรจิตนี้ผัสสะอันสัมปยุตด้วยอรูปาวจรจิต นี้ผัสสะเป็นสุญญตะ นี้ผัสสะเป็นอนิมิตตะ นี้ผัสสะเป็นอัปปณิหิตะ นี้ผัสสะเป็นโลกิยะ นี้ผัสสะเป็นโลกุตตระ นี้ผัสสะเป็นอดีต นี้ผัสสะเป็นอนาคตนี้ผัสสะเป็นปัจจุบัน นี้เรียกว่าญาตปริญญา.

     ตีรณปริญญาเป็นไฉน? ธีรชนทำความรู้อย่างนี้แล้ว ย่อมพิจารณาซึ่งผัสสะ คือ ย่อมพิจารณาโดยความ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นของลำบาก เป็นอาพาธ เป็นอย่างอื่น เป็นของไม่มีอำนาจ เป็นของชำรุด เป็นเสนียด เป็นอุบาทว์ เป็นภัย เป็นอุปสรรค เป็นของหวั่นไหว เป็นของแตกพัง เป็นของไม่ยั่งยืน เป็นของไม่มีที่ต้านทาน เป็นของไม่มีที่ซ่อนเร้น เป็นของไม่มีที่พึ่ง เป็นของว่าง เป็นของเปล่า เป็นของสูญ เป็นอนัตตาเป็นโทษ เป็นของมีความแปรไปเป็นธรรมดา เป็นของไม่มีแก่นสาร เป็นมูลแห่งความลำบากเป็นดังเพชฌฆาต เป็นของปราศจาก ความเจริญ เป็นของมีอาสวะ เป็นของอันเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เป็นเหยื่อมาร เป็นของมีชาติ เป็นธรรมดา เป็นของมีชรา เป็นธรรมดา เป็นของมีพยาธิเป็นธรรมดา เป็นของมีมรณะ เป็นธรรมดา เป็นของมีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัสและอุปายาสเป็นธรรมดา เป็นของมีความเศร้าหมองเป็นธรรม เป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ เป็นของดับไป เป็นของชวนให้แช่มชื่น เป็นอาทีนพ เป็นนิสสรณะ นี้เรียกว่า ตีรณปริญญา.

     ปหานปริญญาเป็นไฉน? ธีรชนพิจารณาอย่างนี้แล้ว ย่อมละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีใน ภายหลัง ซึ่งฉันทราคะในผัสสะ สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันทราคะในผัสสะใด ท่านทั้งหลายจงละฉันทราคะนั้น ฉันทราคะ นั้น จักเป็นของอันท่านทั้งหลายละแล้ว มีมูลรากอันตัดขาดแล้ว  ทำให้ไม่มีที่ตั้ง ดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มีในภายหลัง มีความไม่เกิดขึ้นในอนาคตเป็นธรรมดา โดยประการอย่างนี้. นี้เรียกว่า ปหานปริญญา.

     คำว่า กำหนดรู้ผัสสะแล้ว คือ กำหนดรู้ซึ่งผัสสะด้วยปริญญา ๓ นี้.

     คำว่า ไม่เป็นผู้ตามติดใจ มีความว่า ตัณหาเรียกว่าความติดใจ ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดกล้า ฯลฯอภิชฌา โลภะ อกุศลมูล.
     ความติดใจนั้นอันบุคคลใดละได้แล้ว ตัดขาดแล้ว สงบได้แล้วระงับได้แล้ว ทำให้ ไม่ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ บุคคลนั้นเรียกว่า เป็นผู้ไม่ติดใจ.

     บุคคลนั้นไม่ติดใจ คือ ไม่ถึงความติดใจ ไม่หลงใหล ไม่หมกมุ่นในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะสกุล คณะ อาวาส ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร กามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ กามภพ รูปภพ อรูปภพ สัญญาภพ อสัญญาภพเนวสัญญานาสัญญาภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจโวการภพ อดีตกาล อนาคตกาล ปัจจุบันกาล ทิฏฐธรรม สุตธรรม มุตธรรม วิญญาตัพพธรรม คือ เป็นผู้คลาย ปราศจาก สละ สำรอกปล่อย ละ สละ สละคืนความติดใจแล้ว คลาย ปราศจาก สละ สำรอก ปล่อย ละ สละคืนความกำหนัดแล้ว หมดความอยาก ดับแล้ว เย็นแล้ว เสวยความสุข มีตนเป็นดุจพรหม อยู่เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กำหนดรู้ผัสสะแล้ว ไม่เป็นผู้ตามติดใจ.

     [๖๓] คำว่า ตนติเตียนกรรมใด ไม่ทำกรรมนั้น มีความว่า กรรมใด คือ ธีรชน ย่อมติเตียนกรรมใดด้วยตน ธีรชนย่อมติเตียนตนเพราะเหตุ ๒ ประการ คือ เพราะกระทำและเพราะไม่กระทำ.

     ธีรชนติเตียนตนเพราะกระทำและเพราะไม่กระทำ อย่างไร? ธีรชนย่อมติเตียนตน ว่า เราทำกายทุจริต ไม่ทำกายสุจริต เราทำวจีทุจริต ไม่ทำวจีสุจริต เราทำมโนทุจริต ไม่ทำมโนสุจริต.

เราทำปาณาติบาต ไม่ทำความงดเว้นจากปาณาติบาต เราทำอทินนาทาน ไม่ทำความงดเว้น จากอทินนาทาน เราทำกาเม สุมิจฉาจาร ไม่ทำความงดเว้นจาก กาเมสุมิจฉาจาร เราทำมุสาวาท ไม่ทำความงดเว้นจากมุสาวาท เราทำปิสุณาวาจา ไม่ทำความงดเว้นจากปิสุณาวาจา เราทำผรุสวาจา ไม่ทำความงดเว้น จากผรุสวาจา เราทำสัมผัปปลาปะ ไม่ทำความงดเว้นจากสัมผัปปลาปะ.

เราทำอภิชฌา ไม่ทำอนภิชฌา เราทำพยาบาท ไม่ทำอัพยาบาท เราทำมิจฉาทิฏฐิ ไม่ทำสัมมาทิฏฐิ ธีรชนย่อมติเตียนตน เพราะกระทำและเพราะไม่กระทำ อย่างนี้.

     อีกอย่างหนึ่ง ธีรชนย่อมติเตียนตนว่า เราไม่ทำความบริบูรณ์ในศีล ไม่คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ ไม่หมั่นประกอบ ในความเพียร เป็นเครื่อง ตื่นอยู่ ไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่เจริญสติปัฏฐาน ๔ ไม่เจริญสัมมัปปธาน ๔ ไม่เจริญอิทธิบาท ๔ ไม่เจริญอินทรีย์ ๕ ไม่เจริญพละ ๕ไม่เจริญโพชฌงค์ ๗ ไม่เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่กำหนดรู้ทุกข์ ไม่ละสมุทัย ไม่เจริญมรรคไม่ทำให้แจ้ง ซึ่งนิโรธ ธีรชนย่อมติเตียนตน เพราะกระทำและเพราะไม่กระทำอย่างนี้.

     ไม่ทำกรรมที่ตนติเตียนอย่างนี้ คือ ไม่ยังกรรมนั้นให้เกิด ไม่ให้เกิดพร้อม ไม่ให้ บังเกิด ไม่ให้บังเกิดเฉพาะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ตนติเตียนกรรมใด ไม่กระทำกรรมนั้น.

     [๖๔] คำว่า ธีรชนย่อมไม่ติดในทิฏฐารมณ์และสุตารมณ์ มีความว่า ความติด ได้แก่ความติด ๒ อย่าง คือ ความติดด้วยตัณหา ๑ ความติดด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความติดด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความติดด้วยทิฏฐิ คำว่า ธีรชน คือ บุคคลผู้มีปัญญาเป็นเครื่องทรง ผู้ดำเนินด้วยปัญญา (บัณฑิต) ผู้มีปัญญา ผู้มีความรู้ ผู้มีญาณ ผู้มีปัญญาแจ่มแจ้ง ผู้มีปัญญาเป็นเครื่องทำลายกิเลส.

     ธีรชนละความติดด้วยตัณหา สละคืนความติดด้วยทิฏฐิ ย่อมไม่ติด คือไม่ติดพัน ไม่เข้าไปติด เป็นผู้ไม่ติด ไม่ติดพัน ไม่เข้าไปติดแล้ว เป็นผู้ออก สละ พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้องแล้ว ในทิฏฐารมณ์ สุตารมณ์ มุตารมณ์ วิญญาตารมณ์ เป็นผู้มีจิตกระทำ ให้ปราศจากแดนกิเลสอยู่เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าธีรชนย่อมไม่ติดในทิฏฐารมณ์ และสุตารมณ์.

     เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ธีรชนพึงกำจัดความพอใจในที่สุด ทั้งสอง กำหนดรู้ผัสสะแล้ว ไม่ เป็นผู้ตามติดใจ ตนติเตียนกรรมใด ไม่ทำกรรมนั้น ย่อมไม่ติดในทิฏฐารมณ์และสุตารมณ์.

     [๖๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มุนีกำหนดรู้สัญญาแล้ว ไม่เข้าไปติดในความยึดถือ ทั้งหลาย พึงข้ามโอฆะ ได้ เป็นผู้ถอนลูกศรเสียแล้ว ไม่ประมาทประพฤติอยู่ ย่อมไม่หวัง โลกนี้และโลกหน้า.

     [๖๖] คำว่า กำหนดรู้สัญญาแล้ว ... พึงข้ามโอฆะได้ มีความว่าสัญญา ได้แก่ กามสัญญา พยาปาท สัญญา วิหิงสาสัญญา เนกขัมมสัญญา อัพยาปาทสัญญา อวิหิงสาสัญญารูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธัมมสัญญา สัญญาใดเห็นปานนี้ คือ ความรู้พร้อม ความเป็นคือ อันรู้พร้อม นี้เรียกว่า สัญญา.

     คำว่า กำหนดรู้สัญญาแล้ว มีความว่า กำหนดรู้สัญญาด้วยปริญญา ๓ คือ ญาตปริญญา ตีรณปริญญา ปหานปริญญา.

     ญาตปริญญาเป็นไฉน? มุนีย่อมรู้สัญญา คือ ย่อมรู้ ย่อมเห็นว่า นี้กามสัญญานี้ พยาปาทสัญญา นี้วิหิงสาสัญญา นี้เนกขัมมสัญญา นี้อัพยาปาทสัญญา นี้อวิหิงสาสัญญานี้ รูปสัญญา นี้สัททสัญญา นี้คันธสัญญา นี้รสสัญญา นี้โผฏฐัพพสัญญา นี้ธัมมสัญญานี้เรียกว่า ญาตปริญญา.

     ตีรณปริญญาเป็นไฉน? มุนีทำความรู้อย่างนี้แล้ว ย่อมพิจารณาสัญญา โดยความ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นของลำบาก เป็นอาพาธ เป็นของอื่น (เป็นของไม่มีอำนาจ) เป็นของชำรุด เป็นเสนียด เป็นอุบาทว์ เป็นภัย เป็นอุปสรรค เป็นของหวั่นไหว เป็นของแตกพัง ฯลฯ เป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ เป็นของดับไป เป็นของชวนให้แช่มชื่น เป็นอาทีนพ เป็นนิสสรณะ นี้เรียกว่า ตีรณปริญญา.

     ปหานปริญญาเป็นไฉน? มุนีพิจารณาอย่างนี้แล้ว ย่อมละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ใน ภายหลัง ซึ่งฉันทราคะ ในสัญญา. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันทราคะ ในสัญญาใด ท่านทั้งหลายจงละฉันทราคะนั้นเสีย ฉันทราคะนั้น จักเป็นของอันท่าน ทั้งหลายละแล้ว มีมูลรากอันตัดขาดแล้ว ทำให้ไม่มี ที่ตั้ง ดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี ในภายหลัง มีความไม่เกิดขึ้น ในอนาคต เป็นธรรมดา ด้วยประการอย่างนี้. นี้เรียกว่า ปหานปริญญา.

     คำว่า กำหนดรู้สัญญาแล้ว คือ กำหนดรู้สัญญาด้วยปริญญา ๓ นี้.

     คำว่า พึงข้ามโอฆะได้ คือพึงข้าม ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ล่วงเลย ก้าวล่วงกามโอฆะ ภวโอฆะ ทิฏฐิโอฆะ อวิชชาโอฆะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กำหนดรู้สัญญาแล้ว พึงข้ามโอฆะได้.

     [๖๗] คำว่า มุนีไม่เข้าไปติดในความยึดถือทั้งหลาย มีความว่า ความยึดถือ ได้แก่ความยึดถือ ๒ อย่าง คือ ความยึดถือด้วยตัณหา ๑ ความยึดถือด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้เรียกว่าความยึดถือด้วยตัณหา ฯลฯ นี้เรียกว่าความยึดถือด้วยทิฏฐิ.

     คำว่า มุนี มีความว่า ญาณเรียกว่าโมนะ ได้แก่ปัญญา ความรู้ทั่ว ฯลฯ ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม ความเห็นชอบ บุคคลประกอบด้วย ญาณนั้น ชื่อว่ามุนี คือ ผู้ถึงญาณที่ชื่อว่า โมนะ.

     โมเนยยะ (ธรรมที่ทำให้เป็นมุนี) มี ๓ อย่าง คือ โมเนยยธรรมทางกาย ๑ โมเนยยธรรมทางวาจา ๑ โมเนยยธรรมทางใจ ๑.

     โมเนยยธรรมทางกายเป็นไฉน? การละกายทุจริต ๓ อย่าง ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย. กายสุจริต ๓ อย่าง ญาณมีกายเป็นอารมณ์ กายปริญญา มรรคอันสหรคตด้วยปริญญา การละฉันทราคะในกาย ความดับแห่งกายสังขาร ความบรรลุจตุตถฌาน ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย.นี้ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย.

     โมเนยยธรรมทางวาจาเป็นไฉน? การละวจีทุจริต ๔ อย่าง ชื่อว่าโมเนยยธรรม ทางวาจา. วจีสุจริต ๔ อย่าง ญาณมีวาจาเป็นอารมณ์ วาจาปริญญา มรรคอันสหรคด้วย ปริญญา การละฉันทราคะในวาจา ความดับแห่งวจีสังขาร ความบรรลุทุติยฌาน ชื่อว่า โมเนยยธรรมทางวาจา.นี้ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา.

    โมเนยยธรรมทางใจเป็นไฉน? การละมโนทุจริต ๓ อย่าง ชื่อว่าโมเนยยธรรม ทางใจ. มโนสุจริต ๓ อย่าง ญาณมีจิตเป็นอารมณ์ จิตตปริญญา มรรคอันสหรคตด้วย ปริญญา การละฉันทราคะในจิต ความดับแห่งจิตสังขาร การบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ. นี้ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ.

    สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าบัณฑิตทั้งหลาย ได้กล่าวบุคคลผู้เป็นมุนี ทางกาย เป็นมุนีทางวาจา เป็นมุนีทางใจ หาอาสวะมิได้ว่า เป็นมุนี ผู้ถึงพร้อมด้วยธรรม ที่ทำให้เป็นมุนี เป็นผู้ละกิเลสทั้งปวง.

     บัณฑิตทั้งหลายได้กล่าวบุคคลผู้เป็นมุนีทางกาย เป็นมุนีทางวาจา เป็นมุนีทางใจ หาอาสวะมิได้ว่า เป็นมุนี ผู้ถึงพร้อมด้วยธรรมที่ทำให้เป็นมุนี ผู้มีบาปอันล้าง เสียแล้ว.

     ชนผู้ประกอบด้วยธรรมที่ทำให้เป็นมุนี ๓ อย่างนี้ ชื่อว่ามุนี มุนีมี ๖ จำพวก คืออาคารมุนี อนาคารมุนี เสขมุนี อเสขมุนี ปัจเจกมุนี มุนิมุนี.

     อาคารมุนีเป็นไฉน? ชนเหล่าใด เป็นผู้ครองเรือน มีบทคือนิพพานอันเห็นแล้ว มีศาสนาอันรู้แจ้งแล้ว ชนเหล่านี้ ชื่อว่าอาคารมุนี.

     อนาคารมุนีเป็นไฉน? ชนเหล่าใดออกบวช มีบทคือนิพพานอันเห็นแล้ว มีศาสนา อันรู้แจ้งแล้ว ชนเหล่านี้ ชื่อว่าอนาคารมุนี.
     พระเสขะ ๗ จำพวก ชื่อว่าเสขมุนี.
     พระอรหันต์ทั้งหลายชื่อว่าอเสขมุนี.
     พระปัจเจกพุทธะทั้งหลาย ชื่อว่าปัจเจกมุนี.
     พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ชื่อว่ามุนิมุนี.

     สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลไม่เป็นมุนีด้วยความเป็นผู้นิ่ง แต่เป็นผู้เปล่า ไม่ใช่ผู้รู้ส่วน บุคคลใด เป็นบัณฑิต ถือธรรมอันประเสริฐ ละเว้นบาปทั้งหลาย เหมือนคนที่ถือเครื่องชั่งตั้งอยู่ ฉะนั้น บุคคลนั้น ชื่อว่าเป็นมุนี เรียกว่าเป็นมุนี โดยเหตุนั้น และบุคคลใด ย่อมรู้โลกทั้ง ๒ บุคคลนั้นเรียกว่าเป็นมุนี โดยเหตุนั้น.

     บุคคลใดรู้ธรรมของอสัตบุรุษ และธรรมของสัตบุรุษ ในโลกทั้งปวง ทั้งภายใน ภายนอก ก้าวล่วง ธรรมเป็นเครื่องข้องและตัณหาเพียงดังว่าข่าย ดำรงอยู่ เป็นผู้อัน เทวดา และมนุษย์บูชา บุคคลนั้นชื่อว่ามุนี.

     คำว่า ความติด ได้แก่ ความติด ๒ อย่าง คือ ความติดด้วยตัณหา ๑ ความติด ด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่า ความติดด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความติดด้วยทิฏฐิ.

     มุนีละความติดด้วยตัณหา สละคืนความติดด้วยทิฏฐิ ย่อมไม่ติด คือไม่ติดพัน ไม่เข้าไปติด เป็นผู้ไม่ติด ไม่ติดพัน ไม่เข้าไปติดแล้ว เป็นผู้ออก สละเสีย พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้องแล้ว ในความยึดถือทั้งหลาย เป็นผู้มีจิตกระทำให้ปราศจากแดนกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มุนีไม่เข้าไปติดในความยึดถือทั้งหลาย.

     [๖๘] คำว่า เป็นผู้ถอนลูกศรเสียแล้ว ไม่ประมาท ประพฤติอยู่ มีความว่า ลูกศร ได้แก่ลูกศร ๗ อย่าง คือ ลูกศรคือราคะ ลูกศรคือโทสะ ลูกศรคือโมหะ ลูกศรคือ มานะ ลูกศรคือทิฏฐิ ลูกศรคือความโศก ลูกศรคือ ความสงสัย.

     ลูกศรเหล่านี้ อันผู้ใดละได้แล้วตัดขาดแล้ว สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้ไม่ควรเกิดขึ้น เผาแล้วด้วยไฟ คือญาณ ผู้นั้นเรียกว่า เป็นผู้ถอนลูกศรเสียแล้ว คือ ถอน ชัก ดึง ฉุด กระชาก สละ สำรอก ปล่อยละ สละคืน ลูกศรเสียแล้ว เป็นผู้หมดความอยาก ดับ เย็นแล้ว เสวยสุข มีตนดุจพรหมอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้ถอนลูกศรเสียแล้ว.

     คำว่า ประพฤติอยู่ คือ ประพฤติอยู่เที่ยวอยู่ เป็นไป หมุนไป รักษา ดำเนินไป ให้อัตภาพดำเนินไป. คำว่า เป็นผู้ไม่ประมาทคือ เป็นผู้ทำด้วยความเอื้อเฟื้อ ทำติดต่อ ทำไม่หยุด มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ปลงฉันทะ ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย.

     ความไม่ประมาท คือ ความพอใจ ความพยายามความอุตส่าห์ ความเป็นผู้ขยัน ความเป็นผู้ไม่ถอยกลับ ความเป็นผู้มีสติ มีสัมปชัญญะ ความเพียรเป็นเครื่อง ให้กิเลส เร่าร้อน ความเพียรอันสูงสุด ความตั้งใจ ความประกอบเนืองๆความไม่ประมาท ในกุศลธรรมนั้นว่า เราพึงยังศีลขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือพึง อนุเคราะห์ศีลขันธ์ ที่บริบูรณ์ในที่นั้นๆ ด้วยปัญญา โดยอุบายอย่างไร ดังนี้.

     ความไม่ประมาทคือ ความพอใจ ฯลฯ ในกุศลธรรมนั้นว่า เราพึงให้สมาธิขันธ์ ที่ยังไม่บริบูรณ์ ให้บริบูรณ์ หรือเราพึงอนุเคราะห์สมาธิขันธ์ที่บริบูรณ์ในที่นั้นๆ ด้วยปัญญา โดยอุบายอย่างไร ดังนี้.

     ความไม่ประมาท คือ ความพอใจ ฯลฯ ในกุศลธรรมนั้นว่า เราพึงให้ปัญญาขันธ์ ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือพึงอนุเคราะห์ปัญญาขันธ์ที่บริบูรณ์ในที่นั้นๆ ด้วยปัญญา โดยอุบายอย่างไร ดังนี้.

     ความไม่ประมาท คือ ความพอใจ ฯลฯ ในกุศลธรรมนั้นว่า เราพึงให้วิมุติขันธ์ ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือพึงอนุเคราะห์วิมุติขันธ์ที่บริบูรณ์ในที่นั้นๆ ด้วยปัญญา โดยอุบายอย่างไร ดังนี้.ความไม่ประมาท คือ ความพอใจ ฯลฯ ในกุศลธรรมนั้นว่า เราพึงให้วิมุติญาณทัสนขันธ์ที่ยัง ไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือพึงอนุเคราะห์ วิมุติญาณทัสนขันธ์ ที่บริบูรณ์ในที่นั้นๆ ด้วยปัญญาโดยอุบายอย่างไร ดังนี้.

     ความไม่ประมาท คือ ความไม่พอใจ  ความพยายาม ความอุตส่าห์ ความเป็นผู้ขยัน ความเป็นผู้ไม่ถอยกลับ ความเป็นผู้มีสติ มีสัมปชัญญะ ความเพียรเป็นเครื่องให้ กิเลส เร่าร้อน ความเพียรอันสูงสุด ความตั้งใจ ความประกอบเนืองๆ ความไม่ประมาท ในกุศลธรรมนั้นว่า เราพึงกำหนดรู้ทุกข์ที่ยังไม่กำหนดรู้ พึงละกิเลสทั้งหลาย ที่ยังละไม่ได้ พึงเจริญมรรค ที่ยังไม่เจริญ หรือพึงทำให้แจ้งซึ่งนิโรธ ที่ยังไม่ทำให้แจ้งแล้ว โดยอุบายอย่างไร ดังนี้เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้ถอนลูกศรเสียแล้ว เป็นผู้ไม่ประมาทประพฤติอยู่.

     [๖๙] คำว่า ย่อมไม่หวังโลกนี้และโลกหน้า มีความว่า
ย่อมไม่หวังโลกนี้ คืออัตภาพของตน ไม่หวังโลกหน้า คือ อัตภาพในปรโลก.
ไม่หวังโลกนี้ คือ รูป เวทนาสัญญา สังขาร และวิญญาณของตน
ไม่หวังโลกหน้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณของผู้อื่น.
ไม่หวังโลกนี้ คือ อายตนะภายใน ๖ ไม่หวังโลกหน้า คือ อายตนะภายนอก ๖.
ไม่หวังโลกนี้ คือ มนุษยโลก ไม่หวังโลกหน้า คือ เทวโลก
ไม่หวังโลกนี้คือ กามธาตุ ไม่หวังโลกหน้า คือ รูปธาตุ อรูปธาตุ.
ไม่หวังโลกนี้ คือ กามธาตุ รูปธาตุไม่หวังโลกหน้าคืออรูปธาตุ.
ไม่หวัง ไม่อยากได้ ไม่ยินดี ไม่ปรารถนา ไม่รักใคร่ ไม่พอใจซึ่งคติ อุปบัติ ปฏิสนธิ ภพ สงสาร หรือวัฏฏะต่อไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ย่อมไม่หวังโลกนี้และโลกหน้า.

เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า มุนีกำหนดรู้สัญญาแล้ว ไม่เข้าไปติด ในความ ยึดถือทั้งหลาย พึงข้ามโอฆะได้ เป็นผู้ถอนลูกศรเสียแล้ว ไม่ประมาท ประพฤติอยู่ ย่อมไม่  หวังโลกนี้ และโลกหน้า ดังนี้.

จบ คุหัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๒.
--------------------------------------------------------------------------------

ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๓

(4)
ว่าด้วยเดียรถีย์กับมุนี

[๗๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เดียรถีย์บางพวกมีใจชั่ว ย่อมติเตียนโดยแท้ แม้ชนเหล่าอื่น เข้าใจว่า จริง ก็ติเตียนตาม แต่มุนีย่อมไม่เข้าถึงวาทะติเตียนที่เกิดแล้ว เพราะเหตุนั้น กิเลสเครื่องตรึงจิต จึงมิได้มีแก่มุนีในที่ไหนๆ.

      [๗๑] คำว่า เดียรถีย์บางพวกมีใจชั่ว ย่อมติเตียนโดยแท้ มีความว่า เดียรถีย์เหล่านั้น มีหัวใจชั่ว คือ มีใจอันโทษประทุษร้าย มีใจผิด มีใจผิดเฉพาะ มีใจอันโทสะ มากระทบ มีใจอันโทสะมากระทบเฉพาะ มีใจอาฆาต มีใจอาฆาต เฉพาะแล้ว ย่อมติเตียน คือ เข้าไปติเตียนพระผู้มีพระภาค และภิกษุสงฆ์ ด้วยคำไม่จริง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เดียรถีย์ บางพวก มีใจชั่วย่อมติเตียนโดยแท้.

     [๗๒] คำว่า แม้ชนเหล่าอื่นเข้าใจว่าจริง ก็ติเตียนตาม มีความว่า ชนเหล่าใดเชื่อถือ กำหนดอยู่ น้อมใจเชื่อต่อเดียรถีย์เหล่านั้น เข้าใจว่าจริง มีความสำคัญว่าจริง เข้าใจว่าแท้ มีความสำคัญว่าแท้ เข้าใจว่าแน่ มีความสำคัญว่าแน่ เข้าใจว่าเป็นจริง มีความสำคัญว่าเป็นจริง เข้าใจว่าไม่วิปริต มีความสำคัญว่าไม่วิปริต ชนเหล่านั้นก็ติเตียน คือเข้าไปติเตียน พระผู้มีพระภาค และภิกษุสงฆ์ด้วยคำไม่จริง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า แม้ชนเหล่าอื่นเข้าใจว่าจริง ก็ติเตียนตาม.

     [๗๓] คำว่า แต่มุนีย่อมไม่เข้าถึงวาทะติเตียนที่เกิดแล้ว มีความว่า วาทะนั้น เป็นวาทะ เกิดแล้ว เป็นวาทะ เกิดพร้อม เกิดแล้ว เกิดเฉพาะแล้ว ปรากฏแล้ว คือเสียงประกาศแต่บุคคลอื่น คำด่า คำเข้าไปติเตียน พระผู้มีพระภาค และภิกษุสงฆ์ ด้วยคำอันไม่จริง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า วาทะติเตียนที่เกิดแล้ว.

     คำว่า มุนี ในคำว่า มุนีย่อมไม่เข้าถึงมีความว่า ญาณเรียกว่าโมนะ ได้แก่ ปัญญา ความรู้ทั่ว ฯลฯ ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม ความเห็นชอบ บุคคล ประกอบด้วย ญาณนั้น ชื่อว่ามุนี คือผู้ถึงญาณที่ชื่อว่าโมนะ ฯลฯบุคคลใดรู้ธรรมของอสัตบุรุษ และ ธรรมของสัตบุรุษในโลกทั้งปวง ทั้งภายในภายนอก ก้าวล่วงธรรมเป็นเครื่องข้อง และ ตัณหา เพียงดังว่าข่าย ดำรงอยู่ เป็นผู้อันเทวดา และมนุษย์บูชาแล้วบุคคลนั้นชื่อว่ามุนี.

     บุคคลใดจะเข้าถึงวาทะติเตียน บุคคลนั้น ย่อมเข้าถึงวาทะติเตียนด้วยเหตุ๒ ประการ คือ เป็นผู้กระทำ ย่อมเข้าถึงวาทะ ติเตียนด้วยความเป็นผู้กระทำ (ผู้กล่าวหา) ๑ เป็นผู้ถูกเขาว่า เขาติเตียน ย่อมโกรธ ขัดเคือง โต้ตอบ ทำความโกรธ ความเคือง ความชังให้ปรากฏว่า เราไม่เป็นผู้กระทำ ๑.

     บุคคลใดจะเข้าถึงวาทะติเตียน บุคคลนั้นย่อมเข้าถึงวาทะติเตียนด้วยเหตุ ๒ ประการนี้.

     มุนีไม่เข้าถึงวาทะติเตียนด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ เป็นผู้ไม่ กระทำ ย่อมไม่เข้าถึง วาทะติเตียนด้วยความเป็นผู้ไม่กระทำ ๑ เป็นผู้ถูกเขาว่า เขาติเตียน ย่อมไม่โกรธ ไม่เคือง ไม่ได้ตอบ ไม่ทำความโกรธ ความเคือง ความชังให้ปรากฏว่า เราไม่เป็นผู้ กระทำ ๑.

     มุนีย่อมไม่เข้าถึง ไม่เข้าไปถึง ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นวาทะติเตียนด้วยเหตุ ๒ประการนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า แต่มุนีย่อมไม่เข้าถึงวาทะติเตียนที่เกิดแล้ว.

(5)
ว่าด้วยกิเลสเครื่องตรึงจิต ๓

     [๗๔] คำว่า เพราะเหตุนั้น กิเลสเครื่องตรึงจิตจึงมิได้มีแก่มุนีในที่ไหนๆ มีความว่า คำว่า เพราะเหตุนั้น คือ เพราะเหตุนั้น เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัย นั้น เพราะนิทานนั้น ความเป็นผู้มีจิตอันโทสะมา กระทบก็ดี ความเป็นผู้มี กิเลส เครื่อง ตรึงจิตเกิดขึ้นก็ดี ย่อมไม่มีแก่มุนี.

     กิเลสเครื่องตรึงจิต ๕ อย่างก็ดี กิเลสเครื่องตรึงจิต ๓ อย่างคือ ราคะ โทสะ โมหะ ก็ดี ย่อมไม่มี คือย่อมไม่มี ไม่ปรากฏ ไม่เข้าไปได้คือ กิเลสนั้นๆ เป็นกิเลสอันมุนีละ เสียแล้ว ตัดขาดแล้ว สงบแล้ว ระงับแล้ว ทำให้ไม่ควรเกิดขึ้นได้ เผาเสียแล้วด้วยไฟ คือญาณ.

     คำว่า ในที่ไหนๆ คือในที่ไหนๆ ในที่ใดที่หนึ่งทุกๆ แห่งในภายใน ในภายนอก หรือทั้งภายในทั้ง ภายนอก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เพราะฉะนั้น กิเลสเครื่องตรึงจิต จึงมิได้มีแก่มุนีในที่ไหนๆ.

     เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่าเดียรถีย์บางพวกมีใจชั่ว ย่อมติเตียน โดยแท้ แม้ชนเหล่าอื่น เข้าใจว่าจริง ก็ติเตียนตาม แต่มุนีย่อม ไม่เข้าถึง วาทะติเตียน ที่เกิดแล้ว เพราะเหตุนั้น กิเลสเครื่องตรึงจิต จึงมิได้มีแก่มุนีในที่ไหนๆ.

     [๗๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลผู้ไปตามความพอใจ ตั้งมั่นแล้วในความ ชอบใจ พึงล่วงทิฏฐิของตน ได้อย่างไรเล่า แต่บุคคลเมื่อกระทำให้เต็มด้วยตนเอง รู้อย่างใด ก็พึงกล่าวอย่างนั้น.

(6)
ว่าด้วยทิฏฐิ

     [๗๖] คำว่า พึงล่วงทิฏฐิของตนได้อย่างไรเล่า มีความว่า เดียรถีย์เหล่าใด มีทิฏฐิอย่างนี้ มีความพอใจ ความชอบใจ ลัทธิ อัธยาศัย ความประสงค์อย่างนี้ว่า พวกเรา ฆ่า นางปริพาชิกา ชื่อสุนทรีเสียแล้ว ประกาศโทษของพวก สมณศากยบุตรแล้ว จักนำคืนมา ซึ่งลาภยศสักการะสัมมานะนั้นโดยอุบายอย่างนี้ เดียรถีย์เหล่านั้น ไม่อาจล่วงทิฏฐิ ความพอใจ ความชอบใจ ลัทธิ อัธยาศัย ความประสงค์ของตนได้.

     โดยที่แท้ ความเสื่อมยศนั่นแหละ ก็กลับย้อนมาถึงพวกเดียรถีย์นั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลพึง ล่วงทิฏฐิของตนได้อย่างไรเล่า แม้ด้วยประการอย่างนี้. อีกอย่างหนึ่ง ผู้ใดมีวาทะอย่างนี้ว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่าบุคคลนั้น พึงล่วง ก้าวล่วง ก้าวล่วงด้วยดี ล่วงเลยทิฏฐิ ความพอใจ ความชอบใจ ลัทธิอัธยาศัย ความประสงค์ของตนได้อย่างไร.

     ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุอะไร.

     เพราะเหตุว่า ทิฏฐินั้นอันบุคคลนั้นสมาทาน ถือเอา ยึดถือ ถือมั่น ติดใจ น้อมใจ ให้บริบูรณ์อย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าบุคคลพึง ล่วงทิฏฐิของตนได้อย่างไรเล่า แม้ด้วยประการ อย่างนี้.

     บุคคลใดมีวาทะอย่างนี้ว่าโลกไม่เที่ยง ... โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีพก็อันนั้นสรีระก็อันนั้น ... ชีพเป็นอื่นสรีระก็เป็นอื่น ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีก ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมไม่เป็นอีกสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มี ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็หามิได้ย่อม ไม่เป็นอีก ก็หามิได้ สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า บุคคลนั้นพึงล่วง ก้าวล่วงก้าวล่วง ด้วยดี ล่วงเลยทิฏฐิ ความพอใจ ความชอบใจ ลัทธิ อัธยาศัย ความประสงค์ของตนได้อย่างไร.

     ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุอะไร.

     เพราะเหตุว่า ทิฏฐินั้นอันบุคคลนั้นสมาทาน ถือเอายึดถือ ถือมั่น ติดใจ น้อมใจ ให้บริบูรณ์อย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลพึงล่วงทิฏฐิของตนได้อย่างไรเล่า แม้ด้วยประการ อย่างนี้.

      [๗๗] คำว่า บุคคลผู้ไปตามความพอใจ ตั้งมั่นแล้วในความชอบใจ มีความว่า ผู้ไปตามความพอใจ คือบุคคลนั้น ย่อมไป ออกไป ลอยไป เคลื่อนไป ตามทิฏฐิ ความพอใจความชอบใจ ลัทธิของตน เหมือนบุคคล ย่อมไป ออกไป เลื่อนไป เคลื่อนไป ด้วยยานช้างยานรถ ยานม้า ยานโค ยานแพะ ยานแกะ ยานอูฐ ยานลา ฉะนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าผู้ไปตามความพอใจ.
     คำว่า น้อมใจไป ในทิฏฐิ ความพอใจ ความชอบใจ ลัทธิของตน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลผู้ไปตาม ความ พอใจ ตั้งมั่นแล้วในความชอบใจ.

     [๗๘] คำว่า บุคคลเมื่อกระทำให้เต็มด้วยตนเอง มีความว่า บุคคลกระทำให้เต็ม ให้บริบูรณ์ ไม่บกพร่อง ให้เลิศ ประเสริฐ วิเศษ เป็นประธาน อุดม บวร คือยังทิฏฐินั้น ให้เกิด ให้เกิดพร้อม ให้บังเกิด ให้บังเกิดเฉพาะ ด้วยตนเองว่า  พระศาสดานี้เป็น พระสัพพัญญูพระธรรมนี้ อันพระศาสดาตรัสดีแล้ว คณะสงฆ์นี้ปฏิบัติดีแล้ว ทิฏฐินี้เจริญ ปฏิปทานี้อันพระศาสดาทรงบัญญัติดีแล้ว มรรคนี้เป็นเครื่องนำออก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลเมื่อกระทำให้เต็มด้วยตนเอง.

     [๗๙] คำว่า รู้อย่างใดก็พึงกล่าวอย่างนั้น มีความว่า บุคคลรู้อย่างใดก็พึงกล่าว บอกพูด แสดง แถลงอย่างนั้น.

     คือรู้อย่างใดว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ก็พึงกล่าวบอก พูด แสดง แถลงอย่างนั้น.

     รู้อย่างใดว่า โลกไม่เที่ยง ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ก็พึงกล่าว บอก พูดแสดง แถลง อย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า รู้อย่างใดก็พึงกล่าวอย่างนั้น.

     เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่าบุคคลผู้ไปตามความพอใจ ตั้งมั่นแล้ว ในความชอบใจ พึงล่วงทิฏฐิ ของตนได้อย่างไรเล่า แต่บุคคลเมื่อกระทำให้เต็ม ด้วยตนเอง รู้อย่างใด ก็พึงกล่าวอย่างนั้น.

     [๘๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ชนใดไม่มีใครถาม ย่อมบอกศีลและวัตรของตน แก่ชน เหล่าอื่น ผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวชนนั้นว่าไม่มีอริยธรรม อนึ่ง ชนใดย่อมบอก ตนเอง ผู้ฉลาดทั้งหลายก็กล่าวชนนั้นว่า ไม่มีอริยธรรม.

     [๘๑] คำว่า ชนใด ... ย่อมบอกศีลและวัตรของตน มีความว่า  คำว่า ใด คือ เช่นใด ประกอบอย่างใด ชนิดอย่างใด มีประการอย่างใดถึงฐานะใด ประกอบด้วย ธรรมใด เป็นกษัตริย์เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร เป็นคฤหัสถ์ เป็นบรรพชิต เป็นเทวดา หรือเป็นมนุษย์.

คำว่า ศีลและวัตร มีความว่า บางแห่งเป็นศีลและเป็นวัตร บางแห่งเป็นวัตร แต่ไม่เป็นศีล.

(7)
ว่าด้วยศีลและวัตร

      เป็นศีลและเป็นวัตรเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยความ สำรวม ในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่ เป็นผู้เห็นภัยในโทษทั้งหลาย มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ใน สิกขาบท ทั้งหลาย ความสำรวม ความระวัง ความไม่ก้าวล่วง ในสิกขาบททั้งหลายนั้น นี้เป็นศีล. ความสมาทานชื่อว่าเป็นวัตร. เพราะอรรถว่าสำรวม จึงชื่อว่าศีลเพราะอรรถว่า สมาทานจึงชื่อว่าวัตร นี้เรียกว่าเป็นศีลและเป็นวัตร.

     เป็นวัตรแต่ไม่เป็นศีลเป็นไฉน? ธุดงค์ (องค์ของภิกษุผู้กำจัดกิเลส) ๘ คือ อารัญญิกังคธุดงค์ ปิณฑปาติกังคธุดงค์ ปังสุกูลิกังคธุดงค์ เตจีวริกังคธุดงค์ สปทาน จาริกังคธุดงค์ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ เนสัชชิกังคธุดงค์ ยถาสันถติกังคธุดงค์ นี้เรียกว่า เป็นวัตรแต่ไม่เป็นศีล.

     แม้การสมาทานความเพียร ก็เรียกว่าเป็นวัตรแต่ไม่เป็นศีล กล่าวคือ พระมหาสัตว์ ทรงประคองตั้งพระทัยว่า จงเหลืออยู่แต่หนังเอ็นและกระดูกก็ตามที เนื้อและเลือด ในสรีระจงเหือดแห้งไปเถิดอิฐผลใด อันจะพึงบรรลุด้วยเรี่ยวแรง ของบุรุษ ด้วยกำลังของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษ การไม่บรรลุผลนั้นแล้ว หยุดความเพียรจักไม่มี ดังนี้ แม้การสมาทานความเพียร เห็นปานนี้ ก็เรียกว่าเป็นวัตร แต่ไม่เป็นศีล.

     พระมหาสัตว์ทรงประคองตั้งพระทัยว่า จิตของเราจักยังไม่หลุดพ้นจาก อาสวะ ทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น เพียงใด เราจักไม่ทำลายบัลลังก์ (ความนั่งเนื่องด้วยขาที่คู้ เข้าโดยรอบ) นี้เพียงนั้น แม้การสมาทาน ความเพียร เห็นปานนี้ ก็เรียกว่าเป็นวัตรแต่ไม่เป็นศีล.

     ภิกษุประคองตั้งจิตว่า เมื่อลูกศรคือตัณหาอันเรายังถอนไม่ได้แล้ว เราจักไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่ออก จากวิหาร ทั้งจักไม่เอนข้าง ดังนี้ แม้การสมาทานความเพียรเห็นปานนี้ ก็เรียกว่าเป็นวัตรแต่ไม่เป็นศีล.

     ภิกษุประคองตั้งจิตว่า จิตของเราจัก ยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น เพียงใด เราจักไม่ลุกขึ้นจากอาสนะนี้เพียงนั้น ... จักไม่ลงจากที่จงกรม ... จักไม่ออกจากวิหาร ... จักไม่ออกจากเรือน มีหลังคาแถบเดียว ... จักไม่ออกจากปราสาท ... จักไม่ออกจากเรือนโล้น ... จักไม่ออกจากถ้ำ ...จักไม่ออกจากถ้ำภูเขา ... จักไม่ออกจากกุฏิ ... จักไม่ออกจากเรือนยอด ... จักไม่ออกจากป้อม ...จักไม่ออกจากโรงกลม ... จักไม่ออกจากเรือนที่มีเครื่องกั้น ... จักไม่ออกจากศาลาที่บำรุง ...จักไม่ออกจากมณฑป ... จักไม่ออกจากโคนต้นไม้ เพียงนั้น ดังนี้ แม้การสมาทานความเพียรเห็นปานนี้ ก็เรียกว่า เป็นวัตรแต่ไม่เป็นศีล.

     ภิกษุประคองตั้งจิตว่า ในเช้าวันนี้แหละ เราจักนำมานำมาด้วยดี บรรลุ ถูกต้อง ทำให้แจ้ง ซึ่งอริยธรรม ดังนี้ แม้การสมาทานความเพียรเห็นปานนี้ ก็เรียกว่าเป็นวัตร แต่ไม่เป็นศีล.

     ภิกษุประคองตั้งจิตว่า ในเที่ยงวันนี้แหละ ... ในเย็นนี้แหละ ... ในกาลก่อนภัตนี้แหละ ... ในกาลภายหลังภัตนี้แหละ ... ในยามต้นนี้แหละ ... ในยามกลางนี้แหละ ... ในยามหลังนี้แหละ ... ในข้างแรมนี้แหละ ... ในข้างขึ้นนี้แหละ ... ในฤดูฝนนี้แหละ ... ในฤดูหนาวนี้แหละ ... ในฤดูร้อนนี้แหละ ... ในตอนวัยต้นนี้แหละ ... ในตอนวัยกลางนี้แหละ ... ในตอนวัยหลังนี้แหละ
เราจักนำมา นำมาด้วยดี บรรลุ ถูกต้อง ทำให้แจ้ง ซึ่งอริยธรรม ดังนี้ แม้การสมาทาน ความเพียรเห็นปานนี้ ก็เรียกว่าเป็นวัตรแต่ไม่เป็นศีล.

     คำว่า ชน คือ สัตว์ นระ มาณพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด ผู้มีกรรม มนุษย์เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ชนใด ... ย่อมบอกศีลและวัตรของตน.

     [๘๒] คำว่า  ไม่มีใครถาม ย่อมบอก ... แก่ชนเหล่าอื่น มีความว่า ชนเหล่าอื่น คือกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา มนุษย์.

     คำว่าไม่มีใครถาม คืออันใครๆ ไม่ถาม ไม่ไต่ถาม ไม่ขอร้อง ไม่เชิญ ไม่เชื้อเชิญ.
     คำว่า ย่อมบอก คือ ย่อม อวดอ้างศีลบ้าง วัตรบ้าง ศีลและวัตรบ้างของตน.

     (อธิบายว่า) ย่อมอวดอ้าง บอก พูดแสดง แถลงว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลบ้าง ถึงพร้อมด้วยวัตรบ้าง ถึงพร้อมด้วยศีลและวัตรบ้าง ถึงพร้อมด้วยชาติบ้าง ถึงพร้อมด้วยโคตรบ้าง ถึงพร้อมด้วยความเป็นบุตรแห่งสกุลบ้าง ถึงพร้อมด้วยความเป็นผู้มีรูปร่างงามบ้าง ถึงพร้อมด้วยทรัพย์บ้าง ถึงพร้อมด้วยการเชื้อเชิญบ้าง ถึงพร้อมด้วยหน้าที่การงานบ้าง ถึงพร้อมด้วยหลักแหล่งศิลปศาสตร์บ้าง ถึงพร้อมด้วยวิทยฐานะบ้าง ถึงพร้อมด้วยการศึกษาบ้าง ถึงพร้อมด้วยปฏิภาณบ้าง ถึงพร้อมด้วยวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง

     ออกบวชจากสกุลสูงบ้าง ออกบวชจากสกุลใหญ่บ้าง ออกบวชจากสกุลมีโภคสมบัติมากบ้าง ออกบวชจากสกุลมีโภคสมบัติใหญ่บ้าง เป็นผู้มีชื่อเสียงมียศกว่าพวกคฤหัสถ์ และบรรพชิตบ้าง เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขารบ้าง เป็นผู้ทรงจำพระสูตรบ้าง เป็นผู้ทรงพระวินัยบ้าง เป็นธรรมกถึกบ้าง เป็นผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือทรงผ้าบังสุกุล เป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือทรงไตรจีวรเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอกเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือไม่ฉันภัตหนหลังเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือการนั่งเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถืออยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดให้ อย่างไรเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ได้ปฐมฌานบ้าง เป็นผู้ได้ทุติยฌานบ้าง เป็นผู้ได้ ตติยฌานบ้าง เป็นผู้ได้ จตุตถฌานบ้าง เป็นผู้ได้อากาสานัญจายตนสมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้วิญญาณัญจายตนสมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้อากิญจัญญายตนสมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้เนวสัญญานา สัญญายตน สมาบัติบ้าง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าไม่มีใครถาม ย่อมบอก ... แก่ชนเหล่าอื่น.

     [๘๓] คำว่า ผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวชนนั้นว่า ไม่มีอริยธรรม มีความว่าฉลาดในอายตนะฉลาด ในปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในสติปัฏฐาน ฉลาดในสัมมัปปธาน ฉลาดในอิทธิบาท ฉลาดในอินทรีย์ ฉลาดในพละ ฉลาดในโพชฌงค์ ฉลาดในมรรค ฉลาดในผล ฉลาดในนิพพาน ผู้ฉลาดเหล่านั้นกล่าว บอก พูด แสดง แถลงอย่างนี้ว่า ธรรมนั้นของพวกอนารยชน ธรรมนั้นไม่ใช่ของ พวกอริยชน ธรรมนั้นของพวก คนพาล ธรรมนั้นไม่ใช่ของพวกบัณฑิต ธรรมนั้นของพวกอสัตบุรุษ ธรรมนั้นไม่ใช่ของพวกสัตบุรุษ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวชนนั้นว่าไม่มีอริยธรรม.

      [๘๔] คำว่า ชนใดย่อมบอกตนเอง มีความว่า อัตตาเรียกว่าตน.
คำว่า ย่อมบอกเองคือ ย่อมอวดอ้างซึ่งตนเอง คือ ย่อมอวดอ้าง บอก พูด แสดง แถลงว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ ถึงพร้อมด้วยศีลบ้าง ถึงพร้อมด้วยวัตรบ้าง ถึงพร้อมด้วยศีล และวัตรบ้าง ถึงพร้อมด้วยชาติบ้าง ถึงพร้อมด้วยโคตรบ้าง ถึงพร้อมด้วยความเป็นบุตรแห่งสกุลบ้าง ถึงพร้อมด้วยความเป็นผู้มีรูปงามบ้าง ถึงพร้อมด้วย ทรัพย์บ้าง ถึงพร้อมด้วยการเชื้อเชิญบ้าง ถึงพร้อมด้วย หน้าที่การงานบ้างถึงพร้อมด้วยหลักแหล่ง แห่ง ศิลปศาสตร์บ้าง ถึงพร้อมด้วยวิทยฐานะบ้าง ถึงพร้อมด้วยการศึกษาบ้าง ถึงพร้อมด้วยปฏิภาณบ้าง ถึงพร้อมด้วยวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง ออกบวชจากสกุลสูงบ้างออกบวช จากสกุลใหญ่บ้าง ออกบวชจากสกุลมีโภคสมบัติมากบ้าง ออกบวชจาก สกุลมีโภคสมบัติใหญ่บ้าง เป็นผู้มีชื่อเสียงมียศกว่าพวก คฤหัสถ์และบรรพชิตบ้าง เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารบ้าง เป็นผู้ทรงจำพระสูตรบ้าง เป็นผู้ทรงพระวินัยบ้างเป็นธรรมกถึก บ้าง เป็นผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือทรงไตรจีวรเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอก เป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือไม่ฉันภัตหนหลัง เป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือการนั่งเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถืออยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดให้อย่างไร เป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ได้ปฐมฌานบ้าง เป็นผู้ได้ทุติยฌานบ้างเป็นผู้ได้ตติยฌานบ้าง เป็นผู้ได้จตุตถฌานบ้าง เป็นผู้ได้ อากาสานัญจายตนสมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้วิญญาณัญจายตน สมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้อากิญจัญญายตนสมาบัติ บ้าง เป็นผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติบ้าง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ชนใดย่อมบอกตนเอง.

เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค จึงตรัสว่าชนใดไม่มีใครถาม ย่อมบอกศีล และวัตร ของตนแก่ชนเหล่าอื่น ผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวชนนั้นว่าไม่มีอริยธรรม อนึ่ง ชนใด ย่อมบอกตนเอง ผู้ฉลาดทั้งหลายก็กล่าวชนนั้นว่า ไม่มีอริยธรรม.

     [๘๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่าแต่ว่าภิกษุผู้สงบ ดับกิเลสในตนแล้วไม่อวดในศีล ทั้งหลายว่าเราเป็นดังนี้ ผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวภิกษุนั้นว่ามีอริยธรรม อนึ่ง กิเลสเป็นเหตุ ฟูขึ้นมิได้มีแก่ภิกษุใด ในที่ไหนๆ ในโลก ผู้ฉลาดทั้งหลายก็กล่าวภิกษุนั้นว่ามีอริยธรรม.

(8)
ผู้ได้ชื่อว่าภิกษุ

     [๘๖] คำว่า แต่ว่าภิกษุผู้สงบ ดับกิเลสในตนแล้ว มีความว่า ชื่อว่าผู้สงบ เพราะเป็นผู้สงบ คือระงับ เข้าไประงับ เผา ดับ ปราศจาก ความสงบระงับ ความกำหนัด ความขัดเคือง ความหลง ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความริษยาความตระหนี่ ความลวง ความโอ้อวด ความกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่นความเมา ความประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวาย ทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อภิสังขารคือ อกุศลธรรมทั้งปวง จึงชื่อว่าเป็นผู้สงบ เข้าไปสงบ ดับ สงบระงับแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าผู้สงบ.

     คำว่า ภิกษุ มีความว่า เพราะเป็นผู้ทำลายธรรม ๗ ประการ จึงชื่อว่าภิกษุ คือ ทำลายสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ราคะ โทสะ โมหะ และมานะ.

     ภิกษุนั้นทำลายแล้วซึ่งอกุศลธรรมอันลามก อันเป็นปัจจัยแห่งความมัวหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ เป็นที่ตั้งแห่งชาติชรา และมรณะต่อไป.

     สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดูกรสภิยะ ผู้ใดควรแก่การชมเชยเหล่านี้ว่า ถึงปรินิพพานแล้ว ด้วยธรรม เป็นหนทางอันตนให้เจริญ ข้ามความสงสัยเสียแล้ว ละแล้ว ซึ่งความเสื่อมและความเจริญ อยู่จบแล้วและ เป็นผู้มี ภพใหม่สิ้นแล้ว ผู้นั้นชื่อว่าภิกษุ.

     อนึ่ง ผู้สงบ ชื่อว่าภิกษุ.

     คำว่า ผู้ดับกิเลสในตนแล้ว มีความว่า เพราะเป็นผู้ดับความกำหนัด ความขัดเคือง ความหลง ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ความลวง ความโอ้อวด ความกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ความเมาความประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวาย ทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อภิสังขารคืออกุศลธรรมทั้งปวง จึงชื่อว่า ผู้ดับกิเลสในตน แล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า แต่ว่าภิกษุผู้สงบแล้ว ดับกิเลสในตนแล้ว.

      [๘๗] คำว่า ไม่อวดในศีลทั้งหลายว่าเราเป็นดังนี้ มีความว่า ศัพท์ว่า อิติหํ (เราเป็นดังนี้) นั้น เป็นศัพท์ ต่อบท เกี่ยวข้องแห่งบท บริบูรณ์แห่งบท เป็นที่ประชุม อักษร เป็นความสละสลวยแห่งพยัญชนะ ศัพท์ว่า อิติหํ นั้น เป็นไปตามลำดับบท.

     คำว่าไม่อวดในศีลทั้งหลาย มีความว่า ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เป็นผู้อวด เป็นผู้โอ้อวด คือย่อมอวด ย่อมโอ้อวดว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลบ้าง ถึงพร้อมด้วย วัตรบ้าง ถึงพร้อมด้วยศีลและวัตรบ้าง ถึงพร้อมด้วยชาติบ้าง ถึงพร้อมด้วย โคตรบ้าง ถึงพร้อมด้วยความเป็นบุตรแห่งสกุลบ้าง ถึงพร้อมด้วยความ เป็น ผู้มีรูปงามบ้าง ฯลฯ เป็นผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติบ้าง.

     ภิกษุนี้ย่อมไม่อวด ไม่โอ้อวดอย่างนั้น คือ เป็นผู้งด เว้น เว้นขาด ออก สลัดออก พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้อง ด้วยความอวด เป็นผู้มีจิตกระทำให้ปราศจากแดนกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าไม่อวดในศีลทั้งหลายว่า เราเป็น ดังนี้.

(9)
ว่าด้วยผู้มีอริยธรรม.

     [๘๘] คำว่า ผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวภิกษุนั้นว่ามีอริยธรรม มีความว่า ผู้ฉลาด ได้แก่ผู้ฉลาดเหล่าใด เหล่าหนึ่ง คือ ผู้ฉลาดในขันธ์ ฉลาดในธาตุ ฉลาดในอายตนะ ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในสติปัฏฐาน ฉลาดในสัมมัปปธาน ฉลาดในอิทธิบาท ฉลาดในอินทรีย์ฉลาดในพละ ฉลาดในโพชฌงค์ ฉลาดในมรรค ฉลาดในผล ฉลาดในนิพพาน ผู้ฉลาดเหล่านั้นย่อมกล่าว คือกล่าวบอก พูด แสดง แถลงอย่างนี้ว่า ธรรมนั้นของพวกอารยชน ธรรมนั้นมิใช่ของพวกอนารยชน ธรรมนั้นของบัณฑิต ธรรมนั้นมิใช่ของคนพาล ธรรมนั้นของพวกสัตบุรุษ ธรรมนั้นมิใช่ของพวกอสัตบุรุษ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวภิกษุนั้นว่ามีอริยธรรม.

     [๘๙] คำว่า กิเลสเป็นเหตุฟูขึ้น มิได้มีแก่ภิกษุใด ในที่ไหนๆ ในโลก มีความว่าภิกษุใด คือ พระอรหันต์ผู้มีอาสวะสิ้นไปแล้ว. คำว่า กิเลสเป็นเหตุฟูขึ้น คือ กิเลสเป็นเหตุฟูขึ้น ๗ ประการ คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส และกรรม. กิเลสเป็นเหตุฟูขึ้นเหล่านี้ มิได้มี คือไม่มี ไม่ปรากฏ ไม่เข้าไปได้ คือ เป็นธรรมชาติ อันภิกษุนั้นละ เสียแล้ว ตัดขาด สงบ ระงับ ทำให้ไม่ควรเกิดขึ้นได้ เผาเสียแล้วด้วยไฟ คือญาณ.

     คำว่าไปที่ไหนๆ คือ ในที่ไหนๆ ในที่ใดที่หนึ่ง ทุกๆ แห่ง ในภายใน ในภายนอก หรือทั้งภายใน ทั้งภายนอก.

     คำว่า ในโลก คือในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กิเลสเป็นเหตุฟูขึ้นมิได้มีแก่ภิกษุใด ในที่ไหนๆ ในโลก.

     เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่าแต่ว่าภิกษุผู้สงบ ดับกิเลสในตนแล้ว ไม่อวดในศีลทั้งหลายว่า เราเป็นดังนี้ ผู้ฉลาดทั้งหลาย กล่าวภิกษุนั้น ว่า มีอริยธรรม อนึ่ง กิเลสเป็นเหตุฟูขึ้นมิได้มีแก่ภิกษุใด ในที่ไหนๆ ในโลก ผู้ฉลาดทั้งหลายก็กล่าว ภิกษุนั้นว่ามีอริยธรรม.

(10)
ว่าด้วยทิฏฐิธรรม

     [๙๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่าทิฏฐิธรรมทั้งหลาย ของเจ้าทิฏฐิใด เป็นธรรมที่บุคคล นั้น กำหนดแล้ว ที่ปัจจัยปรุงแต่งกระทำไว้ในเบื้องหน้า ไม่ขาวสะอาด มีอยู่ และ บุคคลนั้น เป็นผู้อาศัยอานิสงส์ที่เห็นอยู่ ในตนและอาศัยสันติที่กำเริบที่อาศัยกัน เกิดขึ้น เขาพึงยกตน หรือข่มผู้อื่น.

     [๙๑] คำว่า ทิฏฐิธรรมทั้งหลาย ของเจ้าทิฏฐิใด เป็นธรรมที่บุคคลนั้น กำหนดแล้ว ที่ปัจจัยปรุงแต่ง มีความว่า คำว่า กำหนด ได้แก่ความกำหนด ๒ อย่าง คือความกำหนด ด้วยตัณหา ๑ ความกำหนดด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความกำหนด ด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความกำหนดด้วยทิฏฐิ.

     คำว่า ที่ปัจจัยปรุงแต่ง คือ อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ปรุงแต่งวิเศษแล้ว ปรุงแต่ง เฉพาะแล้ว ให้ตั้งลงพร้อมแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ที่ปัจจัยปรุงแต่ง อีกอย่างหนึ่ง คำว่าที่ปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่ที่ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว เป็นธรรมอาศัยกัน เกิดขึ้น มีความสิ้นไป มีความเสื่อมไป มีความสำรอก มีความดับ เป็นธรรม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ที่ปัจจัยปรุงแต่ง.

     คำว่า ใด คือ แห่งเจ้าทิฏฐิ ทิฏฐิ ๖๒ ประการ เรียกว่า ทิฏฐิธรรม เพราะฉะนั้นจึง ชื่อว่า ทิฏฐิธรรมทั้งหลาย ของเจ้าทิฏฐิใด เป็นธรรมที่บุคคลนั้นกำหนดแล้ว ที่ปัจจัย ปรุงแต่ง.

     [๙๒] คำว่า กระทำไว้ในเบื้องหน้า ไม่ขาวสะอาด มีอยู่ มีความว่า คำว่า กระทำไว้ ในเบื้องหน้า ได้แก่การกระทำไว้ในเบื้องหน้าสองอย่างคือ การกระทำไว้ ในเบื้องหน้า ด้วยตัณหา ๑ การกระทำไว้ในเบื้องหน้าด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่าการกระทำไว้ใน เบื้องหน้า ด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่า การกระทำไว้ในเบื้องหน้าด้วยทิฏฐิ.

     บุคคลนั้น ไม่ละการกระทำไว้ในเบื้องหน้าด้วยตัณหา ไม่สละคืนการกระทำไว้ ในเบื้องหน้า ด้วยทิฏฐิ เพราะเป็นผู้ไม่ละการกระทำไว้ในเบื้องหน้า ด้วยตัณหา เพราะเป็นผู้ไม่สละคืนการกระทำไว้ในเบื้องหน้า ด้วยทิฏฐิ บุคคลนั้นชื่อว่า เที่ยว ทำตัณหาบ้าง ทิฏฐิบ้าง ไว้ในเบื้องหน้า คือ ชื่อว่าเป็นผู้มีตัณหาเป็นธงชัย มีตัณหา เป็นธงยอด มีตัณหาเป็นใหญ่ มีทิฏฐิเป็นธงชัย มีทิฏฐิเป็นธงยอด มีทิฏฐิเป็นใหญ่ เป็นผู้อันตัณหาบ้าง ทิฏฐิบ้างแวดล้อมเที่ยวไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กระทำไว้ในเบื้องหน้า.

     คำว่า มีอยู่ คือย่อมมี ย่อมปรากฏ ย่อมเข้าไปได้.

     คำว่า ไม่ขาวสะอาด คือไม่ขาวสะอาดไม่ผ่องแผ้ว ไม่บริสุทธิ์ คือเศร้าหมอง มัวหมอง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กระทำไว้ในเบื้องหน้าไม่ขาวสะอาด มีอยู่.

     [๙๓] คำว่า อานิสงส์ที่เห็นอยู่ในตน มีความว่า ศัพท์ว่า ยทตฺตนิ ตัดบทเป็นยํ อตฺตนิ. ทิฏฐิเรียกว่า ตน.
     บุคคลนั้น ย่อมเห็นอานิสงส์ ๒ อย่าง แห่งทิฏฐิของตน คืออานิสงส์มีในชาตินี้ ๑ อานิสงส์มีในชาติหน้า ๑.

     อานิสงส์แห่งทิฏฐิมีในชาตินี้เป็นไฉน? ศาสดาเป็นผู้มีทิฏฐิอย่างใด พวกสาวกเป็นผู้มีทิฏฐิอย่างนั้น พวกสาวกย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ศาสดา ผู้มีทิฏฐิอย่างนั้น และย่อมได้ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร ที่มีศาสดานั้นเป็นเหตุ นี้ชื่อว่า อานิสงส์แห่งทิฏฐิมีในชาตินี้.

     อานิสงส์แห่งทิฏฐิมีในชาติหน้าเป็นไฉน? บุคคลนั้นย่อมหวังผลในอนาคตว่า ทิฏฐินี้ควรเพื่อความเป็น นาค เป็นครุฑ เป็นยักษ์ เป็นอสูร เป็นคนธรรพ์ เป็นมหาราช เป็นพระอินทร์ เป็นพรหม หรือเป็นเทวดา ทิฏฐินี้ ควรเพื่อความหมดจด หมดจดวิเศษ บริสุทธิ์หลุดไป พ้นไป หลุดพ้นไป ด้วยทิฏฐินี้ สัตว์ทั้งหลาย ย่อมหมดจด หมดจดวิเศษ บริสุทธิ์หลุดไป พ้นไป หลุดพ้นไป ด้วยทิฏฐินี้ เราจักหมดจด หมดจดวิเศษ บริสุทธิ์ หลุดไปพ้นไป หลุดพ้นไป ด้วยทิฏฐินี้ดังนี้ นี้ชื่อว่า อานิสงส์แห่งทิฏฐิมีในชาติหน้า.

     บุคคลนั้นย่อมเห็น แลเห็น เหลียวเห็น เล็งเห็น พิจารณาเห็น ซึ่งอานิสงส์ แห่ง ทิฏฐิของตน ๒ ประการนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อานิสงส์ ที่เห็นอยู่ในตน.

(11)
ว่าด้วยสันติ ๓

     [๙๔] คำว่า บุคคลนั้นเป็นผู้อาศัยอานิสงส์และอาศัยสันติ ที่กำเริบ ที่อาศัยกัน เกิดขึ้น มีความว่า สันติมี ๓ ประการ คือ สันติโดยส่วนเดียว ๑ สันติโดยองค์นั้นๆ ๑ สันติโดยสมมติ ๑.

สันติโดยส่วนเดียวเป็นไฉน? อมตนิพพาน คือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืน อุปธิ ทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสำรอก ความดับ ความออกจากตัณหา เรียกว่าสันติโดยส่วนเดียว นี้ชื่อว่า สันติโดยส่วนเดียว.

     สันติโดยองค์นั้นๆ เป็นไฉน?
บุคคลผู้บรรลุปฐมฌาน มีนิวรณ์สงบไป.
ผู้บรรลุทุติยฌานมีวิตกและวิจารณ์สงบไป.
ผู้บรรลุตติยฌานมีปีติสงบไป.
ผู้บรรลุจตุตถฌานมีสุขและทุกข์สงบไป.
ผู้บรรลุอากาสานัญจายตนฌาน มีรูปสัญญา ปฏิฆสัญญา นานัตตสัญญา สงบไป.
ผู้บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน มีอากาสานัญจายตนสัญญาสงบไป.
ผู้บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน มีวิญญาณัญจายตนสัญญาสงบไป.
ผู้บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน มีอากิญจัญญายตนสัญญาสงบไป.
นี้ชื่อว่า สันติโดยองค์นั้นๆ .

     สันติโดยสมมติเป็นไฉน? ทิฏฐิ ๖๒ เป็นทิฏฐิสงบไป เรียกว่า สันติโดยสมมติ.

     อนึ่ง สันติโดยสมมติ พระผู้มีพระภาคประสงค์เอาว่า สันติ ในคาถานี้.

คำว่า บุคคลนั้นเป็นผู้อาศัยอานิสงส์และอาศัยสันติที่กำเริบ ที่อาศัยกันเกิดขึ้นมีความว่า คำว่า อาศัย คือพัวพัน ติดพัน ติดใจ น้อมใจถึง (อานิสงส์นั้น) และถึงสันติอันกำเริบได้ คือกำเริบทั่ว เอนไป เอียงไป หวั่นไหว กระทบกระทั่ง อันตนกำหนดแล้วอันตน กำหนดทั่วแล้ว ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อาศัยกันเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป สำรอกไป ดับไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลนั้นเป็นผู้อาศัยอานิสงส์ และ อาศัยสันติอันกำเริบที่อาศัยกันเกิดขึ้น.

     เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ทิฏฐิธรรมทั้งหลาย ของเจ้าทิฏฐิใด เป็นธรรมที่บุคคลนั้นกำหนดแล้ว ที่ปัจจัยปรุงแต่ง กระทำไว้ในเบื้องหน้า ไม่ขาวสะอาด มีอยู่ และบุคคล นั้นเป็นผู้อาศัยอานิสงส์ที่เห็นอยู่ในตน และอาศัยสันติ ที่กำเริบ อันอาศัยกันเกิดขึ้น เขาพึงยกตนหรือข่มผู้อื่น.

(12)
ว่าด้วยการถือมั่น

     [๙๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่าความถือมั่นด้วยทิฏฐิ ย่อมไม่เป็นอาการที่ก้าวล่วง โดยง่ายเลย การถึงความตกลงในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น ก็ไม่เป็นอาการที่ก้าวล่วง โดยง่าย เพราะฉะนั้นในความถือมั่นเหล่านั้น นรชนย่อมสละธรรมบ้าง ยึดถือธรรมบ้าง

     [๙๖] คำว่า ความถือมั่นด้วยทิฏฐิ ย่อมไม่เป็นอาการที่ก้าวล่วงโดยง่ายเลย มีความว่า คำว่า ความถือมั่นด้วยทิฏฐิ คือ ความถือมั่น ยึดถือมั่นว่าโลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า หรือความยึดมั่น ถือมั่นว่า โลกไม่เที่ยงสิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ...ชีพอันนั้นสรีระก็อันนั้น ... ชีพเป็นอื่น สรีระก็เป็นอื่น ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตาย ย่อมเป็นอีก ...สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายย่อม ไม่เป็นอีก ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มี ...สัตว์เบื้องหน้า แต่ตาย ย่อมเป็นอีก ก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้  สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้ ชื่อว่าความถือมั่นด้วยทิฏฐิ.

     คำว่า ย่อมไม่เป็นอาการที่ก้าวล่วงโดยง่าย คือ ย่อมเป็นอาการที่ก้าวล่วงโดยยาก ข้ามโดยยาก ก้าวล่วงโดยยาก ประพฤติล่วงโดยยาก เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ความถือมั่น ด้วยทิฏฐิ ย่อมไม่เป็นอาการที่ก้าวล่วงโดยง่าย.

     [๙๗] คำว่า การถึงความตกลงในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น มีความว่า คำว่า ในธรรมทั้งหลาย คือในทิฏฐิ ๖๒.

     คำว่า ถึงความตกลง มีความว่า ตัดสินแล้ว ชี้ขาด ค้นหา แสวงหาเทียบเคียง ตรวจตรา สอบสวน ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว ทำให้เห็นแจ้งแล้ว จึงจับมั่น ยึดมั่นถือมั่น รวบถือ รวมถือ รวบรวมถือ คือ ความถือ ความยึดถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น ความน้อมใจเชื่อ ว่าสิ่งนี้จริง แท้ แน่ เป็นสภาพจริง เป็นตามจริง มิได้วิปริต เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า การถึงความตกลงในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น.

      [๙๘] คำว่า เพราะฉะนั้น ในความถือมั่นเหล่านั้น นรชน ... มีความว่า คำว่า เพราะฉะนั้น คือ เพราะฉะนั้น เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะนิทานนั้น.คำว่า นรชน คือสัตว์ นระ มาณพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด ผู้มีกรรม มนุษย์.คำว่า ในความถือมั่นเหล่านั้น คือ ในความถือมั่นด้วยทิฏฐิทั้งหลายนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ในความถือมั่นเหล่านั้น นรชน.
 
     [๙๙] คำว่า ย่อมสละธรรมบ้าง ยึดถือธรรมบ้าง มีความว่า คำว่า ย่อมสละ คือย่อมสละ ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือสละด้วยความตัดสินของผู้อื่น ๑ ไม่สำเร็จ ประโยชน์ เอง จึงสละ ๑.

     นรชนย่อมสละด้วยความตัดสินของผู้อื่นอย่างไร? ผู้อื่นย่อมตัดสินว่า ศาสดานั้น ไม่ใช่ สัพพัญญู ธรรมแห่งศาสดานั้น ไม่เป็นธรรมอันศาสดากล่าวดีแล้ว หมู่คณะ ไม่เป็นผู้ปฏิบัติดี ทิฏฐิไม่เป็นทิฏฐิอันเจริญ ปฏิปทาไม่เป็นปฏิปทาอันศาสดาบัญญัติ ดีแล้ว มรรคไม่เป็นทางนำออกจากทุกข์ ความหมดจด ความหมดจดวิเศษ ความบริสุทธิ์ ความพ้น ความพ้นวิเศษหรือความพ้นรอบ มิได้มีในลัทธินี้ ประชาชน ไม่หมดจด ไม่หมดจด วิเศษ ไม่หมดจดรอบ ไม่พ้นไม่พ้นวิเศษ หรือไม่พ้นรอบเพราะลัทธิ นั้น ลัทธินั้นเลวทราม ต่ำช้า ลามก สกปรก ต่ำต้อย. ผู้อื่นย่อมตัดสินอย่างนี้ เมื่อถูกผู้อื่น ตัดสินให้อย่างนี้ ย่อมสละศาสดา สละธรรมที่ศาสดานั้นบอกสละหมู่คณะ สละทิฏฐิ สละปฏิปทา สละมรรค. นรชน ย่อมสละด้วยความตัดสินของผู้อื่นอย่างนี้.

     นรชนไม่สำเร็จประโยชน์เองจึงสละอย่างไร? นรชนไม่ยังศีลให้สำเร็จประโยชน์ ย่อมสละศีล ไม่ยังวัตรให้สำเร็จประโยชน์ ย่อมสละวัตรไม่ยังศีลและวัตรให้สำเร็จ ประโยชน์ ย่อมสละศีล และวัตร. นรชนไม่สำเร็จประโยชน์เองจึงสละอย่างนี้.

     คำว่า ย่อมยึดถือธรรมบ้าง คือ นรชนย่อมถือ ย่อมยึดมั่น ย่อมถือมั่นซึ่งศาสดาธรรม ที่ศาสดานั้นบอก หมู่คณะ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรค เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ย่อมสละธรรมบ้าง.

ยึดถือธรรมบ้าง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ความถือมั่นด้วยทิฏฐิ ย่อมไม่เป็นอาการที่ก้าวล่วงโดยง่าย การถึงความตกลงในธรรม ทั้งหลายแล้วถือมั่น ก็ไม่เป็นอาการที่ก้าวล่วงโดยง่ายเพราะฉะนั้น ในการถือมั่นเหล่านั้น นรชนย่อมสละธรรมบ้าง ยึดถือธรรมบ้าง.

    [๑๐๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่าทิฏฐิ ที่กำหนดเพื่อเกิดในภพน้อย และภพใหญ่ ย่อมไม่มีแก่บุคคล ผู้มีปัญญาในที่ไหนๆ ในโลก เพราะบุคคลผู้มีปัญญาละมารยา และมานะได้แล้ว เป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึง จะพึงไปด้วยกิเลสอะไรเล่า.

(มหานิทเทส คัมภีร์ว่าด้วยศาสตร์ขยายความพระไตรปิฎก ชื่อว่าเป็นผลงานของพระสารีบุตร)

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์