เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  มหานิทเทส คัมภีร์ว่าด้วยศาสตร์ ขยายความพระไตรปิฎก เชื่อว่าเป็นผลงานของพระสารีบุตร 960
 
   
  มหานิทเทส (4)
  (1) ว่าด้วยผู้มีปัญญา
  (2) เพราะเหตุไร ปัญญาจึงเรียกว่าโธนา
  (3) ว่าด้วยมารยาและมานะ
  (4) ว่าด้วยกิเลสเครื่องเข้าถึง ๒ อย่าง
  (5) ว่าด้วยทิฏฐิ
  (6) ว่าด้วยผู้พิจารณาเห็นความหมดจด
  (7) ว่าด้วยความหมดจดเป็นต้น
  (8) ว่าด้วยการเชื่อถือว่าเป็นมงคล ไม่เป็นมงคล
  (9) ว่าด้วยความหมดจดด้วยศีลและวัตร
  (10) ว่าด้วยการละบุญบาป
  (11) ว่าด้วยการละตน
  (12) ว่าด้วยการจับๆ วางๆ พ้นกิเลสไม่ได้
  (13) ว่าด้วยการดำเนินผิดๆ ถูกๆ
  (14) ผู้รู้ธรรม ๗ ประการ
 
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๙ สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส


(1)
ว่าด้วยผู้มีปัญญา

    [๑๐๑] คำว่า ทิฏฐิที่กำหนดเพื่อเกิดในภพน้อยและภพใหญ่ ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้มี ปัญญาในที่ไหนๆในโลก มีความว่า ปัญญา เรียกว่าโธนา ได้แก่ความรู้ ความรู้ทั่ว ความเลือกเฟ้นความเลือกเฟ้นทั่ว ความเลือกเฟ้นธรรม ความกำหนดความดี ความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ความเป็นบัณฑิต ความเป็นผู้ฉลาด ความเป็นผู้มีปัญญารักษาตน ปัญญาเครื่องจำแนก ปัญญาเครื่องคิด ปัญญาเครื่อง เข้าไปเห็น ปัญญาอันกว้างขวางดุจแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาอันนำ ไปรอบ ปัญญาเครื่องเห็นแจ้งความรู้สึกตัว ปัญญาเครื่องเจาะแทงปัญญา เครื่อง เห็นชัด ปัญญาเป็นใหญ่ ปัญญาเป็นกำลัง ปัญญาเป็นศาตรา ปัญญาเพียงดังปราสาท ปัญญาอันสว่าง ปัญญาอันแจ่มแจ้ง ปัญญาอันรุ่งเรือง ปัญญาเป็นดังแก้ว ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม ความเห็นชอบ.

(2)
เพราะเหตุไร ปัญญาจึงเรียกว่าโธนา

     เพราะปัญญานั้นเป็นเครื่องกำจัดล้าง ชำระ ซักฟอก ซึ่งกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ราคะ โทสะ โมหะความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ ความลวงความโอ้อวด ความกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ความเมา ความประมาทกิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อภิสังขารคืออกุศลธรรมทั้งปวง. เพราะเหตุนั้น ปัญญาจึงเรียกว่า โธนา.

     อีกอย่างหนึ่งสัมมาทิฏฐิเป็นเครื่องกำจัด ล้างชำระ ซักฟอกมิจฉาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ ... ซึ่งมิจฉาสังกัปปะ สัมมาวาจา ... ซึ่งมิจฉาวาจา สัมมากัมมันตะ ... ซึ่งมิจฉากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ... ซึ่งมิจฉาอาชีวะสัมมาวายามะ ... ซึ่งมิจฉาวายามะ สัมมาสติ ... ซึ่งมิจฉาสติ สัมมาสมาธิ ... ซึ่งมิจฉาสมาธิสัมมาญาณะ ... ซึ่งมิจฉาญาณะ สัมมาวิมุตติเป็นเครื่องกำจัด ล้างชำระ ซักฟอก ซึ่งมิจฉาวิมุตติ.

    อีกอย่างหนึ่ง อริยมรรคมีองค์ ๘ กำจัด ล้าง ชำระ ซักฟอก กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อภิสังขารคืออกุศลธรรมทั้งปวง พระอรหันต์เข้าถึง เข้าถึงพร้อม เข้าไป เข้าไปพร้อม เข้าชิด เข้าชิดพร้อม ประกอบแล้วด้วยธรรมทั้งหลาย อันเป็นเครื่องกำจัดเหล่านี้ เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จึงชื่อว่า ผู้มีปัญญา.

     พระอรหันต์นั้น กำจัดราคะ บาป กิเลส ความเร่าร้อนเสียแล้ว ฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้มีปัญญา.

     คำว่า ในที่ไหนๆ คือในที่ไหนๆ ในที่ใดที่หนึ่ง ทุกๆ แห่ง ในภายใน ในภายนอก หรือทั้งภายในทั้งภายนอก.
     คำว่าในโลก คือ ในอบายโลก ฯลฯ ในอายตนโลก.
     คำว่า กำหนด ได้แก่ความกำหนด ๒ อย่าง คือ ความกำหนดด้วยตัณหา ๑ ความกำหนดด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความกำหนดด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความกำหนดด้วยทิฏฐิ.

     คำว่า ในภพน้อย และ ในภพใหญ่ ได้แก่ใน ภาพน้อย และภาพใหญ่ คือ
ในกรรมวัฏ และวิปากวัฏ
ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ
ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ
ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ
ในความเกิดบ่อยๆ ในความไปบ่อยๆ ในความเข้าถึงบ่อยๆ ในปฏิสนธิบ่อยๆ
ในอันบังเกิดขึ้นแห่งอัตภาพบ่อยๆ.

     คำว่าทิฏฐิที่กำหนดเพื่อเกิดในภพน้อยและภพใหญ่ ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้มีปัญญา ในที่ไหนๆ ในโลก คือ ทิฏฐิที่กำหนด กำหนดทั่ว ปรุงแต่ง ตั้งมั่น ในภพน้อยและ ภพใหญ่ทั้งหลายย่อมไม่มี มิได้มีไม่ปรากฏไม่เข้าไปได้ แก่บุคคลผู้มีปัญญาในที่ไหนๆ ในโลก คือ ย่อมเป็นทิฏฐิอันบุคคลผู้มีปัญญานั้นละเสียแล้ว ตัดขาด สงบ ระงับ ทำให้ไม่ควรเกิดขึ้นได้ เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ทิฏฐิที่กำหนด เพื่อเกิดในภพน้อยและภพใหญ่ ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้มีปัญญาในที่ไหนๆ ในโลก.

(3)

ว่าด้วยมารยาและมานะ

     [๑๐๒] คำว่า บุคคลผู้มีปัญญาละมารยาและมานะได้แล้ว มีความว่าความประพฤติ ลวงเรียกว่ามารยา.

     บุคคลบางคนในโลกนี้ ประพฤติทุจริตด้วยกาย ประพฤติทุจริต ด้วยวาจา ประพฤติทุจริตด้วยใจแล้ว ย่อมตั้งความปรารถนาอันลามก เพราะเหตุจะ ปกปิดทุจริตนั้น คือย่อมปรารถนาว่า ใครๆ อย่ารู้เรา (ว่าเราประพฤติทุจริต) ดำริว่า ใครๆ อย่ารู้จักเรา ย่อมกล่าววาจาว่า ใครๆ อย่ารู้เรา ย่อมพยายามด้วยกายว่า ใครๆ อย่ารู้เรา.

     ความลวง ความเป็นผู้มีความลวง ความไม่นึกถึง ความอำพราง ความปิด ความปิดบัง ความหลีกเลี่ยง ความซ่อนความซ่อนเร้น ความปิด ความปกปิด ความไม่ทำให้ตื้น ความไม่เปิดเผย ความปิดด้วยดีความกระทำชั่วเห็นปานนี้
นี้เรียกว่า ความลวง.

คำว่า มานะ ได้แก่
ความถือตัวอย่าง ๑
คือความที่จิตใฝ่สูง ๑


ความถือตัว ๒ อย่างคือ
ความยกตน ๑
ความข่มผู้อื่น ๑


ความถือตัว ๓ อย่าง คือ ความถือตัวว่า
เราดีกว่าเขา ๑
เราเสมอเขา ๑
เราเลวกว่าเขา ๑


ความถือตัว ๔ อย่าง คือบุคคล
ยังความถือตัวให้เกิดเพราะลาภ ๑
ยังความถือตัว ให้เกิด เพราะยศ ๑
ยังความถือตัวให้เกิดเพราะความสรรเสริญ ๑
ยังความถือตัวให้เกิดเพราะความสุข ๑


ความถือตัว ๕ อย่างคือ บุคคล
ยังความถือตัวให้เกิด ว่า เราได้รูปที่ชอบใจ ๑
ยังความถือตัวให้เกิด ว่าเราได้เสียงที่ชอบใจ ๑
ยังความถือตัวให้เกิดว่า เราได้กลิ่นที่ชอบใจ ๑
ยังความถือตัวให้เกิดว่า เราได้รสที่ชอบใจ ๑
ยังความถือตัวให้เกิดว่า เราได้โผฏฐัพพะที่ชอบใจ ๑


ความถือตัว ๖ อย่าง คือบุคคล ยังความถือตัวให้เกิดด้วย
ความถึงพร้อมแห่งจักษุ ...
ความถึงพร้อมแห่งหู ...
ความถึงพร้อมแห่งจมูก ...
ความถึงพร้อมแห่งลิ้น ...
ความถึงพร้อมแห่งกาย
ความถึงพร้อมแห่งใจ


ความถือตัว ๗ อย่างคือ
ความถือตัว ๑
ความถือตัวจัด ๑
ความถือตัวและความถือตัวจัด ๑
ความถือตัวเลว ๑
ความถือตัวยิ่ง ๑
ความถือตัวว่าเรามั่งมี ๑
ความถือตัวผิด ๑


ความถือตัว ๘ อย่างคือ
บุคคลยังความถือตัวให้เกิด เพราะลาภ ๑
ยังความถือตัวเลวให้เกิดเพราะความเสื่อมลาภ ๑
ยังความถือตัวให้เกิดเพราะยศ ๑
ยังความถือตัวเลวให้เกิดเพราะความเสื่อมยศ ๑
ยังความถือตัวให้เกิดเพราะสรรเสริญ ๑
ยังความถือตัวเลวให้เกิดเพราะนินทา ๑
ยังความถือตัวให้เกิดเพราะสุข ๑
ยังความถือตัวเลวให้เกิดเพราะทุกข์ ๑


ความถือตัว ๙ อย่าง คือ
ความถือตัวว่าเราเป็นผู้ดีกว่าคนดี ๑
ความถือตัวว่า เราเป็นผู้เสมอกับคนดี ๑
ความถือตัวว่า เราเป็นผู้เลวกว่าคนดี ๑
ความถือตัวว่าเราเป็นผู้ดีกว่าคนชั้นเดียวกัน ๑
ความถือตัวว่า เราเป็นผู้เสมอกับคนชั้นเดียวกัน ๑
ความถือตัวว่า เราเป็นผู้เลวกว่าคนชั้นเดียวกัน ๑
ความถือตัวว่า เราเป็นผู้ดีกว่าคนเลว ๑
ความถือตัวว่า เราเป็นผู้เสมอกับคนเลว ๑
ความถือตัวว่า เราเป็นผู้เลวกว่าคนเลว ๑


ความถือตัว ๑๐ อย่าง คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ยังความถือตัวให้เกิด
เพราะชาติ ๑ เพราะโคตร ๑
เพราะความเป็นบุตรแห่งสกุล ๑
เพราะความเป็นผู้มีรูปงาม ๑
เพราะทรัพย์ ๑
เพราะการเชื้อเชิญ ๑
เพราะหน้าที่การงาน ๑
เพราะหลักแหล่งศิลปศาสตร์ ๑
เพราะวิทยฐานะ ๑ เพราะการศึกษา ๑
เพราะปฏิภาณ ๑
เพราะวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง ๑ (เกิดเป็น ๑๒
)

ความถือตัว กิริยาที่ถือตัว ความที่จิตถือตัว ความใฝ่สูงความฟูขึ้น ความทนงตัว ความยกตัว ความที่จิตใคร่สูงดุจธง นี้เรียกว่า ความถือตัว

คำว่า บุคคลผู้มีปัญญาละมารยาและมานะได้แล้ว คือบุคคลผู้มีปัญญา ละเว้น บรรเทาทำให้หมด ทำให้ไม่มีซึ่งมารยาและมานะ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า บุคคลผู้มีปัญญา ละมารยาและมานะได้แล้ว.

(4)
ว่าด้วยกิเลสเครื่องเข้าถึง ๒ อย่าง

     [๑๐๓] คำว่า (บุคคลผู้มีปัญญานั้น) เป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึง จะพึงไปด้วย กิเลสอะไรเล่า มีความว่า กิเลสเครื่องเข้าถึง ได้แก่กิเลสเครื่องเข้าถึง ๒ อย่าง คือ กิเลสเครื่องเข้าถึงคือ ตัณหา ๑ กิเลสเครื่องเข้าถึงคือ ทิฏฐิ ๑ ฯลฯ

นี้ชื่อว่ากิเลสเครื่อง เข้าถึงตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่ากิเลสเครื่องเข้าถึงคือทิฏฐิ บุคคลผู้มีปัญญานั้นละกิเลส เครื่องเข้าถึงคือตัณหา สละคืนกิเลสเครื่องเข้าถึงคือทิฏฐิ เพราะเป็นผู้ละกิเลส เครื่องเข้าถึง คือตัณหา สละคืนกิเลสเครื่องเข้าถึงคือทิฏฐิ จึงชื่อว่า ไม่มีกิเลสเครื่อง เข้าถึง.

บุคคลผู้มีปัญญานั้นจะพึงไปด้วย ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิอุทธัจจะ วิจิกิจฉา อนุสัยอะไรเล่าว่า เป็นผู้กำหนัด ขัดเคือง หลง ผูกพัน ถือมั่น ถึงความฟุ้งซ่าน ถึงความไม่ตกลง ถึงโดยเรี่ยวแรง.

กิเลสเครื่องปรุงแต่งเหล่านั้น อันผู้มีปัญญานั้นละแล้ว เพราะเป็นผู้ละกิเลส เครื่องปรุงแต่งแล้ว จะพึงไปสู่คติทั้งหลายด้วยกิเลสอะไรเล่าว่า เป็นสัตว์เกิดในนรก เกิดในกำเนิดดิรัจฉาน เกิดในเปรตวิสัย เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นสัตว์มีรูป เป็นสัตว์ไม่มีรูป เป็นสัตว์มีสัญญา เป็นสัตว์ไม่มีสัญญาหรือเป็นสัตว์มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่.

บุคคลผู้มีปัญญานั้น ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ไม่มีการณะอันเป็นเครื่องไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึง จะพึงไปด้วยกิเลสอะไรเล่า เพราะเหตุนั้น พระผู้มี พระภาคจึงตรัสว่าทิฏฐิ ที่กำหนด เพื่อเกิดในภพน้อยและภพใหญ่ ย่อมไม่มีแก่ บุคคลผู้มีปัญญาในที่ไหนๆ ในโลก เพราะบุคคลผู้มีปัญญา ละมารยาและมานะได้แล้ว เป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึงจะพึงไปด้วยกิเลสอะไรเล่า.

     [๑๐๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่าบุคคลผู้มีกิเลสเครื่องเข้าถึง ย่อมเข้าถึงวาทะ ติเตียน ในธรรมทั้งหลายใครๆ จะพึงกล่าวติเตียนบุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึง ด้วยกิเลสอะไรอย่างไรเล่า เพราะทิฏฐิถือว่ามีตน ทิฏฐิถือว่าไม่มีตน ย่อมไม่มีแก่บุคคล ผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึงนั้น บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึง สลัดเสียแล้วซึ่งทิฏฐิ ทั้งปวง ในโลกนี้นี่แหละ.

     [๑๐๕] คำว่า บุคคลผู้มีกิเลสเครื่องเข้าถึง ย่อมเข้าถึงวาทะติเตียนในธรรม ทั้งหลาย มีความว่า กิเลสเครื่องเข้าถึง ได้แก่ กิเลสเครื่องเข้าถึง ๒ อย่าง คือ กิเลส เครื่องเข้าถึงคือตัณหา ๑ กิเลสเครื่องเข้าถึงคือทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่ากิเลสเครื่องเข้าถึง คือตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่ากิเลสเครื่องเข้าถึงคือทิฏฐิ บุคคลนั้นไม่ละกิเลสเครื่องเข้าถึง คือตัณหา ไม่สละคืนกิเลสเครื่องเข้าถึงคือทิฏฐิ เพราะเป็นผู้ไม่ละกิเลสเครื่องเข้าถึง คือตัณหา ไม่สละคืนกิเลสเครื่องเข้าถึงคือทิฏฐิ จึงเข้าถึงวาทะติเตียนในธรรม ทั้งหลายว่า เป็นผู้กำหนัด ขัดเคือง หลง ผูกพัน ถือมั่น ถึงความฟุ้งซ่าน ถึงความไม่ตกลง หรือถึงโดยเรี่ยวแรง.

กิเลสเครื่องปรุงแต่งเหล่านั้น อันบุคคลนั้นไม่ละแล้ว เพราะเป็นผู้ไม่ละกิเลสเครื่อง ปรุงแต่ง จึงย่อมเข้าถึง คือเข้าไปถึง รับ ถือมั่น ยึดมั่นวาทะติเตียนโดยคติว่า เป็นสัตว์ เกิดในนรก เกิดในกำเนิดดิรัจฉาน เกิดในเปรตวิสัย เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นสัตว์มีรูป เป็นสัตว์ไม่มีรูป เป็นสัตว์มีสัญญา เป็นสัตว์ไม่มีสัญญาหรือเป็นสัตว์ มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลผู้มีกิเลสเครื่องเข้าถึง ย่อมเข้าถึงวาทะติเตียนในธรรมทั้งหลาย.

     [๑๐๖] คำว่า ใครๆ จะพึงกล่าวติเตียนบุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึง ด้วยกิเลส อะไร อย่างไรเล่า มีความว่า กิเลสเครื่องเข้าถึงได้แก่ กิเลสเครื่องเข้าถึง ๒ อย่าง คือ กิเลสเครื่องเข้าถึงคือตัณหา ๑ กิเลสเครื่องเข้าถึงคือทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่ากิเลสเครื่อง เข้าถึงคือตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่า กิเลสเครื่องเข้าถึงคือทิฏฐิ.

บุคคลนั้นละกิเลสเครื่องเข้าถึงคือตัณหา สละคืนซึ่งกิเลสเครื่องเข้าถึงคือทิฏฐิ เพราะเป็นผู้ละกิเลสเครื่องเข้าถึงคือตัณหา สละคืนกิเลสเครื่องเข้าถึงคือทิฏฐิ ใครๆจะพึงกล่าวติเตียนบุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึงด้วยราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจะวิจิกิจฉา อนุสัย อะไรเล่าว่า เป็นผู้กำหนัด ขัดเคือง หลง ผูกพัน ถือมั่น ถึงความฟุ้งซ่านถึงความไม่ตกลง หรือถึงโดยเรี่ยวแรง.

กิเลสเครื่องปรุงแต่งอันบุคคลเหล่านั้นละแล้ว เพราะเป็นผู้ละกิเลสเครื่องปรุงแต่งแล้ว ใครๆ จะพึงกล่าวคติของบุคคลนั้นด้วยกิเลสอะไรเล่าว่า เป็นผู้เกิดในนรก ฯลฯ หรือ เป็นผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่.

บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึงนั้นไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ไม่มีการณะเครื่องกล่าว บอก พูด แสดง แถลงได้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าใครๆ จะพึงกล่าวติเตียนบุคคลผู้ไม่มีกิเลส เครื่องเข้าถึงด้วยกิเลสอะไรอย่างไรเล่า.

(5)
ว่าด้วยทิฏฐิ

     [๑๐๗] คำว่า เพราะทิฏฐิถือว่ามีตน ทิฏฐิถือว่าไม่มีตน ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่มี กิเลส เครื่องเข้าถึงนั้น มีความว่า ทิฏฐิถือว่ามีตน ได้แก่สัสสตทิฏฐิย่อมไม่มี ทิฏฐิถือว่า ไม่มีตน ได้แก่อุจเฉททิฏฐิย่อมไม่มี ทิฏฐิถือว่ามีตน คือสิ่งที่ถือย่อมไม่มี ทิฏฐิถือว่า ไม่มีตน คือสิ่งที่พึงปล่อยย่อมไม่มี.

      ผู้ใดมีสิ่งที่ถือ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมมีสิ่งที่พึงปล่อย ผู้ใดมีสิ่งที่พึงปล่อย ผู้นั้นชื่อว่ามี สิ่งที่ถือ พระอรหันต์ก้าวล่วงความถือ และความปล่อย ล่วงเลยความเจริญ และ ความเสื่อม เสียแล้ว.

    พระอรหันต์นั้นอยู่จบพรหมจรรย์เป็นเครื่องอยู่ ประพฤติธรรมเป็นเครื่องประพฤติ แล้ว ฯลฯไม่มีภพใหม่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทิฏฐิถือว่ามีตน ทิฏฐิถือว่าไม่มีตน ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึง.

     [๑๐๘] คำว่า เพราะบุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึงนั้นสลัดเสียแล้ว ซึ่งทิฏฐิ ทั้งปวง ในโลกนี้นี่แหละ มีความว่า ทิฏฐิ ๖๒ อันบุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึงนั้น ละ ตัดขาด สงบระงับ แล้วทำไม่ให้ควรเกิดขึ้นได้ เผาแล้วด้วยไฟคือญาณ.

บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึงนั้นสลัดแล้ว คือกำจัด กำจัดดี กำจัดออก ละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีซึ่งทิฏฐิทั้งปวงในโลกนี้นี่แหละ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึงนั้น สลัดเสียแล้วซึ่งทิฏฐิทั้งปวงในโลกนี้นี่แหละ.

เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่าบุคคลผู้มีกิเลสเครื่องเข้าถึง ย่อมเข้าถึงวาทะ ติเตียนในธรรมทั้งหลายใครๆ พึงกล่าวติเตียนบุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึง ด้วย กิเลสอะไรอย่างไรเล่า เพราะทิฏฐิถือว่ามีตน ทิฏฐิถือว่าไม่มีตน ย่อมไม่มีแก่บุคคล ผู้ไม่มี กิเลสเครื่องเข้าถึงนั้น บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึงนั้น สลัดเสียแล้วซึ่งทิฏฐิ ทั้งปวงในโลกนี้นี่แหละ ดังนี้.

จบทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๓.


                     สุทธัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๔

     [๑๐๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเราย่อมเห็นนรชนผู้หมดจด ว่าเป็นผู้ไม่มีโรค เป็นอย่างยิ่ง ความหมดจดดี ย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น บุคคลเมื่อรู้เฉพาะอย่างนี้ รู้แล้วว่าความเห็นนี้เป็นเยี่ยม ดังนี้ ย่อมเชื่อว่า ความเห็นนั้นเป็นญาณบุคคลนั้น ชื่อว่า เป็นผู้พิจารณาเห็นความหมดจด.

(6)
ว่าด้วยผู้พิจารณาเห็นความหมดจด

     [๑๑๐] คำว่า เราย่อมเห็นนรชนผู้หมดจดว่า เป็นผู้ไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง มีความว่า เราย่อมเห็นนรชนผู้หมดจด คือเราย่อมเห็น ย่อมแลดู เพ่งดู ตรวจดู พิจารณาเห็นนรชน ผู้หมดจด.

     คำว่า ไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง คือ ถึงความเป็นผู้ไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง ถึงธรรม อันเกษมถึงธรรมเป็นที่ต้านทาน ถึงธรรมเป็นที่เว้น ถึงธรรมเป็นสรณะ ถึงธรรมเป็นที่ไป ข้างหน้าถึงธรรมไม่มีภัย ถึงธรรมไม่เคลื่อน ถึงธรรมไม่ตาย ถึงนิพพาน เป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า เราย่อมเห็นนรชนผู้หมดจด ว่าเป็นผู้ไม่มีโรค เป็นอย่างยิ่ง.

     [๑๑๑] คำว่า ความหมดจดดี ย่อมมีแก่นรชน เพราะความเห็น มีความว่า ความหมดจด หมดจดวิเศษ หมดจดรอบ ความพ้น พ้นวิเศษ พ้นรอบ ย่อมมีแก่นรชน คือนรชนย่อมหมดจด หมดจดวิเศษ หมดจดรอบ ย่อมพ้น พ้นวิเศษ พ้นรอบ เพราะ ความเห็นรูป ด้วยจักษุวิญญาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ความหมดจดดีย่อมมีแก่นรชน เพราะความเห็น.

     [๑๑๒] คำว่า บุคคลเมื่อรู้เฉพาะอย่างนี้ รู้แล้วว่า ความเห็นนี้เป็นเยี่ยม ดังนี้มี ความว่า บุคคลเมื่อรู้เฉพาะ คือ รู้ทั่ว รู้วิเศษ รู้วิเศษเฉพาะ แทงตลอดอยู่อย่างนี้ รู้แล้วคือทราบแล้ว สอบสวนแล้ว พิจารณาแล้ว ตรวจตราแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า ความเห็นนี้เป็นเยี่ยม คือ เลิศ ประเสริฐ วิเศษ เป็นประธาน เป็นสูงสุด เป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า บุคคลเมื่อรู้เฉพาะอย่างนี้ รู้แล้วว่า ความเห็นนี้เป็นเยี่ยม ดังนี้.

     [๑๑๓] คำว่า ย่อมเชื่อว่า ความเห็นนั้นเป็นญาณ บุคคลนั้นชื่อว่า เป็นผู้พิจารณา เห็นความหมดจด มีความว่า บุคคลใดย่อมเห็นนรชนผู้หมดจด บุคคลนั้นชื่อว่า เป็นผู้พิจารณา เห็นความหมดจด.

     คำว่า ย่อมเชื่อว่า ความเห็นนั้น เป็นญาณ มีความว่า บุคคลนั้นย่อมเชื่อ ความเห็น รูป ด้วยจักษุวิญญาณ ว่าเป็นญาณ เป็นทาง เป็นคลอง เป็นเครื่องนำออก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ย่อมเชื่อว่า ความเห็นนั้นเป็นญาณ บุคคลนั้นชื่อว่า เป็นผู้พิจารณาเห็นความหมดจด.

     เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เราย่อมเห็นนรชนผู้หมดจดว่าเป็นผู้ ไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง ความหมดจดดีย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น บุคคล เมื่อรู้เฉพาะ อย่างนี้ รู้แล้วว่าความเห็นนี้เป็นเยี่ยม ดังนี้ ย่อมเชื่อว่า ความเห็นนั้น เป็นญาณบุคคล นั้น ชื่อว่าเป็นผู้พิจารณาเห็นความหมดจด.

     [๑๑๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่าหากว่า ความหมดจดย่อมมีแก่นรชนด้วยความเห็น หรือว่านรชนนั้น ย่อมละทุกข์ได้ด้วยญาณไซร้ นรชนนั้นผู้ยังมีอุปธิ ย่อมหมดจดได้ด้วย มรรคอื่น เพราะทิฏฐิย่อมบอกนรชนนั้นว่า เป็นผู้พูดอย่างนั้น.

(7)
ว่าด้วยความหมดจดเป็นต้น

      [๑๑๕] คำว่า หากว่า ความหมดจดย่อมมีแก่นรชน ด้วยความเห็น มีความว่า หากว่าความหมดจด ความหมดจดวิเศษ ความหมดจดรอบ ความพ้น ความพ้นวิเศษ ความพ้นรอบย่อมมีแก่นรชน คือ นรชนย่อมหมดจด หมดจดวิเศษ หมดจดรอบ ย่อมพ้น พ้นวิเศษ พ้นรอบด้วยความเห็นรูปด้วยจักษุวิญญาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า หากว่า ความหมดจดย่อมมีแก่นรชนวยความเห็น.

      [๑๑๖] คำว่า หรือว่านรชนนั้นย่อมละทุกข์ได้ด้วยญาณไซร้ มีความว่า หากว่า นรชนย่อมละชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ ทุกข์คือความโศก ความร่ำไร ทุกข์กายทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ ได้ด้วยความเห็นรูป ด้วยจักษุวิญญาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าหรือว่านรชนนั้นย่อมละทุกข์ได้ด้วยญาณไซร้.

     [๑๑๗] คำว่า นรชนนั้นผู้ยังมีอุปธิ ย่อมหมดจดได้ด้วยมรรคอื่น มีความว่า นรชนย่อมหมดจด หมดจดวิเศษ หมดจดรอบ ย่อมพ้น พ้นวิเศษ พ้นรอบด้วยมรรคอื่น คือ มรรคอันไม่หมดจด ปฏิปทาผิด ทางอันไม่นำออก นอกจากสติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์พละ โพชฌงค์ อริยมรรคมีองค์ ๘.
      คำว่า ผู้ยังมีอุปธิ คือ ยังมีราคะ โทสะ โมหะ มานะตัณหา ทิฏฐิ กิเลส อุปาทาน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นรชนนั้นผู้ยังมีอุปธิ ย่อมหมดจดได้ด้วยมรรคอื่น.

     [๑๑๘] คำว่า เพราะทิฏฐิย่อมบอกนรชนนั้นว่า เป็นผู้พูดอย่างนั้น มีความว่า ทิฏฐินั้นแหละย่อมบอกบุคคลนั้นว่า บุคคลนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริต.

     แม้เพราะเหตุนี้ คำว่าเป็นผู้พูดอย่างนั้น คือ เป็นผู้พูด บอก กล่าว แสดง แถลงอยู่ อย่างนั้น คือ เป็นผู้พูด บอกกล่าว แสดง แถลงว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่น เปล่า โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ...ชีพอันนั้น สรีระ ก็อันนั้น ... ชีพเป็นอย่างอื่น สรีระก็เป็นอย่างอื่น ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายย่อมเป็นอีก ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตาย ย่อมไม่เป็นอีก ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตาย ย่อมเป็นอีกก็มีย่อมไม่เป็นอีกก็มี ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เพราะทิฏฐิย่อมบอกนรชนนั้นว่า เป็นผู้พูดอย่างนั้น.

     เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า หากว่า ความหมดจดย่อมมีแก่นรชน ด้วยความเห็น หรือว่า นรชนนั้นย่อมละทุกข์ได้ด้วยญาณไซร้ นรชนนั้นผู้ยังมีอุปธิ ย่อมหมดจดได้ด้วย มรรคอื่น เพราะทิฏฐิย่อมบอกนรชนนั้นว่า เป็นผู้พูดอย่างนั้น.

     [๑๑๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่าพราหมณ์ ไม่กล่าวความหมดจดในอารมณ์ที่เห็น ในอารมณ์ที่ได้ยิน ศีลและ วัตร หรืออารมณ์ที่ทราบ โดยมรรคอื่น พราหมณ์นั้นผู้ไม่ เข้าไป ติดในบุญ และบาป ละเสียซึ่งตน เรียกว่าเป็นผู้ไม่ทำเพิ่มเติมอยู่ในโลกนี้.

     [๑๒๐] คำว่า พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจดในอารมณ์ที่เห็น อารมณ์ที่ได้ยิน ศีลและวัตร หรืออารมณ์ที่ทราบ โดยมรรคอื่น มีความว่า ศัพท์ว่า น เป็นปฏิเสธ คำว่า พราหมณ์มีความว่า บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เพราะลอยเสียแล้วซึ่งธรรม ๗ ประการ คือ เป็นผู้ลอยสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ราคะ โทสะ โมหะ มานะ.

     และบุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นลอยเสียแล้ว ซึ่งอกุศลธรรมอันลามกทั้งหลาย อันเป็นปัจจัยแห่งความเศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีวิบาก เป็นทุกข์ เป็นปัจจัยแห่งชาติ ชรา และมรณะต่อไป.

    สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสภิยะ บุคคลใดลอยบาปทั้งปวงเสียแล้ว ปราศจากมลทิน มีจิตตั้งมั่นด้วยดี มีตน ตั้งอยู่แล้ว บุคคลนั้นเรียกว่าเป็นผู้สำเร็จกิจ เพราะล่วงสงสารได้แล้ว อันตัณหาทิฏฐิ ไม่อาศัย เป็นผู้คงที่ เรียกว่าเป็นพราหมณ์.

(8)
ว่าด้วยการเชื่อถือว่าเป็นมงคล ไม่เป็นมงคล

     คำว่า พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจด ... โดยมรรคอื่น มีความว่า พราหมณ์ ไม่กล่าวไม่บอก ไม่พูด ไม่แสดง ไม่แถลง ซึ่งความหมดจด ความหมดจดพิเศษ ความหมดจดรอบความพ้น ความพ้นวิเศษ ความพ้นรอบ โดยมรรคอื่น คือ โดยมรรค อันไม่หมดจด ปฏิปทาผิดทางอันไม่นำออกนอกจากสติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ อริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พราหมณ์ไม่กล่าว ความหมดจด ... โดยมรรคอื่น.

     คำว่าในอารมณ์ที่เห็น อารมณ์ที่ได้ยิน ศีลและวัตร หรืออารมณ์ที่ทราบ มีความว่า สมณพราหมณ์บางพวก ปรารถนาความหมดจดด้วยการเห็นรูป สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมเชื่อถือการเห็นรูปบางอย่างว่า เป็นมงคล ย่อมเชื่อถือการเห็นรูปบางอย่างว่า ไม่เป็นมงคล.

     สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมเชื่อถือการเห็นรูปเหล่าไหนว่าเป็นมงคล?
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ลุกขึ้นแต่เช้า ย่อมเห็นรูปทั้งหลายที่ถึงเหตุเป็นมงคลยิ่งคือ เห็นนกแอ่นลม เห็นผลมะตูมอ่อนที่เกิดขึ้นโดยปุสสฤกษ์ เห็นหญิงมีครรภ์ เห็นคน ที่ให้เด็กหญิงขึ้นคอเดินไป เห็น หม้อน้ำเต็ม เห็นปลาตะเพียน เห็นม้าอาชาไนย เห็นรถที่เทียมด้วยม้าอาชาไนย เห็นโคตัวผู้เห็นนางโคด่าง ย่อมเชื่อถือการเห็นรูป เห็นปานนี้ว่าเป็นมงคล.

     สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมเชื่อถือว่าความเห็นรูปเหล่าไหนว่าไม่เป็นมงคล?
สมณพราหมณ์เหล่านั้น เห็นกองฟาง เห็นหม้อเปรียง เห็นหม้อเปล่า เห็นนักฟ้อน เห็นสมณะเปลือย เห็นลา เห็นยานที่เทียมด้วยลา เห็นยานที่เทียมด้วยพาหนะตัวเดียว เห็นคนตาบอดเห็นคนง่อย เป็นคนกระจอก เป็นคนเปลี้ย เห็นคนแก่ เห็นคนเจ็บ เห็นคนตาย ย่อมเชื่อถือการเห็นรูปเห็นปานนี้ว่าไม่เป็นมงคล.

     สมณพราหมณ์เหล่านั้น ปรารถนาความหมดจดด้วยการเห็นรูป ย่อมเชื่อถือความ หมดจด ความหมดจดวิเศษ ความหมดจดรอบ ความพ้น ความพ้นวิเศษ ความพ้นรอบ ด้วยการเห็นรูป.

     มีสมณพราหมณ์บางพวก ปรารถนาความหมดจดด้วยการได้ยินเสียง สมณพราหมณ์ เหล่านั้น ย่อมเชื่อถือการได้ยินเสียงบางอย่างว่าเป็นมงคล ย่อมเชื่อถือ การได้ยินเสียงบางอย่างว่าไม่เป็นมงคล.

     สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมเชื่อถือการได้ยินเสียงเหล่าไหนว่าเป็นมงคล? สมณพราหมณ์เหล่านั้นลุกขึ้นแต่เช้า ย่อมได้ยินเสียงทั้งหลายที่ถึงเหตุเป็นมงคลยิ่ง คือ ย่อมได้ยินเสียงว่าเจริญ เสียงว่าเจริญอยู่ เสียงว่าเต็มแล้ว เสียงว่าขาว เสียงไม่ เศร้าโศก เสียงว่ามีใจดีเสียงว่าฤกษ์ดี เสียงว่ามงคลดี เสียงว่ามีศิริ หรือเสียงว่าเจริญ ด้วยศิริ ย่อมเชื่อถือการได้ยินเสียงเห็นปานนี้ว่าเป็นมงคล.

     สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมเชื่อถือการได้ยินเสียงเหล่าไหนว่าไม่เป็นมงคล? สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมได้ยินเสียงว่าคนบอด เสียงว่าคนง่อย เสียงว่าคนกระจอก เสียงว่าคนเปลี้ย เสียงว่าคนแก่ เสียงว่าคนเจ็บ เสียงว่าคนตาย เสียงว่าถูกตัด เสียงว่า ถูกทำลายเสียงว่าไฟไหม้ เสียงว่าของหาย หรือเสียงว่าของไม่มี ย่อมเชื่อถือการ ได้ยินเสียงเห็นปานนี้ว่าไม่เป็นมงคล. สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมปรารถนาความ หมดจดด้วยการได้ยินเสียงย่อมเชื่อถือความหมดจด ความหมดจดวิเศษ ความหมด จดรอบ ความพ้น ความพ้นวิเศษความพ้นรอบ ด้วยการได้ยินเสียง.

(9)
ว่าด้วยความหมดจดด้วยศีลและวัตร

     มีสมณพราหมณ์บางพวก ปรารถนาความหมดจดด้วยศีล สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมเชื่อถือความหมดจด ความหมดจดวิเศษ ความหมดจดรอบ ความพ้น ความพ้นวิเศษ ความพ้นรอบ ด้วยเหตุสักว่าศีล เหตุสักว่าความสำรวม เหตุสักว่าความระวัง เหตุสักว่าความไม่ละเมิดศีล.

     ปริพาชกผู้เป็นบุตรนางปริพาชิกา ชื่อสมณมุณฑิกา กล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรช่างไม้ เราย่อมบัญญัติปุริสบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลว่า เป็นผู้มีกุศลถึงพร้อม แล้ว มีกุศลเป็นอย่างยิ่ง เป็นผู้ถึงอรหัตอันอุดมที่ควรถึง เป็นสมณะ เป็นผู้อันใครๆ ต่อสู้ไม่ได้

ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน?
ดูกรช่างไม้ ปุริสบุคคลในโลกนี้
ย่อมไม่ทำบาปกรรมด้วยกาย ๑
ย่อมไม่กล่าววาจาอันลามก ๑
ย่อมไม่ดำริถึงเหตุที่พึงดำริอันลามก ๑
ย่อมไม่อาศัยอาชีพอันลามกเป็นอยู่ ๑


     ดูกรช่างไม้ เราย่อมบัญญัติ ปุริสบุคคล ผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ว่าเป็นผู้มี กุศล ถึงพร้อมแล้ว มีกุศลเป็นอย่างยิ่ง เป็นผู้ถึงอรหัตอันอุดมที่ควรถึง เป็นสมณะ เป็นผู้อันใครๆ ต่อสู้ไม่ได้.
     สมณพราหมณ์บางพวก ปรารถนาความหมดจดด้วยศีล สมณพราหมณ์ เหล่านั้น ย่อมเชื่อถือความหมดจด ความหมดจดวิเศษ ความหมดจดรอบ ความพ้น ความพ้นวิเศษ ความพ้นรอบ ด้วยเหตุสักว่าศีล เหตุสักว่าความสำรวม เหตุสักว่า ความระวัง เหตุสักว่าความไม่ละเมิดศีล อย่างนี้เทียว.

     มีสมณพราหมณ์บางพวก ปรารถนาความหมดจดด้วยวัตร สมณพราหมณ์ เหล่านั้น (วัตรเดียรถีย์)
เป็นผู้ประพฤติหัตถีวัตร (ประพฤติอย่างกิริยาช้าง) บ้าง ประพฤติอัสสวัตรบ้าง ประพฤติโควัตรบ้าง ประพฤติกุกกุรวัตรบ้าง ประพฤติกากวัตรบ้าง ประพฤติวาสุเทววัตรบ้าง ประพฤติพลเทววัตรบ้าง ประพฤติปุณณภัททวัตรบ้าง ประพฤติมณีภัททวัตรบ้าง ประพฤติอัคคิวัตรบ้าง ประพฤตินาควัตรบ้าง ประพฤติสุปัณณวัตรบ้าง ประพฤติยักขวัตรบ้าง ประพฤติอสุรวัตรบ้าง ประพฤติคันธัพพวัตรบ้าง ประพฤติมหาราชวัตรบ้าง ประพฤติจันทวัตรบ้าง ประพฤติสุริยวัตรบ้าง ประพฤติอินทวัตรบ้าง ประพฤติพรหมวัตรบ้าง ประพฤติเทววัตรบ้าง ประพฤติทิสวัตรบ้าง.
     สมณพราหมณ์เหล่านั้นปรารถนาความหมดจดด้วยวัตร ย่อมเชื่อถือความหมดจด ความหมดจดวิเศษ ความหมดจดรอบความพ้น ความพ้นวิเศษ ความพ้นรอบ ด้วยวัตร.

     มีสมณพราหมณ์บางพวกปรารถนาความหมดจดด้วยอารมณ์ที่ทราบ*สมณพราหมณ์เหล่านั้น ลุกขึ้นแต่เช้าแล้ว ย่อมจับต้องแผ่นดิน จับต้องของสดเขียว จับต้องโคมัย จับต้องเต่าเหยียบข่าย จับต้องเกวียนบรรทุกงา เคี้ยวกินงาสีขาว ทาน้ำมันงาสีขาว เคี้ยวไม้สีฟันขาวอาบน้ำด้วยดินสอพอง นุ่งขาว โพกผ้าโพกสีขาว.
     สมณพราหมณ์เหล่านั้น ปรารถนาความหมดจดด้วยอารมณ์ที่ทราบ ย่อมเชื่อถือ ความ หมดจด ความหมดจดวิเศษ ความหมดจดรอบ ความพ้นความพ้นวิเศษ ความพ้นรอบ ด้วยอารมณ์ที่ทราบ.
*(อารมณ์ที่ทราบ คือ อารมณ์ที่กลิ่น อารมณ์ที่ลิ้มทางลิ้น อารมณ์ที่ได้สัมผัสทางกาย)

     คำว่า พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจดในอารมณ์ที่เห็น อารมณ์ที่ได้ยิน ศีลและวัตร หรืออารมณ์ที่ทราบ โดยมรรคอื่น คือ พราหมณ์ไม่กล่าว ไม่บอก ไม่พูด ไม่แสดง ไม่แถลงความหมดจดโดยความหมดจด ด้วยการเห็นรูปบ้าง โดยความหมดจด ด้วยการ ได้ยินเสียงบ้าง โดยความหมดจดด้วยศีลบ้าง โดยความหมดจดด้วยวัตรบ้าง โดยความหมดจดด้วยอารมณ์ที่ทราบบ้างเพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าพราหมณ์ไม่กล่าว ความหมดจดในอารมณ์ที่เห็น อารมณ์ที่ได้ยิน ศีลและวัตร หรืออารมณ์ที่ทราบ โดย มรรคอื่น.

(10)
ว่าด้วยการละบุญบาป

     [๑๒๑] คำว่า พราหมณ์นั้นผู้ไม่เข้าไปติดในบุญและบาป มีความว่า กุศลาภิสังขาร อันให้ปฏิสนธิในไตรธาตุ (กามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ) อย่างใดอย่างหนึ่ง เรียกว่าบุญ. อกุศลทั้งหมด เรียกว่าบาป ไม่ใช่บุญ.

     ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร เป็นสภาพอันพราหมณ์ ละ เสียแล้ว มีมูลรากอันตัดขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน ทำให้ถึงความไม่มี ในภายหลัง มีความไม่เกิดขึ้นในอนาคตเป็นธรรมดา ในกาลใด ในกาลนั้น พราหมณ์นั้น ชื่อว่าย่อมไม่ติด ไม่ติดพัน ไม่เข้าไปติด เป็นผู้ไม่ติด ไม่ติดพัน ไม่เข้าไป ติดแล้วเป็นผู้ออกไป สละเสีย พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้องแล้ว ในบุญและบาป เป็นผู้มีจิต กระทำ ให้ปราศจากแดนกิเลสอยู่ ด้วยเหตุเท่านี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พราหมณ์นั้น ผู้ไม่เข้าไปติดในบุญและบาป.

(11)

ว่าด้วยการละตน

     [๑๒๒] คำว่า ละเสียซึ่งตน เรียกว่า เป็นผู้ไม่ทำเพิ่มเติมอยู่ในโลกนี้ มีความว่า ละเสียซึ่งตน คือ ละทิฏฐิที่ถือว่าเป็นตน หรือละความถือมั่น.

     อีกอย่างหนึ่ง คำว่า ละเสียซึ่งตนได้แก่ ความถือ ยึดถือ ถือมั่น ติดใจ น้อมใจไป ด้วยสามารถแห่งตัณหา ด้วยสามารถแห่งทิฏฐิ ความถือเป็นต้นนั้นทั้งปวง เป็น ธรรมชาติ อันพราหมณ์นั้นสละแล้ว สำรอก ปล่อย ละสละคืนเสียแล้ว.

     คำว่า ไม่ทำเพิ่มเติมอยู่ในโลกนี้ คือ ไม่ทำเพิ่มเติม ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดพร้อม ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดเฉพาะเพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ละเสียซึ่งตน เรียกว่าเป็นผู้ไม่ทำเพิ่มเติม อยู่ในโลกนี้.

    พราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจดในอารมณ์ ที่เห็น อารมณ์ที่ได้ยิน ศีลและวัตร หรืออารมณ์ที่ทราบ โดยมรรคอื่น พราหมณ์นั้น ผู้ไม่เข้าไปติด ในบุญ และบาป ละเสียซึ่งตน เรียกว่าเป็นผู้ไม่ทำเพิ่มเติมอยู่ในโลกนี้

     [๑๒๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่าสมณพราหมณ์เหล่านั้น ละต้น อาศัยหลัง ไปตาม ความแสวงหาย่อมไม่ข้ามกิเลสเครื่องเกี่ยวข้องได้ สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมจับถือ ย่อมละ เหมือนลิงจับและละกิ่งไม้เบื้องหน้า ฉะนั้น.

(12)

ว่าด้วยการจับๆ วางๆ พ้นกิเลสไม่ได้

     [๑๒๔] คำว่า ละต้น อาศัยหลัง มีความว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น
ละศาสดาต้น อาศัยศาสดาหลัง
ละธรรมที่ศาสดาต้น บอกอาศัยธรรมที่ศาสดาหลัง
ละหมู่คณะต้น อาศัยหมู่คณะหลัง
ละทิฏฐิต้น อาศัยทิฏฐิหลัง
ละปฏิปทาต้น อาศัยปฏิปทาหลัง
ละมรรคต้น อาศัยอิงอาศัย พัวพัน เข้าถึง ติดใจ น้อมใจถึงมรรคหลัง
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า
ละต้น อาศัยหลัง.

     [๑๒๕] คำว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ไปตามความแสวงหา ย่อมไม่ข้าม กิเลส เครื่องเกี่ยวข้องได้ มีความว่า ตัณหา เรียกว่าความแสวงหา ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดกล้าฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล.
     คำว่า ไปตามความแสวงหา คือ ไปตาม ไปตามแล้วแล่นไปตาม ถึงแล้ว ตกไป ตามความแสวงหา อันความแสวงหาครอบงำแล้ว มีจิตอันความแสวงหาครอบงำแล้ว.

     คำว่า ย่อมไม่ข้ามกิเลสเครื่องเกี่ยวข้องได้ คือ ย่อมไม่ข้าม ไม่ข้ามขึ้น ไม่ข้ามพ้น ไม่ก้าวพ้น ไม่ก้าวล่วง ไม่ล่วงเลยซึ่งกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง คือ ราคะ โทสะ โมหะมานะ ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นไปตาม ความแสวงหา ย่อมไม่ข้ามกิเลสเครื่องเกี่ยวข้องได้.

     [๑๒๖] คำว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมจับถือ ย่อมละ มีความว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น
ย่อมถือศาสดา ละศาสดานั้นแล้ว
ย่อมถือศาสดาอื่น ย่อมถือธรรมที่ศาสดาบอก ละธรรมที่ศาสดาบอกนั้นแล้ว ย่อมถือธรรมที่ศาสดาอื่นบอก ย่อมถือหมู่คณะ ละหมู่คณะนั้นแล้วถือหมู่คณะอื่น ย่อมถือทิฏฐิ ละทิฏฐินั้นแล้วถือทิฏฐิอื่น
ย่อมถือปฏิปทา ละปฏิปทานั้นแล้วถือปฏิปทาอื่น
ย่อมถือมรรค ละมรรคนั้นแล้วถือมรรคอื่น
ย่อมถือและปล่อย คือ ย่อมยึดถือและย่อมละ

เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมจับถือ ย่อมละ

     [๑๒๗] คำว่า เหมือนลิงจับและละกิ่งไม้เบื้องหน้า ฉะนั้น มีความว่า สมณพราหมณ์เป็นอันมาก ย่อมจับถือและปล่อย คือ ย่อมยึดถือ และสละทิฏฐิ เป็นอันมาก เหมือนลิงเที่ยวไปในป่าใหญ่ย่อมจับกิ่งไม้ ละกิ่งไม้นั้นแล้วจับกิ่งอื่น ละกิ่งอื่นนั้นแล้วจับกิ่งอื่น ฉะนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เหมือนลิงจับ และ ละกิ่งไม้ เบื้องหน้า ฉะนั้น.

     เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่าสมณพราหมณ์เหล่านั้น ละต้น อาศัยหลัง ไปตามความแสวงหาย่อมไม่ข้ามกิเลสเครื่องเกี่ยวข้องได้ สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมจับถือย่อมละ เหมือนลิงจับและละกิ่งไม้เบื้องหน้า ฉะนั้น.

     [๑๒๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ชันตุชนสมาทานวัตร ทั้งหลายเอง เป็นผู้ข้อง ในสัญญา ย่อมดำเนินผิดๆถูกๆ ส่วนบุคคลผู้มีความรู้ รู้ธรรมด้วยความรู้ทั้งหลาย เป็นผู้มีปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน ย่อมไม่ดำเนินผิดๆ ถูกๆ.

(13)

ว่าด้วยการดำเนินผิดๆ ถูกๆ


     [๑๒๙] คำว่า ชันตุชนสมาทานวัตรทั้งหลายเอง มีความว่า สมาทานเอง คือ สมาทานเอาเอง.

     คำว่า วัตรทั้งหลาย คือ ชันตุชนถือเอา สมาทานถือเอาแล้ว ถือเอาโดยเอื้อเฟื้อ สมาทานแล้ว รับเอาแล้ว ยึดมั่น ถือมั่น ซึ่งหัตถิวัตร อัสสวัตร โควัตร กุกกุรวัตร กากวัตรวาสุเทววัตร พลเทววัตร ปุณณภัททวัตร มณีภัททวัตร อัคคิวัตร นาควัตร สุปัณณวัตร ยักขวัตรอสุรวัตร ฯลฯ ทิสวัตร.

     คำว่า ชันตุชน คือ สัตว์ นรชน ฯลฯ มนุษย์ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ชันตุชน สมาทานวัตร ทั้งหลายเอง.

     [๑๓๐] คำว่า เป็นผู้ข้องในสัญญา ย่อมดำเนินผิดๆ ถูกๆ มีความว่า จากศาสดาต้น ถึงศาสดาหลัง จากธรรมที่ศาสดาต้นบอกถึงธรรมที่ศาสดาหลังบอก จากหมู่คณะต้น ถึงหมู่คณะหลัง จากทิฏฐิต้นถึงทิฏฐิหลัง จากปฏิปทาต้นถึงปฏิปทาหลัง จากมรรคต้น ถึงมรรคหลัง.

     คำว่าเป็นผู้ข้องในสัญญา คือ เป็นผู้ข้อง เกี่ยวข้อง ข้องทั่วไป ติดอยู่ พันอยู่ เกี่ยวพันอยู่ในกามสัญญา พยาบาทสัญญา วิหิงสาสัญญา ทิฏฐิสัญญา เหมือนสิ่งของ ที่ข้อง เกี่ยวข้อง ข้องทั่วไปติดอยู่ พันอยู่ เกี่ยวพันอยู่ ที่ตะปูอันตอกติดฝาหรือที่ไม้ขอ ฉะนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นผู้ข้องในสัญญา ย่อมดำเนินผิดๆ ถูกๆ.

(14)

ผู้รู้ธรรม ๗ ประการ

     [๑๓๑] คำว่า ส่วนบุคคลผู้มีความรู้ รู้ธรรมด้วยความรู้ทั้งหลาย มีความว่า มีความรู้ได้แก่มีความรู้ คือ ถึงวิชชา มีญาณ มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเป็นเครื่องทำลายกิเลส.

     คำว่า ด้วยความรู้ทั้งหลาย มีความว่า ญาณในมรรคทั้ง ๔ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาวิปัสสนา สัมมาทิฏฐิ เรียกว่าความรู้

     บุคคลผู้มีความรู้นั้น ถึงที่สุด บรรลุที่สุด ถึงส่วนสุด บรรลุส่วนสุด ถึงที่สุดรอบ บรรลุที่สุดรอบ ถึงที่สิ้นสุด บรรลุที่สิ้นสุด ถึงที่ป้องกัน บรรลุที่ป้องกัน ถึงที่ลับ บรรลุที่ลับ ถึงที่พึ่ง บรรลุที่พึ่ง ถึงที่ไม่มีภัย บรรลุที่ไม่มีภัย ถึงที่ไม่จุติ บรรลุที่ไม่จุติ ถึงที่ไม่ตาย บรรลุที่ไม่ตาย ถึงนิพพาน บรรลุนิพพาน แห่งชาติชรา และมรณะ ด้วยความรู้ทั้งหลายเหล่านั้น.

     อีกอย่างหนึ่ง บุคคลชื่อว่าเวทคู(อรหันต์) เพราะอรรถว่า ถึงที่สุดแห่งความรู้ ทั้งหลายบ้าง.
     เพราะอรรถว่า ถึงที่สุดด้วยความรู้ทั้งหลายบ้าง และชื่อว่า เวทคู.
     เพราะเป็นผู้รู้แจ้งธรรม ๗ ประการ คือ เป็นผู้รู้แจ้งซึ่ง สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ราคะ โทสะ โมหะ มานะ. (สังโยชน์ ๗)
     และเป็นผู้รู้แจ้งซึ่งอกุศลธรรมอันลามก ทั้งหลาย อันทำความเศร้าหมอง ให้เกิด ในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์เป็นปัจจัยแห่งชาติ ชรา และมรณะ ต่อไป.

     สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสภิยะ บุคคลเลือกเฟ้นเวท(ความรู้)ทั้งสิ้น ของพวกพราหมณ์ที่มีอยู่ เป็นผู้ปราศจากราคะในเวทนาทั้งปวง ล่วงเวท ทั้งปวงแล้ว ชื่อว่า เป็นเวทคู.

     คำว่า ส่วนบุคคลผู้มีความรู้ รู้ธรรมด้วยความรู้ทั้งหลาย มีความว่า คือรู้ รู้เฉพาะ ซึ่งธรรมคือรู้ รู้เฉพาะซึ่งธรรมว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีสฬายตนะ
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยจึงมีผัสสะเพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชราและมรณะ เพราะอวิชชาดับสังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับวิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับนามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับสฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับเวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับอุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับภพจึงดับ
เพราะภพดับชาติจึงดับ เพราะชาติดับชราและมรณะจึงดับ.

และรู้ รู้เฉพาะซึ่งธรรมว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติ ให้ถึง ความดับทุกข์ เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุให้เกิดอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ข้อ ปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ.

ธรรมเหล่านี้ควรรู้ยิ่ง ธรรมเหล่านี้ ควรกำหนดรู้ ธรรมเหล่านี้ควรละ  ธรรมเหล่านี้ควรเจริญ ธรรมเหล่านี้ควรทำให้แจ้ง.

และรู้ รู้เฉพาะซึ่งธรรม  คือ เหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออก แห่งผัสสายตนะ ๖.

และรู้ รู้เฉพาะซึ่งธรรม คือ เหตุเกิด ความดับ คุณ โทษและอุบายเครื่องสลัดออก แห่งอุปาทานขันธ์ ๕.

และรู้ รู้เฉพาะซึ่งธรรม คือเหตุเกิด ความดับคุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออก แห่งมหาภูตรูป ๔.

และรู้ รู้เฉพาะซึ่งธรรมว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวง มีความดับไป เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น.

     จึงชื่อว่าส่วนบุคคลผู้มีความรู้ รู้ธรรมด้วยความรู้ทั้งหลาย.

      [๑๓๒] คำว่า เป็นผู้มีปัญญากว้างขวาง ดังแผ่นดิน ย่อมไม่ดำเนิน ผิดๆ ถูกๆ มีความว่า บุคคลผู้มีปัญญากว้างขวางดังแผ่นดิน
ย่อมไม่จากศาสดาต้น ถึงศาสดาหลัง
ไม่จากธรรมที่ศาสดาต้นบอก ถึงธรรมที่ศาสดาหลังบอก
ไม่จากหมู่คณะต้น ถึงหมู่คณะหลัง
ไม่จากทิฏฐิต้น ถึงทิฏฐิหลัง
ไม่จากปฏิปทาต้น ถึงปฏิปทาหลัง
ไม่จากมรรคต้น ถึงมรรคหลัง.


     คำว่าบุคคลผู้มีปัญญากว้างขวางดังแผ่นดิน คือมีปัญญาใหญ่ มีปัญญามาก มีปัญญาเป็นเครื่องรื่นเริง มีปัญญาไว มีปัญญาคมกล้า มีปัญญาเป็นเครื่องทำลาย กิเลส. แผ่นดินตรัสว่า ภูริ บุคคลประกอบด้วยปัญญากว้างขวางแผ่ไป เสมอด้วย แผ่นดินนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลผู้มีปัญญากว้างดังแผ่นดิน ย่อมไม่ดำเนินผิดๆ ถูกๆ

     เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ชันตุชนสมาทานวัตร ทั้งหลายเอง เป็นผู้ข้องในสัญญา ย่อมดำเนิน ผิดๆ ถูกๆ ส่วนบุคคลผู้มีความรู้ รู้ธรรมด้วยความรู้ ทั้งหลาย เป็นผู้มีปัญญากว้างขวางดังแผ่นดิน ย่อมไม่ดำเนินผิดๆ ถูกๆ.

     [๑๓๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลผู้มีปัญญากว้างขวางดังแผ่นดินนั้น เป็นผู้ กำจัดเสนา ในธรรมทั้งปวง คือ ในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่ทราบ อย่างใด อย่างหนึ่ง ใครๆ ในโลกนี้พึงกำหนดซึ่งบุคคลนั้นนั่นแหละ ผู้เห็นผู้ประพฤติเปิดเผย ด้วยกิเลสอะไรเล่า.

(มหานิทเทส คัมภีร์ว่าด้วยศาสตร์ขยายความพระไตรปิฎก ชื่อว่าเป็นผลงานของพระสารีบุตร)

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์