พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๐๖
๑. สารัชชสูตร
ธรรมที่เป็นเหตุให้อุบาสกครั่นคร้ามและแกล้วกล้า
[๑๗๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นผู้หยั่งลงสู่ ความครั่นคร้าม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉนคือ
๑ อุบาสกเป็นผู้ฆ่าสัตว์
๒ เป็นผู้ลักทรัพย์
๓ เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม
๔เป็นผู้กล่าวคำเท็จ
๕ เป็นผู้ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้หยั่งลง สู่ความครั่นคร้าม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้า ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ
๑ อุบาสกเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต
๒ เป็นผู้งดเว้นจากอทินนาทาน
๓ เป็นผู้งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร
๔ เป็นผู้งดเว้นจากมุสาวาท
๕ เป็นผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ แกล้วกล้า
------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๐๖-๒๐๗
๒. วิสารทสูตร
ธรรมที่เป็นเหตุอุบาสกไม่แกล้วกล้าครองเรือน
[๑๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นผู้ไม่ แกล้วกล้าครองเรือน ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ อุบาสกเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ เป็นผู้ดื่ม น้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ไม่ แกล้วกล้า ครองเรือน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เป็นผู้มีความ แกล้วกล้า ครองเรือน ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ อุบาสกเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ เป็นผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ แกล้วกล้า ครองเรือน
------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๐๗
๓. นิรยสูตร
ธรรมที่เป็นเหตุให้ตกนรก
[๑๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เหมือนถูกนำ มาวางไว้ในนรก ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ อุบาสกเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯเป็นผู้ดื่ม น้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วย ธรรม ๕ ประการนี้แล เหมือนถูกนำมา วางไว้ในนรก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เหมือนถูกเชิญมาอยู่ ในสวรรค์ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ อุบาสกเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ เป็นผู้ งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุรา และเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เหมือนถูกเชิญมาอยู่ใน สวรรค์
------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๐๗-๒๐๙
๔. เวรสูตร
ภัยเวร ๕ ประการ(ศีล ๕)
[๑๗๔] ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกรคฤหบดี อุบาสกไม่ละภัยเวร ๕ ประการ เราเรียกว่าผู้ทุศีลด้วย ย่อมเข้าถึงนรกด้วย ภัยเวร ๕ ประการเป็นไฉน คือ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การพูดเท็จ การดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความ ประมาท ดูกรคฤหบดี อุบาสกผู้ไม่ละภัยเวร ๕ ประการนี้แล เราเรียกว่าผู้ทุศีลด้วย ย่อมเข้าถึงนรกด้วย
ดูกรคฤหบดี อุบาสกผู้ละภัยเวร ๕ ประการ เราเรียกว่าผู้มีศีลด้วย ย่อม เข้าถึงสุคติ ด้วย ภัยเวร ๕ ประการเป็นไฉน คือ การฆ่าสัตว์ ฯลฯ การดื่มน้ำเมาคือสุรา และ เมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ดูกรคฤหบดี อุบาสกผู้ละภัยเวร ๕ ประการนี้แล เราเรียกว่าผู้มีศีลด้วย ย่อมเข้าถึงสุคติด้วย
ดูกรคฤหบดี อุบาสกผู้ฆ่าสัตว์ ย่อมประสบภัยเวรใด ทั้งในปัจจุบันทั้งใน สัมปรายภพ ย่อมเสวยทุกขโทมนัสใด แม้ทางจิต เพราะเหตุฆ่าสัตว์ อุบาสกผู้งดเว้นจาก ปาณาติบาต ย่อมไม่ประสบภัยเวรนั้น ทั้งในปัจจุบัน และในสัมปรายภพ ย่อมไม่เสวย ทุกขโทมนัสนั้นแม้ทางจิต
ภัยเวรนั้น ของอุบาสกผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ย่อมสงบระงับด้วยประการฉะนี้ อุบาสกผู้ลักทรัพย์ ... ประพฤติผิดในกาม ...พูดคำเท็จ ... ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ย่อมประสบภัยเวรใด ทั้งในปัจจุบันและในสัมปรายภพ ย่อมเสวยทุกขโทมนัสใดแม้ทางจิต เพราะเหตุแห่งการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท อุบาสกผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ย่อมไม่ประสบภัยเวรนั้น ทั้งในปัจจุบันและในสัมปรายภพ ย่อมไม่เสวยทุกขโทมนัสนั้นแม้ทางจิต ภัยเวรนั้น ของอุบาสกผู้งดเว้น จากการ ดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ย่อมสงบระงับ ด้วยประการ ฉะนี้
นรชนใดย่อมฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ในโลก คบชู้ภรรยาของ ผู้อื่น กล่าวคำเท็จ และประกอบการดื่มสุรา เมรัยเนืองๆ นรชนนั้นไม่ละเวร ๕ ประการ แล้ว เราเรียกว่า เป็นผู้ทุศีล มีปัญญาทราม ตายไปแล้วย่อมเข้าถึงนรก นรชน ใดไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ในโลก ไม่ คบชู้ภรรยาของผู้อื่น ไม่กล่าวคำเท็จ และไม่ประกอบการ ดื่มสุราและเมรัย นรชนนั้นละเวร ๕ ประการแล้ว เราเรียก ว่าเป็นผู้มีศีล มีปัญญา เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติ
------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๐๙
๕. จัณฑาลสูตร
อุบาสกจัณฑาล(ทำตัวเลวทราม)
[๑๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็น อุบาสกผู้เลวทราม เศร้าหมอง และน่าเกลียด ธรรม ๕ ประการเป็นไฉนคือ
๑ อุบาสกเป็นผู้ไม่มีศรัทธา
๒ เป็นผู้ทุศีล
๓ เป็นผู้ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อมงคลไม่เชื่อกรรม
๔ แสวงหาเขตบุญภายนอกศาสนา
๕ ทำการสนับสนุนในที่นอกศาสนานั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นอุบาสก ผู้เลวทราม เศร้าหมอง และน่าเกลียด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็น อุบาสกแก้ว อุบาสกปทุม อุบาสกบุณฑริก ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ
๑ อุบาสกย่อมเป็นผู้มีศรัทธา
๒ เป็นผู้มีศีล
๓ เป็นผู้ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรมไม่เชื่อมงคล
๔ ไม่แสวงหาเขตบุญภายนอกศาสนา
๕ ทำการสนับสนุนในศาสนา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นอุบาสกแก้ว อุบาสกปทุม อุบาสกบุณฑริก
------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๐๘-๒๑๐
๖. ปีติสูตร
การเข้าถึงปิติด้วยอานาปานสติ
[๑๗๖] ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี แวดล้อมด้วยอุบาสกประมาณ ๕๐๐ คน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกรคฤหบดี ท่านทั้งหลายได้บำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ท่านทั้งหลายไม่ควรทำความยินดี ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ว่า เราได้บำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลาน ปัจจัย เภสัชบริขาร เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า พวกเรา พึงเข้าถึงปีติที่เกิด แต่วิเวกอยู่ตามกาลอันสมควร ด้วยอุบายเช่นไร ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล
(ไม่ควรยินดีเพียงว่าได้บำรุงสงฆ์ ได้ตักบาตรถวายทาน แต่ควรเจริญอานาปานสติ เข้าถึงความวิเวก ความปิติแห่งจิตในปฐมฌาน ย่อมได้อานิสงส์มากกว่าการตักบาตรถวายทานหลายเท่านัก)
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่เคยมีมาแล้ว ตามที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า
ดูกรคฤหบดี ท่านทั้งหลายได้บำรุง ภิกษุสงฆ์ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า พวกเราพึงเข้าถึงปีติที่เกิดแต่วิเวกอยู่ ตามกาลอันสมควร ด้วยอุบายเช่นไร ท่านทั้งหลาย พึงสำเหนียกอย่างนี้แล
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยใด อริยสาวกย่อมเข้าถึงปีติที่เกิดแต่วิเวกอยู่ สมัยนั้น ฐานะ ๕ ประการ ย่อมไม่มีแก่อริยสาวกนั้น คือ สมัยนั้น
๑ ทุกข์ โทมนัส อันประกอบ ด้วยกาม
๒ สุข โสมนัส อันประกอบ ด้วยกาม
๓ ทุกข์ โทมนัสอันประกอบ ด้วยอกุศล
๔ สุข โสมนัสอันประกอบ ด้วยอกุศล
๕ ทุกข์ โทมนัสอันประกอบด้วยกุศล
ย่อมไม่มีแก่อริยสาวกนั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยใด อริยสาวกย่อมเข้าถึงปีติที่เกิดแต่วิเวกอยู่ สมัยนั้น ฐานะ ๕ ประการนี้ ย่อมไม่มีแก่อริยสาวกนั้น
พ. ดีละๆ สารีบุตร สมัยใด อริยสาวกย่อมเข้าถึงปีติที่เกิดแต่วิเวกอยู่ ...
ดูกรสารีบุตร สมัยใด อริยสาวกย่อมเข้าถึงปีติที่เกิดแต่วิเวกอยู่ สมัยนั้นฐานะ ๕ ประการนี้ ย่อมไม่มีแก่อริยสาวกนั้น
------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๑๑
๗. วณิชชสูตร
อาชีพที่ไม่พึงกระทำ
[๑๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ ประการนี้ อันอุบาสกไม่พึงกระทำ
๕ ประการเป็นไฉน คือ
๑ การค้าขายศาตรา
๒ การค้าขายสัตว์
๓ การค้าขายเนื้อสัตว์
๔ การค้าขายน้ำเมา
๕ การค้าขายยาพิษ
ดูกรภิกษุทั้งหลายการค้าขาย ๕ ประการนี้แล อันอุบาสกไม่พึงกระทำ
|