พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๒๑
ผลสูตรที่ ๒
ผลานิสงส์การเจริญอานาปานสติ ๗ ประการ
[๑๓๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
[๑๓๑๕] ก็อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมมีผล มาก มีอานิสงส์มาก? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกาย ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า (พึงขยาย เนื้อความให้ พิสดารตลอดถึง ย่อมศึกษาว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความ สละคืน หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจเข้า)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
[๑๓๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มาก แล้วอย่างนี้ พึงหวังได้ผลานิสงส์ ๗ ประการ
ผลานิสงส์ ๗ ประการเป็นไฉน? คือ จะได้ชม
๑.อรหัตผลในปัจจุบันก่อน
๒.ถ้าไม่ได้ชมอรหัตผลในปัจจุบันก่อน จะได้ชมในเวลาใกล้ตาย
๓.ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้ชม ในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้ชมไซร้ เพราะสังโยชน์อันเป็นส่วน เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป จะได้เป็นพระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายี
๔.ผู้อุปหัจจปรินิพพายี
๕.ผู้อสังขารปรินิพพายี
๖.ผู้สสังขารปรินิพพายี
๗.ผู้อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้ แล พึงหวังได้ผลานิสงส์ ๗ ประการเหล่านี้.
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๒๑-๓๒๒
อริฏฐสูตร
การเจริญอานาปานสติ
[๑๓๑๗] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ฯลฯ ได้ตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายย่อมเจริญอานาปานสติหรือหนอ?
[๑๓๑๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้แล้ว ท่านพระอริฏฐะได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญอานาปานสติอยู่.
พ. ดูกรอริฏฐะ ก็เธอเจริญอานาปานสติอย่างไรเล่า?
[๑๓๑๙] อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กามฉันท์ในกามที่ล่วงไป ข้าพระองค์ละ ได้แล้ว กามฉันท์ในกามที่ยังไม่มาถึงของข้าพระองค์ไปปราศแล้ว ปฏิฆสัญญาในธรรม ทั้งหลาย ทั้งที่เป็นภายในและภายนอก ข้าพระองค์กำจัดเสียแล้ว ข้าพระองค์มีสติ หายใจออก มีสติหายใจเข้าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญอานาปานสติ อย่างนี้แล
[๑๓๒๐] พ. ดูกรอริฏฐะ อานาปานสตินั้นมีอยู่ เราไม่ได้กล่าวว่าไม่มี ก็แต่ว่า อานาปานสติย่อมบริบูรณ์โดยกว้างขวางด้วยวิธีใด เธอจงฟังวิธีนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจัก กล่าวท่านพระอริฏฐะทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกรอริฏฐะ ก็อานาปานสติย่อมบริบูรณ์โดยกว้างขวางอย่างไรเล่า? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออกมีสติหายใจเข้า ฯลฯ
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืน หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืน หายใจเข้า
ดูกรอริฏฐะ อานาปานสติย่อมบริบูรณ์โดยกว้างขวางอย่างนี้แล
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๒๒-๓๒๓
กัปปินสูตร
ว่าด้วยอานาปานสติสมาธิ
[๑๓๒๑] พระนครสาวัตถี. ก็สมัยนั้น ท่านพระมหากัปปินะ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกาย ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
[๑๓๒๒] พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านมหากัปปินะนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ครั้นแล้วได้ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็นความไหว หรือความเอนเอียงแห่งกาย ของภิกษุนั้น หรือหนอ?
[๑๓๒๓] ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลาใดข้าพระองค์ ทั้งหลายเห็นท่านผู้มีอายุนั้นนั่งอยู่ในท่ามกลางสงฆ์ หรือนั่งในที่ลับรูปเดียว ในเวลานั้น ข้าพระองค์ทั้งหลาย มิได้เห็นความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกาย ของท่านผู้มีอายุ นั้นเลย
[๑๓๒๔] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหว หรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งสมาธิใดภิกษุนั้นได้สมาธินั้นตามความปรารถนาได้ โดยไม่ยากไม่ลำบาก
[๑๓๒๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหว หรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี เพราะได้เจริญ กระทำให้มาก ซึ่งสมาธิ เป็นไฉน? เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งอานาปานสติสมาธิ
[๑๓๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำ ให้มากแล้วอย่างไร ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหวหรือความ กวัดแกว่ง แห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่ เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติ หายใจเข้า (พึงขยายเนื้อความให้พิสดารตลอดถึง ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้ พิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออกย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็น โดยความสละคืนหายใจเข้า)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญ กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหวหรือความกวัดแกว่ง แห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี
|