พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๒๙-๔๓๐
อานันทสูตร
ว่าด้วยพระอานนท์
[๘๐๑] ครั้งนั้นแล วัจฉโคตรปริพาชก ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อัตตามีอยู่หรือ เมื่อวัจฉโคตรปริพาชก ได้ทูลถาม อย่างนี้ แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ทรง ดุษณีเสีย วัจฉโคตรปริพาชกได้ทูลถามอีกว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็อัตตาไม่มีหรือ แม้ครั้งที่สอง พระผู้มีพระภาค ก็ได้ ทรงดุษณีเสีย (นิ่ง) เหมือนกัน ครั้นแล้ว วัจฉโคตรปริพาชกก็ได้ลุกขึ้นจากที่นั่งหลีกไป
[๘๐๒] ครั้งนั้น เมื่อวัจฉโคตรปริพาชก หลีกไปแล้วไม่นาน ท่านพระอานนท์ ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุอะไรหนอพระผู้มี พระภาค อันวัจฉโคตรปริพาชกทูลถามปัญหาแล้ว จึงไม่ทรงพยากรณ์
พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า
ดูกรอานนท์ เราอันวัจฉโคตรปริพาชกถามว่า อัตตา มีอยู่หรือ ถ้าจะพึง พยากรณ์ ว่า อัตตา มีอยู่ไซร้ คำพยากรณ์นั้น ก็จักไปร่วมกับลัทธิ ของพวกสมณ พราหมณ์ ผู้เป็นสัสสตทิฐิ
ดูกรอานนท์ เราอันวัจฉโคตรปริพาชก ถามว่าอัตตาไม่มีหรือ ถ้าจะพึงพยากรณ์ ว่า อัตตาไม่มีไซร้ คำพยากรณ์นั้นก็จักไปร่วมกับ ลัทธิของพวกสมณพราหมณ์ ผู้เป็น อุจเฉททิฐิ
ดูกรอานนท์ เราอันวัจฉโคตรปริพาชกถามว่า อัตตามีอยู่หรือ ถ้าจะพึง พยากรณ์ว่า อัตตามีอยู่ไซร้ คำพยากรณ์ของเรานั้น จักอนุโลมเพื่อความบังเกิดขึ้น แห่ง ญาณว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาบ้างหรือหนอ
อา. หามิได้ พระเจ้าข้า
พ. ดูกรอานนท์ ถ้าหากเราอัน วัจฉโคตรปริพาชกถามว่า อัตตาไม่มีหรือจะพึง พยากรณ์ว่า อัตตาไม่มีไซร้ คำพยากรณ์นั้น คงจักเป็นไปเพื่อความหลงงมงายแก่ วัจฉโคตร ปริพาชกผู้งมงายอยู่แล้วว่า เมื่อก่อนอัตตาของเรา ได้มีแล้วแน่นอนบัดนี้ อัตตานั้นไม่มี ดังนี้
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๓๐-๔๓๓
สภิยสูตร
ว่าด้วยพระสภิยกัจจานะ
[๘๐๓] สมัยหนึ่ง ท่านพระสภิยกัจจานะ(พระกัจจานะ) อยู่ ณ ที่พัก ซึ่งก่อสร้างด้วยอิฐ ใกล้บ้าน ญาติ ครั้งนั้นแล วัจฉโคตรปริพาชก(วัจฉ) ได้เข้าไปหา ท่านพระสภิยกัจจานะถึง ที่อยู่ ได้ปราศรัย กับ ท่านสภิยกัจจานะ ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ถามท่านพระ สภิยกัจจานะว่า
ดูกรกัจจานะผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิด อีกหรือ ท่านพระ สภิยกัจจานะตอบว่า
ดูกรวัจฉะปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์
ว. ดูกรกัจจานะผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมไม่เกิด อีกหรือ
ส. ดูกรวัจฉะ แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์
ว. ดูกรกัจจานะผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีก ก็มี หรือ
ส. ดูกรวัจฉะ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์
ว. ดูกรกัจจานะผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่ เกิดอีกก็หามิได้ หรือ
ส. ดูกรวัจฉะ แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญ าที่ พระผู้มีพระภาคไม่ทรง พยากรณ์
ว. ดูกรกัจจานะผู้เจริญ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปแล้ว ย่อมเกิดอีกหรือ ท่านก็ตอบว่า ดูกรวัจฉะ ปัญหาข้อนี้ เป็นปัญหาที่ พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงพยากรณ์ ดูกรกัจจานะผู้เจริญ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมไม่เกิดอีกหรือ ท่านก็ตอบว่า
ดูกรวัจฉะ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงพยากรณ์ เมื่อข้าพเจ้า ถามว่า ดูกรกัจจานะผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มีหรือ ท่านก็ตอบว่า ดูกรวัจฉะ ปัญหาข้อนี้เป็น ปัญหาที่พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงพยากรณ์
ดูกรกัจจานะผู้เจริญ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีก ก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้หรือ ท่านก็ตอบว่า
ดูกรวัจฉะ แม้ปัญหาข้อนี้ ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงพยากรณ์
ดูกรกัจจานะผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้พระสมณโคดม ไม่ทรงพยากรณ์ ปัญหาข้อนั้น
ส. ดูกรวัจฉะ เหตุอันใดและปัจจัยอันใด เพื่อการบัญญัติว่า สัตว์มีรูปก็ดีว่าสัตว์ ไม่มีรูปก็ดี ว่าสัตว์มีสัญญาก็ดี ว่าสัตว์ไม่มีสัญญาก็ดี ว่าสัตว์มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญา ก็มิใช่ก็ดี เหตุอันนั้นและปัจจัยอันนั้น พึงดับทุกๆ อย่างหาเศษมิได้* บุคคลเมื่อบัญญัติ สัตว์ ว่าสัตว์มีรูปก็ดี ว่าสัตว์ไม่มีรูปก็ดี ว่าสัตว์มีสัญญาก็ดี ว่าสัตว์หาสัญญามิได้ก็ดี ว่าสัตว์มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ก็ดี พึงบัญญัติด้วยอะไร
* ตถาคตดับเหตุแห่งการเกิดจนไม่มีเศษเหลือ การบัญญัติว่า ตถาคตมีรูป มีสัญญา ฯลฯ จึงไม่ใช่ฐานะ
ว. ดูกรกัจจานะผู้เจริญ ท่านบวชนานเท่าไร
ส. ไม่นาน ได้สามพรรษา
ว. ดูกรท่านผู้มีอายุ การกล่าวแก้ของผู้ที่กล่าวแก้ได้มากถึงเท่านี้ ก็เมื่อการ กล่าวแก้ไพเราะอย่างนี้แล้ว ก็ไม่จำต้องพูดอะไรกันอีก (อธิบายมามากถึงขนาดนี้ ไพเราะขนาดนี้ ก็ยังไม่เข้าใจ จึงไม่ควรจะพูดต่อ)
|