พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๑๓-๓๑๔
ภิกขุสังยุตต์
๔. นวสูตร (ว่าด้วยผู้ใหม่)
[๖๙๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่าน
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล ภิกษุใหม่รูปหนึ่ง เดินกลับ
จากบิณฑบาต ในเวลา ปัจฉาภัต เข้าไปสู่วิหารแล้ว เป็นผู้มีความขวนขวายน้อย
นิ่งอยู่ ไม่ช่วยเหลือ ภิกษุทั้งหลาย ในเวลาทำจีวร ครั้งนั้นแล ภิกษุมากรูปด้วยกัน
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายอภิวาทแล้วนั่ง
ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
[๖๙๗] ครั้นภิกษุเหล่านั้น นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุใหม่รูปหนึ่ง ในพระธรรมวินัยนี้ เดินกลับจาก
บิณฑบาต ในเวลา ปัจฉาภัต เข้าไปสู่วิหารแล้ว เป็นผู้มีความขวนขวายน้อยนิ่งอยู่
ย่อมไม่ช่วยเหลือ ภิกษุทั้งหลายในเวลากระทำจีวร ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค
ตรัสเรียกภิกษุรูปหนึ่ง มาตรัสว่า
ดูกรภิกษุ เธอจงไปบอกภิกษุนั้น ตามคำของเราว่า
พระศาสดาให้หา ภิกษุนั้น ทูลรับสนองพระพุทธพจน์ แล้วเข้าไปหาภิกษุนั้น ครั้น
เข้าไปหาแล้วได้กล่าวกะเธอว่า พระศาสดาตรัสเรียกท่าน เธอรับคำของภิกษุนั้น
แล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วน
ข้างหนึ่ง ครั้นภิกษุนั้น นั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะเธอว่า จริงหรือ
ภิกษุ ได้ยินว่าเธอเดินกลับจากบิณฑบาต ในเวลาปัจฉาภัต เข้าไปสู่วิหารแล้ว
เป็นผู้มีความขวนขวายน้อย นิ่งอยู่ ไม่ช่วยเหลือ ภิกษุทั้งหลาย ในเวลากระทำจีวร
ภิกษุนั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ก็กระทำกิจส่วนตัว
เหมือนกัน
[๖๙๘] ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงทราบความปริวิตกแห่งจิตของ
ภิกษุนั้นด้วยพระทัย จึงตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่า
ยกโทษภิกษุนี้เลย (อย่ายกขึ้นมาว่าเป็นความผิด) ภิกษุนี้เป็นผู้มีปรกติได้ฌาน ๔ อันเป็นสุขวิหารธรรม ในปัจจุบัน
อันอาศัยอธิจิต ตามความปรารถนา ไม่ยาก ไม่ลำบาก กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุด
แห่งพรหมจรรย์ อันยอดเยี่ยม (ได้เป็นอรหันต์) ซึ่งกุลบุตรทั้งหลาย ออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ
ต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่
[๖๙๙] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว
จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า
บุคคลปรารภความเพียรอันย่อหย่อน ปรารภความเพียร ด้วยกำลังน้อย ไม่พึงบรรลุพระนิพพานอันเป็นเครื่องปลดเปลื้องกิเลสทั้งปวงได้ แต่ภิกษุ หนุ่มรูปนี้ เป็นอุดมบุรุษ ชำนะมาร
ทั้งพาหนะได้แล้ว ย่อมทรงไว้ซึ่งอัตภาพมีในที่สุด ดังนี้
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๑๔-๓๑๕
๕. สุชาตสูตร (ว่าด้วยพระสุชาต)
[๗๐๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระสุชาตไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
[๗๐๑] พระผู้มีพระภาค ได้ทอดพระเนตร เห็นพระสุชาตมาแต่ที่ไกลเทียว
แล้วตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรนี้ย่อมงามด้วยสมบัติสอง
อย่าง คือ (๑) มีรูปงามน่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยผิวพรรณ อันงามยิ่งนัก และ
(๒) กระทำให้แจ้ง ซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ อันยอดเยี่ยม ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายออกบวช
เป็นบรรพชิต โดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่
[๗๐๒] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้
แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า
ภิกษุนี้ย่อมงามด้วยใจอันซื่อตรงหนอ เป็นผู้หลุดพ้น เป็นผู้
พราก เป็นผู้ดับ เพราะไม่ถือมั่น ชำนะมารพร้อมทั้งพาหนะ
ได้แล้ว ย่อมทรงไว้ซึ่งอัตภาพมีในที่สุด ดังนี้
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๑๕-๓๑๖
๖. ภัททีสูตร (ว่าด้วยพระลกุณฏภัททิยะ)
[๗๐๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่าน
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระลกุณฏกภัททิยะ
ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ
[๗๐๔] พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตร เห็นท่าน พระลกุณฏกภัททิยะ มา
แต่ที่ไกลเทียว แล้วตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็น
หรือไม่ ซึ่งภิกษุกำลังมาอยู่โน่น มีวรรณะไม่งาม ไม่น่าดู เตี้ย เป็นที่ดูแคลน
ของภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เห็นพระเจ้าข้า
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั่นแล มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก อนึ่ง
สมาบัติ ที่เธอไม่เคยเข้า เธอก็ได้โดยง่าย เธอกระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ อันยอดเยี่ยม ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายออกบวช เป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น
ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองใ นปัจจุบัน เข้าถึงอยู่
[๗๐๕] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว
จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า
สัตว์ทั้งหลาย จำพวกหงส์ นกกระเรียน นกยูง ช้าง
เนื้อฟาน ทั้งหมด ย่อมกลัวราชสีห์ ความเสมอกันในกาย
ไม่มี ฉันใด ในมนุษย์ทั้งหลา ยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าคน
หนุ่มมีปัญญา เขาก็ย่อมเป็นใหญ่ในมนุษย์เหล่านั้น ไม่
เหมือนคนพาล ซึ่งถือร่างกายเป็นใหญ่ ดังนี้
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๑๖-๓๑๗
๗. วิสาขสูตร (ว่าด้วยพระวิสาขะ)
[๗๐๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารสาลา ป่ามหาวัน เขต
พระนครเวสาลี สมัยนั้นแล ท่านพระวิสาขปัญจาลบุตร ยังภิกษุทั้งหลายให้เห็น
แจ้ง ให้สมาทาน ให้ อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา ประกอบด้วยวาจา
ไพเราะ สละสลวยปราศจากโทษ นับเนื่องเข้าในวาจาที่ให้เข้าใจเนื้อความ ไม่อิง
อาศัยวัฏฏะ ในอุปัฏฐานศาลา
[๗๐๗] ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้น
เสด็จไป ทาง อุปัฏฐานศาลา ครั้นเสด็จถึงแล้ว ประทับบนอาสนะที่แต่งตั้งไว้ แล้ว
ตรัสถามภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ใครหนอแลยังภิกษุทั้งหลาย ให้เห็น
แจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา ประกอบด้วยวาจา
ไพเราะ สละสลวยปราศจาก โทษ นับเนื่องเข้าในวาจาที่ให้เข้าใจเนื้อความ ไม่
อิงอาศัยวัฏฏะ ในอุปัฏฐานศาลา
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระวิสาขปัญจาลบุตร ฯลฯ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสกะท่านวิสาขปัญจาลบุตรว่า ดีแล้ว ดีแล้ว
วิสาขะ เธอยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ... ด้วยธรรมีกถา ฯลฯ ดีนักแล
[๗๐๘] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้
แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า
ชนทั้งหลายย่อมไม่รู้จักคนที่ไม่พูด ว่าเจือด้วยพาล หรือเป็น
บัณฑิต แต่ย่อมรู้จักคนที่พูด ผู้แสดงทางอมฤตอยู่ บุคคลพึงกล่าวธรรม พึงส่องธรรม พึงประคองธงชัยของฤาษี ฤาษี
ทั้งหลายมีสุภาษิตเป็นธง ธรรมนั่นเอง เป็นธงชัย ของพวก
ฤาษี ดังนี้ |