พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘๐
สัญญาวรรคที่ ๒
๑. สัญญาสูตรที่ ๑
[๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๕ ประการนี้ อันบุคคลเจริญแล้วทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุดสัญญา
๕ ประการเป็นไฉน คือ
๑. อนิจจสัญญา
๒. อนัตตสัญญา
๓. มรณสัญญาอาหาเร
๔. ปฏิกูลสัญญา
๕. สัพพโลเกอนภิรตสัญญา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๕ ประการนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มากหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด
------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘๐
๒. สัญญาสูตรที่ ๒
[๖๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๕ ประการนี้ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มาก แล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด
สัญญา ๕ ประการเป็นไฉน คือ
๑. อนิจจสัญญา
๒. อนัตตสัญญา
๓. มรณสัญญา
๔. อาหาเรปฏิกูลสัญญา
๕. สัพพโลเกอนภิรตสัญญา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๕ประการนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มากหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด
------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘๐ - ๘๑
๓. วัฑฒิสูตรที่ ๑
[๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้เจริญด้วยธรรม เป็นเหตุเจริญ ๕ประการ ชื่อว่าย่อมเจริญด้วยธรรม เป็นเหตุเจริญอย่างประเสริฐ ชื่อว่าเป็นผู้ยึดถือสาระ และยึดถือ สิ่งประเสริฐแห่งกาย ธรรมเป็นเหตุเจริญ
๕ ประการเป็นไฉน คือ
๑. ย่อมเจริญด้วยศรัทธา
๒. ย่อมเจริญด้วยศีล
๓. ย่อมเจริญด้วยสุตะ
๔. ย่อมเจริญด้วยจาคะ
๕. ย่อมเจริญด้วยปัญญา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้เจริญด้วยธรรมเป็นเหตุเจริญ ๕ ประการนี้แล ชื่อว่าย่อมเจริญด้วยธรรมเป็นเหตุเจริญ อย่างประเสริฐชื่อว่าเป็นผู้ยึดถือสาระ และยึดถือ สิ่งประเสริฐแห่งกาย
อริยสาวกผู้ใด ย่อมเจริญด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา ทั้งสองฝ่าย อริยสาวกผู้เช่นนั้น เป็นสัปบุรุษ มีปรีชาเห็นประจักษ์ ชื่อว่าย่อมยึดถือสาระแห่งตน ในโลกนี้ ไว้ได้ทีเดียว
------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘๑
๔. วัฑฒิสูตรที่ ๒
[๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวิกาผู้เจริญด้วยธรรม เป็นเหตุเจริญ ๕ประการ ชื่อว่าย่อมเจริญด้วยธรรม เป็นเหตุเจริญอย่างประเสริฐ ชื่อว่าเป็นผู้ยึดถือสาระ และยึดถือ สิ่งประเสริฐแห่งกาย
ธรรมเป็นเหตุเจริญ ๕ ประการเป็นไฉน คือ
๑. ย่อมเจริญด้วยศรัทธา
๒. ย่อมเจริญด้วยศีล
๓. ย่อมเจริญด้วยสุตะ
๔. ย่อมเจริญด้วยจาคะ
๕. ย่อมเจริญด้วยปัญญา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวิกาผู้เจริญด้วยธรรมเป็นเหตุเจริญ ๕ ประการนี้แล ชื่อว่าย่อมเจริญด้วยธรรม เป็นเหตุเจริญอย่างประเสริฐ ชื่อว่าเป็นผู้ยึดถือสาระ และยึดถือ สิ่งประเสริฐแห่งกาย ฯ
อริยสาวิกาผู้ใด ย่อมเจริญด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา ทั้งสองฝ่าย อริยสาวิกาผู้เช่นนั้น เป็นผู้มีศีล เป็นอุบาสิกา ชื่อว่าย่อมยึดถือสาระแห่งตนในโลกนี้ไว้ได้ ทีเดียว
------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘๑-๘๒
๕. สากัจฉสูตร
[๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นผู้ควร สนทนา ของเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย
ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑.
ย่อมเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลด้วยตนเอง และเป็นผู้พยากรณ์ปัญหา ที่มาในกถา ปรารภ สีลสัมปทาได้
๒. ย่อมเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิด้วยตนเอง และเป็นผู้พยากรณ์ปัญหา ที่มาในกถา ปรารภ สมาธิสัมปทาได้
๓. ย่อมเป็นผู้ถึงพร้อม ด้วยปัญญาด้วยตนเอง และเป็นผู้พยากรณ์ปัญหาที่มาใน กถาปรารภ ปัญญาสัมปทาได้
๔. ย่อมเป็นผู้ถึงพร้อม ด้วยวิมุตติด้วยตนเอง และเป็นผู้พยากรณ์ปัญหา ที่มาในกถา ปรารภวิมุตติสัมปทาได้
๕. ย่อมเป็นผู้ถึงพร้อมด้วย วิมุตติญาณทัสสนะด้วยตนเอง และเป็นผู้พยากรณ์ปัญหา ที่มาในกถาปรารภ วิมุตติญาณทัสสนสัมปทาได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควร สนทนา ของเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย
------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘๒
๖. สาชีวสูตร
[๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นผู้ควร ดำรงชีพร่วมกัน ของเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย
ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑.
ย่อมเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลด้วยตนเอง และเป็นผู้พยากรณ์ปัญหา ที่ตั้งขึ้นใน กถาปรารภสีลสัมปทาได้
๒.
ย่อมเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิด้วยตนเอง และเป็นผู้พยากรณ์ปัญหา ที่ตั้งขึ้นใน กถาปรารภ สมาธิสัมปทาได้
๓.
ย่อมเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาด้วยตนเอง และเป็นผู้พยากรณ์ปัญหาที่ตั้งขึ้นใน กถาปรารภปัญญาสัมปทาได้
๔.
ย่อมเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติด้วยตนเอง และเป็นผู้พยากรณ์ปัญหาที่ตั้งขึ้นใน กถาปรารภวิมุตติสัมปทาได้
๕.
ย่อมเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะด้วยตนเอง และเป็นผู้พยากรณ์ปัญหา ที่ตั้งขึ้นในกถาปรารภ วิมุตติญาณทัสสนสัมปทาได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นผู้ควรดำรงชีพ ร่วมกันของเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย
------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘๓
๗. อิทธิปาทสูตรที่ ๑
[๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง ย่อมเจริญย่อม ทำให้มากซึ่งธรรม ๕ ประการ ภิกษุหรือภิกษุณีรูปนั้น พึงหวังได้ผล ๒ ประการ อย่างใด อย่างหนึ่ง คือ อรหัตผลหรือ เมื่อมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ในปัจจุบัน นี้เทียว
ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ย่อมเจริญอิทธิบาท ที่ประกอบด้วยฉันทสมาธิ และปธานสังขาร
๒.
ย่อมเจริญอิทธิบาท ที่ประกอบด้วย วิริยสมาธิ และปธานสังขาร
๓.
ย่อมเจริญอิทธิบาทที่ประกอบ ด้วยจิตตสมาธิและปธานสังขาร
๔.
ย่อมเจริญอิทธิบาทที่ประกอบ ด้วยวิมังสาสมาธิและปธานสังขาร
๕. ย่อมเจริญวิริยะอย่างยิ่งเป็นที่ ๕
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุหรือ ภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง ย่อมเจริญ ย่อมทำให้มาก ซึ่งธรรม ๕ ประการนี้แลภิกษุ หรือภิกษุณีรูปนั้น พึงหวังได้ผล ๒ ประการ อย่างใด อย่างหนึ่ง คือ อรหัตผล หรือเมื่อมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ในปัจจุบันนี้เทียว
------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘๓-๘๔
๘. อิทธิปาทสูตรที่ ๒
[๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อก่อนแต่ตรัสรู้ เราเป็นพระโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ได้เจริญ ทำให้มากซึ่งธรรม ๕ ประการ
ธรรม ๕ ประการเป็นไฉนคือ
๑. เราได้เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร
๒.ได้เจริญอิทธิบาทที่ประกอบ ด้วยวิริยสมาธิและปธานสังขาร
๓.ได้เจริญอิทธิบาทที่ประกอบ ด้วยจิตตสมาธิและปธานสังขาร
๔.ได้เจริญอิทธิบาทที่ประกอบ ด้วยวิมังสาสมาธิและปธานสังขาร
๕.ได้เจริญวิริยะอย่างยิ่งเป็นที่ ๕
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะได้เจริญ ทำให้มากซึ่งธรรมมีวิริยะอย่างยิ่ง เป็นที่ ๕ นี้ เราได้โน้มน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมที่จะพึงทำให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่งใดๆ เมื่อเหตุมีอยู่ เราถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยาน ได้ในธรรมนั้นๆ โดยแน่นอน ถ้าเราหวังก็พึงแสดงฤทธิ์ได้หลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกาย ไปตลอดพรหมโลกก็ได้ เมื่อเหตุมีอยู่ เราถึงความเป็นผู้ควร เป็นพยาน ในธรรมนั้นๆ ได้โดยแน่นอน ฯลฯ ถ้าเราหวัง ก็พึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองใน ปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เมื่อเหตุมีอยู่ เราถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยาน ในธรรมนั้นๆ ได้โดย
------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘๔
๙. นิพพิทาสูตร
[๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อเข้าไปสงบ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพานโดยส่วนเดียว
ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นว่าไม่งามในกาย
๒. มีความสำคัญว่าเป็นของ ปฏิกูลในอาหาร
๓. มีความสำคัญว่า ไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง
๔. พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง
๕. ย่อมเข้าไปตั้งมรณสัญญา ไว้ในภายใน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อเข้าไปสงบ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘๔-๘๕
๑๐. อาสวักขยสูตร
[๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย
ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ
๑.
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นว่าไม่งามในกาย
๒.
มีความสำคัญว่าเป็นของปฏิกูลในอาหาร
๓.
มีความสำคัญว่า ไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง
๔.
พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง
๕.
เข้าไปตั้งมรณสัญญาไว้ในภายใน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย
|