เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

อุตตรสูตร (พระอุตตระแสดงธรรมเรื่องวิบัติ) นันทสูตร (ว่าด้วยพระนันทะ) กรัณฑวสูตร 1965
 


อุตตรสูตร
(ว่าด้วยพระอุตตระแสดงธรรมเรื่องวิบัติ)
ท่านพระอุตตระ กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า
เป็นความดีแล้ว ที่ภิกษุพิจารณาเห็นความวิบัติของคนอื่น โดยกาลอันควร
เป็นความดีแล้ว ที่ภิกษุพิจารณาเห็นสมบัติของตน โดยกาลอันควร
เป็นความดีแล้ว ที่ภิกษุพิจารณาเห็นสมบัติของผู้อื่น โดยกาลอันควร


นันทสูตร (ว่าด้วยพระนันทะ)
นันทภิกษุ คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณ ในโภชนะ ประกอบความเพียร อันเป็นเหตุ ให้ตื่นอยู่เสมอ ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ อันเป็นเหตุให้นันทภิกษุ สามารถประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริบูรณ์ได้

ดูกรภิกษุ ท. หากนันทภิกษุพึงเหลียวไปทาง ทิศบูรพาไซร้ นันทภิกษุ ก็ย่อมสำรวมจิตทั้งปวง เหลียวดู ทิศบูรพา ด้วยคิดว่าเมื่อเรา เหลียวดูทิศบูรพาอย่างนี้ ธรรมอันเป็นบาปอกุศล คือ อภิชฌา และโทมนัส จักไม่ครอบงำ จิตเราได้ เธอย่อมเป็นผู้รู้สึกตัว ในการเหลียวดูนั้น ด้วยประการฉะนี้

ดูกรภิกษุ ท. หากนันทภิกษุพึงเหลียวไปทางทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ทิศเบื้องต่ำ ทิศเบื้องบน พึงเหลียวแลไปตามทิศน้อย ทั้งหลายไซร้ นันทภิกษุ ย่อมสำรวมจิตทั้งปวงเหลียวไป ทางทิศน้อย ด้วยคิดว่า เมื่อเราเหลียวแล ไปตามทิศ น้อยอย่างนี้ ธรรมอันเป็นบาปอกุศล คือ อภิชฌาแลโทมนัส จักไม่ครอบงำจิตเราได้เธอ ย่อมรู้สึกตัว ในการเหลียวแลนั้นด้วยประการฉะนี้


กรัณฑวสูตร (ว่าด้วยสมณะหยากเยื่อ)
สมณะแกลบ สมณะยากเยื่อต้องขจัดออกไป
เพราะการอยู่ร่วมกัน พึงรู้ได้ว่า ผู้นี้มีความปรารถนาลามก มักโกรธ มักลบลู่ หัวดื้อ ตีเสมอ ริษยา ตระหนี่ โอ้อวด ปิดบังความชั่วที่ตัวทำ มีความเห็นลามกไม่เอื้อเฟื้อ...

เธอทั้งหลาย จงพร้อมใจกันขับบุคคลนั้นเสีย จงกำจัดบุคคลที่เป็นดังหยากเหยื่อ จงถอนบุคคล ที่เสียในออกเสีย จงนำผู้มิใช่สมณะแต่ยังนับว่าเป็นสมณะ ออกเสีย

เธอทั้งหลาย ครั้นกำจัดคนที่มีควาปรารถนาลามก มีอาจาระและโคจรลามกออกแล้ว จงเป็นผู้มีสติ แต่นั้นเธอทั้งหลาย เป็นผู้พร้อมเพรียงกัน เป็นผู้มีปัญญารักษาตน จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้


เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 
สารบาญพระไตรปิฎก
เล่มที่ ๘-๓๓ (๒๕ เล่ม) ทุกพระสูตร
1. ฉบับหลวง
2. ฉบับมหาจุฬาฯ
3. อรรถกถาไทย
4. ฉบับภาษาบาลี
5. อรรถกถา-บาลี
6. Pali Roman (Roman Script)
7. Atthakatha PaliRoman
 

 


 



พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๔๔-๑๔๗

อุตตรสูตร
(ว่าด้วยพระอุตตระแสดงธรรมเรื่องวิบัติ)

            [๙๘] สมัยหนึ่ง ท่านพระอุตตระ อยู่ที่วิหารชื่อว่า วัฏฏชาลิกา ใกล้ภูเขา สังเขยยกะ ณ มหิสพัสดุชนบท ณ ที่นั้นแล ท่านพระอุตตระ กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เป็นความดีแล้ว ที่ภิกษุพิจารณาเห็นความวิบัติของตน โดยกาลอันควร

            ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เป็นความดีแล้ว ที่ภิกษุพิจารณา เห็นความวิบัติของ คนอื่น โดยกาลอันควร ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เป็นความดีแล้ว ที่ภิกษุพิจารณา เห็นสมบัติของตนโดยกาลอันควร ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เป็นความดีแล้ว ที่ภิกษุ พิจารณาเห็นสมบัติของผู้อื่น โดยกาลอันควร

            ก็สมัยนั้นแล ท้าวเวสสวัณมหาราช ออกจากทิศเหนือผ่านไปทางทิศใต้ ด้วย กรณียกิจบางอย่าง ได้สดับคำที่ท่านพระอุตตระ แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ในวัฏฏชาลิกาวิหาร ใกล้ภูเขาสังเขยยกะ ณ มหิสพัสดุชนบท อย่างนี้ ... ได้หายจาก วัฏฏชาลิกาวิหาร ใกล้ภูเขาสังเขยยกะ ณ มหิสพัสดุชนบท ไปปรากฏในเทวดา ชั้นดาวดึงส์ เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น แล้วเข้าไปเฝ้าท้าวสักกะจอมเทพ ถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงกราบทูลว่า ขอเดชะพระองค์
โปรดทรงทราบว่า ท่านพระอุตตระนี้ ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ ในวัฏฏชาลิกาวิหารอย่างนี้

            ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ได้ทรงหายจากเทวดาชั้นดาวดึงส์ ไปปรากฏ ต่อหน้า ท่านพระอุตตระ ในวัฏฏชาลิกาวิหาร ใกล้ภูเขาสังเขยยกะ ณ มหิสพัสดุชนบท เปรียบเหมือนบุรุษ ผู้มีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น แล้วเสด็จ เข้าไปหา ท่านพระอุตตระถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว ประทับยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

            ครั้นแล้วได้ตรัสถามท่านพระอุตตระว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า ท่าน พระอุตตระ แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ ...จริงหรือ ท่านพระอุตตระ ถวายพระพร ว่า จริงอย่างนั้น มหาบพิตร

            ส. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ คำนี้เป็นปฏิภาณของพระคุณเจ้าเอง หรือว่าเป็นของ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

            อ. ดูกรมหาบพิตร ถ้าอย่างนั้น อาตมภาพจะทำข้ออุปมา ให้มหาบพิตรทรงสดับ ซึ่งวิญญูชนบางพวก จะรู้เนื้อความแห่งภาษิตได้ด้วยข้ออุปมา ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนข้าวเปลือกกองใหญ่ ซึ่งมีอยู่ไม่ไกลบ้าน หรือนิคมนัก ชนหมู่มาก ขนข้าวเปลือกออกจากกองนั้น ด้วยกระเช้าบ้าง ด้วยตระกร้าบ้าง ด้วยห่อพกบ้าง ด้วยกอบมือบ้าง

             ดูกรมหาบพิตร บุคคลผู้หนึ่งเข้าไปถามชนหมู่ใหญ่นั้นอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย ขนข้าวเปลือกนี้ มาจากไหน ดูกรมหาบพิตร มหาชนนั้นจะตอบอย่างไร จึงจะตอบได้ อย่างถูกต้อง

            ส. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ มหาชนนั้นพึงตอบให้ถูกต้องได้อย่างนี้ว่า พวกเราขน มาจากกองข้าวเปลือกกองใหญ่โน้น

            อุ. ดูกรมหาบพิตร ฉันนั้นเหมือนกันแล คำอันเป็นสุภาษิตทั้งหมด ล้วนเป็น พระดำรัสของพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ดังนั้นอาตมภาพ จึงชักเอาข้าวเปลือกมาถวายพระพร โดยเทียบเคียงสุภาษิต อันเป็นพระดำรัส ของ พระผู้มีพระภาคนั้น ขอถวายพระพร

            ส. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ไม่เคยมีมาแล้วที่ท่าน พระอุตตระ ได้กล่าวไว้เป็นอย่างดีดังนี้ว่า คำอันเป็นสุภาษิตทั้งหมด ล้วนเป็นพระดำรัส ของพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ดังนั้น อาตมภาพ จึงชักเอา ข้าวเปลือกมาถวายพระพร โดยเทียบเคียงสุภาษิต อันเป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค นั้น

            ท่านอุตตระผู้เจริญ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้เมืองราชคฤห์ เมื่อพระเทวทัตต์ หลีกไปแล้วไม่นาน ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงปรารภพระเทวทัตต์ ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นความดีแล้ว ที่ภิกษุพิจารณาเห็นความวิบัติของตนโดยกาลอันควร ฯลฯ

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเทวทัตต์ มีจิตอันอสัทธรรม ๘ ประการ*ครอบงำ ย่ำยีแล้ว ต้องไปเกิดในอบาย ในนรกอยู่ชั่วกัลป์ แก้ไขไม่ได้ อสัทธรรม ๘ประการ เป็นไฉน คือลาภ ... ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว

* อสัทธรรม ๘ ประการ คือ
ลาภ-เสื่อมลาภ/ ยศ-เสื่อมยศ/ สักการะ-เสื่อมสักการะ/ ปรารถนาลามก/ มีมิตรชั่ว

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเทวทัตต์ มีจิตอันอสัทธรรม ๘ ประการ นี้แลครอบงำ ย่ำยีแล้ว ต้องไปเกิดในอบาย ในนรกอยู่ชั่วกัลป์ แก้ไขไม่ได้

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นความดีแล้ว ที่ภิกษุครอบงำ ย่ำยีลาภที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นความดีแล้วที่ภิกษุ จะพึงครอบงำย่ำยีความเสื่อมลาภ ...ยศ ... ความเสื่อมยศ ... สักการะ ... ความเสื่อมสักการะ ... ความเป็นผู้ปรารถนาลามก ... ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว ที่เกิดขึ้นแล้ว

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร จึงครอบงำย่ำยีลาภ ที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ ภิกษุอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร จึงครอบงำย่ำยี ความเป็นผู้มี มิตรชั่ว ที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะว่าเมื่อภิกษุ ไม่ครอบงำย่ำยีลาภ ที่เกิดขึ้นแล้ว อาสวะ ที่ทำให้เกิดความคับแค้นเดือดร้อน พึงเกิดขึ้น

            เมื่อภิกษุครอบงำย่ำยีลาภ ที่เกิดขึ้นแล้ว อาสวะที่ทำให้เกิดความคับแค้น เดือดร้อนเหล่านั้น ย่อมไม่เกิด ... เพราะว่าเมื่อภิกษุไม่ครอบงำย่ำยี ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว ที่เกิดขึ้นแล้ว อาสวะที่ทำให้เกิดความคับแค้น เดือดร้อน พึงเกิดขึ้น เมื่อภิกษุครอบงำ ย่ำยี ความเป็นผู้มีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว อาสวะที่ทำให้เกิดความคับแค้น เดือดร้อน เหล่านั้น ย่อมไม่เกิด

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัย อำนาจประโยชน์นี้แล จึงควรครอบงำย่ำยีลาภ ที่เกิดขึ้นแล้ว ...จึงควรครอบงำย่ำยี ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว ที่เกิดขึ้นแล้ว

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลาย พึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลาย จักครอบงำย่ำยีลาภ ที่เกิดขึ้นแล้ว...จักครอบงำย่ำยีความเป็นผู้มีมิตรชั่ว ที่เกิดขึ้นแล้ว

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล

            ข้าแต่ท่านพระอุตตระผู้เจริญ ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ ในหมู่มนุษย์มีบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ธรรมบรรยายนี้ ก็หาได้ตั้งอยู่ในบริษัทหมู่ไหนไม่ ท่านผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้าอุตตระ จงเล่าเรียนธรรมบรรยายนี้ จงทรงจำธรรมบรรยาย นี้ไว้ด้วยว่า ธรรมบรรยายนี้ ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์


-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๔๗-๑๔๙

นันทสูตร
(ว่าด้วยพระนันทะ)

            [๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุจะเรียกนันทะให้ถูกต้อง พึงเรียกว่ากุลบุตร ว่าผู้มีกำลัง ผู้ก่อให้เกิดความเลื่อมใส ผู้มีราคะกล้า ดูกรภิกษุทั้งหลายข้อความนี้ ย่อมมีเพราะเหตุไร เพราะว่า นันทภิกษุคุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณ ในโภชนะ ประกอบความเพียร อันเป็นเหตุให้ตื่นอยู่เสมอ ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ อันเป็นเหตุให้นันทภิกษุ สามารถประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริบูรณ์ได้

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาเหตุเหล่านั้น ข้อนี้แลย่อมมีได้ เพราะนันทภิกษุ คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลาย

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย
หากนันทภิกษุพึงเหลียวไปทาง ทิศบูรพาไซร้ นันทภิกษุ ก็ย่อมสำรวมจิตทั้งปวงเหลียวดู ทิศบูรพา ด้วยคิดว่าเมื่อเรา เหลียวดูทิศบูรพาอย่างนี้ ธรรมอันเป็นบาปอกุศล คือ อภิชฌาและโทมนัส จักไม่ครอบงำ จิตเราได้ เธอย่อมเป็นผู้รู้สึกตัว ในการเหลียวดูนั้น ด้วยประการฉะนี้

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากนันทภิกษุ พึงเหลียวไปทางทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ทิศเบื้องต่ำ ทิศเบื้องบน พึงเหลียวแลไปตามทิศน้อย ทั้งหลายไซร้ นันทภิกษุ ย่อมสำรวมจิตทั้งปวงเหลียวไปทางทิศน้อย ด้วยคิดว่า เมื่อเราเหลียวแล ไปตามทิศ น้อยอย่างนี้ ธรรมอันเป็นบาปอกุศล คือ อภิชฌาแลโทมนัส จักไม่ครอบงำจิตเราได้เธอ ย่อมรู้สึกตัว ในการเหลียวแลนั้นด้วยประการฉะนี้

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลย่อมมีได้ เพราะนันทภิกษุ เป็นผู้คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลาย

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาเหตุเหล่านั้น ข้อนี้ย่อมมีได้ เพราะนันทภิกษุ เป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้ นันทภิกษุพิจารณา โดยอุบายอันแยบคาย แล้วจึงบริโภคอาหาร ไม่ใช่บริโภคเพื่อเล่น เพื่อมัวเมา เพื่อประดับ เพื่อตบแต่ง บริโภคเพียงเพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ เพื่อเยียวยาอัตตภาพ เพื่อขจัดความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยมนสิการว่า เราจักขจัดเวทนา เก่าเสีย จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความคล่องแคล่ว ความหาโทษมิได้ และความ อยู่ผาสุกจักมีแก่เราได้ ด้วยประการฉะนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลย่อมมีได้ เพราะ นันทภิกษุ เป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาเหตุเหล่านั้น ข้อนี้ย่อมมีได้ เพราะนันทภิกษุ เป็นผู้รู้จักประกอบความเพียร อันเป็นเหตุให้ตื่นอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้ ในตอนกลางวัน นันทภิกษุ ย่อมชำระจิตให้สะอาดจากธรรมเครื่องกั้นจิต ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่งตอนต้นปฐมยาม แห่งราตรี ชำระจิตให้สะอาดจากธรรม เครื่องกั้นจิต ด้วยการ จงกรม ด้วยการนั่ง ในมัชฌิมยามแห่งราตรี สำเร็จสีหไสยาสโดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้า เหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ กระทำความหมายในอันลุกขึ้นไว้ในใจ ในปัจฉิมยามแห่ง ราตรี ลุกขึ้นแล้ว ทำจิตให้สะอาดจากธรรม เครื่องกั้นจิต ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลย่อมมีได้ เพราะนันทภิกษุ หมั่นประกอบความเพียร อันเป็นเหตุให้ตื่นอยู่

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาเหตุเหล่านั้น ข้อนี้ย่อมมีได้ เพราะนันทภิกษุ มีสติ สัมปชัญญะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้นันทภิกษุ ทราบเวทนาที่เกิดขึ้น ที่ตั้งอยู่ ที่ถึงความดับไป นันทภิกษุ ทราบสัญญาที่เกิดขึ้น ที่ตั้งอยู่ ที่ถึงความดับไป นันทภิกษุ ทราบวิตกที่เกิดขึ้น ที่ตั้งอยู่ ที่ถึงความดับไป

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลย่อมมีได้ เพราะนันทภิกษุ มีสติสัมปชัญญะ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อความนี้ย่อมมีเพราะเหตุไร เพราะนันทภิกษุ คุ้มครอง ทวารในอินทรีย์ ทั้งหลาย รู้จักประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียร อันเป็นเหตุ ให้ตื่นอยู่ ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ อันเป็นเหตุให้นันทภิกษุ สามารถประพฤติ พรหมจรรย์ บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้


-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๔๙-๑๕๒

กรัณฑวสูตร
(ว่าด้วยสมณะหยากเยื่อ)

            [๑๐๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ที่ฝั่งสระโบกขรณี ชื่อคัครา ใกล้ นครจัมปา สมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย โจทภิกษุด้วยอาบัติ ภิกษุที่ถูกภิกษุ ทั้งหลาย โจทด้วยอาบัตินั้น เอาเรื่องอื่นๆมาพูดกลบเกลื่อน ชักเรื่องไปนอกทางเสีย แสดงความ โกรธเคือง และความไม่ยำเกรงให้ปรากฏ

            ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จงกำจัดบุคคลนั้นออกไป จงกำจัดบุคคลนั้นออกไป
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนชนิดนี้ต้อง ขับออก เป็นลูกนอกคอกกวนใจกระไร

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้ มีการก้าวไป การถอยกลับ การแล การเหลียว การคู้ การเหยียด การทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร เหมือนภิกษุ ผู้เจริญเหล่าอื่น ตราบเท่าที่ภิกษุทั้งหลาย ยังไม่เห็นอาบัติของเขา แต่เมื่อใด ภิกษุทั้งหลาย เห็นอาบัติของเขา เมื่อนั้นภิกษุทั้งหลาย ย่อมรู้จักเขาอย่างนี้ว่า ผู้นี้เป็นผู้ ประทุษร้ายสมณะ เป็นสมณะแกลบ เป็นสมณะหยากเยื่อ ครั้นรู้จักอย่างนี้แล้ว ย่อม นาสนะ ออกไปให้พ้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคิดว่าภิกษุนี้ อย่าประทุษร้าย ภิกษุที่ดี เหล่าอื่นเลย

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนหญ้าชนิดหนึ่ง ที่ทำลายต้นข้าว มีเมล็ดเหมือน ข้าวลีบ มีเมล็ดเหมือนข้าวตายรวง พึงเกิดขึ้นในนาข้าวที่สมบูรณ์ ราก ก้าน ใบของมัน เหมือนกับข้าวที่ดีเหล่าอื่น ตราบเท่าที่มันยังไม่ออกรวง แต่เมื่อใด มันออกรวง เมื่อนั้น จึงทราบกันว่า หญ้านี้ทำลายข้าว มีเมล็ดเหมือนข้าวลีบ มีเมล็ดเหมือนข้าวตายรวง ครั้นทราบอย่างนี้แล้ว เขาจึงถอนมันพร้อมทั้งราก เอาไปทิ้งให้พ้นที่นา ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะคิดว่า หญ้าชนิดนี้อย่าทำลายข้าวที่ดีอื่นๆ เลย ฉันใด

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้ มีการก้าวไป การถอยกลับ ฯลฯ เพราะคิดว่า ภิกษุนี้อย่าประทุษร้ายภิกษุที่ดี เหล่าอื่นเลย

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนกองข้าวเปลือก กองใหญ่ที่เขากำลังสาดอยู่ ในข้าวเปลือกกองนั้น ข้าวเปลือกที่เป็นตัว แกร่ง เป็นกองอยู่ส่วนหนึ่ง ส่วนที่หัก ลีบ ลมย่อมพัดไปไว้ส่วนหนึ่งเจ้าของ ย่อมเอาไม้กวาดวีข้าวที่หัก และลีบออกไป ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะคิดว่ามันอย่าปนข้าวเปลือกที่ดีอื่นๆ เลย ฉันใด

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้ มีการก้าวไป การถอยกลับ ฯลฯ เพราะคิดว่าภิกษุนี้อย่าประทุษร้ายภิกษุที่ดีเหล่าอื่นเลย

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคล ต้องการกระบอกตักน้ำ ถือขวานอันคม เข้าไป ในป่า เขาเอาสันขวานเคาะต้นไม้นั้นๆ บรรดาต้นไม้เหล่านั้น ต้นไม้ที่แข็ง มีแก่น ซึ่งถูกเคาะด้วยสันขวาน ย่อมมีเสียงหนัก ส่วนต้นไม้ที่ผุใน น้ำชุ่ม เกิดยุ่ยขึ้น ถูกเคาะด้วย สันขวาน ย่อมมีเสียงก้องเขา จึงตัดต้นไม้ที่ผุในนั้นที่โคน ครั้นตัดโคนแล้ว จึงตัดปลาย ครั้นตัดปลายแล้วจึงคว้านข้างในให้เรียบร้อย แล้วทำเป็นกระบอกตักน้ำ ฉันใด

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน แลบุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้ มีการ ก้าวไป การถอยกลับ การแล การเหลียว การคู้ การเหยียด การทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร เหมือนของภิกษุที่ดีเหล่าอื่น ตราบเท่าที่ภิกษุทั้งหลาย ยังไม่เห็นอาบัติของเขา แต่เมื่อใดภิกษุทั้งหลายเห็นอาบัติของเขา เมื่อนั้นภิกษุทั้งหลาย ย่อมรู้จักเขาอย่างนี้ว่า ผู้นี้เป็นผู้ประทุษร้ายสมณะ เป็นสมณะแกลบ เป็นสมณะหยากเยื่อ ครั้นรู้จักอย่างนี้แล้ว ย่อมนาสนะออกไปให้พ้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคิดว่า ภิกษุนี้อย่าประทุษร้ายภิกษุ ที่ดีเหล่าอื่นเลย

            เพราะการอยู่ร่วมกัน พึงรู้ได้ว่า ผู้นี้มีความปรารถนาลามก มักโกรธ มักลบลู่ หัวดื้อ ตีเสมอ ริษยา ตระหนี่ โอ้อวด บางคนในท่ามกลางประชุมชน พูดไพเราะ ดังพระ สมณะ พูดปิดบังความชั่วที่ตัวทำ มีความเห็นลามกไม่เอื้อเฟื้อ พูด เลอะเลือน พูดเท็จ

            เธอทั้งหลาย ทราบบุคคลนั้นว่าเป็นอย่างไรแล้ว จงพร้อมใจกันทั้งหมด ขับบุคคลนั้นเสีย จงกำจัด บุคคลที่เป็นดังหยากเหยื่อ จงถอนบุคคลที่เสียในออกเสีย แต่นั้น จงนำ คนแกลบ ผู้มิใช่สมณะแต่ยังนับว่าเป็นสมณะ ออกเสีย

            เธอทั้งหลาย เมื่อต้องอยู่ร่วมกับ คนดีและคนไม่ดี ครั้นกำจัดคน ที่มีความ ปรารถนา ลามก มีอาจาระและโคจร ลามก ออกแล้ว จงเป็นผู้มีสติ แต่นั้น เธอทั้งหลาย เป็นผู้พร้อมเพรียงกัน เป็นผู้มีปัญญา รักษาตน จักกระทำที่สุด ทุกข์ได้

 





หนังสือพุทธวจน ธรรมะของพระศาสดา
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์