พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖๘-๖๙
อัพยากตวรรคที่ ๑
อัพยากตสูตร
[๕๑] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเ ป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้ ความสงสัยในวัตถุ ที่พระองค์ ไม่ทรงพยากรณ์ ไม่เกิดขึ้นแก่อริยสาวก ผู้ได้สดับแล้ว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ เพราะทิฐิดับ ความสงสัยในวัตถุ ที่เราไม่ พยากรณ์ จึงไม่เกิดขึ้นแก่อริยสาวก ผู้ได้สดับแล้ว ดูกรภิกษุ ทิฐินี้ว่าสัตว์เบื้องหน้า แต่ตายแล้วย่อมเป็นอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เป็นอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตาย แล้ว ย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีก ก็หามิได้
ดูกรภิกษุ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมไม่รู้ชัดทิฐิ เหตุเกิดทิฐิ ความดับทิฐิปฏิปทา เครื่องให้ถึงความดับทิฐิ ทิฐินั้นเจริญแก่ปุถุชนนั้น เขาย่อมไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะย่อมทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า ไม่พ้นไปจากทุกข์ ส่วน อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมรู้ชัดทิฐิ เหตุเกิดทิฐิ ความดับทิฐิ ปฏิปทาเครื่องให้ถึง ความดับทิฐิ ทิฐิของอริยสาวกนั้นย่อมดับ
อริยสาวกนั้น ย่อมพ้นจากชาติ ชรา มรณะโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมพ้นไปจากทุกข์ ดูกรภิกษุอริยสาวกผู้ได้สดับ รู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่พยากรณ์ว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีก ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้
ดูกรภิกษุ อริยสาวกผู้ได้สดับ รู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเป็นผู้ไม่พยากรณ์ในวัตถุ ที่เราไม่พยากรณ์ เป็นธรรมดาอย่างนี้ อริยสาวกผู้ได้สดับ รู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่พรั่น ไม่หวั่น ไม่ไหว ไม่ถึงความสะดุ้งในวัตถุ ที่เราไม่พยากรณ์
ดูกรภิกษุ ความทะยานอยาก ความหมายรู้ ความสำคัญ ความซึมซาบความ ถือมั่นว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีก ..สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีก ก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ นี้เป็นความเดือดร้อนดูกรภิกษุ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมไม่รู้ชัดความเดือดร้อน เหตุเกิดความเดือดร้อน ความดับ ความเดือดร้อน ปฏิปทา เครื่องให้ถึงความดับความเดือดร้อน ความเดือดร้อน ย่อมเจริญแก่เขา เขาย่อมไม่พ้น ไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมไม่พ้น ไปจากทุกข์
ส่วนอริยสาวก ผู้ได้สดับ ย่อมรู้ชัดความเดือดร้อน เหตุเกิดความเดือดร้อน ความดับความเดือดร้อน ปฏิปทาเครื่องให้ถึง ความดับความเดือดร้อน ความเดือดร้อน ของอริยสาวกนั้นย่อมดับ ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับ รู้เห็นอยู่อย่างนี้แล ย่อมไม่พรั่น ไม่หวั่น ไม่ไหว ไม่ถึงความสะดุ้งในวัตถุที่เรา ไม่พยากรณ์
ดูกรภิกษุนี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้ถึงความสงสัยในวัตถุ ที่เราไม่ พยากรณ์ ไม่เกิดขึ้นแก่อริยสาวก ผู้ได้สดับ
จบสูตรที่ ๑
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก [ฉบับมหาจุฬาฯ] เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗๖-๗๙
สีหสูตร
[๕๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้พระนครเวสาลี ครั้งนั้นแล สีหเสนาบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์อาจทรงบัญญัติผลแห่งทาน ที่ประจักษ์ในปัจจุบัน ได้หรือไม่
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสีหะ ถ้าอย่างนั้น จักย้อนถามท่าน ในปัญหาข้อนี้ ก่อน ท่านพึงพยากรณ์ปัญหา ข้อนั้นตามชอบใจท่าน
ดูกรสีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ในเมืองเวสาลีนี้ มีบุรุษอยู่ ๒ คน คนหนึ่งไม่มีศรัทธาตระหนี่ ถี่เหนียว พูดเสียดสี คนหนึ่งมีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน
ดูกรสีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน พระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อจะอนุเคราะห์ พึงอนุเคราะห์ คนไหนก่อน จะเป็นคนไม่มีศรัทธา ตระหนี่ ถี่เหนียว พูดเสียดสี หรือคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน
สี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี พระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่ออนุเคราะห์ จักอนุเคราะห์คนนั้นก่อนอย่างไรได้ ส่วนคนที่มี ศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน พระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่ออนุเคราะห์ พึงอนุเคราะห์คนนั้น ก่อนเทียว
พ. ดูกรสีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน พระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อเข้าไป พึงเข้าไปหาใครก่อน จะเป็นคนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี หรือคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน
สี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี พระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อเข้าไปหา จักเข้าไปหาคนนั้นก่อนอย่างไรได้ ส่วนคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อเข้าไปหา พึงเข้าไปหาคนนั้นก่อนเทียว
พ. ดูกรสีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อรับ พึงรับของใครก่อน จะเป็นคนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี หรือคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน
สี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี พระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อรับ จักรับของคนนั้นก่อนอย่างไรได้ ส่วนคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อรับ พึงรับของคนนั้น ก่อนเทียว
พ. ดูกรสีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน พระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อแสดงธรรม พึงแสดงแก่คนไหนก่อน จะเป็นคนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี หรือคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน
สี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อแสดงธรรม จักแสดงแก่คนนั้นก่อนอย่างไรได้ ส่วนคนที่มี ศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อแสดงธรรม พึงแสดง แก่คนนั้นก่อนเทียว
พ. ดูกรสีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน กิตติศัพท์อันงามของคนไหน พึงขจรไป จะเป็นคนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี หรือคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน
สี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี กิตติศัพท์อันงาม ของคนนั้น จักขจรไปได้อย่างไร ส่วนคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน กิตติศัพท์อันงามของคนนั้น เทียวพึงขจรไป
พ. ดูกรสีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คนไหนที่จะพึงเข้าไปสู่บริษัท ใดๆ ก็ตาม เช่น กษัตริย์บริษัท พราหมณ์บริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท พึงเป็น ผู้แกล้วกล้า ไม่เก้อเขิน เข้าไป จะเป็นคนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี หรือคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดี ให้ความสนับสนุน
สี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี จักเข้าไปสู่บริษัทใดๆ ก็ตาม เช่น กษัตริย์บริษัท พราหมณ์บริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท จักเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่เก้อเขิน เข้าไปอย่างไรได้ ส่วนคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน เขาผู้นั้นพึงเข้าไปสู่บริษัทใดๆก็ตาม เช่น กษัตริย์บริษัท พราหมณ์บริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท พึงเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่เก้อเขิน เข้าไป
พ. ดูกรสีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คนไหนเมื่อตายไป จะพึง เข้าถึง สุคติโลกสวรรค์ จะเป็นคนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสีหรือคนที่มี ศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน
สี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี เมื่อตายไป จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์อย่างไรได้ ส่วนคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน เมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในผลแห่งทาน ๖ ประการ ที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน อันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว
ข้าพระองค์มิได้ดำเนินไป ด้วยความเชื่อต่อพระผู้มีพระภาค แม้ข้าพระองค์เอง ก็รู้ผลแห่งทานเหล่านี้ ข้าพระองค์เป็นทายก เป็นทานบดีพระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่ออนุเคราะห์ ย่อมอนุเคราะห์ข้าพระองค์ก่อน
เมื่อเข้าไปหา ย่อมเข้าไปหาข้าพระองค์ก่อน
เมื่อรับ ย่อมรับของข้าพระองค์ก่อน
เมื่อแสดงธรรม ย่อมแสดงแก่ข้าพระองค์ก่อน
กิตติศัพท์อันงามของข้าพระองค์ขจรไปแล้วว่า สีหเสนาบดีเป็นทายก เป็นการกบุคคล เป็นผู้อุปัฏฐากพระสงฆ์
ข้าพระองค์ผู้เป็นทายก เป็นทานบดี เข้าไปสู่บริษัทใดๆ ก็ตาม เช่น กษัตริย์ บริษัท พราหมณ์บริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่เก้อเขิน เข้าไปข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในผลแห่งทาน ๖ ประการที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน อันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว
ข้าพระองค์มิได้ดำเนินไป ด้วยความเชื่อต่อพระผู้มีพระภาค แม้ข้าพระองค์เอง ก็รู้ผลแห่งทานเหล่านี้ แต่พระผู้มีพระภาค ตรัสผลแห่งทานใด กะข้าพระองค์อย่างนี้ว่า
ดูกรสีหะ ทายก ทานบดี เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ข้าพระองค์ ยังไม่รู้ผลแห่งทานนั้น และในผลแห่งทานข้อนี้ ข้าพระองค์ ขอดำเนินไปด้วยความเชื่อ ต่อพระผู้มีพระภาค
พ. อย่างนั้น สีหะ อย่างนั้น สีหะ ดูกรสีหะ ทายก ทานบดี เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
จบสูตรที่ ๔
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก [ฉบับมหาจุฬาฯ] เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗๙-๘๐
รักขิตสูตร
[๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๔ ประการนี้ ตถาคตไม่ต้องรักษา และตถาคตไม่พึงถูกติเตียน ด้วยฐานะ ๓ ประการ
ฐานะ ๔ ประการที่ตถาคต ไม่ต้องรักษาเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย
๑.ตถาคตมีกายสมาจารบริสุทธิ์ ตถาคตไม่มีกายทุจริต ที่จะต้องรักษาว่าคนอื่น อย่ารู้ข้อนี้ ของเราเลย
๒.ตถาคตมีวจีสมาจารบริสุทธิ์ ตถาคตไม่มีวจีทุจริต ที่จะต้องรักษาว่าคนอื่น อย่ารู้ ข้อนี้ของเราเลย
๓.ตถาคตมีมโนสมาจารบริสุทธิ์ ไม่มีมโนทุจริต ที่จะต้องรักษาว่าคนอื่นอย่ารู้ ข้อนี้ของเราเลย
๔.ตถาคตมีอาชีวบริสุทธิ์ ไม่มีมิจฉาชีพ ที่จะต้องรักษาว่า คนอื่นอย่ารู้ข้อนี้ ของเราเลย
ฐานะ ๔ ประการนี้ ตถาคตไม่ต้องรักษา
ตถาคตไม่พึงถูกติเตียน ด้วยฐานะ ๓ ประการเป็นไฉน
๑.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตมีธรรมอันกล่าวดีแล้ว สมณะก็ดีพราหมณ์ก็ดี เทวดาก็ดี มารก็ดี พรหมก็ดี หรือใครๆ ในโลกก็ดี จักคัดค้านเราในธรรมนั้น โดยชอบธรรมว่า แม้เพราะเหตุนี้ ท่านมิใช่เป็นผู้มีธรรม อันกล่าวดีแล้ว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นนิมิตนั้น เมื่อไม่เห็น ย่อมถึงความเกษมไม่มีภัย มีความแกล้วกล้าอยู่
๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ปฏิปทา อันเป็นเครื่องยังสัตว์ ให้ถึงนิพพาน ที่สาวก ของเรา ผู้ปฏิบัติตามแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ อันเราบัญญัติ ไว้ดีแล้วแก่สาวกทั้งหลาย สมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี เทวดาก็ดี มารก็ดี พรหมก็ดี หรือ ใครๆ ในโลกก็ดี จักคัดค้านเราในปฏิปทานั้น โดยชอบธรรมว่า แม้เพราะเหตุนี้ ปฏิปทา อันเป็นเครื่องยังสัตว์ ให้ถึงนิพพาน ที่สาวกของท่านปฏิบัติแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้ง ซึ่งเจโตวิมุติ ฯลฯ ไม่เป็นปฏิปทา อันท่านบัญญัติไว้ดีแล้วแก่สาวก ทั้งหลาย
๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นนิมิตนั้น เมื่อไม่เห็น ย่อมถึงความเกษม ไม่มีภัย แกล้วกล้าอยู่ อนึ่ง สาวกบริษัทของเราเป็นร้อยๆ ย่อมกระทำให้แจ้ง ซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญา อันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ สมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี เทวดาก็ดี มารก็ดี พรหมก็ดี หรือใครๆ ในโลกก็ดี จักคัดค้านเราในข้อนั้นโดยชอบธรรมว่า
แม้เพราะเหตุนี้ สาวกบริษัทเป็นร้อยๆ ไม่ได้กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เราไม่เล็งเห็นนิมิตนั้น เมื่อไม่เห็น ย่อมถึงความเกษม ไม่มีภัย แกล้วกล้าอยู่ ตถาคตไม่พึงถูกติเตียนเพราะฐานะ ๓ ประการเหล่านี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๔ ประการนี้แลตถาคต ไม่จำเป็นต้องรักษา และ ตถาคต ไม่พึงถูกติเตียน ด้วยฐานะ ๓ ประการนี้แล
จบสูตรที่ ๕
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘๐-๘๑
กิมมิลสูตร
[๕๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน ใกล้เมืองกิมมิลา ครั้งนั้นแล ท่านพระกิมมิละ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่อง ให้สัทธรรมไม่ตั้งอยู่นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จ ปรินิพพานแล้ว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกิมมิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระศาสดา ... ในธรรม ... ในสงฆ์ ... ในสิกขา ... ในสมาธิ ... ในความไม่ประมาท... ในปฏิสันถาร
ดูกรกิมมิละ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้สัทธรรม ไม่ตั้งอยู่นาน ในเมื่อ ตถาคตปรินิพพานแล้ว
กิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้สัทธรรมตั้งอยู่นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว
พ. ดูกรกิมมิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกอุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความเคารพ มีความยำเกรงในพระศาสดา ...ในธรรม ... ในสงฆ์ ... ในสิกขา ... ในสมาธิ ... ในความไม่ประมาท ... ในปฏิสันถาร ดูกรกิมมิละ นี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัย เครื่องให้สัทธรรมตั้งอยู่นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว
จบสูตรที่ ๖
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘๑-๘๒
สัตตธรรมสูตร
[๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ ไม่นานนัก พึงกระทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลาย สิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ธรรม ๗ประการเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑.
เป็นผู้มีศรัทธา
๒.
มีศีล
๓.
เป็นพหูสูต
๔. เป็นผู้หลีกออกเร้น
๕. ปรารภความเพียร
๖. มีสติ
๗. มีปัญญา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล ไม่นานนัก พึงกระทำให้แจ้ง ซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะ ทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่
จบสูตรที่ ๗ |