พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๓๔-๑๓๕
เมตตสูตร
(ว่าด้วยอานิสงส์แห่งเมตตาเจโตวิมุตติ)
[๙๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ ฯ
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเมตตาเจโตวิมุติ อันบุคคลเสพแล้วโดยเอื้อเฟื้อ เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นที่ตั้ง หมั่นเจริญเนืองๆ สั่งสมไว้โดยรอบ ปรารภด้วยดี พึงหวังได้ อานิสงส์ ๘ ประการ ๘ ประการเป็นไฉน คือ
๑.หลับก็เป็นสุข
๒.ตื่นก็เป็นสุข
๓.ไม่ฝันเห็นสิ่งลามก
๔.เป็นที่รักของมนุษย์
๕.เป็นที่รักของอมนุษย์
๖.เทวดาย่อมรักษา
๗.ไฟ ยาพิษ หรือศาตราไม่กล้ำกรายผู้นั้น
๘.เมื่อแทงตลอดคุณธรรมที่สูงขึ้นไปยังไม่ได้ ย่อมไปบังเกิดในพรหมโลก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเมตตาเจโตวิมุติ อันบุคคลเสพแล้วโดยเอื้อเฟื้อ เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นที่ตั้ง หมั่นเจริญเนืองๆ สั่งสมไว้โดยรอบ ปรารภด้วยดี พึงหวังได้อานิสงส์ ๘ ประการนี้
ก็ผู้ใดมีสติมั่นคง เจริญเมตตาอันหาประมาณมิได้ สังโยชน์ของผู้นั้น ผู้เห็นธรรม เป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส ย่อมเบาบาง หากว่าเขาไม่มีจิตคิดประทุษร้ายสัตว์ แม้สัก ตัวเดียว เจริญ เมตตาจิตอยู่ เพราะเจริญเมตตาจิตนั้น ย่อมเป็นกุศล เขา มีใจอนุเคราะห์ หมู่สัตว์ ทั้งปวง เป็นผู้ประเสริฐ กระทำบุญมาก
พระราชาผู้ประกอบด้วยธรรมเช่นกับฤาษี ชำนะแผ่นดิน อันประกอบด้วยหมู่สัตว์ เจริญรอยตามกัน บูชายัญเหล่าใด คือ สัสสเมธ ความทรงพระปรีชาในการบำรุงพืชพันธ์ ธัญญาหาร ปุริสเมธ
ทรงพระปรีชาในการเกลี้ยกล่อม ประชาชน สัมมาปาสะ มีพระอัธยาศัย ดุจบ่วง คล้องน้ำใจ ประชาชน วาชเปยยะ มีพระวาจาเป็นที่ดูดดื่มน้ำใจคน ซึ่งมีผลคือทำให้นคร ไม่ต้องมีลิ่มกลอน มหายัญเหล่านั้น ทั้งหมด ยังไม่เทียบเท่าส่วนที่ ๑๖ แห่ง เมตตาจิต ที่บุคคล เจริญดีแล้ว ดุจกลุ่มดวงดาวทั้งหมด ไม่เทียบเท่าแสงจันทร์ ฉะนั้น
ผู้ใดมีเมตตาจิตในสรรพสัตว์ ไม่ฆ่า (สัตว์) เอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่ชนะเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นชนะ ผู้นั้น ย่อมไม่มีเวรกับใครๆ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๓๕-๑๓๙
ปัญญาสูตร
(ว่าด้วยเหตุปัจจัยที่ให้ได้ปัญญา)
[๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๘ ประการ ปัจจัย ๘ ประการนี้ ย่อมเป็นไป เพื่อได้ปัญญา อันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ที่ยังไม่ได้ เพื่อความงอกงามไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์ แห่งปัญญาที่ได้แล้ว
๘ ประการเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยพระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจรรย์ รูปใดรูปหนึ่ง ผู้ตั้งอยู่ในฐานะ ครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้งความละอาย ความเกรงกลัว ความรักและความเคารพไว้อย่าง แรงกล้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัย ข้อที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว
เธออาศัยพระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจรรย์ รูปใดรูปหนึ่ง ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้งความละอาย ความเกรงกลัว ความรัก และความเคารพไว้อย่าง แรงกล้านั้นแล้ว เธอเข้าไปหาแล้วไต่ถาม สอบถามเป็นครั้งคราวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตนี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งภาษิตนี้เป็นอย่างไร ท่านเหล่านั้น ย่อมเปิดเผย ข้อที่ยังไม่ได้เปิดเผย ทำให้แจ้งข้อที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง และบรรเทาความสงสัยในธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยหลายประการแก่เธอ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็น ปัจจัยข้อที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว
เธอฟังธรรมนั้นแล้ว ย่อมยังความสงบ ๒ อย่าง คือ ความสงบกาย และความ สงบจิต ให้ถึงพร้อม ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๓ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว
เธอเป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระ และโคจรมีปรกติ เห็นภัยในโทษ แม้มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯเพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว
เธอเป็นพหูสูต ทรงจำสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมากทรงจำไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลาย อันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๕ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญา ที่ได้แล้ว
เธอย่อมปรารภความเพียรเ พื่อละอกุศลธรรม เพื่อความพร้อมมูล แห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๖ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว
อนึ่ง เธอเข้าประชุมสงฆ์ ไม่พูดเรื่องต่างๆ ไม่พูดเรื่องไม่เป็นประโยชน์ ย่อม แสดงธรรมเองบ้าง ย่อมเชื้อเชิญผู้อื่นให้แสดงบ้าง ย่อมไม่ดูหมิ่น การนิ่งอย่าง พระอริยเจ้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๗ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว
อนึ่ง เธอพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่ารูปเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนาเป็นดังนี้ ... สัญญาเป็นดังนี้ ... สังขารทั้งหลายเป็นดังนี้ ... วิญญาณเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่ง วิญญาณเป็นดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลายนี้ เป็นเหตุเป็น ปัจจัยข้อที่ ๘ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา อันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ที่ยังไม่ได้ เพื่อความงอกงาม ไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว
เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญ ภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุนี้อาศัย พระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่ง ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้ง ความละอาย ความเกรงกลัว ความรัก และความเคารพไว้อย่างแรงกล้า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ ก็เป็นไปเพื่อความรัก ความเคารพ ความสรรเสริญ เพื่อการบำเพ็ญสมณธรรม เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้น อย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุนี้อาศัย พระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่ง ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้ง ความละอาย ความเกรงกลัว ความรัก และความเคารพไว้อย่างแรงกล้า ท่านได้เข้าไปหา แล้วไต่ถาม สอบถามเป็นครั้งคราวว่า ท่านผู้เจริญ ภาษิตนี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งภาษิตนี้เป็นอย่างไร ท่านเหล่านั้น ย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่เปิดเผย ย่อมทำให้แจ้งข้อที่ยังไม่ทำให้แจ้ง และย่อมบรรเทาความสงสัย ในธรรมอันเป็นที่ตั้ง แห่งความสงสัย หลายประการ แก่ภิกษุนั้น ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็น สิ่งที่ควรเห็น เป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ก็เป็นไปเพื่อความรัก ...เพื่อความเป็นน้ำหนึ่ง ใจเดียวกัน
อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ได้ฟังธรรมแล้ว ย่อมยังความสงบ ๒ อย่าง คือ ความสงบกาย และความสงบจิต ให้ถึงพร้อม ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็นเป็นแน่แท้ แม้ธรรม ข้อนี้ ก็เป็นไปเพื่อความรัก ... เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้น อย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ เป็นผู้มีศีล ... สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ก็เป็นไปเพื่อความรัก ... เพื่อความเป็น น้ำหนึ่งใจเดียวกัน
อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้น อย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ เป็นพหูสูต ... แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ท่านผู้มีอายุนี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ ควรเห็น เป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ก็เป็นไปเพื่อความรัก ... เพื่อความเป็นน้ำหนึ่ง ใจเดียวกัน
อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ปรารภความเพียร ... ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย ท่านผู้มีอายุผู้นี้ย่อมรู้สิ่ง ที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ก็เป็นไปเพื่อความรัก ... เพื่อความ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้น อย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ เข้าประชุมสงฆ์ ... ไม่ดูหมิ่นความนิ่งอย่างพระอริยเจ้า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ ก็เป็นไปเพื่อความรัก ...เพื่อความเป็น น้ำหนึ่งใจเดียวกัน
อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้น อย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไป ในอุปาทานขันธ์ ๕ ... ความดับแห่ง วิญญาณ เป็นดังนี้ ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็นเป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ ก็ย่อมเป็นไปเพื่อความรัก ความเคารพ ความสรรเสริญ เพื่อการบำเพ็ญ สมณธรรม เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
ดูกรภิกษุทั้งหลายเหตุ ๘ ประการ ปัจจัย ๘ ประการนี้แล ย่อมเป็นไป เพื่อได้ ปัญญา อันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ที่ยังไม่ได้ เพื่อความงอกงาม ไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๓๙
อัปปิยสูตรที่ ๑
(ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้เป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก สูตร ๑)
[๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่สรรเสริญของเพื่อน
พรหมจรรย์ ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้สรรเสริญผู้ไม่เป็นที่รัก ๑
ติเตียนผู้เป็นที่รัก ๑
มุ่งลาภ ๑
มุ่งสักการะ ๑
ไม่มีความละอาย ๑
ไม่มีความเกรงกลัว ๑
มีความปรารถนาลามก ๑
มีความเห็นผิด ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่สรรเสริญ ของเพื่อนพรหมจรรย์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่สรรเสริญ ของเพื่อนพรหมจรรย์
ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ไม่สรรเสริญผู้ที่ไม่เป็นที่รัก ๑
ไม่ติเตียนผู้ไม่เป็นที่รัก ๑
ไม่มุ่งลาภ ๑
ไม่มุ่ง
สักการะ ๑
มีความละอาย ๑
มีความเกรงกลัว ๑
มักน้อย ๑
มีความเห็นชอบ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่สรรเสริญ ของเพื่อนพรหมจรรย์
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๓๙-๑๔๐
อัปปิยสูตรที่ ๒
(ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้เป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก สูตร ๒)
[๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่สรรเสริญของเพื่อนพรหมจรรย์
ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้มุ่งลาภ ๑
มุ่งสักการะ ๑
มุ่งความมีชื่อเสียง ๑
ไม่รู้จักกาล ๑
ไม่รู้จักประมาณ ๑
ไม่สะอาด ๑
ชอบพูดมาก ๑
มักด่าบริภาษเพื่อนพรหมจรรย์ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมไม่เป็นที่รัก ฯลฯ และไม่เป็นที่สรรเสริญของเพื่อนพรหมจรรย์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่สรรเสริญของเพื่อนพรหมจรรย์
ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุในธรรมวินัยนี้
ไม่เป็นผู้มุ่งลาภ ๑
ไม่เป็นผู้มุ่งสักการะ ๑
ไม่เป็นผู้มุ่งความมีชื่อเสียง ๑
เป็นผู้รู้จักกาล ๑
เป็นผู้รู้จักประมาณ ๑
เป็นคนสะอาด ๑
ไม่ชอบพูดมาก ๑
ไม่ด่าบริภาษเพื่อนพรหมจรรย์ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมเป็นที่รัก ฯลฯ และเป็นที่สรรเสริญของเพื่อนพรหมจรรย์ |