เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

มหายัญญวรรคที่ ๕ : จิตตสูตร ปริกขารสูตร อัคคิสูตร สัญญาสูตร เมถุนสูตร... 1962
 


รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. จิตตสูตร (เรื่องวิญญาณฐิติ)
๒. ปริกขารสูตร (องค์แห่งสมาธิ ๗ ประการ)
๓. อัคคิสูตรที่ ๑ (ไฟ ๗ กอง)
๔. อัคคิสูตรที่ ๒ (เรื่องการบูชายัญ)
๕. สัญญาสูตรที่ ๑ (สัญญา ๗ ประการ)
๖. สัญญาสูตรที่ ๒ (สัญญา ๗ ประการ กระทำให้มาก ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก)
๗. เมถุนสูตร (ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์)
๘. สังโยคสูตร (ธรรมบรรยาย อันเป็นสังโยคะ และ วิสังโยคะ)
๙. ทานสูตร (การให้ทานที่ได้อานิสงส์มาก)
๑๐. มาตาสูตร (ธรรมอันน่าอัศจรรย์ของนันทมารดา)

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 
สารบาญพระไตรปิฎก
เล่มที่ ๘-๓๓ (๒๕ เล่ม) ทุกพระสูตร
1. ฉบับหลวง
2. ฉบับมหาจุฬาฯ
3. อรรถกถาไทย
4. ฉบับภาษาบาลี
5. อรรถกถา-บาลี
6. Pali Roman (Roman Script)
7. Atthakatha PaliRoman
 

 


 


1
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๓
มหายัญญวรรคที่ ๕

จิตตสูตร

             [๔๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณฐิติ ๗ ประการ นี้ ๗ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย

             สัตว์บางพวก มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน เหมือนมนุษย์ เทวดาบางพวก และวินิปาติกสัตว์บางพวก นี้เป็นวิญญาณฐิติข้อที่ ๑

             สัตว์บางพวก มีกายต่างกัน แต่มีสัญญาอย่างเดียวกันเหมือนเทวดา ชั้นพรหมกายิกา ผู้เกิดในภูมิปฐมฌาน นี้เป็นวิญญาณฐิติข้อที่ ๒

             สัตว์บางพวก มีกายอย่างเดียวกัน แต่มีสัญญาต่างกัน เหมือนเทวดา ชั้นอาภัสสระนี้ เป็นวิญญาณฐิติข้อที่ ๓

             สัตว์บางพวก มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกันเหมือนเทวดา ชั้นสุภกิณหะ นี้เป็นวิญญาณฐิติข้อที่ ๔

             สัตว์บางพวก เข้าถึงอากาสานัญจายตนะ โดยมนสิการว่า อากาศไม่มีที่สุด เพราะล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะดับปฏิฆสัญญาเสียได้ ไม่ใส่ใจถึง นานัตตสัญญา นี้เป็นวิญญาณฐิติข้อที่ ๕

             สัตว์บางพวก เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะ โดยมนสิการว่า วิญญาณไม่มีที่สุด เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิญญาณฐิติข้อที่ ๖

             สัตว์บางพวก เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ โดยมนสิการว่าไม่มีอะไรๆ เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิญญาณฐิติข้อที่ ๗

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณฐิติ ๗ ประการนี้แล

จบสูตรที่ ๑

---------------------------------------------------------------------------------------------------------
2
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๓-๔๔

ปริกขารสูตร

             [๔๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย องค์แห่งสมาธิ ๗ ประการ นี้ ๗ ประการเป็นไฉน คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ
๒. สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา
๔. สัมมากัมมันตะ
๕. สัมมาอาชีวะ
๖. สัมมาวายามะ
๗. สัมมาสติ


             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เอกัคคตาจิต ประกอบด้วยองค์ ๗ ประการนี้ เรียกว่า อริยสมาธิ ที่เป็นไปกับด้วยอุปนิสัยก็มี ที่เป็นไปกับด้วยบริขารก็มี

จบสูตรที่ ๒

---------------------------------------------------------------------------------------------------------
3
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๔

อัคคิสูตรที่ ๑

             [๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฟ ๗ กอง นี้ ๗ กองเป็นไฉน คือ
๑. ไฟคือราคะ
๒. ไฟคือโทสะ
๓. ไฟคือโมหะ
๔. ไฟคืออาหุไนยบุคคล
๕. ไฟคือคหบดี
๖. ไฟคือทักขิไณย บุคคล
๗. ไฟเกิดแต่ไม้

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฟ ๗ กองนี้แล

จบสูตรที่ ๓


---------------------------------------------------------------------------------------------------------
4
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๔-๔๗

อัคคิสูตรที่ ๒

             [๔๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล อุคคตสรีรพราหมณ์ ตระเตรียม มหายัญ โคผู้ ๕๐๐ ลูกโคผู้ ๕๐๐ ลูกโคเมีย ๕๐๐ แพะ ๕๐๐ แกะ ๕๐๐ ถูกนำเข้าไป ผูกไว้ที่หลัก เพื่อบูชายัญ

             ลำดับนั้น อุคคตสรีรพราหมณ์ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาดังนี้ว่า การก่อไฟ การปักหลักบูชายัญ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์ มาก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

             ดูกรพราหมณ์ แม้เราก็ได้ฟังมาว่า การก่อไฟ การปักหลักบูชายัญ มีผลมาก มีอานิสงส์มาก แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ อุคคตสรีรพราหมณ์ ก็ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาดังนี้ว่า การก่อไฟ การปักหลักบูชายัญ มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ฯ

             พ. ดูกรพราหมณ์ แม้เราก็ได้ฟังมาว่า การก่อไฟ การปักหลักบูชายัญมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ฯ

             อุ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้อความทั้งหมดของข้าพระองค์ สมกันกับข้อความ ของท่านพระโคดม ฯ

             เมื่ออุคคตสรีรพราหมณ์ กราบทูลอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ ได้กล่าวกะ อุคคตสรีรพราหมณ์ว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านไม่ควรถามพระตถาคตอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาดังนี้ว่า การก่อไฟ การปักหลักบูชายัญ มีผลมาก มีอานิสงส์มาก แต่ท่านควรถาม พระตถาคต อย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ข้าพระองค์ประสงค์จะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ขอพระผู้มีพระภาค โปรดตักเตือนสั่งสอน ข้อที่จะพึงเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนาน แก่ข้าพระองค์เถิด

             ลำดับนั้น อุคคตสรีรพราหมณ์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดม ผู้เจริญ ข้าพระองค์ประสงค์จะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญขอท่านพระโคดม โปรดตักเตือน สั่งสอน ข้อที่จะพึงเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุข ตลอดกาลนาน แก่ข้าพระองค์เถิด

             พ. ดูกรพราหมณ์ บุคคลเมื่อจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ในการบูชายัญเบื้องต้น ย่อมเงื้อศาตรา ๓ ชนิด อันเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ศาตรา ๓ ชนิดเป็นไฉน คือ ศาตราทางกาย ๑ ศาตราทางวาจา ๑ ศาตราทางใจ ๑

             ดูกรพราหมณ์ บุคคลเมื่อจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ในการบูชายัญเบื้องต้น ทีเดียว ย่อมเกิดความคิดอย่างนี้ว่า ต้องฆ่าโคผู้เท่านี้ตัว ลูกโคผู้เท่านี้ตัวลูกโคเมีย เท่านี้ตัว แพะเท่านี้ตัว แกะเท่านี้ตัว เพื่อบูชายัญ เขาคิดว่าจะทำบุญ แต่กลับทำบาป คิดว่าจะทำกุศล กลับทำอกุศล คิดว่าจะแสวงหาทางสุคติ กลับแสวงหาทางทุคติ

             ดูกรพราหมณ์ บุคคลเมื่อจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ในการบูชายัญเบื้องต้น ทีเดียว ย่อมเงื้อศาตราทางใจข้อที่ ๑ นี้ อันเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไรมีทุกข์เป็นวิบาก

             อีกประการหนึ่ง บุคคลเมื่อจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ในการบูชายัญเบื้องต้น ที่เดียว ย่อมกล่าววาจา (สั่ง) อย่างนี้ว่า จงฆ่าโคผู้เท่านี้ตัว ลูกโคผู้เท่านี้ ตัวลูกโคเมีย เท่านี้ตัว แพะเท่านี้ตัว แกะเท่านี้ตัว เพื่อบูชายัญ เขาสั่งว่าจะทำบุญกลับทำบาป เขาสั่งว่าจะทำกุศล กลับทำอกุศล เขาสั่งว่าจะแสวงหาทางสุคติกลับแสวงหาทางทุคติ

             ดูกรพราหมณ์ เมื่อบุคคลจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ในการบูชายัญ เบื้องต้น ทีเดียว ย่อมเงื้อศาตราทางวาจาข้อที่ ๒ นี้ อันเป็นอกุศลมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็น วิบาก

             อีกประการหนึ่ง บุคคลเมื่อจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ในการบูชายัญเบื้องต้น ทีเดียว ย่อมลงมือด้วยตนเองก่อน คือต้องฆ่าโคผู้ ลูกโคผู้ ลูกโคเมียแพะ แกะ เพื่อ บูชายัญ เขาลงมือว่าจะทำบุญ กลับทำบาป ลงมือว่าจะทำกุศล กลับทำอกุศล ลงมือว่า จะแสวงหาทางสุคติ กลับแสวงหาทางทุคติ

             ดูกรพราหมณ์ บุคคลเมื่อจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ในการบูชายัญ เบื้องต้น ทีเดียวย่อมเงื้อศาตราทางกายข้อที่ ๓ นี้ อันเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก

             ดูกรพราหมณ์ บุคคลเมื่อจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ในการบูชายัญ เบื้องต้น ทีเดียว ย่อมเงื้อศาตรา ๓ อย่างนี้ อันเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ดูกรพราหมณ์ ท่านพึงละ พึงเว้น ไม่พึงเสพไฟ ๓ กองนี้ ๓ กองเป็นไฉนไฟคือราคะ ๑ ไฟคือโทสะ ๑ ไฟคือโมหะ ๑

             ดูกรพราหมณ์ ก็เพราะเหตุไรจึงพึงละพึงเว้น ไม่พึงเสพไฟคือราคะนี้ เพราะ บุคคล ผู้กำหนัด อันราคะครอบงำย่ำยีจิต ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจได้ ครั้นประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจาทางใจแล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฉะนั้น จึงพึงละพึงเว้น ไม่พึงเสพไฟคือราคะนี้

             ก็เพราะเหตุไร จึงพึงละพึงเว้น ไม่พึงเสพไฟคือผู้โกรธ อันโทสะครอบงำ ย่ำยีจิต ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจได้โทสะนี้ เพราะบุคคล ครั้น ประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฉะนั้น จึงพึงละ พึงเว้น ไม่พึงเสพไฟคือโทสะนี้

             ก็เพราะเหตุไร จึงพึงละ พึงเว้น ไม่พึงเสพไฟคือโมหะนี้ เพราะบุคคลผู้หลง อันโมหะครอบงำย่ำยีจิต ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจได้ ครั้นประพฤติ ทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติวินิบาต นรก ฉะนั้น จึงพึงละ พึงเว้น ไม่พึงเสพไฟคือโมหะนี้

             ดูกรพราหมณ์ท่านพึงละ พึงเว้น ไม่พึงเสพไฟ ๓ กองนี้แล

             ดูกรพราหมณ์ ไฟ ๓ กองนี้ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา บริหารให้เป็นสุข โดยชอบ ๓ กองเป็นไฉนคือ
ไฟคือ อาหุไนยบุคคล ๑
ไฟคือคหบดี ๑
ไฟคือทักขิไณยบุคคล ๑

             ดูกรพราหมณ์ ก็ไฟคืออาหุไนยบุคคลเป็นไฉน

             ดูกรพราหมณ์ คนในโลกนี้ คือมารดาหรือบิดา เรียกว่าไฟ คืออาหุไนยบุคคล ข้อนั้นเพราะอะไร เพราะบุคคลเกิดมาแต่มารดาบิดานี้ ฉะนั้น ไฟคืออาหุไนยบุคคล จึงควรสักการะ เคารพนับถือ บูชา บริหารให้เป็นสุขโดยชอบ ก็ไฟคือคหบดีเป็นไฉน คนในโลกนี้คือ บุตร ภรรยา ทาส หรือคนใช้ นี้เรียกว่าไฟคือคหบดี ฉะนั้น ไฟคือคหบดี จึงควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา บริหารให้เป็นสุขโดยชอบ

             ก็ไฟคือทักขิไณยบุคคล เป็นไฉน สมณพราหมณ์ในโลกนี้ งดเว้นจากความ มัวเมา ประมาท ตั้งอยู่ในขันติและโสรัจจะ ฝึกฝนจิตใจให้สงบ ดับร้อนได้เป็นเอก นี้เรียกว่าไฟคือทักขิไณยบุคคล ฉะนั้น ไฟคือทักขิไณยบุคคลนี้ จึงควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา บริหารให้เป็นสุขโดยชอบ ดูกรพราหมณ์ ไฟ ๓ กองนี้แลควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา บริหารให้เป็นสุขโดยชอบ ส่วนไฟที่เกิดแต่ไม้ พึงก่อให้โพลงขึ้น พึงเพ่งดู พึงดับ พึงเก็บไว้ตามกาลที่สมควร ฯ

             เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อุคคตสรีรพราหมณ์ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมผู้เจริญ โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้จะปล่อยโคผู้ ๕๐๐ลูกโคผู้ ๕๐๐ ลูกโคเมีย ๕๐๐ แพะ ๕๐๐ แกะ ๕๐๐ ให้ชีวิตมัน พวกมันจะได้พากันไปกินหญ้า อันเขียวสด ดื่มน้ำเย็นสะอาด และรับลมอันเย็นสดชื่น

จบสูตรที่ ๔

---------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๘
5
สัญญาสูตรที่ ๑

             [๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๗ ประการ นี้ อันภิกษุเจริญแล้วกระทำ ให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด
๗ ประการเป็นไฉน คือ
๑.อสุภสัญญา
๒.มรณสัญญา
๓.อาหาเรปฏิกูลสัญญา
๔.สัพพโลเกอนภิรตสัญญา
๕.อนิจจสัญญา
๖.อนิจเจทุกขสัญญา
๗.ทุกเขอนัตตสัญญา

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๗ ประการนี้แล อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มาก แล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด

จบสูตรที่ ๕

---------------------------------------------------------------------------------------------------------
6
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๘-๕๔

สัญญาสูตรที่ ๒

             [๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๗ ประการนี้ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำ ให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด
๗ ประการ เป็นไฉน คือ
๑.อสุภสัญญา
๒.มรณสัญญา
๓.อาหาเรปฏิกูลสัญญา
๔.สัพพโลเกอนภิรตสัญญา
๕.อนิจจสัญญา
๖.อนิจเจทุกขสัญญา
๗.ทุกเขอนัตตสัญญา

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า อสุภสัญญา อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำ ให้มาก ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้ว เพราะอาศัยอะไร

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมีใจอันอบรมแล้ว ด้วยอสุภสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับจากการร่วมเมถุนธรรม ไม่ยื่นไปรับการร่วม เมถุนธรรม อุเบกขาหรือความ เป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ เปรียบเหมือนขนไก่ หรือ เส้นเอ็น ที่เขาใส่ลงในไฟ ย่อมหดงอเข้าหากัน ไม่คลี่ออก ฉะนั้น

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุมีใจอบรมแล้ว ด้วยอสุภสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมไหลไปในการร่วมเมถุนธรรม หรือความเป็นของไม่ปฏิกูล ตั้งอยู่ไซร้ ภิกษุพึงทราบ ข้อนั้น ดังนี้ว่า อสุภสัญญาอันเราไม่เจริญแล้ว คุณวิเศษทั้งเบื้องต้น และ เบื้องปลาย ของเราก็ไม่มี ผลแห่งภาวนาของเราไม่ถึงที่ เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้น จึงต้องเป็นผู้รู้ทั่วถึง ในอสุภสัญญานั้น

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าหากว่า เมื่อภิกษุมีใจอันอบรมแล้ว ด้วยอสุภสัญญาอยู่ โดยมากจิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับ จากการร่วมเมถุนธรรม ไม่ยื่นไปรับ การร่วมเมถุนธรรม อุเบกขา หรือความเป็นของปฏิกูล ย่อมตั้งอยู่ไซร้ ภิกษุพึงทราบ ข้อนั้นดังนี้ว่า อสุภสัญญาอันเราเจริญแล้ว คุณวิเศษทั้งเบื้องต้น และเบื้องปลายของเรา มีอยู่ ผลแห่งภาวนาของเรา ถึงที่แล้ว เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้รู้ทั่วถึง ใน อสุภสัญญา นั้น ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสุภสัญญาอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผล มาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้

             ก็ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย มรณสัญญาอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมีใจอันอบรมแล้ว ด้วยมรณสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับจากการรักชีวิต ไม่ยื่นไปรับความรักชีวิต อุเบกขา หรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ เปรียบเหมือนขนไก่หรือเส้นเอ็น ที่เขาใส่ลงในไฟ ย่อมหดงอเข้าหากันไม่คลี่ออกฉะนั้น

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุมีใจอันไม่อบรมแล้ว ด้วยมรณสัญญาอยู่ โดยมาก จิตย่อมไหลไปในความรักชีวิต หรือความเป็นของไม่ปฏิกูล ย่อมตั้งอยู่ไซร้ ภิกษุ พึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า มรณสัญญาอันเราไม่เจริญแล้ว คุณวิเศษทั้งเบื้องต้น และ เบื้องปลาย ของเราก็ไม่มี ผลแห่งภาวนาของเรายังไม่ถึงที่ เพราะฉะนั้นภิกษุนั้น จึงต้องเป็นผู้รู้ทั่วถึงใน มรณสัญญานั้น

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าเมื่อภิกษุมีใจอันอบรมแล้ว ด้วยมรณสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับจากการรักชีวิต ไม่ยื่นไปรับความรักชีวิต อุเบกขา หรือความเป็นของปฏิกูล ย่อมตั้งอยู่ไซร้ ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า มรณสัญญาอันเรา เจริญแล้ว คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลาย ของเรามีอยู่ ผลแห่งภาวนา ของเรา ถึงที่แล้ว เพราะฉะนั้นภิกษุนั้น เป็นผู้รู้ทั่วถึงใน มรณสัญญานั้น

             ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า มรณสัญญาอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผล มาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะมีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้

             ก็ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาหาเรปฏิกูลสัญญา อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมีใจอัน อบรมแล้ว ด้วยอาหาเรปฏิกูลสัญญา อยู่โดยมาก จิตย่อมหวนกลับ งอกลับถอย กลับจากตัณหาในรส ไม่ยื่นไปรับตัณหาในรส อุเบกขาหรือความเป็น ของปฏิกูล ย่อมตั้งอยู่ เปรียบเหมือนขนไก่ หรือเส้นเอ็นที่เขาใส่ลงในไฟ ย่อมหดงอเข้าหากัน ไม่คลี่ออก ฉะนั้น

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุ มีใจอันอบรมแล้วด้วย อาหาเรปฏิกูลสัญญา อยู่โดยมาก จิตย่อมไหลไปในตัณหาในรส หรือความเป็นของไม่ปฏิกูล ย่อมตั้งอยู่ไซร้ ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า อาหาเรปฏิกูลสัญญา อันเราไม่ได้เจริญแล้ว คุณวิเศษ ทั้งเบื้องต้น และเบื้องปลายของเราไม่มี ผลแห่งภาวนาของเรายังไม่ถึงที่ เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงต้องเป็นผู้รู้ทั่วถึง ในอาหาเรปฏิกูลสัญญานั้น

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าเมื่อภิกษุมีใจอันอบรมแล้ว ด้วยอาหาเรปฏิกูลสัญญา อยู่โดยมาก จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับจากตัณหาในรส ไม่ยื่นไปรับตัณหาในรส อุเบกขาหรือความเป็นของ ปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ไซร้ ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า อาหาเรปฏิกูลสัญญา อันเราเจริญแล้ว คุณวิเศษทั้งเบื้องต้น และเบื้องปลายของเรามีอยู่ ผลแห่งภาวนาของเรา ถึงที่แล้ว เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นเป็นผู้รู้ทั่วถึงในอาหา เรปฏิกูลสัญญา นั้น ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาหาเรปฏิกูลสัญญา อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้ว เพราะอาศัยข้อนี้

             ก็ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัพพโลเกอนภิรตสัญญา อันภิกษุ เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก อานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะ เป็นที่สุด เรากล่าวแล้ว เพราะอาศัยอะไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมีใจอันอบรมแล้ว ด้วยสัพพโลเกอนภิรตสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับจาก ความวิจิตร แห่งโลก ไม่ยื่นไปรับความวิจิตรแห่งโลกอุเบกขา หรือความเป็นของ ปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ เปรียบเหมือนขนไก่ หรือเส้นเอ็นที่เขาใส่ลงในไฟ ย่อมหดงอเข้าหากัน ไม่คลี่ออก ฉะนั้น

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุมีใจ อันไม่อบรมแล้ว ด้วยสัพพโลเกอนภิรตสัญญา อยู่โดยมาก จิตย่อมไหลไปในความวิจิตรแห่งโลก หรือความเป็นของไม่ปฏิกูล ย่อมตั้งอยู่ไซร้ ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า สัพพโลเกอนภิรตสัญญา อันเราไม่เจริญแล้ว คุณวิเศษทั้งเบื้องต้น และเบื้องปลาย ของเรา ก็ไม่มี ผลแห่งภาวนาของเรา ยังไม่ถึงที่ เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงต้องเป็นผู้รู้ ทั่วถึง ในสัพพโลเกอนภิรตสัญญานั้น

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าหากว่าเมื่อภิกษุ มีใจอันอบรมแล้ว ด้วยสัพพโลเกอนภิรตสัญญา อยู่โดยมาก จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับจากความ วิจิตรแห่งโลก ไม่ยื่นไปรับความวิจิตรแห่งโลก อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูล ย่อมตั้งอยู่ไซร้ ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า สัพพโลเกอนภิรตสัญญา อันเราเจริญแล้ว คุณวิเศษทั้งเบื้องต้น และเบื้องปลายของเรามีอยู่ ผลแห่งภาวนาของเราถึงที่แล้ว เพราะฉะนั้นภิกษุนั้นจึงเป็นผู้รู้ทั่วถึง ในสัพพโลเกอนภิรตสัญญานั้น ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัพพโลเกอนภิรตสัญญา อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มาก แล้วย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้วเพราะ อาศัยข้อนี้ ฯ

             ก็ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนิจจสัญญาอันภิกษุเจริญแล้วกระทำ ให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้ว เพราะอาศัยอะไร

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีใจอันอบรมแล้วด้วยอนิจจสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อม หวนกลับ งอกลับ ถอยกลับ ไม่ยื่นไปรับในลาภสักการะ และความสรรเสริญ อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูล ย่อมตั้งอยู่ เปรียบเหมือนขนไก่ หรือเส้นเอ็น ที่เขาใส่ลงในไฟ ย่อมหดงอเข้าหากัน ไม่คลี่ออก ฉะนั้น

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุมีใจอันอบรมแล้ว ด้วยอนิจจสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมไหลไปในลาภสักการะ และความสรรเสริญ หรือความเป็นของไม่ปฏิกูล ย่อมตั้ง อยู่ไซร้ ภิกษุพึงทราบข้อนั้น ดังนี้ว่า อนิจจสัญญาอันเราไม่เจริญแล้ว คุณวิเศษทั้ง เบื้องต้น เบื้องปลายของเรา ไม่มีผลแห่งภาวนาของเรายังไม่ถึงที่ เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้น จึงต้องเป็นผู้รู้ทั่วถึง ในอนิจจสัญญานั้น

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุมีใจอันอบรมแล้ว ด้วยอนิจจสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับ ไม่ยื่นไปรับลาภ สักการะและความสรรเสริญ อุเบกขา หรือความเป็นของปฏิกูล ย่อมตั้งอยู่ไซร้ ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า อนิจจสัญญา อันเราเจริญแล้ว คุณวิเศษทั้งเบื้องต้น และเบื้องปลายของเรามีอยู่ ผลแห่งภาวนาของเราถึงที่แล้ว เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงเป็นผู้รู้ทั่วถึง ในอนิจจสัญญานั้น ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนิจจสัญญาอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมี ผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้

             ก็ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนิจเจทุกขสัญญา อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีใจอันอบรมแล้ว ด้วยอนิจเจทุกขสัญญาอยู่โดยมาก ภยสัญญา (ความสำคัญเป็นภัย) อย่างแรงกล้าในความเฉื่อยชา ในความเกียจคร้าน ในความท้อถอย ในความประมาท ในการไม่ประกอบความเพียร ในการไม่พิจารณา ย่อมปรากฏ เปรียบเหมือนความสำคัญว่าเป็นภัย ย่อมปรากฏในเมื่อเพชฌฆาต เงื้อดาบขึ้น ฉะนั้น

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุมีใจอันอบรมแล้ว ด้วยอนิจเจทุกขสัญญาอยู่ โดยมาก ภยสัญญาอย่างแรงกล้าในความเฉื่อยชา ในความเกียจคร้าน ในความท้อถอย ในความประมาท ในการไม่ประกอบความเพียร ในการไม่พิจารณา ย่อมไม่ปรากฏ เปรียบเหมือน ความสำคัญว่าเป็นภัย ย่อมไม่ปรากฏในเมื่อเพชฌฆาต เงื้อดาบขึ้นฉะนั้น ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า อนิจเจทุกขสัญญาอันเราไม่เจริญแล้ว คุณวิเศษทั้งเบื้องต้น และเบื้องปลายของเราไม่มี ผลแห่งภาวนาของเรา ยังไม่ถึงที่ เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้น จึงต้องเป็นผู้รู้ทั่วถึง ในอนิจเจทุกขสัญญานั้น

             ดูกรภิกษุทั้งหลายก็ถ้าว่า เมื่อภิกษุมีใจอันอบรมแล้ว ด้วยอนิจเจทุกขสัญญา อยู่โดยมาก ภยสัญญาอย่างแรงกล้า ในความเฉื่อยชา ในความเกียจคร้าน ในความ ท้อถอย ในความประมาท ในการไม่ประกอบความเพียร ในการไม่พิจารณา ย่อมปรากฏ เหมือนความสำคัญว่าเป็นภัย ย่อมปรากฏใน เมื่อเพชฌฆาตเงื้อดาบขึ้น ฉะนั้นไซร้ภิกษุ พึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า อนิจเจทุกขสัญญา อันเราเจริญแล้ว คุณวิเศษทั้งเบื้องต้น เบื้องปลายของเรามีอยู่ ผลแห่งภาวนาของเรา ถึงที่แล้ว เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงเป็นผู้รู้ ทั่วถึง ในอนิจเจทุกขสัญญานั้น ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนิจเจทุกขสัญญา อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้ว เพราะอาศัย ข้อนี้

             ก็ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุกเขอนัตตสัญญา อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะมีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้ว เพราะอาศัยอะไร

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมีใจอันอบรมแล้ว ด้วยทุกเขอนัตตสัญญา อยู่โดยมาก ย่อมมีใจปราศจากทิฐิว่า เราตัณหาว่าของเรา และมานะทั้งในร่างกาย ที่มีใจครองนี้ และสรรพนิมิตในภายนอกเสียได้ ก้าวล่วงกิเลส ๓ ประการ สงบระงับ หลุดพ้นได้เป็นอย่างดี

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุมีใจ อันอบรมแล้วด้วย ทุกเขอนัตตสัญญา อยู่โดยมาก ใจย่อมไม่ปราศจากทิฐิว่าเรา ตัณหาว่าของเรา และมานะทั้งในร่างกาย ที่มีใจครองนี้ และสรรพนิมิตในภายนอก ไม่ก้าวล่วงกิเลส ๓ ประการ ไม่สงบระงับ ยังไม่หลุดพ้นด้วยดีไซร้

             ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า ทุกเขอนัตตสัญญา อันเราไม่เจริญแล้ว คุณวิเศษ ทั้งเบื้องต้น และเบื้องปลายของเราก็ไม่มี ผลแห่งภาวนาของเรายังไม่ถึงที่ เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงต้องเป็นผู้รู้ทั่วถึง ในทุกเขอนัตตสัญญานั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าว่า เมื่อภิกษุมีใจอันอบรมแล้วด้วย ทุกเขอนัตตสัญญา อยู่โดยมาก ย่อมมีใจปราศจาก ทิฐิว่าเรา ตัณหาว่าของเรา และมานะทั้งในร่างกาย ที่มีใจครองนี้และสรรพนิมิต ในภายนอกเสียได้ ก้าวล่วงกิเลส ๓ ประการ สงบระงับ หลุดพ้นได้เป็นอย่างดีไซร้

             ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า ทุกเขอนัตตสัญญา อันเราเจริญแล้ว กระทำ ให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้ว เพราะอาศัยข้อนี้

             ดูกรภิกษุทั้งหลายสัญญา ๗ ประการนี้แล อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มาก แล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด

จบสูตรที่ ๖

---------------------------------------------------------------------------------------------------------
7
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๕๔-๕๗

เมถุนสูตร

             [๔๗] ครั้งนั้นแล ชานุสโสณีพราหมณ์ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึง กันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า แม้ท่านพระโคดมก็ทรงปฏิญาณ ว่าเป็นพรหมจารีหรือ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

             ดูกรพราหมณ์ บุคคลเมื่อจะกล่าวโดยชอบ พึงกล่าวผู้ใดว่าประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย บริสุทธิ์ บริบูรณ์ บุคคลนั้น เมื่อจะกล่าวโดยชอบ พึงกล่าวเรานั่นแล เพราะเราประพฤติพรหมจรรย์ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย บริสุทธิ์ บริบูรณ์เต็มที่

             ชา. ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็อะไรชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์

             พ. ดูกรพราหมณ์ ถูกแล้ว สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญาณว่า เป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ๆ กับมาตุคาม แต่ยังยินดีการขัดสี ลูบไล้ ให้อาบน้ำ และนวดฟั้นของมาตุคาม พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจ ด้วยการบำเรอนั้น แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์

             ดูกรพราหมณ์ ผู้นี้เรากล่าวว่า ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่บริสุทธิ์ ประกอบด้วย เมถุนสังโยค ไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า ไม่หลุดพ้นไปจากกองทุกข์ได้

             ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญาณ ตน ว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ๆ กับมาตุคาม และไม่ยินดีการขัดสี ลูบไล้ ให้อาบน้ำ และการนวดฟั้นของมาตุคาม แต่ยังกระซิกกระซี้ เล่นหัว สัพยอก กับ มาตุคาม พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจด้วยการเสสรวลนั้น แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์ ฯลฯ

             ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญาณ ตน ว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ๆ กับมาตุคาม และไม่กระซิกกระซี้ เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคาม แต่เพ่งดู จ้องดูจักษุแห่งมาตุคาม ด้วยจักษุของตน พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจด้วยการเล็งแลนั้น แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่ง พรหมจรรย์ ฯลฯ

             ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญาณตน ว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ๆ กับมาตุคาม ไม่กระซิกกระซี้ เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคามและไม่เพ่งดู จ้องดูจักษุแห่งมาตุคาม ด้วยจักษุของตน แต่ได้ฟังเสียงมาตุคามหัวเราะอยู่ก็ดี ขับร้องอยู่ก็ดี ร้องไห้อยู่ก็ดี ข้างนอกฝาก็ดี ข้างนอกกำแพงก็ดี พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจด้วยเสียงนั้นแม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์ ฯลฯ

             ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญาณตน ว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ๆ กับมาตุคาม ไม่กระซิกกระซี้ เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคาม ไม่เพ่งดู จ้องดูจักษุแห่งมาตุคาม ด้วยจักษุของตน และไม่ได้ฟังเสียงแห่งมาตุคามหัวเราะอยู่ก็ดี พูดอยู่ก็ดี ขับร้องอยู่ก็ดีร้องไห้อยู่ก็ดี ข้างนอกฝาก็ดี ข้างนอกกำแพงก็ดี แต่ตามนึกถึงการ หัวเราะ พูดเล่นหัว กับมาตุคาม ในกาลก่อน พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจด้วยอาการนั้น แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์ ฯลฯ

             ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญาณตนว่า เป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ๆ กับมาตุคาม ไม่กระซิกกระซี้ เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคาม ไม่เพ่งดู จ้องดูจักษุแห่งมาตุคาม ด้วยจักษุของตน ไม่ได้ฟังเสียงแห่งมาตุคามหัวเราะอยู่ก็ดี พูดอยู่ก็ดี ขับร้องอยู่ก็ดี ร้องไห้อยู่ก็ดี ข้างนอกฝาก็ดี ข้างนอกกำแพงก็ดี และไม่ได้ตามนึกถึงการหัวเราะ การพูด การเล่นหัวกับมาตุคามในกาลก่อน แต่ได้เห็นคฤหบดีก็ดี บุตรแห่งคฤหบดีก็ดี ผู้เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำเรอตนอยู่ พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจ ด้วยการบำเรอนั้น แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์ ฯลฯ

             ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญาณตนว่า เป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ๆ กับมาตุคาม ไม่กระซิกกระซี้ เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคาม ไม่เพ่งดู จ้องดูจักษุมาตุคาม ด้วยจักษุของตนเอง ไม่ได้ฟังเสียงแห่งมาตุคาม หัวเราะอยู่ก็ดี พูดอยู่ก็ดี ขับร้องอยู่ก็ดี ร้องไห้อยู่ก็ดี ข้างนอกฝาก็ดี ข้างนอกกำแพงก็ดี ไม่ได้ตามนึกถึงการหัวเราะ การพูด การเล่นหัว กับมาตุคามในกาลก่อน และไม่ได้เห็นคฤหบดีก็ดี บุตรแห่งคฤหบดีก็ดีผู้เอิบอิ่ม พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำเรอตนอยู่ แต่ประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งปรารถนาเพื่อเป็น เทพเจ้า หรือเทพองค์ใดองค์หนึ่งว่า เราจักได้เป็นเทพเจ้า หรือเทพองค์ใดองค์หนึ่ง ด้วยศีล พรต ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้ พอใจ ชอบใจถึงความปลื้มใจ ด้วยความปรารถนา นั้น แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อยแห่งพรหมจรรย์

             ดูกรพราหมณ์ ผู้นี้เรากล่าวว่า ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ประกอบด้วย เมถุนสังโยค ไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า ไม่หลุดพ้นไปจากกองทุกข์ได้

             ดูกรพราหมณ์ เรายังพิจารณาเห็นเมถุนสังโยค ๗ ประการนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง ว่า ยังละไม่ได้ในตน เพียงใด เราก็ยังไม่ปฏิญาณว่า เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมา สัมโพธิญาณ ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้ง สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น

             แต่เมื่อใด เราไม่พิจารณาเห็นเมถุนสังโยค ๗ ประการนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งว่า ยังละไม่ได้ในตนเมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณว่า เป็นผู้ตรัสรู้ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้ง สมณพราหมณ์ เทวดาและ มนุษย์ ก็ญาณทัสสนะ เกิดขึ้นแก่เราว่า วิมุติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้มีในที่สุด บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก ฯ

             เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสอย่างนี้แล้ว ชานุสโสณีพราหมณ์ ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาค ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมผู้เจริญ โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ

จบสูตรที่ ๗

---------------------------------------------------------------------------------------------------------
8
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๕๗-๕๙

สังโยคสูตร

             [๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมบรรยาย อันเป็น สังโยคะ ทั้ง
วิสังโยคะ แก่เธอทั้งหลาย เ
ธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมบรรยาย อันเป็นสังโยคะ ทั้งวิสังโยคะเป็นไฉน

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็หญิงย่อมสนใจสภาพแห่งหญิงในภายใน กิริยา ท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจเสียง และเครื่องประดับของหญิง เขาย่อมยินดี พอใจ ในสภาพ ของตนนั้นๆ เขายินดี พอใจในสภาพของตนนั้นๆ แล้ว ย่อมสนใจถึงสภาพของชาย ในภายนอก กิริยา ท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจ เสียง และเครื่องประดับของชาย ย่อมยินดี พอใจใน สภาพ ของชายนั้นๆ เขายินดี พอใจในสภาพของชายนั้นๆ แล้ว ย่อมมุ่งหวังการสมาคม กับชาย และสุขโสมนัสที่เกิดเพราะการสมาคมกับชายเป็นเหตุ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ผู้พอใจในภาวะแห่งหญิง ก็ถึงความเกี่ยวข้องในชาย ด้วยอาการอย่างนี้แล หญิงจึงไม่ล่วงพ้นภาวะแห่งหญิงไปได้

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชายย่อมสนใจสภาพแห่งชาย ในภายใน กิริยา ท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจ เสียงและเครื่องประดับของชาย เขาย่อมยินดี พอใจในสภาพ ของตน เขายินดีพอใจ ในสภาพของตนนั้นๆ แล้ว ย่อมสนใจถึงสภาพของหญิง ในภายนอก กิริยา ท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจ เสียง และเครื่องประดับของหญิง ย่อมยินดี พอใจในสภาพของหญิงนั้นๆ แล้วย่อมมุ่งหวัง การสมาคมกับหญิง และสุข โสมนัส ที่เกิด เพราะการสมาคมกับหญิงเป็นเหตุ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ผู้พอใจในภาวะแห่งชาย ก็ถึงความเกี่ยวข้องในหญิง ด้วยอาการอย่างนี้แล ชายจึงไม่ล่วงพ้นภาวะแห่งชายไปได้

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเกี่ยวข้องย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้แล

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนความไม่เกี่ยวข้องเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลายหญิง ย่อมไม่สนใจในสภาพของหญิงในภายใน กิริยา ท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจ เสียง และเครื่องประดับ ของหญิง เขาไม่ยินดี ไม่พอใจในสภาพแห่งหญิง ย่อมไม่สนใจถึง สภาพ แห่งชายในภายนอก กิริยา ท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจ เสียงและเครื่อง ประดับแห่งชาย เขาไม่ยินดี ไม่พอใจในสภาพแห่งชายนั้นๆ แล้ว ย่อมไม่มุ่งหวัง การสมาคม กับชายในภายนอก และสุขโสมนัสที่เกิด เพราะการสมาคมกับชาย

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ผู้ไม่พอใจในสภาพแห่งหญิง ก็ถึงความไม่เกี่ยวข้อง ในชาย ด้วยอาการอย่างนี้แล หญิงจึงล่วงพ้นสภาพแห่งหญิงไปได้

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชายย่อมไม่สนใจในสภาพแห่งชาย กิริยา ท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจ เสียงและเครื่องประดับของชาย เขาไม่ยินดี ไม่พอใจในสภาพ แห่งชายนั้นๆ แล้ว ย่อมไม่สนใจถึงสภาพ แห่งหญิง ในภายนอก กิริยาท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจ เสียงและเครื่องประดับของหญิง เขาไม่ยินดีไม่พอใจในสภาพ แห่งหญิงนั้นๆ แล้ว ย่อมไม่มุ่งหวังการสมาคม กับหญิงในภายนอก และสุขโสมนัสที่เกิด เพราะการสมาคมนั้นเป็นเหตุ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ผู้ไม่พอใจในสภาพแห่งชาย ก็ถึงความไม่เกี่ยวข้อง ในหญิง ด้วยอาการอย่างนี้แล ชายจึงล่วงพ้นภาวะแห่งชายไปได้

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความไม่เกี่ยวข้อง ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลชื่อว่าธรรมบรรยาย อันเป็นทั้งสังโยคะ และวิสังโยคะ

จบสูตรที่ ๘

---------------------------------------------------------------------------------------------------------
9
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๕๙-๖๓

ทานสูตร

             [๔๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ที่ฝั่งสระโบกขรณีชื่อ คัคคราใกล้ จัมปานคร ครั้งนั้นแล อุบาสกชาว เมืองจัมปามากด้วยกัน เข้าไปหาท่านพระสารีบุตร ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะ ท่านพระสารีบุตรว่า

             ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมีกถาเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาค พวกกระผม ได้ฟังมานานแล้ว ขอได้โปรดเถิด พวกกระผมพึงได้ฟังธรรมีกถา ของพระผู้มีพระภาค ท่านพระสารีบุตร กล่าวว่า

             ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้นท่านทั้งหลาย พึงมาในวันอุโบสถ ท่านทั้งหลาย พึงได้ฟังธรรมีกถา ในสำนักพระผู้มีพระภาคแน่นอน อุบาสกชาวเมือง จัมปา รับคำท่านพระสารีบุตร แล้วลุกจากที่นั่ง อภิวาทกระทำประทักษิณ แล้วหลีกไป ต่อมา ถึงวันอุโบสถ อุบาสกชาวเมืองจัมปา พากันเข้าไปหาพระสารีบุตรถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง

             ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรพร้อมด้วย อุบาสกชาวเมืองจัมปา เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานเช่นนั้นนั่นแล ที่บุคคลบางคน ในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก พึงมีหรือหนอแล และทานเช่นนั้นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก พึงมีหรือพระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

             ดูกรสารีบุตร ทานเช่นนั้นนั่นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก พึงมี และทานเช่นนั้นนั่นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก พึงมี

             สา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้ทานเช่นนั้น แล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มากอะไรหนอ เป็นเหตุเป็น ปัจจัย เครื่องให้ทานเช่นนั้นนั่นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก

             พ. ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ยังมีความหวังให้ทาน มีจิตผูกพันในผล ให้ทาน มุ่งการสั่งสมให้ทาน ให้ทานด้วยคิดว่า เราตายไปจักได้เสวยผลทานนี้ เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีป และเครื่องอุปกรณ์ แก่สมณะหรือพราหมณ์ ดูกรสารีบุตร เธอจะสำคัญความ ข้อนั้น เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ พึงให้ทานเห็นปานนี้หรือ

             สา. อย่างนั้น พระเจ้าข้า

             พ. ดูกรสารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลมีความหวังให้ทาน มีจิตผูกพันในผล ให้ทาน มุ่งการสั่งสมให้ทาน ให้ทานด้วยคิดว่าตายไปแล้ว จักได้เสวยผลทานนี้ เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหา ยแห่งเทวดา ชั้นจาตุมมหาราช สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้

             ดูกรสารีบุตร ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่มีหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผล ให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทานไม่คิดว่า ตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้ แล้วให้ทาน แต่ให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีปและเครื่องอุปกรณ์ แก่สมณะ หรือพราหมณ์

             ดูกรสารีบุตร เธอจะสำคัญความ ข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ พึงให้ ทาน เห็นปานนี้หรือ

             สา. อย่างนั้น พระเจ้าข้า

             พ. ดูกรสารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพัน ในผลให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า ตายไปแล้วจักได้เสวยผล ทานนี้ แต่ให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึง ความเป็นสหาย แห่งเทวดา ชั้นดาวดึงส์ เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้

             ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการ ดี แต่ให้ทานด้วยคิดว่า บิดามารดาปู่ย่าตายายเคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสีย ประเพณี เขาให้ทาน คือ ข้าว ฯลฯ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหาย แห่งเทวดาชั้นยามา เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ แล้วยังเป็นผู้ กลับมา คือมาสู่ความเป็น อย่างนี้

             ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า บิดามารดา ปู่ย่าตายาย เคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากิน สมณะและพราหมณ์เหล่านี้ ไม่หุงหากิน เราหุงหากินได้จะไม่ให้ทาน แก่สมณะหรือพราหมณ์ ผู้ไม่หุงหาไม่สมควร เขาให้ทาน คือ ข้าว ฯลฯ ย่อมเข้าถึง ความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดุสิต เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศหมดความเป็นใหญ่ แล้วยังเป็นผู้กลับมาคือมาสู่ความเป็นอย่างนี้

             ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่าเราหุง หากิน ได้ สมณะและพราหมณ์เหล่านี้ หุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะ หรือพราหมณ์ผู้หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนก แจกทาน เหมือนฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษีวามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตร ฤาษี ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษีวาเสฏฐฤาษี กัสสปฤาษี และภคุฤาษี บูชามหายัญ ฉะนั้น เขาให้ทาน คือข้าว ฯลฯ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหาย แห่งเทวดา ชั้นนิมมานรดี เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้วยังเป็นผู้กลับมาคือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้

             ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้ จำแนกแจกทาน เหมือนอย่างฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี ฯลฯและภคุฤาษี แต่ให้ ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจและโสมนัส เขาให้ทาน คือข้าว ฯลฯ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมาคือมาสู่ความเป็น อย่างนี้

             ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเรา ให้ทาน อย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจและโสมนัส แต่ให้ทานเป็นเครื่องประดับ จิต เป็นบริขาร ของจิต เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอมเครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีปและเครื่องอุปกรณ์ แก่สมณะหรือพราหมณ์ดูกรสารีบุตร เธอจะ สำคัญความ ข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ พึงให้ทานเห็นปานนี้หรือ

             สา. อย่างนั้น พระเจ้าข้า

             พ. ดูกรสารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลผู้ไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพัน ในผลให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราตายไปแล้ว จักได้เสวย ผลทานนี้

             ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า การให้ทานเป็นการดีไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า บิดา มารดา ปู่ย่าตายาย เคยให้เคยทำมา เราไม่ควรทำให้เสียประเพณี

             ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากินได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านี้ หุงหากิน ไม่ได้ จะไม่ให้ทานแก่ผู้ที่หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร

             ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เหมือนอย่างฤาษี แต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษีวามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตรฤาษี ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี วาเสฏฐฤาษี กัสสปฤาษี และภคุฤาษี ผู้บูชามหายัญ ฉะนั้น

             และไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานนี้ จิตจะเลื่อมใส จะเกิดความ ปลื้มใจ และโสมนัส แต่ให้ทานเป็นเครื่องประดับจิต เป็นบริขารของจิต

             เขาให้ทานเช่นนั้นแล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึง ความเป็นสหาย แห่งเทวดา ชั้นพรหม เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศหมด ความเป็นใหญ่แล้ว เป็นผู้ไม่ต้องกลับมา คือ ไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้

             ดูกรสารีบุตร นี้แลเหตุปัจจัย เป็นเครื่องให้ทานเช่นนั้น ที่บุคคลบางคน ในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก และเป็นเครื่องให้ทานเช่นนั้น ที่บุคคล บางคน ในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก

จบสูตรที่ ๙

---------------------------------------------------------------------------------------------------------
10
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖๓-๖๗

มาตาสูตร

             [๕๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตร และท่านมหาโมคคัลลานะ จาริกไปใน ทักษิณาคีรีชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ก็สมัยนั้นแล นันทมารดา อุบาสิกา ชาวเมืองเวฬุกัณฏกะ ลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่ง สวดปารายนสูตร ทำนองสรภัญญะ สมัยนั้น ท้าวเวสสวัณมหาราช มีกรณียกิจบางอย่าง เสด็จจากทิศอุดร ไปยังทิศทักษิณ ได้ทรงสดับ นันทมารดา อุบาสิกาสวดปารายนสูตร ทำนองสรภัญญะ ประทับรอฟังจนจบ

             ขณะนั้น นันทมารดาอุบาสิกา สวดปารายนสูตรทำนอง สรภัญญะ จบแล้วนิ่งอยู่ ท้าวเวสสวัณมหาราช ทรงทราบว่า กถาของนันทมารดา อุบาสิกาจบแล้ว จึงทรง อนุโมทนาว่า สาธุ พี่หญิง สาธุ พี่หญิง นันทมารดาอุบาสิกาถามว่า

             ดูกรท่านผู้มีพักตร์อันเจริญ ท่านนี้คือใครเล่า

             เว. ดูกรพี่หญิงเราคือ ท้าวเวสสวัณมหาราช ภาดาของเธอ(พี่ชายที่เป็นเทวดา)

             น. ดูกรท่านผู้มีพักตร์อันเจริญ ดีละ ถ้าเช่นนั้น ขอธรรมบรรยาย ที่ดิฉันสวดแล้ว นี้เป็นเครื่องต้อนรับแด่ท่าน

             เว. ดูกรพี่หญิง ดีแล้ว นั่นจงเป็นเครื่องต้อนรับแก่ฉัน พรุ่งนี้ภิกษุสงฆ์มีท่าน พระสารีบุตร และท่านมหาโมคคัลลานะ เป็นประมุข ยังไม่ได้ฉันเช้า จักมาถึง เวฬุกัณฏกนคร เธอพึงอังคาสภิกษุสงฆ์ หมู่นั้น แล้วพึงอุทิศทักษิณาทาน ให้ฉันด้วย ก็การทำอย่างนี้ จักเป็นเครื่องต้อนรับฉัน (เทวดาพยากรณ์ล่วงหน้าการมาของพระโมค และ พระสารีบุตร)

             ลำดับนั้น ครั้นล่วงราตรีนั้นไป นันทมารดาอุบาสิกา สั่งบุรุษผู้หนึ่ง ให้จัดแจง ขาทนียโภชนียาหาร อันประณีตไว้ในนิเวศน์ของตน ครั้งนั้น ภิกษุสงฆ์มีท่านพระสารีบุตร และท่านพระโมคคัลลานะ เป็นประมุข ยังไม่ได้ฉันเช้า เดินทางมาถึงเวฬุกัณฏกนคร นันทมารดาอุบาสิกา จึงเรียกบุรุษผู้หนึ่งมาสั่งว่า

             ดูกรบุรุษผู้เจริญ มาเถิดท่าน จงไปยังอาราม บอกภัตตกาล แด่ภิกษุสงฆ์ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กาลนี้เป็นภัตตกาล ภัตตาหารในนิเวศน์ ของแม่เจ้า นันทมารดา สำเร็จแล้ว บุรุษนั้นรับคำนันทมารดา อุบาสิกาแล้ว ไปยังอาราม บอกภัตตกาล แก่ภิกษุสงฆ์ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กาลนี้เป็นภัตตกาล ภัตตาหารในนิเวศน์ ของแม่เจ้า นันทมารดาสำเร็จแล้ว

             ครั้งนั้น เวลาเช้า ภิกษุสงฆ์มีท่านพระสารีบุตร และท่านพระโมคคัลลานะ เป็นประมุข นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ ของนันทมารดาอุบาสิกา นั่งเหนือ อาสนะ ที่เขาจัดไว้ ลำดับนั้น นันทมารดาอุบาสิกา อังคาสภิกษุสงฆ์ มีท่านพระสารีบุตร และท่านพระโมคคัลลานะ เป็นประมุข ให้อิ่มหนำสำราญ ด้วยขาทนียโภชนียาหาร อันประณีต ด้วยมือของตน ครั้นทราบว่า ท่านพระสารีบุตรฉันเสร็จ ลดมือลงจากบาตร แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งครั้นแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้ถามว่า

             ดูกรนันทมารดา ใครบอกกาลมาถึง ของภิกษุสงฆ์แก่ท่านเล่า

            (1)  นันทมารดา อุบาสิกา กราบเรียนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอโอกาสเจ้าค่ะ ดิฉันลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่ง สวดปารายนสูตร ทำนองสรภัญญะ จบแล้วนิ่งอยู่ ลำดับนั้น ท้าวเวสสวัณมหาราช ทราบถึงการจบคาถาของดิฉัน แล้วทรงอนุโมทนาว่า สาธุ พี่หญิง สาธุ พี่หญิง ดิฉันถามว่า

             ดูกรท่านผู้มีพักตร์อันเจริญ ท่านนี้คือใครเล่า ท้าวเวสสวัณตอบว่า ดูกรพี่หญิง เราคือท้าวเวสสวัณมหาราช ภาดา(พี่ชาย) ของเธอ ดิฉันกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีพักตร์ อันเจริญ ดีละถ้าเช่นนั้น ขอธรรมบรรยาย ที่ดิฉันสวดแล้วนี้ จงเป็นเครื่องต้อนรับแด่ท่าน ท้าวเวสสวัณกล่าวว่า ดูกรพี่หญิง ดีแล้ว นั่นจงเป็นเครื่องต้อนรับฉันด้วย พรุ่งนี้ภิกษุสงฆ์ มีท่าน พระสารีบุตร และท่านพระโมคคัลลานะเป็นประมุข ยังไม่ได้ฉันเช้าจักมา ถึง เวฬุกัณฏกนคร เธอพึงอังคาสภิกษุสงฆ์หมู่นั้น แล้วพึงอุทิศทักษิณาทาน ให้ฉันด้วย ก็การทำอย่างนี้ จักเป็นเครื่องต้อนรับฉัน ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กิจที่นับว่าเป็นบุญในทาน ทั้งนี้ จงเป็นไป เพื่อความสุข แด่ท้าวเวสสวัณมหาราชเถิด

             สา. ดูกรนันทมารดา น่าอัศจรรย์ ดูกรนันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้ว ที่ท่านเจรจา กันต่อหน้าได้ กับ ท้าวเวสสวัณมหาราช ซึ่งเป็นเทพบุตรผู้มีฤทธิ์ มีศักดิ์มากอย่างนี้

            (2) น. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว มิใช่เพียง เท่านี้ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว แม้ข้ออื่นยังมีอีก ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันมีบุตรน้อยอยู่คนหนึ่ง ชื่อนันทะ เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจพระราชา ได้ข่มขี่ปลงเธอ เสียจากชีวิตใน เพราะเหตุเพียงนิดหน่อย
             ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อบุตรของดิฉันนั้น ถูกจับแล้วก็ดี ถูกประหารแล้วก็ดี กำลังถูกจับก็ดี ถูกฆ่าแล้วก็ดี กำลังจะถูกฆ่าก็ดี ถูกประหารแล้วก็ดี กำลังจะถูกประหาร ก็ดี ดิฉันไม่รู้สึกความเปลี่ยนแปลงแห่งจิตเลย
             สา. ดูกรนันทมารดา น่าอัศจรรย์ ดูกรนันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้วที่ท่านชำระ แม้เพียง จิตตุปบาทให้บริสุทธิ์

           (3)  น. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว มิใช่เพียง เท่านี้ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว แม้ข้ออื่นยังมีอีก ข้าแต่ท่านผู้เจริญ สามีของดิฉัน กระทำกาละแล้ว เกิดเป็นยักษ์ตนหนึ่ง มาแสดงตนแก่ดิฉัน ด้วยรูปร่าง อย่างครั้งก่อนนั้นทีเดียว ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันไม่รู้สึกความเปลี่ยนแปลงแห่งจิต เพราะข้อนั้นเป็นเหตุเลย
             สา. ดูกรนันทมารดา น่าอัศจรรย์ ดูกรนันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้วที่ท่าน ชำระ แม้เพียงจิตตุปบาทให้บริสุทธิ์

          (4)   น. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว มิใช่เพียง เท่านี้ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว แม้ข้ออื่นยังมีอีก ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันยังสาว ถูกส่งตัวมาให้แก่สามีหนุ่ม ไม่เคยคิดที่จะนอกใจเลย ไฉนจะประพฤติ นอกใจ ด้วยกายเล่า
             สา. ดูกรนันทมารดา น่าอัศจรรย์ ดูกรนันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้ว ที่ท่านชำระ แม้เพียงจิตตุปบาทให้บริสุทธิ์

          (5)   น. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว มิใช่เพียง เท่านี้ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว แม้ข้ออื่นยังมีอีก ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อดิฉันแสดงตน เป็นอุบาสิกาแล้ว ไม่รู้สึกว่าได้แกล้งล่วงสิกขาบทอะไรๆ เลย              สา. ดูกรนันทมารดา น่าอัศจรรย์ ดูกรนันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้วที่ท่านชำระ แม้เพียงจิตตุปบาทให้บริสุทธิ์

           (6)  น. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว มิใช่เพียง เท่านี้ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว แม้ข้ออื่นยังมีอีกข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉัน หวังอยู่ เพียงใด ดิฉันสงัดจากกาม สงัดอกุศลธรรมเข้าปฐมฌาน มีวิตก วิจาร มีปีติ และ สุข เกิดแต่วิเวกอยู่ เข้าทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอก ผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุข เกิดจากสมาธิอยู่ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป เข้าตติยฌาน ที่พระอริยเจ้า ทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่ เป็นสุข เข้าจตุตถฌาน ไม่มี ทุกข์ ไม่มีสุขเพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัส ก่อนๆ ได้ มีอุเบกขา เป็นเหตุ ให้สติบริสุทธิ์อยู่เพียงนั้น (บรรลุฌาณ๑-ฌาณ๔)
             สา. ดูกรนันทมารดา น่าอัศจรรย์ ดูกรนันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้ว

           (7)  น. ข้าแต่ท่านเจริญ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว มิใช่เพียง เท่านี้ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว แม้ข้ออื่นยังมีอีก ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันไม่พิจารณาเห็นโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง อันพระผู้มีพระภาค ทรงแสดงแล้วบางข้อ ที่ยังละไม่ได้ในตน (ละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ทั้งหมด)
             สา. ดูกรนันทมารดา น่าอัศจรรย์ ดูกรนันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้ว

             ลำดับนั้นแล ท่านพระสารีบุตร ชี้แจงให้นันทมารดา อุบาสิกาเห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา แล้วลุกจากอาสนะหลีกไป

จบสูตรที่ ๑๐

จบมหายัญญวรรคที่ ๕

 





หนังสือพุทธวจน ธรรมะของพระศาสดา
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์