เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

บุคคล ๗ จำพวก, อนุสัย ๗, สกุลซึ่งประกอบด้วยองค์ ๗, คนตกน้ำ ๗ จำพวก ,นิททสวัตถุ ๗ 1959
 


รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้
๑. อนุสยสูตรที่ ๑ (อนุสัย ๗ คือ กามราคะ ปฏิฆะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา มานะ ภวราคะ อวิชชา)
๒. อนุสยสูตรที่ ๒ (ภิกษุย่อมอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อละ เพื่อตัด อนุสัย ๗ ประการ)
๓. กุลสูตร (สกุลซึ่งประกอบด้วยองค์ ๗ ประการ)
๔. ปุคคลสูตร (บุคคล ๗ จำพวก เป็นผู้ควรของคำนับ ผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ)
๕. อุทกูปมสูตร (บุคคลตกน้ำ ๗ จำพวก)
๖. อนิจจาสูตร (บุคคล ๗ จำพวก พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง)
๗. ทุกขสูตร (บุคคล ๗ จำพวก พิจารณาเห็นความทุกข์ สำคัญว่าเป็นทุกข์ ทั้งรู้ว่าเป็นทุกข์)
๘. อนัตตาสูตร (บุคคล ๗ จำพวก พิจารณาเห็นธรรมทั้งปวงว่า เป็นอนัตตา )
๙. นิพพานสูตร (บุคคลผู้พิจารณาเห็นความเป็นสุขในนิพพาน ๗ จำพวก)
๑๐. นิททสวัตถุสูตร (นิททสวัตถุ ๗ เป็นผู้มีความพอใจอย่างแรงกล้า ในการสมาทานสิกขา...)

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 
สารบาญพระไตรปิฎก
เล่มที่ ๘-๓๓ (๒๕ เล่ม) ทุกพระสูตร
1. ฉบับหลวง
2. ฉบับมหาจุฬาฯ
3. อรรถกถาไทย
4. ฉบับภาษาบาลี
5. อรรถกถา-บาลี
6. Pali Roman (Roman Script)
7. Atthakatha PaliRoman
 

 


 

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๙

อนุสยสูตรที่ ๑

             [๑๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุสัย ๗ ประการนี้ ๗ ประการเป็นไฉน คือ
(๑) อนุสัย คือ กามราคะ
(๒) อนุสัย คือ ปฏิฆะ
(๓) อนุสัย คือ ทิฏฐิ
(๔) อนุสัย คือ วิจิกิจฉา
(๕) อนุสัย คือ มานะ
(๖) อนุสัย คือ ภวราคะ
(๗) อนุสัยคือ อวิชชา

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุสัย ๗ ประการนี้แล

จบสูตรที่ ๑

------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๙

อนุสยสูตรที่ ๒

             [๑๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อละ เพื่อตัด อนุสัย ๗ ประการ ๗ ประการเป็นไฉน คือ อนุสัย คือ กามราคะ ๑ อนุสัย คือ ปฏิฆะ ๑ อนุสัย คือ ทิฏฐิ ๑ อนุสัย คือ วิจิกิจฉา ๑ อนุสัย คือ มานะ ๑ อนุสัย คือ ภวราคะ ๑ อนุสัย คือ อวิชชา ๑

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อละ เพื่อตัดอนุสัย ๗ ประการนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล ภิกษุละ อนุสัย คือกามราคะ เสียได้ ตัดราก ขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ละอนุสัย คือ ปฏิฆะ ... อนุสัย คือ ทิฏฐิ ... อนุสัย คือ วิจิกิจฉา ...อนุสัย คือ มานะ ... อนุสัย คือ ภวราคะ ... อนุสัย คือ อวิชชาเสียได้ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาล ยอดด้วน ไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา เมื่อนั้น ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ตัด ตัณหา ได้แล้ว เพิกถอนสังโยชน์ได้แล้ว กระทำที่สุดทุกข์ได้แล้ว เพราะตรัสรู้คือ ละ มานะ เสียได้โดยชอบ

จบสูตรที่ ๒

------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๐

กุลสูตร

             [๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สกุลซึ่งประกอบด้วยองค์ ๗ ประการ ภิกษุยังไม่เคย เข้าไป ไม่ควรเข้าไป หรือเข้าไปแล้ว ไม่ควรนั่ง
องค์ ๗ ประการเป็นไฉนคือ
(๑) ต้อนรับ ด้วยไม่เต็มใจ
(๒) ไหว้ด้วยไม่เต็มใจ
(๓) ให้อาสนะด้วยไม่เต็มใจ
(๔) ซ่อนของที่มีอยู่
(๕) เมื่อมีของมากให้น้อย
(๖) เมื่อมีของประณีต ให้ของเศร้าหมอง
(๗) ให้โดยไม่เคารพ ไม่ให้โดยเคารพ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สกุลซึ่งประกอบด้วยองค์ ๗ ประการนี้แล ภิกษุยังไม่เคย เข้าไป ไม่ควรเข้าไป หรือเข้าไปแล้วไม่ควรนั่ง

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สกุลซึ่งประกอบด้วยองค์ ๗ ประการ ภิกษุยังไม่เคยเข้าไป ควรเข้าไปหรือเข้าไปแล้ว ควรนั่ง องค์ ๗ ประการเป็นไฉน คือ ต้อนรับด้วยเต็มใจ ๑ ไหว้ด้วยเต็มใจ ๑ ให้อาสนะด้วยเต็มใจ ๑ ไม่ซ่อนของที่มีอยู่ ๑เมื่อมีของมากให้มาก ๑ เมื่อมีของประณีตให้ของประณีต ๑ ให้โดยเคารพ ไม่ให้โดยไม่เคารพ ๑

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สกุลซึ่งประกอบด้วยองค์ ๗ ประการ นี้แลภิกษุยังไม่เคย เข้าไป ควรเข้าไป หรือเข้าไปแล้วควรนั่ง

จบสูตรที่ ๓

------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๐

ปุคคลสูตร

             [๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗ จำพวกนี้ เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควร ของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มี นาบุญอื่นยิ่งกว่า ๗ จำพวกเป็นไฉน คือ
(๑) อุภโตภาควิมุติ
(๒) ปัญญาวิมุติ
(๓) กายสักขี
(๔) ทิฐิปัตตะ
(๕) สัทธาวิมุติ
(๖) ธัมมานุสารี
(๗) สัทธานุสารี

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗ จำพวกนี้แล เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของ ต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญ อื่นยิ่งกว่า

จบสูตรที่ ๔

------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๑ -๑๒

อุทกูปมสูตร

             [๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเปรียบด้วยน้ำ ๗ จำพวกนี้ มีปรากฏ
อยู่ในโลก ๗ จำพวกเป็นไฉน
(๑) บุคคลบางคนในโลกนี้ จมลงแล้วคราวเดียวก็เป็นอันจมอยู่นั่นเอง
(๒) บางคนโผล่ขึ้นมาแล้ว กลับจมลงไป
(๓) บางคนโผล่พ้นแล้วทรงตัวอยู่
(๔) บางคนโผล่ขึ้นแล้วเหลียวไปมา
(๕) บางคนโผล่ขึ้นแล้วเตรียมตัวจะข้าม
(๖) บางคนโผล่ขึ้นแล้วได้ที่พึ่ง
(๗) บางคนโผล่ขึ้นมาได้แล้วเป็นพราหมณ์ข้ามถึงฝั่งอยู่บนบก

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่จมลงแล้วคราวเดียว ก็เป็นอันจมอยู่นั่นเอง อย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยอกุศลธรรมฝ่ายดำ โดยส่วนเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่จมลงแล้วคราวเดียว ก็เป็นอันจมอยู่นั่นเอง อย่างนี้แล

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้กลับจมลงไปอย่างไร บุคคลบางคน ในโลกนี้ โผล่ขึ้นมาได้ คือเขามีธรรม คือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะวิริยะ ปัญญาชั้นดีๆ ในกุศลธรรมทั้งหลาย แต่ศรัทธาของเขานั้นไม่คงที่ ไม่เจริญขึ้น เสื่อมไปฝ่ายเดียว หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญาของเขานั้น ไม่คงที่ไม่เจริญขึ้น เสื่อมไปฝ่ายเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่โผล่ขึ้นมาแล้ว กลับจมลงอย่างนี้แล

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่โผล่ขึ้นมาแล้วทรงตัวอยู่อย่างไร บุคคลบางคน ในโลกนี้ โผล่ขึ้นมาได้ คือ เขามีธรรมเหล่านี้ คือ ศรัทธา หิริโอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา ชั้นดีๆ ในกุศลธรรมทั้งหลาย แต่ศรัทธาของเขานั้นไม่เสื่อมลง ไม่เจริญขึ้น คงที่อยู่ หิริ โอตตัปปะ วิริยะ และปัญญาของเขานั้นไม่เสื่อมลง ไม่เจริญขึ้น คงที่อยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้แล้วทรงตัวอยู่อย่างนี้แล

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้แล้ว เหลียวไปมาอย่างไร บุคคล บางคนในโลกนี้ โผล่ขึ้นมาได้ คือ เขามีธรรมเหล่านี้ คือ ศรัทธา หิริโอตตัปปะ วิริยะ ปัญญาชั้นดีๆ ในกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป เขาเป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้แล้วเหลียวไปมาอย่างนี้แล

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้แล้ว เตรียมตัวจะข้ามอย่างไร บุคคล บางคนในโลกนี้ โผล่ขึ้นมาได้ คือ เขามีธรรมเหล่านี้ คือ ศรัทธา หิริโอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา ชั้นดีๆ ในกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป เพราะทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง เขาเป็นพระสกทาคามี มาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียวเท่านั้น แล้วทำที่สุดทุกข์ได้ บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้แล้ว เตรียมตัวจะข้ามอย่างนี้แล

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่โผล่ขึ้นมาแล้ว ได้ที่พึ่งอย่างไร บุคคลบางคน ในโลกนี้ โผล่ขึ้นมาได้ คือ เขามีธรรมเหล่านี้ คือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะวิริยะ ปัญญา ชั้นดีๆ ในกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เขาเป็นพระอนาคามี จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา บุคคลที่โผล่ขึ้นมาแล้ว ได้ที่พึ่งอย่างนี้แล

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้แล้วเป็นพราหมณ์ ข้ามถึงฝั่งอยู่ บนบกอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ โผล่ขึ้นมาได้ คือ เขามีธรรมเหล่านี้คือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา ชั้นดีๆ ในกุศลธรรมทั้งหลาย เขากระทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้แล้วเป็นพราหมณ์ ข้ามถึงฝั่งอยู่บนบก อย่างนี้แล

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเปรียบด้วยน้ำ ๗ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก

จบสูตรที่ ๕

------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๒-๑๔

อนิจจาสูตร
(บุคคล ๗ จำพวก พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง)

             [๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗ จำพวกนี้ เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควร ของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มี นาบุญอื่นยิ่งกว่า ๗ จำพวกเป็นไฉน

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณา เห็นความไม่เที่ยง มีความสำคัญว่า ไม่เที่ยง ทั้งรู้ว่าเป็นของไม่เที่ยง ในสังขารทั้งปวง ตั้งใจมั่น ติดต่อกัน ไปไม่ขาดสาย มีปัญญาหยั่งทราบ ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหา อาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึง อยู่ นี้เป็นบุคคลที่ ๑ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
(พระอรหันต์)

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นความ ไม่เที่ยง ... มีปัญญาหยั่งทราบ ความสิ้นอาสวะ และความสิ้นชีวิตของเขา ไม่ก่อน ไม่หลังกัน นี้เป็นบุคคลที่ ๒ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญ อื่นยิ่งกว่า (อันตราปรินิพายี)

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นความ ไม่เที่ยง ... มีปัญญาหยั่งทราบ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เขาจัก ปรินิพพานในระหว่าง นี้เป็นบุคคลที่ ๓ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่น ยิ่งกว่า (อันตราปรินิพายี)

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นความ ไม่เที่ยง ... มีปัญญาหยั่งทราบ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไปเขาจัก ปรินิพพาน ในเมื่ออายุเลยกึ่ง นี้เป็นบุคคลที่ ๔ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญ ของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า (อันตราปรินิพายี)

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นความ ไม่เที่ยง ... มีปัญญาหยั่งทราบ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไปเขาจัก ปรินิพพาน โดยไม่ต้องใช้ความเพียรนัก นี้เป็นบุคคลที่ ๕ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของ โลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า (อุปหัจจปรินิพายี)

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นความ ไม่เที่ยง ... มีปัญญาหยั่งทราบ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไปเขาจัก ปรินิพพาน โดยต้องใช้ความเพียรเรี่ยวแรง นี้เป็นบุคคลที่ ๖ เป็นผู้ควรของคำนับ ... เป็นนาบุญ ของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า (อสังขารปรินิพายี)

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นความ ไม่เที่ยง มีความสำคัญว่าไม่เที่ยง ทั้งรู้ว่าเป็นของไม่เที่ยง ในสังขารทั้งปวง ตั้งใจมั่น ติดต่อกันไปไม่ขาดสาย มีปัญญาหยั่งทราบ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เขาเป็นผู้ มีกระแสในเบื้องบน ไปสู่อกนิฏฐภพ นี้เป็นบุคคลที่ ๗ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า (สสังขารปรินิพายี)

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗ จำพวกนี้แล เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของ ต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่น ยิ่งกว่า

จบสูตรที่ ๖


------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๔-๑๖

ทุกขสูตร

             [๑๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗ จำพวกนี้ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ๗ จำพวกเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นความทุกข์ มีความสำคัญว่าเป็นทุกข์ ทั้งรู้ว่าเป็นทุกข์ ในสังขารทั้งปวง ฯลฯ

              ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗ จำพวกนี้แล เป็นผู้ควรของคำนับเป็นผู้ควร ของ ต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่น ยิ่งกว่า

จบสูตรที่ ๗

------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๔-๑๖

อนัตตาสูตร

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗ จำพวกนี้ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญ ของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ๗ จำพวกเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้พิจารณาเห็นว่า เป็นอนัตตา มีความสำคัญว่าเป็นอนัตตา ทั้งรู้ว่าเป็นอนัตตา ในธรรมทั้งปวง ฯลฯ

              ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗ จำพวกนี้แล เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญ ของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

จบสูตรที่ ๘

------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๔-๑๖

นิพพานสูตร
(บุคคลผู้พิจารณาเห็นความเป็นสุขในนิพพาน ๗ จำพวก)

นิพพานสูตร บุคคล ๗ จำพวก ผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก
1. เพราะอาสวะ ทั้งหลาย สิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่
2. เพราะความสิ้นอาสวะและความสิ้นชีวิตของท่านผู้นั้น ไม่ก่อนไม่หลังกัน
3. เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไปจักปรินิพพาน ในระหว่าง
4. เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไปจักปรินิพพาน ในเมื่ออายุเลยกึ่ง
5. เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไปจักปรินิพพาน โดยไม่ต้องใช้ความเพียรนัก
6. เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป จักปรินิพพาน ด้วยต้องใช้ความเพียรเรี่ยวแรง
7. เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไปเป็นผู้มีกระแส ในเบื้องบน ไปสู่อกนิฏฐภพ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗ จำพวกนี้ เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควร ของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่น ยิ่งกว่า ๗ จำพวก เป็นไฉน

             บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นความเป็นสุข สำคัญว่าสุข ทั้งรู้ว่าเป็นสุข ในนิพพาน ตั้งใจมั่น ติดต่อกันไปไม่ขาดสาย มีปัญญาหยั่งทราบ กระทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอัน ยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ นี้เป็นบุคคลที่ ๑ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของ โลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นว่า เป็นสุข ... มีปัญญาหยั่งทราบ เพราะความสิ้นอาสวะ และความสิ้นชีวิตของท่านผู้นั้น ไม่ก่อนไม่หลังกัน นี้เป็นบุคคลที่ ๒ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มี นาบุญอื่นยิ่งกว่า

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นว่า เป็นสุข ... มีปัญญาหยั่งทราบ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไปจักปรินิพพาน ในระหว่าง นี้เป็นบุคคลที่ ๓ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่น ยิ่งกว่า

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นว่า เป็นสุข ... มีปัญญาหยั่งทราบ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไปจักปรินิพพานในเมื่อ อายุเลยกึ่ง นี้เป็นบุคคลที่ ๔ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญ อื่นยิ่งกว่า

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นว่า เป็นสุข ... มีปัญญาหยั่งทราบ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไปจักปรินิพพานโดย ไม่ต้องใช้ความเพียรนัก นี้เป็นบุคคลที่ ๕ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นว่าเป็น สุข ... มีปัญญาหยั่งทราบ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป จักปรินิพพานด้วยต้องใช้ ความเพียรเรี่ยวแรง นี้เป็นบุคคลที่ ๖ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯเป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นว่า เป็นสุข ... มีปัญญาหยั่งทราบ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เป็นผู้มีกระแส ใน เบื้องบนไปสู่อกนิฏฐภพ นี้เป็นบุคคลที่ ๗ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗จำพวกนี้แล เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของ ต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่น ยิ่งกว่า

จบสูตรที่ ๙

------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๖-๑๗

นิททสวัตถุสูตร

             [๑๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิททสวัตถุ ๗ ประการนี้ ๗ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
       (๑) เป็นผู้มีความพอใจอย่างแรงกล้า ในการสมาทานสิกขา และเป็นผู้ได้ความยินดี ในการสมาทานสิกขาต่อไป
       (๒) เป็นผู้มีความพอใจอย่างแรงกล้า ในการใคร่ครวญธรรม และเป็นผู้ได้ความยินดี ในการใคร่ครวญธรรมต่อไป
       (๓)  เป็นผู้มีความพอใจอย่างแรงกล้า ในอันที่จะกำจัดความอยาก และเป็นผู้ได้ ความยินดี ในอันที่จะกำจัดความอยากต่อไป
       (๔)  เป็นผู้มีความพอใจอย่างแรงกล้า ในการหลีกเร้น และเป็นผู้ได้ความยินดี ในการหลีกเร้นต่อไป
       (๕) เป็นผู้มีความพอใจอย่างแรงกล้า ในการปรารภความเพียร และเป็นผู้ได้ความ ยินดี ในการปรารภความเพียรต่อไป
       (๖)  เป็นผู้มีความพอใจอย่างแรงกล้า ในความเป็นผู้มีสติรอบคอบ และเป็นผู้ได้ ความยินดี ในความเป็นผู้มีสติรอบคอบต่อไป
       (๗)  เป็นผู้มีความพอใจอย่างแรงกล้า ในการแทงตลอดด้วยทิฐิ และเป็นผู้ได้ความ ยินดี ในการแทงตลอดด้วยทิฐิต่อไป

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิททสวัตถุ ๗ ประการนี้แล

คำว่า นิททสวัตถุ นี้ แปลว่า ธรรมที่เป็นเหตุให้ชื่อว่า “นิททสะ” แปลว่า มีอายุไม่ถึง ๑๐ ปี คำนี้เป็นคำที่
พวกเดียรถีย์ใช้เรียกนิครนถ์ผู้ประพฤติพรหมจรรย์กำหนด ๑๒ ปี ถ้าตายลง เมื่อถึง ๑๐ ปี เรียกผู้นั้นว่า
“นิททสะ” คือ เมื่อมาเกิดอีกจะมีอายุไม่ถึง ๑๐ ปี และอาจไม่ถึง ๙ ปี ๑ ปี แต่พระผู้มีพระภาคทรงใช้คำนี้
หมายถึงพระขีณาสพในความหมายว่า “ไม่มีการเกิดอีก” ไม่ว่าจะเกิดมาเพียงวันเดียวหรือครู่เดียว โดยมี
เงื่อนไขว่าผู้นั้นต้องเพียบพร้อมด้วยธรรม ๗ ประาร ส่วนเวลาประพฤติพรหมจรรย์มากน้อยไม่สำคัญ

จบสูตรที่ ๑๐

 





หนังสือพุทธวจน ธรรมะของพระศาสดา
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์