พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๕๒-๕๓
โรหิตัสสวรรคที่ ๕
สมาธิสูตร
[๔๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนา ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ
สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุข ในปัจจุบันมีอยู่ ๑
สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อได้เฉพาะซึ่ง ญาณทัสสนะมีอยู่ ๑
สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ มีอยู่ ๑
สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้น อาสวะมีอยู่ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมาธิภาวนา อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว (๑) ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุข ในปัจจุบัน เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ มีอุเบกขา
มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะ สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข บรรลุจตุตถฌานไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติ บริสุทธิ์อยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนานี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว (๒)ย่อมเป็นไปเพื่อได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มนสิการ อาโลกสัญญา อธิษฐานทิวาสัญญา ว่า กลางคืนเหมือนกลางวัน กลางวัน เหมือน กลางคืน มีใจอันสงัด ปราศจากเครื่องรัดรึง อบรมจิตให้มีความสว่างอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนานี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อได้ญาณทัสสนะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมาธิภาวนา อันบุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว (๓)ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้แจ้งเวทนาที่เกิดขึ้น รู้แจ้งเวทนาที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งเวทนาที่ดับไป รู้แจ้งสัญญาที่เกิดขึ้น รู้แจ้งสัญญาที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งสัญญาที่ดับไป รู้แจ้งวิตกที่เกิดขึ้นรู้แจ้งวิตกที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งวิตกที่ดับไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนานี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อสติสัมปชัญญะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว (๔)ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีปรกติพิจารณาเห็น ความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ว่า
รูปเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูป เป็นดังนี้ ความดับแห่งรูป เป็นดังนี้
เวทนาเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นดังนี้ ความดับแห่งเวทนาเป็นดังนี้
สัญญาเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสัญญาเป็นดังนี้ ความดับแห่งสัญญาเป็นดังนี้
สังขารเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสังขารเป็นดังนี้ ความดับแห่งสังขารเป็นดังนี้
วิญญาณเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณ เป็นดังนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนานี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนา ๔ ประการนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง คำต่อไปนี้ เรากล่าวแล้วในปุณณปัญหาในปรายนวรรค หมายเอาข้อความนี้ว่า ความหวั่นไหวไม่มีแก่บุคคลใด ในโลกไหนๆ เพราะรู้ความ สูงต่ำในโลก บุคคลนั้นเป็นผู้สงบปราศจากควัน คือความโกรธ เป็นผู้ไม่มีความคับแค้น เป็นผู้หมดหวัง เรากล่าวว่า ข้าม ชาติและชราได้แล้ว
จบสูตรที่ ๑
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๕๓-๕๔
ปัญหาสูตร
[๔๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญหาพยากรณ์ ๔ อย่างนี้ ๔ อย่างเป็นไฉนคือ
ปัญหาที่พึงพยากรณ์โดยส่วนเดียว มีอยู่ ๑
ปัญหาที่พึงจำแนกพยากรณ์ มีอยู่ ๑
ปัญหาที่ต้องสอบถามแล้วพยากรณ์ มีอยู่ ๑
ปัญหาที่ควรงด มีอยู่ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลายปัญหาพยากรณ์ ๔ อย่าง นี้แล
๑. กล่าวแก้โดยส่วนเดียว
๒. จำแนกกล่าวแก้
๓. ย้อนถาม กล่าวแก้
๔. การงดกล่าวแก้
อนึ่ง ภิกษุใดย่อมรู้ความ สมควรแก่ธรรมในฐานะนั้นๆ แห่งปัญญาเหล่านั้น บัณฑิต ทั้งหลายกล่าวภิกษุอย่างนั้นว่า เป็นผู้ฉลาดต่อปัญหาทั้ง ๔ ภิกษุผู้ที่ใครๆ ไล่ปัญหาได้ยาก ครอบงำได้ยาก เป็นผู้ลึกซึ้ง ให้พ่ายแพ้ได้ยาก และเป็นผู้ฉลาดต่อ ประโยชน์ทั้ง ๒ คือ ทั้งในด้านเจริญและในด้านเสื่อม ย่อมเป็นผู้ฉลาดงดเว้น ทางเสื่อม ถือเอาทางเจริญ เป็นธีรชนเพราะรู้จักประโยชน์ ชาวโลกขนานนามว่า บัณฑิต
จบสูตรที่ ๒
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๕๔-๕๕
โกธสูตรที่ ๑
[๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน คือ
เป็นผู้หนักในความโกรธ ไม่หนักในสัทธรรม ๑
เป็นผู้หนักในความลบหลู่ ไม่หนักในสัทธรรม ๑
เป็นผู้หนักในลาภ ไม่หนักในสัทธรรม ๑
เป็นผู้หนักในสักการะ ไม่หนักในสัทธรรม ๑
บุคคล ๔จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน คือ เป็นผู้หนักในสัทธรรม ไม่หนักในความโกรธ ๑
เป็นผู้หนักในสัทธรรม ไม่หนักในความ ลบหลู่ ๑
เป็นผู้หนักในสัทธรรม ไม่หนักในลาภ ๑
เป็นผู้หนักในสัทธรรม ไม่หนักใน สักการะ ๑
บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก
ภิกษุผู้หนักในความโกรธ และความลบหลู่ หนักในลาภ และสักการะ พวกเธอย่อมไม่งอกงามในธรรมอันพระ สัมมาสัมพุทธะแสดงแล้ว ส่วนภิกษุเหล่าใด เป็นผู้หนักใน สัทธรรมอยู่แล้ว และกำลังเป็นผู้หนักในสัทธรรมอยู่ ภิกษุ เหล่านั้นแล ย่อมงอกงามในธรรม อันพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงแสดงแล้ว
จบสูตรที่ ๓
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๕๕
โกธสูตรที่ ๒
[๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัทธรรม ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ
ความเป็นผู้หนักในความโกรธ ไม่เป็นผู้หนักในสัทธรรม ๑
ความเป็นผู้หนักในความลบหลู่ ไม่หนักในสัทธรรม ๑
ความเป็นผู้หนักในลาภไม่หนักในสัทธรรม ๑
ความเป็นผู้หนักในสักการะ ไม่หนักในสัทธรรม ๑
อสัทธรรม ๔ ประการนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัทธรรม ๔ ประการนี้๔ ประการเป็นไฉน คือ
ความเป็นผู้หนักในสัทธรรม ไม่หนักในความโกรธ ๑
ความเป็นผู้หนักในสัทธรรม ไม่หนักในความลบหลู่ ๑
ความเป็นผู้หนักในสัทธรรม ไม่หนักในลาภ ๑
ความเป็นผู้หนักในสัทธรรม ไม่หนักในสักการะ ๑
สัทธรรม ๔ ประการนี้แล
ภิกษุผู้หนักในความโกรธและความลบหลู่ หนักในลาภและ สักการะ ย่อมไม่งอกงามในพระสัทธรรม ดุจพืชที่หว่านไว้ ในนาไม่ดี ส่วนภิกษุเหล่าใด เป็นผู้หนักในสัทธรรมอยู่แล้ว และกำลังเป็นผู้หนักในสัทธรรม ภิกษุเหล่านั้นแล ย่อม งอกงามในธรรม ประดุจต้นไม้อาศัยยางงอกงามอยู่ ฉะนั้น
จบสูตรที่ ๔
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๕๙-๖๐
สุวิทูรสูตร
[๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไกลกันแสนไกล ๔ ประการ
๔ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ฟ้ากับแผ่นดิน นี้เป็นสิ่งที่ไกลกันแสนไกลประการที่ ๑
ฝั่งนี้และฝั่งโน้นแห่งสมุทร นี้เป็นสิ่งที่ไกลกันแสนไกลประการที่ ๒
พระอาทิตย์ยามขึ้น และยามอัสดงคตนี้ เป็นสิ่งที่ไกลกันแสนไกล ประการที่ ๓
ธรรมของสัตบุรุษและธรรมของอสัตบุรุษ นี้เป็นสิ่งที่ไกลกันแสนไกลประการที่ ๔
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไกลกันแสนไกล ๔ ประการนี้แล
นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ฟ้ากับดินไกลกัน ฝั่งสมุทร ก็ไกลกัน พระอาทิตย์ส่องแสงยามอุทัย กับยามอัสดงคต ไกลกัน บัณฑิตกล่าวว่า ธรรมของ สัตบุรุษ กับธรรมของ อสัตบุรุษไกลกันยิ่งกว่านั้น การสมาคมของสัตบุรุษ มั่นคงยืดยาว ย่อมเป็นอย่างนั้นตราบเท่ากาลที่พึงดำรงอยู่ ส่วนการสมาคมของอสัตบุรุษ ย่อมจืดจาง เร็ว เพราะฉะนั้น ธรรมของสัตบุรุษ จึงไกลจากธรรมของอสัตบุรุษ
จบสูตรที่ ๗
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖๐-๖๑
วิสาขสูตร
[๔๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านวิสาขปัญจาลิบุตร ได้ชี้แจงภิกษุทั้งหลาย ในอุปัฏฐานศาลาให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา อันเป็นวาจาของชาวเมืองสละสลวย ปราศจากโทษ ให้เข้าใจความ ได้แจ่มแจ้ง นับเนื่องในนิพพาน ไม่อิงวัฏฏะ
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงออกจากที่เร้น ในสายัณห์สมัย เสด็จไปยัง อุปัฏฐานศาลา แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ครั้นแล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ใครหนอ ชี้แจงภิกษุทั้งหลาย ในอุปัฏฐานศาลาให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา อันเป็นวาจาของชาวเมือง สละสลวย ปราศจากโทษ ให้เข้าใจความได้แจ่มแจ้ง นับเนื่องในนิพพาน ไม่อิงวัฏฏะ
ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านวิสาขปัญจาลิบุตร ชี้แจง ภิกษุทั้งหลาย ในอุปัฏฐานศาลา ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทานให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วย ธรรมีกถา อันเป็นวาจาของชาวเมือง สละสลวยปราศจากโทษ ให้เข้าใจความ ได้แจ่มแจ้ง นับเนื่องในนิพพาน ไม่อิงวัฏฏะ
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะท่านวิสาขปัญจาลิบุตรว่า ดีละ ดีละวิสาขะ เป็นการดีแล้ววิสาขะ ที่เธอชี้แจงภิกษุทั้งหลาย ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทานให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา อันเป็นวาจาของชาวเมือง สละสลวยปราศจากโทษ ให้เข้าใจความได้แจ่มแจ้ง นับเนื่องในนิพพาน ไม่อิงวัฏฏะ
คนที่ไม่พูด ชนทั้งหลายย่อมรู้ไม่ได้ว่า เป็นพาลหรือบัณฑิต ส่วนคนที่พูด ชนทั้งหลายย่อมรู้ว่า เป็นผู้แสดง อมตบท บุคคลพึงยังธรรมให้สว่างแจ่มแจ้ง พึงยกย่องธงของฤาษี ทั้งหลาย ฤาษีทั้งหลายมีสุภาษิตเป็นธง เพราะว่าธรรมเป็น ธงของพวกฤาษี
จบสูตรที่ ๘
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖๒-๖๓
วิปัลลาสสูตร
[๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฐิวิปลาส ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฐิวิปลาส
ในสิ่งที่ไม่เที่ยง ว่าเที่ยง ๑
ในสิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นสุข ๑
ในสิ่งที่ไม่ใช่ตน ว่าเป็นตน ๑
ในสิ่งที่ไม่งาม ว่างาม ๑
สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฐิวิปลาส ๔ ประการนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฐิไม่วิปลาส ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฐิไม่วิปลาส ในสิ่งที่ไม่เที่ยง ว่า ไม่เที่ยง ๑ ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ ๑ ในสิ่งที่ไม่ใช่ตนว่าไม่ใช่ตน ๑ ในสิ่งที่ไม่งาม ว่าไม่งาม ๑ สัญญาไม่วิปลาสจิตไม่วิปลาส ทิฐิไม่วิปลาส ๔ ประการนี้แล
เหล่าสัตว์ผู้ถูกมิจฉาทิฐิกำจัด มีจิตฟุ้งซ่าน มีความสำคัญผิด มีความสำคัญ ในสิ่ง ที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง สำคัญในสิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นสุข สำคัญในสิ่งที่ไม่ใช่ตน ว่าเป็นตน และสำคัญในสิ่งที่ ไม่งามว่างาม
สัตว์คือชนเหล่านั้น ชื่อว่าประกอบแล้ว ในเครื่อง ประกอบของมาร ไม่เป็นผู้ เกษม จากโยคะ มีปรกติไปสู่ชาติ และมรณะ ย่อมไปสู่สงสาร ก็ในกาลใด พระพุทธเจ้า ทั้งหลาย ผู้กระทำแสงสว่าง บังเกิดขึ้นในโลก พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ย่อมประกาศธรรมนี้ เป็นเครื่องให้สัตว์ ถึงความสงบทุกข์ ชน เหล่านั้น ผู้มีปัญญา ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า เหล่านั้น แล้ว ได้จิตของตน ได้เห็นสิ่งไม่เที่ยง โดยความเป็นของไม่เที่ยง ได้เห็นทุกข์ โดยความเป็นทุกข์ ได้เห็นสิ่งที่ไม่ใช่ตน ว่าไม่ใช่ตน ได้เห็นสิ่งที่ไม่งาม โดยความเป็น ของไม่งาม สมาทานสัมมาทิฐิ จึงล่วงทุกข์ทั้งปวงได้
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖๒-๖๓
อุปกิเลสสูตร
[๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เครื่องมัวหมองของพระจันทร์ และพระอาทิตย์ อันเป็นเหตุให้พระจันทร์ และพระอาทิตย์ไม่แผดแสง ไม่ส่องแสง ไม่ไพโรจน์ มี ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ เมฆ ๑ หมอก ๑ ควันและละออง ๑ ราหูจอมอสูร ๑ เครื่องมัวหมองของพระจันทร์ และพระอาทิตย์ อันเป็นเหตุให้พระจันทร์ และพระอาทิตย์ ไม่แผดแสง ไม่สว่างไสว ไม่ไพโรจน์ ๔ ประการนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุปกิเลสของ สมณพราหมณ์ทั้งหลาย อันเป็นเหตุให้สมณ พราหมณ์ พวกหนึ่ง ไม่สง่า ไม่รุ่งเรือง ไม่ไพโรจน์ ก็มี ๔ ประการ ฉันนั้นเหมือนกัน ๔ ประการเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ดื่มสุราและเมรัยไม่งดเว้นจากการ ดื่มสุราและเมรัย นี้เป็น อุปกิเลสของสมณพราหมณ์ ประการที่ ๑
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เสพเมถุนธรรม ไม่งดเว้นจากเมถุนธรรม นี้เป็นอุปกิเลส ของสมณพราหมณ์ ประการที่ ๒
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ยินดีทองและเงิน ไม่งดเว้นจากการรับทองและเงิน นี้เป็น อุปกิเลสของสมณพราหมณ์ประการที่ ๓
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ ไม่งดเว้นจากมิจฉาชีพ นี้เป็น อุปกิเลสของสมณพราหมณ์ ประการที่ ๔
ดูกรภิกษุทั้งหลายอุปกิเลส ของสมณพราหมณ์ทั้งหลาย อันเป็นเหตุให้ สมณพราหมณ์ พวกหนึ่ง ไม่สง่า ไม่รุ่งเรือง ไม่ไพโรจน์
สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ถูกราคะและโทสะ ปกคลุมแล้ว อันอวิชชาหุ้มห่อแล้ว เพลิดเพลินรูปที่น่ารัก ย่อมดื่มสุรา และเมรัย เสพเมถุน เป็นผู้ไม่รู้แจ้ง ยินดีรับทอง และเงิน สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ย่อมเลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ อุปกิเลส อันเป็นเหตุให้ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งไม่สง่า ไม่รุ่งเรือง ไม่ไพโรจน์ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ มีธุลีคือกิเลส เป็นผู้อันความมืดรัดรึงแล้ว เป็นทาสแห่ง ตัณหา อันตัณหา นำไปด้วยดี ย่อมยังอัตภาพอันหยาบให้ เจริญ ย่อมยินดีภพใหม่เหล่านี้ อันพระพุทธเจ้าผู้เป็น เผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ตรัสไว้แล้ว |