พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๘-๓๙
สีหสูตร
[๓๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สีหมฤคราช ย่อมออกจากที่อาศัยเวลาเย็น ครั้นออกจากที่อาศัยแล้ว ย่อมเหยียดหยัด ครั้นเหยียดหยัดแล้ว ย่อมเหลียวดูทิศทั้ง ๔ โดยรอบ ครั้นเหลียวดูทิศทั้ง ๔ โดยรอบแล้ว ย่อมบันลือสีหนาท ๓ ครั้ง แล้วย่อมก้าวหน้า ไปหาเหยื่อ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัตว์ดิรัจฉานเหล่าใดแลได้ฟังเสียงของสีหมฤคราช ผู้บันลืออยู่ สัตว์เหล่านั้นโดยมากย่อมกลัว สลดใจและหวาดสะดุ้ง จำพวกอยู่โพรง ก็เข้าโพรง จำพวกอาศัยน้ำก็ลงน้ำ จำพวกอาศัยป่าก็เข้าป่า จำพวกมีปีกย่อมบินขึ้น สู่อากาศ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช้างตัวประเสริฐแห่งพระราชา แม้เหล่าใด ที่ถูกผูกไว้ ในคามนิคมและราชธานีทั้งหลายด้วยเครื่องผูก คือเชือกหนังอันมั่นคง ช้างตัวประเสริฐ แม้เหล่านั้น พึงทำลายเครื่องผูกเหล่านั้นขาดไป มีความกลัว ถึงถ่ายมูตรและกรีส หนีไปตามทางที่จะไปได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สีหมฤคราชมีฤทธิ์มากอย่างนี้แล มีศักดานุภาพยิ่งใหญ่ กว่าเหล่าสัตว์ดิรัจฉาน ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลใด ตถาคตบังเกิดขึ้นในโลก เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้เบิกบานแล้ว ในกาลนั้นย่อมแสดงธรรมว่า สักกายะดังนี้ เหตุแห่งสักกายะดังนี้ ความดับแห่งสักกายะดังนี้ ปฏิปทาเครื่องให้ถึง ความดับ แห่งสักกายะดังนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวดาแม้เหล่าใดมีอายุยืน มีรัศมี มีความสุขมาก สถิตอยู่ ยั่งยืน ในวิมานอันสูงเทวดาแม้เหล่านั้น ฟังธรรมเทศนาของตถาคตแล้ว โดยมาก ย่อมกลัว สลดใจหวาดสะดุ้งว่า ผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่าพวกเราไม่เที่ยงหนอ อย่าได้สำคัญว่าเที่ยง พวกเราไม่ยั่งยืนหนอ อย่าได้สำคัญว่ายั่งยืน พวกเราไม่คงที่หนอ อย่าได้สำคัญว่าคงที่ ผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า พวกเราไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่คงที่ นับเนื่องในสักกายะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้แล เป็นผู้มีศักดานุภาพยิ่งใหญ่อย่างนี้ กว่าโลกทั้งเทวโลก ฉันนั้นเหมือนกันแล
พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระศาสดา หาบุคคลเปรียบมิได้ ตรัสรู้ แล้ว ทรงประกาศ ธรรมจักรแก่โลกทั้งเทวโลก ทรงแสดง ธรรมคือสักกายะ ได้แก่ทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความ ดับทุกข์ และอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อันมีปรกติ ยังสัตว์ให้ถึงความระงับ ทุกข์ ฉันใด เทวดาผู้มีอายุยืนแม้ เหล่าใด มีรัศมี มียศ เป็นผู้กลัวถึงความสะดุ้ง ดุจ มฤคที่กลัวต่อราชสีห์ ก็ฉันนั้น เทวดาเหล่านั้น เป็นผู้ ก้าวล่วงสักกายะเพราะสดับถ้อยคำ ของพระอรหันต์ ผู้หลุดพ้น ผู้คงที่ว่า ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า พวกเราไม่เที่ยง
จบสูตรที่ ๓
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๕-๔๗
อปริหานิสูตร
[๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นผู้ไม่ควร เพื่อเสื่อมรอบ ชื่อว่าย่อมประพฤติใกล้นิพพานทีเดียว ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ๑
เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ๑
เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ ๑
เป็นผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งมีความเพียรเครื่องตื่นอยู่ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีลสำรวมระวังในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปรกติเห็นภัย ในโทษมีประมาณน้อยสมาทานศึกษา อยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ ด้วยศีล อย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลายอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ ย่อมประพฤติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรม อันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความ สำรวม ในจักขุนทรีย์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ฟังเสียงด้วยหู ... ดมกลิ่นด้วยจมูก ... ลิ้มรสด้วยลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือเอา โดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัส ครอบงำได้ ชื่อว่ารักษา มนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย อย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมกลืนกินซึ่งอาหารมิใช่เพื่อจะเล่น มิใช่เพื่อจะมัวเมา มิใช่เพื่อประเทืองผิวมิใช่เพื่อจะตกแต่ง เพียงเพื่อร่างกายนี้ดำรงอยู่ได้ เพื่อยังอัตภาพ ให้เป็นไปเพื่อกำจัดความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยหวังว่า จักกำจัดเวทนา เก่าและจักไม่ยังเวทนาใหม่ให้บังเกิดขึ้น ความเป็นไป ความที่ร่างกายไม่มีโทษ และ ความอยู่สำราญจักมีแก่เรา ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งความเพียรเครื่องตื่น อยู่อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้น ด้วยการ เดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดวัน ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากธรรมเครื่องกั้นด้วยการเดิน จงกรม ด้วยการนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี ย่อมสำเร็จสีหไสยาโดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้า เหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ มนสิการความสำคัญในอันจะลุกขึ้น ตลอดมัชฌิมยาม แห่งราตรี ลุกขึ้นแล้วย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากธรรมเครื่องกั้น ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่ง ตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี ภิกษุเป็นผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งความเพียร เครื่องตื่นอยู่อย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล เป็นผู้ไม่ควร เพื่อเสื่อมรอบ ชื่อว่าย่อมประพฤติใกล้นิพพานทีเดียว
ภิกษุผู้ดำรงอยู่ในศีล สำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณใน โภชนะ และย่อม ประกอบเนืองๆ ซึ่งความเพียรเครื่องตื่น อยู่ ภิกษุผู้มีปรกติพากเพียรอยู่อย่างนี้ ไม่เกียจคร้าน ตลอดวันและคืน บำเพ็ญกุศลธรรมเพื่อถึงความเกษมจากโยคะ ภิกษ ุผู้ยินดีในความไม่ประมาท หรือมีปรกติเห็นภัยในความ ประมาทเป็นผู้ไม่ควร เพื่อความเสื่อม ชื่อว่าประพฤติใกล้ นิพพานทีเดียว
จบสูตรที่ ๗
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก ๔๗-๔๘
ปฏิลีนสูตร
[๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีทิฏฐิสัจจะแต่ละอย่าง อันบรรเทาได้แล้ว มีการแสวงหาทั้งปวงอันสละแล้ว มีกายสังขารอันสงบระงับ เราเรียกว่าผู้มีการหลีกออกเร้นอยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีทิฏฐิสัจจะแต่ละอย่าง อันบรรเทาได้แล้ว อย่างไร ทิฏฐิสัจจะแต่ละอย่างเป็นอันมาก ของสมณพราหมณ์ ผู้มีกิเลสหนาแน่น เหล่าใด คือ เห็นว่า โลกเที่ยง หรือว่าโลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด หรือว่าโลกไม่มีที่สุด ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพเป็นอื่นสรีระก็เป็นอื่น สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีก หรือว่าสัตว์เบื้องหน้าตายแล้วย่อมไม่เกิดอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มี หรือว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีก ก็หามิได้ทิฏฐิสัจจะเหล่านั้นทั้งหมด อันภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรเทาได้แล้ว สละแล้ว คายออกแล้ว ปล่อยแล้ว ละได้แล้ว สละคืนแล้ว ภิกษุเป็นผู้มี ทิฏฐิสัจจะ แต่ละอย่าง อันบรรเทาได้แล้วอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีการแสวงหาทั้งปวง อันสละแล้วอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีการแสวงหากามอันละได้แล้ว มีการแสวงหาภพอันละได้แล้ว มีการแสวงหาพรหมจรรย์อันสงบแล้ว ภิกษุเป็นผู้มีการแสวงหา ทั้งปวงอันสละแล้ว อย่างนี้แล ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีกายสังขารอันสงบระงับอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขและทุกข์และดับ โสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ภิกษุเป็นผู้มีกายสังขาร อันสงบระงับอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้หลีกออกเร้นอยู่อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละอัสมิมานะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นดังตาลยอดด้วนกระทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ภิกษุเป็นผู้หลีกออกเร้นอยู่อย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีทิฏฐิสัจจะแต่ละอย่าง อันบรรเทาได้แล้ว มีการแสวงหา ทั้งปวง อันสละแล้ว มีกายสังขารอันสงบระงับแล้ว เราเรียกว่าผู้หลีกออก เร้นอยู่
การแสวงหากาม การแสวงหาภพ กับการแสวงหาพรหมจรรย์ อันภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ สละคืนแล้ว การเชื่อถือสัจจะ และ ฐานะแห่งทิฐิทั้งหลาย อันภิกษ ุในธรรมวินัยนี้ ถอนขึ้นแล้ว ด้วยประการดังนี้ ภิกษุผู้สำรอกราคะทั้งปวง ผู้หลุดพ้น เพราะสิ้นตัณหา สละคืนการแสวงหา ถอนฐานะแห่งทิฐิทั้งหลาย ได้แล้ว ภิกษุนั้นแล เป็นผู้สงบ มีสติ ระงับกายสังขาร เป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ เป็นผู้ตรัสรู้เพราะรู้เท่า ถึงมานะ เราเรียกว่า เป็นผู้หลีกออกเร้นอยู่
จบสูตรที่ ๘
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๘-๔๙
อุชชยสูตร
[๓๙] ครั้งนั้นแล อุชชยพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ทูลถามว่า แม้พระโคดมผู้เจริญก็กล่าวสรรเสริญยัญ ของพวกข้าพเจ้าหรือ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรพราหมณ์ เรามิได้สรรเสริญยัญไปทุกอย่าง และก็มิได้ติเตียนยัญไป ทุกอย่าง ดูกรพราหมณ์ในยัญชนิดใดมีการ ฆ่าโค ฆ่าแพะ แกะ ฆ่าไก่ สุกร สัตว์ต่างชนิดถูกฆ่า
ดูกรพราหมณ์ เราไม่สรรเสริญยัญเห็นปานนี้แล อันประกอบด้วย ความริเริ่ม ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพระอรหันต์ หรือผู้บรรลุอรหัตมัค ย่อมไม่เกี่ยวข้องยัญ เห็นปานนั้น อันประกอบด้วยความริเริ่ม แต่ในยัญชนิดใด ไม่มีการฆ่าโคไม่มีการฆ่าแพะ แกะ ไม่มีการฆ่าไก่ สุกร สัตว์ต่างชนิดไม่ถูกฆ่า เราย่อมสรรเสริญยัญเห็นปานนั้นแล อันปราศจากความริเริ่ม คือ นิจทาน อนุกุลยัญข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพระอรหันต์ หรือผู้บรรลุอรหัตมรรค ย่อมเกี่ยวข้องยัญเห็นปานนั้น อันปราศจากความริเริ่ม
มหายัญที่มีการริเริ่มใหญ่ คือ อัสสเมธ ปุริสเมธ การบูชา ชื่อ สัมมาปาสวาชเปยยะ และนิรัคคละ เหล่านั้น ไม่มีผลมาก ในยัญใดมีการฆ่าแพะ แกะ โค และสัตว์ต่างๆ พระอริยะ ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ผู้แสวงหาคุณใหญ่ ย่อมไม่เกี่ยวข้อง ยัญนั้น แต่ยัญใดไม่มีการริเริ่ม เป็นอนุกุลยัญ ที่ชนทั้งหลาย บูชาเสมอ และแพะ แกะ โค สัตว์ต่างๆ ไม่ถูกฆ่าใน ยัญใด พระอริยะทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ผู้แสวงหาคุณใหญ่ ย่อมสรรเสริญยัญนั้น นักปราชญ์ย่อมบูชาอย่างนี้ ยัญนี้มี ผลมาก เพราะเมื่อบุคคลบูชา อยู่อย่างนี้ ย่อมมีแต่ความดี ไม่มีความชั่ว และยัญย่อมไพบูลย์ ทั้งเทวดาย่อมเลื่อมใส
จบสูตรที่ ๙
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๙-๕๑
อุทายสูตร
[๔๐] ครั้งนั้นแล อุทายพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่งณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า แม้พระโคดมผู้เจริญ ย่อมกล่าวสรรเสริญยัญของพวกข้าพเจ้าหรือ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรพราหมณ์ เรามิได้สรรเสริญยัญไปทุกอย่าง และก็มิได้ติเตียนยัญ ไปทุกอย่าง ดูกรพราหมณ์ ในยัญชนิดใด มีการฆ่าโค ฆ่าแพะ แกะ ฆ่าไก่ สุกร สัตว์ต่าง ชนิดถูกฆ่า เราไม่สรรเสริญยัญเห็นปานนี้ อันประกอบด้วยความริเริ่ม ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะพระอรหันต์ หรือผู้บรรลุอรหัตมรรค ย่อมไม่เกี่ยวข้องยัญ เห็นปานนั้น อันประกอบด้วย ความริเริ่ม แต่ในยัญชนิดใดไม่มีการฆ่าโค ไม่มีการฆ่าแพะ แกะ ไม่มีการฆ่าไก่ สุกร สัตว์ต่างชนิดไม่ถูกฆ่า เราย่อมสรรเสริญยัญเห็นปานนี้ อันปราศจาก ความริเริ่ม ได้แก่นิจทาน อนุกุลยัญ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพระอรหันต์หรือผู้บรรลุ อรหัตมรรค ย่อมเกี่ยวข้องยัญเห็นปานนี้อันปราศจากความริเริ่ม
ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย ผู้สำรวมแล้ว ย่อมสรรเสริญยัญ ชนิด ที่กระทำเป็นหมวด ไม่มีความริเริ่ม ควรโดยกาลเช่นนั้น ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ผู้ฉลาดต่อบุญ ผู้มีกิเลส เพียงดังว่าหลังคาอันเปิดแล้วในโลก ผู้ล่วงเลยตระกูลและคติ ไปแล้ว ย่อมสรรเสริญยัญชนิดนี้ ถ้าบุคคลกระทำการบูชา ในยัญ หรือใน มตกทาน* ตามสมควร มีจิตเลื่อมใส บูชา ในเนื้อนาอันดี คือ พรหมจารีบุคคลทั้งหลาย ยัญที่บุคคล บูชาดีแล้ว เซ่นสรวงดีแล้ว สมบูรณ์แล้ว อันบุคคลกระทำ แล้วในทักขิเณยยบุคคลทั้งหลาย ย่อม เป็นยัญไพบูลย์ และ เทวดาย่อมเลื่อมใส บัณฑิตผู้มีเมธาเป็นผู้มีศรัทธา มีใจ อันสละแล้ว บูชายัญอย่างนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลก อันปราศจาก ความเบียดเบียน เป็นสุข
*อาหารเพื่อผู้ตาย
จบสูตรที่ ๑๐ |