พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๒๑
รถการวรรคที่ ๒ (ว่าด้วยช่างรถ)
ญาตกสูตร
[๔๕๐] ๑๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีชื่อเสียงประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ย่อมปฏิบัติเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อมิใช่สุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความพินาศ แก่ชน เป็นอันมาก เพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ
ชักชวนในกายกรรมที่ไม่สมควร ๑
ชักชวนในวจีกรรม ที่ไม่สมควร ๑
ชักชวนในธรรมที่ไม่สมควร ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีชื่อเสียงประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมปฏิบัติ เพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อมิใช่สุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความพินาศแก่ชน เป็นอันมาก เพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีชื่อเสียงประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ย่อมปฏิบัติ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อประโยชน์แก่ชนหมู่มาก เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการเป็นไฉนคือ
ชักชวนในกายกรรม ที่สมควร ๑
ชักชวนในวจีกรรมที่สมควร ๑
ชักชวนในธรรมที่สมควร ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีชื่อเสียงประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมปฏิบัติ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อประโยชน์แก่ชนหมู่มาก เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๒๑-๑๒๒
สรณียสูตร
(สถานที่อันกษัตริย์และภิกษุพึงระลึกถึงตลอดชีวิต)
(สถานที่
ภิกษุ พึงระลึกถึงตลอดชีวิต)
[๔๕๑] ๑๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สถานที่ ๓ แห่งนี้ ย่อมเป็นสถานที่อัน กษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว พึงทรงระลึกถึงตลอดพระชนม์ชีพ สถานที่ ๓ แห่งเป็นไฉน คือ
กษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ประสูติ ณ ที่ใด ที่นี้เป็นสถานที่ ๑ อันกษัตราธิราช พึงทรงระลึกตลอดพระชนม์ชีพ
อีกประการหนึ่ง กษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ณ ที่ใด ที่นี้เป็นสถานที่ ๒ อันกษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว พึงทรงระลึกถึงตลอดพระชนม์ชีพ
อีกประการหนึ่ง กษัตราธิราช ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ทรงชำนะสงครามครั้งใหญ่ มีชัย ทรงครอบครองสนามรบ ณ ที่ใด ที่นี้เป็นสถานที่ ๓ อันกษัตราธิราชผู้ได้รับ มูรธาภิเษกแล้ว พึงทรงระลึกถึงตลอดพระชนม์ชีพ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สถานที่ ๓ แห่งนี้แล เป็นสถานที่ อันกษัตราธิราชผู้ได้รับ มูรธาภิเษกแล้ว พึงทรงระลึกถึงตลอดพระชนม์ชีพ
(สถานที่
ภิกษุ พึงระลึกถึงตลอดชีวิต)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สถานที่ ๓ แห่งนี้ เป็นสถานที่ อันภิกษุพึงระลึกถึงตลอดชีวิต ฉันนั้นเหมือนกันแล สถานที่ ๓ แห่งเป็นไฉน คือ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุปลงผม และหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิต ณ ที่ใดที่นี้เป็นสถานที่ ๑ อันภิกษุพึงระลึกถึงตลอดชีวิต
อีกประการหนึ่ง ภิกษุรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัยนี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ณ ที่ใด ที่นี้เป็นสถานที่ ๒ อันภิกษุพึงระลึกถึงตลอดชีวิต
อีกประการหนึ่ง ภิกษุทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ณ ที่ใด ที่นี้เป็นสถานที่ ๓ อันภิกษุพึงระลึกถึงตลอดชีวิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สถานที่ ๓ แห่งนี้แล เป็นสถานที่อันภิกษุพึงระลึกถึง ตลอดชีวิต
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๒๒-๑๒๕
ภิกขุสูตร
(อาสังสสูตร-ว่าด้วยความหวังทางโลกและทางธรรม)
[๔๕๒] ๑๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวก เป็นไฉน คือ
บุคคลผู้หมดหวัง ๑
บุคคลผู้มีหวัง ๑
บุคคลผู้ปราศจากความหวัง ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ผู้หมดหวังเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคน ในโลกนี้ บังเกิดในสกุลต่ำ คือ สกุลจัณฑาล สกุลคนเป่าปี่ (ขอทาน)สกุลนายพรานป่า สกุลช่างรถ หรือสกุลกุลีเทหยากเยื่อ ซึ่งเป็นสกุลที่ยากจน มีข้าวน้ำโภชนาหารน้อย มีความเป็นไปฝืดเคือง มีของกินและเครื่องนุ่งห่มหาได้ โดยฝืดเคือง และเขาเป็นคน มีผิวพรรณหม่นหมอง ไม่น่าดู ต่ำเตี้ย มากด้วยความป่วยไข้ เป็นคนบอด เป็นคนง่อย เป็นคนกระจอก หรือเป็นโรคอัมพาต หาข้าวน้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องตามประทีปไม่ได้ เขาได้ฟังข่าวว่า กษัตริย์ผู้มีพระนามอย่างนี้ ถูกพวกกษัตริย์อภิเษกแล้ว ด้วยการอภิเษกให้เป็นกษัตริย์ เขาหาคิดอย่างนี้ไม่ว่า ถึงตัวเราก็จักถูกพวกกษัตริย์อภิเษก ด้วยการอภิเษกให้เป็นกษัตริย์ สักครั้งหนึ่งแน่แท้ ดูกรภิกษุทั้งหลายนี้เรียกว่า "บุคคลผู้หมดหวัง"
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้มีหวังเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระโอรสของ พระราชามหากษัตริย์ ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วในโลกนี้ เป็นผู้ควรอภิเษก แต่ยังไม่ได้รับ การอภิเษก ถึงความไม่หวั่นไหว เขาได้ฟังข่าวว่า กษัตริย์ผู้มีพระนามอย่างนี้ ถูกพวก กษัตริย์อภิเษก ด้วยการอภิเษกให้เป็นกษัตริย์ เขาย่อมคิดดังนี้ว่า ถึงตัวเราก็จักถูกพวก กษัตริย์อภิเษก ด้วยการอภิเษก ให้เป็นกษัตริย์สักคราวหนึ่งโดยแท้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า "บุคคลผู้มีหวัง" ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ปราศจากความหวังเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระราชาในโลกนี้ เป็นกษัตริย์ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว พระองค์ได้สดับข่าวว่า กษัตริย์ผู้มี พระนามอย่างนี้ ถูกพวกกษัตริย์อภิเษก ด้วยการอภิเษกให้เป็นกษัตริย์ พระองค์หา ทรงพระดำริดังนี้ไม่ว่า ถึงตัวเราก็จักถูกพวกกษัตริย์อภิเษก ด้วยการอภิเษกให้เป็น กษัตริย์ สักคราวหนึ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะพระองค์ซึ่งแต่ก่อนยังมิได้รับการอภิเษก ได้มีการอภิเษกสงบไปแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลายนี้เรียกว่า "บุคคลผู้ปราศจากความหวัง" ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก แม้ฉันใด
---------------------------------------------------------------------------------------------
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในหมู่ภิกษุ ก็มีบุคคลอยู่ ๓ จำพวก ปรากฏฉันนั้นเหมือนกัน แล บุคคล ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ บุคคลผู้หมดหวัง ๑ บุคคลผู้มีหวัง ๑ บุคคลผู้ปราศจาก ความหวัง ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้หมดหวังเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคน ทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีสมาจารที่พึงระลึกด้วยความรังเกียจ มีการงาน ปกปิด ไม่ใช่ สมณะ แต่ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารี แต่ปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารี เน่าใน ภายใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นดังหยากเยื่อ เธอได้สดับข่าวว่า ภิกษุชื่อนี้ทำให้แจ้ง ซึ่ง เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เธอหาคิดดังนี้ไม่ว่า แม้เราก็จักทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า"บุคคลผู้หมดหวัง"
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้มีหวังเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม เธอได้สดับข่าวว่า ภิกษุชื่อนี้ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติปัญญาวิมุติ อันหา อาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เธอย่อมคิด ดังนี้ว่า แม้เราก็จักทำให้แจ้ง ซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะ สิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่สักคราวหนึ่งโดยแท้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า "บุคคลผู้มีหวัง"
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ปราศจากความหวังเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันตขีณาสพ เธอได้สดับข่าวว่า ภิกษุชื่อนี้ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เธอย่อม ไม่คิดดังนี้ว่า ถึงเราก็จักทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะ อาสวะ สิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ สักคราวหนึ่งโดยแท้ ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะความหวังในวิมุติของเธอ ผู้ยังไม่หลุดพ้นในก่อนนั้น ระงับแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลายนี้เรียกว่า "บุคคลผู้ปราศจากความหวัง"
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในหมู่ภิกษุ มีบุคคล ๓ จำพวกนี้แล ปรากฏอยู่
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๒๕-๑๒๖
จักกวัตติสูตร
(ความเป็นราชาของพระเจ้าจักรพรรดิและพระพุทธเจ้า)
[๔๕๓] ๑๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา ทรงยังจักรมิใช่ของพระราชาอื่นให้เป็นไป เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้ ภิกษุรูปหนึ่ง ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อะไรเล่า เป็นราชาของพระเจ้า จักรพรรดิ ผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ดูกรภิกษุ ธรรมเป็นราชาของพระเจ้าจักรพรรดิ ผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชาดั่งนี้ แล้วได้ตรัสต่อไปว่า ดูกรภิกษุ พระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชาในโลกนี้ ทรงอาศัยธรรมนั่นเอง สักการะธรรม เคารพธรรม ยำเกรงธรรม มีธรรมเป็นธงมีธรรม เป็นตรา มีธรรมเป็นใหญ่ ทรงจัดการรักษา ป้องกันและคุ้มครอง ที่ประกอบด้วยธรรมไว้ ในอันโตชน
ดูกรภิกษุ อีกประการหนึ่ง พระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชาทรงอาศัย ธรรม นั่นเอง สักการะธรรม เคารพธรรม ยำเกรงธรรม มีธรรมเป็นธงมีธรรมเป็นตรา มีธรรม เป็นใหญ่ ทรงจัดการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองที่ประกอบด้วยธรรม ไว้ในพวก กษัตริย์ ผู้ที่ตามเสด็จ ในหมู่พล ในพราหมณ์และคฤหบดี ในชาวนิคมและชาวชนบท ในสมณะและพราหมณ์ ในเนื้อและนก
ดูกรภิกษุ พระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา พระองค์นั้นแล ซึ่งอาศัย ธรรม นั่นเอง สักการะธรรม เคารพธรรม ยำเกรงธรรม มีธรรมเป็นธง มีธรรมเป็นตรา มีธรรมเป็นใหญ่ ครั้นทรงจัดการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองที่ประกอบด้วยธรรม ไว้ใน อันโตชน ในพวกกษัตริย์ผู้ตามเสด็จ ในหมู่พล ในพราหมณ์และคฤหบดี ในชาวนิคมและ ชาวชนบท ในสมณะและพราหมณ์ ในเนื้อและนกแล้ว ย่อมทรงใช้จักร ให้เป็นไปโดย ธรรม เท่านั้น จักเป็นอันมนุษย์ ข้าศึกหรือสัตว์ไรๆ ให้เป็นไปไม่ได้ ฉันใด
ดูกรภิกษุ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทรงอาศัยธรรมนั่นเอง สักการะธรรม เคารพธรรม ยำเกรงธรรม มีธรรมเป็นธง มีธรรมเป็นตรา มีธรรมเป็นใหญ่ ทรงจัดการรักษาป้องกัน และคุ้มครอง ที่ประกอบด้วยธรรมไว้ในกายกรรม ว่ากายกรรมเช่นนี้ควรเสพ กายกรรมเช่นนี้ไม่ควรเสพ
ดูกรภิกษุ อีกประการหนึ่ง พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา ทรงอาศัยธรรมนั่นเอง สักการะธรรม เคารพธรรม ยำเกรงธรรม ทรงมี ธรรม เป็นธง มีธรรมเป็นตรา มีธรรมเป็นใหญ่ ทรงจัดการรักษาป้องกัน และคุ้มครอง ที่ประกอบด้วยธรรมไว้ในวจีกรรมว่า วจีกรรมเช่นนี้ควรเสพวจีกรรมเช่นนี้ ไม่ควรเสพ
ดูกรภิกษุ อีกประการหนึ่ง พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา ทรงอาศัยธรรมนั่นเอง สักการะธรรม เคารพธรรมยำเกรงธรรม มีธรรม เป็นธง มีธรรมเป็นตรา มีธรรมเป็นใหญ่ ทรงจัดการรักษาป้องกัน และคุ้มครองที่ประกอบ ด้วย ธรรม ไว้ในมโนกรรมว่า มโนกรรมเช่นนี้ควรเสพ มโนกรรมเช่นนี้ไม่ควรเสพ
ดูกรภิกษุ พระตถาคตอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้ทรงธรรมเป็น ธรรมราชา ทรงอาศัยธรรมนั่นเอง สักการะธรรม เคารพธรรม ยำเกรงธรรมมีธรรมเป็นธง มีธรรมเป็นตรา มีธรรมเป็นใหญ่ ครั้นทรงจัดการรักษา ป้องกันและคุ้มครองที่ประกอบ ด้วย ธรรมไว้ในกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมแล้ว ทรงยังธรรมจัก รอันยอดเยี่ยม ให้เป็นไปโดยธรรมเท่านั้น จักรนั้น อันสมณะ พราหมณ์เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก ให้เป็นไปด้วยไม่ได้
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๒๖-๑๒๙
ปเจตนสูตร
(พระเจ้าปเจตนะรับสั่งให้ช่างทำล้อรถ)
[๔๕๔] ๑๕. สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้ พระนคร พาราณสี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับสนองพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพระราชาพระองค์หนึ่ง พระนามว่าปเจตนะ ครั้งนั้น พระเจ้าปเจตนะ ได้รับสั่งกะนายช่างรถว่า ดูกรนายช่างรถผู้สหายแต่นี้ไปอีก ๖ เดือน ฉันจักทำสงคราม ท่านสามารถจะทำล้อคู่ใหม่ของฉันได้ไหม นายช่างรถ ได้ทูล รับรองต่อพระเจ้าปเจตนะว่า ขอเดชะ ข้าพระองค์สามารถ จะทำถวายได้
ครั้งนั้นแล นายช่างรถได้ทำล้อสำเร็จข้างหนึ่ง โดย ๖ เดือน หย่อน๖ ราตรี ครั้งนั้น แล พระเจ้าปเจตนะตรัสเรียกนายช่างรถมาถามว่า ดูกรชายช่างรถผู้สหาย แต่นี้ไปอีก ๖ วัน ฉันจักทำสงคราม ล้อคู่ใหม่สำเร็จแล้วหรือ
นายช่างรถกราบทูลว่า ขอเดชะ โดย ๖ เดือน หย่อนอยู่อีก ๖ ราตรีนี้แล ล้อได้ เสร็จไปแล้วข้างหนึ่ง
พระเจ้าปเจตนะตรัสถามว่า ดูกรนายช่างรถผู้สหาย ๖ วันนี้ท่านสามารถจะทำ ล้อข้างที่สองของฉันให้เสร็จได้หรือ
นายช่างรถได้กราบทูลรับรองต่อพระเจ้าปเจตนะว่า ขอเดชะ ข้าพระองค์สามารถ จะทำให้เสร็จได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล นายช่างรถทำล้อข้างที่สองเสร็จโดย ๖ วันแล้ว นำเอาล้อคู่ใหม่ เข้าไปเฝ้าพระเจ้าปเจตนะถึงที่ประทับ แล้วกราบทูลว่า ขอเดชะ ล้อคู่ใหม่ ของพระองค์นี้สำเร็จแล้ว
พระเจ้าปเจตนะรับสั่งถามว่า ดูกรนายช่างรถผู้สหาย ล้อของท่านข้างที่เสร็จโดย ๖ เดือนหย่อน ๖ ราตรี กับอีกข้างหนึ่งเสร็จโดย ๖ วันนี้ เหตุอะไรเป็นเครื่องทำให้ แตกต่างกัน ฉันจะเห็นความแตกต่างของมันได้อย่างไร
นายช่างรถกราบทูลว่า ขอเดชะ ความแตกต่างของมันมีอยู่ ขอพระองค์จงทรง ทอดพระเนตร ความแตกต่างกันของมัน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล นายช่างรถยังล้อข้างที่เสร็จโดย ๖ วันให้หมุนไป ล้อนั้นเมื่อนายช่างรถหมุนไป ก็หมุนไปได้เท่าที่นายช่างรถหมุนไปแล้ว หมุนเวียนล้มลง บนพื้นดิน นายช่างรถได้ยังล้อข้างที่เสร็จโดย ๖ เดือนหย่อนอยู่ ๖ ราตรีให้หมุนไป ล้อนั้น เมื่อนายช่างรถหมุนไป ก็หมุนไปได้เท่าที่นายช่างรถหมุนไป แล้วตั้งอยู่เหมือน อยู่ในเพลา ฉะนั้น
พระเจ้าปเจตนะตรัสถามว่า ดูกรนายช่างรถผู้สหาย อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ล้อข้างที่เสร็จโดย ๖ วันนี้ เมื่อถูกท่านหมุนไปแล้ว จึงหมุนไปเพียงเท่าท่านหมุนไปได้ แล้วหมุนเวียนล้มลงบนพื้นดิน ก็อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยล้อข้างที่เสร็จโดย ๖ เดือน หย่อนอยู่ ๖ ราตรีนี้ เมื่อท่านหมุนไป จึงหมุนไปเท่าที่ท่านหมุนไปได้ แล้วได้ตั้งอยู่ เหมือนกับ อยู่ในเพลา ฉะนั้น
นายช่างรถกราบทูลว่า ขอเดชะ กงก็ดี กำก็ดี ดุมก็ดี ของล้อข้างที่เสร็จแล้วโดย ๖ วันนี้ มันคดโค้ง มีโทษ มีรสฝาด เพราะกงก็ดี กำก็ดี ดุมก็ดี คดโค้ง มีโทษ มีรสฝาด ฉะนั้นเมื่อข้าพระองค์หมุนไป จึงหมุนไปเท่าที่ข้าพระองค์หมุนไป แล้วหมุนเวียน ล้มบน พื้นดิน ขอเดชะ ส่วนกงก็ดีกำก็ดี ดุมก็ดี ของล้อข้างที่เสร็จโดย ๖ เดือนหย่อนอยู่อีก ๖ ราตรีนี้ ไม่คดโค้งหมดโทษ ไม่มีรสฝาด ฉะนั้น เมื่อข้าพระองค์หมุนไป จึงหมุนไปได้ เท่าที่ ข้าพระองค์หมุนไป แล้วได้ตั้งอยู่เหมือนกับอยู่ในเพลา ฉะนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ท่านทั้งหลายจะพึงคิดอย่างนี้ว่า สมัยนั้นคนอื่นได้เป็นนาย ช่างรถ แต่ข้อนี้ไม่ควรเห็นดังนั้น สมัยนั้นเราได้เป็นนายช่างรถ (ครั้งหนึ่งพระองค์เคยเป็นช่างรถ)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คราวนั้น เราเป็นคนฉลาดในความคดโค้งแห่งไม้ ในโทษ แห่งไม้ ในรสฝาดแห่งไม้ แต่บัดนี้เราเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉลาดในความคดโกงแห่งกาย ในโทษแห่งกาย ในรสฝาดแห่งกาย ฉลาดในความคดโกงแห่งวาจา ในโทษแห่งวาจา ในรสฝาดแห่งวาจา ฉลาดในความคดโกงแห่งใจ ในโทษแห่งใจ ในรสฝาดแห่งใจ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง ไม่ละความคดโกงแห่งกาย โทษแห่งกาย รสฝาดแห่งกาย ไม่ละความคดโกงแห่งวาจา โทษแห่งวาจา รสฝาดแห่ง วาจา ไม่ละความคดโกงแห่งใจ โทษแห่งใจ รสฝาดแห่งใจเขาได้พลัดตกไป จาก ธรรมวินัยนี้ เหมือนกับล้อข้างที่เสร็จโดย ๖ วัน ฉะนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง ละความคดโกงแห่งกาย โทษแห่งกาย รสฝาดแห่งกาย ละความคดโกงแห่งวาจา โทษแห่งวาจา รสฝาดแห่ง วาจา ละความคดโกงแห่งใจ โทษแห่งใจ รสฝาดแห่งใจได้ เขาดำรงมั่น อยู่ในธรรม วินัยนี้ เหมือนกับล้อข้างที่เสร็จโดย ๖ เดือนหย่อนอยู่ ๖ ราตรี ฉะนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลาย จักละความคดโกงแห่งกาย โทษแห่งกาย รสฝาดแห่งกาย จักละความ คดโกงแห่งวาจา โทษแห่งวาจา รสฝาดแห่งวาจา จักละความคดโกงแห่งใจ โทษแห่ง ใจ รสฝาดแห่งใจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๒๙-๑๓๐
อปัณณกสูตร
(ข้อปฏิบัติไม่ผิด)
[๔๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติ ไม่ผิด และชื่อว่าเธอปรารภปัญญา เพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการ เป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลาย ๑ เป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ ๑ เป็นผู้ประกอบความเพียร ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลาย อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เห็นรูปด้วยตาแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติ เพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุ ให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ย่อมถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยหูแล้ว ฯลฯ
ดมกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ฯลฯ
ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ฯลฯ
ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ฯลฯ
รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมไม่ถือเอาโดยนิมิต โดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติ เพื่อ สำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌา และโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษามนินทรีย์ ย่อมถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลายอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้รู้จักประมาณ ในโภชนะอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ฉันอาหารไม่ใช่ เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อจะมัวเมา ไม่ใช่เพื่อจะประดับ ไม่ใช่เพื่อจะประเทืองผิว เพียงเพื่อ กายนี้ ตั้งอยู่ เพื่อจะให้กายนี้เป็นไปเพื่อจะกำจัดความเบียดเบียนลำบาก เพื่อจะ อนุเคราะห์ พรหมจรรย์ ด้วยคิดเห็นว่าเราจักกำจัดเวทนาเก่าเสีย และจักไม่ให้เวทนา ใหม่ เกิดขึ้น ความที่กายจักเป็นไปได้นาน ความเป็นผู้ไม่มีโทษ และความอยู่สำราญ จักเกิดมีแก่เรา ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ อย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบความเพียรอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณิยธรรม ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดวัน ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณิยธรรม ด้วยการเดินจงกรมด้วยการนั่งตลอดยามต้นแห่งราตรี ตลอดยามกลางแห่งราตรี ย่อมสำเร็จสีหไสยาโดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันจะลุกขึ้นไว้ในใจ ย่อมลุกขึ้นชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณิยธรรม ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดปัจฉิมยาม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ประกอบความเพียรอย่างนี้แล ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติ ไม่ผิด และชื่อว่าเธอปรารภปัญญฃา เพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๓๑
อัตตสูตร
(อัตตพยาพาธสูตร -ว่าด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน)
[๔๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้ เป็นไปทั้งเพื่อเบียดเบียนตนเอง เป็นไปทั้งเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น เป็นไปทั้งเพื่อเบียดเบียนตน และคนอื่นทั้งสองฝ่าย ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ กายทุจริต ๑ วจีทุจริต ๑ มโนทุจริต ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แล เป็นไปทั้งเพื่อเบียดเบียนตนเอง เป็นไป ทั้งเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น เป็นไปทั้งเพื่อเบียดเบียนตนเอง และผู้อื่นทั้งสองฝ่าย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้ ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเอง ไม่เป็นไป เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน และคนอื่นทั้งสองฝ่าย ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ กายสุจริต ๑ วจีสุจริต ๑ มโนสุจริต ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แล ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเอง ไม่เป็นไป เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน และคนอื่นทั้งสองฝ่าย
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๓๑
เทวสูตร
(เทวโลก)
[๔๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ จะพึงถามท่าน ทั้งหลายเช่นนี้ว่า ดูกรอาวุโส พระสมณโคดมอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อจะเข้าถึง พรหมโลกหรือ ท่านทั้งหลายเมื่อถูกถามเช่นนี้ พึงอึดอัด ระอา รังเกียจมิใช่หรือ เมื่อภิกษุเหล่านั้นทูลรับว่า เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า จึงได้ตรัสต่อไปว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า ท่านทั้งหลายอึดอัด ระอา รังเกียจ ด้วยอายุทิพย์ ด้วยวรรณะทิพย์ ด้วยสุขทิพย์ ด้วยยศทิพย์ ด้วยอธิปไตยทิพย์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แต่ท่าน ทั้งหลายควรอึดอัด ระอา รังเกียจ ด้วยกายทุจริต ด้วยวจีทุจริต ด้วยมโนทุจริต ก่อนทีเดียว
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๓๒-๑๓๓
ปาปณิกสูตรที่ ๑
(คุณสมบัติของพ่อค้าและภิกษุ)
[๔๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ ประการ ไม่ควรจะได้ โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ หรือเพื่อทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีขึ้น องค์ ๓ประการเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าในโลกนี้ เวลาเช้าไม่จัดแจงการงานโดยเอื้อเฟื้อ เวลาเที่ยงไม่จัดแจงการงานโดยเอื้อเฟื้อ เวลาเย็นไม่จัดแจงการงานโดยเอื้อเฟื้อ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ ประการนี้แล ไม่ควรจะได้ โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ หรือเพื่อทำโภคทรัพย์ ที่ได้แล้วให้ทวีขึ้น ฉันใด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้ไม่ควรจะบรรลุกุศลธรรม ที่ยังไม่ได้บรรลุ หรือเพื่อทำกุศลธรรมที่ได้บรรลุแล้ว ให้เจริญมากขึ้น ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เวลาเช้า ไม่อธิษฐานสมาธินิมิตโดยเคารพ (ไม่ทำสมาธิ)
เวลาเที่ยง ไม่อธิษฐานสมาธินิมิตโดยเคารพ
เวลาเย็น ไม่อธิษฐานสมาธินิมิตโดยเคารพ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้ เป็นผู้ไม่ควรจะบรรลุ กุศลธรรม ที่ยังไม่ได้บรรลุ หรือเพื่อทำกุศลธรรมที่ได้บรรลุแล้วให้เจริญมากขึ้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ ประการนี้แล สมควรจะได้โภค ทรัพย์ที่ยังไม่ได้ หรือเพื่อทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น องค์ ๓ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าในโลกนี้
เวลา เช้าจัดแจงการงานโดยเอื้อเฟื้อ
เวลา เที่ยง จัดแจงการงานโดยเอื้อเฟื้อ
เวลา เย็นจัดแจงการงานโดยเอื้อเฟื้อ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ ประการนี้แล สมควรจะได้ โภคทรัพย์ ที่ยังไม่ได้หรือเพื่อทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น ฉันใด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วย ธรรม ๓ ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สมควรจะได้บรรลุกุศลธรรม ที่ยังไม่ได้บรรลุ หรือเพื่อทำกุศลธรรมที่ได้บรรลุแล้ว ให้เจริญมากขึ้น ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เวลาเช้า อธิษฐานสมาธินิมิตโดยเคารพ (ทำสมาธิ)
เวลาเที่ยง อธิษฐานสมาธินิมิต โดยเคารพ
เวลาเย็น อธิษฐานสมาธินิมิต โดยเคารพ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม๓ ประการนี้แล สมควรจะบรรลุ กุศลธรรม ที่ยังไม่บรรลุ หรือเพื่อทำกุศลธรรมที่ได้บรรลุแล้วให้เจริญมากขึ้น
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๓๓-๑๓๔
ปาปณิกสูตรที่ ๒
(คุณสมบัติของพ่อค้าและภิกษุ)
[๔๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ ประการ ย่อมถึงความมี โภคทรัพย์มากมายเหลือเฟือ ไม่นานเลย องค์ ๓ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าในโลกนี้ เป็นคนที่
มีตาดี ๑
มีธุระดี ๑
ถึงพร้อมด้วยบุคคล ที่จะเป็นที่พึ่งได้ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าชื่อว่าเป็นคนมีตาดีอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้า ในโลกนี้ ย่อมรู้สิ่งที่จะพึงซื้อขายว่า สิ่งที่พึงขายนี้ ซื้อมาเท่านี้ ขายไปเท่านี้ จักได้ทุน เท่านี้ มีกำไรเท่านี้ ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าชื่อว่าเป็นคนมีตาดี ด้วยอาการ อย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าชื่อว่ามีธุระดีอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าในโลกนี้ เป็นคนฉลาดที่จะซื้อและขาย สิ่งที่ตนจะพึงซื้อขาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าชื่อว่า เป็นคน มีธุระดี ด้วยอาการอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคน ซึ่งจะเป็นที่พึ่งได้ อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าในโลกนี้ อันคฤหบดี หรือบุตร คฤหบดี ผู้มั่งคั่ง ผู้มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก ทราบได้เช่นนี้ ว่าท่านพ่อค้าผู้นี้แล เป็นคน มีตาดี มีธุระดี สามารถที่จะเลี้ยง บุตรภรรยา และใช้คืนให้แก่เราตามเวลาได้ เขาต่าง ก็เชื้อเชิญพ่อค้า นั้น ด้วยโภคะว่า แน่ะท่านพ่อค้าผู้สหาย แต่นี้ไปท่านจงนำเอาโภคะ ไปเลี้ยงดู บุตร ภรรยา และใช้คืนให้ แก่เราตามเวลา ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อม ด้วยบุคคลซึ่งเป็นที่พึ่งได้ ด้วยอาการอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ ประการนี้แล ย่อมจะถึงความมี โภคะ มากมายเหลือเฟือ ไม่นานเลย ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมถึงความเป็นผู้มากมูนไพบูลย์ในกุศลธรรมไม่นานเลย ธรรม ๓ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้
มีจักษุ ๑
มีธุระดี ๑
ถึงพร้อมด้วย ภิกษุ พอจะเป็นที่พึ่งได้ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีจักษุอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ... นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีจักษุอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีธุระดีอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความถึงพร้อมแห่ง กุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่น ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีธุระดีอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยภิกษุ พอจะเป็นที่พึ่ง ได้อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอเข้าไปหาภิกษุ ผู้เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัยทรงมาติกา ตามเวลา แล้วไต่ถาม สอบสวนว่า ท่านผู้เจริญ พระพุทธพจน์ นี้อย่างไร ความแห่งพระพุทธพจน์นี้อย่างไร ท่านเหล่านั้น ย่อมเปิดเผยธรรม ที่ยังไม่เปิดเผย ย่อมทำธรรม ที่ยังมิได้ทำให้ตื้นแล้วให้ตื้น และย่อม บรรเทาความสงสัยในธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย มิใช่น้อยแก่ภิกษุนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยภิกษุ พอจะเป็นที่พึ่งได้อย่างนี้ แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมถึงความเป็นผู้ มากมูน ไพบูลย์ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่นานเลย
จบรถการวรรคที่ ๒ |