พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้า ๒๙-๓๐
พรหมจริยสูตร
[๒๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อลวงประชาชน ก็หามิได้ เพื่อเกลี้ยกล่อมประชาชน ก็หามิได้ เพื่ออานิสงส์ คือ ลาภสักการะ และความ สรรเสริญ ก็หามิได้ เพื่ออานิสงส์ คือ การอวดอ้างวาทะ ก็หามิได้ เพื่อความปรารถนาว่า ชนจงรู้จักเราด้วยอาการดังนี้ ก็หามิได้ โดยที่แท้ ตถาคตอยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้ เพื่อสังวร เพื่อละ เพื่อคลายความกำหนัด เพื่อดับกิเลส
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ได้ทรงแสดงพรหมจรรย์อันเป็น การละเว้น มีปรกติ ยังสัตว์ให้หยั่งลงภายในนิพพาน เพื่อ สังวร เพื่อละ หนทางนี้อันท่านผู้ใหญ่ ผู้แสวงหา คุณอันใหญ่ ดำเนินไปแล้ว อนึ่ง ชนเหล่าใดย่อมดำเนินไปสู่ทางนั้น ตามที่พระพุทธเจ้า ทรงแสดงแล้ว ชนเหล่านั้นชื่อว่าทำตาม คำสั่งสอนของศาสดา จักกระทำที่สุดแห่ง ทุกข์ได้
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้า ๓๐
กุหสูตร
[๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใด เป็นผู้ลวง เป็นผู้กระด้างเป็นคนประจบ มีปรกติวางท่า มีมานะดุจไม้อ้อที่ยกขึ้น เป็นผู้ไม่มั่นคง ภิกษุเหล่านั้นหาใช่เป็นผู้นับถือ เราไม่ เป็นผู้ไปปราศจากธรรมวินัยนี้ และย่อมไม่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ในธรรมวินัยนี้ ส่วนภิกษุเหล่าใด เป็นผู้ไม่ลวง ไม่ประจบ เป็นธีรชน ไม่กระด้าง เป็นผู้มั่นคงดี ภิกษุเหล่านั้น แลชื่อว่านับถือเรา ไม่ไปปราศจากธรรมวินัยนี้ และย่อมถึง ความเจริญงอกงามไพบูลย์ ในธรรมวินัยนี้
ภิกษุเหล่าใด ล่อลวง กระด้าง ประจบ วางท่า มีมานะดุจ ไม้อ้อ และไม่ตั้งมั่น ภิกษุเหล่านั้นย่อมไม่งอกงามในธรรม อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงแล้ว ส่วนภิกษุเหล่าใดไม่ ล่อลวง ไม่ประจบ เป็นธีรชน ไม่กระด้าง ตั้งมั่นดีแล้ว ภิกษุเหล่านั้น แล ย่อมงอกงามในธรรม อันพระสัมมา สัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้า ๓๐-๓๑
สันตุฏฐิสูตร
[๒๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัจจัย ๔ อย่างนี้ ทั้งน้อย หาได้ง่าย และหาโทษ มิได้ ปัจจัย ๔ อย่างเป็นไฉน คือ
บรรดาจีวร บังสุกุลจีวร ทั้งน้อยหาได้ง่าย และหาโทษมิได้ ๑
บรรดาโภชนะ คำข้าวที่หาได้ด้วยปลีแข็ง ทั้งน้อยหาได้ง่าย และหาโทษมิได้ ๑
บรรดา เสนาสนะ รุกขมูล ทั้งน้อย หาได้ง่ายและหาโทษมิได้ ๑
บรรดาเภสัช มูตรเน่า ทั้งน้อย หาได้ง่าย และหาโทษมิได้ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัจจัย ๔ อย่างนี้แล ทั้งน้อย หาได้ง่าย หาโทษมิได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่ภิกษุเป็นผู้สันโดษ ด้วยปัจจัย อันน้อย และ หาได้ง่าย เราจึงกล่าวข้อนี้ว่า เป็นองค์แห่งความเป็นสมณะ อย่างหนึ่งของเธอ
เมื่อภิกษุสันโดษด้วยปัจจัย อันหาโทษมิได้ ทั้งน้อยและหา ได้ง่าย ปรารภเสนา สนะ จีวร ปานะ และโภชนะ จิตของเธอ ก็ไม่คับแค้นไม่กระทบกระเทือนทุกทิศ และ ธรรมเหล่าใด อันภิกษุนั้นกล่าวแล้ว อนุโลมแก่สมณธรรม ธรรมเหล่านั้น อันภิกษุผู้ ไม่ประมาท มีความสันโดษถือเอาโดยยิ่ง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้า ๓๓-๓๔
ธรรมปทสูตร
[๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บทธรรม ๔ ประการนี้ บัณฑิตสรรเสริญ
ว่าเลิศ เป็นของ มีมานาน เป็นประเพณีของพระอริยะ เป็นของเก่า ไม่กระจัด กระจาย ไม่เคย กระจัดกระจาย บัณฑิตย่อมไม่รังเกียจ และจักไม่รังเกียจ อันวิญญูชน ทั้งสมณะ และ พราหมณ์ไม่เกลียด
บทธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ
บทธรรมคือ อนภิชฌา ๑
บทธรรม คืออพยาบาท ๑
บทธรรมคือสัมมาสติ ๑
บทธรรมคือสัมมาสมาธิ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บทธรรม ๔ ประการนี้แล บัณฑิตสรรเสริญว่าเลิศ เป็นของมี มานาน เป็นประเพณีของ พระอริยะเป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจาย นักปราชญ์ย่อมไม่รังเกียจ จักไม่รังเกียจ วิญญูชนทั้งสมณะและพราหมณ์ ไม่เกลียด
บุคคลไม่พึงเป็นผู้มากไปด้วยความเพ่งเล็ง มีใจไม่พยาบาท มีสติ มีจิตมีอารมณ์ เป็นหนึ่งตั้งมั่นด้วยดีในความเป็นกลางอยู่
|