เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

ศีลสูตร บุคคลผู้มีศีล... ปธานสูตร สังวรสูตร ปัญญัติสูตร โสขุมมสูตร อคติสูตร ภัตตุเทสกสูตร 1941
 

รวมพระสูตร
ศีลสูตร ว่าด้วยบุคคลผู้มีศีล
ปธานสูตร ว่าด้วยสัมมัปปธาน
สังวรสูตร ว่าด้วยสังวรปธาน
ปัญญัติสูตร ว่าด้วยการบัญญัติสิ่งที่เลิศ
โสขุมมสูตร  ว่าด้วยโสขุมมญาณ
อคติสูตรที่ ๑ ว่าด้วยอคติ สูตรที่ ๑
อคติสูตรที่ ๒ ว่าด้วยอคติ สูตรที่ ๒
อคติสูตรที่ ๓  ว่าด้วยอคติ สูตรที่ ๓
ภัตตุเทสกสูตร ว่าด้วยพระภัตตุทเทสกะเลวและดี

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 
สารบาญพระไตรปิฎก
เล่มที่ ๘-๓๓ (๒๕ เล่ม) ทุกพระสูตร
1. ฉบับหลวง
2. ฉบับมหาจุฬาฯ
3. อรรถกถาไทย
4. ฉบับภาษาบาลี
5. อรรถกถา-บาลี
6. Pali Roman (Roman Script)
7. Atthakatha PaliRoman
 

 


 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้า ๑๕-๑๖

ศีลสูตร

            [๑๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ มีปาติโมกข์ สมบูรณ์ จงเป็นผู้สำรวมในปาติโมกขสังวร สมบูรณ์ด้วยอาจาระ และโคจรมีปรกติเห็นภัย ในโทษ อันมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลาย มีศีลสมบูรณ์ มีปาติโมกข์สมบูรณ์ สำรวมในปาติโมกข์สังวรสมบูรณ์ ด้วยอาจาระ และ โคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษ อันมีประมาณน้อย สมาทานศึกษา อยู่ในสิกขาบททั้งหลาย กิจที่ควรทำยิ่งกว่านี้ จะพึงมีอะไรเล่า

            ถ้าแม้ภิกษุกำลังเดินไป อภิชฌาไปปราศแล้ว พยาบาทไปปราศแล้ว ละถีนมิทธะ ได้แล้ว ละอุทธัจจกุกกุจจะได้แล้ว ละวิจิกิจฉาได้แล้ว ปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน มีสติมั่นไม่หลงลืม มีกายสงบไม่ระส่ำระสาย มีจิตมั่นคง มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ภิกษุแม้เดินอยู่เป็นอย่างนี้ เราเรียกว่า ผู้มีความเพียร มีโอตตัปปะ มีความเพียร อันปรารภแล้ว เป็นนิจนิรันดร มีใจเด็ดเดี่ยว ถ้าแม้ภิกษุยืนอยู่ ...

            ถ้าแม้ภิกษุนั่งอยู่ ... ถ้าแม้ภิกษุนอนตื่นอยู่ อภิชฌาไปปราศแล้ว พยาบาท ไปปราศแล้ว ละถีนมิทธะได้แล้ว ละอุทธัจจกุกกุจจะได้แล้ว ละวิจิกิจฉาได้แล้ว ปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน มีสติมั่นไม่หลงลืม มีกายสงบไม่ระส่ำระสาย มีจิตมั่นคงมี อารมณ์เป็นหนึ่ง ภิกษุแม้นอนตื่นอยู่เป็นอย่างนี้ เราเรียกว่า ผู้มีความเพียรมีโอตตัปปะ มีความเพียรอันปรารภแล้ว เป็นนิจนิรันดร มีใจเด็ดเดี่ยว

            ภิกษุพึงเดินตามสบาย พึงยืนตามสบาย พึงนั่งตามสบาย พึง นอนตามสบาย พึงคู้ตามสบาย พึงเหยียดตามสบาย ตลอด คติของโลก ทั้งเบื้องบน ท่ามกลาง และ เบื้องต่ำ และพิจารณา ตลอดความเกิด และความเสื่อมไปแห่งธรรม และขันธ์ ทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลาย กล่าวภิกษุอย่างนั้น ผู้มีสติทุก เมื่อ ศึกษาปฏิปทา อันสมควร แก่ความสงบใจเสมอ ว่ามีใจ เด็ดเดี่ยว

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้า ๑๖-๑๗

ปธานสูตร

            [๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมัปปธาน ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉนคือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

            ๑ ย่อมยังฉันทะให้เกิด ย่อมพยายาม ปรารภความเพียรประคองจิต ตั้งจิตมั่น เพื่อไม่ให้ อกุศลธรรม อันลามกที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น

            ๒ ย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตมั่น เพื่อละ อกุศลธรรม อันลามก ที่เกิดขึ้นแล้ว

            ๓ ย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตมั่น เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น

            ๔ ย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตมั่น เพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่หลงลืม เพื่อให้มียิ่งขึ้น เพื่อความไพบูลย์ เพื่อเจริญ เพื่อให้บริบูรณ์แห่ง กุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว          

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมัปปธาน ๔ ประการนี้แล

            พระขีณาสพเหล่านั้น มีความเพียรอันชอบ ครอบงำเตภูมิกวัฏ อันเป็นบ่วงแห่ง มาร เป็นผู้อันกิเลสไม่อาศัยแล้ว ถึงฝั่ง แห่งภัย คือชาติ และมรณะ ท่านเหล่านั้นชนะมาร พร้อมทั้ง เสนา ชื่นชมแล้ว เป็นผู้ไม่หวั่นไหว ก้าวล่วงกำลังพระยามาร เสียทั้งหมด (ถึงความสุขแล้ว)


----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้า ๑๗-๑๘

สังวรสูตร

            [๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเพียร ๔ ประการนี้ ๔ ประการนี้เป็นไฉนคือ สังวรปธาน ๑ ปหานปธาน ๑ ภาวนาปธาน ๑ อนุรักขนาปธาน ๑

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สังวรปธานเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุ แล้วไม่ถือโดยนิมิต ไม่ถือโดยอนุพยัญชนะ

             ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว พึงเป็นเหตุให้ อกุศลธรรม อันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้

             ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยหู... สูดกลิ่นด้วยจมูก ... ลิ้มรสด้วยลิ้น ...ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย... รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ แล้ว ไม่ถือโดยนิมิต ไม่ถือโดยอนุพยัญชนะ

             ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว พึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรม อันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวม ใน มนินทรีย์ นี้เราเรียกว่าสังวรปธาน

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปหานปธานเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมครอบงำ ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้พินาศ ย่อมให้ถึงความไม่มี ซึ่งกามวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ... ซึ่งพยาบาทวิตกเกิดขึ้นแล้ว ... ซึ่งวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแล้ว ... ซึ่งอกุศลธรรมอันลามก ที่เกิดขึ้นแล้ว นี้เราเรียกว่าปหานปธาน

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภาวนาปธานเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในความสละ
๒ ย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ...
๓ ย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ...
๔ ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ...
๕ ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ...
๖ ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ...
๗ ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในความสละ นี้เราเรียกว่าภาวนาปธาน

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อนุรักขนาปธานเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมตาม รักษา สมาธินิมิต อันเจริญที่เกิดขึ้นแล้ว คือ อัฏฐิกสัญญา ปุฬวกสัญญา วินีลกสัญญา วิปุพพกสัญญาวิจฉิทกสัญญา อุทธุมาตกสัญญา นี้เราเรียกว่าอนุรักขนาปธาน

             ดูกรภิกษุทั้งหลายความเพียร ๔ ประการนี้แล

            ปธาน ๔ ประการนี้ คือ
สังวรปธาน ๑
ปหานปธาน ๑
ภาวนาปธาน ๑
อนุรักขนาปธาน ๑

อันพระพุทธเจ้าผู้เป็น เผ่าพันธุ์ พระอาทิตย์ ทรงแสดงแล้ว ซึ่งเป็นเครื่องให้ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ ผู้มีความเพียรพึงถึงความสิ้นทุกข์ได้

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้า ๑๘-๑๙

ปัญญัติสูตร


            [๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การบัญญัติซึ่งสิ่งที่เลิศ ๔ ประการนี้ ๔ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสัตว์ผู้มีอัตภาพ (ใหญ่) อสุรินทราหูเป็นเลิศ บรรดาบุคคลผู้บริโภคกาม พระเจ้ามันธาตุราชเป็นเลิศ บรรดาผู้ใหญ่ยิ่ง มารผู้มีบาป เป็นเลิศ พระตถาคตอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า อันโลกกล่าวว่าเป็นเลิศในโลก ทั้ง เทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้ง สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย การบัญญัติสิ่งที่เลิศ ๔ ประการเหล่านี้แล

            บรรดาสัตว์ผู้มีอัตภาพ (ใหญ่) อสุรินทราหูเป็นเลิศ บรรดา บุคคลผู้บริโภคกาม พระเจ้ามันธาตุราชเป็นเลิศ บรรดาผู้ ใหญ่ยิ่ง มารเป็นเลิศ พระพุทธเจ้าผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ อัน โลกกล่าวว่าเป็นเลิศในโลก ทั้งเทวดาและมนุษย์ ทั่วภูมิเป็น ที่อยู่ของสัตว์ ทั้งเบื้องบน ท่ามกลาง และเบื้องต่ำ ฯ


----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้า ๑๙-๒๐

โสขุมมสูตร


            [๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ญาณเป็นเครื่องแทงตลอดลักษณะ อันละเอียด ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ประกอบด้วยญาณ อันกำหนดรู้ลักษณะอันละเอียด ในรูปอย่างยิ่ง ย่อมไม่พิจารณาเห็นญาณ อันกำหนดรู้ลักษณะอันละเอียด ในรูปอื่น ซึ่งยิ่งกว่าหรือประณีตกว่า ญาณเป็นเครื่องกำหนดลักษณะ อันละเอียดในรูปนั้น และไม่ปรารถนาญาณ เป็นเครื่องกำหนดลักษณะ อันละเอียดในรูปอื่น อันยิ่งกว่าหรือประณีตกว่า ญาณเป็นเครื่องกำหนดลักษณะอันละเอียด ในรูปนั้น

เป็นผู้ประกอบด้วยญาณ ป็นเครื่องกำหนดลักษณะ อันละเอียดในเวทนา ... เป็นผู้ประกอบด้วยญาณ เป็นเครื่องกำหนดลักษณะ อันละเอียดในสัญญา ...

เป็นผู้ประกอบด้วยญาณ เป็นเครื่องกำหนดลักษณะ อันละเอียดในสังขาร ย่อมไม่พิจารณาเห็นซึ่งญาณ เป็นเครื่องกำหนดลักษณะ อันละเอียดในสังขารอื่น ซึ่งยิ่งกว่า หรือประณีตกว่าญาณ เป็นเครื่องกำหนดลักษณะ อันละเอียดในสังขารนั้น และไม่ปรารถนาญาณ เป็นเครื่องกำหนดลักษณะ อันละเอียดในสังขารอื่น ซึ่งยิ่งกว่า หรือประณีตกว่าญาณ เป็นเครื่องกำหนดลักษณะ อันละเอียด ในสังขารนั้น

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ญาณเป็นเครื่องกำหนดลักษณะอันละเอียด ๔ ประการนี้แล

            ภิกษุใดรู้ความที่รูปขันธ์เป็นของละเอียด รู้ความเกิดแห่ง เวทนา รู้ความเกิด และความดับแห่งสัญญา รู้จักสังขารโดย ความไม่เที่ยง โดยเป็นทุกข์ และโดยความ เป็นอนัตตา ภิกษุนั้นแล เป็นผู้เห็นชอบ เป็นผู้สงบ ยินดีในสันติบท ชำนะมารพร้อมทั้ง เสนา ย่อมทรงไว้ซึ่งร่างกายมีในที่สุด


----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้า ๒๐

อคติสูตรที่ ๑

            [๑๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การถึงอคติ ๔ ประการนี้

            อคติ ๔ ประการเป็นไฉน
            บุคคลย่อมถึงฉันทาคติ
            ย่อมถึงโทสาคติ
            ย่อมถึงโมหาคติ
            ย่อมถึงภยาคติ


             ดูกรภิกษุทั้งหลาย การถึงอคติ ๔ ประการนี้แล

            ผู้ใดประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชัง ความหลง ความกลัว ยศ ของผู้นั้น ย่อมเสื่อม ดุจพระจันทร์ข้างแรม ฉะนั้น

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้า ๒๐

อคติสูตรที่ ๒


            [๑๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การไม่ถึงอคติ ๔ ประการนี้

            ๔ ประการเป็นไฉน
            บุคคลย่อมไม่ถึงฉันทาคติ
            ย่อมไม่ถึงโทสาคติ
            ย่อมไม่ถึงโมหาคติ
            ย่อมไม่ถึงภยาคติ


             ดูกรภิกษุทั้งหลาย การไม่ถึงอคติ ๔ ประการนี้แล

            ผู้ใดไม่ประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชัง ความหลง ความกลัว ยศของผู้นั้น ย่อมเต็มเปี่ยม ดุจ พระจันทร์ข้างขึ้น ฉะนั้น


----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้า ๒๑

อคติสูตรที่ ๓

            [๑๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การถึงอคติ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉนบุคคล ย่อมถึงฉันทาคติ ย่อมถึงโทสาคติ ย่อมถึงโมหาคติ ย่อมถึงภยาคติ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย การถึงอคติ ๔ ประการนี้แล

            ผู้ใดประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชัง ความหลง ความกลัว ยศของผู้นั้น ย่อมเสื่อม เหมือนพระจันทร์ข้างแรม ฉะนั้น

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย การไม่ถึงอคติ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน บุคคลย่อม ไม่ถึงฉันทาคติ ย่อมไม่ถึงโทสาคติ ย่อมไม่ถึงโมหาคติ ย่อมไม่ถึงภยาคติ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย การไม่ถึงอคติ ๔ ประการนี้แล

            ผู้ใดไม่ประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชัง ความหลง ความกลัว ยศของผู้นั้น ย่อมเต็มเปี่ยม ดุจ พระจันทร์ข้างขึ้น ฉะนั้น


----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้า ๒๑-๒๒

ภัตตุเทสกสูตร


            [๒๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัตตุเทสก์ผู้ประกอบไปด้วยธรรม ๔ ประการ เหมือนถูกนำไปวางไว้ในนรก ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ ภัตตุเทสก์ย่อมถึงฉันทาคติ ย่อมถึงโทสาคติ ย่อมถึงโมหาคติ ย่อมถึงภยาคติ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัตตุเทสก์ผู้ประกอบไปด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล เหมือน ถูกนำ ไปวางไว้ในนรก

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัตตุเทสก์ผู้ประกอบไปด้วยธรรม ๔ ประการ เหมือนถูกนำ ไปวางไว้ในสวรรค์ ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ ภัตตุเทสก์ย่อมไม่ถึงฉันทาคติ ย่อมไม่ถึงโทสาคติ ย่อมไม่ถึงโมหาคติ ย่อมไม่ถึงภยาคติ

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัตตุเทสก์ ผู้ประกอบไปด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล เหมือนถูกนำไปวางไว้ในสวรรค์ ฯ

            ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ไม่สำรวมในกาม ไม่ประกอบด้วยธรรม ไม่เคารพในธรรม มีปรกติถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ และภยาคติ ก็แลบุคคลนี้เราเรียกว่า เป็นหยากเยื่อในบริษัท อันสมณะผู้รู้กล่าวแล้วอย่างนี้ ชนเหล่าใดตั้งอยู่ในธรรม มี ปรกติไม่ถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ ย่อมไม่ กระทำกรรมอันลามก เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นชื่อว่า เป็น สัตบุรุษที่น่าสรรเสริญ ก็แลบุคคลนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ผุดผ่อง ในบริษัท อันสมณะผู้รู้กล่าวแล้วอย่างนี้

 





หนังสือพุทธวจน ธรรมะของพระศาสดา
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์