เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

อวิชชาวรรค อวิชชาสูตร อุปัฑฒสูตร สาริปุตตสูตร พราหมณสูตร กิมัถิยสูตร ภิกขุสูตร วิภังคสูตร ... 1928
 


อวิชชา เป็นหัวหน้า
ในการยังอกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เกิดร่วมกับความไม่ละอายบาป ความไม่สะดุ้งกลัวบาป ความเห็นผิดย่อมเกิดมี แก่ผู้ไม่รู้แจ้ง

วิชชา เป็นหัวหน้า ในการยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เกิดร่วมกับความละอายบาป ความสะดุ้งกลัวบาป ความเห็นชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้รู้แจ้ง


มรรคมีองค์ ๘ คือมิตรดีสหายดีของภิกษุ
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มาก ซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘


มรรคมีองค์ ๘ คือยานอันประเสริฐ
ดูกรอานนท์ คำว่ายานอัน ประเสริฐ เป็นชื่อของอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้เอง เรียกกันว่า
พรหมยานบ้าง ธรรมยานบ้าง รถพิชัยสงครามอันยอดเยี่ยมบ้าง

ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อประโยชน์อะไร
ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ในพระสมณโคดม เพื่อประโยชน์ อะไร?
พวกข้าพระองค์ถูกถามอย่างนี้แล้ว จึงพยากรณ์ แก่พวก อัญญเดียรถีย์ ปริพาชก เหล่านั้นอย่างนี้ว่า
ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย
พวกเราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อกำหนดรู้ทุกข์

ก็หนทางมีอยู่หรือ ปฏิปทาเพื่อกำหนดรู้ทุกข์นั้นมีอยู่หรือ?
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้เป็นหนทาง นี้เป็นปฏิปทา เพื่อกำหนดรู้ทุกข์นั้น


รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อวิชชาสูตร อวิชชา และวิชชาเป็นหัวหน้าแห่งอกุศลและกุศล
๒. อุปัฑฒสูตร ความเป็นผู้มีมิตรดี เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้น
๓. สาริปุตตสูตร ความเป็นผู้มีมิตรดีเป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้น
๔. พราหมณสูตร อริยมรรคเรียกชื่อได้ ๓ อย่าง
๕. กิมัถิยสูตร ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อกำหนดรู้ทุกข์
๖. ภิกขุสูตรที่ ๑ ว่าด้วยพรหมจรรย์และที่สุดพรหมจรรย์
๗. ภิกขุสูตรที่ ๒ ความกำจัดราคะ เป็นชื่อนิพพานธาตุ
๘. วิภังคสูตร อริยมรรค ๘
๙. สุกสูตร มรรคภาวนาที่ตั้งไว้ผิดและตั้งไว้ถูก
๑๐. นันทิยสูตร ธรรม ๘ ประการ เป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 
สารบาญพระไตรปิฎก
เล่มที่ ๘-๓๓ (๒๕ เล่ม) ทุกพระสูตร
1. ฉบับหลวง
2. ฉบับมหาจุฬาฯ
3. อรรถกถาไทย
4. ฉบับภาษาบาลี
5. อรรถกถา-บาลี
6. Pali Roman (Roman Script)
7. Atthakatha PaliRoman
 

 


 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑-๒
อวิชชาวรรค

อวิชชาสูตร
ว่าด้วยอวิชชา และวิชชาเป็นหัวหน้าแห่งอกุศลและกุศล

            [๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า.

            [๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อวิชชาเป็นหัวหน้า ในการยังอกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เกิดร่วมกับความไม่ละอายบาป ความไม่สะดุ้งกลัวบาป ความเห็นผิดย่อมเกิดมี แก่ผู้ไม่รู้แจ้ง ประกอบด้วยอวิชชา ความดำริผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความเห็นผิด เจรจาผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความดำริผิด การงานผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้เจรจาผิด การเลี้ยงชีพผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้ทำการงานผิด พยายามผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้เลี้ยงชีพผิด ระลึกผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้พยายามผิด ตั้งใจมั่นผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้ระลึกผิด.

            [๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนวิชชา เป็นหัวหน้าในการยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เกิดร่วมกับความละอายบาป ความสะดุ้งกลัวบาป ความเห็นชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้รู้แจ้ง ประกอบด้วยวิชชา ความดำริชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความเห็นชอบ เจรจาชอบย่อมเกิดมี แก่ผู้มีความดำริชอบ การงานชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้เจรจาชอบ การเลี้ยงชีพชอบย่อม เกิดมีแก่ผู้ทำการงานชอบ พยายามชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้เลี้ยงชีพชอบ ระลึกชอบ ย่อมเกิดมีแก่ผู้พยายามชอบ ตั้งใจมั่นชอบ ย่อมเกิดมีแก่ผู้ระลึกชอบ แล.

จบ สูตรที่ ๑

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒ - ๓
อุปัฑฒสูตร
ความเป็นผู้มีมิตรดี เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้น

            [๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวศักยะชื่อสักระ ในแคว้นสักกะ ของชาวศากยะทั้งหลาย ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นกึ่งหนึ่ง แห่งพรหมจรรย์เทียวนะ พระเจ้าข้า.

            [๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ เธออย่าได้กล่าวอย่างนั้น เธออย่าได้ กล่าวอย่างนั้น ก็ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียว             ดูกรอานนท์ อันภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญ อริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มาก ซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘

            [๖] ดูกรอานนท์ ก็ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ย่อมเจริญอริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ย่อมเจริญสัมมาสังกัปปะ ... สัมมาวาจา ... สัมมากัมมันตะ ... สัมมาอาชีวะ ... สัมมาวายามะ ...สัมมาสติ ... สัมมาสมาธิ อันอาศัย วิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ
             ดูกรอานนท์ ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ย่อมเจริญอริยมรรคประกอบ ด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มาก ซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.

            [๗] ดูกรอานนท์ ข้อว่า ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์ ทั้งสิ้นทีเดียวนั้น พึงทราบโดยปริยายแม้นี้ ด้วยว่าเหล่าสัตว์ ผู้มีชาติเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากชาติ ผู้มีชราเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากชรา ผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากมรณะ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากโสกะ ปริเทวะทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เพราะอาศัยเรา ผู้เป็น กัลยาณมิตร

            ดูกรอานนท์ ข้อว่า ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์ ทั้งสิ้นทีเดียวนั้น พึงทราบโดยปริยายนี้แล.

จบ สูตรที่ ๒

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓ -๔
สารีปุตตสูตร
ความเป็นผู้มีมิตรดีเป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้น

            [๘] สาวัตถีนิทาน ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นเทียวนะ พระเจ้าข้า.

            [๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถูกละ ถูกละ สารีบุตร ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้น ดูกรสารีบุตร ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวัง ข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘.

            [๑๐] ดูกรสารีบุตร ก็ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ย่อมเจริญอริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มาก ซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า?

            ดูกรสารีบุตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัย วิราคะ อาศัยนิโรธน้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อันอาศัย วิราคะ อาศัยนิโรธน้อมไปในการสละ

             ดูกรสารีบุตร ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ย่อมเจริญ อริยมรรคประกอบ ด้วย องค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรค ประกอบด้วย องค์ ๘ อย่างนี้แล.

            [๑๑] ดูกรสารีบุตร ข้อว่า ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็น พรหมจรรย์ ทั้งสิ้น นั้นพึงทราบโดยปริยายแม้นี้ ด้วยว่าเหล่าสัตว์ ผู้มีชาติเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากชาติ ผู้มีชราเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากชรา ผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากมรณะ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไป จากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัส อุปายาส เพราะอาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร ดูกรสารีบุตร ข้อว่า ความเป็นผู้มีมิตรดีมีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นนั้น พึงทราบโดย ปริยายนี้แล.

จบ สูตรที่ ๓

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔ - ๖
พราหมณสูตร
อริยมรรคเรียกชื่อได้ ๓ อย่าง

            [๑๒] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น เวลาเช้า ท่านพระอานนท์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาต ยังพระนครสาวัตถี ได้เห็นชาณุสโสณีพราหมณ์ออกจาก พระนคร สาวัตถี ด้วยรถเทียมด้วยม้าขาวล้วน ได้ยินว่า ม้าที่เทียมเป็นม้าขาว เครื่องประดับขาว ตัวรถขาว ประทุนรถขาว เชือกขาว ด้ามประตักขาว ร่มขาว ผ้าโพกขาว ผ้านุ่งขาว รองเท้าขาว พัดวาลวิชนีที่ด้ามพัดก็ขาว ชนเห็นท่านผู้นี้แล้ว พูดอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ทั้งหลาย ยานประเสริฐหนอ รูปของยานประเสริฐหนอ ดังนี้.

            [๑๓] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ เที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถีแล้ว เวลา ปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาต เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มี พระภาคแล้ว นั่ง ณที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เวลาเช้า ข้าพระองค์นุ่งแล้ว ถือบาตร และจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี ข้าพระองค์เห็นชาณุสโสณีพราหมณ์ ออกจากพระนครสาวัตถี ด้วยรถม้าขาวล้วน ได้ยินว่า ม้าที่เทียมเป็นม้าขาว เครื่องประดับ ขาว ตัวรถขาว ประทุนรถขาว เชือกขาว ด้ามประตักขาว ร่มขาวผ้าโพกขาว ผ้านุ่งขาว รองเท้าขาว พัดวาลวิชนีที่ด้ามก็ขาว ชนเห็นท่านผู้นี้แล้ว พูดอย่างนี้ว่าท่านผู้เจริญ ทั้งหลาย ยานประเสริฐหนอ รูปของยานประเสริฐหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญพระองค์ อาจทรงบัญญัติยาน อันประเสริฐในธรรมวินัยนี้ ได้ไหมหนอ?

            [๑๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ อาจบัญญัติได้ คำว่ายานอัน ประเสริฐ เป็นชื่อของอริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้เอง เรียกกันว่า พรหมยานบ้าง ธรรมยานบ้าง รถพิชัยสงครามอันยอดเยี่ยมบ้าง

            [๑๕] ดูกรอานนท์ สัมมาทิฏฐิบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว มีการกำจัด ราคะ เป็นที่สุด มีการกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีการกำจัดโมหะเป็นที่สุด.

            [๑๖] ดูกรอานนท์ สัมมาสังกัปปะ ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว มีการ กำจัดราคะเป็นที่สุด มีการกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีการกำจัดโมหะเป็นที่สุด.

            [๑๗] ดูกรอานนท์ สัมมาวาจาที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว มีการ กำจัดราคะเป็นที่สุด มีการกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีการกำจัดโมหะเป็นที่สุด.

            [๑๘] ดูกรอานนท์ สัมมากัมมันตะที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว มีการ กำจัดราคะเป็นที่สุด มีการกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีการกำจัดโมหะเป็นที่สุด.

            [๑๙] ดูกรอานนท์ สัมมาอาชีวะที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว มีการ กำจัดราคะเป็นที่สุด มีการกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีการกำจัดโมหะเป็นที่สุด.

            [๒๐] ดูกรอานนท์ สัมมาวายามะที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว มีการ กำจัดราคะเป็นที่สุด มีการกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีการกำจัดโมหะเป็นที่สุด.

            [๒๑] ดูกรอานนท์ สัมมาสติที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว มีการ กำจัดราคะเป็นที่สุด มีการกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีการกำจัดโมหะเป็นที่สุด.

            [๒๒] ดูกรอานนท์ สัมมาสมาธิที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว มีการ กำจัดราคะเป็นที่สุด มีการกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีการกำจัดโมหะเป็นที่สุด.

            [๒๓] ดูกรอานนท์ ข้อว่า ยานอันประเสริฐ เป็นชื่อของอริยมรรค ประกอบด้วย องค์ ๘ นี้เอง เรียกกันว่า พรหมยานบ้าง ธรรมยานบ้าง รถพิชัยสงครามอันยอดเยี่ยมบ้าง นั้นพึงทราบโดยปริยายนี้แล.

            พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

            [๒๔] อริยมรรคญาณนั้นมีธรรม คือ ศรัทธากับปัญญาเป็นแอก มีศรัทธา เป็นทูบ มีหิริเป็นงอน มีใจเป็นเชือกชัก มีสติเป็นสารถีผู้ควบคุม รถนี้มีศีลเป็นเครื่อง ประดับ มีฌานเป็นเพลา มีความเพียรเป็นล้อ มีอุเบกขากับสมาธิเป็นทูบ* ความไม่อยาก ได้เป็นประทุน กุลบุตร ใดมีความไม่พยาบาท ความไม่เบียดเบียน และวิเวกเป็นอาวุธ มีความอดทนเป็นเกราะหนัง กุลบุตรนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความเกษม จากโยคะ พรหมยาน อันยอดเยี่ยมนี้ เกิดแล้วในตนของบุคคล เหล่าใด บุคคลเหล่านั้นเป็นนักปราชญ์ ย่อมออกไป จากโลกโดย ความแน่ใจว่า มีชัยชนะโดยแท้

*ทูบ แปลว่า ไม้แม่แคร่เกวียนทั้ง ๒ ข้างที่ยื่นไป ด้านหน้าติดกับแอก

จบ สูตรที่ ๔

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖-๗
กิมัตถิยสูตร
ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อกำหนดรู้ทุกข์

            [๒๕] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้นแล ภิกษุมากรูปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค ว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ถามพวกข้าพระองค์อย่างนี้ว่า

            ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ในพระสมณโคดม เพื่อประโยชน์ อะไร? พวกข้าพระองค์ถูกถามอย่างนี้แล้ว จึงพยากรณ์ แก่พวก อัญญเดียรถีย์ ปริพาชก เหล่านั้นอย่างนี้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พวกเราอยู่ประพฤติ พรหมจรรย์ ในพระผู้มีพระภาค เพื่อกำหนดรู้ทุกข์ พวกข้าพระองค์ถูกถามอย่างนี้ แล้ว พยากรณ์อย่างนี้ ชื่อว่ากล่าวตาม พระดำรัส ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว ไม่กล่าวตู่ พระผู้มีพระภาค ด้วยคำไม่จริง พยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อย ตาม วาทะที่ถูกไรๆ จะไม่พึงถึงฐานะ อันวิญญูชน พึงติเตียนได้ละหรือ.

            [๒๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช่างเถิด พวกเธอถูกถาม อย่างนั้นแล้ว พยากรณ์อย่างนั้น ชื่อว่ากล่าวตามคำที่เรากล่าวไว้แล้ว ไม่กล่าวตู่เรา ด้วยคำไม่จริง พยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไร ๆ จะไม่ถึง ฐานะ อันวิญญูชนพึงติเตียนได้ เพราะพวกเธออยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพื่อกำหนดรู้ทุกข์.

            [๒๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก พึงถามพวกเธออย่างนี้ ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ก็หนทางมีอยู่หรือ ปฏิปทาเพื่อกำหนดรู้ทุกข์นั้นมีอยู่หรือ? พวกเธอถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์แก่พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก เหล่านั้นอย่างนี้ ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย หนทางมีอยู่ ปฏิปทาเพื่อกำหนดรู้ทุกข์นั้นมีอยู่.

            [๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็หนทางเป็นไฉน ปฏิปทาเพื่อกำหนดรู้ทุกข์เป็นไฉน. อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้เป็นหนทาง นี้เป็นปฏิปทาเพื่อกำหนดรู้ทุกข์นั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอถูกถามอย่างนั้นแล้ว พึงพยากรณ์แก่พวกอัญญเดียรถีย์ ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้.

จบ สูตรที่ ๕

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗
ภิกขุสูตรที่ ๑
ว่าด้วยพรหมจรรย์และที่สุดพรหมจรรย์

            [๒๙] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่าพรหมจรรย์ๆ ดังนี้ ก็พรหมจรรย์ เป็นไฉน ที่สุดแห่งพรหมจรรย์เป็นไฉน?

            [๓๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้แลเป็นพรหมจรรย์ ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้น โมหะนี้ เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์.

จบ สูตรที่ ๖

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗ - ๘
ภิกขุสูตรที่ ๒
ความกำจัดราคะ เป็นชื่อนิพพานธาตุ

            [๓๑] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า ความกำจัดราคะ ความกำจัดโทสะ ความกำจัดโมหะ ดังนี้ คำว่าความกำจัดราคะ ความกำจัดโทสะ ความกำจัดโมหะ นี้เป็นชื่อแห่งอะไรหนอ? พระผู้มีพระภาค ตรัสตอบว่า

            ดูกรภิกษุ คำว่า ความกำจัดราคะ ความกำจัดโทสะ ความกำจัดโมหะ นี้เป็นชื่อ แห่งนิพพานธาตุ เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่าธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ.

ความสิ้นราคะ ชื่อว่าอมตะ

            [๓๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุนั้นได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า อมตะๆ ดังนี้ อมตะเป็นไฉน? ทางที่จะให้ถึงอมตะ เป็นไฉน?

            พ. ดูกรภิกษุ ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ นี้เรียกว่าอมตะ อริยมรรค อันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้แลเรียกว่าทาง ที่จะให้ถึอมตะ.

จบ สูตรที่ ๗

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘ - ๙
วิภังคสูตร
อริยมรรค ๘

            [๓๓] สาวัตถีนิทาน. พระผู้มีพระภาค ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง จักจำแนกอริยมรรค อันประกอบด้วยองค์ ๘ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงฟังอริยมรรคนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุพวกนั้น ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นไฉน? คือสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ.

            [๓๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย (๑) ก็สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน? ความรู้ในทุกข์ ในทุกขสมุทัย ในทุกขนิโรธ ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ.

            [๓๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย (๒) ก็สัมมาสังกัปปะเป็นไฉน? ความดำริในการ ออกจาก กาม ความดำริในอันไม่พยาบาท ความดำริในอันไม่เบียดเบียน นี้เรียกว่าสัมมาสังกัปปะ.

            [๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย(๓) ก็สัมมาวาจาเป็นไฉน? เจตนาเครื่องงดเว้นจาก พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ นี้เรียกว่า สัมมาวาจา.

            [๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย(๔) ก็สัมมากัมมันตะเป็นไฉน? เจตนาเครื่องงดเว้น จาก ปาณาติบาต อทินนาทาน จากอพรหมจรรย์ นี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ.

            [๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย(๕) ก็สัมมาอาชีวะเป็นไฉน? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ละการเลี้ยงชีพที่ผิดเสีย สำเร็จชีวิตอยู่ด้วยการเลี้ยงชีพที่ชอบ นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ.

            [๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย(๖) สัมมาวายามะเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อมิให้อกุศลธรรม อันลามก ที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามก ที่บังเกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศลธรรม ที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อความ ตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือนเพิ่มพูน ไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์ แห่งกุศลธรรม ที่บังเกิดขึ้นแล้ว นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ.

            [๔๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย(๗) ก็สัมมาสติเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณา เห็นกายในกายเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัด อภิชฌา และ โทมนัส ในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณา เห็นจิต ในจิตเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา และโทมนัส ในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสีย นี้เรียกว่า สัมมาสติ.

            [๔๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย(๘) ก็สัมมาสมาธิเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัด จากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไปบรรลุตติยฌาน ที่พระอริยเจ้า ทั้งหลาย สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขา เป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ.

จบ สูตรที่ ๘

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๙ -๑๐
สุกสูตร
มรรคภาวนาที่ตั้งไว้ผิดและตั้งไว้ถูก

            [๔๒] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเดือยข้าวสาลี หรือ เดือยข้าวยวะที่บุคคลตั้งไว้ผิด มือหรือเท้าย่ำเหยียบแล้ว จักทำลายมือหรือเท้า หรือว่า จักให้ห้อเลือด ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเดือยบุคคลตั้งไว้ผิด ฉันใดก็ดี ภิกษุนั้นแล ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักทำลายอวิชชา จักยังวิชชาให้เกิด จักทำ นิพพานให้แจ้ง ด้วยความเห็นที่ตั้งไว้ผิด ด้วยการเจริญมรรคที่ตั้งไว้ผิด ข้อนี้มิใช่ฐานะ ที่จะมีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะความเห็นตั้งไว้ผิด.

            [๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเดือยข้าวสาลี หรือเดือยข้าวยวะ ที่ บุคคล ตั้งไว้ถูก มือหรือเท้าย่ำเหยียบแล้ว จักทำลายมือหรือเท้า หรือว่าจักให้ห้อเลือด ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะเดือยบุคคลตั้งไว้ถูก ฉันใดก็ดี ภิกษ ุนั้นแล ก็ฉันนั้นเหมือนกันจักทำลายอวิชชา จักยังวิชชาให้เกิด จักทำนิพพานให้แจ้ง ด้วยความเห็นที่ตั้งไว้ถูก ด้วยการเจริญมรรคที่ตั้งไว้ถูก ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้ ข้อนั้น เพราะเหตุไร? เพราะความเห็นตั้งไว้ถูก.

            [๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุจักทำลายอวิชชา จักยังวิชชาให้เกิด จักทำ นิพพานให้แจ้ง ด้วยความเห็นที่ตั้งไว้ถูก ด้วยการเจริญมรรคที่ตั้งไว้ถูกอย่างไรเล่า? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป ในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป ในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุจักทำลายอวิชชา จักยังวิชชาให้เกิด จักทำนิพพาน ให้แจ้ง ด้วยความเห็นที่ตั้งไว้ถูก ด้วยการเจริญมรรคที่ตั้งไว้ถูก อย่างนี้แล.

จบ สูตรที่ ๙

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๐-๑๑
นันทิยสูตร
ธรรม ๘ ประการ เป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน

            [๔๕] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้นแล นันทิยปริพาชก เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกัน ไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ธรรมเท่าไรหนอแล ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว เป็นเหตุให้ถึงนิพพาน มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า มีนิพพานเป็นที่สุด?

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนันทิยะ ธรรม ๘ ประการนี้ ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว เป็นเหตุให้ถึงนิพพาน มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า มีนิพพานเป็นที่สุด ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน? คือ สัมมาทิฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ

            ดูกรนันทิยะ ธรรม ๘ ประการนี้ ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว เป็นเหตุ ให้ถึงนิพพาน มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า มีนิพพานเป็นที่สุด

            [๔๖] เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสอย่างนี้แล้ว นันทิยปริพาชกได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่าน พระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดม ทรงประกาศ ธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืด ด้วยหวังว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้น ข้าพระองค์ขอถึงท่านพระโคดม กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอท่านพระโคดม โปรดทรงจำข้าพระองค์ ว่าเป็นอุบาสก ถึงสรณะจนตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป.

จบ สูตรที่ ๑๐

 





หนังสือพุทธวจน ธรรมะของพระศาสดา
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์