1
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๔๕-๔๕๙
๕. จังกีสูตร
เรื่องจังกีพราหมณ์
[๖๔๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงพราหมณคาม ของชนชาวโกศลชื่อว่า โอปาสาทะ. ได้ทราบว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าไม้สาละอันชื่อว่าเทพวัน ทางทิศเหนือ แห่งโอปาสาท พราหมณคาม
ก็สมัยนั้นแลพราหมณ์ชื่อว่า จังกีปกครองโอปาสาทพราหมณคาม อันคับคั่ง ด้วยประชาชนและหมู่สัตว์ อุดมไปด้วยหญ้า ไม้และน้ำ สมบูรณ์ด้วยธัญญาหาร เป็น ราชสมบัติอันพระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงโปรดพระราชทานเป็นรางวัลให้เป็นสิทธิ์.
[๖๔๗] พราหมณ์และคฤหบดี ชาวโอปาสาทพราหมณคาม ได้สดับข่าวว่า พระสมณโคดมศากยบุตร เสด็จออกผนวชจากศากยสกุล เสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงโอปาสาทพราหมณคาม ประทับอยู่ ณ ป่าไม้สาละ อันชื่อว่าเทพวัน ทางทิศเหนือแห่งโอปาสาทพราหมณคาม ก็กิตติศัพท์อันงดงาม ของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ได้ขจรไปอย่างนี้ว่าแม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ... เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม
พระองค์ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วย พระปัญญาอันยิ่ง ของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดา และมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็น พระอรหันต์เห็นปานนั้น ย่อมเป็นความดีแล.
ครั้งนั้นแล พราหมณ์และคฤหบดี ชาวโอปาสาทพราหมณคาม พากันออกจาก โอปาสาท พราหมณคามเป็นหมู่ๆ มุ่งหน้าไปทางทิศอุดร พากันไปทางป่าไม้สาละ อันชื่อว่าเทพวัน.
ก็สมัยนั้นแล จังกีพราหมณ์ นอนพักผ่อนกลางวันอยู่ในปราสาทชั้นบน.
[๖๔๘] จังกีพราหมณ์ได้เห็นพราหมณ์ และคฤหบดี ชาวโอปาสาท พราหมณคาม พากันออกจากโอปาสาทพราหมณคามเป็นหมู่ มุ่งหน้าไปทางทิศอุดร พากันไปยังป่าไม้สาละ อันชื่อว่าเทพวัน ครั้นเห็นแล้วจึงเรียกนักการมาถามว่า พ่อนักการ พราหมณ์และคฤหบดี ชาวโอปาสาทพราหมณคาม พากันออกจากโอปาสาท พราหมณคาม เป็นหมู่ๆ มุ่งหน้าไปทางทิศอุดร พากันไปยังป่าไม้สาละอันชื่อว่าเทพวัน ทำไมกัน.
นักการตอบว่า ข้าแต่ท่านจังกี มีเรื่องอยู่ พระสมณโคดมศากยบุตร เสด็จออก ผนวชจากศากยสกุล เสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึง โอปาสาทพราหมณคาม ประทับอยู่ ณ ป่าไม้สาละอันชื่อว่าเทพวัน ทางทิศเหนือแห่ง โอปาสาทพราหมณคาม ก็กิตติศัพท์อันงามของ ท่านพระโคดมพระองค์นั้น ได้ขจรไป อย่างนี้ว่าแม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ... เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้น พากันไปเพื่อเฝ้า ท่านพระโคดมพระองค์นั้น.
จ. พ่อนักการ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงเข้าไปหาพราหมณ์ และคฤหบดี ชาวโอปาสาทพราหมณคาม แล้วจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย จังกีพราหมณ์สั่งมาอย่างนี้ว่าขอท่านผู้เจริญทั้งหลายจงรออยู่ก่อน แม้จังกีพราหมณ์ ก็จะไปเฝ้าพระสมณโคดม.
นักการรับคำจังกีพราหมณ์แล้ว เข้าไปหาพราหมณ์และคฤหบดี ชาวโอปาสาท พราหมณคาม แล้วกล่าวว่า ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย จังกีพราหมณ์สั่งมาอย่างนี้ว่า ขอท่านทั้งหลาย จงรอก่อนแม้จังกีพราหมณ์ ก็จักไปเฝ้าพระสมณโคดมด้วย
2
(จังกีสูตร เรื่องจังกีพราหมณ์) พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๔๔๕-๔๕๙
จังกีพราหมณ์จะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
[๖๔๙] ก็สมัยนั้นแล พราหมณ์ต่างเมืองประมาณ ๕๐๐ พักอยู่ในโอปาสาท พราหมณคาม ด้วยกรณียกิจบางอย่าง. พราหมณ์เหล่านั้นได้ฟังข่าวว่า จังกีพราหมณ์ จักไปเฝ้าพระสมณโคดม.ลำดับนั้น พราหมณ์เหล่านั้น พากันเข้าไปหาจังกีพราหมณ์ ถึงที่อยู่ แล้วได้ถามจังกีพราหมณ์ว่าได้ทราบว่า ท่านจังกีจักไปเฝ้าพระสมณโคดม จริงหรือ? จังกีพราหมณ์ตอบว่า ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย เป็นความจริงอย่างนั้น แม้เรา จักไปเฝ้าพระสมณโคดม.
เว. ท่านจังกีอย่าไปเฝ้าพระสมณโคดมเลย ท่านจังกีไม่สมควรจะไปเฝ้า พระสมณโคดม พระสมณโคดม สมควรจะเสด็จมาหาท่านจังกี เพราะว่าท่านจังกี เป็น อุภโตสุชาติ ทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิ หมดจดตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ
ไม่มีใครคัดค้านติเตียนได้ โดยอ้างถึงชาติ แม้เพราะเหตุที่ท่านจังกี เป็นอุภโตสุชาติ ...
ไม่มีใครคัดค้านติเตียนได้โดยอ้างถึงชาตินี้ท่านจังกี จึงไม่สมควรจะไปเฝ้าพระสมณ โคดม แต่พระสมณโคดมนั่นแล สมควรจะเสด็จมาหา
ท่านจังกี ท่านจังกีแลเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก ...
ท่านจังกีแลเป็นผู้รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุ และคัมภีร์เกฏุภะ พร้อมทั้ง ประเภทอักษร มีคัมภีร์อิติหาสะเป็นที่ ๕ เข้าใจตัวบท เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์ โลกายตะ และตำราทำนายมหาปุริสลักษณะ ...
ท่านจังกีแลเป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก มีวรรณคล้ายพรหม มีสรีระคล้ายพรหม น่าดูน่าชมไม่น้อย ...
ท่านจังกีแลเป็นผู้มีศีล มีศีลยั่งยืน ประกอบด้วยศีลยั่งยืน ท่านจังกีแลเป็นผู้มีวาจา ไพเราะ มีเสียงไพเราะ ประกอบด้วยวาจาของชาวเมืองสละสลวยไม่มีโทษ ให้ผู้ฟังเข้าใจ เนื้อความได้ชัด ...
ท่านจังกีแลเป็นอาจารย์และปาจารย์ของคนเป็นอันมาก สอนมนต์ให้มาณพ ๓๐๐ คน ...
ท่านจังกีแลเป็นผู้อันพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสักการะ เคารพนับถือ บูชา นอบน้อม ...
ท่านจังกีแลเป็นผู้อันพราหมณ์โปกขรสาติ สักการะ เคารพ นับถือบูชา นอบน้อม ...
ท่านจังกีแลปกครองโอปาสาทพราหมณคาม อันคับคั่งไปด้วยประชาชนและหมู่สัตว์ อุดมด้วยหญ้า ไม้และน้ำ สมบูรณ์ด้วยธัญญาหาร เป็นราชสมบัติ อันพระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงโปรดพระราชทานเป็นรางวัลให้เป็นสิทธิ์
แม้เพราะเหตุที่ท่านจังกี ปกครองโอปาสาทพราหมณคาม อันคับคั่งไปด้วย ประชาชนและหมู่สัตว์ อุดมด้วยหญ้า ไม้และน้ำ สมบูรณ์ด้วยธัญญาหารเป็นราชสมบัติ อันพระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงโปรดพระราชทานเป็นรางวัลให้สิทธิ์นี้ ท่านจังกี จึงไม่สมควร จะไปเฝ้าพระสมณโคดม แต่พระสมณโคดมสมควรจะเสด็จมาหาท่านจังกี.
3
(จังกีสูตร เรื่องจังกีพราหมณ์) พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๔๔๕-๔๕๙
สรรเสริญคุณของพระพุทธเจ้า
[๖๕๐] เมื่อพราหมณ์ทั้งหลายกล่าวอย่างนี้แล้ว จังกีพราหมณ์ได้กล่าว กะพราหมณ์ เหล่านั้นว่า ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น ขอท่านทั้งหลายจงฟัง ข้าพเจ้าบ้าง เรานี่แหละสมควรจะไปเฝ้าพระสมณโคดม พระองค์นั้นทุกประการ แต่ท่าน พระสมณ โคดม พระองค์นั้น ไม่สมควรเสด็จมาหาเราเลย
ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ทราบว่า พระสมณโคดม ทรงเป็นอุภโตสุชาติ ทั้งฝ่าย พระมารดาทั้งฝ่ายพระบิดา มีพระครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิ หมดจดดี ตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครคัดค้านติเตียนได้โดยอ้างถึงพระชาติ แม้เพราะเหตุที่พระสมณ โคดม เป็น อุภโตสุชาติ ฯลฯ ไม่มีใครคัดค้านติเตียนได้ โดยอ้างถึงพระชาตินี้ ท่านพระโคดม พระองค์นั้น จึงไม่สมควรจะเสด็จมาหาเราทั้งหลาย ที่ถูกเราทั้งหลายนี้ แหละ สมควรจะ ไปเฝ้าท่านพระโคดมพระองค์นั้น
ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ทราบว่า พระสมณโคดม ทรงสละเงินและทอง มากมาย ทั้งที่อยู่ในพื้นดิน ทั้งที่อยู่ในอากาศเสด็จออกผนวช ... พระสมณโคดม กำลังรุ่น พระเกศาดำสนิทยังหนุ่มแน่น ตั้งอยู่ในปฐมวัย เสด็จออกทรงผนวชเป็นบรรพชิต ...
เมื่อพระมารดาและพระบิดา ไม่ทรงปรารถนาให้ทรงผนวช พระพักตร์อาบไปด้วย ระอัสสุชล ทรงกันแสงอยู่
พระสมณโคดม ทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้า กาสายะ เสด็จ ออกทรงผนวชเป็นบรรพชิต ...
พระสมณโคดม มีพระรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก มีพระวรรณะคล้ายพรหม มีพระสรีระคล้ายพรหม น่าดู น่าชม มิใช่น้อย ...
พระสมณโคดม ทรงมีศีล มีศีลเป็นอริยะ มีศีลเป็นกุศล ทรงประกอบด้วยศีล เป็นกุศล ...
พระสมณโคดม มีพระวาจาไพเราะ มีพระสำเนียงไพเราะ ประกอบด้วยวาจา ของชาวเมือง สละสลวย ไม่มีโทษ ยังผู้ฟังให้เข้าใจเนื้อความได้ชัดแจ้ง ...
พระสมณ โคดม ทรงเป็นอาจารย์ และปาจารย์ของคนหมู่มาก ...
พระสมณโคดม ทรงมีกามราคะสิ้นแล้ว ทรงเลิกธนูศรศิลป์ ...
พระสมณ โคดม ทรงเป็นกรรมวาทีเป็นกิริยวาที ไม่ทรงมุ่งร้ายแก่พวกพราหมณ์ ...
พระสมณโคดม เสด็จ ออกทรงผนวชจากสกุลสูง คือ จากสกุลกษัตริย์อันไม่เจือปน ...
พระสมณโคดม เสด็จ ออกทรงผนวช จากสกุลมั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก ...
คนต่างรัฐ ต่างชนบท พากันมาทูลถามปัญหาพระสมณโคดม ...
เทวดาหลายพัน พากันมอบกายถวายชีวิต ถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ ...
กิตติศัพท์ อันงามของพระสมณโคดม ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระ ภาค พระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ...
เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ...
พระสมณโคดม ทรงประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ...
พระเจ้าแผ่นดินมคธจอมทัพ ทรงพระนามว่าพิมพิสาร พร้อมทั้งพระโอรสและ พระมเหสี ทรงมอบกายถวายพระชนม์ ถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ ... พระเจ้าปเสนทิ โกศล ทรงมอบกายถวายพระชนม์ ถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ ... พราหมณ์โปกขรสาติ พร้อมด้วยบุตรและภรรยา มอบกายถวายชีวิต ถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ ...
พระสมณโคดม เสด็จถึงโอปาสาทพราหมณคาม ประทับอยู่ ณ ป่าไม้สาละ อันชื่อว่า เทพวัน ทางทิศเหนือ แห่งโอปาสาทพราหมณคาม สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใด เหล่าหนึ่ง มาสู่เขตบ้านของเราทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่า เป็นแขก ของเราทั้งหลาย และเป็นแขกที่เราทั้งหลายพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย แม้เพราะเหตุที่พระสมณโคดม เสด็จถึงโอปาสาท พราหมณคาม ประทับอยู่ ณ ป่าไม้สาละอันชื่อว่าเทพวัน ทางทิศเหนือแห่งโอปาสาท พราหมณคาม ชื่อว่าเป็นแขกของเราทั้งหลาย และเป็นแขกที่เราทั้งหลาย พึงสักการะ เคารพนับถือ บูชา นี้ ท่านพระสมณโคดมพระองค์นั้น จึงไม่สมควรจะเสด็จมาหาเรา ทั้งหลาย ที่ถูกเราทั้งหลายนี่แหละ สมควรไปเฝ้าท่านพระโคดมพระองค์นั้น
ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าทราบพระคุณของพระโคดม พระองค์นั้น เพียงเท่านี้ แต่ท่านพระโคดมพระองค์นั้น มีพระคุณเพียงเท่านี้หามิได้ ความจริง ท่าน พระโคดมพระองค์นั้น มีพระคุณหาประมาณมิได้
ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ถึงแม้ท่านพระโคดมพระองค์นั้น ทรงประกอบด้วย องค์คุณ แต่ละอย่างๆ ก็ไม่สมควรจะเสด็จมาหาเราทั้งหลาย ที่ถูก เราทั้งหลายนี้แหละ สมควรไปเฝ้าท่านพระโคดมพระองค์นั้น.
เว. ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เราทั้งปวงเทียว จักไปเฝ้า พระสมณ โคดม. ครั้งนั้นแล จังกีพราหมณ์พร้อมด้วยคณะพราหมณ์หมู่ใหญ่ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาค ถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึก ถึงกัน ไปแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่ง ตรัสปราศรัย ถึงเรื่องบางเรื่อง พอให้เป็นเครื่องระลึกถึงกัน กับพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้แก่เฒ่าอยู่.
[๖๕๑] ก็สมัยนั้นแล มาณพชื่อว่ากาปทิกะ ยังเป็นเด็กโกนศีรษะมีอายุ ๑๖ ปีแต่กำเนิดเป็นผู้รู้จบไตรเพท ... ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะ และตำราทำนาย มหาปุริสลักษณะ นั่งอยู่ในบริษัทนั้นด้วย. เขาพูดสอดขึ้นในระหว่างๆ เมื่อพราหมณ์ ทั้งหลาย ผู้แก่เฒ่ากำลังเจรจาอยู่กับพระผู้มีพระภาค.
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงห้าม กาปทิกมาณพว่า เมื่อพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้แก่เฒ่ากำลังเจรจาอยู่ ท่าน ภารทวาชะ อย่าพูดสอดขึ้นในระหว่างๆ ซิ ท่านภารทวาชะ จงรอให้จบเสียก่อน.
4
(จังกีสูตร เรื่องจังกีพราหมณ์) พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๔๔๕-๔๕๙
กาปทิกมาณพทูลถามบทมนต์
[๖๕๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว จังกีพราหมณ์ได้กราบทูล พระผู้มี พระภาคว่า ท่านพระโคดม อย่าทรงห้ามกาปทิกมาณพเลย กาปทิกมาณพเป็นบุตรของ ผู้มีสกุล เป็นพหูสูตเป็นบัณฑิต เจรจาถ้อยคำไพเราะ และสามารถจะเจรจาโต้ตอบ ในคำ นั้น กับท่านพระโคดมได้.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้มีพระดำริว่า กาปทิกมาณพ จักสำเร็จการศึกษา ในปาพจน์ คือไตรวิชาเป็นแน่แท้ พราหมณ์ทั้งหลาย จึงยกย่องเขาถึงอย่างนั้น. ครั้งนั้น กาปทิกมาณพได้มีความคิดว่า พระสมณโคดม จักทอดพระเนตรสบตาเรา เมื่อใดเรา จักทูล ถามปัญหากะพระสมณโคดมเมื่อนั้น. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงทราบความ ปริวิตกแห่งใจ ของกาปทิกมาณพด้วยพระหฤทัยแล้ว ทรงทอดพระเนตรไปทาง กาปทิกมาณพ.
ครั้งนั้นแล กาปทิกมาณพได้มีความคิดว่า พระสมณโคดมทรงใส่พระทัยเราอยู่ มิฉะนั้นเราพึงทูลถามปัญหากะพระสมณโคดมเถิด. ลำดับนั้นแล กาปทิกมาณพ ได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ท่านโคดม ก็ในบทมนต์อันเป็นของเก่าของ พราหมณ์ทั้งหลาย โดยนำสืบต่อกันมาตามคัมภีร์ พราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมถึงความตกลง โดย ส่วนเดียวว่า สิ่งนี้แลจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้ ในเรื่องนี้ ท่านพระโคดมตรัสว่าอย่างไร?
[๖๕๓] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภารทวาชะ ก็บรรดาพราหมณ์ทั้งหลาย แม้พราหมณ์คนหนึ่งเป็นใครก็ตาม ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ข้อนี้เรารู้อยู่ ข้อนี้เราเห็นอยู่ว่า สิ่งนี้ แลจริง สิ่งอื่นเปล่าดังนี้ มีอยู่หรือ?
กา. ไม่มีเลย ท่านพระโคดม.
พ. ดูกรภารทวาชะ ก็แม้อาจารย์ท่านหนึ่ง แม้ปาจารย์ท่านหนึ่ง จนตลอด ๗ ชั่ว อาจารย์ของพราหมณ์ทั้งหลาย ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ข้อนี้เรารู้อยู่ ข้อนี้เราเห็นอยู่ว่า สิ่งนี้ แลจริง สิ่งอื่นเปล่าดังนี้ มีอยู่หรือ?
กา. ไม่มีเลย ท่านพระโคดม.
พ. ดูกรภารทวาชะ ก็ฤาษีทั้งหลาย ผู้เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ คือ ฤาษีอัฏฐกะฤาษีวามกะ ฤาษีวามเทพ ฤาษีเวสสสามิตร ฤาษียมตัคคิ ฤาษีอังคีรสะ ฤาษีภารทวาชะ ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภคุ ซึ่งเป็นผู้แต่งมนต์ เป็นผู้บอกมนต์ พราหมณ์ทั้งหลายในปัจจุบันนี้ขับตาม กล่าวตามซึ่งบทมนต์เก่านี้ ที่ท่านขับแล้ว บอกแล้ว รวบรวมไว้แล้วกล่าวได้ถูกต้อง บอกได้ถูกต้อง ตามที่ท่านได้กล่าวไว้. บอกไว้ แม้ท่านเหล่านั้นก็กล่าวแล้วอย่างนี้ว่า ข้อนี้เราทั้งหลายรู้อยู่ ข้อนี้เราทั้งหลายเห็นอยู่ว่า สิ่งนี้แลจริง สิ่งอื่นเปล่าดังนี้หรือ?
กา. ไม่มีเลย ท่านพระโคดม.
พ. ดูกรภารทวาชะ แม้อาจารย์ แม้ปาจารย์คนหนึ่งจะเป็นใครก็ตามตลอด ๗ ชั่วอาจารย์ของพราหมณ์ทั้งหลาย ที่ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ข้อนี้เรารู้อยู่ ข้อนี้เราเห็นอยู่ สิ่งนี้แหละจริงสิ่งอื่นเปล่า ดังนี้ มีอยู่หรือ?
กา. ข้อนี้หามิได้ ท่านพระโคดม.
พ. ดูกรภารทวาชะ ก็ฤาษีทั้งหลายผู้เป็นบุรพาจารย์ ของพวกพราหมณ์ คือ ฤาษีอัฏฐกะฤาษีวามกะ ฤาษีวามเทวะ ฤาษีเวสสามิตตะ ฤาษียมตัคคิ ฤาษีอังคีรสะ ฤาษีภารทวาชะฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภคุ เป็นผู้แต่งมนต์ เป็นผู้บอกมนต์ ได้สาธยายบทมนต์อันเป็นของเก่า ได้บอกมาแล้ว ได้รวบรวมไว้แล้ว เดี๋ยวนี้ พราหมณ์ ทั้งหลายสาธยายตามนั้นกล่าวตามนั้น ภาษิตได้ตามที่ได้รับภาษิตไว้ บอกได้ตามที่ได้รับ บอกไว้ แม้ท่านเหล่านั้นได้กล่าวแล้วอย่างนี้ว่า ข้อนี้เรารู้อยู่ ข้อนี้เราเห็นอยู่ว่า สิ่งนี้แหละ จริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ?
กา. ไม่มีเลย ท่านพระโคดม.
[๖๕๔] พ. ดูกรภารทวาชะ ได้ทราบกันดังนี้ว่า บรรดาพราหมณ์ทั้งหลาย ไม่มีพราหมณ์แม้คนหนึ่งจะเป็นใครก็ตาม ที่ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ข้อนี้เรารู้อยู่ ข้อนี้เราเห็น อยู่ว่า สิ่งนี้แหละจริงสิ่งอื่นเปล่า ไม่มีใครแม้คนหนึ่งซึ่งเป็นอาจารย์ เป็นปาจารย์ของ อาจารย์ ตลอด ๗ ชั่วอาจารย์ของพราหมณ์ทั้งหลาย ที่ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ข้อนี้เรารู้อยู่ ข้อนี้เราเห็นอยู่ว่า สิ่งนี้แหละจริงสิ่งอื่นเปล่า
แม้ฤาษีทั้งหลาย ผู้เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ คือ ฤาษีอัฏฐกะ ฤาษีวามกะ ฤาษีวามเทพ ฤาษีเวสสามิตตะ ฤาษียมตัคคิ ฤาษีอังคีรสะ ฤาษีภารทวาชะ ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภคุ ซึ่งเป็นผู้แต่งมนต์ เป็นผู้บอกมนต์ พราหมณ์ ทั้งหลาย ในปัจจุบันนี้ ขับตามกล่าวตามซึ่งบทมนต์เก่านี้ ที่ท่านขับแล้ว บอกแล้ว รวบรวมไว้แล้ว กล่าวได้ถูกต้องบอกได้ถูกต้อง ตามที่ท่านได้กล่าวไว้ บอกไว้ แม้ท่าน เหล่านั้นก็ไม่ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ข้อนี้เรารู้อยู่ข้อนี้เราเห็นอยู่ว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้.
ดูกรภารทวาชะ เปรียบเหมือนแถวคนตาบอด ซึ่งเกาะกันต่อๆ ไป แม้คนต้น ก็ไม่เห็น แม้คนกลางก็ไม่เห็น แม้คนหลังก็ไม่เห็นฉันใด ภาษิตของพราหมณ์ทั้งหลาย เห็นจะเปรียบได้กับแถวคนตาบอด ฉะนั้น คือ แม้คนชั้นต้นก็ไม่เห็น แม้คนชั้นกลาง ก็ไม่เห็น แม้คนชั้นหลังก็ไม่เห็น ดูกรภารทวาชะ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น ความเชื่อของพราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมหามูลมิได้มิใช่หรือ?
กา. ท่านพระโคดม ในข้อนี้ พราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมเล่าเรียนกันมา มิใช่ด้วย ความเชื่อ อย่างเดียว แต่ย่อมเล่าเรียนด้วยการฟังตามกันมา.
5
(จังกีสูตร เรื่องจังกีพราหมณ์) พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๔๔๕-๔๕๙
ธรรม ๕ ประการมีวิบากเป็นสองส่วน
[๖๕๕] พ. ดูกรภารทวาชะ ครั้งแรกท่านได้ไปสู่ความเชื่อ เดี๋ยวนี้ท่านกล่าวการ ฟังตามกัน ดูกรภารทวาชะ ธรรม ๕ ประการนี้ มีวิบากเป็นสองส่วน ในปัจจุบัน
๕ ประการ เป็นไฉน? คือ
ศรัทธา ความเชื่อ ๑
รุจิ ความชอบใจ ๑
อนุสสวะ การฟังตามกัน ๑
อาการ ปริวิตักกะ ความตรึกตามอาการ ๑
ทิฏฐินิชฌานขันติ ความทนได้ซึ่งความเพ่งด้วยทิฏฐิ ๑
ธรรม ๕ ประการนี้แล มีวิบากเป็นสองส่วนในปัจจุบัน
ดูกรภารทวาชะ ถึงแม้สิ่งที่เชื่อกันด้วยดีทีเดียว แต่สิ่งนั้นเป็นของว่างเปล่า เป็นเท็จไปก็มี ถึงแม้สิ่งที่ไม่เชื่อด้วยดีทีเดียว แต่สิ่งนั้นเป็นจริงเป็นแท้ ไม่เป็นอื่นก็มี อนึ่ง สิ่งที่ชอบใจดีทีเดียว ... สิ่งที่ฟังตามกันมาด้วยดีทีเดียว ...สิ่งที่ตรึกไว้ด้วยดีทีเดียว ... สิ่งที่เพ่งแล้วด้วยดีทีเดียว เป็นของว่างเปล่าเป็นเท็จไปก็มี ถึงแม้สิ่งที่ไม่ได้เพ่งด้วยดี ทีเดียว แต่สิ่งนั้นเป็นจริงเป็นแท้ ไม่เป็นอื่นก็มี ดูกรภารทวาชะ บุรุษผู้รู้แจ้งเมื่อจะตาม รักษาความจริง ไม่ควรจะถึงความตกลงในข้อนั้น โดยส่วนเดียวว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่น เปล่า.
กา. ท่านพระโคดม ก็ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร จึงจะชื่อว่าเป็นการตามรักษา สัจจะ บุคคลชื่อว่าตามรักษาสัจจะ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ข้าพเจ้าขอทูลถามท่าน พระโคดมถึงการตามรักษาสัจจะ?
6
(จังกีสูตร เรื่องจังกีพราหมณ์) พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๔๔๕-๔๕๙
พยากรณ์การรักษาสัจจะ
[๖๕๖] พ. ดูกรภารทวาชะ ถ้าแม้บุรุษมีศรัทธา เขากล่าวว่า ศรัทธาของเรา อย่างนี้ดังนี้ ชื่อว่า ตามรักษาสัจจะ แต่ยังไม่ชื่อว่าถึงความตกลงโดยส่วนเดียวก่อนว่า สิ่งนี้แหละจริงสิ่งอื่นเปล่า
ดูกรภารทวาชะ การตามรักษาสัจจะ ย่อมมีด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ บุคคล ชื่อว่า ตามรักษาสัจจะ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราย่อมบัญญัติ การตามรักษาสัจจะ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการตรัสรู้สัจจะก่อน
ดูกรภารทวาชะ ถ้าแม้บุรุษมีความชอบใจ ... มีการฟังตามกัน ... มีความตรึก ตามอาการ ... มีการทนต่อการเพ่งด้วยทิฏฐิ เขากล่าวว่า การทนต่อการเพ่งด้วยทิฏฐิ ของเราอย่างนี้ ดังนี้ ชื่อว่าตามรักษาสัจจะ แต่ยังไม่ชื่อว่าถึงความตกลง โดยส่วนเดียว ก่อนว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า
ดูกรภารทวาชะ การตามรักษาสัจจะย่อมมีด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ บุคคลชื่อว่า ตามรักษาสัจจะ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราย่อมบัญญัติการตามรักษาสัจจะ ด้วย ข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการตรัสรู้สัจจะก่อน.
กา. ท่านพระโคดม การตามรักษาสัจจะ ย่อมมีด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ บุคคล ชื่อว่าตามรักษาสัจจะ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราทั้งหลายย่อมเพ่งเล็ง การรักษา สัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ ท่านพระโคดม ก็การตรัสรู้สัจจะย่อมมี ด้วยข้อปฏิบัติ เพียงเท่าไร บุคคลย่อมตรัสรู้สัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ข้าพเจ้าขอทูลถามท่าน พระโคดม ถึงการตรัสรู้สัจจะ?พยากรณ์การรู้ตามสัจจะ
[๖๕๗] พ. ดูกรภารทวาชะ ได้ยินว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าไปอาศัยบ้านหรือ นิคมแห่งหนึ่งอยู่. คฤหบดีก็ดี บุตรคฤหบดีก็ดี เข้าไปหาภิกษุนั้นแล้ว ย่อมใคร่ครวญดู ในธรรม๓ ประการ คือ
ในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความโลภ ๑
ในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความประทุษร้าย ๑
ในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลง ๑
ว่า ท่านผู้นี้มีธรรม เป็นที่ตั้งแห่งความโลภ มีจิตอันธรรม เป็นที่ตั้งแห่ง ความโลภ ครอบงำแล้ว เมื่อไม่รู้ก็พึงกล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นก็พึงกล่าวว่าเห็น หรือสิ่งใด พึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้อื่น พึงชักชวนผู้อื่น เพื่อความเป็นเช่นนั้น ได้หรือหนอ.
เมื่อเขาใคร่ครวญเธอนั้นอยู่ ย่อมรู้ได้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ไม่มีธรรมเป็นที่ตั้งแห่ง ความโลภ ไม่มีจิตอันธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความโลภครอบงำ ท่านผู้นี้เมื่อไม่รู้จะพึงกล่าวว่า รู้เมื่อไม่เห็นจะพึงกล่าวว่าเห็น หรือว่าสิ่งใดพึงเป็นไป เพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ สิ้นกาลนานแก่ผู้อื่น ท่านผู้นี้พึงชักชวนผู้อื่น เพื่อความเป็นเช่นนั้น ไม่มีเลย.
อนึ่ง ท่านผู้นี้มีกายสมาจาร วจีสมาจาร เหมือนของบุคคลผู้ไม่โลภฉะนั้น ท่านผู้นี้แสดงธรรมใด ธรรมนั้น ลึกซึ้งเห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่หยั่งลง ได้ด้วยความตรึก ละเอียด บัณฑิตพึงรู้ธรรมนั้น อันคนโลภแสดงไม่ได้โดยง่าย.
เมื่อใด เขาใคร่ครวญเธออยู่ ย่อมเห็นแจ้งชัด เธอบริสุทธิ์จากธรรมเป็นที่ตั้งแห่ง ความโลภ เมื่อนั้น เขาย่อมใคร่ครวญเธอให้ยิ่งขึ้นไป ในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความ ประทุษร้าย ว่า ท่านผู้นี้มีธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความประทุษร้าย มีจิตอันธรรมเป็นที่ตั้ง แห่ง ความ ประทุษร้ายครอบงำ เมื่อไม่รู้พึงกล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นพึงกล่าวว่าเห็น หรือสิ่งใดพึง เป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้อื่น พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อความ เป็นอย่างนั้น ได้หรือหนอ.
เมื่อเขาใคร่ครวญเธอนั้นอยู่ ย่อมรู้ได้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ไม่มีธรรม เป็นที่ตั้งแห่ง ความประทุษร้าย ไม่มีจิตอันธรรม เป็นที่ตั้งแห่งความประทุษร้ายครอบงำ เมื่อไม่รู้จะพึง กล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นจะพึงกล่าวว่าเห็น หรือสิ่งใดพึงเป็นไป เพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้อื่น พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ไม่มีเลย.
อนึ่ง ท่านผู้นี้มีกายสมาจาร วจีสมาจาร เหมือนของบุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายฉะนั้น ท่านผู้นี้แสดงธรรมใด ธรรมนั้นลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่หยั่งลง ได้ ด้วยความตรึก ละเอียด บัณฑิตพึงรู้ธรรมนั้นอันบุคคลผู้ประทุษร้าย แสดงไม่ไ้ โดยง่าย.
เมื่อใด เขาใคร่ครวญเธออยู่ย่อมเห็นแจ้งชัดว่า เธอบริสุทธิ์จากธรรม เป็นที่ตั้ง แห่งความประทุษร้าย เมื่อนั้นเขาย่อมใคร่ครวญเธอให้ยิ่งขึ้นไป ในธรรมเป็นที่ตั้งแห่ง ความหลงว่า ท่านผู้นี้มีธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลง มีจิตอันธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความ หลงครอบงำ เมื่อไม่รู้พึงกล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นพึงกล่าวว่าเห็น หรือสิ่งใดพึงเป็นไปเพื่อ มิใช่ ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้อื่น พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นเช่นนั้น ได้หรือหนอ.
เมื่อเขาใคร่ครวญเธอนั้นอยู่ ย่อมรู้ได้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ไม่มีธรรมเป็นที่ตั้งแห่ง ความหลง ไม่มีจิตอันธรรม เป็นที่ตั้งแห่งความหลง ครอบงำ เมื่อไม่รู้จะพึงกล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นจะพึงกล่าวว่าเห็น หรือสิ่งใดพึงเป็นไป เพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ สิ้นกาลนานแก่ผู้อื่น พึงชักชวนผู้อื่น เพื่อความเป็นเช่นนั้น ไม่มีเลย.
อนึ่ง ท่านผู้นี้มีกายสมาจารวจีสมาจาร เหมือนของบุคคลผู้ไม่หลง ฉะนั้น ก็ท่านผู้นี้ แสดงธรรมใด ธรรมนั้นลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่หยั่งลง ได้ด้วยความตรึก ละเอียด บัณฑิตพึงรู้ ธรรมนั้นอันบุคคลผู้หลงพึงแสดงไม่ได้โดยง่าย
เมื่อใด เขาใคร่ครวญเธออยู่ ย่อมเห็นแจ้งชัดว่าเธอบริสุทธิ์จากธรรม เป็นที่ตั้ง แห่งความหลง เมื่อนั้น เขาย่อมตั้งศรัทธาลง ในเธอนั้นมั่นคง เขาเกิดศรัทธาแล้ว ย่อมเข้าไปใกล้ เมื่อเข้าไปใกล้ย่อมนั่งใกล้ เมื่อนั่งใกล้ย่อมเงี่ยโสตลง เขาเงี่ยโสตลง แล้วย่อมฟังธรรม
ครั้นฟังแล้วย่อมทรงจำธรรม พิจารณาเนื้อความแห่งธรรม ที่ทรงไว้เมื่อ พิจารณาเนื้อความอยู่ ธรรมทั้งหลาย ย่อมควรแก่การเพ่ง เมื่อธรรมควรแก่การเพ่งมีอยู่ ย่อมเกิดฉันทะ เกิดฉันทะแล้ว ย่อมขะมักเขม้น
ครั้นขะมักเขม้นแล้ว ย่อมเทียบเคียง ครั้นเทียบเคียงแล้ว ย่อมตั้งความเพียร เป็นผู้มีใจแน่วแน่ ย่อมทำปรมัตถสัจจะ ให้แจ้งชัดด้วยกายและเห็นแจ้งแทงตลอด ปรมัตถสัจจะ นั้น ด้วยปัญญา
ดูกรภารทวาชะ การตรัสรู้สัจจะ ย่อมมีได้ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แลบุคคลย่อม ตรัสรู้สัจจะ ได้ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราย่อมบัญญัติการตรัสรู้สัจจะ ด้วยข้อปฏิบัติ เพียงเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการบรรลุสัจจะทีเดียว.
กา. ท่านพระโคดม การตรัสรู้สัจจะ ย่อมมีได้ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ บุคคล ย่อม ตรัสรู้สัจจะ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราทั้งหลาย ย่อมเพ่งเล็งการตรัสรู้สัจ จะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ ท่านพระโคดม ก็การบรรลุสัจจะ ย่อมมีได้ด้วย ข้อปฏิบัติ เพียงเท่าไร บุคคลย่อมบรรลุสัจจะ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ข้าพเจ้าขอทูลถามท่าน พระโคดม ถึงการบรรลุสัจจะ?
7
(จังกีสูตร เรื่องจังกีพราหมณ์) พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๔๔๕-๔๕๙
พยากรณ์การบรรลุสัจจะ
[๖๕๘] พ. ดูกรภารทวาชะ การเสพจนคุ้น การเจริญ การทำให้มาก ซึ่งธรรม เหล่านั้นแล ชื่อว่าเป็นการบรรลุสัจจะ ดูกรภารทวาชะ การบรรลุสัจจะย่อมมีได้ ด้วยข้อปฏิบัติ เพียงเท่านี้บุคคลย่อมบรรลุสัจจะ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราย่อม บัญญัติ การบรรลุสัจจะ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้.
กา. ท่านพระโคดม การบรรลุสัจจะ ย่อมมีได้ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ บุคคล ย่อมบรรลุสัจจะ ด้วยข้อปฏิบัติ เพียงเท่านี้ และเราทั้งหลาย ย่อมเพ่งเล็ง การบรรลุสัจจะ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ ท่านพระโคดม ก็ธรรมมีอุปการะมาก แก่การบรรลุสัจจะเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมาก แก่การบรรลุสัจจะ?
8
(จังกีสูตร เรื่องจังกีพราหมณ์) พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๔๔๕-๔๕๙
พยากรณ์ธรรมมีอุปการะมาก
[๖๕๙] พ. ดูกรภารทวาชะ ความเพียรมีอุปการะมาก แก่การบรรลุสัจจะ ถ้าไม่พึงตั้งความเพียร ก็ไม่พึงบรรลุสัจจะนี้ได้ แต่เพราะตั้งความเพียรจึงบรรลุสัจจะได้ ฉะนั้น ความเพียรจึงมีอุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะ.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมมีอุปการะมาก แก่ความเพียรเป็นไฉน ข้าพเจ้า ขอทูลถามท่านพระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ความเพียร?
พ. ดูกรภารทวาชะ ปัญญาเครื่องพิจารณา มีอุปการะมาก แก่ความเพียร ถ้าไม่พึงพิจารณาก็พึงตั้งความเพียรนี้ไม่ได้ แต่เพราะพิจารณา จึงตั้งความเพียรได้ ฉะนั้น ปัญญาเครื่องพิจารณาจึงมีอุปการะมาก แก่ความเพียร.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมาก แก่ปัญญาเครื่องพิจารณาเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมาก แก่ปัญญาเครื่องพิจารณา?
พ. ดูกรภารทวาชะ ความอุตสาหะ เป็นธรรมมีอุปการะมาก แก่ปัญญาเครื่องพิจารณา ถ้าไม่พึงอุตสาหะ ก็พึงพิจารณาไม่ได้ แต่เพราะอุตสาหะ จึงพิจารณาได้ ฉะนั้น ความอุตสาหะจึงมีอุปการะมาก แก่ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมาก แก่ความอุตสาหะเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมาก แก่ความอุตสาหะ?
พ. ดูกรภารทวาชะ ฉันทะมีอุปการะมาก แก่ความอุตสาหะ ถ้าฉันทะไม่เกิด ก็พึงอุตสาหะไม่ได้ แต่เพราะฉันทะเกิดจึงอุตสาหะ ฉะนั้น ฉันทะจึงมีอุปการะมาก แก่ความอุตสาหะ.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมาก แก่ฉันทะเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูล ถามท่านพระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ฉันทะ?
พ. ดูกรภารทวาชะ ธรรมที่ควรแก่การเพ่ง มีอุปการะมากแก่ฉันทะ ถ้าธรรม ทั้งหลายไม่ควรแก่การเพ่ง ฉันทะก็ไม่เกิด แต่เพราะธรรมทั้งหลาย ควรแก่การเพ่ง ฉันทะ จึงเกิด ฉะนั้นธรรมที่ควรแก่การเพ่ง จึงมีอุปการะมากแก่ฉันทะ.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมากแก่ธรรม ที่ควรการเพ่งเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดม ถึงธรรมที่มีอุปการะมาก แก่ธรรมที่ควรแก่การเพ่ง.
พ. ดูกรภารทวาชะ ปัญญาเครื่องใคร่ครวญเนื้อความ มีอุปการะมากแก่ธรรม ที่ควรแก่การเพ่ง ถ้าไม่พึงใคร่ครวญเนื้อความนั้น ธรรมทั้งหลายก็ไม่ควรแก่การเพ่ง แต่เพราะใคร่ครวญเนื้อความ ธรรมทั้งหลายจึงควรแก่การเพ่ง ฉะนั้น ปัญญาเครื่อง ใคร่ครวญเนื้อความ จึงมีอุปการะมากแก่ธรรมที่ควรแก่การเพ่ง.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมากแก่ปัญญา เครื่องใคร่ครวญเนื้อความ เป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดม ถึงธรรมที่มีอุปการะมาก แก่ปัญญาเครื่อง ใคร่ครวญเนื้อความ?
พ. ดูกรภารทวาชะ การทรงจำธรรมไว้ มีอุปการะมากแก่ปัญญา เครื่องใคร่ ครวญ เนื้อความ ถ้าไม่พึงทรงจำธรรมนั้นก็พึงใคร่ครวญเนื้อความนี้ไม่ได้ แต่เพราะ ทรงจำธรรมไว้ จึงใคร่ครวญเนื้อความได้ ฉะนั้น การทรงจำธรรมไว้ จึงมีอุปการะมาก แก่ปัญญาเครื่องใคร่ครวญเนื้อความ.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมมีอุปการะมาก แก่การทรงจำธรรมเป็นไฉน ข้าพเจ้า ขอทูลถามท่านพระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมาก แก่การทรงจำธรรม?
พ. ดูกรภารทวาชะ การฟังธรรมมีอุปการะมาก แก่การทรงจำธรรม ถ้าไม่พึ งฟังธรรมก็พึงทรงจำธรรมนี้ไม่ได้ แต่เพราะฟังธรรม จึงทรงจำธรรมไว้ได้ ฉะนั้น การฟังธรรม จึงมีอุปการะมากแก่การทรงจำธรรม.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมาก แก่การฟังธรรมเป็นไฉน ข้าพเจ้า ขอทูลถามท่านพระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมาก แก่การฟังธรรม?
พ. ดูกรภารทวาชะ การเงี่ยโสตลงมีอุปการะมาก แก่การฟังธรรม ถ้าไม่พึง เงี่ยโสตลงก็พึงฟังธรรมนี้ไม่ได้ แต่เพราะเงี่ยโสตลงจึงฟังธรรมได้ ฉะนั้น การเงี่ยโสต ลงจึงมีอุปการะมากแก่การฟังธรรม.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมาก แก่การเงี่ยโสตลงเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมาก แก่การเงี่ยโสตลง?
พ. ดูกรภารทวาชะ การเข้าไปนั่งใกล้มีอุปการะมาก แก่การเงี่ยโสตลง ถ้าไม่เข้าไปนั่งใกล้ก็พึงเงี่ยโสตลงไม่ได้ แต่เพราะเข้าไปนั่งใกล้ จึงเงี่ยโสตลง ฉะนั้น การเข้าไปนั่งใกล้จึงมีอุปการะมากแก่การเงี่ยโสตลง.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมาก แก่การเข้าไปนั่งใกล้เป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมาก แก่การเข้าไปนั่งใกล้?
พ. ดูกรภารทวาชะ การเข้าไปหามีอุปการะมาก แก่การเข้าไปนั่งใกล้ ถ้าไม่พึงเข้าไปหาก็พึงนั่งใกล้ไม่ได้ แต่เพราะเข้าไปหาจึงนั่งใกล้ ฉะนั้น การเข้าไปหาจึงมีอุปการะมาก แก่การเข้าไปนั่งใกล้.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมาก แก่การเข้าไปหาเป็นไฉน ข้าพเจ้า ขอทูลถามท่านพระโคดมถึงธรรม มีอุปการะมาก แก่การเข้าไปหา?
พ. ดูกรภารทวาชะ ศรัทธามีอุปการะมาก แก่การเข้าไปหา ถ้าศรัทธาไม่เกิด ก็ไม่พึงเข้าไปหา แต่เพราะเกิดศรัทธาจึงเข้าไปหา ฉะนั้นศรัทธาจึงมีอุปการะมาก แก่การ เข้าไปหา.
9
(จังกีสูตร เรื่องจังกีพราหมณ์) พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๔๔๕-๔๕๙
กาปทิกมาณพแสดงตนเป็นอุบาสก
[๖๖๐] กา. ข้าพเจ้าได้ทูลถามท่านพระโคดม ถึงการตามรักษาสัจจะ ท่านพระโคดมทรงพยากรณ์แล้ว และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น ทั้งชอบใจทั้งควรแก่ข้าพเจ้า และข้าพเจ้ายินดีตามนั้น ข้าพเจ้าได้ทูลถามท่านพระโคดม ถึงการตรัสรู้สัจจะ ท่านพระโคดม ทรงพยากรณ์แล้ว และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น ทั้งชอบใจ ทั้งควรแก ่ข้าพเจ้า และข้าพเจ้ายินดีตามนั้น ข้าพเจ้าได้ทูลถามท่านพระโคดม ถึงการบรรลุสัจจะ ท่านพระโคดมทรงพยากรณ์ และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น ทั้งชอบใจทั้งควรแก่ข้าพเจ้า และข้าพเจ้ายินดีตามนั้น
ข้าพเจ้าได้ทูลถามท่านพระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมาก แก่การบรรลุสัจจะ ท่านพระโคดมทรงพยากรณ์แล้ว และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น ทั้งชอบใจทั้งควรแก่ข้าพเจ้า และข้าพเจ้ายินดีตามนั้น ข้าพเจ้าได้ทูลถาม ท่านพระโคดมถึงข้อใดๆท่านพระโคดม ได้ทรงพยากรณ์ข้อนั้นๆ แล้ว และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น ทั้งชอบใจทั้งควรแก่ข้าพเจ้า และข้าพเจ้ายินดีตามนั้น
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เมื่อก่อนข้าพระองค์รู้อย่างนี้ว่า พวกสมณะหัวโล้น เชื้อสายคฤหบดีกัณหโคตร เกิดจากพระบาทท้าวมหาพรหม จะแปลกอะไร และจะรู้ ทั่วถึง ธรรมที่ไหน พระโคดมผู้เจริญ ได้ทรงทำความรักสมณะในสมณะ ความเลื่อมใส สมณะในสมณะ ความเคารพสมณะในสมณะ ให้เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์แล้วหนอ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรง ประกาศธรรม โดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าแต่พระโคดม ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระองค์ กับทั้งพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะขอพระโคดมผู้เจริญ โปรดทรงจำข้าพระองค์ ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะ ตลอดชีวิต นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฉะนี้แล
จบ จังกีสูตร ที่ ๕.
|