พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๕๙-๖๒
ญาณวัตถุสูตรที่ ๑ (ญาณวัตถุ ๔๔)
[๑๑๘] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง ญาณวัตถุ ๔๔ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงตั้งใจฟัง ซึ่งญาณวัตถุนั้น จงใส่ใจให้ดี เถิด เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว
[๑๑๙] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็ญาณวัตถุ ๔๔ เป็นไฉน คือ
ความรู้ในชราและมรณะ ๑
ความรู้ในเหตุเป็นแดนเกิดแห่งชราและมรณะ ๑
ความรู้ในความดับแห่งชราและมรณะ ๑
ความรู้ในปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ ๑
ความรู้ในชาติ ๑
ความรู้ในเหตุเป็นแดนเกิดแห่งชาติ ๑
ความรู้ในความดับแห่งชาติ ๑
ความรู้ในปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งชาติ ๑
ความรู้ในภพ ๑
ความรู้ในเหตุเป็นแดนเกิดแห่งภพ ๑
ความรู้ในความดับแห่งภพ ๑
ความรู้ในปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งภพ ๑
ความรู้ในอุปาทาน ๑
ความรู้ในเหตุเป็นแดนเกิดแห่งอุปาทาน ๑
ความรู้ในความดับแห่งอุปาทาน ๑
ความรู้ในปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งอุปาทาน ๑
ความรู้ในตัณหา ๑
ความรู้ในเหตุเป็นแดนเกิดแห่งตัณหา ๑
ความรู้ในความดับแห่งตัณหา ๑
ความรู้ในปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งตัณหา ๑
ความรู้ในเวทนา ๑
ความรู้ในเหตุเป็นแดนเกิดแห่งเวทนา ๑
ความรู้ในความดับแห่งเวทนา ๑
ความรู้ในปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งเวทนา ๑
ความรู้ในผัสสะ ๑
ความรู้ในเหตุเป็นแดนเกิดแห่งผัสสะ ๑
ความรู้ในความดับแห่งผัสสะ ๑
ความรู้ในปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งผัสสะ ๑
ความรู้ในสฬายตนะ ๑
ความรู้ในเหตุเป็นแดนเกิดแห่งสฬายตนะ ๑
ความรู้ใน
ความดับแห่งสฬายตนะ ๑
ความรู้ในปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งสฬายตนะ ๑
ความรู้ในนามรูป ๑
ความรู้ในเหตุเป็นแดนเกิดแห่งนามรูป ๑
ความรู้ในความดับ
แห่งนามรูป ๑
ความรู้ในปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งนามรูป ๑
ความรู้ในวิญญาณ ๑
ความรู้ในเหตุเป็นแดนเกิดแห่งวิญญาณ ๑
ความรู้ในความดับแห่งวิญญาณ ๑
ความรู้ในปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ ๑
ความรู้ในสังขารทั้งหลาย ๑
ความรู้ในเหตุเป็นแดนเกิดแห่งสังขาร ๑
ความรู้ในความดับแห่งสังขาร ๑
ความรู้ในปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งสังขาร ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า ญาณวัตถุ ๔๔
[๑๒๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ชราและมรณะเป็นไฉน ความแก่ ภาวะของ ความแก่ ฟันหลุด ผมหงอก หนังเหี่ยว ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ นี้เรียกว่าชรา
ความเคลื่อน ภาวะของความเคลื่อน ความทำลาย ความอันตรธาน มฤตยู ความตาย กาลกิริยา ความแตกแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งซากศพ ความขาดแห่งอินทรีย์ จากหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ นี้เราเรียกว่ามรณะ
ชราและมรณะ ดังพรรณนามาฉะนี้ เรียกว่าชราและมรณะ เพราะชาติเกิด ชรา และมรณะ จึงเกิดเพราะชาติดับ ชราและมรณะจึงดับ
อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เท่านั้น คือ ความเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ วาจาชอบ ๑ การงานชอบ ๑ อาชีพชอบ ๑ พยายามชอบ ๑ ระลึกชอบ ๑ ความตั้งใจไว้ชอบ ๑ เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงธรรม เป็นที่ดับชราและมรณะ
[๑๒๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกรู้ชัดซึ่งชรา และมรณะอย่างนี้
รู้ชัดซึ่งเหตุเป็นแดนเกิดแห่งชราและมรณะอย่างนี้
รู้ชัดซึ่งความดับแห่งชราและมรณะอย่างนี้
รู้ชัดซึ่งปฏิปทาอันให้ถึงความดับ แห่งชราและมรณะอย่างนี้
นี้ชื่อว่าความรู้ในธรรมของอริยสาวกนั้น
อริยสาวกนั้นนำนัยในอดีต และอนาคตไปด้วยธรรมนี้ ซึ่งตนเห็นแล้ว รู้แล้ว ให้ผลไม่มีกำหนดกาล อันตนได้บรรลุแล้ว อันตนหยั่งรู้แล้ว สมณะหรือพราหมณ์
ในอดีตกาลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ก็ได้รู้ชราและมรณะ ได้รู้เหตุเป็นแดนเกิด แห่งชราและ มรณะ ได้รู้ความดับแห่งชราและมรณะ ได้รู้ปฏิปทาอันให้ถึง ความดับแห่ง ชรา และมรณะ เหมือนอย่างที่เรารู้ในบัดนี้ เหมือนกันทั้งนั้น สมณะหรือพราหมณ์
ในอนาคตกาล แม้เหล่าใดเหล่าหนึ่งก็จักรู้ชราและมรณะ จักรู้เหตุเป็นแดนเกิด แห่งชรา และ มรณะ จักรู้ความดับแห่งชราและมรณะ จักรู้ปฏิปทาอันให้ถึงความดับ แห่ง ชราและ มรณะ เหมือนอย่างที่เรารู้ในบัดนี้ เหมือนกันทั้งนั้น นี้ชื่อว่า อันวยญาณของ อริยสาวกนั้น
[๑๒๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความรู้ ๒ อย่าง คือธรรมญาณ ๑ อันวยญาณ ๑ เหล่านี้ของอริยสาวก เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ผุดผ่อง ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกนี้ เราเรียกว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิบ้าง ผู้ถึงพร้อมด้วยทัศนะบ้าง ผู้มาสู่สัทธรรมนี้บ้าง เห็นสัทธรรมนี้บ้าง ประกอบด้วยญาณ ของพระเสขะบ้าง ประกอบด้วยวิชชาของพระเสขะ บ้าง ถึงกระแสแห่งธรรมบ้าง เป็นอริยบุคคลผู้มีปัญญา เครื่องชำแรกกิเลสบ้าง อยู่ชิด ประตูอมตนิพพานบ้าง
[๑๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ชาติเป็นไฉน ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภพเป็นไฉน ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อุปาทานเป็นไฉน ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ตัณหาเป็นไฉน ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เวทนาเป็นไฉน ... ดูกรภิกษุทั้งหลายก็ผัสสะเป็นไฉน ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สฬายตนะเป็นไฉน ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็นามรูปเป็นไฉน ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็วิญญาณเป็นไฉน ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สังขารเป็นไฉน ...
สังขารมี ๓ คือ กายสังขาร ๑ วจีสังขาร ๑ จิตสังขาร ๑
นี้เรียกว่าสังขาร เพราะอวิชชาเกิด สังขารจึงเกิด เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เท่านั้น คือความเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ วาจาชอบ ๑ การงานชอบ ๑ อาชีพชอบ ๑ พยายามชอบ ๑ระลึกชอบ ๑ ตั้งใจไว้ชอบ ๑
[๑๒๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อริยสาวกรู้ชัด สังขารอย่างนี้ รู้ชัดเหตุเป็นแดนเกิด แห่งสังขารอย่างนี้ รู้ชัดความดับ แห่งสังขารอย่างนี้ รู้ชัดปฏิปทาอันให้ถึงความดับ แห่งสังขารอย่างนี้ นี้ชื่อว่า ความรู้ในธรรมของอริยสาวกนั้น
อริยสาวกนั้น ย่อมนำนัยในอดีต และอนาคตไ ปด้วยธรรมนี้ ซึ่งตนเห็นแล้ว รู้แล้วให้ผล ไม่มีกำหนดกาล อันตนได้บรรลุแล้ว อันตนหยั่งรู้แล้ว สมณะ หรือพราหมณ์ ในอดีตกาล เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ก็ได้รู้สังขาร ได้รู้เหตุเป็นแดนเกิดแห่งสังขาร ได้รู้ความดับแห่งสังขาร ได้รู้ปฏิปทาอันให้ถึงความดับ แห่งสังขารเหมือนอย่างที่เรารู้ ในบัดนี้ เหมือนกันทั้งนั้น สมณะหรือพราหมณ์ ในอนาคตกาลแม้เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ก็จักรู้สังขาร จักรู้เหตุเป็น แดนเกิด แห่งสังขาร จักรู้ความดับแห่งสังขาร จักรู้ปฏิปทา อันให้ถึงความดับ แห่งสังขาร เหมือนอย่างที่เรารู้ในบัดนี้ เหมือนกันทั้งนั้น นี้ชื่อว่า อันวยญาณของอริยสาวกนั้น
[๑๒๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความรู้ ๒ อย่าง คือธรรมญาณ ๑ อันวยญาณ ๑ เหล่านี้ ของอริยสาวก เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ผุดผ่อง ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกนี้เรา เรียกว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิบ้าง ผู้ถึงพร้อมด้วยทัศนะบ้าง ผู้มาสู่สัทธรรมนี้บ้าง เห็นสัทธรรมนี้บ้าง ประกอบด้วยญาณ ของพระเสขะบ้าง ประกอบด้วยวิชชา ของพระเสขะบ้าง ถึงกระแสแห่งธรรมบ้าง เป็นอริยบุคคลผู้มีปัญญา เครื่องชำแรกกิเลส บ้าง อยู่ชิดประตูอมตนิพพานบ้าง ดังนี้
จบสูตรที่ ๓ |