พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๗-๒๙
๒. ทสพลสูตรที่ ๒ (ตรัสกับภิกษุทั้งหลาย)
[๖๕] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตประกอบด้วยทสพลญาณ และ จตุเวสารัชชญาณ จึงปฏิญาณฐานะของผู้องอาจ บันลือสีหนาทในบริษัททั้งหลาย ยังพรหมจักร ให้เป็นไปว่า
ดังนี้รูป
ดังนี้ความเกิดขึ้นแห่งรูป
ดังนี้ความดับแห่งรูป
ดังนี้เวทนา
ดังนี้ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา
ดังนี้ความดับแห่งเวทนา
ดังนี้สัญญา
ดังนี้ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา
ดังนี้ความดับแห่งสัญญา
ดังนี้สังขารทั้งหลาย
ดังนี้ความเกิดขึ้นแห่งสังขารทั้งหลาย
ดังนี้ความดับแห่งสังขารทั้งหลาย
ดังนี้วิญญาณ
ดังนี้ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ
ดังนี้ความดับแห่งวิญญาณ
ด้วยเหตุนี้ เมื่อปัจจัยนี้มีอยู่ ผลนี้ย่อมมี เพราะการบังเกิดขึ้นแห่งปัจจัยนี้ ผลนี้จึงบังเกิดขึ้น เมื่อปัจจัยนี้ไม่มีอยู่ ผลนี้ย่อมไม่มี เพราะการดับแห่งปัจจัยนี้ ผลนี้จึงดับ ข้อนี้คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ... ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้
ก็เพราะอวิชชานั่นแหละ ดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ... ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมี ด้วยประการอย่างนี้
[๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเรากล่าวดีแล้วอย่างนี้ ทำให้ตื้นแล้ว เปิดเผยแล้ว ประกาศแล้ว ตัดสมณะขี้ริ้วแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้บวช ด้วยศรัทธา สมควรแท้เพื่อปรารภความเพียร ในธรรมอันเรากล่าวดีแล้วอย่างนี้ ทำให้ตื้น เปิดเผย ประกาศ ตัดสมณะขี้ริ้วแล้ว ด้วยความตั้งใจว่า หนัง เอ็น และกระดูกจงเหลืออยู่ เนื้อเลือด ในสรีระของเรา จงเหือดแห้งไปก็ตามที อิฐผลใดที่จะพึงบรรลุได้ ด้วยเรี่ยวแรง ของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษ ยังไม่บรรลุอิฐผลนั้น จักไม่หยุดความเพียร ดังนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เกียจคร้านอาเกียรณ์ ด้วยธรรมอันเป็นบาปอกุศล ย่อมอยู่เป็นทุกข์ และย่อมยังประโยชน์ของตนอันใหญ่ ให้เสื่อมเสีย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนบุคคลผู้ปรารภความเพียร ผู้สงัดจากธรรม อันเป็นบาปอกุศล ย่อมอยู่เป็นสุข และยังประโยชน์ของตนอันใหญ่ให้บริบูรณ์ได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การบรรลุธรรม อันเลิศด้วยธรรมอันเลว ย่อมมีไม่ได้ แต่ว่า การบรรลุธรรมอันเลิศ ย่อมมีได้ด้วยธรรมอันเลิศ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้ผ่องใส ควรดื่ม เพราะพระศาสดาอยู่พร้อมหน้าแล้ว
[๖๗] เพราะเหตุฉะนี้แหละ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำ ให้แจ้ง เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า บรรพชาของเราทั้งหลายนี้ จักไม่ต่ำทราม ไม่เป็นหมัน มีผล มีกำไร พวกเราบริโภคจีวรบิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร ของชนเหล่าใด สักการะเหล่านั้นของชนเหล่านั้น จักมีผลมาก มีอานิสงส์ มาก เพราะเราทั้งหลาย ดังนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันบุคคล ผู้เล็งเห็นประโยชน์ตน สมควรแท้เพื่อยังกิจ ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท หรือบุคคลผู้เล็งเห็นประโยชน์ผู้อื่น สมควรแท้เพื่อ ยังกิจ ให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาท ก็หรือว่า บุคคลผู้มองเห็นประโยชน์ ทั้งสองฝ่าย สมควรแท้จริง เพื่อยังกิจให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาท ดังนี้
จบสูตรที่ ๒ |