เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

ประทานพระโอวาทแก่กันทรกปริพาชก (กันทรกสูตร) 1823
 
สิ่งที่รกชัฏคือมนุษย์ สิ่งที่ตื้นคือสัตว์

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใด ได้มีแล้วในอดีตกาล จักมีในอนาคตกาล ก็ทรงให้ภิกษุสงฆ์ ปฏิบัติชอบเป็นอย่างยิ่ง เพียงเท่านี้ เหมือนเราให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบในบัดนี้ ...ภิกษุทั้งหลาย ผู้อรหันตขีณาสพ อยู่จบ พรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระเสียแล้ว มีประโยชน์ตน ถึงแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ มีอยู่

บุคคล ๔ จำพวก มีตนเป็นดังพรหมอยู่ในปัจจุบัน

1.ทำตนให้เดือดร้อน ขวนขวายทำตนให้เดือดร้อน.. ช่นเป็นคนเปลือย ทอดทิ้งมารยาท เลียมือ

2.ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ขวนขวายทำผู้อื่นให้เดือดร้อน..เช่นฆ่าแพะเลี้ยงชีวิต เป็นคนเหี้ยมโหด เป็นโจร

3.ทำตนให้เดือดร้อน และขวนขวายตนให้เดือดร้อน
ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน และขวนขวายทำผู้อื่นให้เดือดร้อน..ช่นทาสก็ดี กรรมกรก็ดี ถูกพระราชาคุกคาม ให้ทำการงานตามกำหนด

4.ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ขวนขวายทำตนให้เดือดร้อน
ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ขวนขวายทำผู้อื่นให้เดือดร้อน .. เช่นคฤหบดี บุตรคฤหบดี ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังแล้วได้ศรัทธาในพระตถาคต เมื่อได้ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นว่า ฆราวาส คับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

บุคคลผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนนั้น ไม่มีความหิว(ตัณหา)
ดับสนิทเป็นผู้เย็นเสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหมอยู่ในปัจจุบัน

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 
สารบาญพระไตรปิฎก
เล่มที่ ๘-๓๓ (๒๕ เล่ม) ทุกพระสูตร
1. ฉบับหลวง
2. ฉบับมหาจุฬาฯ
3. อรรถกถาไทย
4. ฉบับภาษาบาลี
5. อรรถกถา-บาลี
6. Pali Roman (Roman Script)
7. Atthakatha PaliRoman
 

 


 

           

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑-๑๓


ประทานพระโอวาทแก่กันทรกปริพาชก (กันทรกสูตร)

           [๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ฝั่งสระโบกขรณี ชื่อคัคครา เขตนครจำปา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่. ครั้งนั้น บุตรนายหัตถาจารย์ชื่อเปสสะ และ ปริพาชก ชื่อกันทรกะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว นายเปสสหัตถาโรหบุตร ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

            ส่วนกันทรกปริพาชกได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. แล้วเหลียวดูภิกษุสงฆ์ ผู้นิ่งเงียบอยู่ แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า น่าอัศจรรย์ ท่านพระโคดม ไม่เคยมี ท่านพระโคดม เพียงเท่านี้ ท่านพระโคดมชื่อว่าทรงให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบแล้ว

            ท่านพระโคดมพระอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใด ได้มีแล้วในอดีตกาล แม้พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น ก็ทรงให้ภิกษุสงฆ์ ปฏิบัติชอบเป็นอย่างยิ่ง เพียงเท่านี้ เหมือนท่านพระโคดม ทรงให้ภิกษุสงฆ์ ปฏิบัติชอบในบัดนี้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เหล่าใด จักมีในอนาคตกาล แม้พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น ก็จักทรงให้ภิกษุสงฆ์ ปฏิบัติชอบเป็นอย่างยิ่ง เพียงเท่านั้น เหมือนท่านพระโคดม ทรงให้ภิกษุสงฆ์ ปฏิบัติชอบในบัดนี้

           [๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกันทรกะ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ดูกรกันทรกะ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใด ได้มีแล้วใน อดีตกาล แม้พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น ก็ทรงให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบเป็นอย่างยิ่ง เพียงเท่านี้ เหมือนเราให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบในบัดนี้

           ดูกรกันทรกะ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใด จักมีใน อนาคตกาล แม้พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น ก็จักทรงให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบเป็นอย่างยิ่ง เพียงเท่านี้ เหมือนเราให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบในบัดนี้

           ดูกรกันทรกะ ก็ในภิกษุสงฆ์นี้ ภิกษุทั้งหลายผู้อรหันตขีณาสพ อยู่จบ พรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระเสียแล้ว มีประโยชน์ตน ถึงแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ มีอยู่

           ดูกรกันทรกะ อนึ่ง ในภิกษุสงฆ์นี้ ภิกษุทั้งหลายผู้ยังต้องศึกษา มีปกติสงบ มีความประพฤติสงบ มีปัญญาเลี้ยงชีพ ด้วยปัญญามีอยู่ เธอเหล่านั้นมีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ในสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน

           ดูกรกันทรกะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ พิจารณา เห็นจิต ในจิตอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก เสียได้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้.

           [๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นายเปสสหัตถาโรหบุตร ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า น่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้าข้า ไม่เคยมี พระพุทธเจ้าข้า สติปัฏฐาน ๔ นี้ พระองค์ทรงบัญญัติไว้ดีแล้วเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศก และความร่ำไร เพื่อความดับแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้ง ซึ่งพระนิพพาน ที่จริง แม้พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นคฤหัสถ์ นุ่งผ้าขาว ก็ยังมีจิตตั้งมั่น ดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้อยู่ตามกาลที่สมควร

           ขอประทานพระวโรกาสพวกข้าพระพุทธเจ้า
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่
มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌาและ โทมนัส ในโลกเสียได้
พิจารณาเห็น เวทนาในเวทนาอยู่
มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌา และ โทมนัส ในโลกเสียได้
พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่
มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌา และโทมนัส ในโลกเสียได้
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่
มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌา และ โทมนัสในโลกเสียได้

            น่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้าข้าไม่เคยมี พระพุทธเจ้าข้า เพียงเท่านี้ พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคชื่อว่า ย่อมทรงทราบ ประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์รกชัฏ เป็นไปอยู่อย่างนี้ ในเมื่อมนุษย์เดนกาก เป็นไปอยู่อย่างนี้ ในเมื่อมนุษย์โอ้อวด เป็นไปอยู่อย่างนี้ ก็สิ่งที่รกชัฏ(เข้าใจยาก) คือมนุษย์ สิ่งที่ตื้น (เข้าใจไม่ยาก) คือสัตว์ พระพุทธเจ้าข้า

           ด้วยว่าข้าพระพุทธเจ้า สามารถจะให้ช้างที่พอฝึกแล้วแล่นไปได้ ช้างนั้นจักทำ นครจำปาให้เป็นที่ไปมาโดยระหว่างๆ จักทำความโอ้อวด ความโกง ความคด ความงอ นั้นทั้งหมดให้ปรากฏด้วย ส่วนมนุษย์ คือทาส คนใช้หรือกรรมกรของข้าพระพุทธเจ้า ย่อมประพฤติด้วยกายเป็นอย่างหนึ่ง ด้วยวาจาเป็นอย่างหนึ่ง และจิตของเขา เป็นอย่างหนึ่ง น่าอัศจรรย์พระพุทธเจ้าข้า ไม่เคยมี พระพุทธเจ้าข้า เพียงเท่านี้ พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคชื่อว่า ย่อมทรงทราบประโยชน์และ มิใช่ประโยชน์ ในเมื่อมนุษย์รกชัฏ เป็นไปอยู่อย่างนี้ ในเมื่อมนุษย์เดนกาก เป็นไปอยู่อย่างนี้ ในเมื่อมนุษย์โอ้อวด เป็นไปอยู่อย่างนี้ ก็สิ่งที่รกชัฏคือมนุษย์ สิ่งที่ตื้นคือสัตว์

บุคคล ๔ จำพวก

           [๔] พ. ดูกรเปสสะ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ดูกรเปสสะ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ก็สิ่งที่รกชัฏ คือมนุษย์ สิ่งที่ตื้น คือสัตว์ ดูกรเปสสะ บุคคล ๔ จำพวกนี้มีอยู่ หาได้อยู่ในโลก ๔ จำพวก นั้นเป็นไฉน?

           ดูกรเปสสะบุคคลบางคนในโลกนี้
(๑) ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบการขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน

           ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้
(๒) ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน

           บุคคลบางคนในโลกนี้
(๓) ทำตนให้เดือดร้อน และประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน
ทำผู้อื่น
ให้เดือดร้อน และประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน

           ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้
(๔) ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวาย ในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน บุคคลผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนนั้น ไม่มีความหิว(ตัณหา) ดับสนิทเป็นผู้เย็นเสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหมอยู่ในปัจจุบัน

           ดูกรเปสสะ บรรดาบุคคล ๔ จำพวกนี้ จำพวกไหนจะยังจิตของท่านให้ยินดี?

           [๕] เป. พระพุทธเจ้าข้า บุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวาย ในการทำตนให้เดือดร้อนนี้ ไม่ยังจิตของข้าพระพุทธเจ้าให้ยินดีได้ แม้บุคคลผู้ทำผู้อื่น ให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวาย ในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ก็ไม่ยังจิตของข้าพระพุทธเจ้าให้ยินดีได้

            แม้บุคคลทำตนให้เดือดร้อน และประกอบความขวนขวาย ในการทำตนให้ เดือดร้อน ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน และประกอบความขวนขวาย ในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ก็ไม่ยังจิตของข้าพระพุทธเจ้าให้ยินดีได้

            ส่วนบุคคลผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวาย ในการทำตน ให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวาย ในการทำผู้อื่น ให้เดือดร้อน บุคคลผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่มีความหิว ดับสนิท เป็นผู้เย็นเสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหมอยู่ในปัจจุบัน บุคคลนี้ย่อมยังจิตของข้าพระพุทธเจ้าให้ยินดี

           ดูกรเปสสะ ก็เพราะเหตุไรเล่า บุคคล ๓ จำพวกนี้ จึงยังจิตของท่าน ให้ยินดีไม่ได้ ?

           [๖] พระพุทธเจ้าข้า
บุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวาย ในการทำตนให้เดือดร้อนนี้ เขาย่อมทำตนซึ่งรักสุข เกลียดทุกข์ ให้เดือดร้อน เร่าร้อน ด้วยเหตุนี้บุคคลนี้ จึงไม่ยังจิต ของข้าพระพุทธเจ้าให้ยินดีได้ แม้บุคคลผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวาย ในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เขาก็ย่อมทำผู้อื่นซึ่งรักสุข เกลียดทุกข์ ให้เดือดร้อนเร่าร้อน

            ด้วยเหตุนี้ บุคคลนี้จึงไม่ยังจิตของข้าพระพุทธเจ้า ให้ยินดีได้ แม้บุคคลผู้ทำตน ให้เดือดร้อน และประกอบความขวนขวาย ในการทำตนให้เดือดร้อน ทำผู้อื่น ให้เดือดร้อน และประกอบความขวนขวาย ในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน

            เขาก็ย่อมทำตนและผู้อื่นซึ่งรักสุข เกลียดทุกข์ให้เดือดร้อนเร่าร้อน ด้วยเหตุนี้ บุคคลนี้จึงไม่ยังจิตของข้าพระพุทธเจ้าให้ยินดีได้ ก็แลบุคคลผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวาย ในการทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบ ความขวนขวาย ในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เขาไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ไม่มีความหิว ดับสนิท เป็นผู้เย็น เสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหม อยู่ในปัจจุบันนี้ ด้วยเหตุนี้ บุคคลนี้ ย่อมยังจิตของข้าพระพุทธเจ้า ให้ยินดีได้ พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าจะไป ณ บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้ามีกิจมาก มีธุระที่ต้องทำมาก

           ดูกรเปสสะ บัดนี้ ท่านจงทราบกาลอันควรเถิด

           ลำดับนั้น นายเปสสหัตถาโรหบุตร ชื่นชม อนุโมทนาภาษิตพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป

           [๗] ครั้งนั้น เมื่อนายเปสสหัตถาโรหบุตร หลีกไปไม่นาน พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายเปสสหัตถาโรหบุตรเป็นบัณฑิต

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายเปสสหัตถาโรหบุตร มีปัญญามาก ถ้านายเปสสหัตถาโรหบุตร พึงนั่งอยู่ครู่หนึ่ง ชั่วเวลาที่เราจำแนกบุคคล ๔ จำพวกนี้ โดยพิสดารแก่เขา เขาจักเป็น ผู้ประกอบด้วยประโยชน์ใหญ่ อนึ่งแม้ด้วยการฟัง โดยสังเขปเพียงเท่านี้ นายเปสสหัตถาโรหบุตร ยังประกอบด้วยประโยชน์ใหญ่ พวกภิกษุกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค นี้เป็นกาล ข้าแต่พระสุคต นี้เป็นกาล ของการ ที่พระผู้มีพระภาค จะพึงทรงจำแนกบุคคล ๔ จำพวกนี้โดยพิสดาร ภิกษุทั้งหลายได้ฟัง ต่อพระผู้มีพระภาค โดยพิสดารแล้วจักทรงจำไว้

           พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดีเราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว
................................................................................................................
(1)

           [๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน เป็นไฉน?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนเปลือย
ทอดทิ้งมารยาท เลียมือ
เขาเชิญให้มารับภิกษาแล้วก็ไม่มา
เขาเชิญให้หยุดก็ไม่หยุด
ไม่ยินดีรับภิกษาที่เขานำมาให้
ไม่ยินดีรับภิกษาที่เขาทำเฉพาะ
ไม่ยินดีรับภิกษาที่เขานิมนต์
เขาไม่รับภิกษาปากหม้อ
ไม่รับภิกษาจากปากกระเช้า
ไม่รับภิกษาคร่อมธรณีประตู
ไม่รับภิกษาคร่อมท่อนไม้
ไม่รับภิกษาคร่อมสาก
ไม่รับภิกษาของคน ๒ คนที่กำลังบริโภคอยู่
ไม่รับภิกษาของหญิงมีครรภ์
ไม่รับภิกษาของหญิงผู้กำลังให้ลูกดูดนม
ไม่รับภิกษาของหญิงผู้คลอเคลียบุรุษ
ไม่รับภิกษาที่นัดแนะกันทำไว้
ไม่รับภิกษาในที่ที่เขาเลี้ยงสุนัข
ไม่รับภิกษาในที่มีแมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่ม
ไม่รับปลา ไม่รับเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย
ไม่ดื่มน้ำหมักดอง

เขารับภิกษาที่เรือนหลังเดียว เยียวยาอัตภาพ ด้วยข้าวคำเดียวบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๒ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๒ คำบ้าง
รับภิกษาที่เรือน ๓ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๓ คำบ้าง
รับภิกษาที่เรือน ๔ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๔ คำบ้าง
รับภิกษาที่เรือน ๕ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๕ คำบ้าง
รับภิกษาที่เรือน ๖ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๖ คำบ้าง
รับภิกษาที่เรือน ๗ หลัง เยียวยาอัตภาพ ด้วยข้าว ๗ คำบ้าง

เยียวยาอัตภาพด้วยภิกษา ในถาดน้อยใบเดียวบ้าง ๒ ใบบ้าง ๓ ใบบ้าง ๔ ใบบ้าง ๕ ใบบ้าง ๖ ใบบ้าง ๗ ใบบ้าง กินอาหารที่เก็บค้างไว้วันหนึ่งบ้าง ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง ๔ วันบ้าง ๕ วันบ้าง ๖ วันบ้าง ๗ วันบ้าง

เป็นผู้ประกอบ ความขวนขวาย ในการบริโภคภัตที่เวียนมาตั้งกึ่งเดือน แม้เช่นนี้ ด้วยประการฉะนี้อยู่ เขาเป็นผู้มีผักดองเป็นภักษาบ้าง มีข้าวฟ่างเป็นภักษาบ้าง มีลูกเดือย เป็นภักษาบ้าง มีกากข้าวเป็นภักษาบ้าง มีสาหร่ายเป็นภักษาบ้าง มีรำเป็น ภักษาบ้าง มีข้าวตังเป็นภักษาบ้าง มีข้าวไหม้เป็นภักษาบ้าง มีหญ้าเป็น ภักษาบ้าง มีโคมัยเป็นภักษาบ้าง มีเหง้าและผลไม้ในป่าเป็นอาหาร บริโภคผลไม้หล่นเยียวยา อัตภาพ

           เขาทรงผ้าป่านบ้าง ผ้าแกมกันบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง ผ้าบังสุกุลบ้าง ผ้าเปลือกไม้บ้าง หนังเสือบ้าง หนังเสือทั้งเล็บบ้าง ผ้าคากรองบ้าง ผ้าเปลือกปอก รองบ้าง ผ้าผลไม้กรองบ้าง ผ้ากัมพลทำด้วยผมคนบ้าง ผ้ากัมพลทำด้วยขนสัตว์บ้าง ทำด้วยขนปีกนกเค้าบ้าง

            เป็นผู้ถอนผมและหนวด คือประกอบความขวนขวาย ในการถอนผม และ หนวดบ้าง เป็นผู้ยืน คือห้ามอาสนะบ้างเป็นผู้กระโหย่ง คือประกอบความเพียรในการ กระโหย่ง (คือเดินกระโหย่งเหยียบพื้นไม่เต็มเท้า)บ้าง เป็นผู้นอนบนหนาม คือสำเร็จ การนอนบนหนามบ้าง เป็นผู้อาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง ประกอบความขวนขวาย ในการลงน้ำบ้าง เป็นผู้ประกอบความขวนขวาย ในการทำกายให้เดือดร้อน เร่าร้อนหลาย อย่างเห็นปานนี้อยู่

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เรากล่าวว่า เป็นผู้ทำตน ให้เดือดร้อน ประกอบความ ขวนขวาย ในการทำตนให้เดือดร้อน
................................................................................................................
(2)

           [๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความ ขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นไฉน?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
บุคคลบางคนในโลกนี้ ฆ่าแพะเลี้ยงชีวิต
ฆ่าสุกรเลี้ยงชีวิต ฆ่านกเลี้ยงชีวิต
ฆ่าเนื้อเลี้ยงชีวิต เป็นคนเหี้ยมโหด
เป็นคนฆ่าปลา เป็นโจร เป็นคน ฆ่าโจร
เป็นคนปกครองเรือนจำ หรือบุคคลเหล่าอื่นบางพวกเป็นผู้ทำการงาน อันทารุณ ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลนี้ เรากล่าวว่า เป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบ ความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
................................................................................................................
(3)

           [๑๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน และประกอบความ ขวนขวาย ในการทำตนให้เดือดร้อน ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และประกอบความ ขวนขวาย ในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นไฉน?

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นพระราชามหากษัตริย์ ผู้ได้มุรธาภิกเษกแล้ว ก็ดี เป็นพราหมณ์มหาศาลก็ดี พระราชาหรือพราหมณ์นั้น โปรดให้ทำโรงที่บูชายัญขึ้นใหม่ ทางด้านบูรพาแห่งนคร แล้วทรงจำเริญพระเกสา และพระมัสสุ ทรงนุ่งหนังเสือทั้งเล็บ ทรงทาพระกายด้วยเนยใส และน้ำมันงา ทรงเกาพระปฤษฎางค์ด้วยเขามฤค เข้าไปยังโรงที่บูชายัญใหม่ พร้อมด้วยพระมเหสี และพราหมณ์ปุโรหิต บรรทม บนพื้นดิน อันมิได้ลาดด้วยเครื่องลาด เขาทาด้วยโคมัยสด

น้ำนมในเต้าที่หนึ่งแห่งโคแม่ลูกอ่อน ตัวเดียวมีเท่าใด พระราชาทรงเยียวยาอัตภาพ ด้วยน้ำนมเท่านั้น
น้ำนมในเต้าที่ ๒ มีเท่าใด พระมเหสี ทรงเยียวยาอัตภาพ ด้วยน้ำนมเท่านั้น
น้ำนมในเต้าที่ ๓ มีเท่าใด พราหมณ์ปุโรหิต ย่อมเยียวยาอัตภาพ ด้วยน้ำนมเท่านั้น
น้ำนมในเต้าที่ ๔ มีเท่าใด ก็บูชาไฟด้วยน้ำนมเท่านั้น
ลูกโคเยียวยาอัตภาพด้วยน้ำนมที่เหลือ

           พระราชาหรือพราหมณ์นั้น ตรัสอย่างนี้ ว่า
เพื่อต้องการบูชายัญ จงฆ่าโค ผู้ประมาณเท่านี้
ลูกโคผู้ประมาณเท่านี้
ลูกโคเมียประมาณเท่านี้
แพะประมาณเท่านี้
ม้าประมาณเท่านี้
จงตัดต้นไม้ประมาณเท่านี้ เพื่อต้องการทำเป็นเสายัญ
จงเกี่ยวหญ้า ประมาณเท่านี้ เพื่อต้องการลาดพื้น

ชนเหล่าที่เป็นทาสก็ดี เป็นคนใช้ก็ดี เป็นกรรมกรก็ดี ของพระราชาหรือพราหมณ์นั้น ชนเหล่านั้น ถูกอาชญาคุกคาม ถูกภัยคุกคาม มีน้ำตานองหน้า ร้องไห้ ทำการงาน ตามกำหนด

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้ เรากล่าวว่า ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบความ ขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน และทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวาย ในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
................................................................................................................
(4)

ว่าด้วยพระพุทธคุณ

           [๑๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความ ขวนขวาย ในการทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความ ขวนขวาย ในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เขาไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่น ให้เดือดร้อน ไม่มีความหิว ดับสนิท เป็นผู้เย็นเสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหมอยู่ในปัจจุบัน เป็นไฉน?

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เอง โดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษ ที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม พระตถาคตพระองค์นั้น ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้รู้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่ง ของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้ง สมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง

            คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดเฉพาะในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังแล้ว ได้ศรัทธาในพระตถาคต เมื่อได้ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นตระหนักว่า ฆราวาส คับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

 

 

 





พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์