เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

ปังกธาสูตร สมณะนี้ ขัดเกลากิเลสยิ่งนัก 1802
 
สมณะนี้ขัดเกลายิ่งนัก
ภิกษุกัสสป รู้สึกขัดใจ (ไม่ชอบใจ) ว่าพระพุทธเจ้าทรงชี้แจงเหล่าภิกษุให้เห็นแจ้ง ชวนให้รับเอาไป ปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญ แกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง ด้วยธรรมีกถา ด้วยสิกขาบท

ถ้าภิกษุผู้เป็นเถระ (รวมถึงภิกษุกลางและภิกษุบวชใหม่) ไม่ใคร่ต่อการศึกษา เธอย่อมไม่ชักชวน ภิกษุอื่น ที่ไม่ใคร่ต่อการศึกษาให้ใคร่ต่อการศึกษา และไม่สรรเสริญ คุณ ที่มีจริงเป็นจริงของภิกษุอื่น ที่ใคร่ต่อการศึกษาตามโอกาสอันสมควร

เราไม่สรรเสริญคุณของภิกษุผู้เป็นเถระเช่นนี้ เพราะพวกภิกษุอื่น พึงคบหาเธอโดยเห็นว่า “พระศาสดา ก็ยังตรัสสรรเสริญคุณของท่าน” ภิกษุพวกที่คบหา เธอ พึงพากันตามอย่างเธอ ข้อนั้นพึงเป็นไป
เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่ภิกษุ พวกที่พากันตามอย่างเธอตลอดกาลนาน เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่สรรเสริญคุณ ของภิกษุ ผู้เป็นเถระเช่นนี้

ฉบับหลวง
ฉบับมหาจุฬา (อ่านแล้วเข้าใจง่าย แปลได้ชัดเจนกว่าฉบับหลวง)
เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 
สารบาญพระไตรปิฎก
เล่มที่ ๘-๓๓ (๒๕ เล่ม) ทุกพระสูตร
1. ฉบับหลวง
2. ฉบับมหาจุฬาฯ
3. อรรถกถาไทย
4. ฉบับภาษาบาลี
5. อรรถกถา-บาลี
6. Pali Roman (Roman Script)
7. Atthakatha PaliRoman
 

 


 


พระไตรปิฎก (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก หน้า ๒๖๗ - ๒๗๐

ปังกธาสูตร

            [๕๓๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงนิคมแห่งชาวโกศล ชื่อปังกธาได้ยินว่าสมัยนั้น พระองค์ ประทับอยู่ ณ นิคมแห่งชาวโกศล ชื่อปังกธา ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุชื่อกัสสปโคตร เป็นเจ้าอาวาสอยู่ ณ ปังกธานิคม ได้ยินว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคทรงยังภิกษุ ทั้งหลาย ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถาอันปฏิสังยุต ด้วยสิกขาบท

            ครั้งนั้นแล เมื่อพระผู้มีพระภาค ทรงยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาอันปฏิสังยุต ด้วยสิกขาบทอยู่ ภิกษุกัสสปโคตร ได้เกิดความขัดใจ ไม่แช่มชื่น ว่า สมณะนี้ขัดเกลายิ่งนัก

            ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปังกธานิคมตามควรแก่อภิรมย์แล้ว เสด็จจาริกกลับไปทางพระนครราชคฤห์ เมื่อเสด็จจาริกไปโดยลำดับ ได้เสด็จถึง พระนครราชคฤห์แล้วได้ยินว่า สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่บนภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้พระนครราชคฤห์

            ครั้งนั้นแล ภิกษุกัสสปโคตร เมื่อพระผู้มีพระภาค เสด็จหลีกไปได้ไม่นาน ได้เกิดความรำคาญ เดือดร้อนว่าเราผู้เกิดความขัดใจ ไม่แช่มชื่นว่า สมณะนี้ขัดเกลา ยิ่งนัก ในเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีถกาอันปฏิสังยุต ด้วยสิกขา ชื่อว่าเป็นอันหมดลาภ ไม่มีลาภ ได้ชั่ว ไม่ได้ดีแล้วหนอ ถ้ากระไร เราควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ แล้วพึง แสดงโทษโดยความเป็นโทษ ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเถิด

            ลำดับนั้นแล ภิกษุกัสสปโคตร เก็บงำเสนาสนะ ถือบาตรและจีวร หลีกไปทาง พระนครราชคฤห์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้พระนคร ราชคฤห์ โดยลำดับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่งลง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ นิคมของ ชาวโกศล ชื่อปังกธา ได้ยินว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงยังภิกษุทั้งหลาย ให้เห็น แจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา อันปฏิสังยุตด้วยสิกขาบท พระเจ้าข้า

            ขณะที่พระผู้มีพระภาค ทรงยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาอันปฏิสังยุต ด้วยสิกขาบทอยู่ ข้าพระองค์นั้น ได้เกิดขัดใจไม่แช่มชื่นว่า สมณะนี้ขัดเกลายิ่งนัก ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปังกธานิคมตามควรแก่อภิรมย์ เสด็จจาริกกลับไปทางพระนครราชคฤห์ พระเจ้าข้า ข้าพระองค์นั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน ได้เกิดความรำคาญ เดือดร้อนว่า เราผู้เกิดความขัดใจ ไม่แช่มชื่นว่า สมณะนี้ขัดเกลายิ่งนัก ในเมื่อ พระผู้มีพระภาค ทรงยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทานให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาอันปฏิสังยุตด้วยสิกขาบท ชื่อว่าเป็นอันหมดลาภ ไม่มีลาภ ได้ชั่ว ไม่ได้ดีแล้วหนอ

            อย่ากระนั้นเลย เราควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วพึงแสดง โทษโดยความเป็นโทษ ในสำนักของพระผู้มีพระภาค พระเจ้าข้า โทษได้ถึงตัว ข้าพระองค์ ผู้เป็นคนโง่เขลา งมงาย ไม่ฉลาด ข้าพระองค์ได้เกิดความขัดใจ ไม่แช่มชื่น ว่า สมณะนี้ขัดเกลายิ่งนัก ในเมื่อพระผู้มีพระภาค ทรงยังภิกษุทั้งหลาย ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาอันปฏิสังยุตด้วยสิกขาบท พระเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาค ได้โปรดทรงรับโทษของข้าพระองค์นั้น โดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมระวังต่อไปเถิด

...................................................................................................................

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เอาละ กัสสปะ โทษได้ถึงตัวเธอผู้เป็นคนโง่เขลา งมงาย ไม่ฉลาด เธอใดได้เกิดความขัดใจไม่แช่มชื่น ว่า สมณะนี้ขัดเกลายิ่งนัก ในเมื่อเรายังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา อันปฏิสังยุต ด้วยสิกขาบท ก็เพราะเหตุที่เธอนั้นเห็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม ฉะนั้น เราก็รับโทษอันนั้นของเธอ ดูกรกัสสปะ ก็การที่บุคคล เห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไปนี้ เป็นการเจริญในอริยวินัย

            ดูกรกัสสปะ ถ้าภิกษุปูนเถระ เป็นผู้ไม่ใคร่ต่อการศึกษา ไม่สรรเสริญ การ สมาทานการศึกษา เธอย่อมจะไม่ชักชวน ภิกษุอื่นๆ ที่ไม่ใคร่ต่อการศึกษาในการ ศึกษา และไม่แสดงคุณที่มีจริง เป็นจริงของ ภิกษุรูปอื่นๆ ที่ใคร่ต่อการศึกษาตามกาล
ดูกรกัสสปะ ภิกษุปูนเถระเห็นปานดังนี้ เราไม่สรรเสริญข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุ อื่นๆ จะพึงคบหาเธอโดยเห็นว่า พระศาสดาสรรเสริญเขา ภิกษุพวก ที่คบหา ภิกษุนั้น พึงถือเอาภิกษุนั้นเป็นแบบอย่าง ข้อนั้นพึงเป็นไป เพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ แก่เธอทั้งหลาย สิ้นกาลนาน ดูกรกัสสปะเพราะเหตุ ดังกล่าวมานี้ เราจึงไม่สรรเสริญ ภิกษุปูนเถระ เห็นปาน ดังนี้

            ดูกรกัสสปะ ถ้าภิกษุปูนกลาง ฯลฯ ถ้าภิกษุใหม่
เป็นผู้ไม่ใคร่ต่อการศึกษา ไม่สรรเสริญการสมาทานการศึกษา เธอย่อมจะไม่ชักชวนภิกษุอื่นๆ ที่ไม่ใคร่ต่อ การศึกษา ในการศึกษา และไม่แสดงคุณที่เป็นจริงมีจริงของภิกษุอื่นๆ ที่ใคร่ ต่อการศึกษา ตามกาล ดูกรกัสสปะ ภิกษุใหม่ เห็นปานดั่งนี้ เราไม่สรรเสริญ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุอื่นๆ จะพึงคบหาเธอโดยเห็นว่า พระศาสดาสรรเสริญ เขา ภิกษุที่คบหา ภิกษุนั้น พึงถือภิกษุนั้นเป็นแบบอย่าง ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ ประโยชน์ เพื่อทุกข์ แก่เธอทั้งหลายสิ้นกาลนาน ดูกรกัสสปะ เพราะเหตุดังกล่าวมานี้ เราจึงไม่สรรเสริญ ภิกษุใหม่เห็นปานนั้น

            ดูกรกัสสปะ ถ้าภิกษุปูนเถระ ฯลฯ ถ้าภิกษุปูนกลาง ฯลฯ ถ้าภิกษุใหม่ เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา สรรเสริญการสมาทานการศึกษา เธอย่อมจะชักชวนภิกษุอื่นๆ ที่ไม่ใคร่ต่อการศึกษา และแสดงคุณที่มีจริงเป็นจริงของภิกษุอื่นๆ ที่ใคร่ต่อการศึกษา ตามกาล ดูกรกัสสปะ ภิกษุใหม่เห็นปานดั่งนี้ เราสรรเสริญ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ ภิกษุอื่นๆ จะพึงคบหาเธอโดยเห็นว่าพระศาสดาสรรเสริญเขา ภิกษุพวกที่คบหา ภิกษุนั้น พึงถือเอาภิกษุนั้นเป็นแบบอย่าง ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อ ประโยชน์ เพื่อความสุข แก่เธอทั้งหลาย สิ้นกาลนาน

            ดูกรกัสสปะ เพราะเหตุดังกล่าวมานี้ เราจึงสรรเสริญภิกษุใหม่เห็นปานดังนี้



พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก [ฉบับมหาจุฬาฯ] หน้าที่ ๓๒๐-๓๒๔

๑๑. ปังกธาสูตร
ว่าด้วยตำบลปังกธา

            [๙๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงตำบลของแคว้นโกศลชื่อปังกธา ทราบว่า พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ ตำบลปังกธาของชาวโกศลนั้น

            สมัยนั้น ภิกษุชื่อกัสสปโคตร เป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่ตำบลปังกธา ทราบมาว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจง ให้เหล่าภิกษุเห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ ให้สดชื่นร่าเริง ด้วยธรรมีกถา ที่ประกอบ ด้วยสิกขาบท เมื่อพระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจง ให้เหล่าภิกษุเห็นชัด ชวนให้อยาก รับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ ให้สดชื่นร่าเริง ด้วย ธรรมีกถา ที่ประกอบด้วยสิกขาบทอยู่ ภิกษุกัสสปโคตร ได้มีความขัดใจ ไม่ยินดีว่า ‘สมณะนี้ ขัดเกลากิเลสยิ่งนัก’

            พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำบลปังกธาตามพระอัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริก ไป ทางกรุงราชคฤห์ เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ ณ ภูเขา คิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์นั้น

            เมื่อพระผู้มีพระภาค เสด็จหลีกไปไม่นาน ภิกษุกัสสปโคตร ได้มีความรำคาญ เดือดร้อนใจว่า “ไม่ใช่ลาภของเราหนอ เราไม่มีลาภหนอ เราได้ชั่วแล้วหนอ เราได้ไม่ดี แล้วหนอ ที่เมื่อพระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงให้เหล่าภิกษุ เห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไป ปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ ให้สดชื่นร่าเริง ด้วยธรรมีกถา ที่ประกอบด้วยสิกขาบท ได้มีความขัดใจ ไม่ยินดีว่า ‘สมณะนี้ขัดเกลากิเลสยิ่งนัก ’จะเป็นการดี ถ้าเราจะพึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ แล้วแสดงโทษ โดยความ เป็นโทษในสำนักพระผู้มีพระภาค”

            ลำดับนั้น ภิกษุกัสสปโคตร เก็บเสนาสนะ ถือบาตรจีวร หลีกไปทางกรุง ราชคฤห์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

            “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำบล
ปังกธาของชาวโกศล ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เหล่าภิกษุเห็นชัด ชวน
ให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถาที่ประกอบด้วยสิกขาบท เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เหล่าภิกษุ
เห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้
สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาที่ประกอบด้วยสิกขาบทอยู่ ข้าพระองค์นั้นได้มีความขัดใจ
ไม่ยินดีว่า ‘สมณะนี้ขัดเกลากิเลสยิ่งนัก’

            ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำบลปังกธา ตามพระอัธยาศัยแล้ว เสด็จ จาริกไป ทางกรุงราชคฤห์ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปไม่นาน ข้าพระองค์นั้น ได้มี ความรำคาญ เดือดร้อนใจว่า ‘ไม่ใช่ลาภของเราหนอ เราไม่มีลาภหนอ เราได้ชั่ว แล้วหนอ เราไม่ได้ดีแล้วหนอ ที่เมื่อพระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงให้เหล่าภิกษุเห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ ให้สดชื่น ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา ที่ประกอบด้วยสิกขาบท เรากลับมีความขัดใจไม่ยินดีว่า ‘สมณะนี้ ขัดเกลากิเลสยิ่งนัก’

             จะเป็นการดี ถ้าเราจะพึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ แล้ว แสดงโทษ โดยความเป็นโทษ ในสำนักพระผู้มีพระภาค’ โทษได้ถึงตัว ข้าพระองค์ ผู้โง่เขลา งมงาย ไม่ฉลาด เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เหล่าภิกษุเห็นชัด ชวนให้ อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ ให้สดชื่น ร่าเริง ด้วยธรรมมีกถา ที่ประกอบด้วยสิกขาบทอยู่

             ข้าพระองค์ได้มีความขัดใจ ไม่ยินดีว่า ‘สมณะนี้ขัดเกลากิเลสยิ่งนัก’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค ทรงรับทราบ โทษ ของข้าพระองค์นั้น โดย ความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมระวังต่อไปเถิด”
...................................................................................................................

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เอาละ กัสสปะ โทษได้ถึงตัวเธอผู้โง่เขลา งมงาย ไม่ฉลาด เมื่อเราให้เหล่าภิกษุเห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญ แกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ที่ประกอบด้วยสิกขาบท ก็เพราะเธอมีความขัดใจ ไม่ยินดีว่า ‘สมณะนี้ขัดเกลากิเลสยิ่งนัก’ ได้เห็นโทษ โดย ความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม ฉะนั้นเราจึงรับทราบโทษนั้นของเธอ ก็การที่ บุคคลเห็นโทษ โดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมระวัง ต่อไป นี้เป็นความเจริญในอริยวินัย

            ถ้าภิกษุผู้เป็นเถระ ไม่ใคร่ต่อการศึกษา ไม่สรรเสริญการเอาใจใส่การศึกษา เธอย่อมไม่ชักชวนภิกษุอื่น ที่ไม่ใคร่ต่อการศึกษา ให้ใคร่ต่อการศึกษา และไม่สรรเสริญ คุณ ที่มีจริงเป็นจริงของภิกษุอื่น ที่ใคร่ต่อการศึกษาตามโอกาสอันสมควร เราไม่สรรเสริญคุณ ของภิกษุผู้เป็นเถระเช่นนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพวกภิกษุอื่น พึงคบหาเธอโดยเห็นว่า “พระศาสดาก็ยังตรัสสรรเสริญคุณของท่าน” ภิกษุพวกที่คบหา เธอ พึงพากันตามอย่างเธอ ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่ภิกษุ พวก ที่พากันตามอย่างเธอ ตลอดกาลนาน เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่สรรเสริญคุณของภิกษุ ผู้เป็นเถระเช่นนี้

            ถ้าภิกษุผู้เป็นมัชฌิมะ ฯลฯ แม้ถ้าภิกษุผู้เป็นนวกะ ไม่ใคร่ต่อการศึกษา ไม่สรรเสริญการเอาใจใส่การศึกษา เธอย่อมไม่ชักชวนภิกษุอื่น ที่ไม่ใคร่ต่อการศึกษา ให้ใคร่ต่อการศึกษา และไม่สรรเสริญคุณที่มีจริง เป็นจริงของภิกษุอื่น ที่ใคร่ต่อการ ศึกษา ตามโอกาสอันสมควร เราไม่สรรเสริญคุณของภิกษุผู้เป็นนวกะเช่นนี้ ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะภิกษุอื่นพึงคบหาเธอโดยเห็นว่า “พระศาสดา ก็ยังตรัสสรรเสริญคุณ ของท่าน” ภิกษุพวกที่คบหาเธอ พึงพากันตามอย่างเธอ ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่ภิกษุ พวกที่พากันตามอย่างเธอ ตลอดกาลนาน เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่ สรรเสริญคุณ ของภิกษุผู้เป็นนวกะเช่นนี้
...................................................................................................................

            ถ้าภิกษุผู้เป็นเถระ ใคร่ต่อการศึกษา สรรเสริญการเอาใจใส่การศึกษา เธอย่อมชักชวนภิกษุอื่น ที่ไม่ใคร่ต่อการศึกษาให้ใคร่ต่อการศึกษา และสรรเสริญคุณ ที่มีจริง เป็นจริง ของภิกษุอื่น ที่ใคร่ต่อการศึกษา ตามโอกาสอันสมควร เราสรรเสริญ คุณของภิกษุ ผู้เป็นเถระเช่นนี้  ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพวกภิกษุอื่น พึงคบหาเธอ โดยเห็นว่า “พระศาสดาก็ยังตรัสสรรเสริญ คุณ ของท่าน” ภิกษุพวกที่คบหาเธอ พึงพากันตามอย่างเธอ ข้อนั้นพึงเป็นไป เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่ภิกษุพวกที่พากัน ตามอย่างเธอตลอดกาลนาน เพราะเหตุนั้น เราจึงสรรเสริญคุณของภิกษุ ผู้เป็นเถระ เช่นนี้

            ถ้าภิกษุผู้เป็นมัชฌิมะ ฯลฯ แม้ถ้าภิกษุผู้เป็นนวกะ ใคร่ต่อการศึกษา สรรเสริญ การเอาใจใส่การศึกษา เธอย่อมชักชวนภิกษุอื่น ที่ไม่ใคร่ต่อการศึกษา ให้ใคร่ต่อการ ศึกษา และสรรเสริญคุณที่มีจริงเป็นจริง ของภิกษุอื่นที่ใคร่ต่อการศึกษา ตามโอกาส อันสมควร เราสรรเสริญคุณของภิกษุ ผู้เป็นนวกะเช่นนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะภิกษุอื่น พึงคบหาเธอโดยเห็นว่า “พระศาสดาก็ยังตรัสสรรเสริญคุณ ของท่าน” ภิกษุพวกที่คบหาเธอ พึงพากันตามอย่างเธอ ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่ ภิกษุ พวกที่พากันตามอย่างเธอ ตลอดกาลนาน

             เพราะเหตุนั้น เราจึง สรรเสริญคุณของ ภิกษุผู้เป็นนวกะเช่นนี้

 





พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์