พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗๖-๗๗
อุปาลิสังฆเภทสูตร
[๓๕] อุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า สังฆเภท สังฆเภทดังนี้ สงฆ์จะเป็นผู้แตกกันด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอแล
พ. ดูกรอุบาลี ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้
(วัตถุ ๑๐ ประการ)
๑) ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมว่า เป็นธรรม
๒) ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นธรรมว่าไม่เป็นธรรม
๓) ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่ใช่วินัยว่าเป็นวินัย
๔) ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นวินัยว่าไม่เป็นวินัย
๕) ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้กล่าวไว้ไม่ได้บอกไว้ว่า ตถาคตกล่าวไว้บอกไว้
๖) ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตกล่าวไว้บอกไว้ว่า ตถาคตไม่ได้กล่าวไว้ไม่ได้บอกไว้
๗) ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่เคยประพฤติมาว่า ตถาคตเคยประพฤติมา
๘) ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตเคยประพฤติมาว่า ตถาคตไม่เคยประพฤติมา
๙) ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่บัญญัติไว้ว่า ตถาคตบัญญัติไว้
๑๐) ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตบัญญัติไว้ว่า ตถาคตไม่บัญญัติไว้
ภิกษุเหล่านั้นย่อมทอดทิ้งกัน แยกจากกัน ทำสังฆกรรมแยกกัน สวดปาติโมกข์ แยกจากกัน ด้วยวัตถุ ๑๐ ประการนี้
ดูกรอุบาลี สงฆ์จะเป็นผู้แตกกัน ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗๗-๗๘
อุปาลิสามัคคีสูตร
[๓๖] อุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า สังฆสามัคคี สังฆสามัคคี ดังนี้ สงฆ์จะเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอแล
พ. ดูกรอุบาลี ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้
(วัตถุ ๑๐ ประการ)
๑) ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมว่าไม่ใช่ธรรม
๒) ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นธรรมว่าเป็นธรรม
๓) ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่เป็นวินัยว่าไม่เป็นวินัย
๔) ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นวินัยว่าเป็นวินัย
๕) ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้กล่าวไว้ไม่ได้บอกไว้ว่า ตถาคตไม่ได้กล่าวไว้ไม่ได้บอกไว้
๖) ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตกล่าวไว้บอกไว้ว่าตถาคตกล่าวไว้บอกไว้
๗) ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่เคยประพฤติมาว่า ตถาคตไม่เคยประพฤติมา
๘) ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตเคยประพฤติมาว่า ตถาคตเคยประพฤติมา
๙) ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้บัญญัติว่า ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้
๑๐) ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตบัญญัติไว้ว่า ตถาคตบัญญัติไว้
ภิกษุเหล่านั้นย่อมไม่ทอดทิ้งกัน ไม่แยกจากกัน ไม่ทำสังฆกรรมแยกจากกัน ไม่สวดปาติโมกข์แยกจากกัน ด้วยวัตถุ ๑๐ ประการนี้
ดูกรอุบาลี สงฆ์ย่อมเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗๘-๗๙
อานันทสังฆเภทสูตร
[๓๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า สังฆเภท สังฆเภท ดังนี้ สงฆ์จะเป็นผู้แตกกัน ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอแล
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมแสดง สิ่งที่ไม่ใช่ธรรม ว่าเป็นธรรม
ย่อมแสดง สิ่งที่เป็นธรรมว่า ไม่ใช่ธรรม ...
ย่อมแสดง สิ่งที่ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ตถาคตบัญญัติไว้
ย่อมแสดง สิ่งที่ตถาคตบัญญัติไว้ว่า ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้
ภิกษุเหล่านั้นย่อมทอดทิ้งกัน ย่อมแยกจากกัน ย่อมทำสังฆกรรมแยกกัน สวดปาติโมกข์แยกจากกัน ด้วยวัตถุ ๑๐ ประการนี้
ดูกรอานนท์ สงฆ์จะเป็นผู้แตกกัน ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล
[๓๘] อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บุคคลผู้ที่ทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน จะประสพผลอะไร พระเจ้าข้า
พ. ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ที่ทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันนั้น จะประสพผล อันเผ็ดร้อน ซึ่งตั้งอยู่ตลอดกัปหนึ่ง
อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ผลอันเผ็ดร้อนซึ่งตั้งอยู่ตลอดกัปหนึ่ง คืออะไร พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ที่ทำลายสงฆ์ ผู้พร้อมเพรียงกันนั้น จะเสวยผลกรรมอยู่ในนรก ตลอดกัปหนึ่ง
บุคคลผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ยินดีแล้วในการแตกแยกตั้งอยู่ในอธรรม เป็นผู้เข้าถึงอบาย เข้าถึงนรก ตั้งอยู่ในนรกนั้นตลอดกัปหนึ่ง ย่อมพลาดจากธรรม เป็นแดนเกษมจากโยคะ ย่อมเสวยกรรมอยู่ในนรกตลอดกัปหนึ่ง เพราะทำลายสงฆ์ ผู้พร้อมเพรียงกันให้แตกกัน
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗๙-๘๐
อานันทสังฆสามัคคีสูตร
[๓๙] ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า สังฆสามัคคี สังฆสามัคคี ดังนี้ สงฆ์จะเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอแล
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่ใช่ธรรม ว่าไม่ใช่ธรรม
ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นธรรม ว่าเป็นธรรม ...
ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคต ไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้
ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคต ได้บัญญัติไว้ว่า ตถาคตได้บัญญัติไว้
ภิกษุเหล่านั้นย่อมไม่ทอดทิ้งกัน ไม่แยกจากกัน ไม่ทำสังฆกรรมแยกกัน ไม่สวดปาติโมกข์แยกกัน ด้วยวัตถุ ๑๐ ประการ นี้ ดูกรอานนท์ สงฆ์ย่อมเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล
[๔๐] อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บุคคลผู้สมานสงฆ์ผู้แตกกันแล้ว ให้พร้อมเพรียงกัน จะประสพผลอะไร พระเจ้าข้า
พ. ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ที่ทำสงฆ์ผู้แตกกันแล้ว ให้พร้อมเพรียงกันนั้น จะประสพ บุญ อันประเสริฐ
อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุญอันประเสริฐคืออะไร พระเจ้าข้า
พ. ดูกรอานนท์ บุคคลผู้สมานสงฆ์ผู้แตกกันแล้ว ให้พร้อมเพรียงกันนั้น จะบันเทิงอยู่ในสวรรค์ ตลอดกัปหนึ่ง
ความพร้อมเพรียงแห่งสงฆ์ เป็นเหตุให้เกิดความสุข และบุคคลผู้อนุเคราะห์ สงฆ์ ผู้พร้อมเพรียงกันแล้ว ผู้ยินดีแล้วในความพร้อมเพรียงกัน ตั้งอยู่ในธรรม ย่อมไม่พลาดจากธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะ ย่อมบันเทิงอยู่ในสวรรค์ ตลอดกัปหนึ่ง เพราะสมานสงฆ์ ให้พร้อมเพรียงกัน
|