พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๖-๑๗
สัมมาทิฐิความเกิดแห่งโลก และสัมมาทิฐิความดับแห่งโลก
กัจจานโคตตสูตร
[๔๒] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระกัจจานโคตต์ เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ที่เรียกว่า สัมมาทิฐิ สัมมาทิฐิ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ จึงจะชื่อว่าสัมมาทิฐิ
[๔๓] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกรกัจจานะ โลกนี้โดยมากอาศัยส่วน ๒ อย่าง คือ
๑
ความมี (สัสสตทิฐิ)
๒
ความไม่มี (อุจเฉททิฐิ)
ก็เมื่อบุคคลเห็น ความเกิดแห่งโลก ด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงแล้ว ความไม่มีในโลก ย่อมไม่มี
เมื่อบุคคลเห็น ความดับแห่งโลก ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงแล้ว ความมีในโลก ย่อมไม่มี
โลกนี้โดยมาก ยังพัวพันด้วย อุบาย (ตัณหา) อุปาทาน และ อภินิเวส (ทิฏฐิ)แต่พระอริยสาวก ย่อมไม่เข้าถึง ไม่ถือมั่น ไม่ตั้งไว้ซึ่งอุบาย และอุปาทานนั้น อันเป็น อภินิเวส และอนุสัย อันเป็นที่ตั้งมั่นแห่งจิตว่า อัตตาของเรา ดังนี้ ย่อมไม่เคลือบแคลง สงสัยว่า
ทุกข์นั่นแหละ เมื่อบังเกิดขึ้น ย่อมบังเกิดขึ้น
ทุกข์เมื่อดับ ย่อมดับ
(เมื่อจะเกิด ทุกข์เท่านั้นย่อมเกิดขึ้น เมื่อจะดับ ทุกข์เท่านั้นย่อมดับ)
พระอริยสาวก นั้น มีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้ โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นเลย ด้วยเหตุ เพียงเท่านี้แล กัจจานะจึงชื่อว่า สัมมาทิฐิ
[๔๔] ดูกรกัจจานะ ส่วนสุดข้อที่ ๑ นี้ว่า สิ่งทั้งปวงมีอยู่ ส่วนสุดข้อที่ ๒ นี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่มี ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้ง ๒ นั้นว่า
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ ... ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้
เพราะอวิชชานั่นแหละดับ ด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะ สังขารดับ วิญญาณจึงดับ ... ความดับ แห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้
(ตถาคตแสดงสายกลาง ว่าทุกข์เกิดขึ้น ย่อมมีเหตุเกิด..ปฏิจจสายเกิด)
(ตถาคตแสดงสายกลาง ว่าทุกข์ดับลง ย่อมมีเหตุดับ..ปฏิจจสายดับ)
|