(ฉบับหลวง)
ภิกขุนีวิภังค์ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๓ หน้า ๑๙๘ - ๑๙๘
จิตตาคารวรรค สิกขาบทที่ ๑๐
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๓๒๕] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ภิกษุณีฉัพพัคคีย์*พากัน สอน ติรัจฉานวิชา. คนทั้งหลายพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุณี ทั้งหลายจึงได้สอนติรัจฉานวิชา เหมือนเหล่าสตรีคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า?
*ฉัพพัคคีย์ (พระพวก ๖ ที่ชอบก่อเรื่องเสียหาย ทำให้พระพุทธเจ้าต้องทรงบัญญัติ สิกขาบท หลายข้อ)
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็น ผู้มักน้อย ...ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงได้สอน ติรัจฉานวิชาเล่า ...
ทรงสอบถาม
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ภิกษุณีฉัพพัคคีย์สอนติรัจฉานวิชาจริงหรือ? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริงพระพุทธเจ้าข้า
ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณี ฉัพพัคคีย์ จึงได้พากันสอนติรัจฉานวิชาเล่า การกระทำของพวกนางนั่น ไม่เป็นไปเพื่อ ความเลื่อมใส ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ...
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลายจงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๑๐๕. ๑๐. อนึ่ง ภิกษุณีใด สอนติรัจฉานวิชา เป็นปาจิตตีย์.
.............................................................................................................
สิกขาบทวิภังค์
[๓๒๖] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ... บทว่า ภิกษุณี ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ชื่อว่า ภิกษุณีที่ทรงประสงค์ ในอรรถนี้
ที่ชื่อว่า ติรัจฉานวิชา ได้แก่ ศิลปวิทยาการนอกพระศาสนาชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่กอปรด้วยประโยชน์
บทว่า สอน ความว่า สอนโดยบท ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทุกๆบท สอนโดย อักขระ ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์ ทุกๆ ตัวอักขระ
อนาปัตติวาร
[๓๒๗] สอนหนังสือ ๑
สอนวิชาท่องจำ ๑
สอนวิชาป้องกันเพื่อประสงค์คุ้มครองตัว ๑
วิกลจริต ๑
อาทิกัมมิกา ๑
ไม่ต้องอาบัติแล
ฉบับมหาจุฬาฯ
ภิกขุนีวิภังค์ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ๒๖๒-๒๖๓
จิตตาคารวรรค สิกขาบทที่ ๑๐
ว่าด้วยการสอนดิรัจฉานวิชา
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๑๐๑๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ สอนดิรัจฉานวิชา ชาวบ้าน ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงสอนดิรัจฉานวิชาเหมือนหญิง คฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จึงสอน ดิรัจฉานวิชาเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ ไปกราบทูล พระผู้มีพระภาค ให้ทรงทราบทรงประชุมสงฆ์ บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรงสอบถาม ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ สอนดิรัจฉานวิชา จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณี ฉัพพัคคีย์ จึงสอนดิรัจฉานวิชาเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำ อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยัง ไม่เลื่อมใส ให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่ง ให้ภิกษุณีทั้งหลาย ยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๑๐๑๘] ก็ภิกษุณีใดสอนดิรัจฉานวิชา ต้องอาบัติปาจิตตีย์
.............................................................................................................
สิกขาบทวิภังค์
[๑๐๑๙] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาค ทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ดิรัจฉานวิชา หมายถึง ศิลปวิทยาอย่างใดอย่างหนึ่งนอกพระศาสนา ที่ไม่มีประโยชน์
คำว่า สอน คือ สอนเป็นบท ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ บท สอนเป็นอักษรต้อง อาบัติ ปาจิตตีย์ทุกๆ ตัวอักษร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๐๒๐] ๑. ภิกษุณีสอนวิชาเขียนหนังสือ
๒. ภิกษุณีสอนการท่องจำ๑-
๓. ภิกษุณีสอนพระปริตรเพื่อคุ้มครอง
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
พระปริตต์ พบในชาดก 2 พระสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๗ สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑ หน้าที่ ๕๔
๙. โมรชาดก
ว่าด้วยนกยูงเจริญพระปริตต์
[๑๖๗] พระอาทิตย์นี้ เป็นดวงตาของโลก เป็นเจ้าแห่งแสงสว่างอย่างเอก กำลังอุทัยขึ้นมา ทอแสงอร่ามสว่างไปทั่วปฐพี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอนอบน้อม พระอาทิตย์นั้น ซึ่งทอแสงอร่ามสว่างไปทั่วปฐพี ข้าพเจ้าอันท่านช่วยคุ้มกันแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดวัน พราหมณ์เหล่าใด ผู้ถึงฝั่งแห่งเวทในธรรมทั้งปวง ขอพรามหณ์เหล่านั้น จงรับความนอบน้อมของข้าพเจ้า และขอจงคุ้มครองข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระโพธิญาณ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรม ของท่าน ผู้หลุดพ้นแล้ว นกยูงนั้นเจริญ พระปริตต์ นี้แล้ว จึงเที่ยวไปแสวงหาอาหาร
[๑๖๘] พระอาทิตย์นี้ เป็นดวงตาของโลก เป็นเจ้าแห่งแสงสว่างอย่างเอก ส่องแสงสว่างไปทั่วปฐพี แล้วอัสดงคตไป เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอนอบน้อม พระอาทิตย์นั้น ซึ่งส่องสว่างไปทั่วปฐพี ข้าพเจ้าอันท่านช่วยคุ้มครองแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดคืน พราหมณ์เหล่าใด ผู้ถึงฝั่งแห่งเวทในธรรมทั้งปวง ขอพราหมณ์เหล่านั้น จงรับความนอบน้อมของข้าพเจ้า และขอจงคุ้มครองข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระโพธิญาณ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรม ของท่านผู้หลุดพ้นแล้ว นกยูงนั้นเจริญพระปริตต์นี้แล้วจึงสำเร็จการอยู่
.................................................................................................................................
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๗ สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑ หน้าที่ ๗๖
๓. ขันธปริตตชาดก
ว่าด้วยพระปริตต์ป้องกันสัตว์ร้ายต่างๆ
[๒๕๕] ขอไมตรีจิตของเราจงมีกับตระกูลพระยางูชื่อว่า วิรูปักขะ ขอไมตรีจิต ของเรา จงมีกับตระกูลพระยางูชื่อว่า เอราปถะ ขอไมตรีจิตของเรา จงมีกับตระกูล พระยางู ชื่อว่า ฉัพยาปุตตะ (และ) ขอไมตรีจิตของเรา จงมีกับตระกูลพระยางูชื่อว่า กัณหาโคตมกะ ขอไมตรีจิตของเราจงมีกับสัตว์ที่ไม่มีเท้า สัตว์ที่มี ๒ เท้า สัตว์ที่มี ๔ เท้า สัตว์ที่มีเท้ามากขอสัตว์ที่ไม่มีเท้า สัตว์ที่มี ๒ เท้า สัตว์ที่มี ๔ เท้า สัตว์ที่มีเท้ามาก อย่าได้เบียดเบียนเราเลย ขอสัตว์ผู้ข้องอยู่ สัตว์ที่มีลมปราณ สัตว์ผู้เกิดแล้วหมดทั้งสิ้น ด้วยกัน จงประสบพบแต่ความเจริญทั่วกัน ความทุกข์อันชั่วช้า อย่าได้มาถึงสัตว์ผู้ใด ผู้หนึ่งเลย
[๒๕๖] พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีพระคุณหาประมาณมิได้ บรรดาสัตว์ เลื้อยคลาน คือ งู แมลงป่อง ตะขาบ แมลงมุม ตุ๊กแก และหนูเป็นสัตว์ประมาณได้ เราได้ทำการรักษาตัวแล้ว ป้องกันตัวแล้ว ขอสัตว์ทั้งหลายจงพากันหลีกไป ข้าพเจ้านั่น ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค ขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๗ พระองค์
หมายเหตุ
1.พระปริตต์ป้องกันสัตว์ร้ายต่างๆทั้งสองพระสูตร ไม่ได้กล่าวถึงการทำวัตถุมงคลป้องกัน
2.ชาดกในพระไตรปิฎกทั้งหมด เป็นเรื่องแต่งขึ้นมาภายหลัง ไม่ได้เป็นคำสอนของพระศาสดา
รัตนสูตร
เป็นอรรถกถาในพระไตรปิฎกกล่าวว่าพระผู้มีพระภาคให้พระอานนท์ทำน้ำปริตร-น้ำมนต์ คลิก
(อรรถกถาคือคำแต่งใหม่ ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า)
การที่มีผู้อ้างว่าการทำ น้ำมนต์ หรือน้ำพระปริตร เพื่อขจัดปัดเป่าภัยพิบัติ ว่าเป็นสิ่งที่ พระพุทธเจ้าบัญญัตินั้น ไม่เป็นความจริง เพราะขัดแย้งกับ คำสอนของพระองค์ที่ตรัส ในเรื่อง กรรม ว่าสรรพสิ่ง ล้วนเกิดมาจากกรรม และในเนื้อหาการพรรณนารัตนสูตร ก็ไม่ใช่ลีลาการใช้ภาษาของ พระพุทธเจ้า
พรรณนารัตนสูตร
ประโยชน์แห่งบทตั้ง
อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ รัตนสูตรในขุททกปาฐะ
บัดนี้ ถึงลำดับการพรรณนาความแห่ง รัตนสูตร ที่ยกขึ้นตั้งในลำดับ ต่อจาก มงคลสูตร นั้น โดยนัยเป็นต้นว่า ยานีธ ภูตานิ. ข้าพเจ้าจักกล่าวประโยชน์ แห่งการตั้งรัตนสูตรนั้น ไว้ในที่นี้ ต่อจากนั้น เมื่อแสดงการหยั่งลงสู่ความแห่งสูตรนี้ ทางนิทานวจนะอัน บริสุทธิ์ดี เหมือนการลงสู่น้ำในแม่น้ำและหนองเป็นต้น ทางท่าน้ำ ที่หมดจดดี ประกาศนัยนี้ว่า สูตรนี้ ผู้ใดกล่าว กล่าวเมื่อใด กล่าวที่ไหน กล่าวเพราะ เหตุใด แล้วจึงทำการพรรณนาความแห่งรัตนสูตรนี้
ในสองสูตรนั้น เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงการรักษาตัวเอง และการ กำจัด อาสวะทั้งหลายที่มีการทำไม่ดี และการไม่ทำดีเป็นปัจจัยด้วยมงคลสูตร ส่วนสูตรนี้ ให้สำเร็จการรักษาผู้อื่น และการกำจัดอาสวะทั้งหลายที่มีอมนุษย์ เป็นต้น เป็นปัจจัย ฉะนั้น สูตรนี้จึงเป็นอันตั้งไว้ในลำดับต่อจากมงคลสูตรนั้นแล ประโยชน์ แห่งการตั้งรัตนสูตรนั้นไว้ในที่นี้เท่านี้ก่อน
เรื่องกรุงเวสาลี
บัดนี้ ในข้อว่า เยน วุตฺตํ ยทา ยตฺถ ยสฺมา เจตํ นี้ ผู้ทักท้วงกล่าวว่า ก็สูตรนี้ผู้ใดกล่าว กล่าวเมื่อใด กล่าวที่ใด และกล่าวเพราะเหตุใด. ขอชี้แจงดังนี้ ความจริงสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์เดียวตรัส พระสาวกเป็นต้นหากล่าวไม่. ตรัสเมื่อใด. ตรัสเมื่อกรุงเวสาลีถูกอุปัทวะทั้งหลาย ภัยเป็นต้นเข้าขัดขวาง พระผู้มีพระภาคเจ้า อันพวกเจ้าลิจฉวีทูลร้อง ขอนำเสด็จมาแต่กรุงราชคฤห์ เมื่อนั้น รัตนสูตรนั้น พระองค์ก็ตรัสเพื่อบำบัดอุปัทวะเหล่านั้นในกรุงเวสาลี
การวิสัชนาปัญหาเหล่านั้นโดยสังเขปมีเท่านี้. ส่วนพิสดาร พระโบราณาจารย์ทั้งหลาย พรรณนาไว้ นับแต่เรื่องกรุงเวสาลีเป็นต้นไป.
ดังได้สดับมา พระอัครมเหสี ของพระเจ้า กรุงพาราณสี ทรงพระครรภ์. พระนางทรงทราบแล้วก็ได้กราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ. พระราชาก็พระราชทานเครื่องบริหารพระครรภ์. พระนางได้รับบริหารพระครรภ์ มาเป็น อย่างดี ก็เสด็จเข้าสู่เรือนประสูติ ในเวลาพระครรภ์แก่. เหล่าท่านผู้มีบุญย่อมออกจาก ครรภ์ในเวลาใกล้รุ่ง
ก็ในบรรดาท่านผู้มีบุญเหล่านั้น พระอัครมเหสีพระองค์นั้นก็เป็นผู้มีบุญพระองค์หนึ่ง ด้วยเหตุนั้น เวลาใกล้รุ่ง พระนางก็ประสูติชิ้นเนื้อ เสมือนดอกชบามีพื้นกลีบสีแดง ดังครั่ง ต่อจากนั้น พระเทวีพระองค์อื่นๆ ก็ประสูติพระโอรสเสมือนรูปทอง, พระอัครมเหสี ประสูติชิ้นเนื้อ ดังนั้น พระนางทรงดำริว่า “เสียงติเตียนจะพึงเกิดแก่เรา ต่อเบื้องพระพักตร์ของพระราชา” เพราะทรงกลัวการติเตียนนั้น จึงทรงสั่งให้ใส่ชิ้นเนื้อ นั้นลงในภาชนะใบหนึ่ง เอาภาชนะอีกใบหนึ่งครอบปิดไว้ ประทับตรา พระราชลัญจกรแล้ว ให้ลอยไปตามกระแสแม่น้ำคงคา
พอเจ้าหน้าที่ทั้งหลายทิ้งลงไป เทวดาทั้งหลายก็จัดการอารักขา ทั้งเอายางมหาหิงคุ์ จารึกแผ่นทอง ผูกติดไว้ที่ภาชนะนั้นว่า พระราชโอรสธิดาของพระอัครมเหสี แห่ง พระเจ้า กรุงพาราณสี. ต่อนั้น ภาชนะนั้นมิได้ถูกภัยคือคลื่นรบกวน ก็ลอยไปตามกระแส แม่น้ำคงคา
สมัยนั้น ดาบสรูปหนึ่งอาศัยครอบครัวของคนเลี้ยงโค อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคา. เช้าตรู่ ดาบสรูปนั้นก็ลงสู่แม่น้ำคงคา แลเห็นภาชนะนั้นลอยมา ก็ถือเอาด้วยบังสุกุลสัญญา ด้วยเข้าใจว่าเป็นของที่เขาทิ้งแล้ว. ต่อนั้น ก็แลเห็นแผ่นจารึกอักษร และตรา พระราชลัญจกร ก็แก้ออกเห็นชิ้นเนื้อนั้น ครั้นเห็นแล้ว ดาบสรูปนั้นก็คิดว่า เห็นที จะเป็นสัตว์เกิดในครรภ์ ดังนั้น จึงไม่เน่าเหม็น ก็นำชิ้นเนื้อนั้นไปยังอาศรม วางไว้ ในที่สะอาด
ล่วงไปครึ่งเดือน ชิ้นเนื้อก็แยกเป็น ๒ ชิ้น ดาบสเห็นแล้วก็วางไว้อย่างดี. ต่อจากนั้น ล่วงไปอีกครึ่งเดือน ชิ้นเนื้อแต่ละชิ้นก็เกิดปมชิ้นละ ๕ สาขาเพื่อเป็นมือ เท้าและศีรษะ ดาบสก็บรรจงวางไว้เป็นอย่างดีอีก. ต่อนั้น อีกครึ่งเดือน ชิ้นเนื้อชิ้นหนึ่งก็เป็นทารก เสมือนรูปทอง อีกชิ้นหนึ่งก็เป็นทาริกา ดาบสเกิดความรักดังบุตรในทารกทั้งสองนั้น. น้ำนมก็บังเกิดจากหัวนิ้วแม่มือของดาบสนั้น ตั้งแต่นั้นมา ดาบสได้น้ำนมและอาหาร มาก็บริโภคอาหาร หยอดน้ำนมในปากของทารกทั้งสอง. สิ่งใดๆ เข้าไปในท้องของ ทารกนั้น สิ่งนั้นๆ ทั้งหมดก็จะแลเห็นเหมือนเข้าไปในภาชนะทำด้วยแก้วมณี.
ทารกทั้งสอง ไม่มีผิวอย่างนี้. แต่อาจารย์พวกอื่นๆกล่าวว่า ผิวของทารกทั้งสองนั้น ใสถึงกันและกัน เหมือนถูกร้อยด้ายวางไว้. ทารกเหล่านั้นจึงปรากฏชื่อว่า ลิจฉวี เพราะไม่มีผิว หรือเพราะมีผิวใส ด้วยประการฉะนี้
ดาบสเลี้ยงทารก พอตะวันขึ้นก็เข้าบ้านแสวงหาอาหาร ตอนสายๆ ก็กลับ. คนเลี้ยงโค ทั้งหลาย รู้ถึงการขวนขวายนั้นของดาบสนั้น ก็กล่าวว่า ท่านเจ้าข้า การเลี้ยงทารกเป็น กังวลห่วงใยของเหล่านักบวช ขอท่านโปรดให้ทารกแก่พวกเราเถิด พวกเราจะช่วยกัน เลี้ยง ขอท่านโปรดทำกิจกรรมของท่านเถิด. ดาบสก็ยอมรับ
วันรุ่งขึ้น พวกคนเลี้ยงโค ก็ช่วยกันทำหนทางให้เรียบแล้วโรยทราย ยกธง มีดนตรี บรรเลงพากันมายังอาศรม. ดาบสกล่าวว่า ทารกทั้งสองมีบุญมาก พวกท่านจงช่วยกัน เลี้ยงให้เจริญวัย ด้วยความไม่ประมาท ครั้นให้เจริญวัยแล้ว จงจัดการอาวาหวิวาหกัน และกัน ให้พระราชาทรงยินดีด้วยปัญจโครส จงเลือกหาภูมิประเทศช่วยกันสร้าง พระนครขึ้น จงอภิเษกพระกุมารเสีย ณ ที่นั้น แล้วมอบทารกให้. พวกคนเลี้ยงโครับคำ แล้วก็นำทารกไปเลี้ยงดู
ทารกทั้งสองเจริญเติบโตก็เล่นการเล่น ใช้มือบ้าง เท้าบ้าง ทุบถีบพวกเด็กลูกของคน เลี้ยงโคอื่นๆ ในที่ทะเลาะกัน เด็กลูกคนเลี้ยงโคเหล่านั้นก็ร้องไห้ ถูกมารดาบิดา ถามว่าร้องไห้ทำไม ก็บอกว่า เจ้าเด็กไม่มีพ่อแม่ที่ดาบสเลี้ยงเหล่านี้ ข่มเหงเรา.
แต่นั้น มารดาบิดาของเด็กเหล่านั้นก็กล่าวว่า ทารกสองคนนี้ชอบข่มเหงให้เด็กอื่นๆ เดือดร้อน จะไม่สงเคราะห์มัน ละเว้นมันเสีย. เขาว่าตั้งแต่นั้นมา ประเทศที่นั้น จึงถูกเรียกว่า วัชชี ขนาด ๓๐๐ โยชน์
ครั้งนั้น พวกคนเลี้ยงโคทำพระราชาให้ยินดีแล้ว เลือกเอาประเทศที่นั้น สร้างพระนคร ลงในประเทศนั้น แล้วอภิเษกพระกุมาร ซึ่งพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา ตั้งเป็นพระราชา ได้ทำการวิวาหมงคลกับทาริกาของพระองค์ ได้วางกติกากฎเกณฑ์ ไว้ว่า จะไม่นำ ทาริกา มาจากภายนอก และไม่ให้ทาริกาจากที่นี้แก่ใครๆ.
โดยการอยู่ร่วมกันครั้งแรกของพระกุมารกุมารีนั้น ก็เกิดทารกคู่หนึ่ง เป็นธิดา ๑ โอรส ๑ โดยอาการอย่างนี้ ก็เกิดเป็นคู่ๆ ถึง ๑๖ ครั้ง. แต่นั้น เมื่อทารกเหล่านั้นเจริญวัย โดยลำดับ นครนั้นก็ไม่พอที่จะบรรจุอาราม อุทยาน สถานที่อยู่ บริวารและสมบัติ จึงล้อมรอบด้วยประการ ๓ ชั้น ระหว่างคาวุต หนึ่งๆ เพราะนครนั้นถูกขยายกว้าง ออกบ่อยๆ จึงเกิดนามว่า เวสาลี นี้แล
การนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้า
ก็กรุงเวสาลีนี้ ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จอุบัติ ก็มั่นคงไพบูลย์ ด้วยว่า ในกรุงเวสาลี นั้น มีเจ้าอยู่ถึง ๗,๗๐๗ พระองค์. พระยุพราชเสนาบดีและภัณฑาคาริก เป็นต้น ก็เหมือนกัน เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่าสมัยนั้นแล กรุงเวสาลีมั่นคงเจริญ มีคนมาก มีคนเกลื่อนกล่น มีอาหารหาได้ง่าย มีปราสาท ๗,๗๐๗ หลังมีเรือนยอด ๗,๗๐๗ หลัง มีอาราม ๗,๗๐๗ อาราม มีสระโบกขรณี ๗,๗๐๗ สระ
สมัยต่อมา กรุงเวสาลีนั้นเกิดทุพภิกขภัย ฝนแล้งข้าวกล้าตายนึ่ง. คนยากคนจน ตายก่อน เขาทิ้งคนเหล่านั้นไปนอกนคร. พวกอมนุษย์ได้กลิ่นคนตาย ก็พากันเข้า พระนคร
แต่นั้น ผู้คนก็ตายเพิ่มมากขึ้น. เพราะความปฏิกูลนั้น อหิวาตกโรค ก็เกิดแก่สัตว์ ทั้งหลาย. ชาวกรุงเวสาลีถูกภัย ๓ อย่าง คือทุพภิกขภัย อมนุสสภัย และ โรคภัย เบียดเบียน ก็เข้าไปเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า ขอเดชะ เกิดภัย ๓ อย่าง ในพระนครนี้ แล้ว พระเจ้าข้า แต่ก่อนนี้ นับได้ ๗ ชั่วราชสกุล ไม่เคยเกิดภัยเช่นนี้เลย ชะรอยพระองค์ ไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรม บัดนี้ ภัยนั้นจึงเกิดขึ้น.
พระราชาทรงประชุมเจ้าลิจฉวีทุกพระองค์ในที่ว่าราชการ ตรัสว่า ขอได้โปรดพิจารณา ทบทวนข้อที่เราไม่ตั้งอยู่ในธรรมเถิด
เจ้าลิจฉวีเหล่านั้น พิจารณาทบทวนถึงประเพณีทุกอย่าง ก็ไม่ทรงเห็นข้อบกพร่องไรๆ แต่นั้น ก็ไม่เห็นโทษขององค์พระราชา จึงพากันคิดว่า ภัยนี้ของเรา จะระงับไปได้ อย่างไร.
ในที่ประชุมนั้น เจ้าลิจฉวีบางพวก อ้างถึงศาสดาทั้ง ๖ ว่า พอศาสดาเหล่านี้ย่างเท้าลง เท่านั้น ภัยก็จะระงับไป
บางพวกตรัสว่า ได้ยินว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติแล้วในโลก พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงแสดงธรรม เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ปวงสัตว์ ทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก พอพระองค์ย่างพระบาทลงเท่านั้น ภัยทุกอย่าง ก็จะระงับไป
ด้วยเหตุนั้น เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นจึงดีพระทัย ตรัสว่า
ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น บัดนี้ ประทับอยู่ที่ไหนเล่า พวกเราส่งคนไปเชิญจะไม่เสด็จมาน่ะสิ.
เจ้าลิจฉวีอีกพวกหนึ่งตรัสว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทรงเอ็นดูสัตว์ เหตุไร จะไม่เสด็จมาเล่า. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น บัดนี้ ประทับอยู่กรุงราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสาร ทรงอุปฐากอยู่ เกรงท้าวเธอจะไม่ให้เสด็จมา
ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น เราจะทูลพระเจ้าพิมพิสารให้ทรงเข้าพระทัย แล้วนำพระผู้มีพระภาค เจ้าเสด็จมา แล้วทรงมอบเครื่องบรรณาการเป็นอันมาก ส่งเจ้าลิจฉวีสองพระองค์ พร้อมด้วยกองกำลังขนาดใหญ่ ไปยังราชสำนักพระเจ้าพิมพิสาร โดยสั่งว่า ขอท่าน ทูลพระเจ้าพิมพิสารให้เข้าพระทัย แล้วนำพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา เจ้าลิจฉวีทั้งสอง พระองค์ เสด็จไปถวายเครื่องบรรณาการแด่พระเจ้าพิมพิสาร แล้วแจ้งให้ทรงทราบ เรื่องราวแล้วทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์ทรงพระกรุณา โปรดส่งพระผู้มี พระภาคเจ้า เสด็จมายังนครของข้าพระองค์ด้วยเถิด.
พระราชาไม่ทรงรับรอง ตรัสว่า พวกท่านทรงรู้เอาเองเถิด
เจ้าลิจฉวีก็ทูลรับว่า ดีละ พระเจ้าข้า แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้ว กราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภัย ๓ อย่างเกิดขึ้นในนครของข้าพระองค์ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงเสด็จมาไซร้ ความสวัสดีก็จะพึงมีแก่พวกข้าพระองค์ พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาว่า เมื่อตรัสรัตนสูตรในกรุงเวสาลี การอารักขาจักแผ่ไป แสนโกฏิจักรวาล จบสูตร สัตว์ ๘๔,๐๐๐ จักตรัสรู้ธรรม แล้วจึงทรงรับนิมนต์.
ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว โปรดให้ โฆษณาไปในพระนครว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์ เสด็จไปกรุงเวสาลี แล้ว เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ ทรงรับ จะเสด็จไปกรุงเวสาลีหรือ พระเจ้าข้า.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ถวายพระพร มหาบพิตร. ท้าวเธอทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น โปรดทรงรอจนกว่าจะจัดแจงหนทางถวายนะ พระเจ้าข้า
ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงทำพื้นที่ ๕ โยชน์ ระหว่างกรุงราชคฤห์และแม่น้ำ คงคา ให้ราบเรียบแล้ว ให้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงเวลาที่จะเสด็จไป พระผู้มีพระภาค เจ้า อันภิกษุ ๕๐๐ รูป แวดล้อมแล้วเสด็จไป พระราชาทรงเอาดอกไม้ ๕ สีโปรยหนทาง ๕ โยชน์เพียงหัวเข่า ให้ยกธงผ้า หม้อน้ำและต้นกล้วยเป็นต้น ให้กั้นเศวตฉัตร ๒ ชั้นสำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า ฉัตรชั้นเดียวสำหรับพระภิกษุแต่ละรูป ทรงทำการบูชา ด้วยดอกไม้ และของหอมเป็นต้น พร้อมด้วยราชบริพารของพระองค์ ให้พระผู้มี พระภาคเจ้า ประทับอยู่ในวิหารหลังหนึ่งๆ ถวายมหาทาน ทรงนำเสด็จสู่ฝั่งแม่น้ำคงคา ๕ วัน
ณ ที่นี้ ทรงประดับเรือด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง แล้วทรงส่งสาสน์ไปถวายเจ้าลิจฉวี กรุงเวสาลีว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแล้ว ขอเจ้าลิจฉวีทุกพระองค์ ตกแต่งหนทาง ถวายการรับเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด
เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นตกลงกันว่าจะทำการบูชาเป็นสองเท่า ทำพื้นที่ ๓ โยชน์ระหว่าง กรุงเวสาลีและแม่น้ำคงคาให้เรียบร้อย จัดเศวตฉัตร ๔ ชั้นสำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า สำหรับพระภิกษุแต่ละรูปๆ ละ ๒ ชั้น ทำการบูชา เสด็จมาคอยอยู่
ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงทำเรือขนาน ๒ ลำแล้วสร้างมณฑป ประดับด้วย พวงดอกไม้ ปูลาดพุทธอาสน์ทำด้วยรัตนะล้วน ณ มณฑปนั้น.
ทีนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์นั้น.
แม้ภิกษุ ๕๐๐ รูปก็ลงเรือนั่งกันตามสมควร พระราชาส่งเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ลงน้ำประมาณแต่พระศอ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอยู่กัน ริมฝั่งแม่น้ำคงคานี้นี่แหละ จนกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จกลับมา แล้วก็เสด็จกลับ
เทวดาเบื้องบนจนถึงอกนิษฐภพ ได้พากันทำการบูชา. นาคราชทั้งหลายมีกัมพลนาค และอัสสตรนาคเป็นต้น ซึ่งอาศัยอยู่ใต้แม่น้ำคงคา ก็พากันทำการบูชา.
ด้วยการบูชา ใหญ่ อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปทางแม่น้ำคงคา สิ้นระยะทางไกลประมาณ โยชน์หนึ่ง ก็เข้าเขตแดนของพวกเจ้าลิจฉวี กรุงเวสาลี
ต่อนั้น พวกเจ้าลิจฉวีก็ทำการบูชาเป็น ๒ เท่าที่พระเจ้าพิมพิสารทรงทำการบูชาออกไป รับเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงในน้ำประมาณแค่พระศอ.
ขณะนั้นเอง ครู่นั้นเอง มหาเมฆมียอดคลุมด้วยความมืด มีแสงฟ้าแลบเคลื่อนตัวไป ส่งเสียงคำรามครืนครั่นก็ตั้งขึ้นทั้งสี่ทิศ.
ลำดับนั้น พอพระผู้มีพระภาคเจ้า ยกพระบาทแรกวางลงริมฝั่งแม่น้ำคงคา ฝนโบกขรพรรษ ก็โปรยเม็ดลงมา ชนเหล่าใดต้องการจะเปียก ชนเหล่านั้นเท่านั้น ย่อมเปียก ผู้ไม่ต้องการเปียกก็ไม่เปียก ในที่ทุกแห่ง น้ำย่อมไหลไปเพียงแค่เข่า แค่ขา แค่สะเอว แค่คอ ซากศพทั้งปวงถูกน้ำพัดส่งลงสู่แม่น้ำคงคา พื้นดินก็สะอาดสะอ้าน
พวกเจ้าลิจฉวีให้พระผู้มีพระเจ้าประทับอยู่ทุกๆ หนึ่งโยชน์ ในระหว่างทางถวาย มหาทาน ทรงทำการบูชาเป็นทวีคูณ ๓ วัน จึงนำเสด็จสู่กรุงเวสาลี
ทรงให้พระอานนท์เรียนรัตนสูตรป้องกันภัย (รัตนปริตร)
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงกรุงเวสาลี ท้าวสักกะจอมทวยเทพ อันหมู่เทพห้อมล้อม ก็เสด็จมาถึง. พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนใกล้ประตูพระนคร ทรงเรียกท่าน พระอานนท์มา สั่งว่า ดูก่อนอานนท์ เธอจงเรียนรัตนสูตรนี้ ถือเครื่องประกอบ พลีกรรม เที่ยวเดินไประหว่างปราการ ๓ ชั้นแห่งกรุงเวสาลี กับพวกเจ้าลิจฉวีราชกุมาร ทำพระปริตร แล้วได้ตรัสรัตนสูตร
การวิสัชนาปัญหาเหล่านี้ว่า ก็พระสูตรนี้ ผู้ใดกล่าว กล่าวเมื่อใด กล่าวที่ใดและกล่าว เพราะเหตุใด ท่านโบราณาจารย์ทั้งหลายพรรณนาไว้พิสดาร ตั้งแต่เรื่องกรุงเวสาล ีเป็นต้นไป ด้วยประการฉะนี้
ดังนั้น ในวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จถึงกรุงเวสาลีนั่นเอง รัตนสูตรนี้ที่พระผู้มี พระภาคเจ้า ตรัสใกล้ประตูกรุงเวสาลี เพื่อกำจัดอุปัทวะเหล่านั้น ท่านพระอานนท์ ก็เรียนเอา เมื่อจะกล่าวเพื่อเป็นปริตร [ป้องกันอุปัทวะ] จึงเอาบาตรของพระผู้มีพระภาค เจ้าตักน้ำมา เดินประพรมไปทั่วพระนคร
พอพระเถระกล่าวว่า ยงฺกิญฺจิ เท่านั้น พวกอมนุษย์ที่อาศัยกองขยะและที่ฝาเรือนเป็นต้น ซึ่งยังไม่หนีไปในตอนแรก ก็พากันหนีไปทางประตูทั้ง ๔.
ประตูทั้งหลายก็ไม่มีที่ว่าง อมนุษย์บางพวก เมื่อไม่ได้ที่ว่างที่ประตูทั้งหลาย ก็ทลาย กำแพงเมืองหนีไป. พอพวกอมนุษย์พากันไปแล้ว ที่เนื้อตัวของพวกมนุษย์ทั้งหลาย โรคก็สงบไป พวกมนุษย์ทั้งหลาย ก็พากันออกมาบูชาพระเถระด้วยดอกไม้ ของหอม เป็นต้นทุกอย่าง มหาชนเอาของหอมทุกอย่างฉาบทาสัณฐาคารที่ประชุม ท่ามกลาง พระนคร ทำเพดานขจิตด้วยรัตนะ ประดับด้วยเครื่องประดับทั้งปวง ปูพุทธอาสน์ลง ณ ที่นั้นแล้วนำเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ามา
พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าสู่สัณฐาคาร ประทับนั่งเหนืออาสนะที่เขาปูไว้.
ทั้งภิกษุสงฆ์ คณะเจ้าและมนุษย์ทั้งหลายก็นั่ง ณ อาสนะที่เหมาะที่ควร.
แม้ท้าวสักกะ จอมทวยเทพก็ประทับนั่งใกล้กับเทวบริษัท ในเทวโลกทั้งสอง ทั้งเทวดา อื่นๆ ด้วย.
แม้ท่านพระอานนทเถระ ก็เที่ยวเดินไปทั่วกรุงเวสาลี ทำอารักขาแล้ว ก็มาพร้อมกับชาว กรุงเวสาลี นั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง
ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสรัตนสูตรนั้นแหละแก่ทุกคนแล.
ก็มาติกา หัวข้อใด ข้าพเจ้าตั้งไว้ว่า ข้าพเจ้าจักประกาศนัยนี้ว่า รัตนสูตรนี้ผู้ใดกล่าว กล่าวเมื่อใด กล่าว ที่ใด และกล่าวเพราะเหตุใด มาติกานั้นเป็นอันข้าพเจ้ากล่าวไว้ พิสดารแล้วโดยประการ ทั้งปวง ด้วยถ้อยคำมีประมาณเท่านี้
พรรณนาคาถาว่า ยานีธ
บัดนี้จะเริ่มพรรณนาความ เพราะข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ว่า จักพรรณนาความแห่ง รัตนสูตร นั้น แต่อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า พระผู้พระภาคเจ้าตรัส ๕ คาถาต้น ที่เหลือท่าน พระอานนทเถระกล่าว จะอย่างไรก็ตาม ประโยชน์อะไรของเราด้วยคาถาเล็กน้อย ที่ยังไม่ได้ตรวจตรานี้ ข้าพเจ้าจักพรรณนาความแห่งรัตนสูตรนี้ แม้โดยประการทั้งปวง
จะพรรณนาคาถาแรกว่า ยานีธ ภูตานิ เป็นต้น. ในคาถาแรกนั้น บทว่า ยานิ ได้แก่ เช่นใด ไม่ว่าจะมีศักดิ์น้อยหรือศักดิ์มาก. บทว่า อิธ แปลว่า ในประเทศนี้ พระผู้มีพระภาค เจ้าตรัสหมายถึง สถานที่ประชุมในขณะนั้น
ในบทว่า ภูตานิ ภูตศัพท์ ใช้หมายถึง สิ่งที่มีอยู่ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างว่า ภูตสฺมึ ปาจิตฺติยํ เป็นอาบัติปาจิตตีย์ เพราะมีจริง.
๑-
ใช้หมายถึง ขันธปัญจก ได้ในประโยค เป็นต้น อย่างนี้ว่า ภูตมิทํ ภิกฺขเว สมนุปสฺสถ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงพิจารณาเห็นขันธปัญจกนี้.
๒-
ใช้หมายถึง รูป มีปฐวีธาตุเป็นต้น ๔ อย่าง ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า จตฺตาโร โข ภิกฺขุ มหาภูตา เหตุ ดูก่อนภิกษุ มหาภูตรูป ๔ แลเป็นเหตุ.
๓-
ใช้หมายถึง พระขีณาสพ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า โย จ กาลฆโส ภูโต ก็พระขีณาสพใดแล กินกาลเวลา.
๔-
ใช้หมายถึง สรรพสัตว์ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า สพฺเพว นิกฺขิปิสฺสนฺติ ภูตา โลเก สมุสฺสยํ สรรพสัตว์จักทอดทิ้งเรือนร่างไว้ในโลก.
๕-
ใช้หมายถึง ต้นไม้เป็นต้น ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า ภูตคามปาตพฺยตาย ในเพราะพรากภูตคาม.
๖-
ใช้หมายถึง หมู่สัตว์ภายใต้เทพชั้นจาตุมมหาราช ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า ภูตํ ภูตโต สญฺชานาติ จำได้ซึ่งหมู่สัตว์โดยเป็นหมู่สัตว์
๗-
ก็จริง ถึงกระนั้น ภูตศัพท์ พึงทราบว่าใช้ในอรรถว่า อมนุษย์ โดยไม่ต่างกัน
...ฯลฯ
|