เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

บัญญัติธรรม ๕ ประการ ของลัทธิอื่น เปรียบเหมือนคนตาบอดเข้าแถวต่อๆกัน
1759
  (ย่อ)

บัญญัติธรรม ๕ ประการ ของลัทธิอื่น
พราหมณ์ทั้งหลาย
ย่อมบัญญัติธรรมข้อที่ ๑ คือ สัจจะเพื่อทำบุญ เพื่อยินดีกุศล
ย่อมบัญญัติธรรมข้อที่ ๒ คือ ตบะ ...
ย่อมบัญญัติธรรมข้อที่ ๓ คือ พรหมจรรย์ ...
ย่อมบัญญัติธรรมข้อที่ ๔ คือ การเรียนมนต์ ...
ย่อมบัญญัติธรรมข้อที่ ๕ คือ การบริจาค เพื่อทำบุญ เพื่อยินดีกุศล

ดูกรมาณพ ก็บรรดาพราหมณ์ทั้งหลาย แม้พราหมณ์คนหนึ่ง (หรือหลายๆคน) เป็นผู้ใด ใครก็ตาม ที่กล่าวอย่างนี้ว่า เราทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้ว เสวยผลแห่งธรรม๕ ประการนี้ มีอยู่หรือ?
สุ. ข้อนี้หามิได้ ท่านพระโคดม (การทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตัวเอง แล้วเสวยผลแห่งธรรม ๕ ประการ ย่อมไม่มี ในลัทธิอื่นหรือศาสนาอื่น)

ดูกรมาณพ เปรียบเหมือนแถวคนตาบอดซึ่งเกาะกันต่อๆไป แม้คนต้น ก็ไม่เห็น คนกลางก็ไม่เห็น คนหลังก็ไม่เห็น ฉันใด ภาษิตของพราหมณ์ทั้งหลาย เห็นจะเปรียบได้กับแถวคนตาบอด ฉันนั้น คือ แม้คนชั้นต้นก็ไม่เห็น แม้คนชั้นกลางก็ไม่เห็น แม้คนชั้นหลังก็ไม่เห็น (ภาษิตของพราหมณ์ใช้ไม่ได้)

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 
สารบาญพระไตรปิฎก
เล่มที่ ๘-๓๓ (๒๕ เล่ม) ทุกพระสูตร
1. ฉบับหลวง
2. ฉบับมหาจุฬาฯ
3. อรรถกถาไทย
4. ฉบับภาษาบาลี
5. อรรถกถา-บาลี
6. Pali Roman (Roman Script)
7. Atthakatha PaliRoman
 

 

 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๙๑-๕๐๓

บัญญัติธรรม ๕ ประการ

           [๗๑๔] สุ. ท่านพระโคดม พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติธรรม ๕ ประการ เพื่อทำบุญเพื่อยินดีกุศล.

           พ. ดูกรมาณพ พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติธรรม ๕ ประการ เพื่อทำบุญ เพื่อยินดีกุศลนั้นเหล่าไหน ถ้าท่านไม่หนักใจ เราขอโอกาส ขอท่านจงกล่าวธรรม ๕ ประการนั้นในบริษัทนี้เถิด.

           สุ. ท่านพระโคดม ณ ที่ที่พระองค์หรือท่านผู้เป็นดังพระองค์ประทับนั่งอยู่ ข้าพเจ้าไม่มีความหนักใจเลย.

           พ. ถ้าอย่างนั้น เชิญกล่าวเถิดมาณพ.

           [๗๑๕] สุ. ท่านพระโคดม พราหมณ์ทั้งหลาย
ย่อมบัญญัติธรรมข้อที่ ๑ คือ สัจจะเพื่อทำบุญ เพื่อยินดีกุศล
ย่อมบัญญัติข้อที่ ๒ คือ ตบะ ...
ข้อที่ ๓ คือ พรหมจรรย์ ...
ข้อที่ ๔ คือ การเรียนมนต์ ...
ข้อที่ ๕ คือ การบริจาค เพื่อทำบุญ เพื่อยินดีกุศล

พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติธรรม ๕ ประการนี้ เพื่อทำบุญ เพื่อยินดีกุศล ในเรื่องนี้ ท่านพระโคดมตรัสว่าอย่างไร?

           [๗๑๖] ดูกรมาณพ ก็บรรดาพราหมณ์ทั้งหลาย แม้พราหมณ์คนหนึ่ง เป็นผู้ใด ใครก็ตามที่กล่าวอย่างนี้ว่า เราทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้ว เสวยผลแห่งธรรม๕ ประการนี้ มีอยู่หรือ?
           สุ. ข้อนี้หามิได้ ท่านพระโคดม

(การทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตัวเอง แล้วเสวยผลแห่งธรรม ๕ ประการ
ย่อมไม่มี ในลัทธิอื่นหรือศาสนาอื่น)

           พ. ดูกรมาณพ ก็แม้อาจารย์คนหนึ่ง แม้อาจารย์ของท่านคนหนึ่ง ตลอด ๗ ชั่วอาจารย์ของพวกพราหมณ์ เป็นผู้ใดใครก็ตามที่กล่าวอย่างนี้ว่า เราทำให้แจ้งชัด ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้ว เสวยผลแห่งธรรม ๕ ประการนี้ มีอยู่หรือ?
           สุ. ข้อนี้หามิได้ ท่านพระโคดม.

           พ. ดูกรมาณพ ก็แม้ฤาษีทั้งหลายผู้เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ คือ ฤาษีอัฏฐกะฤาษีวามกะ ฤาษีวามเทพ ฤาษีเวสสามิตร ฤาษียมตัคคิ ฤาษีอังคีรสะ ฤาษีภารทวาชะ ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภคุ ซึ่งเป็นผู้แต่งมนต์ เป็นผู้บอก มนต์ พราหมณ์ทั้งหลายในปัจจุบันนี้ขับตาม กล่าวตามซึ่งบทมนต์เก่านี้ ที่ท่านขับแล้ว บอกแล้ว รวบรวมไว้แล้ว กล่าวได้ถูกต้อง บอกได้ถูกต้อง ตามที่ท่านกล่าวไว้แล้ว บอกไว้ แม้ท่านเหล่านั้น ได้กล่าวแล้วอย่างนี้ว่า เราทั้งหลาย ทำให้แจ้งชัด ด้วยปัญญา อันยิ่งด้วยตนเอง เสวยผลแห่งธรรม ๕ ประการนี้ มีอยู่หรือ?
           สุ. ข้อนี้หามิได้ ท่านพระโคดม.

           [๗๑๗] พ. ดูกรมาณพ ได้ทราบกันดังนี้ว่า
บรรดาพราหมณ์ทั้งหลาย
ไม่มีพราหมณ์แม้คนหนึ่ง จะเป็นผู้ใดใครก็ตามที่ได้กล่าว อย่างนี้ว่า เราทำให้แจ้งชัด ด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเองแล้ว เสวยผลแห่งธรรม ๕ ประการนี้ ไม่มีแม้อาจารย์ คนหนึ่ง แม้ปาจารย์ของอาจารย์คนหนึ่งตลอด ๗ ชั่ว อาจารย์ของพวกพราหมณ์นี้ จะเป็นผู้ใดใครก็ตามที่ได้กล่าวอย่างนี้ว่า เราทำให้แจ้ง ชัดด้วยปัญญา อันยิ่ง ด้วยตนเองแล้ว คือ เสวยผลแห่งธรรม ๕ ประการนี้

แม้ฤาษีทั้งหลาย
ผู้เป็นบุรพาจารย์ ของพวกพราหมณ์ ฤาษีอัฏฐกะ ฤาษีวามกะ ฤาษีวามเทพ ฤาษีเวสสามิตรฤาษียมตัคคิ ฤาษีอังคีรสะ ฤาษีภารทวาชะ ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภคุ เป็นผู้แต่งมนต์ เป็นผู้บอกมนต์ พราหมณ์ทั้งหลาย ในปัจจุบันนี้ขับตาม กล่าวตาม ซึ่งบทมนต์เก่านี้ ที่ท่านขับแล้ว บอกแล้ว รวบรวม ไว้แล้ว กล่าวได้ถูกต้อง บอกได้ถูกต้อง ตามที่ท่านกล่าวไว้ บอกไว้ แม้ท่านเหล่านั้น ก็ไม่ได้กล่าวอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายทำให้ แจ้งชัด ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้ว เสวยผลแห่งธรรม ๕ ประการนี้

           ดูกรมาณพ เปรียบเหมือนแถวคนตาบอดซึ่งเกาะกันต่อๆ ไป แม้คนต้น ก็ไม่เห็น คนกลางก็ไม่เห็น คนหลังก็ไม่เห็น ฉันใด ภาษิตของพราหมณ์ทั้งหลาย เห็นจะเปรียบได้กับแถวคนตาบอด ฉันนั้น คือ แม้คนชั้นต้นก็ไม่เห็น แม้คนชั้นกลาง ก็ไม่เห็น แม้คนชั้นหลังก็ไม่เห็น.

           [๗๑๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สุภมาณพโตเทยยบุตร ถูก พระผู้มีพระภาคตรัสเปรียบด้วยแถวคนตาบอด โกรธ ขัดใจ เมื่อจะด่าติเตียนว่ากล่าว พระผู้มีพระภาคว่าพระสมณโคดมจักถึงความลามกเสียแล้ว ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาค ว่า พระโคดม พราหมณ์โปกขรสาติโอปมัญญโคตร ผู้เป็นใหญ่ ในสุภควัน ได้กล่าวอย่างนี้ว่า อย่างนี้นั่นแหละ ก็สมณพราหมณ์เหล่าไรนี้ ย่อม ปฏิญาณญาณทัสนะวิเศษ ของพระอริยะอย่างสามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ภาษิตนี้ ของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมถึงความเป็นภาษิต น่าหัวเราะทีเดียว หรือย่อมถึง ความเลวทรามทีเดียวหรือ ย่อมถึงความว่างทีเดียวหรือ ย่อมถึงความเปล่า ทีเดียว หรือ ถ้าเช่นนั้น มนุษย์จักรู้ จักเห็น หรือจักทำให้แจ้งชัดซึ่งญาณทัสนะวิเศษ ของ พระอริยะอย่างสามารถยิ่งกว่าธรรมดาของมนุษย์ได้อย่างไร ข้อนี้ไม่เป็นฐานะ ที่จะมีได้.

           พ. ดูกรมาณพ ก็พราหมณ์โปกขรสาติโอปมัญญโคตร ผู้เป็นใหญ่ในสุภควัน กำหนดรู้ใจของสมณพราหมณ์ทั้งสิ้นด้วยใจของตนหรือ?

           สุ. ท่านพระโคดม พราหมณ์โปกขรสาติโอปมัญญโคตร ผู้เป็นใหญ่ใน สุภควัน ย่อมกำหนดรู้ใจของนางปุณณิกาทาสีของตน ด้วยใจของตนเองเท่านั้น ก็ที่ไหนจักกำหนดรู้ใจของสมณพราหมณ์ทั้งสิ้นด้วยใจของตนได้เล่า.

           [๗๑๙] พ. ดูกรมาณพ เปรียบเหมือนบุรุษตาบอดแต่กำเนิด เขาไม่เห็นรูปดำ รูปขาวไม่เห็นรูปเขียว รูปเหลือง รูปแดง รูปสีชมพู รูปที่เสมอ และไม่เสมอ หมู่ดาว ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ไม่มีรูปดำ รูปขาว ไม่มีคนเห็นรูปดำ รูปขาว ไม่มีรูปเขียว ไม่มีคนเห็นรูปเขียว ไม่มีรูปเหลือง ไม่มีคนเห็นรูปเหลือง ไม่มีรูปแดงไม่มีคนเห็นรูปแดง ไม่มีรูปสีชมพู ไม่มีคนเห็นรูปสีชมพู ไม่มีรูปที่เสมอ และไม่เสมอ ไม่มีคนเห็นรูปที่เสมอและไม่เสมอ ไม่มีหมู่ดาว ไม่มีคนเห็นหมู่ดาว ไม่มีดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ ไม่มีคนเห็นดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ เราไม่รู้ไม่เห็นสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น สิ่งนั้นย่อมไม่มี เมื่อเขากล่าวดังนี้ ชื่อว่ากล่าวชอบหรือมาณพ?

           สุ. ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดม รูปดำรูปขาวมี คนเห็นรูปดำรูปขาวก็มี รูปเขียวมีคนเห็นรูปเขียวก็มี รูปแดงมี คนเห็นรูปแดงก็มี รูปสีชมพูมี คนเห็นรูป สีชมพูก็มี รูปที่เสมอและไม่เสมอมี คนเห็นรูปเสมอและไม่เสมอก็มี หมู่ดาวมี คนเห็น หมู่ดาวก็มี ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์มี คนเห็นดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ก็มี เราไม่รู้ไม่เห็น สิ่งนั้น เพราะฉะนั้น สิ่งนั้นย่อมไม่มีผู้ที่กล่าวดังนี้ ไม่ชื่อว่ากล่าวชอบ ท่านพระโคดม.

           พ. ดูกรมาณพ พราหมณ์โปกขรสาติโอปมัญญโคตร ผู้เป็นใหญ่ในสุภควัน ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล เป็นคนบอด ไม่มีจักษุ เขาจักรู้ จักเห็น จักทำให้แจ้งชัด ซึ่งญาณทัสนะวิเศษของพระอริยะอย่างสามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้หรือหนอ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

           [๗๒๐] ดูกรมาณพ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน พราหมณ์มหาศาล ชาวโกศลคือ จังกีพราหมณ์ ตารุกขพราหมณ์ โปกขรสาติพราหมณ์ ชาณุโสณีพราหมณ์ หรือโตเทยยพราหมณ์ บิดาของท่าน วาจาดีที่พราหมณ์มหาศาล เหล่านั้น กล่าวตามสมมติ หรือไม่ตามสมมติเป็นอย่างไหน?
สุ. ตามสมมติ ท่านพระโคดม.

พ. วาจาดีที่พราหมณ์มหาศาลเหล่านั้นพิจารณาแล้วจึงกล่าว หรือไม่พิจารณาแล้วจึงกล่าวเป็นอย่างไหน?
สุ. พิจารณาแล้ว ท่านพระโคดม.

พ. วาจาดีที่พราหมณ์มหาศาลเหล่านั้นรู้แล้วจึงกล่าว หรือว่าไม่รู้แล้วจึงกล่าว เป็นอย่างไหน?
สุ. รู้แล้ว ท่านพระโคดม.

พ. วาจาดีอันประกอบด้วยประโยชน์ หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ที่พราหมณ์ มหาศาลเหล่านั้นกล่าว เป็นอย่างไหน?
สุ. ประกอบด้วยประโยชน์ ท่านพระโคดม.

           [๗๒๑] พ. ดูกรมาณพ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าเมื่อเป็นเช่นนี้ พราหมณ์โปกขรสาติโอปมัญญโคตร ผู้เป็นใหญ่ในสุภควัน กล่าววาจาตามสมมติ หรือไม่ตามสมมติ?
สุ. ตามสมมติ ท่านพระโคดม.

พ. เป็นวาจาที่รู้แล้วจึงกล่าว หรือเป็นวาจาที่ไม่รู้แล้ว?
สุ. เป็นวาจาที่ไม่รู้แล้ว ท่านพระโคดม.

พ. เป็นวาจาที่พิจารณาแล้วจึงกล่าว หรือเป็นวาจาที่ไม่ได้พิจารณาแล้ว?
สุ. เป็นวาจาที่ไม่ได้พิจารณาแล้ว ท่านพระโคดม.

พ. กล่าววาจาที่ประกอบด้วยประโยชน์ หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์?
สุ. ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ท่านพระโคดม.

           [๗๒๒] พ. ดูกรมาณพ นิวรณ์ ๕ ประการนี้แล ๕ ประการเป็นไฉน คือ กามฉันทนิวรณ์พยาบาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ นิวรณ์ ๕ ประการนี้แล.

           ดูกรมาณพ พราหมณ์โปกขรสาติโอปมัญญโคตร ผู้เป็นใหญ่ในสุภควัน ถูกนิวรณ์ ๕ ประการนี้ร้อยไว้แล้ว รัดไว้แล้ว ปกคลุมไว้แล้ว หุ้มห่อไว้แล้ว เขาจักรู้ จักเห็น หรือจักทำให้แจ้งชัดซึ่งญาณทัสนะวิเศษของพระอริยะอย่างสามารถ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์หรือหนอ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

           [๗๒๓] ดูกรมาณพ กามคุณ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ รูปอัน จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด เสียงอันจะพึงรู้แจ้งด้วยหู ... กลิ่นอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจมูก ... รสอันจะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้น ... โผฏฐัพพะอันจะพึงรู้แจ้งด้วยกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด กามคุณ ๕ ประการ นี้แล

           ดูกรมาณพ พราหมณ์โปกขรสาติโอปมัญญโคตร ผู้เป็นใหญ่ในสุภควัน กำหนัดแล้ว หมกมุ่นแล้วด้วยกามคุณ ๕ ประการนี้ ถูกกามคุณ ๕ ประการนี้ครอบงำ แล้ว ไม่เห็นโทษไม่มีปัญญาเป็นเครื่องถอนออก บริโภคอยู่ เขาจักรู้ จักเห็น หรือ จักทำให้แจ้งชัด ซึ่งญาณทัสนะวิเศษของพระอริยะ อย่างสามารถยิ่งกว่าธรรม ของ มนุษย์หรือหนอ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

           [๗๒๔] ดูกรมาณพ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลพึงอาศัยหญ้า และไม้เป็นเชื้อติดไฟขึ้น และพึงติดไฟที่ไม่มีหญ้าและไม้เป็นเชื้อ ไฟไหนหนอ พึงมีเปลว มีสีและมีแสง?

           สุ. ท่านพระโคดม ถ้าการติดไฟอันไม่มีหญ้าและไม้เป็นเชื้อ เป็นฐานะ ที่จะมีได้ไฟนั้นก็จะพึงมีเปลว มีสี และมีแสง.

           พ. ดูกรมาณพ ข้อที่บุคคลจะพึงติดไฟ อันไม่มีหญ้าและไม้เป็นเชื้อขึ้นได้นี้ ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่โอกาส เว้นจากผู้มีฤทธิ์ ดูกรมาณพ เปรียบเหมือนไฟอาศัยหญ้า และไม้ เป็นเชื้อติดอยู่ฉันใด เรากล่าวปีติอันอาศัยเบญจกามคุณนี้เปรียบ ฉันนั้น เปรียบเหมือนไฟไม่มีหญ้าและไม้เป็นเชื้อติดอยู่ได้ ฉันใด เรากล่าวปีติ ที่เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรมเปรียบฉันนั้น ก็ปีติที่เว้นจากกามเว้นจากอกุศลธรรมเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมบรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ปีตินี้แลเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม

           ดูกรมาณพ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตใน ภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตก วิจารสงบไป มีปีติและสุข เกิดแต่สมาธิอยู่แม้ปีติ นี้ก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม.

           [๗๒๕] ดูกรมาณพ ในธรรม ๕ ประการที่พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติ เพื่อ ทำบุญ เพื่อยินดีกุศลนี้ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติธรรมข้อไหน เพื่อทำบุญ เพื่อยินดี กุศล ว่ามีผลมากกว่า?

           สุ. ท่านพระโคดม ในธรรม ๕ ประการที่พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติเพื่อทำบุญ เพื่อยินดีกุศลนี้ พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติธรรม คือ จาคะ เพื่อทำบุญ เพื่อยินดี กุศล ว่ามีผลมากกว่า.

           [๗๒๖] พ. ดูกรมาณพ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน ในการบริจาคทาน นี้ จะพึงมีมหายัญเกิดขึ้นเฉพาะแก่พราหมณ์คนหนึ่ง. ครั้งนั้น พราหมณ์สองคนพึงมา ด้วยหวังว่าจักเสวยมหายัญของพราหมณ์ชื่อนี้.

           ในพราหมณ์สองคนนั้น คนหนึ่งมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่าโอหนอ เราเท่านั้น พึงได้อาสนะที่เลิศ น้ำที่เลิศ บิณฑะที่เลิศ ในโรงภัต พราหมณ์อื่นไม่พึงได้อาสนะ ที่เลิศ น้ำที่เลิศ บิณฑะที่เลิศ ในโรงภัต. แต่ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือ พราหมณ์ คนอื่นพึงได้อาสนะที่เลิศ น้ำที่เลิศ บิณฑะที่เลิศ ในโรงภัต พราหมณ์ผู้นั้นไม่พึง ได้อาสนะ ที่เลิศ น้ำที่เลิศ บิณฑะที่เลิศ ในโรงภัต.

           พราหมณ์นั้นโกรธน้อยใจ ว่าพราหมณ์เหล่าอื่นได้อาสนะที่เลิศ น้ำที่เลิศ บิณฑะที่เลิศ ในโรงภัต เราไม่ได้อาสนะที่เลิศ น้ำที่เลิศ บิณฑะที่เลิศในโรงภัต ดูกรมาณพ ก็พราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมบัญญัติวิบากอะไรของกรรมนี้?

           สุ. ท่านพระโคดม ในเรื่องนี้ พราหมณ์ทั้งหลายย่อมให้ทานด้วยคิดอย่างนี้ว่า พราหมณ์นั้น อันพราหมณ์ผู้นี้แลทำให้โกรธให้น้อยใจดังนี้หามิได้ ในเรื่องนี้ พราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมให้ทานอันเป็นการอนุเคราะห์เท่านั้นโดยแท้.

           พ. ดูกรมาณพ เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้อที่พราหมณ์ทั้งหลายให้ทานอันเป็นการ อนุเคราะห์นี้ ก็เป็นบุญกิริยาวัตถุข้อที่ ๖ ของพราหมณ์ทั้งหลายซิ?

           สุ. ท่านพระโคดม เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้อที่พราหมณ์ทั้งหลายให้ทาน อันเป็นการ อนุเคราะห์นี้ ก็เป็นบุญกิริยาวัตถุข้อที่ ๖ ของพราหมณ์ทั้งหลาย.

           [๗๒๗] พ. ดูกรมาณพ ธรรม ๕ ประการนี้ ที่พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติ เพื่อทำบุญเพื่อยินดีกุศล ท่านพิจารณาเห็นมีมากที่ไหน?

           สุ. ท่านพระโคดม ธรรม ๕ ประการนี้ ที่พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติเพื่อทำบุญ เพื่อยินดีกุศล ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นมีมากในบรรพชิต มีน้อยในคฤหัสถ์ เพราะคฤหัส มีความต้องการมาก มีกิจมาก มีอธิกรณ์มาก มีการเริ่มมาก จะเป็นผู้พูดจริงเสมอร่ำไป ไม่ได้ ส่วนบรรพชิตมีความต้องการน้อย มีกิจน้อย มีอธิกรณ์น้อย มีการเริ่มน้อย จึงเป็น ผู้พูดจริงเสมอร่ำไปได้เพราะคฤหัสถ์มีความต้องการมาก มีกิจมาก มีอธิกรณ์มาก มีการเริ่มมาก จะเป็นผู้มีความเพียร ...ประพฤติพรหมจรรย์ ... มากด้วยการสาธยาย ... มากด้วยการบริจาคเสมอร่ำไปไม่ได้ ส่วนบรรพชิตมีความต้องการน้อย มีกิจน้อย มีอธิกรณ์น้อย มีการเริ่มน้อย จึงเป็นผู้มีความเพียร ... ประพฤติพรหมจรรย์ ... มากด้วย การสาธยาย ... มากด้วยการบริจาคเสมอร่ำไปได้ ท่านพระโคดม ธรรม ๕ประการนี้ ที่พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติเพื่อทำบุญ เพื่อยินดีกุศล ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นมีมาก ในบรรพชิต มีน้อยในคฤหัสถ์.

           [๗๒๘] พ. ดูกรมาณพ ธรรม ๕ ประการนี้ ที่พราหมณ์ทั้งหลาย บัญญัติ เพื่อทำบุญเพื่อยินดีกุศล เรากล่าวว่าเป็นบริขารของจิต เพื่ออบรมจิตไม่ให้มีเวร ไม่ให้มีความเบียดเบียน.

           ดูกรมาณพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้พูดจริง เธอรู้สึกว่า เราเป็นผู้พูดจริง ย่อมได้ความรู้อรรถย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์ประกอบด้วยธรรม ความปราโมทย์อันประกอบด้วยกุศลนี้ เรากล่าวว่าเป็นบริขารของจิต เพื่ออบรมจิต ไม่ให้มีเวร ไม่ให้มีความเบียดเบียน.

           ดูกรมาณพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความเพียร ... ประพฤติพรหมจรรย์ ... มากด้วยการสาธยาย... มากด้วยการบริจาค เธอรู้สึกว่า เราเป็นผู้มากด้วยการบริจาค ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ความปราโมทย์อันประกอบด้วยกุศลนี้ เรากล่าวว่าเป็นบริขารของจิต เพื่ออบรมจิต ไม่ให้มีเวร ไม่ให้มีความเบียดเบียน.

           ธรรม ๕ ประการนี้ ที่พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติเพื่อทำบุญ เพื่อยินดีกุศลนี้ เรากล่าวว่าเป็นบริขารของจิตเพื่ออบรมจิตไม่ให้มีเวร ไม่ให้มีความเบียดเบียน.

            เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สุภมาณพโตเทยยบุตรได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้สดับมาว่าพระสมณโคดม ทรงรู้จัก หนทางเพื่อความเป็นสหายของพรหม.

           [๗๒๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมาณพ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้น เป็นไฉน บ้านนฬการคามใกล้แต่ที่นี้ บ้านนฬการคามไม่ไกล ใกล้แต่ที่นี้มิใช่หรือ?

           สุภมาณพกราบทูลว่า อย่างนั้นท่านพระโคดม บ้านนฬการคามใกล้แต่ที่นี้ บ้านนฬการคามไม่ไกลแต่ที่นี้.

           พ. ดูกรมาณพ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษผู้เกิดแล้ว ทั้งเจริญแล้ว ในบ้านนฬการคามนี้แล เขาออกจากบ้านนฬการคามไปในขณะนั้น พึงถูกถามถึงหนทางแห่งบ้านนฬการคามจะพึงชักช้า หรือตกประหม่าหรือหนอ?

           สุ. ข้อนี้หามิได้ ท่านพระโคดม ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุรุษนั้น ทั้ง เกิดแล้ว ทั้งเจริญแล้วในบ้านนฬการคาม รู้จักทางของบ้านนฬการคาม ทุกแห่งดีแล้ว.

           พ. ดูกรมาณพ บุรุษผู้เกิดแล้วทั้งเจริญแล้ว ในบ้านนฬการคามนั้น ถูกถาม ถึงทางของบ้านนฬการคาม ไม่พึงชักช้า หรือตกประหม่าแล ตถาคตถูกถามถึง พรหมโลก หรือปฏิปทาเครื่องให้ถึงพรหมโลก ก็ไม่ชักช้า หรือตกประหม่าเช่นเดียวกัน ดูกรมาณพ เราย่อมรู้จักทั้งพรหมโลก และปฏิปทาเครื่องให้ถึงพรหมโลก อนึ่ง ผู้ปฏิบัติด้วยประการใด จึงเข้าถึงพรหมโลกเราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย.

           สุ. ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า พระสมณโคดมทรงแสดงทาง เพื่อความเป็นสหายของพรหม ข้าพเจ้าขอโอกาส ขอท่านพระโคดมโปรดทรง แสดงทาง เพื่อความเป็นสหายของพรหมแก่ข้าพเจ้าเถิด.

           พ. ดูกรมาณพ ถ้าเช่นนั้นท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว. สุภมาณพโตเทยยบุตรทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว.

 

ทางไปพรหมโลก
(เจริญพรหมวิหาร ๔ หรือการเจริญเมตตา)

           [๗๓๐] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรมาณพ ก็ทางเพื่อความเป็นสหายของ พรหมเป็นไฉน ดูกรมาณพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไป ตลอด ทิศหนึ่งอยู่ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า เพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั่วหน้า ในที่ ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ เมื่อเมตตาเจโตวิมุติ อันภิกษุนั้นเจริญแล้วอย่างนี้ กรรมใดเป็นกามาพจรที่ภิกษุทำแล้ว กรรมนั้นจักไม่เหลืออยู่ไม่คงอยู่ในกรรม เป็นรูปาวจรนั้น

           ดูกรมาณพ เปรียบเหมือนบุรุษเป่าสังข์ ผู้มีกำลังพึงให้คนรู้ได้ตลอดทิศทั้งสี่ โดยไม่ยาก ฉันใด เมื่อเมตตาเจโตวิมุติที่ภิกษุนั้นเจริญแล้วอย่างนี้ ก็ฉันนั้นกรรมใด เป็นกามาพจร ที่ภิกษุทำแล้ว กรรมนั้นจักไม่เหลืออยู่ ไม่คงอยู่ในกรรมเป็นรูปาวจรนั้น แม้ข้อนี้ ก็เป็นทางเพื่อความเป็นสหายของพรหม

           ดูกรมาณพ อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีใจประกอบด้วยกรุณา ... มีใจประกอบ ด้วยมุทิตา ... มีใจประกอบด้วยอุเบกขา ... แผ่ไปสู่ทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ ทุกเหล่า เพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั่วหน้า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วย อุเบกขา อันไพบูลย์เป็นมหัคคตะ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ เมื่ออุเบกขา เจโตวิมุติ อันภิกษุนั้นเจริญแล้วอย่างนี้ กรรมใดเป็นกามาวจรที่ภิกษ ุทำแล้ว กรรมนั้น จักไม่เหลืออยู่ ไม่คงอยู่ในกรรมเป็นรูปาวจรนั้น

           ดูกรมาณพ เปรียบเหมือนบุรุษเป่าสังข์ผู้มีกำลัง พึงให้คนรู้ได้ตลอดทิศ ทั้งสี่ โดยไม่ยาก ฉันใด เมื่ออุเบกขาเจโตวิมุติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ก็ฉันนั้น กรรมใด เป็นกามาวจรที่ภิกษุทำแล้ว กรรมนั้นจักไม่เหลืออยู่ ไม่คงอยู่ในกรรมเป็นรูปาวจรนั้น แม้ข้อนี้ก็เป็นทางเพื่อความเป็นสหายของพรหม.

           [๗๓๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สุภมาณพโตเทยยบุตร ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรม โดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คน หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดมกับทั้งพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอท่านพระโคดม โปรดทรงจำข้าพระองค์ ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอทูลลาไป ณ บัดนี้ ข้าพระองค์มีกิจมาก มีกรณียะมาก.

           พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมาณพ ท่านจงสำคัญเวลาอันควร ณ บัดนี้เถิด.

           ครั้งนั้นแล สุภมาณพโตเทยยบุตร เพลิดเพลินพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค แล้วลุกออกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป.

           [๗๓๒] สมัยนั้น ชาณุโสณีพราหมณ์ออกจากพระนครสาวัตถี โดยรถ อันเทียมด้วยม้าขาวทั้งหมด แต่ยังวัน ได้เห็นสุภมาณพโตเทยยบุตรกำลังมาแต่ไกล แล้วได้ถามสุภมาณพโตเทยยบุตรว่า ท่านภารทวาชะไปไหนมาแต่วัน.

            สุภมาณพโตเทยยบุตรตอบว่า ท่านผู้เจริญข้าพเจ้าจากสำนักพระสมณโคดม มาที่นี่.

           ชา. ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านภารทวาชะเห็นจะเป็นบัณฑิต รู้พระปัญญาอันเฉียบแหลมของพระสมณโคดม?

           สุ. ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นใคร และเป็นอะไรเล่า จึงจักรู้เท่าพระปัญญา อันเฉียบแหลมของพระสมณโคดม ผู้ใดพึงรู้เท่าพระปัญญา อันเฉียบแหลมของ พระสมณโคดม แม้ผู้นั้นก็พึงเป็นเช่นพระสมณโคดมเป็นแน่.

           ชา. เพิ่งได้ฟัง ท่านภารทวาชะสรรเสริญพระสมณโคดม ด้วยการสรรเสริญ อย่างยิ่ง.

           สุ. ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นใคร เป็นอะไรเล่า จึงจักสรรเสริญพระสมณโคดม ท่านพระโคดม อันเทวดาและมนุษย์สรรเสริญแล้วๆ ประเสริฐกว่าเทวดา และมนุษย์ ทั้งหลาย อนึ่งธรรม ๕ ประการนี้ที่พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติ เพื่อทำบุญ เพื่อยินดีกุศล พระสมณโคดมตรัสว่าเป็นบริขารแห่งจิต เพื่ออบรมจิตไม่ให้มีเวร ไม่ให้มีความ เบียดเบียน.

           [๗๓๓] เมื่อสุภมาณพโตเทยยบุตร กล่าวอย่างนี้แล้ว ชาณุโสณีพราหมณ์ ลงจากรถอันเทียมด้วยม้าขาวทั้งหมด แล้วห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง น้อมอัญชลี ไปทางที่พระผู้มีพระภาค ประทับแล้วเปล่งอุทานว่า เป็นลาภของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงได้ดีแล้วหนอ ที่พระตถาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับในแว่นแคว้นของพระองค์ ฉะนี้แล.

 





พุทธวจน ออนไลน์ (คัดเฉพาะคำสอนขององค์พระศาสดาล้วนๆ)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์