พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๘ หน้าที่ ๒๒๐-๒๒๒.
๓. จันทูปมสูตร
[๔๗๐] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่าน อนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นประดุจพระจันทร์ จงพรากกาย พรากจิตออก เป็นผู้ใหม่เป็นนิตย์ เป็นผู้ไม่คะนองในสกุลทั้งหลาย เข้าไปสู่สกุลเถิด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงพรากกาย พรากจิตแลดูบ่อน้ำ ซึ่งคร่ำคร่า หรือที่เป็นหลุมเป็นบ่อบนภูเขา หรือแม่น้ำที่ขาดเป็นห้วงๆฉันใด พวกเธอ จงเป็นประดุจพระจันทร์ จงพรากกาย พรากจิตออก เป็นผู้ใหม่เป็นนิตย์ ไม่คะนอง ในสกุล เข้าไปสู่สกุล ฉันนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย กัสสปเปรียบประดุจพระจันทร์ พรากกาย พรากจิตออกแล้ว เป็นผู้ใหม่อยู่เป็นนิตย์ไม่คะนองในสกุลทั้งหลาย เข้าไปสู่สกุล
[๔๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ภิกษุ ชนิดไร จึงสมควรเข้าไปสู่สกุล
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลาย ของ ข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาค เป็นที่พึ่งอาศัย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอให้เนื้อความแห่งภาษิตนี้ จงแจ่มแจ้งกะ พระผู้มีพระภาคเถิด ภิกษุทั้งหลายได้สดับต่อพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้ ดังนี้
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงโบกฝ่าพระหัตถ์ในอากาศ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฝ่ามือนี้ ไม่ข้อง ไม่ยึด ไม่พัวพันในอากาศ ฉันใด จิตของภิกษุ ผู้เข้าไปสู่สกุล ไม่ข้อง ไม่ยึด ไม่พัวพัน ฉันนั้นเหมือนกัน โดยตั้งใจว่าผู้ปรารถนาลาภ จงได้ลาภ ส่วนผู้ปรารถนาบุญ จงทำบุญ ดังนี้ ภิกษุเป็นผู้พอใจดีใจ ด้วยลาภ ตามที่เป็นของตน ฉันใด ก็เป็นผู้พลอยพอใจ ดีใจ ด้วยลาภของชนเหล่าอื่น ฉันนั้น ภิกษุผู้เห็นปานนี้แล จึงควรเข้าไปสู่สกุล
ภิกษุทั้งหลาย จิตของภิกษุผู้เข้าไปสู่สกุล ไม่ข้อง ไม่ยึด ไม่พัวพันในสกุล ทั้งหลาย โดยคิดว่าผู้ปรารถนาลาภ จงได้ลาภ ส่วนผู้ปรารถนาบุญ จงทำบุญ ดังนี้ กัสสปเป็นผู้พอใจ ดีใจ ด้วยลาภตามที่เป็นของตน ฉันใด ก็เป็นผู้พลอยพอใจ ดีใจ ด้วยลาภของชนเหล่าอื่น ฉันนั้น
[๔๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ธรรมเทศนาของภิกษุชนิดไร ไม่บริสุทธิ์ ธรรมเทศนาของภิกษุชนิดไร บริสุทธิ์
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวก ข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาค เป็นที่พึ่งอาศัย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอให้เนื้อความแห่งภาษิตนี้ จงแจ่มแจ้งกะ พระผู้มีพระภาคเถิด ภิกษุทั้งหลายได้สดับต่อพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้ ดังนี้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้นพวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง มีความคิดอย่างนี้ว่า โอหนอ ชนทั้งหลายพึงฟังธรรมของเรา ก็แลครั้นฟังแล้ว พึงเลื่อมใส ซึ่งธรรม ผู้ที่เลื่อมใสแล้วเท่านั้น จะพึงทำอาการของผู้เลื่อมใสต่อเราดังนี้ ย่อมแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเทศนาของภิกษุเห็นปานนี้แล ไม่บริสุทธิ์ ส่วนภิกษุใดแล เป็นผู้มีความคิดอย่างนี้ว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาค ตรัสไว้ดีแล้ว เป็นข้อปฏิบัติอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้ มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนจะพึงรู้เฉพาะตน
โอหนอ ชนทั้งหลายพึงฟังธรรมของเรา ก็แลครั้นฟังแล้ว จะพึงรู้ทั่วถึง ธรรม ก็แล ครั้นรู้ทั่วถึงแล้ว จะพึงปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ดังนี้ จึงแสดงธรรม แก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความที่แห่งพระธรรมเป็นธรรมอันดี จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความกรุณา จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความเอ็นดู จึงแสดงธรรมแก่ชน เหล่าอื่น อาศัย ความอนุเคราะห์ จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่นด้วยประการฉะนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเทศนาของภิกษุเห็นปานนี้แล บริสุทธิ์
[๔๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กัสสปเป็นผู้มีความคิดอย่างนี้ว่า พระธรรม อันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว เป็นข้อปฏิบัติอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบ ด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนจะพึงรู้เฉพาะตน โอหนอ ชนทั้งหลายพึงฟังธรรมของเรา
ก็แลครั้นฟังแล้ว จะพึงรู้ทั่วถึงธรรม
ก็แลครั้นรู้ทั่วถึงแล้ว จะพึงปฏิบัติ เพื่อความเป็นอย่างนั้น ดังนี้
จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความที่ธรรมเป็นธรรม อันดี จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความกรุณา จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความเอ็นดู จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความอนุเคราะห์ จึงแสดงธรรม แก่ชนเหล่าอื่น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักกล่าวสอน พวกเธอ ตามอย่างกัสสป หรือผู้ใด พึงเป็น เช่น กัสสป เรา ก็จักกล่าวสอนให้ประพฤติ ตามผู้นั้น ก็แลพวกเธอได้รับ โอวาทแล้ว พึงปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ดังนี้
|