1)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๑๕
วักกลิสูตร (พระวักกลิอาพาธ)
ว่าด้วยการเห็นธรรมชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า
[๒๑๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์. สมัยนั้นแล ท่านพระวักกลิ อาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา พักอยู่ที่นิเวศน์ของนายช่างหม้อ.
ครั้งนั้น ท่านพระวักกลิ เรียกภิกษุผู้อุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้ว กล่าวว่ามาเถิด อาวุโส ท่านทั้งหลาย จงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ จงถวายบังคม พระยุคลบาท ด้วยเศียรเกล้า ตามคำของเราแล้ว ทูลว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุ อาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา ท่านถวายบังคมพระยุคลบาท ของพระองค์ ด้วยเศียรเกล้า และ พวกท่านจงทูลอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ได้ยินว่า ท่านขอประทาน วโรกาส ขอทูลเชิญ พระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปหาท่าน วักกลิถึงที่อยู่เถิด.
ภิกษุเหล่านั้น รับคำท่านวักกลิแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้ว ได้กราบทูลว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกข เวทนา ท่านถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์ ด้วยเศียรเกล้า และทูลอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ได้ยินว่า ท่านขอประทานพระวโรกาส ขอทูลเชิญพระผู้มีพระภาค ทรงอาศัย ความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปหาวักกลิภิกษุถึงที่อยู่เถิด พระผู้มีพระภาค ทรงรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ.
[๒๑๖] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงครองผ้าแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปหาท่านพระวักกลิถึงที่อยู่ ท่านพระวักกลิ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จ มาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้ว ก็ลุกขึ้นจากเตียง. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะท่าน พระวักกลิว่า อย่าเลย วักกลิเธออย่าลุกจากเตียงเลย อาสนะเหล่านี้ ที่เขาปูลาดไว้ มีอยู่ เราจะนั่งที่อาสนะนั้น. พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้.
ครั้นแล้ว ได้ตรัสถามท่านพระวักกลิว่า ดูกรวักกลิเธอพอทนได้หรือ พอยัง อัตภาพ ให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนานั้น ปรากฏว่าทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ.
ท่านพระวักกลิกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทนไม่ไหว ไม่สามารถยัง อัตภาพให้เป็นไปได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์แรงกล้า มีแต่กำเริบขึ้น ไม่ทุเลา ลงเลย ทุกขเวทนาปรากฏว่ากำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย.
พ. ดูกรวักกลิ เธอไม่มีความรำคาญ ไม่มีความเดือดร้อนอะไรบ้างหรือ?
ว. พระเจ้าข้า ที่แท้จริง ข้าพระองค์มีความรำคาญไม่น้อย มีความเดือดร้อน อยู่ ไม่น้อยเลย.
พ. ดูกรวักกลิ ก็ตัวเธอเอง ไม่ติเตียนตนเองได้โดยศีลบ้างหรือ?
ว. พระเจ้าข้า ตัวข้าพระองค์เอง จะติเตียนได้โดยศีลก็หาไม่.
พ. ดูกรวักกลิ ถ้าหากว่า ตัวเธอเองติเตียนตนเอง โดยศีลไม่ได้ เมื่อเป็น เช่นนั้น เธอจะมีความรำคาญ และมีความเดือดร้อนอะไร?
ว. พระเจ้าข้า จำเดิมแต่กาลนานมาแล้ว ข้าพระองค์ประสงค์จะเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค แต่ว่าในร่างกายของข้าพระองค์ ไม่มีกำลังพอที่จะเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคได้.
พ. อย่าเลย วักกลิ ร่างกายอันเปื่อยเน่าที่เธอเห็นนี้ จะมีประโยชน์อะไร?
ดูกรวักกลิผู้ใดแล เห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมเห็นธรรม. วักกลิเป็นความจริง บุคคลเห็นธรรม ก็ย่อมเห็นเรา บุคคลเห็นเรา ก็ย่อมเห็นธรรม.
(พระผู้มีพระภาค เทศนา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ นั่นไม่ใช่ของเรา)
วักกลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ว. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ว. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็น สิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?
ว. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.
พ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ว. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ว. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็น สิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?
ว. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.
พ. เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมทราบชัดว่า ฯลฯ กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสสอน ท่านพระวักกลิ ด้วยพระโอวาทนี้แล้ว ทรงลุกจาก อาสนะ เสด็จไปยังภูเขาคิชฌกูฏ.
[๒๑๗] ครั้งนั้นแลพระวักกลิ เมื่อพระผู้มีพระภาค เสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน ได้เรียก ภิกษุอุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้ว กล่าวว่า มาเถิด อาวุโส ท่านจงช่วยอุ้มเรา ขึ้นเตียงแล้ว หามไปยังวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ ก็ภิกษุผู้เช่นกับเรา ไฉนเล่า จะพึงสำคัญ ว่าตนพึงทำกาละ ในละแวกบ้านเล่า? ภิกษุอุปัฏฐากเหล่านั้น รับคำท่าน วักกลิแล้ว อุ้มท่านพระวักกลิขึ้นเตียง หามไปยังวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ.
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ที่ภูเขาคิชฌกูฏตลอดราตรี และวันที่ ยังเหลือ อยู่นั้น. ครั้งนั้น เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดา ๒ องค์ มีฉวีวรรณงดงาม ทำภูเขาคิชฌกูฏ ให้สว่างทั่วไปทั้งหมดแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ได้ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
ครั้นแล้ว เทวดาองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้าวักกลิ ภิกษุ คิดเพื่อความหลุดพ้น. เทวดาอีกองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า ก็วักกลิภิกษุนั้น หลุดพ้นดีแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่แท้ เทวดาเหล่านั้น ได้กราบทูล อย่างนี้แล้วครั้นแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว ก็หายไป ณ ที่นั้นเอง
(อ่านต่อ)
2)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๒๐
อัสสชิสูตร (พระอัสสชิอาพาธ)
ว่าด้วยความเป็นอนิจจังแห่งเวทนา
[๒๒๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์. ก็สมัยนั้นแล ท่านพระอัสสชิอาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา พักอยู่ที่อารามของกัสสปเศรษฐี.
ครั้งนั้น ท่านพระอัสสชิเรียกภิกษุ ผู้อุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้วกล่าวว่า มาเถิดอาวุโส ทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย จงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ จงถวายบังคม พระยุคลบาท ของพระผู้มีพระภาค ด้วยเศียรเกล้า ตามคำของเราว่า พระเจ้าข้า อัสสชิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา และท่านทั้งหลาย จงทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาค ทรงอาศัย ความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปหาอัสสชิภิกษุถึงที่อยู่เถิด.
ภิกษุเหล่านั้น รับคำท่านอัสสชิแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า อัสสชิภิกษุ อาพาธ เป็นไข้ หนัก ได้รับทุกขเวทนา ท่านถวายบังคมพระยุคลบาท ของพระผู้มีพระภาคด้วย เศียรเกล้า และสั่งมากราบทูลว่า พระเจ้าข้าขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มี พระภาค ทรงอาศัย ความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปหาอัสสชิภิกษุถึงที่อยู่เถิด. พระผู้มีพระภาค ทรงรับ อาราธนาโดยดุษณีภาพ.
[๒๒๓] ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจาก ที่พักผ่อน แล้วเสด็จ เข้าไปหาท่านพระอัสสชิถึงที่อยู่ ท่านพระอัสสชิ ได้แลเห็นพระผู้มีพระภาค เสด็จมา แต่ไกลครั้นเห็นแล้ว ก็ลุกขึ้นจากเตียง.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะท่านพระอัสสชิว่า อย่าเลยอัสสชิ เธออย่าลุกจากเตียงเลย อาสนะเหล่านี้ ที่เขาปูลาดไว้มีอยู่ เราจะนั่งที่อาสนะนั้น. พระผู้มีพระภาค ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้.
ครั้นแล้ว ได้ตรัสถามท่านพระอัสสชิว่า ดูกรอัสสชิ เธอพอทนได้หรือ พอยัง อัตภาพ ให้เป็นไปได้หรือ ฯลฯ ทุกขเวทนานั้นปรากฏว่าทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้น หรือ? ท่านพระอัสสชิกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทนไม่ไหว ไม่สามารถ จะยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ฯลฯ ทุกขเวทนานั้นปรากฏว่า กำเริบขึ้นไม่ทุเลาลงเลย.
พ. ดูกรอัสสชิ เธอไม่มีความรำคาญ ไม่มีความเดือดร้อนอะไรบ้างหรือ?
อ. พระเจ้าข้า แท้ที่จริง ข้าพระองค์มีความรำคาญไม่น้อย มีความเดือดร้อน อยู่ ไม่น้อยเลย.
พ. ดูกรอัสสชิ ก็ตัวเธอเองไม่ติเตียนตนเองได้โดยศีลบ้างหรือ?
อ. พระเจ้าข้า ตัวข้าพระองค์เองจะติเตียนข้าพระองค์เองได้โดยศีลก็หาไม่.
พ. ดูกรอัสสชิ ถ้าหากว่า ตัวเธอเองติเตียนตนเองโดยศีลไม่ได้ เมื่อเป็น เช่นนั้น เธอจะมีความรำคาญ และความเดือดร้อนอะไร?
อ. พระเจ้าข้า ครั้งก่อน ข้าพระองค์ระงับกายสังขาร (ลมหายใจเข้าออก) ได้อย่าง ลำบาก จึงไม่ได้สมาธิ เมื่อข้าพระองค์ไม่ได้สมาธิ จึงเกิดความคิดอย่างนี้ว่า เราไม่เสื่อมหรือหนอ.
พ. ดูกรอัสสชิ สมณพราหมณ์ที่มีสมาธิเป็นสาระ มีสมาธิเป็นสามัญญะ เมื่อ ไม่ได้สมาธินั้น ย่อมเกิดความคิดอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายไม่เสื่อมหรือหนอ.
(พระผู้มีพระภาค เทศนา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ นั่นไม่ใช่ของเรา)
ดูกรอัสสชิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
อ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ
พ. วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
อ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ
พ. เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมทราบ ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
ถ้าอริยสาวกนั้น ได้เสวยสุขเวทนา ก็ทราบชัดว่าสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่า พอใจ ไม่น่าเพลิดเพลิน
หากว่า เสวยทุกขเวทนา ก็ทราบชัดว่า ทุกขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่าพอใจ ไม่น่าเพลิดเพลิน
ถ้าหากว่า เสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็ทราบชัดว่า อทุกขมสุขเวทนานั้น ไม่เที่ยง ไม่น่าพอใจ ไม่น่าเพลิดเพลิน
หากว่า เสวยสุขเวทนา ก็ปราศจากความยินดียินร้าย เสวยสุขเวทนานั้น
ถ้าหากว่า เสวยทุกขเวทนา ก็ปราศจาก ความยินดียินร้าย เสวยทุกข เวทนานั้น
ถ้าหากว่า เสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็ปราศจาก ความยินดียินร้าย เสวย อทุกขมสุข เวทนานั้น ย่อมทราบชัดว่า เวทนานั้น ไม่เที่ยง ไม่น่าพอใจ ไม่น่า เพลิดเพลิน.
หากว่า เสวยเวทนา มีกายเป็นที่สุด ก็ทราบชัดว่า เสวยเวทนามีกาย เป็นที่สุด ถ้าเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็ทราบชัดว่า เสวยเวทนา มีชีวิตเป็นที่สุด ทราบชัดว่า ก่อนแต่จะสิ้นชีวิตเพราะกายแตก ความเสวยอารมณ์ทั้งมวลในโลกนี้ ไม่น่ายินดี จักเป็นของเย็น.
[๒๒๔] ดูกรอัสสชิ อุปมาเหมือนประทีปน้ำมัน จะพึงติดอยู่ได้ เพราะอาศัย น้ำมัน และไส้เชื้อไม่มีก็พึงดับ เพราะหมดน้ำมันและไส้นั้น ฉันใด.
ดูกรอัสสชิ ภิกษุเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็ทราบชัดว่า เสวยเวทนามีกาย เป็นที่สุด เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็ทราบชัดว่า เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ทราบชัดว่า ก่อนแต่จะสิ้นชีวิต เพราะกายแตก ความเสวยอารมณ์ทั้งมวลในโลกนี้ ไม่น่ายินดี จักเป็นของเย็น.
3)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๒๓
เขมกสูตร (พระเขมกะอาพาธ)
ว่าด้วยไม่มีตนในขันธ์ ๕
[๒๒๕] สมัยหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นพระเถระหลายรูป อยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้พระนคร โกสัมพี.ก็สมัยนั้นแล ท่านพระเขมกะอาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา พักอยู่ที่ พทริการาม. ครั้งนั้นเป็นเวลาเย็น ภิกษุผู้เป็นพระเถระ ทั้งหลาย ออกจากที่พักผ่อนแล้ว เรียกท่านพระทาสกะ มากล่าวว่า มาเถิด ท่านทาสกะ จงเข้าไปหาเขมกภิกษุถึงที่อยู่ จงบอกกะเขมกภิกษุอย่างนี้ว่า
ดูกรท่านเขมกะ พระเถระทั้งหลายได้ถามท่านอย่างนี้ว่า อาวุโส ท่านพอ อดทนได้หรือ ยังพอเยียวยาอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้น ทุกขเวทนา นั้น ปรากฏว่า ทุเลา ไม่กำเริบขึ้นหรือ? ท่านพระทาสกะ รับคำภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลาย แล้ว เข้าไปหาท่านพระเขมกะถึงที่อยู่ ได้กล่าวกะท่านพระเขมกะว่า
ดูกรท่านเขมกะ พระเถระทั้งหลายถามถึงท่านอย่างนี้ว่าอาวุโส ท่านพอ อดทน ได้หรือ ยังพอเยียวยาอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ฯลฯ ท่านพระเขมกะตอบว่า ผมอดทนไม่ไหว เยียวยาอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาอันกล้าของผมกำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย ปรากฏว่ากำเริบขึ้น ไม่ทุเลาเลย.
[๒๒๖] ครั้งนั้น ท่านพระทาสกะ เข้าไปหาภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลาย ถึงที่อยู่ แล้ว ได้กล่าวกะภิกษุผู้เป็นเถระว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย เขมกภิกษุกล่าว อย่างนี้ว่า อาวุโส ผมทนไม่ไหวเยียวยาอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ฯลฯ
(ท่านทาสกะ เทศนาเรื่อง อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕)
ถ. มาเถิด ท่านทาสกะ ท่านจงเข้าไปหาเขมกภิกษุถึงที่อยู่ จงกล่าวกะเขมก ภิกษุ อย่างนี้ว่า ท่านเขมกะ พระเถระทั้งหลายกล่าวกะท่านอย่างนี้ว่า อาวุโส อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว คือ รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์.
ท่านเขมกะพิจารณาเห็นอะไรๆ ในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นี้ว่า เป็นตนหรือว่ามี ในตน หรือ? ท่านพระทาสกะ รับคำภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลายแล้ว เข้าไปหาพระเขมกะ ถึงที่อยู่แล้ว กล่าวว่า
ดูกรท่านเขมกะ พระเถระทั้งหลาย กล่าวกะท่านอย่างนี้ว่า อาวุโส อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว คือ รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ
วิญญาณูปาทานขันธ์. ท่านเขมกะพิจารณาเห็นอะไรๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้ว่า เป็นตน หรือว่ามีในตนหรือ?
ข. อาวุโส อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว คือ รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯวิญญาณูปาทานขันธ์ ผมไม่พิจารณาเห็นอะไรๆ ในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นี้ว่า เป็นตน หรือว่ามีในตน.
[๒๒๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระทาสกะ เข้าไปหาภิกษุผู้เถระทั้งหลายถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเขมกะ กล่าว อย่างนี้ว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว คือ รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ วิญญาณูปาทานขันธ์. ดูกรผู้มีอายุ ผมไม่ได้เห็นสิ่งอะไรๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ว่า เป็นตน หรือว่า มีในตนเลย.
ถ. มาเถิด ท่านทาสกะ ท่านจงเข้าไปหาภิกษุเขมกะถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว จงกล่าวกะภิกษ ุเขมกะ อย่างนี้ว่า อาวุโส พระเถระทั้งหลาย กล่าวกะท่านอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว คือ รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ วิญญาณูปาทานขันธ์. ได้ทราบว่า ถ้าท่านเขมกะไม่พิจารณาเห็นอะไรๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ว่า เป็นตน หรือว่ามีในตน ถ้าเช่นนั้น ท่านเขมกะก็เป็นพระ อรหันตขีณาสพ.
ท่านพระทาสกะรับคำภิกษุผู้เถระทั้งหลายแล้ว เข้าไปหาท่านพระเขมกะ ถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวว่า ดูกรท่านเขมกะ พระเถระทั้งหลาย กล่าวกะท่าน อย่างนี้ว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว คือ รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ วิญญาณูปาทานขันธ์. ได้ทราบว่า ถ้าท่านเขมกะไม่พิจารณาเห็นอะไรๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ว่า เป็นตน หรือว่ามีในตน ถ้าเช่นนั้น ท่านเขมกะ ก็เป็นพระอรหันตขีณาสพ.
ข. ดูกรอาวุโส อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว คือ รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ วิญญาณูปาทานขันธ์. ผมไม่ได้พิจารณาเห็นสิ่งอะไรๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ว่าเป็นตน หรือว่ามีในตน และผมก็ไม่ได้เป็นพระอรหันต ขีณาสพ แต่ผมเข้าใจว่า เรามีในอุปาทานขันธ์ ๕ และผมไม่ได้พิจารณาเห็นว่า นี้เป็นเรา.
[๒๒๘] ครั้นนั้นแล ท่านพระทาสกะ เข้าไปหาภิกษุผู้เถระถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะ ภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเขมกะกล่าว อย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโสอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว คือ รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ วิญญาณูปาทานขันธ์. ผมไม่ได้พิจารณาเห็นอะไรๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ว่า เป็นตน หรือว่ามีในตน และผมก็ไม่ได้เป็นพระอรหันต ขีณาสพ แต่ผมเข้าใจว่า เรามีในอุปาทานขันธ์ ๕ และผมไม่ได้พิจารณาเห็นว่า นี้เป็นเรา.
ถ. มาเถิด ท่านทาสกะ ท่านจงเข้าไปหาภิกษุเขมกะถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว จงกล่าวกะภิกษ ุเขมกะอย่างนี้ว่า ท่านเขมกะ พระเถระทั้งหลายถามท่านอย่างนี้ว่า ดูกรท่านเขมกะ ที่ท่านกล่าวว่า เรามี นี้คืออย่างไร? ท่านกล่าวรูปว่า เรามี หรือกล่าวว่า เรามีนอกจาก รูป ท่านกล่าวเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่า เรามี หรือกล่าวว่า เรามีนอกจาก วิญญาณ.
ดูกรท่านเขมกะ ที่ท่านกล่าวว่า เรามีนั้น คืออย่างไร? ท่านพระทาสกะรับคำ ภิกษุ ผู้เถระทั้งหลาย แล้วเข้าไปหาท่านพระเขมกะถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่าน พระเขมกะ ว่าท่านเขมกะ พระเถระทั้งหลายกล่าวกะท่านอย่างนี้ว่า ดูกรท่านเขมกะ ที่ท่านกล่าวว่า เรามี นั้น คืออย่างไร? ท่านกล่าวรูปว่า เรามี หรือกล่าวว่า เรามีนอก จากรูป ท่านกล่าวเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่าเรามี หรือกล่าวว่า เรามีนอกจาก วิญญาณ. ดูกรท่านเขมกะ คำที่ท่านกล่าวว่า เรามี นั้น คืออย่างไร?
ข. พอทีเถิด ท่านทาสกะ การเดินไปเดินมาบ่อยๆ อย่างนี้ จะมีประโยชน์ อะไร อาวุโส จงไปหยิบเอาไม้เท้ามาเถิด ผมจักไปหาภิกษุผู้เถระทั้งหลายเอง.
[๒๒๙] ครั้งนั้น ท่านพระเขมกะ ยันไม้เท้าเข้าไปหาภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยกับภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่งณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว ภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ได้กล่าวกะท่านพระเขมกะว่า ดูกรท่านเขมกะ ที่ท่านกล่าวว่า เรามี นั้นคืออย่างไร ฯลฯ
ข. ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ผมไม่กล่าวรูปว่า เรามี ทั้งไม่กล่าวว่า เรามีนอกจาก รูป ไม่กล่าวเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่า เรามี ทั้งไม่กล่าวว่า เรามีนอกจาก วิญญาณ แต่ผมเข้าใจว่า เรามีในอุปาทานขันธ์ ๕ และผมไม่ได้พิจารณาเห็นว่า นี้เป็นเรา เปรียบเหมือนกลิ่นดอกอุบลก็ดี กลิ่นดอกปทุมก็ดี กลิ่นดอกบุณฑริก (บัวขาว) ก็ดี ผู้ใดหนอ จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่ากลิ่นใบ กลิ่นสีหรือว่ากลิ่นเกสร ผู้นั้น เมื่อกล่าวอย่างนี้ จะพึงกล่าวชอบละหรือ?
ถ. ไม่เป็นอย่างนั้น อาวุโส.
ข. ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ก็โดยที่ถูก เมื่อจะกล่าวแก้ ควรกล่าวแก้อย่างไร?
ถ. ดูกรอาวุโส โดยที่ถูก เมื่อจะกล่าวแก้ ควรกล่าวแก้ว่า กลิ่นดอก.
ข. ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ผมไม่กล่าวรูปว่า เรามี ทั้งไม่ กล่าววjาเรามีนอกจากรูป ไม่กล่าวเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่า เรามี ทั้งไม่กล่าวว่า เรามีนอกจากวิญญาณ แต่ผมเข้าใจว่า เรามีในอุปาทานขันธ์ ๕ และผมไม่พิจารณา เห็นว่า นี้เป็นเรา.
สังโยชน์ส่วนเบื้องต่ำ ๕ พระอริยสาวกละได้แล้วก็จริง แต่ท่านก็ยังถอนมานะ ฉันทะ อนุสัยอย่างละเอียดในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า เรามีไม่ได้.
สมัยต่อมา ท่านพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไป ในอุปาทาน ขันธ์ ๕ ว่า รูปดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปดังนี้ ความดับแห่งรูปดังนี้เวทนาดังนี้ สัญญาดังนี้ สังขารดังนี้ วิญญาณดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณดังนี้.
เมื่อท่านพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไป ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้อยู่ แม้ท่านยังถอนมานะ ฉันทะ อนุสัยอย่างละเอียดในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า เรามี ไม่ได้ แต่มานะ ฉันทะ และอนุสัยนั้น ก็ถึงการเพิกถอนได้.
ดูกรอาวุโสทั้งหลาย เปรียบเหมือนผ้าเปื้อนเปรอะด้วยมลทิน เจ้าของ ทั้งหลาย มอบผ้า นั้น ให้แก่ช่างซักฟอก ช่างซักฟอกขยี้ผ้านั้นในน้ำด่างขี้เถ้า ในน้ำด่างเกลือ หรือ ในโคมัยแล้ว เอาซักในน้ำใสสะอาด ผ้านั้นเป็นของสะอาดขาว ผ่องก็จริง แต่ผ้านั้น ยังไม่หมดกลิ่นน้ำด่างขี้เถ้า กลิ่นน้ำด่างเกลือ หรือกลิ่นโคมัย ที่ละเอียด ช่างซักฟอก มอบผ้านั้นให้แก่เจ้าของทั้งหลาย เจ้าของทั้งหลายเก็บผ้านั้น ใส่ไว้ในหีบอบกลิ่น แม้ผ้านั้นยังไม่หมดกลิ่นน้ำด่างขี้เถ้า กลิ่นน้ำด่างเกลือ หรือกลิ่น โคมัย ที่ละเอียด แม้กลิ่นนั้นก็หายไปฉันใด.
ดูกรอาวุโสทั้งหลาย สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ พระอริยสาวกละได้แล้วก็จริง แต่ท่านก็ยัง ถอนมานะ ฉันทะ อนุสัยอย่างละเอียดในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า เรามี ไม่ได้ สมัยต่อมา ท่านพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า รูปดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปดังนี้ ความดับแห่งรูปดังนี้ เวทนาดังนี้ สัญญาดังนี้ สังขารดังนี้ วิญญาณดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณดังนี้.
เมื่อท่านพิจารณ าเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไป ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้อยู่ แม้ท่านยังถอนมานะ ฉันทะ อนุสัยอย่างละเอียดในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า เรามี ไม่ได้ แต่มานะ ฉันทะ และอนุสัยนั้น ก็ถึงการเพิกถอนได้ฉันนั้น.
[๒๓๐] เมื่อท่านพระเขมกะกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ได้กล่าว กะท่าน พระเขมกะว่า ผมทั้งหลายไม่ได้ถามมุ่งหมาย เบียดเบียนท่านเขมกะเลย แต่ว่า ท่านเขมกะสามารถพอจะบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ตื้น ซึ่งคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคนั้น โดยพิสดาร ตามที่ท่านเขมกะ บอกแล้ว แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แต่งตั้งแล้ว เปิดเผยแล้วจำแนกแล้ว ทำให้ตื้นแล้ว โดยพิสดาร.
ท่านพระเขมกะได้กล่าวคำนี้แล้ว. ภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ชื่นชมยินดีภาษิต ของท่าน พระเขมกะ. ก็เมื่อท่านพระเขมกะ กล่าวคำไวยากรณภาษิตอยู่ จิตของภิกษุ ผู้เถระ ประมาณ ๖๐ รูป และของท่านพระเขมกะ พ้นแล้วจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น.
4)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๗๓
นกุลสูตร (นกุลบิดาคฤหบดีอาพาธ)
(นกุลมารดาคฤหปตานี ได้กล่าวเตือนนกุลบิดาคฤหบดี อย่าห่วงใยกระทำกาละ)
[๒๘๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ป่าเภสกาลามิคทายวัน ใกล้ นครสุงสุมารคีระ แคว้นภัคคะ สมัยนั้น นกุลบิดาคฤหบดีอาพาธ มีทุกข์เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น นกุลมารดาคฤหปตานี*ได้กล่าวเตือนนกุลบิดาคฤหบดีว่า
* เอตทัคคะ ด้านผู้คุ้นเคย
ดูกรคฤหบดี ท่านอย่าเป็น ผู้มีความห่วงใยกระทำกาละเลย เพราะการกระทำ กาละ ของผู้มีความห่วงใยเป็นทุกข์ และพระผู้มีพระภาคก็ทรงติเตียน
ดูกรคฤหบดี ท่านจะพึงมีความห่วงใยอย่างนี้ว่า เมื่อเราล่วงไปแล้ว นกุลมารดา คฤหปตานี จักไม่สามารถเลี้ยงทารก ดำรงการอยู่ครองเรือนไว้ได้ แต่ข้อนั้น ท่านไม่พึงเห็นอย่างนี้ เพราะดิฉันเป็นคนฉลาดปั่นฝ้าย ทำขนสัตว์ เมื่อท่านล่วงไป แล้ว ดิฉัน ย่อมสามารถเลี้ยงทารกดำรงการอยู่ครองเรือนไว้ได้ เพราะฉะนั้น ท่านอย่า เป็นผู้มีความห่วงใยกระทำกาละเลย เพราะการกระทำกาละของ ผู้มีความห่วงใย เป็นทุกข์ และพระผู้มีพระภาคก็ทรงติเตียน
ดูกรท่านคฤหบดี ก็ท่านจะพึงมีความห่วงใยอย่างนี้ว่า เมื่อเราล่วงไปแล้ว นกุลมารดา คฤหปตานี จักได้คนอื่นเป็นสามี แต่ข้อนั้นท่าน ไม่พึงเห็นอย่างนี้ ทั้งท่านทั้งดิฉัน ย่อมรู้ว่า ได้อยู่ร่วมกันมาอย่างเคร่งครัด ต่อระเบียบประเพณีตลอด ๑๖ ปีเพราะฉะนั้น ท่านอย่าเป็นผู้มีความห่วงใยกระทำกาละเลย เพราะการกระทำกาละ ของผู้มีความห่วงใยเป็นทุกข์ และพระผู้มีพระภาคก็ทรงติเตียน
ดูกรคฤหบดี ก็ท่านจะพึงมีความห่วงใยอย่างนี้ว่า เมื่อเราล่วงไปแล้ว นกุลมารดา คฤหปตานี จักไม่ต้องการเห็นพระผู้มีพระภาค ไม่ต้องการเห็น พระภิกษุสงฆ์ แต่ข้อนั้น ท่านไม่พึงเห็นอย่างนี้ เพราะดิฉันต้องการเห็นพระผู้มีพระภาค อย่างยิ่ง และต้องการ เห็นพระภิกษุสงฆ์อย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น ท่านอย่าเป็นผู้มีความ ห่วงใย กระทำกาละเลย เพราะการกระทำกาละ ของผู้มีความห่วงใยเป็นทุกข์ และพระผู้มีพระภาคก็ทรงติเตียน
ดูกรคฤหบดี ก็ท่านจะพึงมีความห่วงใยอย่างนี้ว่า เมื่อเราล่วงไปแล้ว นกุลมารดา คฤหปตานี จักไม่เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล แต่ข้อนั้นท่าน ไม่พึงเห็นอย่างนี้ เพราะบรรดาสาวิกา ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ที่ยังเป็น คฤหัสถ์ นุ่งห่มผ้าขาว กระทำให้บริบูรณ์ในศีลมีประมาณเท่าใด
ดิฉันก็เป็นคนหนึ่ง ในจำนวนสาวิกาเหล่านั้น ก็ผู้ใดพึงมีความสงสัยหรือเคลือบแคลง ขอผู้นั้นจงเข้าไป เฝ้าทูลพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธะพระองค์นั้น ซึ่งกำลัง ประทับอยู่ที่ป่า เภสกาลามิคทายวัน ใกล้นครสุงสุมารคีระ แคว้นภัคคะ แล้วจงทูลถาม เถิด เพราะฉะนั้น ท่านอย่าเป็นผู้มี ความห่วงใยกระทำกาละเลย เพราะการกระทำกาละ ของผู้มีความห่วงใยเป็นทุกข์ และพระผู้มีพระภาคก็ทรงติเตียน
ดูกรคฤหบดี ก็ท่านจะพึงมีความห่วงใยอย่างนี้ว่า นกุลมารดา คฤหปตานี จักไม่ได้ ความสงบใจ ณ ภายใน แต่ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนี้ว่า เพราะพวก สาวิกา ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ที่ยังเป็นคฤหัสถ์นุ่งห่มผ้าขาว ได้ความสงบใจ ณ ภายใน มีประมาณเท่าใดดิฉันเป็นคนหนึ่งในจำนวนสาวิกานั้น ก็ผู้ใดพึงมีความ สงสัย หรือเคลือบแคลง ขอผู้นั้นจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธะ พระองค์นั้น ซึ่งกำลังประทับอยู่ที่ป่าเภสกาลามิคทายวัน ใกล้นครสุงสุมารคีระ แคว้นภัคคะ แล้วจงทูลถามเถิด เพราะฉะนั้น ท่านอย่าเป็นผู้มีความห่วงใยกระทำ กาละเลย เพราะการกระทำกาละ ของผู้มีความห่วงใยเป็นทุกข์ และพระผู้มีพระภาค ก็ทรงติเตียน
ดูกรคฤหบดี ก็ท่านจะพึงมีความห่วงใยอย่างนี้ว่า นกุลมารดาคฤหปตานี ยังไม่ถึง การหยั่งลง ยังไม่ถึงที่พึ่ง ยังไม่ถึงความเบาใจ ยังไม่ข้ามพ้น ความสงสัย ยังไม่ปราศจาก ความเคลือบแคลง ยังไม่ถึงความแกล้วกล้า ในธรรมวินัยนี้ ยังไม่หมดความเชื่อถือ ต่อผู้อื่นในศาสนาของพระศาสดา แต่ข้อนั้น ท่านไม่พึงเห็น อย่างนี้ เพราะพวกสาวิกา ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ที่ยังเป็นคฤหัสถ์นุ่งห่ม ผ้าขาวได้ถึงการหยั่งลง ได้ถึงที่พึ่ง ถึงความเบาใจ ข้ามพ้น ความสงสัย ปราศจาก ความเคลือบแคลง ถึงความแกล้วกล้า ในธรรมวินัยนี้ ไม่มีความเชื่อถือต่อผู้อื่น ในศาสนาของพระศาสดา มีประมาณเท่าใด
ดิฉันก็เป็น คนหนึ่งในจำนวนสาวิกา เหล่านั้น ก็ผู้ใดพึงมีความสงสัย หรือเคลือบแคลง ขอผู้นั้นจงเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ซึ่งประทับ อยู่ที่ป่าเภสกาลา มิคทายวัน ใกล้นครสุงสุมารคีระ แคว้นภัคคะ แล้วจงทูลถามเถิด เพราะฉะนั้น ท่านอย่าเป็นผู้มีความห่วงใย กระทำกาละเลย เพราะการกระทำกาละ ของผู้มีความ ห่วงใยเป็นทุกข์ และพระผู้มีพระภาค ก็ทรงติเตียน
ครั้งนั้นแล เมื่อนกุลบิดาคฤหบดี อันนกุลมารดา คฤหปตานีกล่าวเตือนนี้ ความเจ็บป่วย นั้น ได้สงบระงับโดยพลัน และนกุลบิดาคฤหบดี ได้หายจากการ เจ็บป่วยนั้น ก็แนะการเจ็บป่วยนั้น อันนกุลบิดาคฤหบดีละได้แล้ว โดยประการนั้น
ครั้งนั้น นกุลบิดาคฤหบดี พอหายจากการเจ็บป่วยไม่นาน ถือไม้เท้า เข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะนกุลบิดาคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดี เป็นลาภ ของท่าน ท่านได้ดีแล้ว ที่นกุลมารดาคฤหปตานี เป็นผู้อนุเคราะห์ หวังประโยชน์ กล่าวเตือน พร่ำสอนท่าน
ดูกรคฤหบดี พวกสาวิกาของเรา ที่ยังเป็นคฤหัสถ์นุ่งห่มผ้าขาว กระทำให้ บริบูรณ์ ในศีล มีประมาณเท่าใด นกุลมารดาคฤหปตานี * ก็เป็นคนหนึ่งในจำนวน สาวิกา เหล่านั้น พวกสาวิกาของเราที่ยังเป็นคฤหัสถ์ นุ่งห่มผ้าขาว ได้ความสงบใจณ ภายใน มีประมาณเท่าใด * เอตทัคคะ ด้านผู้คุ้นเคย
นกุลมารดาคฤหปตานี ก็เป็นคนหนึ่งในจำนวนสาวิกาเหล่านั้น พวกสาวิกา ของเรา ที่ยังเป็นคฤหัสถ์นุ่งห่มผ้าขาว ได้ถึงการหยั่งลงถึงที่พึ่ง ถึงความเบาใจ ข้ามพ้นความ สงสัย ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความแกล้วกล้า ในธรรมวินัยนี้ ไม่มีความเชื่อถือ ต่อผู้อื่น ในศาสนาของพระศาสดา มีประมาณเท่าใด นกุลมารดา คฤหปตานี ก็เป็นคนหนึ่งในจำนวนสาวิกาเหล่านั้น
ดูกรคฤหบดี เป็นลาภของท่านท่านได้ดีแล้ว ที่นกุลมารดาคฤหปตานี เป็นผู้อนุเคราะห์ หวังประโยชน์ กล่าวเตือนสั่งสอนท่าน
5)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๔๓
๒. ผัคคุณสูตร (พระผัคคุณะอาพาธ)
[๓๒๗] ก็สมัยนั้น ท่านพระผัคคุณะอาพาธ มีทุกข์เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระผัคคุณะ อาพาธมีทุกข์เป็นไข้หนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาค ทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปเยี่ยมท่านพระผัคคุณะเถิด พระผู้มีพระภาคทรงรับโดยดุษณีภาพ
ครั้งนั้นเป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้น เสด็จเข้าไปเยี่ยม ท่านพระผัคคุณะถึงที่อยู่ ท่านพระผัคคุณะได้เห็นพระผู้มีพระภาค กำลังเสด็จมา แต่ไกล แล้วจะลุกจากเตียง ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะท่านพระผัคคุณะว่า อย่าเลย ผัคคุณะ เธออย่าลุกขึ้นจากเตียง อาสนะเหล่านี้ที่ผู้อื่นได้ปูไว้มีอยู่ เราจักนั่ง บนอาสนะ นั้น พระผู้มีพระภาคได้ประทับนั่งบนอาสนะที่ได้ปูไว้แล้ว ครั้นแล้ว ได้ตรัส ถามท่าน พระผัคคุณะว่า
ดูกรผัคคุณะเธอพออดทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนา ย่อมบรรเทา ไม่กำเริบ หรือปรากฏว่าบรรเทา ไม่กำเริบขึ้นหรือ ท่านพระผัคคุณะ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ยังอัตภาพ ให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนา ของข้าพระองค์กำเริบหนักไม่บรรเทา ปรากฏว่ากำเริบนั้นไม่บรรเทาเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนบุรุษ มีกำลัง พึงเฉือนศีรษะด้วยมีดโกนที่คมฉันใด ลมกล้าเสียดแทงศีรษะของข้าพระองค์ ฉันนั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนา ของข้าพระองค์กำเริบหนัก ไม่บรรเทา ปรากฏว่ากำเริบขึ้น ไม่บรรเทาเลย เปรียบเหมือนบุรุษ ผู้มีกำลังพึงเอาเชือกที่เหนียวแน่นพันศีรษะ ฉันใด ความเจ็บปวด ที่ศีรษะของ ข้าพระองค์ ก็มีประมาณยิ่งฉันนั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ เปรียบเหมือนบุรุษฆ่าโค หรือลูกมือของ บุรุษฆ่าโค เป็นคนขยันพึงใช้มีด สำหรับชำแหละโคที่คม ชำแหละ ท้องโค ฉันใด ลมกล้ามีประมาณยิ่ง ย่อมเสียดแทงท้องของข้าพระองค์ ฉันนั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ...เปรียบบุรุษผู้มีกำลังสองคน จับบุรุษ ผู้อ่อนกำลังคนเดียวที่แขนคนละข้าง แล้วพึงลนย่างบนหลุมถ่านไฟ ฉันใด ความเร่าร้อนที่กายของข้าพระองค์ก็ประมาณยิ่งฉันนั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนา ของข้าพระองค์ กำเริบหนักไม่บรรเทา ปรากฏว่ากำเริบขึ้นไม่บรรเทาเลย
(พระผู้มีพระภาคแสดงธรรมให้ผัคคุณะเห็นแจ้ง จนสิ้นสังโยชน์ ๕)
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงด้วยธรรมีกถา ให้ท่านพระผัคคุณะ เห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง แล้วเสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป ครั้นเมื่อ พระผู้มีพระภาค เสด็จไปแล้วไม่นาน ท่านพระผัคคุณะได้กระทำกาละ และในเวลา ตาย อินทรีย์ของท่าน พระผัคคุณะนั้น ผ่องใสยิ่งนัก
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับถวาย บังคมแล้วนั่งณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาค เสด็จจากมาไม่นาน ท่านพระผัคคุณะก็กระทำกาละ และในเวลา ตายอินทรีย์ ของท่านพระผัคคุณะ ผ่องใสยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรอานนท์ ก็อินทรีย์ของผัคคุณภิกษุ จักไม่ผ่องใสได้อย่างไรจิตของผัคคุณ ภิกษุยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์ อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ จิตของผัคคุณภิกษุนั้น ก็หลุดพ้นแล้วจากสังโยชน์ อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น ดูกรอานนท์อานิสงส์ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ในการใคร่ครวญเนื้อความ แห่งธรรม โดยกาลอันควร ๖ ประการนี้ ๖ ประการเป็นไฉน
ดูกรอานนท์ จิตของภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์ อันเป็นไปในส่วน เบื้องต่ำ ๕ ในเวลาใกล้ตายเธอได้เห็นตถาคต ตถาคตย่อม แสดงธรรมอันงาม ในเบื้องต้น อันงามในท่ามกลาง อันงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่เธอ จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์ อันเป็นไปในส่วน เบื้องต่ำ ๕ เพราะได้ฟังธรรม เทศนา นั้น ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ ข้อที่ ๑ ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร
อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์ อันเป็นไปในส่วน เบื้องต่ำ ๕ ในเวลาใกล้ตาย เธอไม่ได้เห็นตถาคตเลย แต่ได้เห็นสาวกของพระ ตถาคต สาวกของ พระตถาคต ย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่เธอ จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ เพราะได้ ฟังธรรม เทศนานั้น ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๒ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร
อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์ อันเป็นไปในส่วน เบื้องต่ำ ๕ในเวลาใกล้ตาย เธอไม่ได้เห็นตถาคต และไม่ได้เห็นสาวกของตถาคตเลย แต่ย่อมตรึกตรองเพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมา เมื่อเธอตรึกตรอง เพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาอยู่ จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์ อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๓ ในการใคร่ครวญ เนื้อความ แห่งธรรมโดยกาลอันควร
ดูกรอานนท์ จิตของมนุษย์ในธรรมวินัยนี้ ได้หลุดพ้นจากสังโยชน์ อันเป็นไป ในส่วน เบื้องต่ำ ๕ แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในนิพพาน อันเป็นที่สิ้นไปแห่ง อุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ในเวลาใกล้ตาย เธอย่อมได้เห็นพระตถาคต พระตถาคต ย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น ... แก่เธอ จิตของเธอย่อมน้อมไป ในนิพพาน อันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เพราะได้ฟังธรรม เทศนานั้น ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๔ ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร
อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุหลุดพ้นแล้วจากสังโยชน์ อันเป็นไปในส่วน เบื้องต่ำ ๕ แต่จิตของเธอ ยังไม่น้อมไปในนิพพาน อันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่น ยิ่งกว่า มิได้ในเวลาใกล้ตาย เธอย่อมไม่ได้เห็นพระตถาคต แต่เธอ ย่อมได้เห็นสาวก ของพระตถาคต สาวกของพระตถาคต ย่อมแสดงธรรมอันงาม ในเบื้องต้น ... แก่เธอ จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพานเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่า มิได้ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น ดูกรอานนท์นี้เป็นอานิสงส์ ข้อที่ ๕ ในการฟังธรรม โดยกาลอันควร
อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุหลุดพ้นแล้ว จากสังโยชน์ อันเป็นไปในส่วน เบื้องต่ำ ๕ แต่จิตของเธอ ยังไม่น้อมไปในนิพพาน อันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่น ยิ่งกว่ามิได้ในเวลาใกล้ตาย เธอย่อมไม่ได้เห็นพระตถาคต และย่อม ไม่ได้เห็นสาวก ของ พระตถาคตเลย แต่เธอย่อมตรึกตรองเพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตาม ที่ได้ฟังมา ได้เรียนมา เมื่อเธอตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรม ตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมา อยู่ จิตของเธอย่อมน้อมไป ในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไป แห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่น ยิ่งกว่ามิได้
ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อ ๖ ในการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรม โดยกาลอันควร
ดูกรอานนท์ อานิสงส์ในการฟังธรรม ในการใคร่ครวญเนื้อความ โดยกาลอันควร ๖ ประการนี้แล
ดูหน้าถัดไป |
|
|