พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๖๐-๓๖๙
๙. อรณวิภังคสูตร (๑๓๙)
[๖๕๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง อรณวิภังค์ แก่เธอทั้งหลายพวกเธอ จงฟัง อรณวิภังค์นั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า
[๖๕๔] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ไม่พึงประกอบเนืองๆ ซึ่งสุข อาศัยกามอันเลว(ละกาม) เป็นของชาวบ้าน เป็นของ ปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบ ด้วยประโยชน์ และ
ไม่พึงประกอบเนืองๆ ซึ่งความเพียรเครื่องประกอบตน ให้ลำบาก(ไม่ทรมานตน) อัน เป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ความปฏิบัติปานกลาง ไม่เข้าใกล้ที่สุด ๒ อย่างนี้ นั้น อันตถาคตรู้พร้อมด้วย ปัญญายิ่งแล้ว เป็นข้อปฏิบัติ ทำให้มีจักษุ ทำให้มีญาณ เป็นไปเพื่อความเข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานพึงรู้จักการยกยอและการตำหนิ ครั้นรู้แล้ว ไม่พึงยกยอ ไม่พึงตำหนิ พึงแสดงแต่ธรรมเท่านั้น พึงรู้ตัดสินความสุข ครั้นรู้แล้ว พึงประกอบเนืองๆ ซึ่งความสุขภายใน ไม่พึงกล่าววาทะลับหลัง ไม่พึงกล่าวคำ ล่วงเกินต่อหน้า พึงเป็นผู้ไม่รีบด่วนพูด อย่าพูดรีบด่วน ไม่พึงปรักปรำภาษาชนบท ไม่พึงล่วงเลย คำพูดสามัญเสีย นี้อุเทศแห่งอรณวิภังค์
[๖๕๕] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงประกอบเนืองๆ ซึ่งสุขอาศัยกาม อันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วย ประโยชน์ และไม่พึงประกอบเนืองๆ ซึ่งความเพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ นั่น เราอาศัยอะไร กล่าวแล้ว
ความประกอบเนืองๆ ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุขโดยสืบต่อกาม อันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะไม่ประกอบด้วยประโยชน์ นี้เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจมีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด การไม่ตามประกอบ
ความประกอบเนืองๆ ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุข โดยสืบต่อกาม อันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ นี้เป็น ธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความ ปฏิบัติชอบ ความเพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ นี้เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจมีความ เร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด การไม่ตามประกอบ ความเพียร เครื่องประกอบตน ให้ ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ นี้เป็นธรรมไม่มี ทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ
ข้อที่เรา กล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงประกอบเนืองๆซึ่งสุขอาศัยกาม อันเลว เป็นของ ชาวบ้าน เป็นของ ปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่พึง ประกอบเนืองๆ ซึ่งความเพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของ พระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ นั่น เราอาศัยเนื้อความดังนี้ กล่าวแล้ว
[๖๕๖] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ความปฏิบัติปานกลาง ไม่เข้าใกล้ที่สุด๒ อย่างนี้นั้น อันตถาคตรู้พร้อมด้วยปัญญายิ่งแล้ว เป็นข้อปฏิบัติทำให้มีจักษุ ทำให้มี ญาณ เป็นไปเพื่อความเข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว มรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐนี้แล คือความเห็นชอบ ความ ดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ การเลี้ยงชีพชอบความพยายามชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจชอบ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่าความปฏิบัติปานกลาง ไม่เข้าใกล้ที่สุด ๒ อย่างนี้นั้น อันตถาคตรู้พร้อมด้วยปัญญายิ่งแล้ว เป็นข้อปฏิบัติ ทำให้มีจักษุ ทำให้มี ญาณ เป็นไปเพื่อความเข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน นั่น เราอาศัยมรรคมีองค์ ๘อันประเสริฐดังนี้ กล่าวแล้ว
[๖๕๗] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงรู้จักการยกยอและการตำหนิ ครั้นรู้แล้ว ไม่พึงยกยอ ไม่พึงตำหนิ พึงแสดงแต่ธรรมเท่านั้น นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรเป็นการยกยอ เป็นการตำหนิ และไม่เป็นการแสดงธรรม คือ เมื่อกล่าวว่า ชนเหล่าใดตามประกอบความประกอบเนืองๆ ซึ่งโสมนัสของคนที่มี ความสุขโดยสืบต่อกาม อันเลว เป็นของชาวบ้านเป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมดมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติผิดดังนี้ ชื่อว่าตำหนิชนพวกหนึ่ง เมื่อกล่าวว่า ชนเหล่าใด ไม่ตามประกอบความประกอบเนืองๆ ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุขโดยสืบต่อกาม อันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วย ประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความ เร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติชอบ ดังนี้
ชื่อว่ายกยอชนพวกหนึ่ง เมื่อกล่าวว่าชนเหล่าใดประกอบเนืองๆ ซึ่งความเพียร เครื่องประกอบตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วย ประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมดมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติผิด ดังนี้ชื่อว่าตำหนิชนพวกหนึ่ง เมื่อกล่าวว่า ชนเหล่าใดไม่ตามประกอบ ความเพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบ ด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจไม่มี ความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติชอบ ดังนี้
ชื่อว่ายกยอชนพวกหนึ่ง เมื่อกล่าวว่าชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ยังละสัญโญชน์ในภพ ไม่ได้แล้ว ชนเหล่านั้นทั้งหมด มีทุกข์มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความ เร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติผิด ดังนี้ ชื่อว่าตำหนิชนพวกหนึ่ง เมื่อกล่าวว่า ชนเหล่าใดเหล่า หนึ่ง ละสัญโญชน์ในภพได้แล้วชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความ แค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติชอบ ดังนี้ ชื่อว่ายกยอชนพวกหนึ่ง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลเป็นการยกยอ เป็นการตำหนิ และไม่เป็นการ แสดงธรรม
[๖๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร ไม่เป็นการยกยอ ไม่เป็นการตำหนิ เป็นการแสดงธรรมแท้ คือ ไม่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดตามประกอบความ ประกอบ เนืองๆ ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุข โดยสืบต่อกามอันเลวเป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ชนเหล่านั้นทั้งหมด มีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อนเป็นผู้ปฏิบัติผิด กล่าวอยู่ว่า อันความตาม ประกอบนี้แล เป็นธรรม มีทุกข์มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความ ปฏิบัติผิด ดังนี้ ชื่อว่า แสดงแต่ธรรมเท่านั้น ไม่กล่าวอย่างนี้ว่า
ชนเหล่าใดไม่ตามประกอบความประกอบเนืองๆ ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุข โดยสืบต่อกาม อันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความ แค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติชอบ กล่าวอยู่ว่า อันความตามประกอบนี้แล เป็นธรรม ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อนเป็นความ ปฏิบัติชอบ ดังนี้ ชื่อว่า แสดงแต่ธรรมเท่านั้น ไม่กล่าวอย่างนี้ว่า
ชนเหล่าใดประกอบเนืองๆ ซึ่งความเพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบาก อันเป็น ทุกข์ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด มีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติผิด กล่าวอยู่ว่า อันความ ตามประกอบนี้แล เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความ ปฏิบัติผิด ดังนี้ ชื่อว่าแสดงแต่ธรรมเท่านั้น ไม่กล่าวอย่างนี้ว่า
ชนเหล่าใดไม่ตามประกอบ ซึ่งความเพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบาก อันเป็น ทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติชอบ กล่าวอยู่ว่า อันความไม่ตามประกอบนี้แล เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ ดังนี้ ชื่อว่าแสดงแต่ธรรมเท่านั้น ไม่กล่าว อย่างนี้ว่า
ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งยังละสัญโญชน์ในภพไม่ได้แล้ว ชนเหล่านั้นทั้งหมด มีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติผิดกล่าวอยู่ว่า เมื่อยังละ สัญโญชน์ ในภพไม่ได้แล้วแล ภพย่อมเป็นอันละไม่ได้ดังนี้ ชื่อว่าแสดงแต่ ธรรม เท่านั้น ไม่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งละสัญโญชน์ในภพได้แล้ว ชนเหล่านั้น ทั้งหมด ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติชอบ กล่าวอยู่ว่า ก็เมื่อละสัญโญชน์ในภพได้แล้วแล ภพย่อมเป็นอันละได้ ดังนี้ ชื่อว่าแสดงแต่ธรรมเท่านั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ไม่เป็นการยกยอ ไม่เป็นการตำหนิ เป็นการแสดง ธรรมแท้ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงรู้จักการยกยอและการตำหนิ ครั้นรู้แล้วไม่พึงยกยอ ไม่พึงตำหนิ พึงแสดงแต่ธรรมเท่านั้น นั่น เราอาศัยเนื้อความดังนี้กล่าวแล้ว
[๖๕๙] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงรู้ตัดสินความสุข ครั้นรู้แล้ว พึงประกอบ เนืองๆ ซึ่งความสุขภายใน นั่น เราอาศัยอะไร กล่าวแล้ว
(กามสุข คือสุขที่ควรกลัว)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย กามคุณนี้ มี ๕ อย่างแล ๕ อย่าง เป็นไฉน คือ รูปที่รู้ได้ด้วย จักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความ กำหนัด เสียงที่รู้ได้ด้วยโสต ... กลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ ...รสที่รู้ได้ด้วยชิวหา ...โผฏฐัพพะ ที่รู้ได้ด้วยกายอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด นี้แลกามคุณ ๕
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุขโสมนัสใดแล อาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้เกิดขึ้น สุขโสมนัส นี้ เรียกว่าสุขอาศัยกาม สุขของปุถุชน สุขในที่ลับ ไม่ใช่สุขของพระอริยะ เรากล่าวว่า ไม่พึงเสพ ไม่พึงให้เจริญ ไม่พึงทำให้มาก พึงกลัวสุขนี้
(สุขที่ไม่ควรกลัว คือสุขภายใน ควรเสพให้มาก)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุสงัด จากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เข้าทุติยฌาน ... อยู่ เป็นผู้วางเฉย เพราะหน่ายปีติ มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุข ด้วยนามกาย เข้าตติยฌาน ... อยู่ เข้าจตุตถฌาน ... อยู่นี้เรียกว่า สุขอาศัยเนกขัมมะ สุขเกิดแต่ความสงัด สุขเกิดแต่ความสงบสุข เกิดแต่ความตรัสรู้ เรากล่าวว่า พึงเสพ ให้มาก พึงให้เจริญ พึงทำให้มากไม่พึงกลัว สุขนี้ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่าพึงรู้ตัดสิน ความสุข
ครั้นรู้แล้ว พึงประกอบเนืองๆ ซึ่งความสุขภายใน นั่นเราอาศัยเนื้อความดังนี้ กล่าวแล้ว
(หลักการกล่าววาทะ ไม่กล่าวลับหลัง ไม่กล่าวล่วงเกินต่อหน้า กล่าวคำจริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์...)
[๖๖๐] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงกล่าววาทะลับหลัง ไม่พึงกล่าวคำ ล่วงเกินต่อหน้า นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในประการแรกนั้น พึงรู้วาทะลับหลังใด ไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่พึงกล่าววาทะลับ หลังนั้นเป็นอันขาด แม้รู้วาทะลับหลังใดจริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็พึง สำเหนียกเพื่อจะไม่กล่าววาทะลับหลังนั้น และรู้วาทะลับหลังใดจริง แท้ ประกอบด้วย ประโยชน์ ในเรื่องนั้น พึงเป็นผู้รู้จักกาลเพื่อจะกล่าววาทะลับหลังนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในประการหลังนั้น พึงรู้คำล่วงเกินต่อหน้าใด ไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้นเป็นอันขาด แม้รู้คำ ล่วงเกินต่อหน้าใด จริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็พึงสำเหนียกเพื่อจะไม่ กล่าว คำ ล่วงเกินต่อหน้านั้น และรู้คำล่วงเกินต่อหน้าใด จริง แท้ ประกอบด้วย ประโยชน์ ในเรื่องนั้น พึงเป็นผู้รู้จักกาลเพื่อจะกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้น ข้อที่เรา กล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงกล่าววาทะลับหลัง ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้า นั่น เราอาศัย เนื้อความดังนี้ กล่าวแล้ว
[๖๖๑] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงเป็นผู้ไม่รีบด่วนพูด อย่าพูดรีบด่วน นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในประการแรกนั้น เมื่อรีบด่วนพูด กาย ก็ลำบาก จิตก็แกว่ง เสียงก็พร่า คอก็เครือ แม้คำพูดของผู้ที่รีบด่วนพูด ก็ไม่สละ สลวย ไม่พึงรู้ชัดได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในประการหลังนั้น เมื่อไม่รีบด่วนพูด กายไม่ลำบาก จิตก็ไม่แกว่ง เสียงก็ไม่พร่า คอก็ไม่เครือ แม้คำพูดของผู้ที่ไม่รีบด่วน พูด ก็สละสลวย พึงรู้ชัดได้ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงเป็นผู้ไม่รีบด่วนพูด อย่าพูด รีบด่วน นั่น เราอาศัย เนื้อความดังนี้ กล่าวแล้ว
(ไม่ปรักปรำภาษาชนบท ที่มีชื่อเรียกหลากหลาย อย่าคิดว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า)
[๖๖๒] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงปรักปรำภาษาชนบท ไม่พึงล่วง เลยคำพูดสามัญเสีย นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรเล่า เป็นการปรักปรำภาษาชนบท และเป็นการล่วงเลยคำพูดสามัญ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภาชนะ นั่นแลในโลกนี้ (มีหลายชื่อ)
ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า ปาตี
ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า ปัตตะ
ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า ปิฏฐะ
ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า สราวะ
ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า หโลสะ
ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า โปณะ
ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า หนะ
ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่า ปิปิละ
ภิกษุพูด ปรักปรำ โดยประการที่ชนทั้งหลายหมายรู้เรื่องภาชนะนั้นกันดังนี้ ในชนบทนั้นๆ ตามกำลังและความแน่ใจว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่าอย่างนี้แล ชื่อว่า เป็นการปรักปรำ ภาษาชนบท และเป็นการล่วงเลยคำพูดสามัญดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรเล่า เป็นการไม่ปรักปรำภาษาชนบท และเป็นการไม่ล่วงเลยคำพูดสามัญ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภาชนะนั่นแลในโลกนี้ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่า ปาตี ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า ปัตตะ ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า ปิฏฐะ ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า สราวะ ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า หโลสะ ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า โปณะ ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่าหนะ ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า ปิปิละ ภิกษุพูด โดยประการที่ชนทั้งหลายหมายรู้เรื่องภาชนะกันดังนี้ ในชนบทนั้นๆ อย่างไม่ใช่ความ แน่ใจว่า เป็นอันท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พูดแก่ข้าพเจ้าหมายถึงภาชนะนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าเป็นการไม่ปรักปรำภาษาชนบท และ เป็นการ ไม่ล่วงเลยคำพูดสามัญข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงปรักปรำภาษาชนบท ไม่พึงล่วงเลย คำพูดสามัญ นั่นเราอาศัยเนื้อความดังนี้ กล่าวแล้ว
(อรณวิภังค์ )
[๖๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย (๑) ในอรณวิภังค์ นั้น ความประกอบเนืองๆ ซึ่ง โสมนัส ของคนที่มีความสุขเพราะสืบต่อกาม อันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของ ปุถุชน ไม่ใช่ ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ นี้เป็นธรรมมีทุกข์มีความคับใจ มีความ แค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้นธรรมนี้จึงยังมีกิเลส ต้อง รณรงค์ แต่การไม่ตามประกอบความประกอบเนืองๆ ซึ่งโสมนัสของคนที่มี ความสุข โดยสืบต่อ กาม อันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของ พระอริยะ ไม่ประกอบด้วย ประโยชน์ นี้เป็นธรรมไม่มีทุกข์ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบเพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงไม่มีกิเลส ต้องรณรงค์
[๖๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย (๒) ในอรณวิภังค์ นั้น ความเพียรเครื่อง ประกอบ ตน ให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์นี้ เป็นธรรม มีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้ จึงยังมีกิเลสต้องรณรงค์ แต่การไม่ตามประกอบความเพียร เครื่องประกอบตน ให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วย ประโยชน์ นี้เป็นธรรม ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงไม่มีกิเลสต้องรณรงค์
[๖๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย (๓) ในอรณวิภังค์ นั้น ความปฏิบัติปานกลาง อันตถาคต รู้พร้อมด้วยปัญญายิ่งแล้ว เป็นข้อปฏิบัติทำให้มีจักษุ ทำให้มีญาณเป็นไป เพื่อความเข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน นี้เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงไม่มีกิเลสต้องรณรงค์
[๖๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย (๔) ในอรณวิภังค์ นั้น การยกยอ การตำหนิ และ ไม่ใช่ เป็นการแสดงธรรม นี้เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจมีความ เร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงยังมีกิเลสต้องรณรงค์ แต่การไม่ ยกยอ การไม่ตำหนิ การแสดงแต่ธรรมเท่านั้น นี้เป็นธรรมไม่มีทุกข์ไม่มีความคับใจ ไม่มีความ แค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบเพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงไม่มี กิเลส ต้องรณรงค์
[๖๖๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย (๕) ในอรณวิภังค์ นั้น กามสุขนี้ใด เป็นสุข อากูล สุขของปุถุชน สุขไม่ประเสริฐ ธรรมนั้นมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความ เร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึง มีกิเลสต้องรณรงค์.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย (๖) ในอรณวิภังค์ นั้น สุขอาศัยเนกขัมมะ สุขเกิดแต่ความ สงัด สุขเกิดแต่ความสงบ สุขเกิดแต่ความตรัสรู้ นี้เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มี ความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบเพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงไม่มี กิเลส ต้องรณรงค์
[๖๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย (๗) ในอรณวิภังค์ นั้น วาทะลับหลังซึ่ง ไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ นี้เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงยังมีกิเลส ต้องรณรงค์ แม้วาทะลับหลังซึ่งจริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์นี้เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้ก็ยังมีกิเลสต้องรณรงค์ ส่วนวาทะลับหลังซึ่งจริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ นี้เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงไม่มีกิเลสต้องรณรงค์
[๖๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย (๘) ในอรณวิภังค์ นั้น คำกล่าวล่วงเกิน ต่อหน้า ซึ่งไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ นี้เป็นธรรมมีทุกข์ มีความ คับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงยังมี กิเลส ต้องรณรงค์ แม้คำกล่าวล่วงเกินต่อหน้าซึ่งจริงแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
นี้เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อนเป็นความปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงยังมีกิเลสต้องรณรงค์ แต่คำกล่าวล่วงเกินต่อหน้าซึ่งจริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ นี้เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงไม่มีกิเลสต้องรณรงค์
[๖๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย (๙) ในอรณวิภังค์ นั้น คำที่ผู้รีบด่วนพูด นี้เป็น ธรรม มีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิดเพราะ ฉะนั้น ธรรมนี้จึงยังมีกิเลสต้องรณรงค์ แต่คำที่ผู้ไม่รีบด่วนพูด นี้เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความ คับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ เพราะฉะนั้น ธรรมนี้ จึงไม่มีกิเลสต้องรณรงค์
[๖๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย (๑๐) ในอรณวิภังค์ นั้น การปรักปรำภาษา ชนบท และ การล่วงเลยคำพูดสามัญ นี้เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความ เร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงยังมีกิเลสต้องรณรงค์ แต่การ ไม่ปรักปรำ ภาษาชนบท และการไม่ล่วงเลยคำพูดสามัญ นี้เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ เพราะฉะนั้น ธรรมนี้ จึงไม่มีกิเลสต้องรณรงค์
[๖๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้แลว่า เราทั้งหลายจักรู้ธรรมยังมีกิเลสต้องรณรงค์ และรู้ธรรมไม่มีกิเลสต้องรณรงค์ ครั้นรู้แล้ว จักปฏิบัติปฏิปทา ไม่มีกิเลสต้องรณรงค์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แหละกุลบุตรสุภูติ ปฏิบัติปฏิปทาไม่มีกิเลสต้องรณรงค์แล้ว
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาคแล
จบ อรณวิภังคสูตร ที่ ๙ |