พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๓๕๖
๗. ปรายนสูตร
(ภิกษุสนทนากันเรื่องส่วนสุดที่๑ ส่วนสุดที่๒ อะไรเป็นท่ามกลาง อะไรเป็นเครื่องร้อยรัด)
[๓๓๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ก็สมัยนั้น เมื่อภิกษุผู้เถระหลายรูป กลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัต นั่งประชุมกันอยู่ที่โรงกลม ได้เกิดการสนทนากันขึ้น ในระหว่างว่า
ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ ในปัญหาของ เมตเตยยมาณพ ในปรายนสูตร ว่าผู้ใดทราบส่วนสุดทั้งสองด้วยปัญญาแล้ว ไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลาง เรากล่าวผู้นั้น ว่าเป็นมหาบุรุษ ผู้นั้นก้าวล่วงเครื่อง ร้อยรัดในโลกนี้ได้แล้ว ดังนี้
ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ส่วนสุดที่ ๑ เป็นไฉนหนอ ส่วนสุดที่ ๒ เป็นไฉน อะไรเป็นส่วนท่ามกลาง อะไรเป็นเครื่องร้อยรัด เมื่อสนทนากันอย่างนี้แล้ว ภิกษุ รูปหนึ่ง ได้กล่าวกะภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า
ดูกรอาวุโสทั้งหลาย
ผัสสะ เป็นส่วนสุดที่ ๑
เหตุเกิดขึ้นแห่งผัสสะ เป็นส่วนสุดที่ ๒
ความดับแห่งผัสสะ เป็นส่วนท่ามกลาง
ตัณหา เป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาย่อมร้อยรัดผัสสะ และเหตุเกิดขึ้นแห่ง ผัสสะนั้น เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้นๆ
ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าย่อมรู้ยิ่ง ธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ย่อมกำหนดรู้ธรรม ที่ควร กำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุด แห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันเทียว
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่ง ได้กล่าวกะภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ว่า
ดูกรอาวุโสทั้งหลาย
อดีต เป็นส่วนสุดที่ ๑
อนาคต เป็นส่วนสุดที่ ๒
ปัจจุบัน เป็นส่วนท่ามกลาง
ตัณหา เป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาย่อมร้อยรัด อดีต อนาคต และปัจจุบัน นั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้นๆ
ด้วยเหตุเท่านี้แลภิกษุชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ย่อมกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ ได้ในปัจจุบันเทียว
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกะภิกษุผู้เถระ ทั้งหลายว่า
ดูกรอาวุโสทั้งหลาย
สุขเวทนา เป็นส่วนสุดที่ ๑
ทุกขเวทนา เป็นส่วนสุดที่ ๒
อทุกขมสุขเวทนา เป็นส่วนท่ามกลาง
ตัณหา เป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาย่อมร้อยรัด สุขเวทนา ทุกขเวทนา และ อทุกขมสุขเวทนานั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้นๆ
ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ย่อมกำหนดรู้ธรรมที่ควร กำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุด แห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันเทียว
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกะภิกษุ ผู้เถระทั้งหลายว่า
ดูกรอาวุโสทั้งหลาย
นาม เป็นส่วนสุดที่ ๑
รูป เป็นส่วนสุดที่ ๒
วิญญาณ เป็นส่วนท่ามกลาง
ตัณหา เป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาย่อมร้อยรัดนาม รูป และวิญญาณนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้นๆ
ด้วยเหตุเท่านี้แลภิกษุชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ ได้ ในปัจจุบันเทียว
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกะภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า
ดูกรอาวุโสทั้งหลาย
อายตนะภายใน ๖ เป็นส่วนสุดที่ ๑
อายตนะภายนอก ๖ เป็นส่วนสุดที่ ๒
วิญญาณ เป็นส่วนท่ามกลาง
ตัณหา เป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาย่อมร้อยรัด อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ และวิญญาณนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้นๆ
ด้วยเหตุเท่านี้แลภิกษุชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ ได้ ในปัจจุบันเทียว
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกะภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า
ดูกรอาวุโสทั้งหลาย
สักกายะ เป็นส่วนสุดที่ ๑
เหตุเกิดสักกายะ เป็นส่วนสุดที่ ๒
ความดับสักกายะ เป็นส่วนท่ามกลาง
ตัณหา เป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัดสักกายะ เหตุเกิดสักกายะ และความดับสักกายะนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้นๆ
ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ ได้ในปัจจุบันเทียว
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกะภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า
ดูกรอาวุโสทั้งหลาย
พวกเราทั้งปวงเทียวได้พยากรณ์ ตามปฏิภาณของตนๆมาเถิด เราทั้งหลายจักพากัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วจักกราบทูล เนื้อความนั้นให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์แก่พวกเรา โดยประการใด เราทั้งหลายจักทรงจำ ข้อที่ทรงพยากรณ์นั้นไว้โดยประการนั้น
ภิกษุผู้เถระทั้งหลายรับคำของภิกษุนั้นแล้ว ครั้งนั้น ภิกษุผู้เถระทั้งหลายได้พากัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูล การที่สนทนาปราศรัยทั้งหมดนั้นแด่พระผู้มีพระภาค แล้วทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญคำ ของใครหนอเป็นสุภาษิต
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำของเธอทั้งปวงเป็นสุภาษิตโดยปริยาย (กล่าวแบบอ้อมๆ) อนึ่ง เราหมายเอา ข้อความที่กล่าวไว้ในปัญหาของ เมตเตยยมาณพ ในปรายนสูตร ว่าผู้ใดทราบส่วนสุดทั้ง ๒ ด้วยปัญญา แล้วไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลาง เรากล่าวผู้นั้น ว่า เป็นมหาบุรุษ ผู้นั้นก้าวล่วงเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้แล้วดังนี้
เธอทั้งหลายจงฟังข้อความนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับ พระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ผัสสะ เป็นส่วนสุดที่ ๑
เหตุเกิดผัสสะ เป็นส่วนสุดที่ ๒
ความดับผัสสะ เป็นส่วนท่ามกลาง
ตัณหา เป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาย่อมร้อยรัดผัสสะ เหตุเกิดผัสสะ และ ความดับผัสสะนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้นๆ
ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุจึงชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ ได้ ในปัจจุบันเทียว
จบสูตรที่ ๗
|