เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ            

 
 ทีฆชาณุสูตร ธรรม ๔ ประการ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบัน 1428
 

(โดยย่อ)

ทีฆชาณุสูตร
ธรรม ๔ ประการ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบัน แก่กุลบุตร ๔ ประการเป็นไฉนคือ
1.อุฏฐานสัมปทา (ขยัน ไม่เกียจคร้าน)
2.อารักขสัมปทา (หาทรัพมาย์ด้วยความชอบธรร มและคุ้มครองทรัพย์นั้น)
3.กัลยาณมิตตตา (ทำตัวเป็นกัลยาณมิตรที่ดีกับ สังคม เพื่อนบ้าน)
4.สมชีวิตา (ใช่ทรัพย์อย่างพอเหมาะ รายได้ต้องมากกว่ารายจ่าย)
-------------------------------------------------------------------------------------------------
ถ้ากุลบุตรผู้นี้มีรายได้น้อย
แต่เลี้ยงชีวิตอย่างโอ่โถง จะมีผู้ว่าเขาว่ากุลบุตรผู้นี้ใช้โภคทรัพย์ เหมือนคนเคี้ยวกิน ผลมะเดื่อ ฉะนั้น

ถ้ากุลบุตรผู้ที่มีรายได้มาก
แต่เลี้ยงชีพอย่างฝืดเคือง จะมีผู้ว่าเขาว่า กุลบุตรผู้นี้ จักตาย อย่างอนาถา

แต่เพราะกุลบุตรผู้นี้เลี้ยงชีพพอเหมาะ
รู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเรา จักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าสมชีวิตา
-------------------------------------------------------------------------------------------------
โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมมีทางเสื่อม๔ ประการ คือ
  1.เป็นนักเลงหญิง
  2.เป็นนักเลงสุรา
  3.เป็นนักเลงการพนัน
  4.มีมิตรชั่ว สหายชั่ว เพื่อนชั่ว

โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมมีทางเจริญ ๔ ประการ คือ
  1.ไม่เป็นนักเลงหญิง
  2.ไม่เป็นนักเลงสุรา
  3.ไม่เป็นนักเลงการพนัน
  4.มีมิตรดี สหายดี เพื่อนดี
-------------------------------------------------------------------------------------------------
ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ในภายหน้าแก่กุลบุตร คือ
1.สัทธาสัมปทา 2.สีลสัมปทา 3.จาคสัมปทา 4.ปัญญาสัมปทา

พระสูตรนี้ รวมธรรม ๘ ประการ (๔+๔) ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบัน
(อุฏฐานสัมปทา อารักขสัมปทา กัลยาณมิตตตา สมชีวิตา)
(สัทธาสัมปทา สีลสัมปทา จาคสัมปทา ปัญญาสัมปทา)


เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
รวมพระสูตร
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
(ดูทั้งหมด)

 


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๒๕๖-๒๖๐


ทีฆชาณุสูตร
ธรรม ๔ ประการ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบัน


                [๑๔๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมแห่งชาว โกฬิยะชื่อ กักกรปัตตะ ใกล้เมืองโกฬิยะ ครั้งนั้นแล โกฬิยบุตรชื่อทีฆชาณุ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นคฤหัสถ์ ยังบริโภคกาม อยู่ครองเรือน นอนเบียดบุตร ใช้จันทน์ในแคว้นกาสี ยังทรงดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ ยังยินดีเงินและทองอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค โปรดแสดงธรรมที่เหมาะแก่ข้าพระองค์ อันจะพึงเป็นไป เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบัน เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในภายหน้าเถิด

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไป เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบัน แก่กุลบุตร ๔ ประการเป็นไฉน คือ
  อุฏฐานสัมปทา ๑
  อารักขสัมปทา ๑
  กัลยาณมิตตตา ๑
  สมชีวิตา ๑

            ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็อุฏฐานสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ เลี้ยงชีพ ด้วยการหมั่นประกอบการงาน คือ กสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม รับราชการ ฝ่ายทหาร รับราชการฝ่ายพลเรือน หรือศิลปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน ในการงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอดส่อง อันเป็นอุบาย ในการงานนั้น สามารถจัดทำได้ ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าอุฏฐานสัมปทา

            ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็อารักขสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ มีโภคทรัพย์ ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรม ตัวชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้น ไว้ได้พร้อมมูล ด้วยทำไว้ในใจ ว่า ไฉนหนอ พระราชาไม่พึงบริโภคทรัพย์เหล่านี้ของเรา โจรไม่พึงลัก ไฟไม่พึงไหม้ น้ำไม่พึงพัดไป ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักจะไม่พึงลักไป ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่า อารักขสัมปทา

            ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็กัลยาณมิตตตาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ อยู่อาศัย ในบ้าน หรือนิคมใด ย่อมดำรงตน เจรจา สั่งสนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคมนั้น ซึ่งเป็นคฤหบดี หรือบุตรคฤหบดี เป็นคนหนุ่มหรือคนแก่ ผู้มีสมาจารบริสุทธิ์ ผู้ถึงพร้อม ด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ศึกษาศรัทธาสัมปทา ตามผู้ถึงพร้อมด้วย ศรัทธา ศึกษาศีลสัมปทา ตามผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ศึกษาจาคสัมปทา ตามผู้ถึงพร้อม ด้วย จาคะ ศึกษาปัญญาสัมปทา ตามผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้ เรียกว่ากัลยาณมิตตตา

            ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็สมชีวิตาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ รู้ทางเจริญทรัพย์ และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเรา จักต้องไม่เหนือรายได้ ดูกรพยัคฆปัชชะ เปรียบเหมือนคนชั่งตราชั่ง หรือลูกมือ คนชั่งตราชั่ง ยกตราชั่งขึ้นแล้ว ย่อมลดออกเท่านี้ หรือต้องเพิ่มเข้าเท่านี้ ฉันใด กุลบุตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน รู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพ พอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือ รายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้

            ดูกรพยัคฆปัชชะ ถ้ากุลบุตรผู้นี้มีรายได้น้อย แต่เลี้ยงชีวิตอย่างโอ่โถง จะมีผู้ว่าเขาว่า กุลบุตรผู้นี้ใช้โภคทรัพย์ เหมือนคนเคี้ยวกินผลมะเดื่อ ฉะนั้น ก็ถ้ากุลบุตรผู้ที่มีรายได้มาก แต่เลี้ยงชีพอย่างฝืดเคือง จะมีผู้ว่าเขาว่า กุลบุตรผู้นี้ จักตาย อย่างอนาถา แต่เพราะกุลบุตรผู้นี้ รู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเรา จักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าสมชีวิตา

--------------------------------------------------------------------------------------------------------
(ใช้ทรัพย์ที่เป็นไปในทางเสื่อม)

            ดูกรพยัคฆปัชชะ โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้แล้ว
ย่อมมีทางเสื่อม๔ ประการ คือ
  เป็นนักเลงหญิง ๑
  เป็นนักเลงสุรา ๑
  เป็นนักเลงการพนัน ๑
  มีมิตรชั่ว สหายชั่ว เพื่อนชั่ว ๑

            ดูกรพยัคฆปัชชะ เปรียบเหมือนสระน้ำใหญ่มีทางไหลเข้า ๔ ทาง ทางไหลออก ๔ ทาง บุรุษพึงปิดทางไหลเข้า เปิดทางไหลออกของสระนั้น ฝนก็มิตกต้องตามฤดูกาล ด้วยประการฉะนี้ สระน้ำใหญ่นั้น พึงหวังความเสื่อม อย่างเดียว ไม่มีความเจริญเลย ฉันใด โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้ ก็ฉันนั้น เหมือนกัน ย่อมมีทางเสื่อม ๔ ประการ คือ เป็นนักเลงหญิง ๑ เป็นนักเลงสุรา ๑ เป็นนักเลงการพนัน ๑ มีมิตรชั่ว สหายชั่วเพื่อนชั่ว ๑

(ใช้ทรัพย์ที่เป็นไปใน ทางเจริญ)

            ดูกรพยัคฆปัชชะ โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้แล้ว
ย่อมมีทางเจริญ ๔ ประการ คือ
  ไม่เป็นนักเลงหญิง ๑
  ไม่เป็นนักเลงสุรา ๑
  ไม่เป็นนักเลงการพนัน ๑
  มีมิตรดี สหายดี เพื่อนดี ๑

            ดูกรพยัคฆปัชชะ เปรียบเหมือนสระน้ำใหญ่ มีทางไหลเข้า ๔ ทาง ไหลออก ๔ ทาง บุรุษพึงเปิดทางไหลเข้าปิดทางไหลออก ของสระนั้น ทั้งฝน ก็ตกต้องตามฤดูกาล ด้วยประการฉะนี้สระน้ำใหญ่นั้น พึงหวังความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม ฉันใด โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมมีทางเจริญ ๔ ประการ คือ ไม่เป็นนักเลงหญิง ๑ ไม่เป็นนักเลงสุรา ๑ ไม่เป็นนักเลงการพนัน ๑ มีมิตรดีสหายดี เพื่อนดี ๑ ดูกรพยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุข ในปัจจุบันแก่กุลบุตร
--------------------------------------------------------------------------------------------------------

            ดูกรพยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ในภายหน้าแก่กุลบุตร ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ
สัทธาสัมปทา ๑ สีลสัมปทา ๑ จาคสัมปทา ๑ ปัญญาสัมปทา ๑

            ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็สัทธาสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้มีศรัทธาคือ เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดูกรพยัคฆปัชชะนี้เรียกว่าสัทธาสัมปทา

            ดูกรพยัคฆปัชชะ สีลสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ เป็นผู้งดเว้นจาก ปาณาติบาต ฯลฯ เป็นผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่ง ความประมาท ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าสีลสัมปทา

            ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็จาคสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ มีจิตปราศจาก มลทินคือความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามือชุ่มยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน ดูกรพยัคฆปัชชะนี้เรียกว่าจาคสัมปทา

            ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็ปัญญาสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญา ที่เห็นความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึง ความสิ้นทุกข์โดยชอบ ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าปัญญาสัมปทา ดูกรพยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุข ในภายหน้า แก่กุลบุตร

            คนหมั่นในการทำงาน ไม่ประมาท จัดการงานเหมาะสม เลี้ยงชีพพอเหมาะ รักษาทรัพย์ที่หามาได้ มีศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล รู้ถ้อยคำ ปราศจากความตระหนี่ ชำระ ทางสัมปรายิกประโยชน์เป็นนิตย์

            ธรรม ๘ ประการ* ดังกล่าวนี้ของผู้ครองเรือน ผู้มีศรัทธา อันพระพุทธเจ้าผู้มี พระนาม อันแท้จริงตรัสว่า นำสุขมาให้ในโลกทั้งสอง คือ ประโยชน์ในปัจจุบันนี้ และความสุขในภายหน้า บุญ คือ จาคะนี้ย่อมเจริญแก่ คฤหัสถ์ด้วยประการฉะนี้

*(ธรรม ๘ ประการคือ)
อุฏฐานสัมปทา ๑
อารักขสัมปทา ๑
กัลยาณมิตตตา ๑
สมชีวิตา ๑
สัทธาสัมปทา ๑
สีลสัมปทา ๑
จาคสัมปทา ๑
ปัญญาสัมปทา ๑






พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์