เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
 พาหิยะสูตร ในพระไตรปิฎก มี 3 พระสูตร เป็นกุลบุตร1พระสูตร .. เป็นภิกษุ 2พระสูตร 1311
 

(โดยย่อ)

พาหิยะสูตร ในพระไตรปิฎก มี 3 พระสูตร
1. เป็นกุลบุตรพาหิยทารุจีริยะ(แม่โคขวิดจนเสียชีวิต) ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๕๗
2. เป็นพระพาหิยะ ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖๓
3. เป็นพระพาหิยะ ฉบับหลวงเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๑

ทั้ง 3 พระสูตร มีความคล้ายกัน คือ
1. ขอให้พระผู้มีพระภาคโปรดทรงแสดงธรรม
โดยย่อ
    (พาหิยทารุจีริยะ ได้กระทำให้แจ้งถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ณ เวลานั้น)
2. ท้ายพระสูตร ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย
   (พระพาหิยะ 2 รูป หลีกออกจากหมู่ กระทำให้แจ้ง ซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ในเวลาต่อมา)

ทั้ง 3 พระสูตร พระผู้มีพระภาคแสดงธรรม ด้วยบทธรรมที่แตกต่างกัน
1. กุลบุตรพาหิยทารุจีริยะ แสดงธรรมเรื่อง "อนัตตา" คือความไม่มีตัวของของขันธ์ 5 (แบบย่อ)
   - เมื่อเห็น สักแต่ว่าเห็น
   - เมื่อฟัง สักแต่ว่าฟัง
   - เมื่อทราบ สักแต่ว่าทราบ (พระองค์รวบ กลิ่น-รส-โผฏฐัพพะ เข้าด้วยกัน )
   - เมื่อรู้แจ้ง (ธรรมารมณ์) สักแต่ว่ารู้แจ้ง
   - ในกาลนั้น ท่านย่อม ไม่มี
   - ในกาลใดท่านไม่มี ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มีในโลกนี้
   - ย่อมไม่มีในโลกหน้า ย่อมไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง
   - นี้แล เป็นที่สุดแห่งทุกข์
2. พระพาหิยะ ทรงแสดงธรรมด้วยเรื่อง ความไม่เที่ยงของขันธ์ ๕ และอายตนะภายนอก-ภายใน
3. พระพาหิยะ ทรงแสดงธรรมด้วยเรื่อง ศีลเป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรม และ สติปัฏฐาน ๔

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
รวมพระสูตร
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
(ดูทั้งหมด)
1)
๑๐.พาหิยสูตร
ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๕๗


     [๔๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอาราม ของท่าน อนาถบิณฑิก เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล กุลบุตรชื่อ พาหิยทารุจีริยะ ...(แม่โคลูกอ่อนขวิดจนเสียชีวิต)


------------------------------------------------------------------------------------------------
2)
พาหิยสูตร
ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘  หน้าที่ ๖๓


     [๑๑๘] ครั้งนั้นแล ท่านพระพาหิยะ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ฯลฯ

------------------------------------------------------------------------------------------------
3)
พาหิยสูตร (ศีล เป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรม)
ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙  หน้าที่ ๑๘๑
 
     [๗๔๗] สาวัตถีนิทาน.ครั้งนั้น ท่านพระพาหิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ ประทับถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๕๗

(สูตร ๑)
๑๐. พาหิยสูตร

        [๔๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล กุลบุตรชื่อพาหิยทารุจีริยะ อาศัย อยู่ที่ ท่าสุปปารกะใกล้ฝั่งสมุทร เป็นผู้อันมหาชนสักการะ เคารพ นับถือบูชา ยำเกรง ได้จีวร บิณฑบาตเสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร

ครั้งนั้นแล พาหิยทารุจีริยะหลีกเร้นอยู่ในที่ลับ เกิดความปริวิตกแห่งใจอย่างนี้ว่า เรา เป็นคนหนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ หรือผู้ถึงอรหัตตมรรคในโลก ลำดับนั้นแลเทวดา ผู้เป็นสายโลหิต ในกาลก่อนของพาหิยทารุจีริยะ เป็นผู้อนุเคราะห์ หวังประโยชน์ ได้ทราบความปริวิตกแห่งใจของพาหิยทารุจีริยะ ด้วยใจ แล้วเข้าไปหาพาหิย ทารุจีริยะ

ครั้นแล้วได้กล่าวว่า ดูกรพาหิยะ ท่านไม่เป็นพระอรหันต์ หรือไม่เป็นผู้ถึง อรหัตตมรรค อย่างแน่นอน ท่านไม่มีปฏิปทาเครื่องให้เป็นพระอรหันต์ หรือ เครื่องเป็น ผู้ถึงอรหัตตมรรค พาหิยทารุจีริยะถามว่า เมื่อเป็นอย่างนั้น บัดนี้ใครเล่า เป็นพระอรหันต์ หรือเป็นผู้ถึง อรหัตตมรรคในโลกกับเทวโลก

เทวดาตอบว่า ดูกรพาหิยะ ในชนบททางเหนือ มีพระนครชื่อว่าสาวัตถี บัดนี้ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ประทับอยู่ในพระนครนั้น ดูกรพาหิยะ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแล เป็นพระอรหันต์อย่างแน่นอน ทั้งทรงแสดงธรรม เพื่อความเป็นพระอรหันต์ด้วย

ลำดับนั้นแล พาหิยทารุจีริยะผู้อันเทวดานั้นให้สลดใจแล้ว หลีกไปจากท่าสุปปารกะ ในทันใดนั้นเอง ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคผู้ประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน อาราม ของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐีใกล้พระนครสาวัตถี โดยการพักแรมสิ้นราตรีหนึ่ง ในที่ทั้งปวง ฯ

        [๔๘] ก็สมัยนั้นแล ภิกษุมากด้วยกันจงกรมอยู่ในที่แจ้ง พาหิยทารุจีริยะ เข้า ไปหา ภิกษุทั้งหลายถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้ถามภิกษุเหล่านั้นว่า ข้าแต่ท่านทั้งหลาย ผู้เจริญ บัดนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ ข้าพเจ้าประสงค์ จะเฝ้าพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า

ดูกรพาหิยะ พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปสู่ละแวกบ้าน เพื่อบิณฑบาต ลำดับนั้นแล พาหิยทารุจีริยะ รีบด่วนออกจากพระวิหารเชตวัน เข้าไปยังพระนครสาวัตถี ได้เห็น พระผู้มีพระภาค กำลังเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี น่าเลื่อมใส ควรเลื่อมใส มีอินทรีย์สงบ มีพระทัยสงบ ถึงความฝึกและความสงบอันสูงสุด มีตน อันฝึกแล้ว คุ้มครองแล้ว มีอินทรีย์สำรวมแล้วผู้ประเสริฐ แล้วได้เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค หมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค ด้วยเศียรเกล้าแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค โปรดทรงแสดง ธรรมแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดทรงแสดงธรรม ที่จะพึงเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ข้าพระองค์สิ้นกาลนานเถิด ฯ

        [๔๙] เมื่อพาหิยทารุจีริยะกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรพาหิยะ เวลานี้ยังไม่สมควรก่อน เพราะเรายังเข้าไปสู่ละแวกบ้าน เพื่อบิณฑบาตอยู่ แม้ครั้งที่ ๒ พาหิยทารุจีริยะก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิต ของพระผู้มีพระภาคก็ดี ความเป็นไปแห่งอันตราย แก่ชีวิตของข้าพระองค์ก็ดี รู้ได้ยากแล

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค โปรดทรง แสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดทรงแสดงธรรม ที่จะพึงเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด ฯ    

แม้ครั้งที่ ๒...แม้ครั้งที่ ๓ พาหิยทารุจีริยะ ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิต ของพระผู้มีพระภาค ก็ดีความเป็นไป แห่งอันตราย แก่ชีวิตของข้าพระองค์ก็ดี รู้ได้ยากแล ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรด ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ข้าพระองค์สิ้นกาลนานเถิด ฯ

        พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพาหิยะ เพราะเหตุนั้นแล ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเห็น จักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง

ดูกรพาหิยะ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล

        ดูกรพาหิยะ ในกาลใดแล เมื่อท่านเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่า ฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง ในกาลนั้น ท่านย่อม ไม่มี ในกาลใดท่านไม่มี ในกาลนั้นท่านย่อมไม่มีในโลกนี้ ย่อมไม่มีในโลกหน้า ย่อมไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง นี้แล เป็นที่สุดแห่งทุกข์

        ลำดับนั้นแล จิตของพาหิยทารุจีริยะ กุลบุตรหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นในขณะนั้นเอง ด้วยพระธรรมเทศนาโดยย่อนี้ ของพระผู้มีพระภาค ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสสอนพาหิยทารุจีริยะกุลบุตร ด้วยพระโอวาท โดยย่อนี้แล้ว เสด็จหลีกไป ฯ

        [๕๐] ครั้งนั้นแล เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน แม่โคลูกอ่อนขวิด พาหิยทารุจีริยะให้ล้มลงปลงเสียจากชีวิต ครั้นพระผู้มี พระภาค เสด็จเที่ยวบิณฑบาต ในพระนครสาวัตถี เสด็จกลับจากบิณฑบาต ในเวลาปัจฉาภัต เสด็จออกจากพระนคร พร้อมกับภิกษุเป็นอันมาก ได้ทอดพระเนตร เห็นพาหิยทารุจีริยะ ทำกาละแล้ว จึงตรัส กะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย จงช่วยกันจับสรีระ ของ พาหิยทารุจีริยะ ยกขึ้นสู่เตียงแล้ว จงนำไปเผาเสีย แล้วจงทำสถูปไว้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะ ประพฤติธรรมอันประเสริฐ เสมอกับท่านทั้งหลาย ทำกาละแล้ว ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ช่วยกันยกสรีระของ พระพาหิยทารุจีริยะ ขึ้นสู่เตียง แล้วนำไปเผา และทำสถูปไว้แล้ว เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ได้นั่งอยู่ณ ที่ควรข้างหนึ่ง

ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สรีระของ พาหิยทารุจีริยะ ข้าพระองค์ทั้งหลายเผาแล้ว และสถูปของพาหิยทารุจีริยะนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลาย ทำไว้แล้วคติของพาหิยทารุจีริยะนั้นเป็นอย่างไร ภพเบื้องหน้าของเขาเป็นอย่างไร ฯ

        พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะ เป็นบัณฑิต ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งไม่ทำเราให้ลำบาก เพราะเหตุแห่งการ แสดงธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะปรินิพพานแล้ว

        ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้น ว่า

ดิน น้ำ ไฟ และลม ย่อมไม่หยั่งลงในนิพพานธาตุใด
ในนิพพานธาตุ นั้น
ดาวทั้งหลายย่อมไม่สว่าง
พระอาทิตย์ย่อมไม่ปรากฏ
พระจันทร์ย่อมไม่สว่าง
ความมืดย่อมไม่มี
ก็เมื่อใด พราหมณ์ชื่อว่าเป็นมุนีเพราะรู้ (สัจจะ ๔) รู้แล้วด้วยตน
เมื่อนั้น พราหมณ์ย่อมหลุดพ้น จากรูป และ อรูป จากสุข และทุกข์


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๖๓

(สูตร ๒)
พาหิยสูตร

         [๑๑๘] ครั้งนั้นแล ท่านพระพาหิยะ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่  ประทับ ฯลฯครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอ  ประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ โดยย่อ  ที่ข้าพระองค์ได้ฟังแล้วพึงเป็นผู้ๆ เดียวหลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว อยู่เถิด

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรพาหิยะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน จักษุเที่ยง หรือไม่เที่ยง
ท่านพระพาหิยะกราบทูลว่า ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า
พา. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ หนอที่จะตาม เห็น สิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา
พา. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า

พ. รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง
พา. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ

พ. จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุข เวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย เที่ยงหรือไม่เที่ยง
พา. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า
พา. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา
พา. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า

พ. ใจเที่ยงหรือไม่เที่ยง
พา. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า
พา. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอที่จะตาม เห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา
พา. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ธรรมารมณ์เที่ยงหรือไม่เที่ยง
พา. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ

พ. มโนวิญญาณ มโนสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุข เวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เที่ยงหรือไม่เที่ยง
พา. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า
พา. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาควร หรือหนอที่จะตาม เห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา
พา. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า

         พ. ดูกรพาหิยะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย ทั้งในจักษุ ทั้งในรูป ทั้งในจักษุวิญญาณ ทั้งในจักษุสัมผัส ทั้งในสุขเวทนา  ทุกขเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ฯลฯ

ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในใจ ทั้งในธรรมารมณ์ ทั้งในมโนวิญญาณ ทั้งในมโนสัมผัส ทั้งในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัส เป็นปัจจัย เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อ หลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว  พรหมจรรย์ อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จ แล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้ มี

         [๑๑๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระพาหิยะ ชื่นชมยินดีพระภาษิต ของพระผู้มี พระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วหลีกไป ครั้งนั้นแล ท่านพระพาหิยะเป็นผู้ๆเดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจ เด็ดเดี่ยว กระทำให้แจ้ง ซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ซึ่งกุลบุตร ทั้งหลาย ออกบวชเป็นบรรพชิต โดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ได้รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้วกิจที่ควร  ทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มีได้มี ก็แหละท่านพระพาหิยะได้ เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๑๘๑

(สูตร ๓)
พาหิยสูตร
ศีลเป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรม


         [๗๔๗] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น ท่านพระพาหิยะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ซึ่งข้าพระองค์ ได้ฟังแล้ว จะพึงเป็นผู้หลีกออกจากหมู่ อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจ เด็ดเดี่ยวเถิด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพาหิยะ เพราะฉะนั้น เธอจงชำระเบื้องต้น ในกุศลธรรม ให้บริสุทธิ์เสียก่อน ก็อะไรเป็นเบื้องต้นของกุศลธรรม คือศีลที่บริสุทธิ์ดี และ ความเห็นอันตรง.

        [๗๔๘] ดูกรพาหิยะ เมื่อใดแล ศีลของเธอจักบริสุทธิ์ดี และความเห็นของ เธอ จักตรง เมื่อนั้น เธอพึงอาศัยศีล ตั้งมั่นในศีล แล้วเจริญสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน? ดูกรพาหิยะ เธอจงพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชญาและโทมนัสในโลกเสีย พิจารณาเห็นเวทนา ในเวทนาอยู่ ... พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ...พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย เมื่อใด เธออาศัยศีล ตั้งมั่นอยู่ในศีลแล้ว จักเจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ อย่างนี้เมื่อนั้น เธอพึงหวังความเจริญ ในกุศลธรรมทั้งหลายได้ทีเดียว ตลอดราตรีหรือวันที่จักมาถึง ไม่มีความเสื่อมเลย.

        [๗๔๙] ครั้งนั้น ท่านพระพาหิยะชื่นชม อนุโมทนา ภาษิตของพระผู้มีพระภาค แล้วลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ท่านพระพาหิยะหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่นานนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุด แห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลาย ออกบวชเป็นบรรพชิต โดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี และท่านพระพาหิยะเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย






พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์