เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
 รวมพระสูตร เรื่องพระราธะ # 4 1055
 
รวมพระสูตร เรื่องพระราธะ
 
 


ราธะ จากหนังสือ
อริยสัจจจากพระโอษฐ์
(พระสูตรที่ตรัสกับ ราธะ และพระสูตรที่ตรัสกับ ภิกษุ ท.)

หน้าที่ ๒๓๓ เบญจขันธ์ไม่เที่ยง (ตรัสกับ ภิกษุ ท.)
หน้าที่ ๒๓๔ สมุทยธรรม วยธรรม นิโรธธรรม 
หน้าที่ ๒๓๖ เบญจขันธ์เป็นทุกข์
หน้าที่ ๒๓๗ นั่นไม่ใช่ของเรา  นั่น  ไม่ใช่เรา  นั่น  ไม่ใช่ตัวตนของเรา (ตรัสกับ ภิกษุ ท.)
หน้าที่ ๒๓๘ เหตุปัจจัยของเบญจขันธ์ก็เป็นทุกข์ (ตรัสกับ ภิกษุ ท.)
หน้าที่ ๒๓๙ เบญจขันธ์เป็นอนัตตา (ตรัสกับ ภิกษุ ท.)
หน้าที่ ๒๔๐ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา
หน้าที่ ๒๔๓ สิ่งใดมิใช่ของเรา (ตรัสกับ ภิกษุ ท.)
หน้าที่ ๒๔๕ เหตุปัจจัยของเบญจขันธ์ก็เป็นอนัตตา (ตรัสกับ ภิกษุ ท.)
หน้าที่ ๒๔๖-๑ เบญจขันธ์เป็นภาระที่หนัก (ตรัสกับ ภิกษุ ท.)
หน้าที่ ๒๔๖ เบญจขันธ์เป็นทั้ง ผู้ฆ่า และ ผู้ตาย
หน้าที่ ๒๔๗ เบญจขันธ์เป็นกองถ่านเถ้ารึง (ตรัสกับ ภิกษุ ท.)
หน้าที่ ๒๔๘ เบญจขันธ์เป็นเครื่องผูกพันสัตว์ (ตรัสกับ ภิกษุ ท.)
หน้าที่ ๒๔๙ เรียกกันว่า “สัตว์” เพราะติดเบญจขันธ์
หน้าที่ ๒๕๑ ไม่รู้จักเบญจขันธ์ชื่อว่ามีอวิชชา (ตรัสกับ ภิกษุ ท.)
หน้าที่ ๒๕๑-๑ เพลินในเบญจขันธ์เท่ากับเพลินในทุกข์
(ตรัสกับ ภิกษุ ท.)
หน้าที่ ๒๕๒ ต้องละฉันทราคะ ในเบญจขันธ์
(ตรัสกับ ภิกษุ ท.)
หน้าที่ ๒๕๖ ทรงแสดงลักษณะความทุกข์ (อีกปริยายหนึ่ง)
หน้าที่ ๒๘๒ เครื่องจูงใจสู่ภพ
หน้าที่ ๒๘๓ พืชของภพ (ตรัสกับอานนท์)
หน้าที่ ๔๑๙ ละกิเลสตัณหาได้ คือละเบญจขันธ์ได้
หน้าที่ ๔๒๐ ละฉันทราคะแห่งสิ่งใด ก็คือการละซึ่งสิ่งนั้น (ตรัสกับ ภิกษุ ท.)
หน้าที่ ๔๒๑ ความสิ้นตัณหา คือ นิพพาน
หน้าที่ ๔๒๒ ที่สุดของพรหมจรรย์ คือนิพพาน

   เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
   การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
   การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
   แสวงหาสัจจะ บำเพ็ญทุกรกิริยา
   ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
   ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
   ปลงสังขาร ปรินิพพาน
   ลำดับขั้นการปรินิพพาน
   เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
   แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 



หน้าที่ 233

เบญจขันธ์ไม่เที่ยง (ตรัสกับ ภิกษุ ท.)
(รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นอย่างอื่นได้)

ภิกษุ ท. ! รูป เป็นของไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็น โดยอย่างอื่นได้
ภิกษุ ท. ! เวทนา เป็นของไม่เที่ยง  มีความแปรปรวน มีความเป็น โดยอย่างอื่นได้
ภิกษุ ท. ! สัญญา เป็นของไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็น โดยอย่างอื่นได้
ภิกษุ ท. ! สังขารทั้งหลาย เป็นของไม่เที่ยงมีความแปรปรวน  มีความเป็นโดยอย่างอื่นได้
ภิกษุ ท. ! วิญญาณเป็นของไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นโดยอย่างอื่นได้แล
- ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๘๑/๔๗๘.



หน้าที่ 234

สมุทยธรรม วยธรรม
นิโรธธรรม 

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! คนกล่าวกันว่า  สมุทยธรรม  สมุทยธรรม(มีความก่อขึ้นเป็นธรรมดา) ดังนี้ ก็สมุทยธรรมนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?  พระเจ้าข้า !”
ราธะ !  รูป เป็นสมุทยธรรม เวทนา เป็นสมุทยธรรม สัญญา เป็นสมุทยธรรม  สังขารทั้งหลาย เป็นสมุทยธรรม และวิญญาณ เป็นสมุทยธรรม แล.
.......................................................................................................

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! คนกล่าวกันว่า  วยธรรม  วยธรรม  (มีความเสื่อมเป็นธรรมดา) ดังนี้ ก็ วยธรรมนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?  พระเจ้าข้า !”
ราธะ !  รูป เป็นวยธรรม เวทนา เป็นวยธรรม สัญญา เป็นวยธรรม สังขารทั้งหลาย  เป็นวยธรรม และวิญญาณ เป็นวยธรรม แล.
.......................................................................................................

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ! คนกล่าวกันว่า นิโรธธรรม  นิโรธธรรม  (มีความดับเป็นธรรมดา) ดังนี้ ก็นิโรธธรรมนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?  พระเจ้าข้า !”
ราธะ !  รูป เป็นนิโรธธรรม เวทนา เป็นนิโรธธรรม สัญญา เป็นนิโรธธรรม สังขารทั้งหลาย เป็นนิโรธธรรม และวิญญาณ เป็น นิโรธธรรม แล.
- ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๔๑-๒/๓๘๗๓๘๖๓๘๘.



หน้าที่ 236

เบญจขันธ์เป็นทุกข์

        “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! คนกล่าวกันว่า  ทุกข์  ทุกข์  ดังนี้ ทุกข์นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? พระเจ้าข้า !”

ราธะ !  รูป เป็นทุกข์ เวทนา เป็นทุกข์ สัญญา เป็นทุกข์ สังขารทั้งหลาย เป็นทุกข์  และวิญญาณ เป็นทุกข์ แล.

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  คนกล่าวกันว่า ‘ทุกขธรรม ทุกขธรรม (มีทุกข์เป็นธรรมดา) ดังนี้ ก็ทุกขธรรมนั้น เป็นอย่างไรเล่า ? พระเจ้าข้า !”

ราธะ !  รูป เป็นทุกขธรรม เวทนา เป็นทุกขธรรม สัญญา เป็นทุกข์ธรรม  สังขารทั้งหลาย เป็นทุกขธรรม และวิญญาณ เป็นทุกขธรรม แล.

- ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๔๐/๓๘๑-๓๘๒.



หน้าที่ 237


นั่นไม่ใช่ของเรา  นั่น  ไม่ใช่เรา  นั่น  ไม่ใช่ตัวตนของเรา (ตรัสกับ ภิกษุ ท.)

ภิกษุ ท. !  รูป เป็น ทุกข์ สิ่งใด เป็นทุกข์ สิ่งนั้น เป็นอนัตตา สิ่งใด เป็นอนัตตา  พึงเห็นสิ่งนั้น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามที่เป็นจริงอย่างนี้ว่า  นั่นไม่ใช่ของเรา นั่น  ไม่ใช่เรา นั่น ไม่ใช่ตัวตนของเรา  ดังนี้

ภิกษุ ท. !  เวทนา เป็นทุกข์ สิ่งใด เป็นทุกข์ สิ่งนั้น เป็นอนัตตา สิ่งใด เป็นอนัตตา  พึงเห็นสิ่งนั้น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามที่เป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่น ไม่ใช่ของเรา นั่น ไม่ใช่เรา นั่น ไม่ใช่ตัวตนของเรา  ดังนี้

ภิกษุ ท. !  สัญญา เป็นทุกข์ สิ่งใด เป็นทุกข์ สิ่งนั้น เป็นอนัตตา สิ่งใด เป็นอนัตตา  พึงเห็นสิ่งนั้น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามที่เป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่น ไม่ใช่ของเรา นั่น ไม่ใช่เรา นั่น ไม่ใช่ตัวตนของเรา  ดังนี้

ภิกษุ ท. !  สังขารทั้งหลาย เป็นทุกข์ สิ่งใด เป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใด เป็นอนัตตา พึงเห็นสิ่งนั้น  ด้วยปัญญาอันชอบ  ตามที่เป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่น  ไม่ใช่ของเรา นั่น ไม่ใช่เรา นั่น  ไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้

ภิกษุ ท. !  วิญญาณ เป็นทุกข์ สิ่งใด เป็นทุกข  สิ่งนั้น เป็นอนัตตา สิ่งใด  เป็นอนัตตา พึงเห็นสิ่งนั้น  ด้วยปัญญาอันชอบ ตามที่เป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่น ไม่ใช่ของเรา นั่น ไม่ใช่เรา นั่น ไม่ใช่ตัวตนของเรา  ดังนี้ แล.

- ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๘/๔๓.




หน้าที่ 238

เหตุปัจจัยของเบญจขันธ์ก็เป็นทุกข์ (ตรัสกับ ภิกษุ ท.)

        ภิกษุ ท. !  รูป  เป็นทุกข์  ถึงแม้เหตุ  แม้ปัจจัย  เพื่อการบังเกิดขึ้นของรูป  ก็เป็นทุกข์  รูป  ที่เกิดจากเหตุปัจจัย  อันเป็นทุกข์แล้ว  จักเป็นสุขได้อย่างไร

ภิกษุ ท. !  เวทนา  เป็นทุกข์  ถึงแม้เหตุ  แม้ปัจจัย  เพื่อการบังเกิดขึ้นของเวทนา  ก็เป็นทุกข์  เวทนา  ที่เกิดจากเหตุปัจจัย  อันเป็นทุกข์แล้ว  จักเป็นสุขได้อย่างไร


ภิกษุ ท. !  สัญญา  เป็นทุกข์  ถึงแม้เหตุ  แม้ปัจจัย  เพื่อการบังเกิดขึ้นของสัญญา  ก็เป็นทุกข์  สัญญา  ที่เกิดจากเหตุปัจจัย  อันเป็นทุกข์แล้ว  จักเป็นสุขได้อย่างไร

ภิกษุ ท. !  สังขารทั้งหลาย  เป็นทุกข์  ถึงแม้เหตุ  แม้ปัจจัย  เพื่อการบังเกิดขึ้นของสังขารทั้งหลาย  ก็เป็นทุกข์  สังขาร  ที่เกิดจากเหตุปัจจัย  อันเป็นทุกข์แล้ว  จักเป็นสุขได้อย่างไร

ภิกษุ ท. !  วิญญาณ เป็นทุกข์ ถึงแม้เหตุ  แม้ปัจจัย  เพื่อการบังเกิดขึ้นของวิญญาณ ก็เป็นทุกข์  วิญญาณ ที่เกิดจากเหตุปัจจัย อันเป็นทุกข์แล้ว  จักเป็นสุขได้อย่างไร.

- ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๙/๔๖.



หน้าที่239

เบญจขันธ์เป็นอนัตตา
(ตรัสกับ ภิกษุ ท.)

        ภิกษุ ท. !  รูป เป็นอนัตตา บุคคล พึงเห็นรูปนั้น ด้วยปัญญาอันชอบ  ตามที่เป็นจริงอย่างนี้ว่า “นั่น ไม่ใช่ของเรา นั่น ไม่ใช่เรา นั่น ไม่ใช่ตัวตนของเรา”  ดังนี้ แล.

        ภิกษุ ท. !  เวทนา เป็นอนัตตา บุคคล พึงเห็นเวทนานั้น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามที่เป็นจริงอย่างนี้ว่า “นั่น ไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่น ไม่ใช่ตัวตนของเรา”  ดังนี้

        ภิกษุ ท. !  สัญญา เป็นอนัตตา บุคคล พึงเห็นสัญญานั้น ด้วยปัญญาอันชอบ  ตามที่เป็นจริงอย่างนี้ว่า “นั่น ไม่ใช่ของเรา นั่น ไม่ใช่เรา นั่น ไม่ใช่ตัวตนของเรา”  ดังนี้

        ภิกษุ ท. !  สังขารทั้งหลาย เป็นอนัตตา บุคคล พึงเห็นสังขารทั้งหลาย เหล่านั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามที่เป็นจริงอย่างนี้ ว่า “นั่น ไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่น ไม่ใช่ตัวตนของเรา” ดังนี้

        ภิกษุ ท. !  วิญญาณ เป็นอนัตตา บุคคล พึงเห็นวิญญาณนั้น ด้วยปัญญา อันชอบ ตามที่เป็นจริงอย่างนี้ ว่า “นั่น ไม่ใช่ของเรา นั่น ไม่ใช่เรา. นั่น ไม่ใช่ตัวตน ของเรา” ดังนี้ แล.

- ขนฺธ สํ. ๑๗/๒๘/๔๔.



หน้าที่ 240

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา

รูป เป็น อนัตตา ถ้ารูปเป็นอัตตาแล้วไซร้ รูปก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ (เป็นโรค) เพราะรูปเป็น อนัตตา รูป จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ อนึ่ง สัตว์ย่อมไม่ได้ในรูปตามปรารถนา ว่า รูปของเราจงเป็น อย่างนี้เถิด รูปของเรา อย่าได้ เป็นอย่างนั้นเลย


        ภิกษุ ท. !  รูป  เป็นอนัตตา.  ภิกษุ  ท. !  ถ้ารูปจักเป็นอัตตาแล้วไซร้ รูปนี้  ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ (ความถูกเบียดเบียนด้วยโรคเป็นต้น) อนึ่ง สัตว์จะพึงได้ใน รูป ตาม ปรารถนาว่า รูปของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด รูปของเรา อย่าได้เป็น อย่างนั้น เลย ดังนี้. 
        ภิกษุ  ท. ! แต่เพราะเหตุที่  รูปเป็นอนัตตา รูป จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ อนึ่ง สัตว์ ย่อม ไม่ได้ ในรูปตามปรารถนาว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด รูปของเรา อย่าได้เป็น อย่างนั้นเลย ดังนี้.

        ภิกษุ ท. !  เวทนา เป็นอนัตตา.  ภิกษุ  ท. !  ถ้าเวทนา จักเป็นอัตตาแล้ว ไซร้ เวทนานี้ ก็ไม่พึงเป็นเพื่ออาพาธ อนึ่ง สัตว์จะพึงได้ในเวทนาตาม ปรารถนาว่า  ‘เวทนา ของเราจงเป็น อย่างนี้เถิด เวทนาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย’ ดังนี้. 
        ภิกษุ ท. !  แต่เพราะเหตุที่ เวทนา เป็นอนัตตา เวทนา จึงเป็นไปเพื่อ อาพาธ อนึ่ง สัตว ย่อมไม่ได้ในเวทนาตามปรารถนาว่า เวทนาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด  เวทนาของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย’ ดังนี้.

        ภิกษุ ท. !  สัญญา เป็นอนัตตา.  ภิกษุ ท. ! ถ้าสัญญาจักเป็นอัตตาแล้วไซร้  สัญญานี้ ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ อนึ่ง สัตว์ จะพึงได้ในสัญญาตามปรารถนาว่า  ‘สัญญาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด สัญญาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย’ดังนี้. 
        ภิกษุ ท. !  แต่เพราะเหตุที่ สัญญา เป็นอนัตตาสัญญา จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ  อนึ่ง สัตว์ ย่อมไม่ได้ในสัญญาตามปรารถนาว่า สัญญาของเรา จงเป็นอย่างนี้ เถิด สัญญา ของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย’ดังนี้.

        ภิกษุ ท. !  สังขารทั้งหลาย เป็นอนัตตา.  ภิกษุ  ท. ! ถ้าสังขารทั้งหลาย จักเป็น อัตตาแล้วไซร้ สังขารทั้งหลายเหล่านี้ ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ อนึ่ง สัตว์ จะพึงได้ ในสังขารทั้งหลายตามปรารถนาว่า ‘สังขารทั้งหลายของเรา จงเป็นอย่างนี้ เถิด สังขารทั้งหลายของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ดังนี้. 
        ภิกษุ  ท. !  แต่เพราะเหตุที่สังขารทั้งหลาย เป็นอนัตตา สังขารทั้งหลาย จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ อนึ่ง สัตว์ ย่อมไม่ได้ในสังขารทั้งหลายตามปรารถนาว่า สังขาร ทั้งหลาย ของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด สังขารทั้งหลายของเรา อย่าได้เป็น อย่างนั้น เลย’ ดังนี้.

        ภิกษุ ท. !  วิญญาณ เป็นอนัตตา.  ภิกษุ ท. ! ถ้าวิญญาณจักเป็นอัตตาแล้ว ไซร้ วิญญาณนี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ อนึ่ง สัตว์จะพึงได้ในวิญญาณตามปรารถนา ว่า  วิญญาณของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด วิญญาณของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้น เลย  ดังนี้
        ภิกษุ ท. ! แต่เพราะเหตุที่  วิญญาณเป็นอนัตตา วิญญาณ จึงเป็นไปเพื่อ อาพาธ อนึ่ง สัตว์ ย่อมไม่ได้ในวิญญาณตามปรารถนาว่า วิญญาณของเรา จงเป็น อย่างนี้เถิด วิญญาณของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ดังนี้. ....

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

        ภิกษุ ท. !  เพราะฉะนั้น ในกรณีนี้ รูป ชนิดใดชนิดหนึ่ง มีอยู่ จะเป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบันก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลว หรือประณีตก็ตาม มีในที่ไกลหรือใกล้ก็ตาม รูปทั้งปวงนั้น อันใคร ๆ พึงเห็นด้วย ปัญญาอันชอบ ตามที่เป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่น ไม่ใช่ของเรา นั่น ไม่ใช่เรา นั่น ไม่ใช่ ตัวตนของเรา ดังนี้. 

        ภิกษุ ท. !  เวทนา ชนิดใดชนิดหนึ่ง มีอยู่ จะเป็นอดีต อนาคต หรือ ปัจจุบัน ก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือ ประณีตก็ตาม  มีในที่ไกลหรือใกล้ก็ตาม เวทนาทั้งปวงนั้น อันใคร ๆ พึงเห็นด้วย ปัญญา อันชอบ ตามที่เป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่น ไม่ใช่ของเรา นั่น ไม่ใช่เรา นั่น ไม่ใช่ ตัวตน ของเรา ดังนี้.

        ภิกษุ ท. !  สัญญา ชนิดใดชนิดหนึ่ง มีอยู่ จะเป็นอดีต อนาคต หรือ ปัจจุบัน ก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียด ก็ตาม เลว หรือ ประณีต ก็ตาม มีในที่ไกลหรือใกล้ก็ตาม สัญญาทั้งปวงนั้น อันใคร ๆ พึงเห็นด้วยปัญญา อันชอบ ตามที่เป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่น ไม่ใช่ของเรา นั่น ไม่ใช่เรา นั่น ไม่ใช่ตัวตน ของเรา ดังนี้.

        ภิกษุ ท. !  สังขารทั้งหลาย ชนิดใดชนิดหนึ่ง มีอยู่ จะเป็นอดีต อนาคต หรือ ปัจจุบันก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือ ประณีต ก็ตาม  มีในที่ไกลหรือใกล้ก็ตาม สังขารทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น อันใคร ๆ พึงเห็นด้วย ปัญญาอันชอบ ตามที่เป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่น ไม่ใช่ของเรา นั่น ไม่ใช่เรา นั่น ไม่ใช่ ตัวตน ของเรา ดังนี้.

       ภิกษุ ท. !  วิญญาณ ชนิดใดชนิดหนึ่ง มีอยู่ จะเป็นอดีต อนาคต หรือ ปัจจุบัน ก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือ ประณีตก็ตาม  มีในที่ไกล หรือใกล้ก็ตาม วิญญาณทั้งปวงนั้น อันใคร ๆ พึงเห็นด้วย ปัญญาอันชอบ  ตามที่เป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่น ไม่ใช่ของเรา นั่น ไม่ใช่เรา นั่น ไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้  แล.

- ขนฺธ. สํ ๑๗/๘๒-๘๔/๑๒๗-๑๒๙.



หน้า 243
สิ่งใดมิใช่ของเรา


ภิกษุ ท. ! เพราะฉะนั้น ในกรณีนี้ สิ่งใดมิใช่ของพวกเธอ พวกเธอจงละสิ่งนั้นเสีย สิ่งนั้น อันพวกเธอละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่พวกเธอเอง ตลอด กาลนาน

ภิกษุ ท. ! ก็สิ่งใดเล่ามิใช่ของพวกเธอ?

ภิกษุ ท. ! รูป มิใช่ของพวกเธอ พวกเธอจงละรูปนั้นเสีย รูปนั้น อันพวกเธอละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุข แก่พวกเธอเอง ตลอดกาลนาน

ภิกษุ ท. ! เวทนา มิใช่ของพวกเธอ พวกเธอจงละเวทนานั้นเสีย เวทนานั้น อันพวกเธอละได้แล้ว จักเป็นไป เพื่อประโยชน์สุขแก่พวกเธอเอง ตลอดกาลนาน

ภิกษุ ท. ! สัญญา มิใช่ของพวกเธอ พวกเธอจงละสัญญานั้นเสีย สัญญานั้น อันพวกเธอละได้แล้ว จักเป็นไป เพื่อประโยชน์สุขแก่พวกเธอเอง ตลอดกาลนาน

ภิกษุ ท. ! สังขารทั้งหลาย มิใช่ของพวกเธอ พวกเธอจงละสังขารทั้งหลาย เหล่านั้น เสีย สังขารทั้งหลาย เหล่านั้น อันพวกเธอละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ พวกเธอเอง ตลอดกาลนาน

ภิกษุ ท. ! วิญญาณ มิใช่ของพวกเธอ พวกเธอจงละวิญญาณนั้นเสีย วิญญาณนั้น อันพวกเธอละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่พวกเธอเอง ตลอดกาลนาน

ภิกษุ ท. ! พวกเธอจะสำคัญ ความข้อนี้ว่าอย่างไร ? คือข้อที่หญ้าไม้กิ่งไม้ และ ใบไม้ใดๆ มีอยู่ในเชตวันนี้  เมื่อคนเขาขน เอามันไป ก็ตามเผาเสียก็ตามหรือกระทำ ตามความ ต้องการ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตามพวกเธอ เคยเกิด ความคิดอย่างนี้บ้าง หรือไม่ว่าคนเขาขนเอาเราไปบ้างเขาเผาเราบ้าง เขาทำแก่เราตามความปรารถนา ของเขาบ้าง ดังนี้? ข้อนั้นหามิได้พระเจ้าข้า !

ข้อนั้น เพราะเหตุไรเล่า ? พราะเหตุว่านั่นหาได้เป็นตัวตน หรือของเนื่องด้วยตัวตน ของข้าพระองค์ไม่ พระเจ้าข้า

ภิกษุ ท. ! ฉันใดก็ฉันนั้น คือ สิ่งใดมิใช่ของพวกเธอ พวกเธอจงละสิ่งนั้นเสีย สิ่งนั้นอันพวกเธอละได้แล้ว จักเป็นไป เพื่อประโยชน์สุขแก่พวกเธอเอง ตลอดกาลนานแล
- มู. ม. ๑๒/๒๗๙/๒๘๗



หน้า 245
เหตุปัจจัยของเบญจขันธ์ก็เป็นอนัตตา


ภิกษุ ท. ! รูป เป็นอนัตตา
ถึงแม้เหตุ แม้ปัจจัย เพื่อการบังเกิดขึ้นของรูป ก็เป็นอนัตตา
รูป ที่เกิดจากเหตุปัจจัย อันเป็นอนัตตาแล้ว จักเป็นอัตตาได้อย่างไร

ภิกษุ ท. ! เวทนา เป็นอนัตตา
ถึงแม้เหตุ แม้ปัจจัย เพื่อการบังเกิดขึ้นของเวทนา ก็เป็นอนัตตา
เวทนา ที่เกิดจากเหตุปัจจัย อันเป็นอนัตตาแล้ว จักเป็นอัตตาได้อย่างไร

ภิกษุ ท. ! สัญญา เป็นอนัตตา
ถึงแม้เหตุ แม้ปัจจัย เพื่อการบังเกิดขึ้นของสัญญา ก็เป็นอนัตตา
สัญญา ที่เกิดจากเหตุปัจจัย อันเป็นอนัตตาแล้วจักเป็นอัตตาได้อย่างไร

ภิกษุ ท. ! สังขารทั้งหลาย เป็นอนัตตา
ถึงแม้เหตุ แม้ปัจจัยเพื่อการบังเกิดขึ้นของสังขารทั้งหลาย ก็เป็นอนัตตา
สังขาร ที่เกิดจากเหตุปัจจัย อันเป็นอนัตตาแล้ว จักเป็นอัตตาได้อย่างไร

ภิกษุ ท. ! วิญญาณ เป็นอนัตตา
ถึงแม้เหตุ แม้ปัจจัย เพื่อการบังเกิดขึ้นของวิญญาณ ก็เป็นอนัตตา
วิญญาณที่เกิดจากเหตุปัจจัย อันเป็นอนัตตาแล้ว จักเป็นอัตตาได้อย่างไร แล
- ขนฺธ. สํ. ๑๗/๓๐/๔๗.



หน้า 246-1
เบญจขันธ์เป็นภาระที่หนัก


ภิกษุ ท. ! เราจักแสดงภาระ (ของหนัก)... แก่พวกเธอ
เธอทั้งหลายจงฟังข้อนั้น. ภิกษุ ท. ! อะไรเล่า เป็นของหนัก ?

ภิกษุ ท. ! อุปาทานขันธ์ทั้งห้านั้นแหละ เรากล่าวว่าเป็นของหนัก.
ห้าอย่างเหล่าไหนเล่า ? ห้าอย่างคือ

ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือ รูป
ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือ เวทนา
ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือ สัญญา
ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือ สังขาร
และขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือ วิญญาณ

ภิกษุ ท. ! นี้ เราเรียกว่า ของหนัก แล
- ขนฺธ. สํ. ๑๗/๓๒/๔๙.



หน้าที่ 246
เบญจขันธ์เป็นทั้ง ผู้ฆ่า และ ผู้ตาย
เมื่อมารมีอยู่ (ความยึดในขันธ์๕) .. ผู้ให้ตาย(ผู้ฆ่า)ย่อมมี ผู้ตายย่อมมี

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! คนกล่าวกันว่า มาร  มาร ดังนี้ เขากล่าวกันว่า มาร เช่นนี้ มีความหมายเพียงไร พระเจ้าข้า ?

ราธะ ! เมื่อ (ความยึดถือใน) รูป มีอยู่ มารก็จะมี ผู้ให้ตายก็จะมี หรือผู้ตายก็จะมี.

ราธะ ! เมื่อ (ความยึดถือใน) เวทนา มีอยู่ มารก็จะมี ผู้ให้ตายก็ จะมีหรือผู้ตายก็จะมี.

ราธะ ! เมื่อ (ความยึดถือใน) สัญญา มีอยู่ มารก็จะมี ผู้ให้ตายก็จะมี หรือผู้ตายก็จะมี.

ราธะ ! เมื่อ (ความยึดถือใน) สังขารทั้งหลาย มีอยู่ มารก็จะมี ผู้ให้ตายก็จะมี หรือ ผู้ตาย ก็จะมี.

ราธะ ! เมื่อ (ความยึดถือใน) วิญญาณ มีอยู่ มารก็จะมี ผู้ให้ตายก็จะมี หรือผู้ตาย ก็จะมี

ราธะ ! เพราะฉะนั้น ในกรณีนี้ เธอพึงเห็นรูปก็ดี เวทนาก็ดี สัญญาก็ดี สังขารทั้งหลาย ก็ดี และวิญญาณก็ดี ว่าเป็นมาร ว่าเป็นผู้ให้ตาย ว่าผู้ตาย ว่าโรค ว่าหัวฝี ว่าลูกศร ว่าทุกข์ และว่าทุกข์ที่เกิดแล้ว 

บุคคลเหล่าใดเห็นขันธ์ทั้งห้าในลักษณะเช่นนี้ บุคคลเช่นนั้นชื่อว่า เห็นอยู่โดยชอบแล

- ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๓๑/๓๖๖.



หน้า 247
เบญจขันธ์เป็นกองถ่านเถ้ารึง

(เถ้ารึง หมายถึงกองเถ้าที่ยังร้อนระอุ)

        ภิกษุ ท. ! รูป เป็นกองถ่านเถ้ารึง เวทนา เป็นกองถ่านเถ้ารึง สัญญา เป็นกองถ่าน เถ้ารึง สังขารทั้งหลาย เป็นกองถ่านเถ้ารึง และ วิญญาณ เป็นกองถ่านเถ้ารึง

        ภิกษุ ท. ! สาวกของพระอริยเจ้า ผู้ได้ยินได้ฟัง เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ย่อม เบื่อหน่าย แม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน เวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน สัญญา ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในสังขารทั้งหลาย และย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ แล

- ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๑๗/๓๓๔.



หน้า 248
เบญจขันธ์เป็นเครื่องผูกพันสัตว์ (ตรัสกับ ภิกษุ ท.)

        ภิกษุ ท. !  ในโลกนี้ บุถุชน ผู้ไม่ได้ยินได้ฟัง
ไม่ได้เห็น เหล่าพระอริยเจ้า ไม่ฉลาด ในธรรมของพระอริยเจ้า

ไม่ถูกแนะนำ ในธรรมของพระอริยเจ้า ไม่ได้เห็น เหล่าสัตบุรุษ
ไม่ฉลาด ในธรรมของสัตบุรุษ  ไม่ถูกแนะนำ ในธรรมของสัตบุรุษ

ย่อมตามเห็นพร้อม (คือเห็นดิ่งอยู่เป็นประจำ) ซึ่งรูป โดยความเป็นตน
หรือตามเห็น พร้อม ซึ่งตน ว่ามีรูป 
หรือตามเห็นพร้อม ซึ่งรูป ว่ามีอยู่ในตน
หรือตามเห็นพร้อม ซึ่งตน ว่ามีอยู่ในรูป บ้าง

ย่อมตามเห็นพร้อม ซึ่งเวทนา โดยความเป็นตน 
หรือตามเห็นพร้อม ซึ่งตน ว่ามีเวทนา
หรือตามเห็นพร้อม ซึ่งเวทนา ว่ามีอยู่ในตน
หรือตามเห็นพร้อม ซึ่งตนว่า มีอยู่ในเวทนา บ้าง

ย่อมตามเห็นพร้อม ซึ่งสัญญา โดยความเป็นตน
หรือตามเห็นพร้อมซึ่งตน ว่ามีสัญญา
หรือตามเห็นพร้อม ซึ่งสัญญา ว่ามีอยู่ในตน 
หรือตามเห็นพร้อม ซึ่งตน ว่ามีอยู่ในสัญญา บ้าง

ย่อมตามเห็นพร้อม ซึ่งสังขารทั้งหลาย โดยความเป็นตน 
หรือตามเห็นพร้อม ซึ่งตน ว่ามีสังขาร 
หรือตามเห็นพร้อม ซึ่งสังขารทั้งหลาย ว่ามีอยู่ในตน
หรือตามเห็นพร้อม ซึ่งตนว่า มีอยู่ในสังขารทั้งหลาย บ้าง

ย่อมตามเห็นพร้อม ซึ่งวิญญาณ โดยความเป็นตน 
หรือตามเห็นพร้อม ซึ่งตน ว่ามีวิญญาณ 
หรือตามเห็นพร้อม ซึ่งวิญญาณ ว่ามีอยู่ในตน 
หรือตามเห็นพร้อม ซึ่งตน ว่ามีอยู่ในวิญญาณ บ้าง.

ภิกษุ ท. !  บุถุชนผู้ไม่ได้ยินได้ฟังนี้ เราเรียกว่า ผู้ถูกผูกพันด้วยเครื่องผูกพัน คือรูป บ้าง ผู้ถูกผูกพันด้วยเครื่องผูกพันคือเวทนาบ้าง ผู้ถูกผูกพันด้วยเครื่องผูกพันคือ สัญญาบ้าง ผู้ถูกผูกพันด้วยเครื่องผูกพันคือสังขารทั้งหลายบ้าง ผู้ถูกผูกพันด้วย เครื่อง ผูกพันคือวิญญาณบ้าง

เป็นผู้ถูกผูกพันด้วยเครื่องผูกพันทั้งภายในและภายนอก เป็นผู้ไม่เห็นฝั่งนี้  (คือวัฏฏสงสาร) เป็นผู้ไม่เห็นฝั่งโน้น (คือนิพพาน) เกิดอยู่อย่างผู้มีเครื่องผูกพัน  แก่อยู่อย่างผู้มีเครื่องผูกพัน ตายอยู่อย่างผู้มีเครื่องผูกพัน จากโลกนี้ไปสู่โลกอื่น อย่างผู้มีเครื่องผูกพัน  แล.

ขนธ. สํ. ๑๗/๒๐๐/๓๐๔.






หน้าที่ 249


เรียกกันว่า “สัตว์” เพราะติดเบญจขันธ์
(ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหาใดๆ ที่ติดในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร เรียกว่าสัตว์)

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! คนกล่าวกันว่า  สัตว์  สัตว์  ดังนี้ เขากล่าวกันว่า  สัตว์ เช่นนี้ มีความหมายเพียงไร ? พระเจ้าข้า !

ราธะ !  ฉันทะ  ราคะ นันทิ ตัณหา ใด ๆ มีอยู่ ในรูป สัตว์ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติด ในรูปนั้น ด้วย ฉันทราคะเป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า สัตว์ (ผู้ข้องติด) ดังนี้

ราธะ !  ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใด ๆ มีอยู่ในเวทนา สัตว์ย่อมเกี่ยวข้อง  ย่อมติด ในเวทนานั้น ด้วยฉันทราคะเป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า สัตว์ ดังนี้

ราธะ !  ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใด ๆ มีอยู่ในสัญญา สัตว์ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติด ในสัญญานั้น ด้วยฉันทราคะเป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า สัตว์ ดังนี้

ราธะ !  ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใด ๆ มีอยู่ในสังขารทั้งหลาย สัตว์ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติดในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยฉันทราคะเป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า สัตว์ ดังนี้

ราธะ !  ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใด ๆ มีอยู่ในวิญญาณ สัตว์ย่อมเกี่ยวข้อง  ย่อมติด ในวิญญาณนั้น ด้วยฉันทราคะเป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า สัตว์  ดังนี้ แล.

- ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๓๒/๓๖๗.

ราธะ !
ความพอใจ อันใด (ฉันทะ)
ราคะ อันใด (ความกำหนัด)
นันทิ อันใด (ความเพลิน)
ตัณหา อันใด (ความอยาก)

ที่มีอยู่ใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร ทั้งหลาย ในวิญญาณ
เพราะการติดแล้ว ข้องแล้วในสิ่งนั้นๆ จึงเรียกว่า “สัตว์” ดังนี้
(ผู้ข้องติดในขันธ์ทั้ง 5)

 



หน้า 251
ไม่รู้จักเบญจขันธ์ชื่อว่ามีอวิชชา
(ตรัสกับ ภิกษุ ท.)

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! คนกล่าวกันว่า อวิชชาอวิชชา ดังนี้. ก็ อวิชชานั้น เป็นอย่างไร? และบุคคลชื่อว่ามีอวิชชาด้วยเหตุเพียงไรเล่า? พระเจ้าข้า!

ภิกษุ ! ในโลกนี้ บุถุชน ผู้ไม่ได้ยินได้ฟัง ย่อมไม่รู้จักรูป ไม่รู้จักเหตุให้เกิดของรูป ไม่รู้จักความดับไม่เหลือของรูป ไม่รู้จักทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของรูป

เขา ย่อมไม่รู้จักเวทนา ไม่รู้จักเหตุให้เกิดของเวทนา ไม่รู้จักความดับไม่เหลือของ เวทนา ไม่รู้จักทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของเวทนา

เขา ย่อมไม่รู้จักสัญญา ไม่รู้จักเหตุให้เกิดของสัญญา ไม่รู้จักความดับไม่เหลือของ สัญญา ไม่รู้จักทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของสัญญา

เขา ย่อมไม่รู้จักสังขารทั้งหลาย ไม่รู้จักเหตุให้เกิดของสังขารทั้งหลาย ไม่รู้จัก ความดับไม่เหลือ ของสังขารทั้งหลาย ไม่รู้จักทางดำเนินให้ถึง ความดับไม่เหลือ ของสังขารทั้งหลาย

และเขา ย่อมไม่รู้จักวิญญาณ ไม่รู้จักเหตุให้เกิดของวิญญาณ ไม่รู้จักความดับ ไม่เหลือ ของวิญญาณ ไม่รู้จักทางดำเนินให้ถึง ความดับไม่เหลือของวิญญาณ

ภิกษุ ! ความไม่รู้นี้เราเรียกว่า อวิชชา และบุคคลชื่อว่ามีอวิชชา ด้วยเหตุมีประมาณ เท่านี้ แล
- ขนฺธ สํ. ๑๗/๓๙/๖๔.



หน้า 251-1
เพลินในเบญจขันธ์เท่ากับเพลินในทุกข์
(ตรัสกับ ภิกษุ ท.)

ภิกษุ ท. ! ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ในรูป
ผู้นั้น เท่ากับ เพลิดเพลินอยู่ในสิ่งที่เป็นทุกข์
เรากล่าวว่า ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ในสิ่งที่เป็นทุกข์
ผู้นั้น ย่อมไม่หลุดพ้นไปได้จากทุกข์ ดังนี้

ภิกษุ ท. ! ผู้ใด เพลิดเพลิน อยู่ใน เวทนา
ผู้นั้น เท่ากับเพลิดเพลินอยู่ ในสิ่งที่เป็นทุกข์
เรากล่าวว่า ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ในสิ่งที่เป็นทุกข์
ผู้นั้น ย่อมไม่หลุดพ้นไปได้จากทุกข์ ดังนี้

ภิกษุ ท. ! ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ในสัญญา
ผู้นั้น เท่ากับเพลิดเพลินอยู่ในสิ่งที่เป็นทุกข์.
เรากล่าวว่า ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ในสิ่งที่เป็นทุกข
ผู้นั้น ย่อมไม่หลุดพ้นไปได้จากทุกข์ ดังนี้

ภิกษุ ท. ! ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ในสังขารทั้งหลาย
ผู้นั้น เท่ากับเพลิดเพลินอยู่ ในสิ่งที่เป็น ทุกข์ เรากล่าวว่า
ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ในสิ่งที่เป็นทุกข์
ผู้นั้น ย่อมไม่หลุดพ้นไปได้จากทุกข์ ดังนี้

ภิกษุ ท. ! ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ในวิญญาณ
ผู้นั้น เท่ากับเพลิดเพลินอยู่ ในสิ่งที่เป็นทุกข์
เรากล่าวว่า ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ในสิ่งที่เป็นทุกข์
ผู้นั้น ย่อมไม่หลุดพ้นไปได้จากทุกข์ ดังนี้ แล



หน้า 252
ต้องละฉันทราคะ ในเบญจขันธ์
(ตรัสกับ ภิกษุ ท.)

ภิกษุ ท. ! สิ่งใดไม่เที่ยง พวกเธอพึงละ ฉันทราคะ* ในสิ่งนั้น
ภิกษุ ท. ! ก็สิ่งใดเล่าไม่เที่ยง ?
ภิกษุ ท. ! รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง และวิญญาณไม่เที่ยง พวกเธอพึงละฉันทราคะในสิ่งนั้น
ภิกษุ ท. ! คือสิ่งใด ที่ไม่เที่ยงพวกเธอพึงละฉันทราคะในสิ่งนั้นแหละ

ภิกษุ ท. ! สิ่งใดเป็นทุกข์ พวกเธอพึงละ ฉันทราคะ ในสิ่งนั้น
ภิกษุ ท. ! ก็สิ่งใดเล่าเป็นทุกข์ ?
ภิกษุ ท. ! รูปเป็นทุกข์ เวทนาเป็นทุกข์ สัญญาเป็นทุกข์ สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ และวิญญาณเป็นทุกข์ พวกเธอพึงละฉันทราคะในสิ่งนั้น
ภิกษุ ท. ! คือสิ่งใด ที่เป็นทุกข์ พวกเธอพึงละฉันทราคะในสิ่งนั้นแหละ

ภิกษุ ท. ! สิ่งใดเป็นอนัตตา พวกเธอพึงละ ฉันทราคะ ในสิ่งนั้น
ภิกษุ ท. ! ก็สิ่งใดเล่าเป็นอนัตตา ?
ภิกษุ ท. ! รูป เป็นอนัตตา เวทนา เป็นอนัตตา สัญญา เป็นอนัตตา สังขารทั้งหลาย เป็นอนัตตา และวิญญาณ เป็นอนัตตา พวกเธอพึงละฉันทราคะในสิ่งนั้น
ภิกษุ ท. ! คือสิ่งใด ที่เป็นอนัตตา พวกเธอพึงละฉันทราคะในสิ่งนั้นแหละ
* ฉันทราคะ หมายถึง ความกำหนัดเพราะพอใจ
- ขนฺธ. สํ ๑๗/๒๑๗/๓๓๗.



หน้าที่ 256


ทรงแสดงลักษณะความทุกข์ (อีกปริยายหนึ่ง)

(รูป เป็นทุกข์ เวทนา สัญญา สังขาร ท. วิญญาณ เป็นทุกข์.. เห็นอยู่อย่างนี้ย่อมเบื่อหน่าย)

        “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! คำว่า  ทุกข์ ๆ  ดังนี้ เป็นคำที่เขากล่าวกันอยู่  ทุกข์นั้นเป็น อย่างไร  พระเจ้าข้า ?”

ราธะ ! รูป แล เป็นทุกข์ เวทนา เป็นทุกข์  สัญญา เป็นทุกข์  สังขาร ท. เป็นทุกข์  วิญญาณ เป็นทุกข์.    

ราธะ ! อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป แม้ในเวทนา  แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร ท. แม้ในวิญญาณ. ....

- ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๔๐/๓๘๑.



หน้าที่ 282

เครื่องจูงใจสู่ภพ
(กิเลส หรืออุปายะ คือเครื่องนำไปสู่ภพ กิเลสคือฉันทะ(พอใจ) ราคะ นันทิ ตัณหา หรืออุปาทาน)

        “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! พระองค์ตรัสอยู่ว่า เครื่องนำไปสู่ภพเครื่องนำไปสู่ ภพ ดังนี้ ก็เครื่องนำไปสู่ภพ  เป็นอย่างไร ? พระเจ้าข้า ! และความดับไม่เหลือ ของเครื่องนำไปสู่ภพนั้น เป็นอย่างไรเล่า พระเจ้าข้า ?

๑. อรรถกถาแก้คำว่า ‘ภวเนตฺติ’  ซึ่งใน ที่นี้แปลว่า ‘เครื่องนำไปสู่ภพ’ ว่า ‘ภวรชฺขุ’ ซึ่งหมายถึง เชือก หรือบ่วง ที่จะจูงสัตว์ไปสู่ภพ.

       ราธะ !  ฉันทะ (ความพอใจ) ก็ดี ราคะ (ความกำหนัด) ก็ดี นันทิ (ความเพลิน)  ก็ดี  ตัณหาก็ดี และอุปายะ (กิเลสเป็นเหตุเข้าไปสู่ภพ) และอุปาทานอันเป็นเครื่อง ตั้งทับ เครื่องเข้าไปอาศัย และเครื่องนอนเนื่องแห่งจิตก็ดี ใด ๆ ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย และในวิญญาณ กิเลสเหล่านี้นี่เรา เรียกว่าเครื่องนำ ไปสู่ภพ

       ความดับไม่เหลือของเครื่องนำไปสู่ภพมีได้ เพราะความดับไม่เหลือของกิเลส มี ฉันทราคะ เป็นต้นเหล่านั้นเอง.
- ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๓๓/๓๖๘.



หน้าที่ 283


พืชของภพ (ตรัสกับอานนท์)

        “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! พระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวอยู่ว่า ภพ - ภพ  ดังนี้. ภพ ย่อมมีได้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรเล่า ? พระเจ้าข้า !”

อานนท์ !  ถ้ากรรม มีกามธาตุเป็นวิบาก จักไม่ได้มีแล้วไซร้. กามภพ จะพึงปรากฏได้ แลหรือ ? “หามิได้ พระเจ้าข้า !”

อานนท์ !  ด้วยเหตุนี้แหละ กรรมจึงเป็นเนื้อนา วิญญาณเป็นเมล็ดพืช ตัณหาเป็นยาง (สำหรับหล่อเลี้ยงเชื้องอก) ของพืช. วิญญาณของสัตว์ทั้งหลาย มีอวิชชาเป็นเครื่อง กั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกพัน ตั้งอยู่แล้วด้วยธาตุชั้นทราม (กามธาตุ) การบังเกิดขึ้น ในภพใหม่ต่อไป ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้.

อานนท์ !  ถ้ากรรม  มีรูปธาตุเป็นวิบาก จักไม่ได้มีแล้วไซร้  รูปภพ จะพึงปรากฏได้แล หรือ ? “หามิได้ พระเจ้าข้า !”

อานนท์ !  ด้วยเหตุนี้แหละ กรรมจึงเป็นเนื้อนา วิญญาณเป็นเมล็ดพืช ตัณหาเป็นยาง (สำหรับหล่อเลี้ยงเชื้องอก) ของพืช. วิญญาณของสัตว์ทั้งหลาย มีอวิชชาเป็น เครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกพัน ตั้งอยู่แล้วด้วยธาตุชั้นกลาง (รูปธาตุ). การบังเกิด ขึ้น ในภพใหม่ต่อไป ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้.

อานนท์ !  ถ้ากรรม มีอรูปธาตุเป็นวิบาก จักไม่ได้มีแล้วไซร้ อรูปภพ จะพึงปรากฏได้ แลหรือ ? “หามิได้ พระเจ้าข้า !”

อานนท์ !  ด้วยเหตุนี้แหละ กรรมจึงเป็นเนื้อหา วิญญาณเป็นเมล็ดพืช ตัณหาเป็น ยาง (สำหรับหล่อเลี้ยงเชื้องอก) ของพืช. วิญญาณของสัตว์ทั้งหลาย มีอวิชชาเป็นเครื่อง กั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกพัน ตั้งอยู่แล้วด้วยธาตุชั้นประณีต(อรูปธาตุ) การบังเกิดขึ้น ในภพใหม่ต่อไป ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้.

อานนท์ !  ภพ  ย่อมมีได้  ด้วยอาการอย่างนี้แล.

- ติก. อํ. ๒๐/๒๘๗/๕๑๖.



หน้าที่ 419

ละกิเลสตัณหาได้ คือละเบญจขันธ์ได้
(ละความพอใจ ความกำหนัดความเพลิน ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร ท. ละแล้ว ตัดแล้ว เหมือนตาลยอดด้วน ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้)

        ภิกษุ ท.! ความพอใจ (ฉันทะ) ก็ดี ความกำหนัด (ราคะ) ก็ดี ความเพลิน  (นันทิ) ก็ดี ตัณหาก็ดี มีอยู่ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย  ในวิญญาณ ใดๆ พวกเธอทั้งหลายจงละกิเลสนั้นๆเสีย. ด้วยการทำอย่างนี้ รูป เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย วิญญาณ นั้นๆ จักเป็นสิ่งที่พวกเธอละได้แล้ว เป็นสิ่งที่มีมูล รากอันตัดเสียแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดเน่า ทำให้มีอยู่ไม่ได้ ทำให้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้อีกต่อไป.
- ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๓๖/๓๗๕.

        ราธะ ! ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความเพลินก็ดี  ตัณหาก็ดี อุปายะ (กิเลสเป็นเหตุให้เข้าไปสู่ภพ) ก็ดี และอุปาทานก็ดี อันเป็นเครื่องตั้งทับ เครื่อง เข้าไปอาศัย และเครื่องนอนเนื่องแห่งจิต มีอยู่ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ ใด ๆ พวกเธอทั้งหลายจงละกิเลสนั้นๆเสีย. ด้วยการทำอย่างนี้ รูปเวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย วิญญาณนั้นๆ จักเป็นสิ่งที่ พวกเธอละได้แล้ว เป็นสิ่งที่มีมูล ราก อันตัดขาดเสียแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดเน่า ทำให้มีอยู่ไม่ได้ ทำให้เป็นสิ่งที่ เกิดขึ้น ไม่ได้อีกต่อไป.
- ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๓๗/๓๗๖.



หน้าที่ 420

ละฉันทราคะแห่งสิ่งใด ก็คือการละซึ่งสิ่งนั้น (ตรัสกับ ภิกษุ ท.)
(ละฉันทราคะ คือละความพอใจ ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทำให้เหมือนตาล ยอดด้วน ไม่ให้เกิดอีกต่อไป)

        ภิกษุ ท. ! เมื่อไม่รู้ยิ่ง ไม่รู้รอบ ไม่คลายกำหนัด ไม่ละขาด ซึ่ง รูป .... เวทนา .... สัญญา .... สังขาร .... วิญญาณ ก็ไม่ควรแก่ความสิ้นไป  แห่งทุกข์.

        ภิกษุ ท. !  เมื่อรู้ยิ่ง  เมื่อรู้รอบ  เมื่อคลายกำหนัด  เมื่อละขาด  ซึ่ง รูป ....  เวทนา  .... สัญญา....  สังขาร .... วิญญาณ  ก็ควรแก่ความสิ้นไป  แห่งทุกข์.

        ภิกษุ ท. ! เธอทั้งหลายจงละฉันทราคะในรูป .... เวทนา .... สัญญา .... สังขาร ....  วิญญาณ เสีย  ด้วยการกระทำอย่างนี้  เป็นอันว่า รูป .... เวทนา ....  สัญญา .... สังขาร .... วิญญาณ นั้น เป็นสิ่งที่เธอละขาดแล้ว มีรากอันขาดแล้ว  ทำให้เป็น เหมือนต้นตาลมีขั้วยอดอันขาดแล้ว ให้ถึงความไม่มีอยู่  มีอันไม่เกิดขึ้น อีกต่อไปเป็น ธรรมดา.
- ขนฺธ สํ. ๑๗/๓๓/๕๖-๕๘.

(ข้อความนี้มีประโยชน์มาก ที่ทำให้เราสามารถละสิ่งที่ควรละได้เต็ม ตาม ความหมาย คือไม่ใช่ละตัววัตถุนั้น  แต่ละความกำหนัดพอใจในสิ่งนั้น  จึงจะเป็นการ ละสิ่งนั้นได้ เด็ดขาด และเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ยิ่งกว่าการที่จะไปละวัตถุนั้น ๆ โดยตรง).



หน้าที่ 421

ความสิ้นตัณหา คือ นิพพาน

        “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  ที่เรียกว่า  สัตว์  สัตว์ ดังนี้  อันว่าสัตว์มีได้  ด้วยเหตุเพียงเท่าไรเล่า ?  พระเจ้าข้า !”

ราธะ !  ความพอใจอันใด ราคะอันใด นันทิอันใด  ตัณหาอันใด มีอยู่ในรูป  ในเวทนา  ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย และในวิญญาณ เพราะการติดแล้ว ข้องแล้ว ในสิ่งนั้น ๆ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า สัตว์ ดังนี้.

ราธะ !  เปรียบเหมือนพวกกุมารน้อย ๆ หรือกุมารีน้อย ๆ เล่นเรือนน้อย ๆ ที่ทำด้วยดิน อยู่ ตราบใดเขายังมีราคะ มีฉันทะ มีความรัก มีความกระหาย มีความ เร่าร้อน และมี ตัณหา ในเรือนน้อยที่ทำด้วยดินเหล่านั้น ตราบนั้นพวกเด็กน้อยนั้น ๆ ย่อมอาลัยเรือน น้อย ที่ทำด้วยดินเหล่านั้น ย่อมอยากเล่น ย่อมอยากมีเรือนน้อย ที่ทำด้วยดินเหล่านั้น ย่อมยึดถือเรือนน้อย ที่ทำด้วยดินเหล่านั้นว่าเป็นของเรา ดังนี้.

ราธะ ! แต่เมื่อใดแล พวกกุมารน้อย ๆ หรือกุมารีน้อย ๆ เหล่านั้น มีราคะไปปราศแล้ว  มีฉันทะไปปราศแล้ว มีความรักไปปราศแล้ว มีความกระหายไปปราศแล้ว  มีความ เร่าร้อนไปปราศแล้ว มีตัณหาไปปราศแล้ว ในเรือนน้อยที่ทำด้วยดินเหล่านั้น ในกาล นั้นแหละพวกเขาย่อมทำเรือนน้อย ๆ ที่ทำด้วยดินเหล่านั้น  ให้กระจัดกระจาย เรี่ยราย เกลื่อนกล่นไป กระทำให้จบการเล่นเสีย ด้วยมือและเท้าทั้งหลาย อุปมานี้ ฉันใด

ราธะ !  อุปไมยก็ฉันนั้น คือ แม้พวกเธอทั้งหลายจงเรี่ยรายกระจายออก ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ. จงขจัดเสียให้ถูกวิธี  จงทำให้แหลกลาญ โดยถูกวิธี  จงทำให้จบการเล่นให้ถูกวิธ  จงปฏิบัติเพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหาเถิด.

ราธะ !  เพราะว่า ความสิ้นไปแห่งตัณหานั้น คือนิพพาน ดังนี้ แล.
- ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๓๒/๓๖๗.



หน้าที่ 422

ที่สุดของพรหมจรรย์ คือนิพพาน

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ที่เรียกว่า  มาร  มาร  ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร เล่า จึงถูกเรียกว่า มาร พระเจ้าข้า ?

ราธะ ! เมื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณมีอยู่ จะพึงมีมาร มีผู้ให้ตาย  หรือว่า ผู้ตาย.

ราธะ ! เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้
เธอจงเห็น  รูป เวทนา สัญญา สังขาร  และ วิญญาณ ว่า เป็นมาร
เห็นว่าเป็น ผู้ให้ตาย เห็นว่า ผู้ตาย เห็นว่า เป็นโรค เห็นว่า เป็นหัวฝี เห็นว่า เป็นลูกศร เห็นว่า เป็นทุกข์ เห็นว่า เป็นทุกข์ที่เกิดแล้ว ดังนี้.
(เห็นขันธ์ ๕ : ว่าเป็นมาร ..เห็นว่าเป็นผู้ให้ตาย เห็นผู้ตาย ว่า:เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นทกข์ เป็นทุกข์ที่เกิดแล้ว)

พวกใดย่อมเห็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณนั้น ด้วยอาการอย่างนี้ พวกนั้น ชื่อว่า ย่อมเห็นโดยชอบ แล.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! สัมมาทัสสนะ (การเห็นโดยชอบ) มีอะไรเป็นประโยชน์ ที่มุ่งหมายเล่า  พระเจ้าข้า?

ราธะ !  สัมมาทัสสนะ มีนิพพิทา (ความเบื่อหน่าย) เป็นประโยชน์ที่มุ่งหมาย.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็นิพพิทา (ความเบื่อหน่าย) มีอะไรเป็นประโยชน์ ที่มุ่งหมายเล่า พระเจ้าข้า?

ราธะ !  นิพพิทาแล มีวิราคะ (ความจางคลายไป) เป็นประโยชน์ที่มุ่งหมาย.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็วิราคะ มีอะไรเป็นประโยชน์ที่มุ่งหมายเล่า พระเจ้าข้า?

ราธะ !  วิราคะแล  มีวิมุตติ (ความหลุดพ้น) เป็นประโยชน์ที่มุ่งหมาย.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็วิมุตติ มีอะไรเป็นประโยชน์ ที่มุ่งหมายเล่า พระเจ้าข้า?

ราธะ !  วิมุตติแล มีนิพพานเป็นประโยชน์ที่มุ่งหมาย.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็นิพพาน มีอะไรเป็นประโยชน์ ที่มุ่งหมายเล่า พระเจ้าข้า?

ราธะ !  เธอได้ถามเลยปัญหาเสียแล้ว เธอไม่อาจจะจับฉวยเอาที่สุดของปัญหาได้.

ราธะ !  ด้วยว่า พรหมจรรย์ ที่ประพฤติกันอยู่นี้แล ย่อมหยั่งลงสู่นิพพาน มีนิพพาน เป็นที่สุดท้าย.
- ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๓๑/๓๖๖.





 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์