เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
  
หนังสือพุทธวจนออนไลน์   ดูหนังสือทั้งหมด
90 90 90 90 90
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์  
   
ค้นหาคำที่ต้องการ             

  ตถาคต-พุทธวจน   ดาวน์โหลดหนังสือ(ไฟล์ PDF)
  
    6 of 6  
 
  จากหนังสือ ตถาคต(พุทธวจน)  ที่มา : http://watnapp.com/book  
       
    สารบัญ หน้า  
  133 . ทรงทราบความยิ่งและหย่อน แห่งอินทรีย์ของสัตว์ (นัยที่ ๒) 326  
  134 . ทรงพยากรณ์แล้วเป็นหนึ่งไม่มีสอง 329  
  135 . ทรงทราบคติ ๕ และอุปมา 377  
  อุปมาการเห็นคติ 338  
  136 . ทรงมีเวสารัชชญาณสี่อย่าง 340  
  137 . ทรงมีอิทธิบาทเพื่ออยู่ได้ถึงกัปป์ 352  
  138 . ทรงแสดงฤทธิ์ได้ เพราะอิทธิบาทสี่ 343  
  139 . ทรงมีปาฏิหาริย์สามอย่าง 345  
  140 . ทรงเปล่งเสียงคราวเดียว ได้ยินตลอดทุกโลกธาตุ 348  
  141 . ความหมายของสัพพัญญูที่แท้จริง 350  
  142 . ไม่ทรงมีความลับ ที่ต้องให้ใครช่วยปกปิด 351  
  143 . สิ่งที่พระองค์ไม่ต้องสำรวมรักษา 353  
  144 . ทรงยืนยันในคุณธรรมของพระองค์ 354  
  145 . ทรงบังคับใจได้เด็ดขาด 356  
  146 . ทรงมีความคงที่ต่อวิสัยโลก ไม่มีใครยิ่งกว่า 357  
  147 . ทรงทราบ ทรงเปิดเผย แต่ไม่ทรงติดซึ่งโลกธรรม 359  
  148 . ทรงต่างจากเทวดาและมนุษย์ 361  
  149 . ไม่ทรงติดแม้ในนิพพาน 363  
  เรื่องที่ทรงตรัสเกี่ยวกับอดีตชาติของพระองค์ 365  
  150 . ต้องท่องเที่ยวมาแล้ว เพราะไม่รู้อริยสัจจ์ 366  
  151 . ตลอดสังสารวัฎ ไม่เคยบังเกิดในชั้นสุทธาวาส 367  
  152 . ตลอดสังสารวัฏเคยบูชายัญญ์ และบำเรอไฟแล้วอย่างมาก 369  
  153 . เคยบังเกิดเป็นมหาพรหม สักกะ 370  
  154 . เคยบังเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระนามว่ามฆเทวะ 372  
  155 . เคยบังเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระนามว่ามหาสุทัศน์ 375  
  156 . เคยบังเกิดเป็นพราหมณ์ปุโรหิต สอนการบูชายัญญ 379  
  157 . เคยบังเกิดเป็นพราหมณ์ ชื่อเวลามะ 383  
  158 . เคยบังเกิดเป็นช่างทำรถ 387  
  159 . บุรพกรรมของการได้ลักษณะมหาบุรุษ 392  
  จบ หนังสือตถาคต พุทธวจน    
 
 





ตถาคต Page 6/6


หน้า 326

133 ทรงทราบความยิ่งและหย่อน แห่งอินทรีย์ของสัตว์ (นัยที่ ๒)
-บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๑๕๐/๗๕.

ตรัสกับพระอานนท์ ปรารภเหตุนางมิคสาลากล่าวแย้งพระพุทธเจ้า เรื่องการพยากรณ์ความเป็นอริยบุคคล ระหว่างบิดาของตนเอง ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ และเพื่อนของบิดาผู้ไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่พระพุทธเจ้า พยากรณ์ทั้ง ๒ บุคคลว่าเป็นสกทาคามีได้กายดุสิตเหมือนกัน.

อานนท์ ! ก็มิคสาลาอุบาสิกาเป็นพาลไม่ฉลาด เป็นคนบอดมีปัญญาทึบ เป็นอะไร และพระสัมมา-สัมพุทธเจ้า เป็นอะไร ในญาณเครื่องกำนดรู้ความยิ่ง และหย่อนแห่งอินทรีย์ของบุคคล.

อานนท์ ! บุคคล ๑๐ จำพวกนี้มีอยู่ในโลก ๑๐ จำพวกเป็นอย่างไรเล่า ? อานนท์ ! บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ ทุศีล และไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งความเป็นผู้ทุศีลของเขา ตามความเป็นจริง บุคคลนั้นไม่กระทำกิจแม้ด้วยการฟัง ไม่กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต ไม่แทงตลอด แม้ด้วยทิฏฐิ ย่อมไม่ได้วิมุตติแม้อันเกิดในสมัย เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเสื่อมไม่ไปทางเจริญ ย่อมถึงความเสื่อม ไม่ถึงความเจริญ.

อานนท์ ! ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทุศีลแต่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือ แห่งความเป็นผู้ทุศีลของเขา ตามความเป็นจริง บุคคลนั้นกระทำกิจแม้ด้วยการฟัง กระทำกิจแม้ด้วยความเป็น พหูสูตแทงตลอดด้วยดี แม้ด้วยทิฏฐิ ย่อมได้วิมุตติแม้อันเกิดในสมัย เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเจริญ ไม่ไปทางเสื่อม ย่อมถึงความเจริญอย่างเดียว ไม่ถึงความเสื่อม.

อานนท์ ! พวกคนผู้ถือประมาณย่อมประมาณในเรื่องนั้นว่า ธรรมแม้ของคนนี้ก็เหล่านั้นแหละ ธรรมแม้ของคนอื่น ก็เหล่านั้นแหละ เพราะเหตุไรในสองคนนั้น คนหนึ่งเลวคนหนึ่งดี ก็การประมาณของคน ผู้ถือประมาณเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ตลอดกาลนาน.

อานนท์ ! ในสองคนนั้น บุคคลใดเป็นผู้ทุศีลและรู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือ แห่งความเป็นผู้ทุศีลของเขา ตามความเป็นจริง บุคคลนั้นกระทำกิจแม้ด้วยการฟัง กระทำกิจแม้ด้วยความเป็น พหูสูตแทงตลอดด้วยดีแม้ด้วยทิฐิ ย่อมได้วิมุตติแม้อันเกิดในสมัยอานนท์ ! บุคคลนี้ดีกว่าและประณีตกว่า บุคคลที่กล่าวข้างต้นข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? เพราะกระแสแห่งธรรมย่อมถูกต้องบุคคลนี้ ใครเล่าจะพึงรู้ เหตุนั้นได้ นอกจากตถาคต.

อานนท์ ! เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายอย่าได้เป็นผู้ชอบประมาณในบุคคล และอย่าได้ถือประมาณ ในบุคคล เพราะผู้ถือประมาณในบุคคล ย่อมทำลายคุณวิเศษของตน เราหรือผู้ที่เหมือนเราพึงถือประมาณ ในบุคคลได้. (แต่นี้ได้ตรัสไว้อย่างเดียวกันกับ ในกรณีแห่งบุคคลผู้มีศีล,มีราคะกล้า, มักโกรธ, ฟุ้งซ่าน โดยนัยเดียวกันกับกรณีของบุคคลผู้ทุศีลรวมเป็น ๑๐ จำพวก ผู้ศึกษาพึงเทียบเคียงได้เอง -ผู้รวบรวม)

อานนท์ ! ก็มิคสาลาอุบาสิกาเป็นพาล ไม่ฉลาดเป็นคนบอด มีปัญญาทึบเป็นอะไร และพระสัมมาสัมพุทธะ เป็นอะไร ในญาณเครื่องกำหนดรู้ความยิ่ง และหย่อนแห่งอินทรีย์ของบุคคล.
อานนท์ ! บุคคล ๑๐ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก.

อานนท์ !

บุรุษชื่อปุราณะ เป็นผู้ประกอบด้วยศีลเช่นใด
บุรุษชื่ออิสิทัตตะ ก็เป็นผู้ประกอบด้วยศีลเช่นนั้น
บุรุษชื่อปุราณะ จะได้รู้แม้คติของบุรุษชื่ออิสิทัตตะ ก็หามิได้
บุรุษชื่ออิสิทัตตะ เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาเช่นใด
บุรุษชื่อปุราณะ ก็เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาเช่นนั้น
บุรุษุชื่ออิสิทัตตะ จะได้รู้แม้คติของบุรุษชื่อปุราณะก็หามิได้.

อานนท์ ! คนทั้งสองนี้ เลวกว่ากันด้วยองค์คุณคนละอย่าง ด้วยอาการอย่างนี้.


ตถาคต หน้า329


134 ทรงพยากรณ์แล้วเป็นหนึ่งไม่มีสอง
-บาลี ฉกฺก. อํ. ๒๒/๔๕๐/๓๓๓.

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ถึงการที่มีภิกษุรูปหนึ่งเกิดความสงสัย ที่พระผู้พระภาคได้พยากรณ์ พระเทวทัตว่าจะต้องเกิดในอบาย ตกนรก ตั้งอยู่ตลอดกัปช่วยเหลือไม่ได้

พระผู้มีพระภาคจึงได้ ตรัสว่า:-

อานนท์ ! ก็ภิกษุรูปนั้นจักเป็นภิกษุใหม่ บวชไม่นานหรือว่าเป็นภิกษุเถระ แต่เป็นคนโง่เขลา ไม่ฉลาด เพราะว่าข้อที่เราพยากรณ์แล้วโดยส่วนเดียว จักเป็นสองได้อย่างไร.

อานนท์ ! เราย่อมไม่พิจารณาเห็นบุคคลอื่นแม้คนหนึ่ง ที่เราได้กำหนดรู้เหตุทั้งปวงด้วยใจ แล้วพยากรณ์อย่างนี้ เหมือนเทวทัตเลย หากเราได้เห็นธรรมขาวของเทวทัต (ส่วนดี) แม้ประมาณเท่าน้ำที่สลัดออกจากปลาย ขนทราย เพียงใด เราก็ยังไม่พยากรณ์เทวทัตเพียงนั้นว่า เทวทัตจะต้องเกิดในอบาย ตกนรกตั้งอยู่ตลอดกัป ช่วยเหลือไม่ได้แต่ว่าเมื่อใด
เราไม่ได้เห็นธรรมขาวของเทวทัต แม้ประมาณเท่าน้ำที่สลัดออกจากปลาย ขนทราย เมื่อนั้น เราจึงได้พยากรณ์เทวทัต นั้นว่า เทวทัตจะต้องเกิดในอบาย ตกนรกตั้งอยู่ตลอดกัป ช่วยเหลือไม่ได้.

อานนท์ ! เปรียบเหมือนหลุมคูถ ลึกยิ่งกว่าชั่วบุรุษเต็มด้วยคูถเสมอขอบปากหลุม บุรุษพึงตกลงไปที่หลุมคูถนั้น จมมิดศีรษะ บุรุษบางคนผู้หวังประโยชน์ หวังความเกื้อกูลหวังความเกษม ปรารถนาจะยกเขาขึ้นจากหลุมคูถ นั้นจึงเข้ามาหา เขาเดินรอบหลุมคูถนั้นอยู่ ก็ไม่พึงเห็นอวัยวะที่ไม่เปื้อนคูถ ซึ่งพอจะจับเขายกขึ้นมาได้ แม้ประมาณเท่าน้ำที่สลัดออกจากปลายขนทรายของบุรุษนั้น ฉันใด.
เราก็ไม่ได้เหน็ ธรรมขาวของเทวทัต แม้ประมาณเท่าน้ำที่สลัด ออกจากปลายขนทราย ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อนั้น เราจึงได้พยากรณ์เทวทัตว่า เทวทัตจะต้องเกิดในอบาย ตกนรก ตั้งอยู่ตลอดกัปเยียวยาไม่ได้.

อานนท์ ! เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ ด้วยใจอย่างนี้ว่า กศุลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดี ของบุคคลนี้มีอยู่ สมัยต่อมา เรากำหนดรู้ใจบุคคลนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า กุศลธรรมของบุคคลนี้หายไป อกุศลธรรมปรากฏขึ้นเฉพาะหน้า กุศลมูลที่บุคคลนั้นยังตัดไม่ขาดมีอยู่ เพราะกุศลมูลนั้น กุศลอย่างอื่นของเขาจักปรากฏด้วยอาการ อย่างนี้บุคคลนี้ จักเป็นผู้ไม่เสื่อมต่อไปเป็นธรรมดา เปรียบเหมือนเมล็ดพืชที่ไม่หัก ไม่เน่า ไม่ถูกลมและแดดเผา เกิดในต้นฤดูหนาว เก็บไว้ดีแล้ว อันบุคคลปลูก ณ ที่ดินอันพรวนดีแล้ว ในที่นาดี เธอพึงทราบไหมว่า เมล็ดพืชเหล่านี้ จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์.

เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า !

…อานนท์ ! ตถาคตย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลด้วยใจ ด้วยอาการอย่างนี้ กำหนดญาณเป็นเครื่องทราบอินทรีย์ ของบุรุษ ด้วยใจด้วยอาการอย่างนี้ กำหนดรู้ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นต่อไปด้วยใจ ด้วยอาการอย่างนี้.

อานนท์ ! อนึ่ง เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า กุศลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของ บุคคลนี้มีอยู่ สมัยต่อมา เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลนั้นด้วยใจอย่างนี้ว่า อกุศลธรรมของบุคคลนี้หายไป กุศลธรรมปรากฏขึ้นเฉพาะหน้า แต่อกุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่ เพราะอกุศลมูลนั้น อกุศลอื่นของเขาจัก ปรากฏ ด้วยอาการอย่างนี้ บุคคลนี้จักเป็นผู้เสื่อมต่อไปเป็นธรรมดา เปรียบเหมือนเมล็ดพืชที่ไม่หักไม่เน่า ไม่ถูก ลมและแดดเผา เกิดในต้นฤดูหนาว เก็บไว้ดีแล้ว อันบุคคลปลูก ณ ที่ศิลาแท่งทึบเธอพึงทราบไหมว่า เมล็ดพืชเหล่านี้ จักไม่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์.

เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า !

…อานนท์ ! ตถาคตย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลด้วยใจด้วยอาการอย่างนี้ กำหนดญาณเป็นเครื่องทราบอินทรีย์ ของบุรุษ ด้วยใจด้วยอาการอย่างนี้ กำหนดรู้ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นต่อไปด้วยใจ ด้วยอาการอย่างนี้.

อานนท์ ! อนึ่ง เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจ อย่างนี้ว่า กุศลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของ บุคคลนี้มีอยู่ สมัยต่อมา เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลนั้นด้วยใจอย่างนี้ว่า ธรรมขาวของบุคคลนี้ แม้ประมาณเท่าน้ำ ที่สลัดออกจากปรายขนทรายไม่มีบุคคลนี้ ประกอบด้วยอกุศลธรรมฝ่ายดำอย่างเดียว เมื่อตายไปจักเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก เปรียบเหมือนเมล็ดพืชที่หักเน่า ถูกลมและแดดแผดเผา อันบุคคลปลูก ณ ที่ดิน ซึ่งพรวนดีแล้วในนาดี เธอพึงทราบไหมว่า เมล็ดพืชนี้จักไม่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์.

เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า !

…อานนท์ ! ตถาคตย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลด้วยใจด้วยอาการอย่างนี้ กำหนดญาณเป็นเครื่องทราบอินทรีย์ ของบุรุษ ด้วยใจด้วยอาการอย่างนี้ กำหนดรู้ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นต่อไปด้วยใจ ด้วยอาการอย่างนี้.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงสามารถบัญญัติบุคคล ๓ จำพวกนี้ออกเป็นส่วนละ ๓ อีกหรือ พระเจ้าข้า !สามารถ อานนท์ ! เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า กุศลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้มีอยู่ สมัยต่อมา เรากำหนดรู้ใจบุคคลนั้น ด้วยใจอย่างนี้ว่า กุศลธรรมของบุคคลนี้หายไป อกุศลธรรมปรากฏขึ้น เฉพาะหน้า แต่กุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่ และกุศลมูลนั้น ก็ถึงความถอนขึ้นโดยประการทั้งปวง ด้วยประการอย่างนี้ บุคคลนี้จักเป็นผู้เสื่อมต่อไปเป็นธรรมดา เปรียบเหมือนถ่านไฟที่ไฟติดทั่วแล้ว ลุกโพลง สว่างไสว อันบุคคลเก็บไว้บนศิลาทึบ เธอพึงทราบไหมว่า ถ่านไฟเหล่านี้จักไม่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์.

อย่างนั้น พระเจ้าข้า !

อานนท์ ! อนึ่ง เปรียบเหมือนเมื่อพระอาทิตย์ตกไปในเวลาเย็น เธอพึงทราบไหมว่า แสงสว่างจักหายไป ความมืดจักปรากฏ.

อย่างนั้น พระเจ้าข้า !

อานนท์ ! อนึ่ง เปรียบเหมือนในเวลาเสวยพระกระยาหาร ของราชสกุลในเวลาเที่ยงคืน เธอพึงทราบไหมว่า แสงสว่างหายไปหมดแล้ว ความมืดได้ปรากฏแล้ว.

อย่างนั้น พระเจ้าข้า !

…อานนท์ ! ตถาคตย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลด้วยใจด้วยอาการอย่างนี้ กำหนดญาณ เป็นเครื่องทราบอินทรีย์ของบุรุษ ด้วยใจด้วยอาการอย่างนี้ กำหนดรู้ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นต่อไปด้วยใจ ด้วยอาการอย่างนี้.

อานนท์ ! อนึ่ง เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า กุศลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดี ของบุคคลนี้มีอยู่ สมัยต่อมา เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลนั้นด้วยใจอย่างนี้ว่า อกุศลธรรมของบุคคลนี้หายไป กุศลธรรมปรากฏขึ้นเฉพาะหน้า แต่อกุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่ และอกุศลมูลแม้นั้น ก็ถึงความเพิกถอนขึ้นโดยประการทั้งปวง ด้วยประการอย่างนี้ บุคคลนี้จักไม่เสื่อมต่อไปเป็นธรรมดา เปรียบเหมือนถ่านไฟที่ไฟติด ทั่วแล้วลุกโพลงสว่างไสว อันบุคคลเก็บไว้บนกองหญ้าแห้ง หรือบนกองไม้แห้ง เธอพึงทราบไหมว่า ถ่านไฟเหล่านี้จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์.

อย่างนั้น พระเจ้าข้า !

อานนท์ ! อนึ่ง เปรียบเหมือนเมื่อพระอาทิตย์กำลังขึ้นมาในเวลารุ่งอรุณ เธอพึงทราบไหมว่า ความมืดจักหายไป แสงสว่างจักปรากฏ.

อย่างนั้น พระเจ้าข้า !

อานนท์ ! อนึ่ง เปรียบเหมือนในเวลาเสวยพระ- กระยาหารของราชสกุล ในเวลาเที่ยงวัน เธอพึงทราบไหมว่า ความมืดหายไปหมดแล้ว แสงสว่างได้ปรากฏแล้ว.

อย่างนั้น พระเจ้าข้า !

…อานนท์ ! ตถาคตย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลด้วยใจด้วยอาการอย่างนี้ กำหนดญาณเป็นเครื่องทราบอินทรีย์ ของบุรุษด้วยใจด้วยอาการอย่างนี้ กำหนดรู้ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นต่อไปด้วยใจ ด้วยอาการอย่างนี้.

อานนท์ ! อนึ่ง เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า กุศลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดี ของบุคคลนี้มีอยู่ สมัยต่อมา เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลนั้นด้วยใจอย่างนี้ว่า อกุศลธรรมของบุคคลนี้ แม้ประมาณเท่าน้ำที่สลัดออกจากปลายขนทรายไม่มี บุคคลนี้ประกอบด้วยธรรมที่ไม่มีโทษ เป็นธรรมฝ่ายขาว อย่างเดียว จักปรินิพพานในปัจจุบันทีเดียว เปรียบเหมือนถ่านไฟที่เย็น มีไฟดับแล้วอันบุคคลเก็บไว้ บนกองหญ้าแห้ง หรือบนกองไม้แห้ง เธอพึงทราบไหมว่า ถ่านไฟเหล่านี้จักไม่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์.

อย่างนั้น พระเจ้าข้า !

…อานนท์ ! ตถาคตย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลด้วยใจด้วยอาการอย่างนี้ กำหนดญาณเป็นเครื่องทราบ อินทรีย์ของบุรุษ ด้วยใจด้วยอาการอย่างนี้ กำหนดรู้ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นต่อไปด้วยใจ ด้วยอาการอย่างนี้.

อานนท์ ! บุคคล ๖ จำพวกนั้น บุคคล ๓ จำพวกข้างต้น คนหนึ่งเป็นผู้ไม่เสื่อมเป็นธรรมดา คนหนึ่งเป็นผู้เสื่อม เป็นธรรมดา คนหนึ่งเป็นผู้เกิดในอบาย ตกนรกในบุคคล ๖ จำพวกนั้น บุคคล ๓ จำพวกข้างหลัง คนหนึ่งเป็นผู้ ไม่เสื่อมเป็นธรรมดา คนหนึ่งเป็นผู้เสื่อมเป็นธรรมดาคนหนึ่งเป็นผู้จะปรินิพพานเป็นธรรมดา.

หน้า 337

135 ทรงทราบคติ ๕ และอุปมา
-บาลี มู. ม. ๑๒/๑๔๗-๑๕๓/๑๗๐-๑๗๖.

สารีบุตร ! คติ ๕ ประการเหล่านี้ มีอยู่.
๕ ประการ อย่างไรเล่า ? คือ :-
(๑) นรก (๒) กำเนิดเดรัจฉาน (๓) เปรตวิสัย (๔) มนุษย์ (๕) เทวดา

สารีบุตร ! เราย่อมรู้ชัดซึ่งนรก ทางยังสัตว์ให้ถึงนรกและปฏิปทา อันจะยังสัตว์ ให้ถึงนรก อนึ่ง สัตว์ผู้ปฏิบัติ ประการใด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติวินิบาต นรก เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย.

สารีบุตร ! เราย่อมรู้ชัดซึ่งกำเนิดเดรัจฉาน ทางยังสัตว์ให้ถึงกำเนิดเดรัจฉาน และปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึง กำเนิดเ ดรัจฉาน อนึ่ง สัตว์ผู้ปฏิบัติประการใด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงกำเนิดเดรัจฉาน เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย.

สารีบุตร ! เราย่อมรู้ชัดซึ่งเปรตวิสัย ทางยังสัตว์ให้ถึงเปรตวิสัย และปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงเปรตวิสัย อนึ่ง

สัตว์ผู้ปฏิบัติประการใดเบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงเปรตวิสัย เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย.

สารีบุตร ! เราย่อมรู้ชัดซึ่งเหล่ามนุษย์ ทางยังสัตว์ให้ถึงมนุษย์โลก และปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงมนุษย์โลก อนึ่ง สัตว์ผู้ปฏิบัติประการใด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมบังเกิดในหมู่มนุษย์ เราย่อมรู้ชัด ซึ่งประการนั้น ด้วย.

สารีบุตร ! เราย่อมรู้ชัดซึ่งเทวดาทั้งหลาย ทางยังสัตว์ให้ถึงเทวโลก และปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงเทวโลก อนึ่งสัตว์ผู้ปฏิบัติประการใด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เราย่อมรู้ชัด ซึ่งประการนั้นด้วย.

สารีบุตร ! เราย่อมรู้ชัดซึ่งนิพพาน ทางยังสัตว์ให้ถึงนิพพาน และปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงนิพพาน อนึ่ง สัตว์ผู้ปฏิบัติประการใด ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมตุติ อัน หาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทงั้ หลายสนิ้ ไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงแล้วแลอยู่ เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย.

อุปมาการเห็นคติ

สารีบุตร ! เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ลึกยิ่งกว่าชั่วบุรุษ เต็มไปด้วยถ่านเพลิง ปราศจากเปลว ปราศจากควัน ลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผา เหน็ดเหนื่อยหิว ระหาย มุ่งมาสู่หลุมถ่านเพลิงนั้นแหละ โดยมรรคา สายเดียว บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า “บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้นจักมาถึงหลุมถ่านเพลิงนี้ทีเดียว” โดยสมัยต่อมา บุรุษผู้มีจักษุนั้น พึงเห็นเขาตกลงในหลุมถ่านเพลิงนั้น เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อนโดยส่วนเดียว แม้ฉันใด.

สารีบุตร ! เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ ด้วยใจฉันนั้นเหมือนกันว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้ นดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกโดยสมัยต่อมา เราได้เห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงแล้วซึ่งอบาย ทุคติ วินิบาต นรกเสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อนโดยส่วนเดียวด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์.

(ในกรณีอุปมาแห่งคติอื่น คือ กำเนิดเดรัจฉาน ทรงอุปมาด้วยบุรุษตกลงไปในหลุมคูถ, เปรตวิสัย ทรงอุปมาด้วย บุรุษอยู่ใต้ต้นไม้ต้นไม้ อันเกิดในพื้นที่ไม่เสมอ มีใบอ่อนและใบแก่อันเบาบาง มีเงาอันโปร่ง มนุษย์ ทรงอุปมาด้วย บุรุษอยู่ใต้ต้นไม้ อันเกิดในพื้นที่เสมอ มีใบอ่อนและใบแก่อันหนา มีเงาหนาทึบ, นิพพาน ทรงอุปมาด้วย บุรุษอยู่ในแนวป่าทึบมีสระโบกขรณี มีน้ำอันเย็น ใสสะอาด มีท่าอันดี น่ารื่นรมย์ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก พุทธวจน-หมวดธรรม ฉบับ ๑๑ ภพภูมิ -ผู้รวบรวม)

หน้า 340

136 ทรงมีเวสารัชชญาณสี่อย่าง
-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๐/๘, -บาลี มู. ม. ๑๒/๑๔๔/๑๖๗.

ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้เป็นเวสารัชชญาณสี่อย่างของตถาคต ที่ตถาคตประกอบพร้อมแล้ว ปฏิญญาตำแหน่งจอมโลก บันลือสีหนาทประกาศพรหมจักร ในท่ามกลางบริษัททั้งหลายได้

สี่อย่างคือ :-

(๑) ตถาคต ไม่มองเห็นวี่แววช่องทางที่จะมีว่าสมณะหรือพราหมณ์ เทพ มาร พรหม หรือใครๆ ในโลกจักโจทท้วงเราได้ด้วยทั้งเหตุผลว่า “ธรรมเหล่านี้ๆ อันท่านผู้ปฏิญญาตนเป็นสัมมาสัมพุทธะอยู่ ไม่ได้รู้พร้อมเฉพาะแล้ว” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคตเมื่อมองหาไม่เห็นวี่แววอันนั้น จึงเป็นผู้ถึงความเกษม ถึงความไม่กลัว ถึงความเป็นผู้กล้าหาญอยู่ได้.

(๒)ตถาคต ไม่มองเห็นวี่แววช่องทางที่จะมีว่าสมณะหรือพราหมณ์ เทพ มาร พรหม, หรือใครๆ ในโลกจักโจท ท้วงเราได้ด้วยทั้งเหตุผลว่า “อาสวะเหล่านี้ๆ อันท่านผู้ปฏิญญาตนเป็นขีณาสพผู้สิ้นอาสวะอยู่ ยังไม่สิ้นรอบแล้ว” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคต เมื่อมองหาไม่เห็นวี่แววอันนั้น จึงเป็นผู้ถึงความเกษม ถึงความไม่กลัว ถึงความเป็นผู้กล้าหาญอยู่ได้.

(๓) ตถาคต ไม่มองเห็นวี่แววช่องทางที่จะมีว่าสมณะหรือพราหมณ์ เทพ มาร พรหม หรือใครๆ ในโลกจักโจท ท้วงเราได้ด้วยทั้งเหตุผลว่า “ธรรมเหล่าใด ที่ท่านกล่าวว่าเป็นธรรมทำอันตรายแก่ผู้เสพ ธรรมเหล่านั้นถึง เมื่อบุคคลเสพอยู่ ก็หาอาจทำอันตรายไม่” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคตเมื่อมองหาไม่เห็นวี่แววอันนั้น จึงเป็นผู้ถึงความเกษม ถึงความไม่กลัว ถึงความเป็นผู้กล้าหาญอยู่ได้.

(๔) ตถาคตไม่มองเห็นวี่แววช่องทางที่จะมีว่าสมณะหรือพราหมณ์ เทพ มาร พรหม หรือใครๆ ในโลกจักโจท ท้วงเราได้ด้วยทั้งเหตุผลว่า “ท่านแสดงธรรมเพื่อประโยชน์อย่างใด ประโยชน์นั้นไม่เป็นทางสิ้นทุกข์ โดยชอบ แก่บุคคลผู้ประพฤติตามธรรมนั้น” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย !ตถาคต เมื่อมองหาไม่เห็นวี่แววอันนั้น จึงเป็นผู้ถึง ความเกษม ถึงความไม่กลัว ถึงความเป็นผู้กล้าหาญอยู่ได้. ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล เป็นเวสารัชชญาณ สี่อย่าง ของตถาคต อันตถาคตประกอบพร้อมแล้ว ปฏิญญาตำแหน่งจอมโลก บันลือสีหนาทประกาศพรหมจักร ให้เป็นไปในท่ามกลางบริษัททั้งหลาย.

หน้า 342

137 ทรงมีอิทธิบาทเพื่ออยู่ได้ถึงกัปป์

-บาลี อุ. ขุ. ๒๕/๑๗๐/๑๒๗.

อานนท์ ! อิทธิบาทสี่ประการ อันบุคคลใดเจริญทำให้มาก ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นดุจที่รองรับ ให้เกิดขึ้นมั่นคงแล้ว อบรมทั่วถึงดีแล้วปรารภหนักแน่นแล้ว. เมื่อบุคคลนั้นปรารถนา เขาก็พึงตั้งอยู่ได้กัปป์หนึ่ง หรือยิ่งขึ้นไปกว่ากัปป์.

อานนท์ ! อิทธิบาทสี่ประการนั้น อันตถาคตนี้แลได้เจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นดุจที่รองรับ ให้เกิดขึ้นมั่นคงแล้ว อบรมทั่วถึงดีแล้ว ปรารภหนักแน่นแล้ว ถ้าตถาคตปรารถนา ตถาคตก็พึงตั้งอยู่ได้กัปป์หนึ่ง หรือยิ่งขึ้นไปกว่ากัปป์ ดังนี้.

หน้า 343

138 ทรงแสดงฤทธิ์ได้ เพราะอิทธิบาทสี่
-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๓๗๒/๑๒๔๕.

ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร คือ เพราะได้เจริญหรือทำให้มากซึ่งธรรมเหล่าไหนเล่า ตถาคตจึงเป็นผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ ? “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นมูล มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดง เนื้อความนั้นเถิด ภิกษุทั้งหลาย จักได้ทรงจำไว้” ภิกษุทั้งหลายทูลตอบ.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะได้เจริญ และทำให้มากซึ่งอิทธิบาทสี่ประการ ตถาคตจึงเป็นผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้. อิทธิบาทสี่ประการอย่างไหนเล่าภิกษุทั้งหลาย ! ในเรื่องนี้ ตถาคตย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบพร้อมด้วยธรรม เครื่องปรุงแต่ง ซึ่งมีสมาธิอาศัยฉันทะเป็นปธานกิจว่า ด้วยอาการอย่างนี้

ฉันทะ
ของเรา ย่อมมีในลักษณะที่จักไม่ย่อหย่อน ที่จักไม่เข้มงวดเกิน ที่จักไม่สยบอยู่ในภายใน ที่จักไม่ส่ายไป ในภายนอก ตถาคตย่อมเป็นผู้มีความรู้สึกทั้งในส่วนที่จะมีมา และส่วนที่ล่วงมาแล้วแต่กาลก่อน กาลก่อน ก็เหมือนภายหลัง ภายหลังก็

เหมือนกาลก่อน เบื้องล่างก็เหมือนเบื้องบน เบื้องบนก็เหมือนเบื้องล่าง กลางวันเหมือนกลางคืน กลางคืน เหมือนกลางวัน ย่อมเจริญจิตอันประกอบด้วยแสงสว่าง ด้วยจิตอันตนเปิดแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้ ไม่มีอะไรหุ้มห่อ.
(ต่อไปนี้ทรงแสดงด้วยสมาธิอันอาศัย วิริยะ…จิตตะ…วิมังสา เป็นปธานกิจ โดยเนื้อความอย่างเดียวกัน แปลกกันแต่ชื่อของอิทธิบาท จนครบทั้ง ๔ อย่าง)

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเจริญทำให้มากซึ่งอิทธิบาทสี่อย่างเหล่านี้แล ตถาคตจึงเป็นผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้.

+ ตถาคตย่อมแสดงอิทธิวิธีมีอย่างต่างๆ ได้
+ ผู้เดียวแปลงรูปเป็นหลายคน
+ หลายคนเป็นคนเดียว
+ ทำที่กำบังให้เป็นที่แจ้ง
+ ทำที่แจ้งให้เป็นที่กำบัง
+ ไปได้ไม่ขัดข้องผ่านทะลุฝา ทะลุกำแพง ทะลุภูเขา ดุจไปในอากาศว่างๆ
+ ผุดขึ้นและดำลงในแผ่นดินได้เหมือนในน้ำ
+ เดินได้เหนือน้ำ เหมือนเดินบนแผ่นดิน
+ ไปได้ในอากาศเหมือนนกมีปีก ทั้งที่ยังนั่งขัดสมาธิคู้บัลลังก์
+ ลูบคลำดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์อานุภาพมาก ได้ด้วยฝ่ามือ
+ และแสดงอำนาจด้วยกายเป็นไปตลอดถึงพรหมโลกได้.


หน้า 345

139 ทรงมีปาฏิหาริย์สามอย่าง
-บาลี สี. ที. ๙/๒๗๓/๓๓๙.

เกวัฏฏะ ! นี่ปาฏิหาริย์สามอย่าง ที่เราได้ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว ประกาศให้ผู้อื่นรู้ได้. สามอย่างอะไรเล่า ?
สามอย่างคือ
   อิทธิปาฏิหาริย์
   อาเทสนาปาฏิหาริย์
   และอนุศาสนีปาฏิหาริย์.


(๑) เกวัฏฏะ ! อิทธิปาฏิหาริย์นั้น เป็นอย่างไรเล่า ?
เกวัฏฏะ ! ภิกษุในกรณีนี้ กระทำอิทธิวิธีมีอย่างต่างๆ  ผู้เดียวแปลงรูปเป็นหลายคน หลายคนเป็นคนเดียว ทำที่กำบังให้เป็นที่แจ้ง ทำที่แจ้งให้เป็นที่กำบัง ไปได้ไม่ขัดข้อง ผ่านทะลุฝาทะลุกำแพง ทะลุภูเขา ดุจไปในอากาศว่างๆ ผุดขึ้น และดำลงในแผ่นดินได้เหมือนในน้ำ เดินไปได้เหนือน้ำ เหมือนเดินบนแผ่นดิน ไปได้ในอากาศเหมือนนกมีปีก ทั้งที่ยังนั่งสมาธิคู้บัลลังก์. ลูบคลำดวงจันทร์และดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์ อานุภาพมาก ได้ด้วยฝ่ามือ. และแสดงอำนาจทางกายเป็นไปตลอดถึงพรหมโลกได้.

เกวัฏฏะ ! กุลบุตรผู้มีศรัทธาเลื่อมใสได้เห็นการแสดงนั้นแล้ว เขาบอกเล่าแก่กุลบุตรอื่นบางคน ที่ไม่ศรัทธาเลื่อมใสว่า น่าอัศจรรย์นัก. กุลบุตรผู้ไม่มีศรัทธาเลื่อมใสนั้น ก็จะพึงตอบว่า วิชาชื่อคันธารี1 มีอยู่ภิกษุนั้นแสดงอิทธิวิธีด้วยวิชานั่นเท่านั้น (หาใช่มีปาฏิหาริย์ไม่) เกวัฏฏะ ! ท่านจะเข้าใจว่าอย่างไร ก็คนไม่เชื่อ ไม่เลื่อมใสย่อมกล่าวตอบผู้เชื่อผู้เลื่อมใส ได้อย่างนั้น มิใช่หรือ.

“พึงตอบได้, พระองค์ !”
เกวัฏฏะ ! เราเห็นโทษในการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ดังนี้แล จึงอึดอัดขยะแขยง เกลียดชัง ต่ออิทธิปาฏิหาริย์.

(๒) เกวัฏฏะ ! อาเทสนาปาฏิหาริย์นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? เกวัฏฏะ ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมทายจิต ทายความรู้สึกของจิต ทายความตรึก ทายความตรอง ของสัตว์เหล่าอื่น ของบุคคลเหล่าอื่นได้ว่า ใจของท่าน เช่นนี้ ใจของท่านมีประการนี้ ใจของท่านมีด้วยอาการอย่างนี้. … กุลบุตรผู้ไม่เชื่อ ไม่เลื่อมใส ย่อมค้านกุลบุตรผู้เชื่อผู้เลื่อมใสว่าวิชาชื่อมณิกา มีอยู่ ภิกษุนั้นกล่าวทายใจได้เช่นนั้นๆก็ด้วยวิชานั้น (หาใช่มีปาฏิหาริย์ไม่) เกวัฏฏะ ! ท่านจะเข้าใจว่าอย่างไร ก็คนไม่เชื่อไม่เลื่อมใส ย่อมกล่าวตอบผู้เชื่อ ผู้เลื่อมใสได้อย่างนั้น มิใช่หรือ ? “พึงตอบได้ พระองค์ !”
1. คันธารี ชื่อมนต์ แต่งโดยฤษีมีนามคันธาระ, อีกอย่างหนึ่งว่าในแคว้นคันธาระ. -ผู้แปล

เกวัฏฏะ ! เราเห็นโทษในการแสดงอาเทสนา-ปาฏิหาริย์ดังนี้แล จึงอึดอัด ขยะแขยง เกลียดชัง ต่ออาเทสนาปาฏิหาริย์.

(๓) เกวัฏฏะ ! อนุศาสนีปาฏิหาริย์นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? เกวัฏฏะ ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมสั่งสอนว่า ท่านจงตรึกอย่างนี้ๆ อย่าตรึกอย่างนั้นๆ จงทำไว้ในใจอย่างนี้ๆ อย่าทำไว้ในใจอย่างนั้นๆ จงละสิ่งนี้ๆ เสีย จงเข้าถึงสิ่งนี้ๆแล้วแลอยู่ ดังนี้ นี้เราเรียกว่า อนุศาสนีปาฏิหาริย์.

เกวัฏฏะ ! …1เหล่านี้แล เป็นปาฏิหาริย์ ๓ อย่างที่เราได้ทำให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ตามด้วย.

1. ระหว่างนี้ ทรงแสดงข้อปฏิบัติ เรื่องศีล สันโดษ สติสัมปชัญญะ … ว่าเป็นอนุศาสนีปาฏิหาริย์ของพระองค์ อันหนึ่งๆ ทุกอัน. -ผู้แปล

หน้า 348

140 ทรงเปล่งเสียงคราวเดียว ได้ยินตลอดทุกโลกธาตุ
-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๙๒/๕๒๐.

อานนท์ ! ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์แผ่รัศมีส่องแสงให้สว่างไปทั่วทิศ กินเนื้อที่ประมาณเท่าใด โลกมีเนื้อที่เท่านั้น มีจำนวนพันหนึ่ง. ในพันโลกนั้น มีดวงจันทร์พันดวงดวงอาทิตย์พันดวง ภูเขาสิเนรุพันลูก ชมพูทวีปพันทวีป อมรโคยาน พันทวีป อุตรกุรุพันทวีป ปุพพวิเทหะพันทวีป มหาสมุทรสี่พัน มหาราชสี่พัน จาตุมมหาราชพันหนึ่ง ดาวดึงส์พันหนึ่ง ยามาพันหนึ่ง ดุสิตพันหนึ่ง นิมมานรดีพันหนึ่ง ปรนิมมิตวสวัตตีพันหนึ่ง พรหมพันหนึ่ง นี้เรียกว่าสหัสสีจูฬนิกาโลกธาตุ.

สหัสสีจูฬนิกาโลกธาตุมีขนาดเท่าใด โลกธาตุขนาดเท่านั้น คำนวณทวีขึ้น โดยส่วนพัน นั้นเรียกว่า ทวิสหัสสีมัชฌิมิกาโลกธาตุ.

ทวิสหัสสีมัชฌิมิกาโลกธาตุมีขนาดเท่าใด โลกธาตุขนาดเท่านั้น คำนวณทวีขึ้น โดยส่วนพัน นั้นเรียกว่า ติสหัสสีมหาสหัสสีโลกธาตุ.

อานนท์ ! ตถาคต เม่อื มีความจำนง ก็ย่อมพูดให้ติสหัสสีมหาสหัสสีโลกธาตุ ได้ยินเสียงทั่วกันได้ หรือว่าจำนงให้ได้ยินเพียงเท่าใด ก็ได้.

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ! เป็นไปได้ด้วยวิธีอย่างใดพระเจ้าข้า ”

อานนท์ ! ตถาคตอยู่ที่นี่ จะพึงแผ่รัศมี มีโอภาสสว่างไปทั่วติสหัสสีมหาสหัสสี โลกธาตุ เสียก่อน เมื่อสัตว์เหล่านั้น รู้สึกต่อแสงสว่างอันนั้นแล้ว ตถาคต ก็จะบันลือเสียง ให้สัตว์เหล่านั้นได้ยิน. อย่างนี้แล อานนท์ ! ตถาคตจะพูดให้ ติสหัสสีมหาสหัสสีโลกธาตุ ได้ยินเสียงทั่วกันได้ หรือจำนงให้ได้ยินเพียงเท่าใด ก็ได้.

หน้า 350

141 ความหมายของสัพพัญญูที่แท้จริง
-บาลี ม. ม. ๑๓/๒๓๗/๒๔๑.

วัจฉะ ! พวกชนเหล่าใด ที่กล่าวว่า “พระสมณ-โคดม เป็นผู้สัพพัญญู รู้สิ่งทั้งปวง อยู่เสมอเป็น ธรรมดาเป็นผู้ สัพพทัสสาวี เห็นสิ่งทั้งปวงอยู่เสมอเป็นธรรมดา และปฏิญญาความรู้ความเห็น ทั่วทุกกาลไม่มีส่วนเหลือว่า เมื่อเราเที่ยวไปๆ ก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับอยู่ก็ดี ตื่นอยู่ก็ดี ความรู้ความเห็นนั้น ย่อมปรากฏแก่เรา ติดต่อเนื่องกัน อยู่เสมอ”ดังนี้. ชนพวกนั้นไม่ได้กล่าวตรงตามที่เรากล่าว แต่เขากล่าวตู่เราด้วยคำอันไม่มีจริง ไม่เป็นจริง.

วัจฉะ ! ต่อเราต้องการจะน้อมจิตไปเฉพาะเพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ เราจึงตามระลึกถึง ขันธ์ที่เคยอยู่อาศัย ในภพก่อน …  ต่อเราต้องการ จะน้อมจิตไปเฉพาะเพื่อทิพพจักขุญาณ เราจึงน้อมจิตไปเพื่อทิพพจักขุญาณ …เราทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ … แล้วแลอยู่.1

วัจฉะ ! เมื่อผู้ใดกล่าวให้ชัดว่า “พระสมณโคดมมีวิชชาสาม” ดังนี้จึงจะชื่อว่า ไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง เป็นการกล่าวถูกต้องตามธรรม และผู้ที่กล่าวตามเขาต่อๆ ไปก็จะไม่ตกไปในฐานะอันใครจะพึงติเตียนได้.
1. สามารถอ่านความเต็มได้ในส่วนของวิชชา ๓ ในหน้า ๑๗๕-๑๗๗. -ผู้รวบรวม

หน้า 351

142 ไม่ทรงมีความลับ ที่ต้องให้ใครช่วยปกปิด
-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๑๔๒/๑๐๐.

โมคคัลลานะ ! ตถาคตเป็นผู้ที่มี ศีลบริสุทธิ์ ดีอยู่เสมอ จึงปฏิญญาว่าเรา เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์แล้ว. ศีลของเราบริสุทธิ์ ขาวผ่อง ไม่เศร้าหมองเลย, สาวกทั้งหลาย จึงไม่ต้องช่วยกันทำการป้องกันให้ตถาคต ในเรื่องอันเกี่ยวกับศีล ทั้งตถาคตก็ไม่หวังการป้องกันจากสาวกทั้งหลาย ในเรื่องอันเกี่ยวกับศีลเลย.

โมคคัลลานะ ! ตถาคตเป็นผู้ที่มี อาชีวะบริสุทธิ์ดีอยู่เสมอ จึงปฏิญญา ว่าเราเป็น ผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์แล้ว. อาชีวะของเราบริสุทธิ์ ขาวผ่อง ไม่เศร้าหมองเลย สาวกทั้งหลาย จึงไม่ต้องช่วยการทำการป้องกันให้ตถาคต ในเรื่องอันเกี่ยวกับอาชีวะ ทั้งตถาคตก็ไม่หวังการป้องกันจากสาวกทั้งหลาย ในเรื่องอันเกี่ยวกับอาชีวะเลย.

โมคคัลลานะ ! ตถาคตเป็นผู้ที่มี การแสดงธรรมบริสุทธิ์ ดีอยู่เสมอ จึงปฏิญญา ว่าเราเป็นผู้มีการแสดงธรรม บริสุทธิ์. การแสดงธรรมของเราบริสุทธิ์ขาวผ่อง ไม่เศร้าหมองเลย สาวกทั้งหลาย จึงไม่ต้องช่วยการทำการ ป้องกัน

ให้ตถาคต ในเรื่องอันเกี่ยวกับการแสดงธรรม ทั้งตถาคตก็ไม่หวังการป้องกัน จากสาวกทั้งหลาย ในเรื่องอัน เกี่ยวกับการแสดงธรรมเลย.

โมคคัลลานะ ! ตถาคตเป็นผู้ที่มี การตอบคำถามบริสุทธิ์ ดีอยู่เสมอ จึงปฏิญญา ว่า เราเป็นผู้มีการตอบคำถาม บริสุทธิ์. การตอบคำถามของเราบริสุทธิ์ ขาวผ่อง ไม่เศร้าหมองเลย สาวกทั้งหลาย จึงไม่ต้องช่วยการทำการ ป้องกันให้ตถาคต ในเรื่องอันเกี่ยวกับการตอบคำถาม ทั้งตถาคตก็ไม่หวังการป้องกัน จากสาวก ทั้งหลาย ในเรื่องอันเกี่ยวกับการตอบคำถามเลย.

โมคคัลลานะ ! ตถาคตเป็นผู้ที่มี ญาณทัสสนะบริสุทธิ์ ดีอยู่เสมอ จึงปฏิญญาว่า เราเป็นผู้มีญาณทัสสนะบริสุทธิ์ แล้ว. ญาณทัสสนะของเราบริสุทธิ์ ขาวผ่อง ไม่เศร้าหมองเลย สาวกทั้งหลายจึงไม่ ต้องช่วยการทำการป้องกัน ให้ตถาคต ในเรื่องอันเกี่ยวกับญาณทัสสนะ ทั้งตถาคตก็ไม่หวังการป้องกันจากสาวก ทั้งหลาย ในเรื่องอันเกี่ยว กับ ณาณทัสสนะเลย ดังนี้.

หน้า 353

143 สิ่งที่พระองค์ไม่ต้องสำรวมรักษา
-บาลี สตฺตก. อํ. ๒๓/๘๔/๕๕.

ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมสี่อย่างเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ตถาคตไม่ต้องสำรวมรักษา (ด้วยเจตนางดเว้นอีกต่อไป). สี่อย่างเหล่าไหนเล่า ?

(๑) ภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคต มีมรรยาททางกายบริสุทธิ์สะอาด กายทุจริตที่ตถาคตต้องรักษา (คือปิดบัง)ว่า “ใครๆ อื่น อย่าล่วงรู้ถึงกายทุจริตข้อนี้ของเรา” ดังนี้ย่อมไม่มีแก่ตถาคต.

(๒) ภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคต มีมรรยาททางวาจาบริสุทธิ์สะอาด วจีทุจริตที่ตถาคตต้องรักษา ว่า “ใครๆ อื่นอย่าล่วงรู้ถึงวจีทุจริตข้อนี้ของเรา” ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่ตถาคต.

(๓) ภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคต มีมรรยาททางใจบริสุทธิ์สะอาด มโนทุจริตที่ตถาคต ต้องรักษา ว่า “ใครๆ อื่นอย่าล่วงรู้ถึงมโนทุจริตข้อนี้ของเรา” ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่ตถาคต.

(๔) ภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคต มีการเลี้ยงชีพบริสุทธิ์สะอาด มิจาฉาชีพที่ตถาคต ต้องรักษา ว่า “ใครๆ อื่นอย่าล่วงรู้ถึงมิจฉาชีพข้อนี้ของเรา” ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่ตถาคตเลย.

หน้า 354

144 ทรงยืนยันในคุณธรรมของพระองค์
-บาลี สี. ที. ๙/๒๑๘/๒๗๑.

(๑) กัสสปะ ! สมณพราหมณ์บางพวกเป็นสีลวาที เขากล่าวพรรณาคุณแห่งศีล โดยอเนกปริยาย. กัสสปะ ! ปรมศีลอันประเสริฐ (อริยะ) มีได้ด้วยเหตุมีประมาณ เท่าใด เราไม่มองเห็นใครจะเสมอด้วยเรา ในส่วนปรมศีลอันประเสริฐนั้น  ผู้ที่ยิ่งไปกว่าเรา จะมีมาแต่ไหนเล่า. เราแล ที่แท้เป็นผู้ยิ่งใน อธิศีล.

(๒) กัสสปะ ! สมณพราหมณ์บางพวกเป็นตโปชิคุจฉวาที เขากล่าวพรรณนา คุณแห่งการเกลียดกันกิเลส ด้วยตบะโดยอเนกปริยาย. กัสสปะ ! การเกียดกัน กิเลสด้วยตบะ อันอย่างยิ่งและประเสริฐ มีได้ด้วยเหตุมี ประมาณเท่าใด เราไม่มองเห็นใครจะเสมอด้วยเรา ในส่วนการเกียดกันกิเลส ด้วยตบะ อันอย่างยิ่งและ ประเสริฐนั้น ผู้ที่ยิ่งไปกว่าเรา จะมีมาแต่ไหนเล่า. เราแล ที่แท้เป็นผู้ยิ่งใน อธิเชคุจฉะ (คืออธิจิต).

(๓) กัสสปะ ! สมณพราหมณ์บางพวกเป็นปัญญาวาที เขากล่าวพรรณา คุณแห่งปัญญา โดยอเนก-ปริยาย. กัสสปะ ! ปรมปัญญาอันประเสริฐ มีได้ด้วยเหตุมีประมาณเท่าใด เราไม่มองเห็นใครจะเสมอด้วยเรา ในส่วนปรมปัญญาอันประเสริฐนั้น ผู้ที่ยิ่งไปกว่าเรา จะมีมาแต่ไหนเล่า. เราแล ที่แท้เป็นผู้ยิ่งใน อธิปัญญา.

(๔) กัสสปะ ! สมณพราหมณ์บางพวกเป็นวิมุตติวาที เขากล่าวพรรณา คุณแห่งวิมุตติโดยอเนก-ปริยาย. กัสสปะ ! ปรมวิมุตติอันประเสริฐ มีได้ด้วยเหตุมีประมาณเท่าใด เราไม่มองเห็นใครจะเสมอด้วยเราในส่วน ปรมวิมุตติ อันประเสริฐนั้น ผู้ที่ยิ่งไปกว่าเรา จะมีมาแต่ไหนเล่า. เราแล ที่แท้เป็นผู้ยิ่งใน อธิวิมุตติ.

หน้า 356

145 ทรงบังคับใจได้เด็ดขาด
-บาลี จุตกฺก. อํ. ๒๑/๔๗/๓๕.

พราหมณ์ ! เราเป็นผู้ปฏิบัติแล้วเพื่อความเกื้อกูลแก่มหาชน เพื่อความสุขแก่มหาชน. เราได้ประดิษฐานมหาชนไว้แล้วในอริยญายธรรม คือในความเป็นผู้มีธรรมอันงดงาม มีธรรมเป็นกุศล. พราหมณ์ ! เราอยากตริตรึก(วิตก) ไปในวิตกเรื่องใด ก็ตริตรึกในวิตกนั้นได้ เราไม่อยากตริตรึกไปในวิตกเรื่องใด ก็ไม่ตริตรึกไปในวิตกนั้นได้1.

เราอยากดำริ (สังกัปปะ) ไปในความดำริอย่างใด ก็ดำริในความดำรินั้นได้ เราไม่อยากดำริในความดำริอย่างใด ก็ไม่ดำริไปในความดำริอย่างนั้นได้. พราหมณ์ ! เราเป็นผู้บรรลุแล้วซึ่งความมีอำนาจเหนือจิตในคลอง แห่งวิตกทั้งหลาย เราจึงมีธรรมดาได้ฌานทั้งสี่ อันเป็นการอยู่อย่างผาสุกยิ่ง ในชาตินี้ เราได้โดยง่ายดาย ไม่ยาก ไม่ลำบาก.พราหมณ์ ! เราแล เพราะความสิ้นอาสวะทั้งหลาย ได้ทำให้แจ้งแล้วซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันปราศจากอาสวะด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรม เข้าถึงวิมุตตินั้นแล้วแลอยู่.

1. คือทรงบังคับจิตให้คิดหรือไม่ให้คิดก็ได้ หรือให้คิดเฉพาะเรื่องใดก็ได้. -ผู้แปล

หน้า 357

146 ทรงมีความคงที่ต่อวิสัยโลก ไม่มีใครยิ่งกว่า
-บาลี จตุกฺก.อํ. ๒๑/๓๑/๒๔.

ภิกษุทั้งหลาย ! สิ่งใดๆ ที่ชาวโลก รวมทั้งเทวดามาร พรหม หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดารวมทั้งมนุษย์ ได้พากันเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว รู้สึกแล้ว รู้แจ้งแล้วพบปะแล้ว แสวงหากันแล้ว คิดค้นกันแล้ว สิ่งนั้นๆเราก็รู้จัก.

ภิกษุทั้งหลาย ! สิ่งใดๆ ที่ชาวโลก รวมทั้งเทวดามาร พรหม หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดารวมทั้งมนุษย์ ได้พากันเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว รู้สึกแล้ว รู้แจ้งแล้วพบปะแล้ว แสวงหากันแล้ว คิดค้นกันแล้ว สิ่งนั้นๆ เราได้รู้แจ้งแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง. สิ่งนั้นๆ เป็นที่แจ่มแจ้งแก่ตถาคต สิ่งนั้นๆ ไม่อาจเข้าไป (ติดอยู่ในใจของ) ตถาคต.

ภิกษุทั้งหลาย ! สิ่งอันเป็นวิสัยโลกต่างๆ ที่ชาวโลกรวมทั้งเทวดา มารพรหม หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดารวมทั้งมนุษย์ ได้พากันเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว รู้สึกแล้วรู้แจ้งแล้ว พบปะแล้ว แสวงหากันแล้ว คิดค้นกันแล้วนั้นๆ เราพึงกล่าวได้ว่าเรารู้จักมันดี. มันจะเป็นการมุสาแก่เราถ้าเราจะพึงกล่าวว่า เรารู้จักบ้าง ไม่รู้จักบ้าง. และมันจะเป็นการมุสาแก่เราเหมือนกัน ถ้าเราจะพึงกล่าวว่า เรารู้จักก็หามิได้ ไม่รูจั้กกห็ ามิได้ ข้อนั้นมนั เป็นความเสียหายแก่เรา.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนี้แล ตถาคตเห็นสิ่งที่ต้องเห็นแล้ว ก็ไม่ทำความมั่นหมายว่า เห็นแล้ว ไม่ทำความมั่นหมายว่า ไม่ได้เห็น ไม่ทำความมั่นหมายว่า เป็นสิ่งที่ต้องเห็น ไม่ทำความมั่นหมายว่าตน เป็นผู้หนึ่งที่ได้เห็น (ในสิ่งที่ได้ฟัง ได้รู้สึก ได้รู้แจ้ง ก็มีนัยอย่างเดียวกัน).

ภิกษุทั้งหลาย ! ด้วยเหตุนี้แล ตถาคตชื่อว่าเป็นผู้คงที่เป็นปรกติอยู่เช่นนั้น ได้ในสิ่งทั้งหลาย ที่ได้เห็น ได้ยินได้รู้สึก และได้รู้แจ้งแล้ว และเรายังกล่าวว่า จะหาบุคคลอื่นที่เป็นผู้คงที่ ซึ่งยิ่งไปกว่า ประณีตกว่าตถาคต ผู้คงที่นั้นเป็นไม่มีเลย.

หน้า 359

147 ทรงทราบ ทรงเปิดเผย แต่ไม่ทรงติดซึ่งโลกธรรม
-บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๑๗๐/๒๔๐.

ภิกษุทั้งหลาย ! โลกธรรม มีอยู่ในโลก. ตถาคตย่อมตรัสรู้ ย่อมรู้พร้อมเฉพาะ ซึ่งโลกธรรมนั้น ครั้นตรัสรู้แล้ว รู้พร้อมเฉพาะแล้ว ย่อมบอก ย่อมแสดง ย่อมบัญญัติย่อมตั้งขึ้นไว้ ย่อมเปิดเผย ย่อมจำแนกแจกแจง ย่อมทำให้เป็น เหมือนการหงายของที่คว่ำ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็อะไรเล่า เป็นโลกธรรมในโลก? ภิกษุทั้งหลาย ! รูป เป็นโลกธรรมในโลก. ตถาคตย่อมตรัสรู้ ย่อมรู้พร้อมเฉพาะ ซึ่งรูปอันเป็นโลกธรรมนั้น ครั้นตรัสรู้แล้ว รู้พร้อมเฉพาะแล้ว ย่อมบอก ย่อมแสดงย่อมบัญญัติ ย่อมตั้งขึ้นไว้ ย่อมเปิดเผย ย่อมจำแนกแจกแจง ย่อมทำให้เป็นเหมือนการหงายของที่คว่ำ.

ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคน แม้เราตถาคตบอกแสดง บัญญัติ ตั้งขึ้นไว้เปิดเผย จำแนกแจกแจง ทำให้เป็นเหมือนการหงายของที่คว่ำ อยู่อย่างนี้ เขาก็ยังไม่รู้ไม่เห็น. ภิกษุทั้งหลาย ! กะบุคคลที่เป็นพาล เป็นปุถุชน คนมืดคนไม่มีจักษุ คนไม่รู้ไม่เห็นเช่นนี้ เราจะกระทำอะไรกะเขาได้.

(ในกรณีแห่ง เวทนา, สัญญา, สังขาร และวิญญาณ ก็ได้ตรัสไว้ด้วยถ้อยคำ ที่มีหลักเกณฑ์ในการตรัส อย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูปที่กล่าวแล้วนั้น ทุกประการ)

ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือน ดอกอุบล หรือดอกปทุม หรือดอกบัวบุณฑริกก็ดี เกิดแล้ว เจริญแล้วในน้ำ พ้นจากน้ำแล้วดำรงอยู่ได้ โดยไม่เปื้อนน้ำฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกันเกิดแล้วเจริญแล้ว ในโลก ครอบงำโลกแล้วอยู่อย่างไม่แปดเปื้อนด้วยโลก.

หน้า 361

148 ทรงต่างจากเทวดาและมนุษย์
-บาลี เอก. อํ. ๒๐/๒๙/๑๔๑.

ภิกษุทั้งหลาย ! เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย มีรูปเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในรูป บันเทิงด้วยรูป. เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมอยู่เป็นทุกข์ เพราะความแปรปรวนความเสื่อมสลาย และความดับไปของรูป. ภิกษุทั้งหลาย ! เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายมีเสียง … มีกลิ่น … มีรส …มีโผฏฐัพพะ … มีธรรมารมณ์เป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในธรรมารมณ์ บันเทิงด้วยธรรมารมณ์. เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมอยู่เป็นทุกข์ เพราะความแปรปรวน ความเสื่อมสลาย และความดับไปของธรรมารมณ์.

ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนตถาคตผู้เป็นอรหันตสัมมา-สัมพุทธะ รู้แจ้งตามเป็นจริงซึ่งเหตุ เป็นเครื่องเกิดขึ้น ซึ่งความ ตั้งอยู่ไม่ได้ ซึ่งรสอร่อย ซึ่งโทษ คือความต่ำทรามและอุบายเครื่องหลุดพ้นออกไปได้ แห่งรูปทั้งหลายแล้ว ไม่เป็นผู้มีรูปเป็นที่มายินดี ไม่ยินดีในรูป ไม่บันเทิงด้วยรูป.

ภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคตย่อมอยู่เป็นสุข เพราะความแปรปรวน ความเสื่อมสลาย และความดับไปของรูป  ภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคตรู้แจ้งตามเป็นจริง ซึ่งเหต ุเป็นเครื่องเกิดขึ้นซึ่งความตั้งอยู่ไม่ได้ ซึ่งรสอร่อย ซึ่งโทษ คือความต่ำทราม และอุบายเครื่องหลุดพ้นออกไปได้แห่งเสียงทั้งหลาย แห่งกลิ่นทั้งหลาย แห่งรสทั้งหลาย แห่งโผฏฐัพพะทั้งหลาย และแห่งธรรมารมณ์ทั้งหลายแล้ว ไม่เป็นผู้มีเสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์เป็น ที่มายินดี ไม่ยินดี ไม่บันเทิงด้วยเสียง เป็นต้น ภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคตย่อมอยู่เป็นสุข เพราะความแปรปรวน ความเสื่อมสลาย และความดับไปแห่งธรรม มีเสียงเป็นต้นนั้นๆ.

รูปทั้งหลาย เสียงทั้งหลาย กลิ่นทั้งหลายรสทั้งหลาย ผัสสะทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายทั้งสิ้น อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าชอบใจ ยังเป็นสิ่งกล่าวได้ว่า มีอยู่เพียงใด มนุษยโลกพร้อมด้วยเทวโลก ก็ยังสมมติว่า“นั่นสุข” อยู่เพียงนั้น. ถ้าเมื่อสิ่งเหล่านั้นแตกดับลงในที่ใด สัตว์เหล่านั้น ก็สมมติว่า “นั่นทุกข์” ในที่นั้น.

สิ่งที่พระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นว่า เป็นความสุข ก็คือความดับสนิทแห่งสักกายะ ทั้งหลาย แต่สิ่งนี้กลับปรากฏ เป็นข้าศึกตัวร้ายกาจ แก่สัตว์ทั้งหลายผู้เห็นอยู่ โดยความเป็นโลกทั้งปวง. สิ่งใด ที่สัตว์อื่นกล่าวแล้วโดยความ เป็นสุข พระอริยเจ้าทั้งหลาย กล่าวสิ่งนั้น โดยความเป็นทุกข์. สิ่งใดที่สัตว์อื่น กล่าวแล้วโดยความเป็นทุกข์ พระอริยะผู้รู้ กล่าวสิ่งนั้นโดยความเป็นสุข ดังนี้.

หน้า 363

149 ไม่ทรงติดแม้ในนิพพาน
-บาลี มู. ม. ๑๒/๑๐/๘-๙.

ภิกษุทั้งหลาย ! แม้ตถาคต ผู้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบเอง ก็รู้ชัดซึ่ง นิพพานตามความเป็นนิพพาน. ครั้นรู้นิพพานตามความเป็นนิพพานชัดแจ้งแล้ว ก็ไม่ทำความมั่นหมายซึ่งนิพพาน ไม่ทำความมั่นหมาย ในนิพพาน ไม่ทำความมั่นหมายโดยความเป็นนิพพาน ไม่ทำความมั่นหมายว่า “นิพพานเป็นของเรา” ไม่เพลิดเพลินลุ่มหลงในนิพพาน. ข้อนี้เพราะเหตุไรเล่า ? เพราะเหตุว่านิพพานนั้น เป็นสิ่งที่ตถาคต กำหนดรู้ทั่วถึงแล้ว.

ภิกษุทั้งหลาย ! แม้ตถาคต ผู้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบเอง ก็รู้ชัดซึ่ง นิพพาน ตามความเป็นนิพพาน. ครั้นรู้นิพพานตามความเป็นนิพพานชัดแจ้งแล้ว ก็
ไม่ทำความมั่นหมาย ซึ่งนิพพาน
ไม่ทำความมั่นหมาย ในนิพพาน
ไม่ทำความมั่นหมาย โดยความเป็นนิพพาน
ไม่ทำความมั่นหมายว่า “นิพพานเป็นของเรา”
ไม่เพลิดเพลินลุ่มหลง ในนิพพาน.


ข้อนี้เพราะเหตุไรเล่า ? เรากล่าวว่า เพราะรู้ว่า ความเพลิดเพลินเป็นมูลแห่งทุกข์ และเพราะมีภพ จึงมีชาติ, เมื่อเกิดเป็นสัตว์แล้วต้องมีแก่และตาย. เพราะเหตุนั้น ตถาคตจึงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะตัณหาทั้งหลายสิ้นไปปราศไป ดับไป สละไป ไถ่ถอนไป โดยประการทั้งปวง ดังนี้.

หน้า 366

150 ต้องท่องเที่ยวมาแล้ว เพราะไม่รู้อริยสัจจ์
-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๔๑/๑๖๙๘.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะไม่รู้ถึง ไม่แทงตลอดซึ่งอริยสัจจ์สี่อย่าง เรา และ พวกเธอทั้งหลาย จึงท่องเที่ยวไปแล้ว ในสังสารวัฏ ตลอดกาลยืดยาวนาน ถึงเพียงนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะไม่รู้ถึง เพราะไม่แทงตลอดซึ่งอริยสัจจ์สี่อย่าง เหล่าไหนเล่า ? สี่อย่างคืออริยสัจจ์ คือทุกข์ อริยสัจจ์คือเหตุให้เกิดทุกข์ อริยสัจจ์คือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อริยสัจจ์คือทางดำเนินให้ถึง ความดับ ไม่เหลือแห่งทุกข์. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะไม่รู้ถึง ไม่แทงตลอดซึ่งอริยสัจจ์ สี่ประการ เหล่านี้แล เราและพวกเธอทั้งหลายจึงได้ท่องเที่ยวไปแล้ว ในสังสารวัฏ ตลอดกาลยืดยาวนานถึงเพียงนี้. …

หน้า 367

151 ตลอดสังสารวัฎ ไม่เคยบังเกิดในชั้นสุทธาวาส
-บาลี มู. ม. ๑๒/๑๖๒/๑๘๗.

สารีบุตร ! สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีถ้อยคำมีความเห็นว่า “ความบริสุทธิ์มีได้ เพราะการท่องเที่ยวใน สังสารวัฏ”. สารีบุตร ! ก็สังสารวัฏที่เราไม่เคยท่องเที่ยว มาแล้วแต่หลัง ตลอดกาลยืดยาวนานนั้น หาได้ไม่ง่ายเลย เว้นเสียแต่ในหมู่เทพ ชั้นสุทธาวาส. สารีบุตร ! ถ้าเราท่องเที่ยวไปในหมู่เทพเหล่าสุทธาวาส ก็จะไม่พึงมาสู่โลกนี้ได้เลย (ย่อมปรินิพพานในภพนั้น).

สารีบุตร ! สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีถ้อยคำมีความเห็นว่า “ความบริสุทธิ์มีได้ เพราะการอุบัติ (บังเกิด)”. สารีบุตร ! ก็การบังเกิดที่เราไม่เคยบังเกิดมาแล้ว แต่หลังตลอดกาลยืดยาวนานนั้น หาได้ไม่ง่ายเลย เว้นเสียแต่การบังเกิดในหมู่ เทพชั้นสุทธาวาส. สารีบุตร ! ถ้าเราบังเกิดในหมู่เทพชั้นสุทธาวาส ก็จะไม่พึงมาสู่ โลกนี้ได้เลย (ย่อมปรินิพพานในภพนั้น).

สารีบุตร ! สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีถ้อยคำมีความเห็นว่า “ความบริสุทธิ์มีได้ เพราะภพเป็นที่อยู่อาศัย ”.สารีบุตร ! ก็ภพที่เราไม่เคยอยู่อาศัยมาแล้วแต่หลัง ตลอดกาลยืดยาวนานนั้น หาได้ไม่ง่ายเลย เว้นเสียแต่ การอยู่อาศัยในหมู่เทพ ชั้นสุทธาวาส. สารีบุตร ! ถ้าเราอยู่อาศัยในหมู่เทพชั้น สุทธาวาส  ก็จะไม่พึงมาสู่โลกนี้ได้เลย (ย่อมปรินิพพานในภพนั้น).

หน้า 369

152 ตลอดสังสารวัฏเคยบูชายัญญ์ และบำเรอไฟแล้วอย่างมาก
-บาลี มู. ม. ๑๒/๑๖๓/๑๙๐.

สารีบุตร ! สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีถ้อยคำมีความเห็นว่า “ความบริสุทธิ์มีได้ เพราะการบูชายัญญ์”.สารีบุตร ! ก็ยัญญ์ที่เรายังไม่เคยบูชามาแล้ว แต่หลังตลอดการท่องเที่ยวอันยืดยาวนาน เป็นกษัตริย์บ้าง เป็นกษัตริย์ผู้ได้มุรธาภิเษกบ้าง เป็นพราหมณ์มหาศาลบ้างนั้นหาได้ไม่ง่ายเลย.

สารีบุตร ! สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีถ้อยคำมีความเห็นว่า “ความบริสุทธิ์มีได้ เพราะการบำเรอไฟ”. สารีบุตร ! ก็ไฟที่เรายังไม่เคยบูชามาแล้ว แต่หลังตลอดการท่องเที่ยวอันยืดยาวนาน เป็นกษัตริย์บ้าง เป็นกษัตริย์ผู้ได้ มุรธาภิเษกบ้าง เป็นพราหมณ์มหาศาลบ้างนั้นหาได้ไม่ง่ายเลย.

หน้า 370

153 เคยบังเกิดเป็นมหาพรหม สักกะ
-บาลี อิติวุ. ขุ. ๒๕/๒๔๐/๒๐๐.

ภิกษุทั้งหลาย ! แต่ชาติที่แล้วมาแต่อดีต ตถาคตได้เคยเจริญเมตตาภาวนาตลอด ๗ ปี จึงไม่เคยมาบังเกิด ในโลกมนุษย์นี้ ตลอด ๗ สังวัฏฏกัปป์ และวิวัฏฏกัปป์. ในระหว่างกาลอันเป็นสังวัฏฏกัปป์นั้น เราได้บังเกิดใน อาภัสสระ. ในระหว่างกาลอันเป็นวิวัฏฏกัปป์นั้น เราก็ได้อยู่พรหมวิมานอันว่างเปล่าแล้ว.

ภิกษุทั้งหลาย ! ในกัปป์นั้น เราได้เคยเป็นพรหมได้เคยเป็นมหาพรหมผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครครอบงำได้ เป็นผู้เห็น สิ่งทั้งปวงโดยเด็ดขาด เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด. ภิกษุทั้งหลาย ! เราได้เคยเป็นสักกะ ผู้เป็นจอมแห่งเทวดา นับได้ ๓๖ ครั้ง. เราได้เคยเป็นราชาจักรพรรดิผู้ประกอบด้วยธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม มีแว่นแคว้นจดมหาสมุทร ทั้งสี่ เป็นที่สุด เป็นผู้ชนะแล้วอย่างดี มีชนบทอันบริบูรณ์ประกอบด้วยแก้วเจ็ดประการ นับด้วยร้อยๆ ครั้ง ทำไมจะต้องกล่าวถึง ความเป็นราชาตามธรรมดาด้วย.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความคิดได้เกิดขึ้นแก่เราว่าผลวิบากแห่งกรรมอะไรของเราหนอ ที่ทำให้เราเป็นผู้มีฤทธิ์มาก ถึงอย่างนี้ มีอานุภาพมากถึงอย่างนี้ ในครั้งนั้นๆ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความรู้สึกได้เกิดขึ้นแก่เราว่าผลวิบากแห่งกรรม ๓ อย่างนี้แล ที่ทำให้เรามีฤทธิ์มากถึงอย่างนี้ มีอานุภาพมากถึงอย่างนี้ วิบากแห่งกรรม ๓ อย่างในครั้งนั้น คือผลวิบากแห่ง ทาน การให้ ๑ แห่ง ทมะการบีบบังคับใจ ๑ แห่ง สัญญมะ การสำรวมระวัง ๑ ดังนี้.

หน้า 372

154
เคยบังเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระนามว่ามฆเทวะ

-บาลี ม. ม. ๑๓/๔๑๕/๔๕๓.

อานนท์ ! ความคิดอาจมีแก่เธอว่า ‘ผู้อื่นต่างหากที่เป็นพระเจ้ามฆเทวราช ในสมัยโน้น’. อานนท์ ! เธอไม่ควรเห็นเช่นนั้น เรานี่เองได้เป็น พระเจ้ามฆเทวราชแล้ว ในสมัยนั้น. …อานนท์ ! เรื่องดึกดำบรรพ์ ที่เมืองมิถิลานี้ มีพระราชานามว่า พระเจ้ามฆเทวะ เป็นธรรมราชาผู้ตั้งอยู่ในธรรม ประพฤติราชธรรม ในพราหมณ์และคหบดี ทั้งในเมืองหลวงและชนบท ย่อมเข้าอยู่อุโบสถในวันที่ ๑๔ หรือ ๑๕ และวันที่ ๘ แห่งปักษ์. พระเจ้ามฆเทวะนั้น เรียกช่างกัลบกมาแล้วสั่งว่า ‘เพื่อน ! ท่านเห็นผมหงอก เกิดขึ้นที่ศีรษะเราเมื่อใด ก็จงบอกเรานั้น’.

อานนท์ ! ล่วงมานับด้วยปีเป็นอันมาก ช่างกัลบกนั้นได้เห็นผมหงอกแล้ว กราบทูลให้ทรงทราบ. พระเจ้ามฆเทวะ รับสั่งให้ถอนหงอกด้วยแหนบ แล้ววางใส่ฝ่าพระหัตถ์ให้ทอดพระเนตร ครั้นทอดพระเนตร เห็นแล้ว พระราชทานบ้านส่วยเป็นบำเหน็จแก่ช่างกัลบกนั้น. รับสั่งให้หาพระราชบุตรองค์ใหญ่มาเฝ้า แล้วตรัสว่า ‘แน่ะพ่อกุมาร !

เทวทูตปรากฏแก่เราแล้ว : หงอกเกิดบนศีรษะแล้ว. กามอันเป็นวิสัยของมนุษย์ เราได้บริโภคเสร็จแล้ว เดี๋ยวนี้ถึงสมัยอันควรเพื่อการแสวงกามอันเป็นทิพย์ สืบไป. มาเถอะพ่อผู้กุมาร ! เจ้าจงครองตำแหน่ง พระราชานี้. ส่วนเราจะปลงผม และหนวด นุ่งห่มผ้าย้อมฝาด ออกบวชจากเรือนไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนไป.

อนึ่ง ถ้าเจ้าเห็นหงอกเกิดขึ้นที่ศีรษะของเจ้าเมื่อใด เมื่อนั้นจงประทานบ้านส่วย เป็นบำเหน็จแก่ช่างกัลบก แล้วชี้แจงมอบหมายตำแหน่งพระราชา แก่ราชบุตรองค์ใหญ่ให้ดี แล้วจงปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมฝาด ออกบวชจากเรือน ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนไปเถิด. เจ้าจงประพฤติตามกัลยาณวัตร อันนี้ ตามที่เราได้บัญญัติ ไว้แล้ว เจ้าอย่าเป็นบุรุษคนสุดท้ายของเรา.

กัลยาณวัตรอันนี้ ขาดตอนลงในยุคของผู้ใด ผู้นั้นชื่อว่าเป็นคนสุดท้าย แห่งบุรุษทั้งหลาย ผู้ประพฤติตาม กัลยาณวัตรของเรา. แน่ะพ่อผู้กุมาร ! เราขอกล่าวถึงวัตรนั้นกะเจ้าในบัดนี้ อย่างนี้ว่า เจ้าจงประพฤติตาม กัลยาณวัตร นี้ ตามที่เราได้บัญญัติไว้แล้ว ขอเจ้าจงอย่าเป็นบุรุษคนสุดท้ายของเราเลย’.

อานนท์ ! ครั้นพระเจ้ามฆเทวะ ประทานบ้านส่วยแก่ช่างกัลบก มอบหมาย รัชชสมบัติแก่พระราชบุตร องค์ใหญ่ เป็นอย่างดีแล้ว ก็ปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมฝาดบวชแล้วจากเรือน ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือน ในป่ามฆเทวัมพ วันนี้เอง. เธอผู้บวชแล้วนั้น แผ่ความรู้สึกด้วยจิตอันประกอบด้วยเมตตา ไปยังทิศ ที่หนึ่ง และทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ โดยอาการอย่างเดียวกัน.

ด้วยเหตุนี้ เป็นอันว่าเธอมีจิตประกอบด้วยเมตตา อย่างไพบูลย์เยี่ยมยอด หาที่เปรียบมิได้ปราศจากเวร และ พยาบาท แผ่ไปทั่วโลกทั้งปวง เพราะแผ่ทั่วไปทั้งในเบื้องบนเบื้องล่าง และเบื้องขวางโดยรอบ. เธอนั้น มีจิตประกอบด้วยกรุณา … มุทิตา … อุเบกขา …แผ่ไปทั่งโลกทั้งปวง เพราะแผ่ทั่วไปทั้งในเบื้องบน เบื้องล่าง และเบื้องขวางโดยรอบ แล้วแลอยู่แล้ว. … เธอบวชแล้วประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในป่ามฆเทวัมพวันนี้เอง.

ครั้นทำพรหมวิหารธรรมทั้งสี่ให้เจริญแล้ว ก็เข้าถึงพรหมโลกภายหลังจาก การตาย เพราะการทำลายแห่งกาย… อานนท์ ! เราแล ได้เป็นพระเจ้ามฆเทวะ แล้ว ในสมัยนั้น. อนุชนที่เกิดในภายหลัง ได้ประพฤติตามกัลยาณวัตร ที่เราตั้งไว้แล้ว แต่ว่า กัลยาณวัตรนั้นจะเป็นไปพร้อมเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับสนิท ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพาน ก็หาไม่ เป็นไปเพียงเพื่อเข้าถึงพรหมโลกเท่านั้น. (สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ กัลยาณวัตรในอีกรูปแบบหนึ่งได้จากหน้า ๒๙๘ ของหนังสือเล่มนี้.)

หน้า 375

155 เคยบังเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระนามว่ามหาสุทัศน์
-บาลี มหา. ที. ๑๐/๒๒๕/๑๘๕, -บาลี จริยา. ขุ. ๓๓/๕๕๔/๔.

ในกาลใด, เราเป็นพระเจ้าแผ่นดินในนครชื่อกุสาวดีมีนามว่า มหาสุทัศน์ผู้เป็น จักรพรรดิมีกำลังมาก. ในกาลนั้น เราจัดให้มีการป่าวร้องในที่ทั่วไป วันละสามครั้ง. ‘ใครปรารถนาอะไร ใครประสงค์สิ่งใด ใครควรได้ทรัพย์เช่นไร ใครหิว ใครกระวนกระวาย ใครต้องการมาลาใครต้องการเครื่องลูบทา. ผ้าย้อมแล้วด้วยสีต่างๆ กันใครไร้ผ้าจงนุ่งห่ม. ใครจะเดินทางจงเอาร่มไป เอารองเท้างามๆ นิ่มๆ ไป’.

เราให้ป่าวร้องเช่นนี้ ทั้งเช้าและเย็นทุกๆ แห่ง.

ทรัพย์ที่เตรียมไว้สำหรับยาจก ไม่ใช่สิบแห่ง หรือร้อยแห่งแต่ตั้งหลายร้อยแห่ง. จะเป็นกลางวันหรือกลางคืน ก็ตาม ถ้ายาจกมาเมื่อใด เป็นได้สิ่งของ ตามที่เขา ปรารถนาเต็มมือกลับไปเสมอ. เราให้ทานอันใหญ่หลวงเช่นนี้ จนตลอดชีวิต และใช่ว่าจะให้ทานด้วยทรัพย์ส่วนที่เราเกลียดไม่ชอบก็หาไม่ การสะสมทรัพย์ จะมีในเราก็หาไม่.

ผู้ป่วยกระสับกระส่าย ใคร่จะพ้นไปจากโรคให้ขวัญข้าวแก่หมอ จนเป็นที่พอใจ แล้ว ย่อมหายจากโรคได้ฉันใด เราก็ฉันนั้น เรามุ่งแต่จะทำให้เต็มเปี่ยม ให้ทาน แก่ยาจก ก็เพื่อทำใจที่ยังพร่องอยู่ให้เต็ม ไม่อาลัยทรัพย์ ไม่เกาะเกี่ยวในทรัพย์ ก็เพื่อการลุถึงโดยลำดับ ซึ่งปัญญาอันเป็นเครื่องรู้พร้อม.

อานนท์ ! ความคิดอาจมีแก่เธอว่า ‘ผู้อื่นต่างหากที่เป็นพระเจ้ามหาสุทัศน์ ในสมัยโน้น’. อานนท์ ! เธอไม่ควรเห็นเช่นนั้น เรานี่เองเป็นพระเจ้ามหาสุทัศน์ แล้วในสมัยนั้น.

นครจำนวนแปดหมื่นสี่พัน
มีราชธานีกุสาวดีเป็นประมุข เหล่านั้นของเรา.
ปราสาทจำนวนแปดหมื่นสี่พัน มีปราสาทชื่อธรรมปราสาทเป็นประมุข เหล่านั้นเป็นของเรา.
เรือนยอดจำนวนแปดหมื่นสี่พัน
มีเรือนยอดชื่อมหาวิยูหะเป็นประมุข เหล่านั้นเป็นของเรา.
บัลลังก์จำนวนแปดหมื่นสี่พัน ทำด้วยทอง ทำด้วยเงิน ทำด้วยงาทำด้วยแก้วลาย ลาดด้วยขนเจียม ลาดด้วยสักหลาด …เหล่านั้นเป็นของเรา.

ช้างจำนวนแปดหมื่นสี่พัน
ประดับด้วยเครื่องทอง … มีพญาช้างตระกูลอุโบสถเป็นประมุขเหล่านั้น เป็นของเรา.
ม้าจำนวนแปดหมื่นสี่พัน
ประดับด้วยเครื่องทอง … มีพญาม้าตระกูลวลาหกเป็นประมุข เหล่านั้นเป็นของเรา.
รถจำนวนแปดหมื่นสี่พัน หุ้มบุด้วยหนังราชสีห์หนังเสือโคร่ง … มีเวชยันตรถเป็นประมุข เหล่านั้นเป็นของเรา.
มณีแปดหมื่นสี่พัน มีแก้วมณีรัตนะเป็นประมุขเหล่านั้นเป็นของเรา.
หญิงแปดหมื่นสี่พัน
มีนางสุภัททาเทวีเป็นประมุข เหล่านั้นเป็นของเรา.
คหบดีแปดหมื่นสี่พัน มีคหปติรัตนะเป็นประมุข เหล่านั้นเป็นของเรา.
กษัตริย์แปดหมื่นสี่พัน ผู้คอยแวดล้อมประดับเกียรติมีปริณายกรัตนะเป็นประมุข เหล่านั้นเป็นของเรา.
โคนมแปดหมื่นสี่พัน
กำลังมีนมไหลรูดรองได้ เหล่านั้นเป็นของเรา.
ผ้าแปดหมื่นสี่พันโกฏิ คือผ้าป่านอันละเอียดอ่อน ผ้าฝ้ายอันละเอียดอ่อน … เหล่านั้นเป็นของเรา. ถาดตกแต่งอาหารแปดหมื่นสี่พัน อันคนเชิญเครื่องเชิญทั้งเช้าและเย็น เหล่านั้นเป็นของเรา.

(ข้อความต่อไปจากนี้ มีการกล่าวระบุสิ่งเลิศเพียงสิ่งเดียวตัวเดียว หลังเดียว นครเดียว … ถาดเดียว ที่ทรงบริโภคใช้สอยอยู่เป็นประจำ ในบรรดาแต่ละสิ่ง ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวน -ผู้แปล).

อานนท์ ! จงดูเถิด, สิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ทั้งหมดได้ล่วงไปแล้ว ดับหายไปแล้ว แปรปรวนไปสิ้นแล้ว.

อานนท์ ! สังขารทั้งหลาย เป็นของไม่เที่ยง เช่นนี้เอง เป็นของไม่ยั่งยืนเช่นนี้เอง เป็นของไม่มีเจ้าของ อย่างนี้เอง.

อานนท์ ! เพียงเท่านี้ ก็พอแล้ว พอเพื่อจะหน่ายในสังขารทั้งหลาย พอเพื่อ คลายกำหนัด พอเพื่อหลุดพ้นดังนี้.

อานนท์ ! เรารู้ที่ที่เป็นหลุมฝังเรา เขาฝังสรีระของเราไว้ ณ ที่นี้ การทอดทิ้งร่าง เหนือแผ่นดินครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๗ ของเรา ในชาติที่เป็นพระราชาชั้นจักรพรรดิ.

หน้า 379

156 เคยบังเกิดเป็นพราหมณ์ปุโรหิต สอนการบูชายัญญ์
-บาลี สี. ที. ๙/๑๗๑/๒๐๕.

พราหมณ์ ! ในสมัยนั้น เราเป็นพราหมณ์ผู้ปุโรหิต ผู้สั่งงานบูชายัญญ์ ของพระเจ้ามหาวิชิตราช.

พราหมณ์ ! เรื่องมีแล้วในกาลก่อน. พระเจ้ามหาวิชิตราช เป็นราชาผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์สมบัติมาก มีทองและ เงินเหลือเฟือ มีอุปกรณ์ของทรัพย์เหลือเฟือ มีทรัพย์และข้าวเปลือกเหลือเฟือ มียุ้งฉางเต็มล้น. วันหนึ่งประทับอยู่ ณ ที่สงัด เกิดพระดำริว่า ‘เราได้เสวยมนุษยสมบัติอันวิบูล ครอบครองปฐพีมณฑล อันใหญ่ยิ่ง ถ้ากระไรเราควรบูชามหายัญญ์ อันจะเป็นประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่เรา สิ้นกาลนาน รับสั่งให้หาพราหมณ์ปุโรหิตมาบอก พระดำรินี้แล้ว ขอให้บอกสอนวิธีการบูชายัญญ์.

พราหมณ์ ! ปุโรหิตได้ทูลสนองพระดำรัสนั้นว่า ‘แว่นแคว้นของพระองค์ ยังมีเสี้ยนหนามหลักตอ การปล้นฆ่าในหมู่บ้านก็ยังปรากฏ การปล้นฆ่าในจังหวัด ก็ยังปรากฏ. การปล้นฆ่าในนครก็ยังปรากฏ การแย่งชิงตามระยะหนทาง ก็ยังปรากฏ. และถ้าพระองค์จะให้เลิกเก็บส่วย ในขณะที่แว่นแคว้น เป็นไปด้วยเสี้ยนหนามหลักตอเช่นนี้ ก็จะได้ชื่อว่าทำกิจไม่ควรทำ.

อีกประการหนึ่ง พระองค์อาจมีพระดำริว่า เราจักถอนหลักตอ คือ โจรผู้ร้ายเสียได้ ด้วยการประหาร การจองจำ การริบ การประจาน หรือการเนรเทศดังนี้ ข้อนี้ ก็ไม่เชื่อว่าเป็นการกำจัดได้ราบคาบด้วยดี เพราะผู้ที่ยังเหลือจากการถูกประหาร ก็ยังมี ชนพวกนี้จะบียดเบียนชนบทของพระองค์ในภายหลัง.

แต่ว่ามีอุบายที่จะถอนหลักตอเหล่านั้นให้ราบคาบด้วยดีได้ คือ ชนเหล่าใด บากบั่น เลี้ยงโคเพื่อกสิกรรม พระองค์จงประทานพืชพันธุ์ข้าวแก่ชนเหล่านั้น. ชนเหล่าใดบากบั่นในวาณิชยกรรม พระองค์จงประทานเงินเพิ่ม ให้ชนเหล่านั้น. ชนเหล่าใดเป็นข้าราชการขอพระองค์ จงประทานเบี้ยเลี้ยงแก่ชนพวกนั้น.

มนุษย์เหล่านั้น ต่างจะขวนขวายในการงานของตน ไม่เบียนเบียนแว่นแคว้น ของพระองค์ และพระคลังหลวง ก็จะเพิ่มพูนมากมาย. แว่นแคว้นจะตั้งอยู่ด้วย ความเกษม ปราศจากเสี้ยนหนามหลักตอ. พวกมนุษย์จะร่าเริง บันเทิง นอนชูบุตร ให้เต้นฟ้อนอยู่บนอก แม้จักไม่ปิดประตูเรือน ในเวลาค่ำคืนก็เป็นอยู่ได้’…

…พราหมณ์ ! ครั้นชนบทนั้นสงบจากเสี้ยนหนามหลักตอแล้ว ปุโรหิตจึงกราบทูล วิธีแห่งมหายัญญ์ (อันประกอบด้วยบริกขารสิบหก คือ ได้รับความยินยอม เห็นพ้อง จากกษัตริย์เมืองออกจากอมาตยบริษัท จากพราหมณ์มหาศาล และจากคหบดี มหาศาล นี้จัดเป็นบริกขารสี่ พระเจ้ามหาวิชิต ประกอบด้วยองคคุณ ๘ มีพระชาติอันดีมีพระรูปสง่างามเป็นต้น นี้เป็นบริกขารอีกแปด  และปุโรหิตประกอบด้วยองคคุณ ๔ มีความเป็นผู้มีชาติบริสุทธิ์ และจบเวทเป็นต้น นี่เป็นบริกขารอีกสี่ รวมเป็นสิบหก  และกราบทูลประการ สามแห่งยัญญ์ คือผู้บูชาต้องไม่เกิดวิปฏิสาร ด้วยความตระหนี่ ทั้งในขณะจะบูชา บูชาอยู่และบูชาเสร็จแล้ว  แล้วกราบทูลเหตุไม่ควรวิปฏิสาร เพราะปฏิคาหกผู้มารับทาน ๑๐ จำพวก เช่นเป็นคนทำปาณาติบาต อทินนาทาน … เป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดเสียพระทัยว่าคนเลวๆ มารับทาน.) …

พราหมณ์ ! ในการบูชายัญญ์นั้น โค แพะ แกะไก่ สุกร ไม่ได้ถูกฆ่า สัตว์อื่นๆ ก็ไม่ต้องได้รับความวิบัติ พลัดพราก ต้นไม้ก็ไม่ถูกตัดมาเพื่อหลักยัญญ์ เชื้อเพลิงก็ไม่ถูกเกี่ยวตัดมา เพื่อการเบียดเบียนสัตว์ใดให้ลำบาก พวกที่เป็นทาส เป็นคนใช้ และกรรมกร ก็ไม่ต้องถูกคุกคามด้วยอาชญา และความกลัว ไม่ต้องร้องไห้น้ำตานองหน้า พลางทำการงานพลาง. ใครปรารถนาจะทำก็ทำ ไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องทำ ปรารถนาทำสิ่งใด ก็ทำเฉพาะสิ่งนั้น ไม่ปรารถนา

ทำสิ่งใด ก็ไม่ต้องทำสิ่งนั้น. ยัญญ์นั้น สำเร็จไปแล้วด้วยเนยใส น้ำมัน เนยข้น นมส้ม น้ำผึ้ง น้ำอ้อย. …พราหมณ์ ! เรารู้ชัดเจนอยู่ ซึ่งหมู่ชนเหล่านั้นๆ ผู้บูชายัญญ์อย่างนี้แล้ว ภายหลังแต่การตาย เพราะกายแตกย่อมบังเกิด ณ สุคติโลกสวรรค์. พราหมณ์ ! ในสมัยนั้นเราเป็นพราหมณ์ผู้ปุโรหิต ผู้สั่งงานบูชายัญญ์ของพระเจ้ามหาวิชิตราชนั้น.

หน้า 383

157 เคยบังเกิดเป็น พราหมณ์ชื่อ เวลามะ

-บาลี นวก. อํ. ๒๓/๔๐๕/๒๒๔.

คหบดี ! เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพราหมณ์ชื่อเวลามะพราหมณ์ผู้นั้น ได้ให้ทานเป็นมหาทานอย่างนี้ คือ ได้ให้ถาดทองเต็มด้วยรูปิยะ ๘๔,๐๐๐ ถาด ถาดรูปิยะเต็มด้วยทอง ๘๔,๐๐๐ ถาด ถาดสำริดเต็มด้วยเงิน ๘๔,๐๐๐ ถาดให้ช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือก มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง มีธงทองคลุมด้วยข่ายทอง ให้รถ ๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์ หนังเสือโคร่ง หนังเสือเหลือง ผ้ากัมพลเหลือง มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง

มีธงทองคลุมด้วยข่ายทองให้แม่โคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว มีน้ำนมไหลสะดวก ใช้ภาชนะเงินรองน้ำนม ให้หญิงสาว ๘๔,๐๐๐ คน ประดับด้วยแก้วมณีและ แก้วกุณฑล ให้บัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ ที่ ลาดด้วยผ้าโกเชาว์ลาดด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดมีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ มีเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนัง ชะมด มีเครื่องลาดเพดาน มีหมอนข้างแดง ทั้งสอง ให้ผ้า ๘๔,๐๐๐ โกฏิ เป็นผ้าเปลือกไม้ผ้าแพร ผ้าฝ้าย เนื้อละเอียด จะป่วยการกล่าวไปไย ถึงข้าวน้ำ ของเคี้ยว ของบริโภค เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่ให้ดุจไหลไปเหมือนแม่น้ำ.

คหบดี ! ท่านพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า สมัยนั้น ผู้อื่นเป็นเวลามพราหมณ์ ผู้ที่ให้ทานเป็นมหาทานนั้น. คหบดี !แต่ท่านไม่ควรเห็นอย่างนี้ สมัยนั้น เราเป็นเวลามพราหมณ์เราได้ให้ทานนั้นเป็นมหาทาน ก็ในทานนั้น ไม่มีใครเป็น ทักขิเณยยบุคคล ใครๆ ไม่ชำระทักขิณานั้นให้หมดจด.

คหบดี ! ทานที่บุคคลถวายให้ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ (โสดาบัน) ผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่า ทานที่เวลาม-พราหมณ์ให้แล้ว.

ทานที่บุคคลถวายให้พระสกทาคามีผู้เดียวบริโภคมีผลมากกว่า ทานที่บุคคลถวายให้ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ๑๐๐ ท่านบริโภค.

ทานที่บุคคลถวายให้พระอนาคามีผู้เดียวบริโภคมีผลมากกว่า ทานที่บุคคลถวายให้พระสกทาคามี ๑๐๐ ท่านบริโภค.

ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ผู้เดียวบริโภคมีผลมากกว่า ทานที่บุคคลถวายให้พระอนาคามี ๑๐๐ ท่านบริโภค.

ทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวบริโภค มีผลมากกว่า ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ ๑๐๐ รูป บริโภค.

ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค มีผลมากกว่า ทานที่บุคคลถวาย ให้พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑๐๐ รูปบริโภค.

ทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค มีผลมากกว่า ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค.

การที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔มีผลมากกว่าทาน ที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค.

การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ มีผลมากกว่า ทานที่บุคคลสร้างวิหาร ถวายสงฆ์ อันมาจากทิศทั้ง ๔.

การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คืองดเว้นจากปาณาติบาต ... จากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท มีผลมากกว่าการที่บุคคล มีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ.

การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่า การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใส สมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต ...และการที่บุคคลเจริญอนิจจสัญญา แม้เพียงเวลาลัดนิ้วมือ มีผลมากกว่า  การที่บุคคลเจริญเมตตาจิต โดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม.

หน้า 387

158 เคยบังเกิดเป็นช่างทำรถ
-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๑๔๐/๔๕๘.

ภิกษุทั้งหลาย ! เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพระราชาทรงพระนามว่าปเจตนะ ครั้งนั้น พระเจ้าปเจตนะ ได้รับสั่งกะนายช่างรถว่า “นายช่างรถผู้สหาย ! แต่นี้ไปอีก ๖ เดือนเราจักทำสงคราม ท่านสามารถจะทำล้อรถคู่ใหม่ให้เราได้ไหม ?”.

นายช่างรถได้กราบทูลรับรองต่อพระเจ้าปเจตนะว่า“ขอเดชะ ข้าพระองค์สามารถ จะทำถวายได้ พระเจ้าข้า !”ครั้งนั้นแล นายช่างรถ ได้ทำล้อสำเร็จข้างหนึ่ง โดยใช้เวลา ๖เดือน หย่อน ๖ ราตรี.

ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเจตนะตรัสเรียกนายช่างรถมาถามว่า “นายช่างรถผู้สหาย ! แต่นี้ไปอีก ๖ วัน เราจักทำสงคราม ล้อรถคู่ใหม่สำเร็จแล้วหรือ ?”.

นายช่างรถกราบทูลว่า “ขอเดชะ โดย ๖ เดือนหย่อนอยู่อีก ๖ ราตรีนี้แล ล้อได้เสร็จไปแล้วข้างหนึ่งพระเจ้าข้า !”.

พระเจ้าปเจตนะตรัสถามว่า “นายช่างรถผู้สหาย !อีก ๖ วันนี้ ท่านสามารถ จะทำล้อข้างที่สอง ให้เสร็จได้หรือไม่” นายช่างรถได้กราบทูลรับรอง ต่อพระเจ้าปเจตนะว่า“ขอเดชะ ข้าพระองค์สามารถ จะทำให้เสร็จได้ พระเจ้าข้า !”.

ภิกษุทั้งหลาย ! ครั้งนั้นแล นายช่างรถได้ทำล้อข้างที่สองเสร็จโดย ๖ วัน แล้วนำเอาล้อคู่ใหม่เข้าไปเฝ้า พระเจ้าปเจตนะถึงที่ประทับ กราบทูลว่า “ขอเดชะ ล้อคู่ใหม่ของพระองค์นี้สำเร็จแล้ว พระเจ้าข้า !”.

พระเจ้าปเจตนะรับสั่งถามว่า “นายช่างรถผู้สหาย !ล้อของท่านข้างที่เสร็จโดย ๖ เดือน หย่อน ๖ ราตรี กับอีกข้างหนึ่งเสร็จโดย ๖ วันนี้ เหตุอะไรเป็นเครื่อง ทำให้แตกต่างกัน เราจะเห็นความแตกต่างของมันได้อย่างไร ?”.

นายช่างรถกราบทูลว่า “ขอเดชะ ความแตกต่างของมันมีอยู่ ขอพระองค์ จงทอดพระเนตรความแตกต่างกัน ของมันเถิด พระเจ้าข้า !”.

ภิกษุทั้งหลาย ! ลำดับนั้นแล นายช่างรถยังล้อข้างที่เสร็จโดย ๖ วัน ให้หมุนไป ล้อนั้น เมื่อนายช่างรถหมุนไปมันก็หมุนไปได้เท่าที่นายช่างรถหมุนไป แล้วหมุนเวียนล้มลงบนพื้นดิน. นายช่างรถได้ยังล้อข้างที่เสร็จโดย ๖ เดือนหย่อนอยู่ ๖ ราตรีให้หมุนไป ล้อนั้น เมื่อนายช่างรถหมุนไปมันก็หมุนไปได้ เท่าที่นายช่างรถหมุนไป แล้วได้ตั้งอยู่เหมือนอยู่ในเพลาฉะนั้น.

พระเจ้าปเจตนะตรัสถามว่า “นายช่างรถผู้สหาย !อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้ล้อข้างที่เสร็จโดย ๖ วันนี้เมื่อถูกท่านหมุนไปแล้ว มันจึงหมุนไปเพียง เท่าที่ท่านหมุนไปได้ แล้วหมุนเวียนล้มลงบนพื้นดิน และก็อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้ล้อข้างที่เสร็จโดย ๖ เดือน หย่อนอยู่ ๖ราตรีนี้ เมื่อท่านหมุนไป มันจึงหมุนไปได้เท่าที่ท่านหมุนไปแล้ว ได้ตั้งอยู่เหมือนกับอยู่ในเพลาฉะนั้น”.

นายช่างรถกราบทูลว่า “ขอเดชะ กงก็ดี กำก็ดี ดุมก็ดี ของล้อข้างที่เสร็จแล้วโดย ๖ วันนี้ มันคดโค้ง มีโทษมีรสฝาด เพราะกงก็ดี กำก็ดี ดุมก็ดี คดโค้ง มีโทษมีรสฝาด เพราะฉะนั้น เมื่อข้าพระองค์หมุนไป มันจึงหมุนไปได้เท่าที่ข้าพระองค์หมุนไป แล้วหมุนเวียนล้มบนพื้นดิน.

ขอเดชะ ส่วนกงก็ดี กำก็ดี ดุมก็ดี ของล้อข้างที่เสร็จโดย ๖เดือน หย่อนอยู่อีก ๖ ราตรีนี้ ไม่คดโค้ง หมดโทษ ไม่มีรสฝาด เพราะฉะนั้น เมื่อข้าพระองค์หมุนไป มันจึงหมุนไป

ได้เท่าที่ข้าพระองค์หมุนไป แล้วได้ตั้งอยู่เหมือนกับอยู่ในเพลาฉะนั้น”.

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ท่านทั้งหลายจะพึงคิดอย่างนี้ว่าสมัยนั้น คนอื่นได้เป็นนายช่างรถ แต่ข้อนี้ไม่ควรเห็นดังนั้น.

สมัยนั้น เราได้เป็นนายช่างรถ ภิกษุทั้งหลาย ! คราวนั้น เราเป็นคนฉลาดในความคดโค้งแห่งไม้ ในโทษแห่งไม้ ในรสฝาดแห่งไม้.

ภิกษุทั้งหลาย ! แต่บัดนี้เราเป็นอรหันตสัมมา-สัมพุทธะ ฉลาดในความคดโกงแห่งกาย ในโทษแห่งกายในรสฝาดแห่งกาย ฉลาดในความคดโกงแห่งวาจา ในโทษแห่งวาจา ในรสฝาดแห่งวาจา ฉลาดในความคดโกงแห่งใจในโทษแห่งใจ ในรสฝาดแห่งใจ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่งไม่ละความคดโกงแห่งกาย โทษแห่งกาย รสฝาดแห่งกายไม่ละความคดโกงแห่งวาจา โทษแห่งวาจา รสฝาดแห่งวาจาไม่ละความคดโกงแห่งใจ โทษแห่งใจ รสฝาดแห่งใจ เขาได้พลัดตกไปจากธรรมวินัยนี้ เหมือนกับล้อข้างที่เสร็จโดย๖ วัน ฉะนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่งละความคดโกงแห่งกาย โทษแห่งกาย รสฝาดแห่งกายละความคดโกงแห่งวาจา โทษแห่งวาจา รสฝาดแห่งวาจาละความคดโกงแห่งใจ โทษแห่งใจ รสฝาดแห่งใจได้เขาย่อมดำรงมั่นอยู่ในธรรมวินัยนี้ เหมือนกับล้อข้างที่เสร็จโดย ๖ เดือน หย่อนอยู่ ๖ ราตรี ฉะนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักละความคดโกงแห่งกายโทษแห่งกาย รสฝาดแห่งกาย จักละความคดโกงแห่งวาจา โทษแห่งวาจา รสฝาดแห่งวาจา จักละความคดโกงแห่งใจ โทษแห่งใจ รสฝาดแห่งใจ. ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล.

หน้า 392

159 บุรพกรรมของการได้ลักษณะมหาบุรุษ

-บาลี ปา. ที. ๑๑/๑๕๙-๑๙๓/๑๓๐-๑๗๑.

…ภิกษุทั้งหลาย ! พวกฤาษีภายนอก จำมนต์มหาปุริสลักขณะได้ก็จริง แต่หารู้ไม่ว่า การที่มหาบุรุษได้ลักขณะอันนี้ๆ เพราะทำกรรมเช่นนี้ๆ :

(ก) ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ในภพที่อยู่อาศัยก่อน ได้เป็นผู้บากบั่นในกุศลถือมั่นในกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ในการบริจาคทานการสมาทานศีล การรักษาอุโบสถ การปฏิบัติมารดา บิดาการปฏิบัติสมณพราหมณ์ การอ่อนน้อมต่อผู้เจริญในตระกูล และในอธิกุศลธรรมอื่น. เพราะได้กระทำ ได้สร้างสมได้พอกพูน ได้มั่วสุมกรรมนั้นๆ ไว้ ภายหลังแต่การตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์. ตถาคตนั้นถือเอายิ่งกว่าในเทพเหล่าอื่นโดย ฐานะ ๑๐ คือ อายุทิพย์วรรณะทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิบดีทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ สัมผัสทิพย์ ครั้นจุติจากภพนั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้คือมีฝ่าเท้าเสมอ จดลงก็เสมอ ยกขึ้นก็เสมอ ฝ่าเท้าถูกต้องพื้นพร้อมกัน… (ลักขณะที่ ๑) ย่อมเป็น ผู้ไม่หวาดหวั่นต่อข้าศึก ทั้งภายใน และภายนอก คือ ราคะ โทสะ โมหะ ก็ตาม สมณะพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ก็ตาม ในโลกที่เป็นศัตรู.

(ข) ภิกษุท้งหลาย ! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้นำสุขมาให้แก่มหาชน เป็นผู้บรรเทาภัยคือ ความสะดุ้ง หวาดเสียว จัดการคุ้ม ครองรักษาโดยธรรม ได้ถวายทานมีเครื่องบริวาร. เพราะได้กระทำ … กรรมนั้นๆไว้ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้คือ ภายใต้ฝ่าเท้ามีจักรทั้งหลายเกิดขึ้น มีซี่ตั้งพัน พร้อมด้วยกงและดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง มีระยะอันจัดไว้ด้วยดี … (ลักขณะที่ ๒), ย่อมเป็นผู้มีบริวารมาก  ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ ย่อมเป็นบริวารของตถาคต.

(ค) ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้เว้นจากปาณาติบาต วางแล้วซึ่งศาสตราและอาชญา มีความละอาย เอ็นดู กรุณาเกื้อกูลแก่สัตว์มีชีวิตทั้งปวง. เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะทั้ง ๓ ข้อนี้คือมีส้นยาว มีข้อนิ้วยาว มีกายตรงดุจกายพรหม … (ลักขณะที่ ๓, ๔, ๑๕), ย่อมเป็นผู้มีชนมายุยืนยาวตลอดกาลนาน สมณะหรือพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม ก็ตาม หรือใครๆที่เป็นศัตรู ไม่สามารถปลงชีวิตตถาคตเสียในระหว่างได้.

(ฆ) ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้ให้ทานของควรเคี้ยว ควรบริโภค ควรลิ้มควรจิบ ควรดื่ม มีรสอันประณีต. เพราะ … กรรมนั้นๆ …ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้แล้ว จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้คือ มีเนื้อนูนหนาในที่ ๗ แห่ง คือ ที่มือทั้งสอง ที่เท้าทั้งสอง ที่บ่าทั้งสอง และที่คอ … (ลักขณะที่ ๑๖ ), ย่อมได้ของควรเคี้ยว ควรบริโภค ควรลิ้ม ควรจิบ ควรดื่มอันมีรสประณีต.

(ง) ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้สงเคราะห์ผู้อื่นด้วย สังคหวัตถุทั้งสี่ คือ การให้สิ่งของ วาจาที่ไพเราะ การประพฤติประโยชน์ผู้อื่น และความมีตนเสมอกัน. เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้แล้ว จึงได้มหาปุริสลักขณะ ๒ ข้อนี้คือ มีมือและเท้าอ่อนนุ่ม มีลายฝ่ามือฝ่าเท้าดุจตาข่าย… (ลักขณะที่ ๕, ๖) ย่อมเป็นผู้สงเคราะห์บริษัท คือ ภิกษุภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ย่อมได้รับความสงเคราะห์จากตถาคต.

(จ) ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้กล่าววาจาประกอบด้วยอรรถ ด้วยธรรมแนะนำชนเป็นอันมาก เป็นผู้นำประโยชน์สุขมาให้แก่ชนทั้งหลาย ตนเองก็เป็นผู้บูชาธรรม. เพราะ … กรรมนั้นๆ… ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะ๒ ข้อนี้คือ มีข้อเท้าอยู่สูง, มีปลายขนช้อนขึ้น … (ลักขณะที่ ๗, ๑๔ ), ย่อมเป็นผู้เลิศประเสริฐเยี่ยมสูงกว่าสัตว์ทั้งหลาย.

(ฉ) ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้บอกศิลปะวิทยา ข้อประพฤติ และลัทธิกรรม ด้วยความเคารพ ด้วยหวังว่าสัตว์เหล่านั้นพึงรู้ได้รวดเร็ว พึงปฏิบัติได้รวดเร็ว ไม่พึงเศร้าหมองสิ้นกาลนาน. เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะ ข้อนี้คือ มีแข้งดังแข้งเนื้อทราย (ลักขณะที่ ๘), ย่อมได้วัตถุอันควรแก่สมณะ เป็นองค์แห่งสมณะเป็นเครื่องอุปโภค แก่สมณะ โดยเร็ว.

(ช) ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้เข้าไปหาสมณพราหมณ์ แล้วสอบถามว่า ‘ท่านผู้เจริญ ! อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ ทำอะไรไม่มีประโยชน์ เป็นทุกข์ไปนาน ทำอะไรมีประโยชน์ เป็นสุขไปนาน’. เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้คือ มีผิวละเอียดอ่อน ธุลีไม่ติดอยู่ได้ … (ลักขณะที่ ๑๒), ย่อมเป็นผู้มีปัญญาใหญ่ มีปัญญาหนาแน่น มีปัญญาเครื่องปลื้มใจ ปัญญาแล่นปัญญาแหลม ปัญญาแทงตลอด ไม่มีสัตว์อื่นเสมอ หรือยิ่งไปกว่า.

(ซ) ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้ไม่มักโกรธ ไม่มากไปด้วยความแค้น แม้ชนเป็นอันมาก ว่ากล่าวเอา ก็ไม่เอาใจใส่ ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่คุมแค้น ไม่แสดงความโกรธ ความร้ายกาจความเสียใจให้ปรากฏ. ทั้งเป็นผู้ให้ทานผ้าเปลือกไม้ ผ้าด้ายผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ สำหรับลาดและนุ่งห่ม อันมีเนื้อละเอียดอ่อน. เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้คือ มีกายดุจทอง มีผิวดุจทอง … (ลักขณะที่ ๑๑ ), ย่อมเป็นผู้ได้ผ้าเปลือกไม้ ผ้าด้ายผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ สำหรับลาดและห่ม มีเนื้อละเอียดอ่อน.

(ฌ) ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้สมานญาติมิตร สหายชาวเกลอ ผู้เหินห่างแยกกันไปนาน, ได้สมานไมตรีมารดากับบุตร บุตรกับมารดาบิดากับบุตร บุตรกับบิดา พี่น้องชายกับพี่น้องหญิง พี่น้องหญิงกับพี่น้องชาย, ครั้นทำความสามัคคีแล้ว พลอยชื่นชมยินดีด้วย. เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์
อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้คือ มคี ยุ หฐาน (อวัยวะที่ลับ)ซ่อนอยู่ในฝัก … (ลักขณะที่ ๑๐ ), ย่อมเป็นผู้มีบุตร (สาวก) มากมีบุตรกล้าหาญ มีแววแห่งคนกล้า อันเสนาแห่งบุคคลอื่นจะย่ำยีมิได้หลายพัน.

(ญ) ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้สังเกตชั้นเชิงของมหาชน รู้ได้สม่ำเสมอรู้ได้เอง รู้จักบุรุษธรรมดา และบุรุษพิเศษว่าผู้นี้ ควรแก่สิ่งนี้ๆ, ได้เป็นผู้ทำประโยชน์อย่างวิเศษในชนชั้นนั้นๆ.เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะ ๒ ข้อนี้คือ มีทรวดทรงดุจต้นไทร,ยืนตรงไม่ย่อกาย ลูบถึงเข่าได้ด้วยมือทั้งสอง … (ลักขณะที่ ๑๙ , ๙), ย่อมมั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก. ทรัพย์ของตถาคตเหล่านี้คือ ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริ ทรัพย์คือโอตตัปปะ ทรัพย์คือการศึกษา (สุตะ) ทรัพย์คือจาคะ ทรัพย์คือปัญญา.

(ฎ) ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้ใคร่ต่อประโยชน์ ใคร่ต่อความเกื้อกูลใคร่ต่อความผาสุข ใคร่ต่อความเกษมจากโยคะแก่ชนเป็นอันมาก ว่า ‘ไฉนชนเหล่านี้ พึงเป็นผู้เจริญด้วยศรัทธา ด้วยศีลด้วยการศึกษา ด้วยความรู้ ด้วยการเผื่อแผ่ ด้วยธรรม ด้วย ปัญญา ด้วยทรัพย์และข้าวเปลือก ด้วยนาและสวน ด้วยสัตว์สองเท้าสี่เท้า ด้วยบุตรภรรยา ด้วยทาสกรรมกร และบุรุษด้วยญาติมิตรและพวกพ้อง’. เพราะ … กรรมนั้นๆ …ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะ ๓ ข้อนี้คือ มีกึ่งกายเบื้องหน้าดุจสีหะ มีหลังเต็ม มีคอกลม … (ลักขณะที่ ๑๗ , ๑๘, ๒๐), ย่อมเป็นผู้ไม่เสื่อมเป็นธรรมดาคือไม่เสื่อมจากศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ไม่เสื่อมจากสมบัติทั้งปวง.

(ฏ) ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ด้วยฝ่ามือก็ตาม ก้อนดินก็ตาม ท่อนไม้ก็ตาม ศาสตราก็ตาม.เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้คือ มีประสาทรับรสอันเลิศมีปลายขึ้นเบื้องบน เกิดแล้วที่คอ รับรสโดยสม่ำเสมอ …(ลักขณะที่ ๒๑), ย่อมเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคน้อย มีความร้อนแห่งกายเป็น วิบากอันสม่ำเสมอ ไม่เย็นเกินร้อนเกินพอควรแก่ความเพียร.

(ฐ) ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้ไม่ถลึงตา ไม่ค้อนควัก ไม่จ้องลับหลัง เป็นผู้แช่มชื่นมองดูตรงๆ มองดูผู้อื่นด้วยสายตาอันแสดงความรัก. เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะ ๒ ข้อนี้คือ มีตาเขียวสนิท  มีตาดุจตาโค … (ลักขณะที่ ๒๙, ๓๐ ) ย่อมเป็นที่ต้องตาของชนหมู่มาก เป็นที่รักใคร่พอใจของภิกษุ ภิกษุณีอุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์.

(ฑ) ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นหัวหน้าของชนเป็นอันมาก ในกุศลธรรมทั้งหลาย ได้เป็นประธานของชนเป็นอันมาก ในกายสุจริตวจีสุจริต มโนสุจริต ในการจำแนกทาน การสมาทานศีลการรักษาอุโบสถ การประพฤติเกื้อกูลในมารดาบิดา สมณ-พราหมณ์ การนอบน้อมต่อผู้เจริญ ในตระกูล ในอธิกุศลธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง. เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้คือมีศีรษะรับกับกรอบหน้า … (ลักขณะที่ ๓๒), ย่อมเป็นผู้ที่มหาชนประพฤติตาม คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาเทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ ประพฤติตาม.

(ฒ) ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน… ได้เป็นผู้ละเว้นจากมุสาวาท พูดคำจริง หลั่งคำสัจจ์เที่ยงแท้ ซื่อตรง ไม่หลอกลวงโลก. เพราะ … กรรมนั้นๆ… ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้แล้ว จึงได้มหาปุริส-ลักขณะ ๒ ข้อนี้คือ มีขนขุมละเส้น, มีอุณาโลมหว่างคิ้วขาวอ่อนดุจสำลี … (ลักขณะที่ ๑๓ , ๓๑ ), ย่อมเป็นผู้ที่มหาชนเป็นไปใกล้ชิด คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดามนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ ใกล้ชิด.

(ณ) ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้ละเว้นวาจาส่อเสียด (คือคำยุให้แตกกัน) คือไม่ฟังจากข้างนี้แล้วไปบอกข้างโน้นเพื่อทำลายชนพวกนี้ ไม่ฟังจากข้างโน้น แล้วมาบอกข้างนี้ เพื่อทำลายชนพวกโน้น เป็นผู้สมานพวกแตกกันแล้ว และส่งเสริมพวกที่พร้อมเพรียงกัน เป็นผู้ยินดีในการพร้อมเพรียง เพลินในการพร้อมเพรียง กล่าวแต่วาจาที่ทำให้เกิดความพร้อมเพรียง.เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้แล้วจึงได้มหาปุริสลักขณะ ๒ อย่างนี้คือ มีฟันครบ ๔๐ ซี่ มีฟันสนิท ไม่ห่างกัน … (ลักขณะที่ ๒๓, ๒๕), ย่อมเป็นผู้มีบริษัทไม่กระจัดกระจาย คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดามนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ เป็นบริษัทไม่กระจัดกระจาย.

(ด) ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้ละเว้นการกล่าวคำหยาบ กล่าวแต่วาจาที่ไม่มีโทษ เป็นสุขแก่หู เป็นที่ตั้งแห่งความรักซึมซาบถึงใจ เป็นคำพูดของชาวเมือง เป็นที่พอใจและชอบใจของ ชนเป็นอันมาก. เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ ย่อมได้มหาปุริสลักขณะ๒ ข้อนี้คือ มีลิ้นอันเพียงพอ มีเสียงเหมือนพรหม พูดเหมือนนกการวิก …(ลักขณะที่ ๒๗, ๒๘) ย่อมเป็นผู้มีวาจาที่ผู้อื่นเอื้อเฟื้อเชื่อฟังคือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาคคนธรรพ์ เอื้อเฟื้อเชื่อฟัง.

(ต) ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้ละเว้นการพูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้กล่าวควรแก่เวลา กล่าวคำจริง กล่าวเป็นธรรม กล่าวมีอรรถกล่าวเป็นวินัย กล่าวมีที่ตั้ง มีหลักฐาน มีที่สุด ประกอบด้วยประโยชน์. เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้แล้ว ย่อมได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้ คือมีคางดุจคางราชสีห์… (ลักขณะที่ ๒๒) ย่อมเป็นผู้ที่ศัตรูทั้งภายใน และภายนอกกำจัดไม่ได้  ศัตรูคือ ราคะ โทสะโมหะ หรอื สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆในโลก กำจัดไม่ได้.

(ถ) ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้ละมิจฉาชีพ มีการเลี้ยงชีพชอบ เว้นจากการฉ้อโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม ด้วยเครื่องตวงเครื่องวัดจากการโกงการลวง เว้นจากการตัด การฆ่า การผูกมัด การร่วมทำร้าย การปล้น การกรรโชก. เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะ ๒ ข้อนี้คือ มีฟันอันเรียบเสมอ มีเขี้ยวขาวงาม … (ลักขณะที่ ๒๔,๒๖) ย่อมเป็นผู้มีบริวารเป็นคนสะอาด คือ มีภิกษุ ภิกษุณีอุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ เป็นบริวารอันสะอาด.