เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

  2117
 

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙

สภาคตสูตร เทวดาสรรเสริญผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ

มหานามสูตร สมบัติของอุบาสก

วัสสสูตร ธรรมที่เป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ

กาฬิโคธาสูตร องค์คุณของพระโสดาบัน

นันทิยสูตร อยู่ด้วยความประมาทและไม่ประมาท



เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 
สารบาญพระไตรปิฎก
เล่มที่ ๘-๓๓ (๒๕ เล่ม) ทุกพระสูตร
1. ฉบับหลวง
2. ฉบับมหาจุฬาฯ
3. อรรถกถาไทย
4. ฉบับภาษาบาลี
5. อรรถกถา-บาลี
6. Pali Roman (Roman Script)
7. Atthakatha PaliRoman
 

 


 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๙๑-๓๙๒

สภาคตสูตร
เทวดาสรรเสริญผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ

           [๑๕๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวดาทั้งหลายปลื้มใจไปสู่ที่ประชุม แล้วกล่าวถึงบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้จำแนกธรรม

           เทวดาเหล่าใดประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ไปบังเกิดในภพนั้น เทวดาเหล่านั้นย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า พวกเราประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าเห็นปานใด จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว มาบังเกิดในที่นี้ แม้อริยสาวกผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าเห็นปานนั้น ก็ย่อมเกิดในสำนักพวกเทวดา ดังจะร้องเชิญว่า มาเถิด ดังนี้

           อีกประการหนึ่ง อริยสาวกประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... อีกประการหนึ่ง อริยสาวกประกอบด้วยศีล ที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ เทวดาเหล่าใดประกอบด้วยศีล ที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ไปบังเกิดในภพนั้นเทวดาเหล่านั้น ย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า พวกเราประกอบด้วยศีล ที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว เห็นปานใดจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว มาบังเกิดในที่นี้ แม้อริยสาวกผู้ประกอบด้วยศีล ที่พระอริยเจ้าใคร่แล้วเห็นปานนั้น ก็ย่อมเกิดในสำนักพวกเทวดา ดังจะร้องเชิญว่า มาเถิด ดังนี้

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวดาทั้งหลายปลื้มใจ ไปสู่ที่ประชุมแล้ว กล่าวถึงผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล

---------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๙๒-๓๙๓

มหานามสูตร
สมบัติของอุบาสก

           [๑๕๙๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้พระนคร กบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้นแล พระเจ้ามหานามศากยราช เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคถึงที่ประทับ ทรงอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร บุคคลจึง จะชื่อว่าอุบาสก? พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

           ดูกรมหาบพิตร บุคคลผู้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึง พระสงฆ์เป็นสรณะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล บุคคลจึงจะชื่อว่า เป็นอุบาสก

           [๑๕๙๑] ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล?

           พ. ดูกรมหาบพิตร อุบาสกเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต เป็นผู้งดเว้นจาก อทินนาทาน เป็นผู้งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร เป็นผู้งดเว้นจากมุสาวาท เป็นผู้งดเว้น จากสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อม ด้วยศีล

           [๑๕๙๒] ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสกจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ ถึงพร้อมด้วยศรัทธา?

           พ. ดูกรมหาบพิตร อุบาสกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา คือ เชื่อพระปัญญา ตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้จำแนก ธรรม ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา

           [๑๕๙๓] ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสกจึงจะชื่อว่าเป็น ผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ?

           พ. ดูกรมหาบพิตร อุบาสกในธรรมวินัยนี้ มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็น มลทิน มีจาคะอันไม่ติดขัด มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการ จำแนก อยู่ครอบครองเรือน ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อม ด้วยจาคะ

           [๑๕๙๔] ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา?

           พ. ดูกรมหาบพิตร อุบาสกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญา เป็นเหตุให้ถึง (เห็น) ความเกิดและความดับ เป็นอริยะ เป็นไปเพื่อชำแรกกิเลส ให้ถึง ความ สิ้นทุกข์โดยชอบ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล อุบาสกจึงชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วย ปัญญา


---------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๙๓

วัสสสูตร
ธรรมที่เป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ

           [๑๕๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกลงบนภูเขา น้ำนั้นไหลไปตามที่ลุ่ม ย่อมยังซอกเขา ลำธาร ลำห้วย ให้เต็ม ซอกเขา ลำธาร ลำห้วย เต็มแล้วย่อมยังหนองให้เต็ม หนองเต็มแล้ว ย่อมยังบึงให้เต็มแล บึงเต็มแล้วย่อมยัง แม่น้ำน้อยให้เต็ม แม่น้ำน้อยเต็มแล้ว ย่อมยังแม่น้ำใหญ่ให้เต็ม แม่น้ำใหญ่เต็มแล้ว ย่อมยังมหาสมุทรสาครให้เต็ม ฉันใด ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ อันใด และศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว เหล่าใด ของอริยสาวก ธรรมเหล่านี้ เมื่อไหลไปถึงฝั่ง ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ ฉันนั้นเหมือนกันแล


---------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๙๓-๓๙๔

กาฬิโคธาสูตร
องค์คุณของพระโสดาบัน

           [๑๕๙๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโคธาราม ใกล้พระนคร
กบิลพัสดุ์แคว้นสักกะ ครั้งนั้นแล เวลาเช้า พระผู้มีพระภาค ทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตร และจีวรเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของเจ้าสากิยานี นามว่า กาฬิโคธา ประทับนั่งบนอาสนะ ที่เขาปูถวายพระนางกาฬิโคธาสากิยานี เสด็จเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะพระนางกาฬิโคธาสากิยานีว่า

           [๑๕๙๗] ดูกรพระนางโคธา อริยสาวิกาผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็น พระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน? อริยสาวิกาในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้า ...ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... มีใจปราศจากความตระหนี่ อันเป็น มลทิน มีจาคะอันไม่ติดขัด มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการ จำแนกทาน อยู่ครอบครองเรือน ดูกรพระนางโคธา อริยสาวิกาผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ ในเบื้องหน้า

           [๑๕๙๘] พระนางกาฬิโคธากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โสตาปัตติยังคะ ๔ประการเหล่าใด ที่พระองค์ทรงแสดงไว้ ธรรมเหล่านั้นมีอยู่ในหม่อมฉัน และหม่อมฉัน ก็เห็นชัดในธรรมเหล่านั้น เพราะว่าหม่อมฉันประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้า ...ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... อนึ่ง ไทยธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มี อยู่ในสกุล หม่อมฉันเฉลี่ยไทยธรรมนั้นทั้งหมด กับท่านที่มีศีล มีกัลยาณธรรม

           พ. ดูกรพระนางโคธา เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว โสดาปัตติผล ท่านพยากรณ์แล้ว


---------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๙๔-๓๙๖

นันทิยสูตร
อยู่ด้วยความประมาทและไม่ประมาท

           [๑๕๙๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้พระนคร กบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้น เจ้าศากยะพระนามว่า นันทิยะ เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาค ถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

           [๑๖๐๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อริยสาวกใด ไม่มีโสตาปัตติยังคธรรม ๔ ประการ โดยประการทั้งปวง ในกาลทุกเมื่อ อริยสาวกนั้นหรือหนอที่พระองค์ตรัสเรียกว่า อยู่ด้วย ความประมาท? พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนันทิยะ อริยสาวกใด ไม่มี โสตาปัตติยังคะ ๔ ประการเราเรียกอริยสาวกนั้นว่า เป็นคนภายนอก ตั้งอยู่ในฝ่ายปุถุชน อนึ่ง อริยสาวก เป็นผู้อยู่ด้วยความประมาท และอยู่ด้วยความไม่ประมาท โดยวิธีใด ท่านจงฟังวิธีนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว นันทิยศากยะทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสว่า

           [๑๖๐๑] ดูกรนันทิยะ ก็อริยสาวกเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาทอย่างไร? อริยสาวก ในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะ เหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ... เป็นผู้จำแนกธรรม อริยสาวกนั้น พอใจแล้วด้วย ความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้านั้น ไม่พยายามให้ยิ่งขึ้นไป เพื่อความสงัด ในกลางวัน เพื่อหลีกเร้นในกลางคืน

           เมื่ออริยสาวกนั้นเป็นผู้ประมาทอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่มีปราโมทย์ เมื่อไม่มีปราโมทย์ ก็ไม่มีปีติ เมื่อไม่มีปีติ ก็ไม่มีปัสสัทธิ เมื่อไม่มีปัสสัทธิ ย่อมอยู่เป็นทุกข์ จิตของผู้มี ความทุกข์ ย่อมไม่เป็นสมาธิ

           เมื่อจิตไม่เป็นสมาธิ ธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏ เพราะธรรมทั้งหลายไม่ปรากฏ อริยสาวกนั้นย่อมถึงความนับว่า อยู่ด้วยความประมาท อีกประการหนึ่ง อริยสาวก ประกอบด้วยเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ประกอบด้วยศีล ที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ

           อริยสาวกนั้นพอใจแล้วด้วยศีล ที่พระอริยเจ้าใคร่แล้วไม่พยายามให้ยิ่งขึ้นไป เพื่อความสงัดในกลางวัน เพื่อหลีกเร้นในกลางคืน เมื่ออริยสาวกนั้นเป็นผู้ประมาท อยู่อย่างนี้ ย่อมไม่มีปราโมทย์

           เมื่อไม่มีปราโมทย์ ก็ไม่มีปีติ เมื่อไม่มีปีติ ก็ไม่มีปัสสัทธิ เมื่อไม่มีปัสสัทธิ ย่อม อยู่เป็นทุกข์ จิตของผู้มีความทุกข์ย่อมไม่มีสมาธิ เมื่อจิตไม่เป็นสมาธิ ธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏ เพราะธรรมทั้งหลายไม่ปรากฏ อริยสาวกนั้น ย่อมถึงความนับว่า อยู่ด้วยความประมาท

           ดูกรนันทิยะ อริยสาวกเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาทอย่างนี้แล

           [๑๖๐๒] ดูกรนันทิยะ ก็อริยสาวกผู้เป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาทอย่างไร? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้จำแนกธรรม อริยสาวกนั้น ยังไม่พอใจด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้านั้น พยายามให้ยิ่งขึ้นไป เพื่อความสงัดในกลางวัน เพื่อหลีกเร้นในกลางคืน

           เมื่ออริยสาวกนั้น เป็นผู้ไม่ประมาทอยู่อย่างนี้ ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อเกิด ปราโมทย์ ย่อมเกิดปีติ เมื่อมีใจกอปรด้วยปีติ กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบ ย่อมได้เสวยสุข จิตของผู้มีความสุขย่อมเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิ ธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏ เพราะ ธรรมทั้งหลายปรากฏ

           อริยสาวกนั้นย่อมถึงความนับว่า อยู่ด้วยความไม่ประมาท อีกประการหนึ่ง อริยสาวกประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหว ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ อริยสาวกนั้น ยังไม่พอใจด้วยศีล ที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว พยายามให้ยิ่งขึ้นไป เพื่อความสงัดในกลางวัน เพื่อหลีกเร้นในกลางคืน

           เมื่ออริยสาวกนั้นเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่อย่างนี้ ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อเกิด ปราโมทย์ ย่อมเกิดปีติเมื่อมีใจกอปรด้วยปีติ กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบ ย่อมได้เสวยสุข จิตของผู้มีความสุข ย่อมเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิ ธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏ อริยสาวกนั้น ย่อมถึงความนับว่า อยู่ด้วยความไม่ประมาท

            ดูกรนันทิยะ อริยสาวกเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาทอย่างนี้แล


 





หนังสือพุทธวจน ธรรมะของพระศาสดา
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์