พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๖๑
สหัสสสูตร
องค์คุณของพระโสดาบัน
[๑๔๘๑] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ราชการาม ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นภิกษุณีสงฆ์ ๑๐๐๐ รูป เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะ ภิกษุณี เหล่านั้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า
ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ประกอบด้วยศีล ที่ พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ประการนี้แล ย่อมเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ ในเบื้องหน้า
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๖๑-๓๖๒
พราหมณสูตร
ว่าด้วยอุทยคามินีปฏิปทา
[๑๔๘๒] สาวัตถีนิทาน. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมบัญญัติปฏิปทา ชื่ออุทยคามินี พวกเขาย่อมชักชวนสาวก อย่างนี้ว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ มาเถิดท่าน ท่านจงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ แล้วเดินบ่ายหน้าไปทาง ทิศปราจีน ท่านอย่าเว้นบ่อ เหว ตอที่มีหนาม หลุมเต็มด้วยคูถ บ่อโสโครกใกล้บ้าน ท่านพึงตกไปในที่ใด พึงรอความตายในที่นั้นด้วยวิธีอย่างนี้ เมื่อแตกกายตายไป ท่านจัก เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
[๑๔๘๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อบัญญัติของพราหมณ์ทั้งหลายนั้น เป็นความ ดำเนินของคนพาล เป็นความดำเนินของคนหลง ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัดเพื่อความดับ เพื่อความเข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ส่วนในอริยวินัย เราก็บัญญัติปฏิปทาชื่ออุทยคามินี ที่เป็นไปเพื่อ ความหน่าย โดยส่วนเดียว เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความเข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
[๑๔๘๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อุทยคามินีปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความหน่าย โดยส่วนเดียว ฯลฯ เพื่อนิพพาน เป็นไฉน? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความ เลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ประกอบด้วย ศีล ที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ นี้แล คือ อุทยคามินีปฏิปทา ที่เป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความ เข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๖๔
ทุคติสูตรที่ ๑
มีธรรม ๔ ประการพ้นทุคติ
[๑๔๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมล่วงภัย คือ ทุคติ ทั้งหมดได้
ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความ เลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ประกอบด้วย ศีล ที่ พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวก ผู้ประกอบ ด้วยธรรม ๔ ประการเหล่านี้ ย่อมล่วง ภัย คือทุคติทั้งหมดได้
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๖๔
ทุคติสูตรที่ ๒
มีธรรม ๔ ประการ พ้นทุคติและวินิบาต
[๑๔๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมล่วงภัย คือทุคติและวินิบาตทั้งหมดได้
ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความ เลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ประกอบด้วย ศีลที่ พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการเหล่านี้ ย่อมล่วง ภัย คือทุคติและวินิบาตทั้งหมดได้
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๖๔-๓๖๕
มิตตามัจจสูตรที่ ๑
องค์ธรรมเครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการ
[๑๔๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย พึงอนุเคราะห์เหล่าชนผู้เป็นมิตร อำมาตย์ญาติหรือสาโลหิต ผู้ที่สำคัญโอวาทว่า เป็นสิ่งที่ตนควรฟัง พึงยังเขาเหล่านั้น ให้สมาทาน ให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ ในองค์แห่งธรรมเป็นเครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการ
องค์แห่งธรรมเป็นเครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการเป็นไฉน? คือ พึงให้สมาทาน ให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ในความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ในศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้วไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงอนุเคราะห์เหล่าชน ผู้เป็นมิตรอำมาตย์ ญาติหรือสาโลหิต ผู้ที่สำคัญโอวาทว่า เป็นสิ่งที่ตนควรฟัง พึงยังเขาเหล่านั้น ให้ สมาทานให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ ในองค์แห่งธรรมเป็นเครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการเหล่านี้
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๖๕
มิตตามัจจสูตรที่ ๒
องค์ธรรมเครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการ
[๑๔๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย พึงอนุเคราะห์เหล่าชนผู้เป็นมิตร ... ให้ดำรงอยู่ ในองค์แห่งธรรมเป็นเครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการ องค์แห่งธรรม เป็นเครื่อง บรรลุโสดา
๔ ประการเป็นไฉน? คือ พึงให้สมาทาน ให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ ในความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้จำแนกธรรม
[๑๔๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาภูตรูป ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม พึงมีความแปรเป็นอย่างอื่นไปได้ ส่วนอริยสาวกผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่น ไหวในพระพุทธเจ้า ไม่พึงมีความแปรเป็นอย่างอื่นไปได้เลย ความแปรเป็นอย่างอื่น ในข้อนั้น ดังนี้ อริยสาวกผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ...จักเข้าถึงนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หรือปิตติวิสัย ข้อนี้ ไม่เป็น ฐานะที่จะมีได้ เธอทั้งหลาย พึงยังเขาเหล่านั้นให้สมาทาน ให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ ในความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ...ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ในศีล ที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ
[๑๔๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาภูตรูป ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม พึงมีความแปรเป็นอย่างอื่นไปได้ ส่วนอริยสาวกผู้ประกอบด้วยศีล ที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่พึงมีความแปรเป็นอย่างอื่นไปได้เลย ความแปรเป็นอย่างอื่นในข้อนั้น ดังนี้ อริยสาวก ผู้ประกอบด้วยศีล ที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว จักเข้าถึงนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หรือ ปิตติวิสัย ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
[๑๔๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย พึงอนุเคราะห์เหล่าชนผู้เป็นมิตร อำมาตย์ญาติหรือสาโลหิต ผู้ที่สำคัญโอวาทว่า เป็นสิ่งที่ตนควรฟัง พึงยังเขาเหล่านั้น ให้สมาทาน ให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ ในองค์แห่งธรรม เป็นเครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการ เหล่านี้
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๖๗-๓๖๘
เทวจาริกสูตรที่ ๓
องค์คุณของพระโสดาบัน (ตรัสกับเทวดาชั้นดาวดึงส์)
[๑๕๐๔] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงหายจากพระวิหารเชตวัน ไปปรากฏในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้นครั้งนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์มากด้วยกัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะเทวดาเหล่านั้นว่า
[๑๕๐๕] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย การประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหว ใน พระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... เป็นความดีแล เพราะเหตุที่ ประกอบ ด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... สัตว์บางพวกในโลกนี้เป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะ ตรัสรู้ในเบื้องหน้า การประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ... เป็นไปเพื่อ สมาธิ เป็นความดีแล เพราะเหตุที่ประกอบด้วยศีล ที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว สัตว์บางพวก ในโลกนี้ เป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะ ตรัสรู้ใน เบื้องหน้า
[๑๕๐๖] เทวดาทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ การประกอบด้วย ความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... เป็นความดี แลเพราะเหตุที่ประกอบด้วย ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... หมู่สัตว์นี้ เป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า การประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ เป็นความดีแล เพราะเหตุที่ประกอบด้วยศีล ที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว หมู่สัตว์นี้ เป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ ในเบื้องหน้า
|