พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๖๙-๓๗๐
สรกานิวรรคที่ ๓
มหานามสูตรที่ ๑
ว่าด้วยกาลกิริยาอันไม่เลวทราม
[๑๕๐๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้พระนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้น พระเจ้ามหานามศากยราช เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้ว ได้ทรงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนครกบิลพัสดุ์นี้ เป็น พระนครมั่งคั่ง เจริญรุ่งเรือง มีผู้คนมาก แออัด ไปด้วยมนุษย์ มีถนนคับแคบ หม่อมฉัน นั่งใกล้พระผู้มีพระภาค หรือนั่งใกล้ภิกษุ ทั้งหลายผู้เป็นที่เจริญใจแล้ว เมื่อเข้าไปยัง พระนครกบิลพัสดุ์ในเวลาเย็น ย่อมไม่ไป พร้อมกับ ช้าง ม้ารถ เกวียน และแม้กับบุรุษ สมัยนั้น หม่อมฉันลืมสติ ที่ปรารภถึงพระผู้มี พระภาค พระธรรม พระสงฆ์ หม่อมฉันมี ความดำริว่า ถ้าในเวลานี้ เรากระทำกาละลงไป คติของเราจะเป็นอย่างไรอภิสัมปรายภพ ของเราจะเป็นอย่างไร?
[๑๕๐๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตร อย่ากลัวเลยๆ การสวรรคตอันไม่เลวทรามจักมีแก่มหาบพิตร กาลกิริยาอันไม่เลวทรามจักมีแก่ มหาบพิตร
ดูกรมหาบพิตร จิตของผู้ใดผู้หนึ่งที่อบรมแล้วด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ตลอดกาลนานกายนี้ของผู้นั้น มีรูป ประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ มีมารดาบิดา เป็นแดนเกิด เจริญขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด มีความไม่เที่ยง ต้องขัดสี นวดฟั้น และมีอันแตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา พวกกา แร้ง นกตะกรุม สุนัข สุนัขจิ้งจอก หรือสัตว์ต่างชนิด ย่อมกัดกินกายนี้แหละ ส่วนจิตของผู้นั้นอันศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา อบรมแล้วตลอดกาลนาน ย่อมเป็นคุณชาติไปในเบื้องบนถึงคุณวิเศษ.
[๑๕๐๙] ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนบุรุษลงไปยังห้วงน้ำลึกแล้ว พึงทุบ หม้อเนยใส หรือหม้อน้ำมัน สิ่งใดที่มีอยู่ในหม้อนั้นจะเป็นก้อนกรวด หรือกระเบื้อง ก็ตาม สิ่งนั้นจะจมลงสิ่งใดเป็นเนยใสหรือน้ำมัน สิ่งนั้นจะลอยขึ้นถึงความวิเศษ ฉันใด จิตของ ผู้ใดผู้หนึ่งอันที่อบรมแล้วด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ตลอดกาลนาน กายนี้ของ ผู้นั้น มีรูป ประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ ... ส่วนจิตของผู้นั้นซึ่งอบรมแล้วด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ตลอดกาลนาน ย่อมเป็นคุณชาติไปในเบื้องบน ถึงคุณวิเศษ ฉันนั้น เหมือนกัน ขอถวายพระพร มหาบพิตรอย่ากลัวเลยๆ การสวรรคตอันไม่ลามกจักมี แก่ มหาบพิตร กาลกิริยาอันไม่ลามกจักมีแก่มหาบพิตร
-----------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๗๐-๓๗๑
มหานามสูตรที่ ๒
ว่าด้วยกาลกิริยาอันไม่เลวทราม
[๑๕๑๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้พระนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้น พระเจ้ามหานามศากยราช เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวาย บังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้ว ได้ทรงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนครกบิลพัสดุ์นี้ เป็นพระนครมั่งคั่ง เจริญรุ่งเรือง มีผู้คนมาก แออัดไปด้วยมนุษย์ มีถนนคับแคบ หม่อมฉัน นั่งใกล้พระผู้มีพระภาค หรือนั่งใกล้ภิกษุ ทั้งหลายผู้เป็นที่เจริญใจแล้ว เมื่อเข้าไปยัง พระนคร กบิลพัสดุ์ในเวลาเย็น ย่อมไม่ไป พร้อมกับ ช้าง ม้า รถเกวียน และแม้กับบุรุษ สมัยนั้น หม่อมฉันลืมสติที่ปรารภถึงพระผู้มี พระภาค พระธรรมพระสงฆ์ หม่อมฉันมี ความดำริว่า ถ้าในเวลานี้ เรากระทำกาละลงไป คติของเราจะเป็นอย่างไร?
[๑๕๑๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตร อย่ากลัวเลยๆ การสวรรคตอันไม่เลวทรามจักมีแก่มหาบพิตร กาลกิริยาอันไม่เลวทรามจักมีแก่ มหาบพิตร ดูกรมหาบพิตร อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นผู้น้อมไป สู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน
ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน? อริยสาวก ในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความ เลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรมเจ้า ... ในพระสงฆ์ ... ประกอบ ด้วย ศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ... เป็นไปเพื่อสมาธิ.
[๑๕๑๒] ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนต้นไม้ที่น้อมโน้มโอนไปทางทิศปราจีน เมื่อรากขาดแล้ว จะพึงล้มไปทางไหน?
ม. ก็พึงล้มไปทางที่ต้นไม้น้อมโน้มโอนไป พระเจ้าข้า.
พ. ฉันใด อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการเหล่านี้ ก็ย่อมเป็นผู้น้อม โน้ม โอนไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกันแล |