พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๕๓
อุปายวรรคที่ ๑
๑. อุปายสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นความหลุดพ้นและไม่หลุดพ้น
(ความเข้าถึง ด้วยอำนาจ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ เป็นความไม่หลุดพ้น
ความไม่เข้าถึง เป็นความหลุดพ้น)
[๑๐๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเข้าถึง (ด้วยอำนาจ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ) เป็นความไม่หลุดพ้น ความไม่เข้าถึง เป็นความหลุดพ้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณเข้าถึงรูปก็ดี เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ วิญญาณที่ มีรูป เป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้ง มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ ถึงความเจริญงอกงาม ไพบูลย์ ฯลฯ วิญญาณที่มีสังขารเป็นอารมณ์ มีสังขารเป็นที่ตั้ง มีความยินดีเป็นที่เข้าไป ซ่องเสพ พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักบัญญัติการมา การไป จุติ อุปบัติหรือความเจริญงอกงามไพบูลย์แห่งวิญญาณ เว้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าความกำหนัดในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุ ในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ เป็นอันภิกษุละได้แล้วไซร้ เพราะละ ความกำหนัดเสียได้ อารมณ์ย่อมขาดสูญ ที่ตั้งแห่งวิญญาณย่อมไม่มี วิญญาณอันไม่มี ที่ตั้ง ไม่งอกงาม ไม่แต่งปฏิสนธิ หลุดพ้นไป เพราะหลุดพ้นไป จึงดำรงอยู่ เพราะดำรง อยู่ จึงยินดีพร้อม เพราะยินดีพร้อม จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมดับรอบเฉพาะตน เท่านั้น ภิกษุนั้น ย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
จบ สูตรที่ ๑.
------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ หน้าที่ ๕๔-๕๕.
๒. พีชสูตร
ว่าด้วยอุปมาวิญญาณด้วยพืช
(ไม่มีดิน ไม่มีน้ำ พืช ๕ อย่าง พึงถึงความเจริญ งอกงามไพบูลย์ได้หรือ? ข้อนั้นไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า.. วิญญาณฐิติ ก็เหมือนกัน)
[๑๐๖] พระนครสาวัตถี ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พืช ๕ อย่างนี้. ๕ อย่างเป็นไฉน? คือ พืชงอกจากเหง้า ๑ พืชงอกจากลำต้น ๑ พืชงอกจากข้อ ๑ พืชงอกจากยอด ๑ พืชงอกจากเมล็ด ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พืช ๕ อย่างนี้ มิได้ถูกทำลาย ไม่เน่า ไม่ถูกลมแดดทำให้ เสีย ยังเพาะขึ้น อันบุคคลเก็บไว้ดี แต่ไม่มีดิน ไม่มีน้ำ. พืช ๕ อย่าง พึงถึงความเจริญ งอกงามไพบูลย์ได้หรือ?
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้อนั้นไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พืช ๕ อย่างนี้ มิได้ถูกทำลาย ฯลฯ อันบุคคลเก็บไว้ดี และมีดิน มีน้ำ. พืช ๕ อย่างนี้ พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้หรือ?
ภิ. ได้ พระพุทธเจ้าข้า
[๑๐๗] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย พึงเห็นวิญญาณฐิติ ๔ เหมือน ปฐวีธาตุ พึงเห็นความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน เหมือนอาโปธาตุ. พึงเห็นวิญญาณ พร้อมด้วยอาหารเหมือนพืช ๕ อย่าง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณที่เข้าถึงรูปก็ดี เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ วิญญาณที่มีรูป เป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้ง มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ พึงถึงความเจริญงอกงาม ไพบูลย์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณที่เข้าถึงเวทนาก็ดี ฯลฯ วิญญาณที่เข้าถึง สัญญา ก็ดี ฯลฯ วิญญาณที่เข้าถึงสังขารก็ดี เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ วิญญาณที่มีสังขารเป็นอารมณ์ มีสังขารเป็นที่ตั้ง มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักบัญญัติการมา การไป จุติ อุปบัติ หรือความเจริญงอกงามไพบูลย์ แห่งวิญญาณ เว้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าความกำหนัดในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุ ในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ เป็นอันภิกษุละได้แล้วไซร้ เพราะละความกำหนัดเสียได้ อารมณ์ย่อมขาดสูญ ที่ตั้งแห่งวิญญาณย่อมไม่มี วิญญาณอันไม่มีที่ตั้งนั้น ไม่งอกงาม ไม่แต่งปฏิสนธิ หลุดพ้นไป เพราะหลุดพ้นไปจึงดำรงอยู่ เพราะดำรงอยู่ จึงยินดีพร้อม เพราะยินดีพร้อม จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมดับรอบเฉพาะตนเท่านั้น
เธอย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำ เสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี
จบ. สูตรที่ ๒.
------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ หน้าที่ ๕๕-๕๗
๓. อุทานสูตร
ว่าด้วยการตัดสังโยชน์และความสิ้นอาสวะ
[๑๐๘] พระนครสาวัตถี. ฯลฯ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงเปล่งอุทานว่า ภิกษุน้อมใจไปอย่างนี้ว่า ถ้าว่าเราไม่พึงมี ขันธปัญจกของเราก็ไม่พึงมี กรรมสังขาร จักไม่มี การปฏิสนธิก็จักไม่มีแก่เรา ดังนี้ พึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้
[๑๐๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอุทานอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่ง ได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ภิกษุน้อมใจไปอย่างนี้ว่า ถ้าว่าเราไม่พึงมี ขันธปัญจกของเรา ก็ไม่พึงมี กรรมสังขารจักไม่มี ปฏิสนธิก็จักไม่มีแก่เรา ดังนี้ พึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ ได้อย่างไร พระเจ้าข้า?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ ไม่ได้เห็น พระอริยเจ้า ฯลฯ ไม่ได้รับการแนะนำในสัปปุริสธรรม
ย่อมตามเห็นรูปโดยความเป็นตน ๑
ย่อมเห็นตนมีรูป ๑
ย่อมเห็นรูปในตน ๑
ย่อมเห็นตนในรูป ๑
ตามเห็นเวทนาโดยความ เป็นตน ฯลฯ ตามเห็นสัญญา โดยความเป็นตน ฯลฯ ตามเห็นสังขารโดยความเป็นตน ฯลฯ ตามเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมีวิญญาณ ๑ ย่อมเห็นวิญญาณ ในตน ๑ ย่อมเห็นตนในวิญญาณ ๑
เขาย่อม
ไม่ทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันไม่เที่ยง ตามความเป็นจริงว่า เป็นของไม่เที่ยง
ไม่ทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นทุกข์ตามความเป็นจริงว่า เป็นทุกข์
ไม่ทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นอนัตตา ตามความเป็นจริงว่า เป็นอนัตตา
ไม่ทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันปัจจัยปรุงแต่ง ตามความเป็นจริงว่า อันปัจจัยปรุงแต่ง
ไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า แม้รูป แม้เวทนา แม้สัญญา แม้สังขาร แม้วิญญาณ จักมี
[๑๑๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับแล้วแล ผู้ใดเห็นพระอริยเจ้า ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า ได้รับการแนะนำดีในอริยธรรม ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดใน ธรรม ของสัตบุรุษ ได้รับการแนะนำดีในสัปปุริสธรรม ย่อมไม่พิจารณาเห็นรูป โดยความ เป็นตน ฯลฯ ไม่พิจารณาเห็นเวทนา โดยความเป็นตน ฯลฯ ไม่พิจารณาเห็นสัญญา โดยความเป็นตน ฯลฯ ไม่พิจารณาเห็นสังขาร โดยความเป็นตน ฯลฯ ไม่พิจารณาเห็น วิญญาณ โดยความเป็นตน ฯลฯ
เธอย่อม ทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันไม่เที่ยง ตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง
ย่อมทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นทุกข์ ตามความเป็นจริงว่า เป็นว่าทุกข์
ย่อมทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นอนัตตา ตามความเป็นจริง ว่าเป็นอนัตตา
ย่อมทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันปัจจัยปรุงแต่ง ตามความเป็นจริงว่า อันปัจจัยปรุงแต่ง
ย่อมทราบชัดตามความเป็นจริงว่า แม้รูป แม้เวทนา แม้สัญญาแม้สังขาร แม้วิญญาณ จักมี
ย่อมทราบชัดตามความเป็นจริงเช่นนั้น เพราะเห็นความเป็นต่างๆ แห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ดูกรภิกษุ เมื่อภิกษุน้อมใจไปอย่างนี้แลว่า ถ้าว่าเราไม่พึงมี ขันธปัญจกของเรา ก็ไม่พึงมี กรรมสังขารจักไม่มี ปฏิสนธิก็จักไม่มีแก่เราดังนี้ พึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ ด้วยอาการอย่างนี้แล
[๑๑๑] ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุน้อมใจไปอยู่อย่างนี้ พึงตัดโอรัมภาคิย สังโยชน์เสียได้.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อภิกษุรู้เห็นอย่างไร อาสวะทั้งหลาย จึงจะสิ้นไป ในกาลเป็นลำดับ
พ. ดูกรภิกษุ ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้วในโลกนี้ ฯลฯ ย่อมถึงความสะดุ้ง ในฐานะ อันไม่ควรสะดุ้ง
ดูกรภิกษุ ก็ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้ว ย่อมมีความสะดุ้ง ดังนี้ว่า ถ้าเราไม่พึงมี แม้ขันธปัญจกของเราก็ไม่พึงมี กรรมสังขารจักไม่มี ปฏิสนธิของเราก็จักไม่มี ดังนี้
ดูกรภิกษุ ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับแล้วแล ฯลฯ ย่อมไม่ถึงความสะดุ้งในฐานะ อันไม่ควรสะดุ้ง
ดูกรภิกษุ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ไม่มีความสะดุ้งดังนี้ว่า ถ้าเราไม่พึงมี ขันธปัญจกของเราก็ไม่พึงมี กรรมสังขารจักไม่มี ปฏิสนธิของเราก็จักไม่มี ดังนี้.
ดูกรภิกษุ วิญญาณที่เข้าถึงรูปก็ดี เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ วิญญาณที่มีรูปเป็น อารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้ง มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ พึงถึงความเจริญงอกงาม ไพบูลย์.
วิญญาณที่เข้าถึงเวทนาก็ดี ฯลฯ วิญญาณที่เข้าถึงสัญญาก็ดี ฯลฯ วิญญาณ ที่เข้าถึงสังขารก็ดี เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ วิญญาณที่มีสังขารเป็นอารมณ์ มีสังขารเป็นที่ตั้ง มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์.
ภิกษุนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักบัญญัติการมา การไปจุติ อุปบัติ หรือ ความเจริญงอกงามไพบูลย์ แห่งวิญญาณ เว้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขารดังนี้ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าความกำหนัดในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ เป็นอันภิกษุละได้แล้วไซร้ เพราะละความกำหนัดเสียได้ อารมณ์ย่อมขาดสูญ ที่ตั้งแห่งวิญญาณย่อมไม่มี วิญญาณอันไม่มีที่ตั้งนั้น ไม่งอกงาม ไม่แต่งปฏิสนธิ หลุดพ้นไป เพราะหลุดพ้นไป จึงดำรงอยู่ เพราะดำรงอยู่ จึงยินดีพร้อม เพราะยินดีพร้อม จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมดับรอบเฉพาะตนเท่านั้น.
เธอย่อมรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
ดูกรภิกษุ เมื่อบุคคลรู้เห็นอย่างนี้แล อาสวะทั้งหลายย่อมสิ้นไป ในกาล เป็นลำดับ
จบ สูตรที่ ๓.
------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๕๗-๖๐
๔. ปริวัฏฏสูตร
ว่าด้วยการรู้อุปาทานขันธ์โดยเวียนรอบ ๔
[๑๑๒] พระนครสาวัตถี. ฯลฯ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน? คือ อุปาทานขันธ์ คือรูป อุปาทานขันธ์ คือเวทนา อุปาทานขันธ์คือสัญญา อุปาทานขันธ์คือสังขาร อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่รู้ยิ่งซึ่งอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ โดยเวียนรอบ ๔ ตามความเป็นจริง เพียงใด เราก็ยังไม่ปฏิญาณว่า เป็นผู้ตรัสรู้ชอบยิ่ง ซึ่งสัมมาสัม โพธิญาณ อย่างยอดเยี่ยม ในโลกพร้อมทั้งเทวโลกมารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์เพียงนั้น.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล เรารู้ยิ่งซึ่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ โดยเวียนรอบ ๔ ตามความเป็นจริง เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณว่า เป็นผู้ตรัสรู้ชอบยิ่ง ซึ่งสัมมาสัม โพธิญาณ อย่างยอดเยี่ยม ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์.
เวียนรอบ ๔ อย่างไร? คือ เรารู้ยิ่งซึ่งรูป ความเกิดแห่งรูป ความดับแห่งรูป ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป รู้ยิ่งซึ่งเวทนา ฯลฯ รู้ยิ่งซึ่งสัญญา ฯลฯ รู้ยิ่ง ซึ่งสังขาร ฯลฯ รู้ยิ่งซึ่งวิญญาณ ความเกิดแห่งวิญญาณ ความดับแห่งวิญญาณ ปฏิปทาอันให้ถึง ความดับ แห่งวิญญาณ.
[๑๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็รูปเป็นไฉน? คือ มหาภูตรูป ๔ และรูป ที่อาศัย มหาภูตรูป ๔. นี้เรียกว่ารูป. ความเกิดขึ้นแห่งรูป ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้น แห่งอาหาร ความดับแห่งรูปย่อมมี เพราะความดับแห่งอาหาร อริยมรรคประกอบด้วย องค์ ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯสัมมาสมาธิ. นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับ แห่งรูป.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งรูปอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความเกิดแห่งรูปอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความดับแห่งรูปอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งปฏิปทา อันให้ถึง ความดับแห่งรูปอย่างนี้ ปฏิบัติแล้วเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความ ดับรูป สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าปฏิบัติดีแล้ว ชนเหล่าใดปฏิบัติดีแล้ว ชนเหล่านั้น ชื่อว่าย่อมหยั่งลงในธรรมวินัยนี้.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งรูปอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความเกิดแห่งรูปอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความดับแห่งรูปอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งข้อปฏิบัติอันให้ถึง ความดับ แห่งรูปอย่างนี้ เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะ ความดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า หลุดพ้นแล้วดี สมณะ หรือพราหมณ์เหล่าใด หลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้มีกำลังสามารถ เป็นของตน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เป็นผู้มีกำลังสามารถเป็นของตน ความเวียนวน เพื่อปรากฏ ย่อมไม่มีแก่สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น.
[๑๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เวทนาเป็นไฉน? เวทนา ๖ หมวดนี้ คือ เวทนา เกิดแต่จักขุสัมผัส เวทนาเกิดแต่โสตสัมผัส เวทนาเกิดแต่ฆานสัมผัส เวทนาเกิดแต่ ชิวหา สัมผัสเวทนาเกิดแต่กายสัมผัส เวทนาเกิดแต่มโนสัมผัส.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าเวทนา ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา ย่อมมีเพราะ ความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ ความดับแห่งเวทนา ย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ. นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึง ความดับ แห่งเวทนา.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งเวทนา อย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความเกิดแห่งเวทนาอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความดับแห่งเวทนาอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่ง ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งเวทนาอย่างนี้ ปฏิบัติแล้วเพื่อความหน่าย เพื่อความคลาย กำหนัด เพื่อความดับเวทนา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าปฏิบัติดีแล้ว ชนเหล่าใด ปฏิบัติดีแล้ว ชนเหล่านั้น ชื่อว่า ย่อมหยั่งลงในธรรมวินัยนี้.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งเวทนา อย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความเกิดแห่งเวทนาอย่างนี้รู้ยิ่ง ซึ่งความดับแห่งเวทนาอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่ง ข้อปฏิบัติอันให้ถึงความดับแห่งเวทนาอย่างนี้ เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะเบื่อหน่าย เพราะ คลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะไม่ถือมั่นเวทนาสมณะ หรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่า หลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด หลุดพ้นดีแล้วสมณะ หรือพราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้มีกำลังสามารถเป็นของตน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เป็นผู้มีกำลังสามารถเป็น ของตน ความเวียนวนเพื่อความปรากฏ ย่อมไม่มีแก่สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น.
[๑๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัญญาเป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๖ หมวดนี้คือ ความสำคัญในรูป ความสำคัญในเสียง ความสำคัญในกลิ่น ความสำคัญในรส ความสำคัญในโผฏฐัพพะ ความสำคัญในธรรมารมณ์.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าสัญญา. ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา ย่อมมี เพราะ ความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ ความดับแห่งสัญญา ย่อมมี เพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ. นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึง ความดับแห่งสัญญา.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งสัญญา อย่างนี้ ฯลฯ ความวนเวียนเพื่อความปรากฏ ย่อมไม่มี แก่สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น.
[๑๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สังขารเป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย เจตนา ๖ หมวดนี้คือ รูปสัญเจตนา สัททสัญเจตนา คันธสัญเจตนา รสสัญเจตนา โผฏฐัพพสัญเจตนา ธรรมสัญเจตนา.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าสังขาร. ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร ย่อมมีเพราะ ความ เกิดขึ้นแห่งผัสสะ ความดับแห่งสังขาร ย่อมมี เพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ. นี้แลเป็นปฏิปทา อันให้ถึงความดับแห่งสังขาร.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งสังขาร อย่างนี้ ฯลฯ ความวนเวียนเพื่อปรากฏ ย่อมไม่มี แก่สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น
[๑๑๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณเป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณ ๖ หมวดนี้คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าวิญญาณ. ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ ย่อมมี เพราะ ความเกิดขึ้นแห่งนามรูป ความดับแห่งวิญญาณย่อมมี เพราะความดับแห่งนามรูป อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการคือสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ. นี้แลเป็นปฏิปทา อันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งวิญญาณ อย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งเหตุเกิดแห่งวิญญาณอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความดับแห่งวิญญาณอย่างนี้ รู้ยิ่ง ซึ่งข้อปฏิบัติอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณอย่างนี้ ปฏิบัติแล้ว เพื่อความหน่าย เพื่อ ความคลายกำหนัด เพื่อความดับวิญญาณ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าปฏิบัติ ดีแล้ว ชนเหล่าใด ปฏิบัติดีแล้ว ชนเหล่านั้น ชื่อว่าย่อมหยั่งลงในธรรมวินัยนี้.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งวิญญาณ อย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความเกิดแห่งวิญญาณอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความดับแห่งวิญญาณอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งข้อปฏิบัติอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณอย่างนี้ เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะไม่ถือมั่นวิญญาณ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าหลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด หลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้มีกำลังสามารถเป็นของตน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเป็นผู้มีกำลังสามารถเป็นของตน ความวนเวียนเพื่อความ ปรากฏ ย่อมไม่มีแก่สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น.
จบ สูตรที่ ๔.
------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖๑-๖๓
๕. สัตตัฏฐานสูตร
ว่าด้วยการรู้ขันธ์ ๕ โดยฐานะ
(ภิกษุฉลาดในฐานะ ๗ ประการ ผู้เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการ เราเรียกว่า ยอดบุรุษ ผู้เสร็จกิจ อยู่จบพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้)
[๑๑๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ฉลาดในฐานะ ๗ ประการ ผู้เพ่งพินิจ โดยวิธี ๓ ประการ เราเรียกว่ายอดบุรุษ ผู้เสร็จกิจ อยู่จบพรหมจรรย์ ในธรรมวินัยนี้.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ฉลาดในในฐานะ ๗ ประการ เป็นอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
(๑) รู้ชัดซึ่งรูป (๒) เหตุเกิดแห่งรูป (๓) ความดับแห่งรูป (๔)ปฏิปทาอันให้ถึงความดับ แห่งรูป (๕) คุณแห่งรูป (๖) โทษแห่งรูป และ (๗) อุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป
รู้ชัดเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ความดับแห่ง วิญญาณ ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ คุณแห่งวิญญาณโทษ แห่งวิญญาณ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณ.
[๑๑๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็รูปเป็นไฉน? มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัย มหาภูต รูป ๔นี้เรียกว่ารูป. ความเกิดขึ้นแห่งรูป ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งอาหาร ความดับ แห่ง รูป ย่อมมีเพราะความดับแห่งอาหาร อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ.นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป.
ความสุขโสมนัสอาศัยรูปนี้เกิดขึ้น นี้เป็นคุณแห่งรูปรูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งรูป การกำจัดฉันทราคะการละฉันทราคะ ในรูปเสียได้ นี้เป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งรูป เหตุเกิด แห่งรูป ความดับแห่งรูป ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป คุณแห่งรูป โทษแห่งรูป และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป อย่างนี้ๆ แล้วปฏิบัติ เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลาย กำหนัด เพื่อดับรูป สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นปฏิบัติดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใดปฏิบัติดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าย่อมหยั่งลงในธรรมวินัยนี้
ส่วน สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งรูป เหตุเกิดแห่งรูป ความดับแห่งรูป ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป คุณแห่งรูป โทษแห่งรูป และอุบาย เครื่องสลัดออกแห่งรูป อย่างนี้ๆ แล้ว หลุดพ้นไป เพราะความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ความดับ (และ) เพราะไม่ถือมั่นรูป สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าหลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด หลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น เป็นอันเสร็จ กิจ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเสร็จกิจ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่มีวัฏฏะ เพื่อความปรากฏอีก.
[๑๒๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เวทนาเป็นไฉน? เวทนา ๖ หมวดนี้ คือ เวทนาเกิด เพราะจักขุสัมผัส ฯลฯ เวทนาเกิดเพราะมโนสัมผัส. นี้เรียกว่าเวทนา. ความเกิดขึ้นแห่ง เวทนาย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ ความดับแห่งเวทนา ย่อมมีเพราะความดับ แห่งผัสสะอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ.
นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งเวทนา ฯลฯ สมณะหรือพราหมณ์ เหล่านั้น ย่อมไม่มีวัฏฏะเพื่อความปรากฏอีก.
[๑๒๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัญญาเป็นไฉน? สัญญา ๖ หมวดนี้ คือ รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธรรมสัญญา. นี้เรียกว่าสัญญา. ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ ความดับแห่งสัญญา ย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ. นี้แลเป็นปฏิปทา อันให้ถึงความดับแห่งสัญญา ฯลฯ สมณะหรือพราหมณ์ เหล่านั้น ย่อมไม่มีวัฏฏะเพื่อความปรากฏอีก.
[๑๒๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารเป็นไฉน? เจตนา ๖ หมวดนี้ คือรูปสัญเจตนา ฯลฯ ธรรมสัญเจตนา. นี้เรียกว่าสังขาร.
ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร ย่อมมีเพราะความ เกิดขึ้น แห่งผัสสะ ความดับแห่ง สังขาร ย่อมมีเพราะความดับแห่ง ผัสสะ อริยมรรค อันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ. นี้แลเป็น ปฏิปทาอันให้ถึง ความดับแห่งสังขาร ฯลฯ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่มีวัฏฏะ เพื่อความ ปรากฏอีก.
[๑๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็วิญญาณเป็นไฉน? วิญญาณ ๖ หมวดนี้ คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ นี้เรียกว่าวิญญาณ. ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งนามรูป ความดับแห่ง วิญญาณ ย่อมมีเพราะความดับแห่งนามรูป อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯสัมมาสมาธิ. นี้แล เป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ.
สุขโสมนัสอาศัยวิญญาณเกิดขึ้น นี้เป็นคุณแห่งวิญญาณ วิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งวิญญาณ การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในวิญญาณ นี้เป็นความสลัดออกแห่งวิญญาณ.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งวิญญาณ เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ความดับแห่งวิญญาณ ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ คุณแห่งวิญญาณ โทษแห่งวิญญาณ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณ อย่างนี้ๆ แล้ว ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับวิญญาณ สมณะหรือ พราหมณ์ เหล่านั้น ชื่อว่าปฏิบัติดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด ปฏิบัติดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าย่อมหลั่งลงในธรรมวินัยนี้.
สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งวิญญาณ เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ความดับแห่งวิญญาณ ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ คุณแห่งวิญญาณ โทษ แห่งวิญญาณ อุบายเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณ อย่างนี้ๆ แล้ว หลุดพ้นไป เพราะ ความเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นวิญญาณ สมณะ หรือ พราหมณ์เหล่านั้น หลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด หลุดพ้นดีแล้ว สมณะ หรือ พราหมณ์เหล่านั้น เป็นอันเสร็จกิจแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเสร็จกิจแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่มีวัฏฏะเพื่อความปรากฏอีก.
[๑๒๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการ เป็นอย่างไร?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเพ่งพินิจ
โดยความเป็นธาตุ ประการหนึ่ง
โดยความเป็นอายตนะ ประการหนึ่ง
โดยความเป็นปฏิจจสมุปบาท ประการหนึ่ง.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุย่อมเป็นผู้เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการ. ภิกษุฉลาดในฐานะ ๗ ประการ ผู้เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการ เราเรียกว่า ยอดบุรุษ ผู้เสร็จกิจ อยู่จบพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้
จบ สูตรที่ ๕.
------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖๓-๖๔
๖. พุทธสูตร
ว่าด้วยเหตุให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า
(ตถาคตหลุดพ้นเพราะเบื่อหน่าย คลายกำหนัดเพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นในรูป เวทนา...)
[๑๒๕] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หลุดพ้นเพราะเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่น รูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ เทวดาและมนุษย์ต่างพากันเรียกว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญาหลุดพ้นแล้ว เพราะ เบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป ... เวทนา ...สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ เราเรียกว่า ผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา.
[๑๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้นจะมีอะไรเป็นข้อแปลกกัน จะมีอะไรเป็นข้อ ประสงค์ที่ยิ่งกว่ากัน จะมีอะไรเป็นเหตุทำให้ต่างกัน ระหว่างพระตถาคตอรหันต สัมมา สัมพุทธเจ้ากับภิกษุผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา?
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาค เป็นรากฐาน เป็นแบบฉบับ เป็นที่อิงอาศัย ขอประทานพระวโรกาส ขออรรถแห่งภาษิตนี้ จงแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคทีเดียวเถิด ภิกษุทั้งหลาย ได้สดับ ต่อ พระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้.
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว. ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทางที่ยังไม่เกิด ให้เกิด ยังประชุมชนให้รู้จักมรรคที่ใครๆไม่รู้จัก บอกทางที่ยังไม่มีใครบอก เป็นผู้รู้จักทาง ประกาศทางให้ปรากฏ ฉลาดในทาง.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สาวกทั้งหลาย ในบัดนี้ เป็นผู้ที่ดำเนินไปตามทาง เป็นผู้ตามมาในภายหลัง. อันนี้แล เป็นข้อแปลกกัน อันนี้ เป็นข้อประสงค์ยิ่งกว่ากัน อันนี้ เป็นเหตุทำให้ต่างกันระหว่าง พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กับภิกษุผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา.
จบ สูตรที่ ๖.
------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖๔-๖๗
๗. ปัญจวัคคิยสูตร
ว่าด้วยลักษณะแห่งอนัตตา
(รูปมิใช่ตัวตน ก็หากว่ารูปนี้จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ รูปนี้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ)
[๑๒๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุเบญจวัคคีย์ ฯลฯ แล้วตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปมิใช่ตัวตน. ก็หากว่ารูปนี้จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ รูปนี้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะ ได้ตามความปรารถนาในรูปว่า ขอรูปของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย. ก็เพราะเหตุที่รูปมิใช่ตัวตน ฉะนั้นรูปจึง เป็นไป เพื่ออาพาธ และไม่ได้ตาม ความปรารถนาในรูปว่า ขอรูปของเรา จงเป็นอย่างนี้ เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา มิใช่ตัวตน ก็หากเวทนานี้ จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในเวทนาว่า ขอเวทนาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย. ก็เพราะเหตุที่เวทนามิใช่ตัวตน ฉะนั้น เวทนา จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ ตามความปรารถนาในเวทนาว่า ขอเวทนาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็น อย่างนั้นเลย.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญามิใช่ตัวตน ก็หากสัญญานี้จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในสัญญาว่า ขอสัญญาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ก็เพราะเหตุที่สัญญามิใช่ตัวตน ฉะนั้น สัญญา จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ ตามความปรารถนาในสัญญาว่า ขอสัญญา ของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็น อย่างนั้นเลย.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารมิใช่ตัวตน ก็หากสังขารนี้ จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในสังขารว่า ขอสังขารของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ก็เพราะเหตุที่สังขารมิใช่ตัวตน ฉะนั้น สังขาร จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ ตาม ความปรารถนาในสังขารว่า ขอสังขารของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็น อย่างนั้นเลย.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณมิใช่ตัวตน ก็หากวิญญาณนี้ จักเป็นตัวตน แล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนา ในวิญญาณ ว่า ขอวิญญาณ ของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย. ก็เพราะเหตุที่วิญญาณ มิใช่ตัวตน ฉะนั้น วิญญาณจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนา ในวิญญาณ ว่า ขอวิญญาณของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
[๑๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง?
ภิกษุเหล่านั้น กราบทูลว่า ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวน เป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นตัวตนของเรา?
ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือสุขเล่า?
ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวน เป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นตัวตนของเรา?
ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า
[๑๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็น อดีตอนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ทั้งที่อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ รูปทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน ฯลฯ ทั้งที่อยู่ไกล หรือใกล้ เวทนาทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั้นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา
สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ ทั้งที่อยู่ไกล หรือใกล้ สัญญาทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา
สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ ทั้งที่อยู่ไกล หรือใกล้สังขารทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีตอนาคต และปัจจุบัน เป็นภายใน หรือ ภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ทั้งที่อยู่ไกลหรือใกล้ วิญญาณทั้งหมด นั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา
[๑๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อม คลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น. เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว. รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสอนัตตลักขณสูตรนี้ จบลงแล้ว ภิกษุเบญจวัคคีย์ ต่างมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ก็แหละเมื่อพระผู้มีพระภาค กำลังตรัส ไวยากรณภาษิตนี้อยู่ ภิกษุเบญจวัคคีย์ ก็มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น
จบ สูตรที่ ๗.
------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖๗-๖๘
๘. มหาลิสูตร
ว่าด้วยเหตุปัจจัยแห่งความบริสุทธิ์
(ดูกรมหาลิ เหตุมี ปัจจัยมี เพื่อความเศร้าหมองของสัตว์ สัตว์ทั้งหลายมีเหตุ มีปัจจัย ย่อม เศร้าหมอง เหตุมี ปัจจัยมี เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ สัตว์ทั้งหลายมีเหตุมีปัจจัย ย่อมบริสุทธิ์)
[๑๓๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน ใกล้พระนครเวสาลี. ครั้งนั้นแล เจ้ามหาลิลิจฉวี ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่งณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านปูรณกัสสปพูดอย่างนี้ว่า เหตุไม่มี ปัจจัยไม่มี เพื่อความเศร้าหมองของสัตว์ สัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ย่อมเศร้าหมองเอง เหตุไม่มี ปัจจัยไม่มี เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ สัตว์ทั้งหลาย ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ย่อมบริสุทธิ์เอง
ในข้อนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างไร? พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมหาลิ เหตุมี ปัจจัยมี เพื่อความเศร้าหมองของสัตว์ สัตว์ทั้งหลายมีเหตุ มีปัจจัย ย่อมเศร้าหมอง เหตุมี ปัจจัยมี เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ สัตว์ทั้งหลายมีเหตุมีปัจจัย ย่อมบริสุทธิ์
ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เหตุปัจจัย เพื่อความเศร้าหมองของสัตว์ เป็นไฉน? สัตว์ทั้งหลายมีเหตุมีปัจจัย ย่อมเศร้าหมองอย่างไร?
พ. ดูกรมหาลิ ก็หากรูปนี้ จะเป็นทุกข์ถ่ายเดียว รังแต่ทุกข์ตามสนอง หยั่งลงสู่ ความทุกข์ มิได้ประกอบด้วยสุขบ้างแล้ว สัตว์ทั้งหลาย ก็จะไม่พึงกำหนัดในรูป ก็เพราะรูปเป็นสุข สุขตามสนอง หยั่งลงสู่ความสุข มิได้ประกอบด้วยทุกข์ เสมอไป ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลาย จึงกำหนัดในรูป เพราะกำหนัด จึงถูกประกอบเข้าไว้ เพราะ ถูกประกอบ จึงเศร้าหมอง
ดูกรมหาลิ แม้ข้อนี้ก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เพื่อความเศร้าหมอง ของสัตว์ สัตว์ทั้งหลาย มีเหตุ มีปัจจัยจึงเศร้าหมอง แม้ด้วยอาการอย่างนี้.
ดูกรมหาลิ ก็หากเวทนานี้ เป็นทุกข์ถ่ายเดียว ฯลฯ ก็หากสัญญานี้ เป็นทุกข์ ถ่ายเดียว ฯลฯ ก็หากสังขารนี้ เป็นทุกข์ถ่ายเดียว ฯลฯ ก็หากวิญญาณนี้ เป็นทุกข์ ถ่ายเดียว รังแต่ทุกข์ตามสนอง หยั่งลงสู่ความทุกข์ มิได้ประกอบด้วยสุขบ้าง แล้ว สัตว์ทั้งหลาย ก็จะไม่พึงกำหนัดในวิญญาณ.
ก็เพราะวิญญาณเป็นสุข สุขตามสนอง หยั่งลงสู่ความสุข มิได้ประกอบด้วย ทุกข์ เสมอไป ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลาย จึงกำหนัดในวิญญาณ เพราะกำหนัด จึงถูกประกอบ เข้าไว้ เพราะถูกประกอบ จึงเศร้าหมอง.
ดูกรมหาลิ แม้ข้อนี้แล ก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เพื่อความเศร้าหมองของสัตว์. สัตว์ทั้งหลาย มีเหตุ มีปัจจัย จึงเศร้าหมองแม้ด้วยอาการอย่างนี้
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
[๑๓๒] ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ส่วนเหตุปัจจัย เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ เป็นไฉน? สัตว์ทั้งหลาย มีเหตุ มีปัจจัย ย่อมบริสุทธิ์ได้อย่างไร?
พ. ดูกรมหาลิ ก็หากว่ารูปนี้ จักเป็นสุขถ่ายเดียว สุขตามสนอง หยั่งลงสู่ ความสุข มิได้ประกอบด้วยทุกข์บ้างแล้ว สัตว์ทั้งหลาย ก็จะไม่พึงเบื่อหน่ายในรูป.
ก็เพราะรูปเป็นทุกข์ทุกข์ ตามสนอง หยั่งลงสู่ความทุกข์ มิได้ประกอบด้วย สุขเสมอไป ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลาย จึงเบื่อหน่ายในรูป เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจึงบริสุทธิ์. แม้ข้อนี้แลก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เพื่อความบริสุทธิ์ ของสัตว์. สัตว์ทั้งหลาย มีเหตุ มีปัจจัย จึงบริสุทธิ์แม้ด้วยอาการอย่างนี้.
ดูกรมหาลิ ก็หากว่าเวทนาเป็นสุขถ่ายเดียว ฯลฯ สัญญาเป็นสุขถ่ายเดียว ฯลฯ สังขารเป็นสุขถ่ายเดียว ฯลฯ วิญญาณเป็นสุขถ่ายเดียว สุขตามสนอง หยั่งลงสู่ความสุข มิได้ประกอบด้วยทุกข์บ้างแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลาย ก็จะไม่พึงเบื่อหน่ายในวิญญาณ.
ก็เพราะวิญญาณเป็นทุกข์ ทุกข์ตามสนอง หยั่งลงสู่ความทุกข์ มิได้ ประกอบ ด้วยสุขเสมอไปฉะนั้น สัตว์ทั้งหลาย จึงเบื่อหน่ายในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลาย กำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงบริสุทธิ์ แม้ข้อนี้แล ก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์. สัตว์ทั้งหลายมีเหตุ มีปัจจัย จึงบริสุทธิ์ แม้ด้วยอาการอย่างนี้.
จบ สูตรที่ ๘
------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖๙
๙. อาทิตตสูตร
ว่าด้วยความเป็นของร้อนแห่งขันธ์ ๕
[๑๓๓] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ร้อนนัก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้นเมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้แล้ว หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
จบ สูตรที่ ๙
------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖๙-๗๑
๑๐. นิรุตติปถสูตร
ว่าด้วยวิถีทางแห่งนิรุตติ ๓ ประการ
(รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือขันธ์๕ ที่ผ่านพ่นไปแล้ว(อดีต) ไม่นับว่ามีอยู่ ..ที่ยังไม่เกิด (อนาคต )ไม่นับว่าจะมี ..และที่เกิดแล้ว (ปัจจุบัน) ไม่นับว่ามีแล้ว)
[๑๓๔] พระนครสาวัตถี. ฯลฯ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิถีทาง ๓ ประการ คือ หลักภาษา ชื่อ และบัญญัตินี้? ไม่ถูกทอดทิ้ง และยังไม่เคยถูกทอดทิ้ง ย่อมไม่ถูกทอดทิ้ง จักไม่ถูกทอดทิ้ง อันสมณพราหมณ์ ผู้วิญญูชนไม่คัดค้านแล้ว.
๓ ประการเป็นไฉน?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การนับรูปผ่านพ้นไปแล้ว (อดีต) ดับแล้ว แปรปรวนไปแล้วว่า ได้มีแล้ว การให้ชื่อรูปนั้นว่า ได้มีแล้ว การบัญญัติรูปนั้นว่า ได้มีแล้ว รูปนั้นไม่นับว่า มีอยู่ ไม่นับว่าจักมี การนับเวทนา ที่ผ่านพ้นไปแล้ว ดับแล้ว แปรปรวนแล้วว่าได้มีแล้ว การให้ชื่อเวทนานั้นว่า ได้มีแล้ว การบัญญัติเวทนานั้นว่า ได้มีแล้ว เวทนานั้นไม่นับว่า มีอยู่ ไม่นับว่าจักมี.
การนับสัญญา ที่ผ่านพ้นไปแล้ว ดับแล้ว แปรปรวนไปแล้วว่า ได้มีแล้ว การให้ชื่อสัญญานั้นว่า ได้มีแล้ว การบัญญัติสัญญานั้นว่า ได้มีแล้ว สัญญานั้นไม่นับว่า มีอยู่ ไม่นับว่า จักมี การนับสังขารที่ผ่านพ้นไปแล้ว ดับแล้ว แปรปรวนไปแล้วว่า ได้มีแล้ว การให้ชื่อสังขารนั้นว่า ได้มีแล้ว การบัญญัติสังขารนั้นว่า ได้มีแล้ว สังขาร เหล่านั้น ไม่นับว่า มีอยู่ ไม่นับว่า จักมี การนับวิญญาณที่ผ่านพ้นไปแล้ว ดับแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ว่า ได้มีแล้ว การให้ชื่อวิญญาณนั้นว่า ได้มีแล้ว การบัญญัติวิญญาณ นั้นว่า ได้มีแล้ว วิญญาณนั้นไม่นับว่า มีอยู่ไม่นับว่า จักมีฯ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือขันธ์๕ ที่ผ่านพ่นไปแล้ว เป็นอดีตไปแล้ว ไม่นับว่ามีอยู่ และไม่นับว่าจะมี)
[๑๓๕] การนับรูปที่ยังไม่เกิด (อนาคต) ยังไม่ปรากฏว่า จักมี การให้ชื่อ รูป เช่นนั้น ว่า จักมีและการบัญญัติรูป เช่นนั้นว่า จักมี รูปนั้นไม่นับว่า มีอยู่ ไม่นับว่า มีแล้ว.
การนับเวทนาที่ยังไม่เกิด ยังไม่ปรากฏว่า จักมี การให้ชื่อเวทนาเช่นนั้นว่า จักมี และการบัญญัติเวทนาเช่นนั้นว่า จักมี เวทนานั้นไม่นับว่า มีอยู่ ไม่นับว่า มีแล้ว.
การนับสัญญาที่ยังไม่เกิด ยังไม่ปรากฏว่าจักมี การให้ชื่อสัญญาเช่นนั้นว่า จักมี และการบัญญัติสัญญาเช่นนั้นว่า จักมี สัญญานั้นไม่นับว่า มีอยู่ ไม่นับว่า มีแล้ว.
การนับสังขารที่ยังไม่เกิด ยังไม่ปรากฏว่า จักมี การให้ชื่อสังขารเช่นนั้นว่า จักมี และการบัญญัติสังขารเช่นนั้นว่า จักมี สังขารเหล่านั้นไม่นับว่า มีอยู่ไม่นับว่า มีแล้ว.
การนับวิญญาณที่ยังไม่เกิด ยังไม่ปรากฏว่า จักมี การให้ชื่อวิญญาณเช่นนั้น ว่าจักมี และการบัญญัติวิญญาณเช่นนั้นว่า จักมี วิญญาณนั้นไม่นับว่า มีอยู่ ไม่นับว่า มีแล้ว.
[๑๓๖] การนับรูปที่เกิดแล้ว(ปัจจุบัน) ปรากฏแล้วว่า มีอยู่ การให้ชื่อรูปนั้น ว่า มีอยู่ และการบัญญัติรูปเช่นนั้นว่า มีอยู่ รูปนั้นไม่นับว่า มีแล้ว ไม่นับว่า จักมี.
การนับเวทนาที่เกิดแล้วปรากฏแล้วว่า มีอยู่ การให้ชื่อเวทนาเช่นนั้นว่า มีอยู่ และการบัญญัติเวทนาเช่นนั้นว่า มีอยู่เวทนานั้นไม่นับว่า มีแล้ว ไม่นับว่า จักมี.
การนับสัญญาที่เกิดแล้ว ปรากฏแล้วว่า มีอยู่การให้ชื่อสัญญาเช่นนั้นว่า มีอยู่ และการบัญญัติสัญญาเช่นนั้นว่า มีอยู่ สัญญานั้นไม่นับว่า มีแล้ว ไม่นับว่า จักมี.
การนับสังขารที่เกิดแล้ว ปรากฏแล้วว่า มีอยู่ การให้ชื่อสังขารเช่นนั้นว่ามีอยู่ และการบัญญัติสังขารเช่นนั้นว่า มีอยู่ สังขารเหล่านั้น ไม่นับว่า มีแล้ว ไม่นับว่า จักมี.
การนับวิญญาณที่เกิดแล้ว ปรากฏแล้วว่า มีอยู่ การให้ชื่อวิญญาณเช่นนั้นว่า มีอยู่ และการบัญญัติวิญญาณเช่นนั้นว่า มีอยู่ วิญญาณนั้นไม่นับว่า มีแล้ว ไม่นับว่า จักมี.
ดูกรภิกษุทั้งหลายวิถีทาง ๓ ประการ คือ หลักภาษา การตั้งชื่อ และบัญญัติ เหล่านี้แล ไม่ถูกทอดทิ้งแล้ว ยังไม่เคยถูกทอดทิ้ง ย่อมไม่ถูกทอดทิ้ง จักไม่ถูกทอดทิ้ง อันสมณพราหมณ์ ผู้เป็นวิญญูชนไม่คัดค้านแล้ว.
[๑๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ชนชาวอุกกลชนบท กับชนชาววัสสภัญญชนบท ทั้งสองนั้น ล้วนพูดว่าไม่มีเหตุ บุญบาปที่ทำไปแล้ว ไม่เป็นอันทำ ทานที่บุคคลให้แล้ว ไม่มีผล ก็ได้สำคัญวิถีทาง ๓ ประการนี้ คือ หลักภาษา การตั้งชื่อ และข้อบัญญัติว่า ไม่ควรติ ไม่ควรคัดค้าน ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร? เพราะกลัวถูกนินทา กลัวกระทบ กระทั่ง กลัวใส่โทษ และกลัวจะต่อความยาว
จบ สูตรที่ ๑๐
|