พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๔๐-๑๔๑
๗. คัททูลสูตรที่ ๑
ว่าด้วยอุปมาขันธ์ ๕ ด้วยเสาล่ามสุนัข
[๒๕๖] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้มีที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายรู้ไม่ได้แล้ว ที่สุดเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏสำหรับสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอวิชชา เป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่.
มหาสมุทรยังมีสมัยเหือดแห้งไม่เป็นมหาสมุทร. แต่เราไม่กล่าวว่า สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยว ไปมาอยู่ จะกระทำที่สุดทุกข์ได้.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ขุนเขาสิเนรุยังมีสมัยที่ถูกไฟไหม้พินาศไปมีอยู่ไม่ได้. แต่เรากล่าวไม่ได้ถึงการกระทำที่สุดทุกข์ แห่งสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่อง กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบ ท่องเที่ยวไปมาอยู่.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แผ่นดินใหญ่ยังมีสมัยที่ถูกไฟไหม้ พินาศไป มีอยู่ไม่ได้. แต่เราไม่กล่าวว่าสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหา เป็นเครื่อง ประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ จะกระทำที่สุดทุกข์ได้.
[๒๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุนัขที่เขาผูกไว้ด้วยเชือก ถูกล่ามไว้ที่หลัก หรือ เสา อันมั่นคง ย่อมวิ่งวนเวียนหลักหรือเสานั้นเอง แม้ฉันใด. ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ฉันนั้น เหมือนกันแล ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า ไม่ฉลาดในอริยธรรม ไม่ได้รับแนะนำ ในอริยธรรม ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในสัปปุริสธรรม ไม่ได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม ย่อมตามเห็น รูป โดยความเป็นตน เห็นตนมีรูปเห็นรูปในตน หรือเห็นตนในรูป ย่อมตามเห็นเวทนา ... เห็นสัญญา ... เห็นสังขาร ... เห็นวิญญาณโดยความเป็นตน เห็นตนมีวิญญาณ เห็นวิญญาณในตน หรือเห็นตนในวิญญาณ เขาย่อมแล่นวนเวียนรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้นเอง เมื่อเขาแล่นวนเวียนรูป เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณอยู่ ย่อมไม่พ้นไปจากรูป ไม่พ้นไปจากเวทนา ไม่พ้นไปจากสัญญา ไม่พ้นไป จากสังขาร ไม่พ้นไปจากวิญญาณ ไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสอุปายาส เรากล่าวว่าย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับ ได้เห็นพระอริยเจ้า ฉลาดใน อริยธรรม ได้รับแนะนำดีแล้วในอริยธรรม ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในสัปปุริสธรรม ได้รับแนะนำดีแล้วในสัปปุริสธรรม ย่อมไม่พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นตน ...ไม่พิจารณาเห็นเวทนา โดยความเป็นตน ... ไม่พิจารณาเห็นสัญญา โดยความเป็นตน ... ไม่พิจารณาเห็นสังขาร โดยความเป็นตน ... ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตน ไม่เห็นตนมีวิญญาณ ไม่เห็นวิญญาณในตน หรือไม่เห็นตนในวิญญาณ
อริยสาวกนั้น ย่อมไม่แล่นวนเวียนรูป เวทนาสัญญา สังขาร วิญญาณ อริยสาวกนั้น เมื่อไม่แล่นวนเวียนรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณย่อมพ้นจากรูป พ้นจากเวทนา พ้นจากสัญญา พ้นจากสังขาร พ้นจากวิญญาณ พ้นจากชาติชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมพ้นไปจากทุกข์.
จบ สูตรที่ ๗.
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๔๑-๑๔๓
๘. คัททูลสูตรที่ ๒
ว่าด้วยอุปมาขันธ์ ๕ ด้วยเสาล่ามสุนัข
[๒๕๘] พระนครสาวัตถี ฯลฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้ที่สุด เบื้องต้น เบื้องปลายรู้ไม่ได้แล้ว ที่สุดเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหา เป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุนัขที่เขาผูกไว้ด้วยเชือก ถูกล่ามไว้ที่หลักหรือเสา อันมั่นคง ถ้าแม้มันเดิน มันก็ย่อมเดินใกล้หลัก หรือเสานั้นเอง ถ้าแม้มันยืนมัน ก็ย่อมยืน ใกล้หลัก หรือเสานั้นเอง ถ้าแม้มันนั่ง มันก็ย่อมนั่งใกล้หลัก หรือเสานั้นเอง ถ้าแม้มัน นอน มันก็ย่อมนอนใกล้หลักหรือเสานั้นเอง แม้ฉันใด.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมตามเห็นรูปว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ย่อมตามเห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา
ปุถุชนนั้น ถ้าแม้เดิน เขาก็ย่อม เดินใกล้อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้นั้นเอง ถ้าแม้ยืน เขาก็ย่อมยืนใกล้อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้นั้นเอง ถ้าแม้นั่ง เขาก็ย่อมนั่งใกล้ อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้นั้นเอง ถ้าแม้นอน เขาย่อมนอนใกล้อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้นั้นเอง.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลาย พึงพิจารณาจิตของตน เนืองๆ ว่า จิตนี้เศร้าหมองแล้ว ด้วยราคะ โทสะ โมหะ สิ้นกาลนาน
ว่าด้วยความเศร้าหมองและผ่องแผ้วของจิต
[๒๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ย่อมเศร้าหมองเพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์
ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ เพราะจิตผ่องแผ้ว. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภาพนิทรรศการนั้น เธอทั้งหลาย
เห็นแล้วหรือ? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เห็นแล้วพระเจ้าข้า.
พ. ภาพนิทรรศการแม้นั้นแล ช่างเขียนคิดแล้วด้วยจิตนั่นแหละ. จิตนั้นแหละ วิจิตรกว่าภาพนิทรรศการแม้นั้น. เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลาย พึงพิจารณาจิตของตน เนืองๆ ว่า จิตนี้เศร้าหมองด้วย ราคะ โทสะ โมหะ สิ้นกาลนาน. สัตว์ทั้งหลายย่อม เศร้าหมอง เพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ เพราะจิตผ่องแผ้ว.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่พิจารณาเห็นหมู่สัตว์อื่น แม้เพียงหมู่หนึ่ง ซึ่งวิจิตรเหมือนอย่างสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายนี้เลย.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ดิรัจฉานแม้เหล่านี้แล คนคิดด้วยจิตนั่นแหละ.
จิตนั่นแหละวิจิตรกว่าสัตว์ดิรัจฉานแม้เหล่านั้น. เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลาย พึงพิจารณาจิต ของตนเนืองๆ ว่า จิตนี้เศร้าหมองแล้วด้วยราคะ โทสะ โมหะ สิ้นกาลนาน. สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมอง เพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายย่อม บริสุทธิ์ เพราะจิตผ่องแผ้ว.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช่างย้อมหรือช่างเขียน เมื่อมีเครื่องย้อมก็ดี ครั่งก็ดี ขมิ้นก็ดี สีเขียวก็ดี สีแดงก็ดี พึงเขียนรูปสตรีหรือรูปบุรุษ มีอวัยวะใหญ่น้อยครบทุกส่วน ลงที่แผ่นกระดานเกลี้ยงเกลา หรือที่ฝา หรือที่แผ่นผ้า แม้ฉันใด.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อจะให้เกิด ย่อม ยังรูปนั่นแหละให้เกิด เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังเวทนานั่นแหละให้เกิด เมื่อจะให้เกิด ย่อมยัง สัญญานั่นแหละ ให้เกิด เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังสังขารนั่นแหละให้เกิด เมื่อจะให้ เกิด ย่อมยังวิญญาณ นั่นแหละให้เกิด.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นอย่างไร รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า.
พ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
พ. เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
จบ สูตรที่ ๘.
|