เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ บุคคลง่อนแง่นในธรรม 1910
 
ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ
จันทนเทวบุตรเทพบุตร เข้าไปหา พระโลมสกังคิยะ ที่วิหารนิโครธาราม ยังวิหารสว่างไปทั่ว

1 จันทนเทวบุตร (เทวดา) เข้าไปหาพระโลมสกังคิยะ ยังวิหารฯ
2 เทวดาถามภิกษูว่าท่านจำคาถา "ราตรีหนึ่งเจริญของ พ.ได้ไหม"
3 พระโลมสกังคิยะ เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
4 บุคคลย่อมคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว-อย่างไร
5 บุคคลย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง-อย่างไร
6 บุคคลง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน- อย่างไร
7 บุคคลไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน- อย่างไร
เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 
สารบาญพระไตรปิฎก
เล่มที่ ๘-๓๓ (๒๕ เล่ม) ทุกพระสูตร
1. ฉบับหลวง
2. ฉบับมหาจุฬาฯ
3. อรรถกถาไทย
4. ฉบับภาษาบาลี
5. อรรถกถา-บาลี
6. Pali Roman (Roman Script)
7. Atthakatha PaliRoman
 

 


 


1   
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๑๗-๓๒๒

๔. โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร (๑๓๔)

             [๕๖๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล ท่านพระโลมสกังคิยะ อยู่ที่พระวิหารนิโครธาราม เขตพระนครกบิลพัสดุ์ ในสักกชนบท ครั้งนั้นแลล่วงปฐมยามไปแล้ว จันทนเทวบุตร (เทวดา) มีรัศมีงามยิ่ง ส่องพระวิหารนิโครธาราม ให้สว่างทั่ว เข้าไปหาท่าน พระโลมสกังคิยะ ยังที่อยู่ แล้วได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

             [๕๖๖] จันทนเทวบุตร พอยืนเรียบร้อยแล้ว จึงกล่าวกะท่านพระโลมสกังคิยะ ดังนี้ว่า

----------------------------------------------------------------------------------------------
2
(โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๓๑๗-๓๒๒)
(ท่านทรงจำคาถาแสดง ราตรีหนึ่งเจริญ ได้ไหม)

     ดูกรภิกษุ ท่านทรงจำอุเทศและวิภังค์ ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญได้ไหม

     ท่านพระโลมสังกังคิยะกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เราทรงจำไม่ได้ ก็ท่านทรงจำ ได้หรือ

     จ. ดูกรภิกษุ แม้ข้าพเจ้าก็ทรงจำไม่ได้ และท่านทรงจำคาถาแสดง ราตรีหนึ่งเจริญ ได้ไหม
     โล. ดูกรท่านผู้มีอายุ เราทรงจำไม่ได้ ก็ท่านทรงจำได้หรือ

     จ. ดูกรภิกษุ ข้าพเจ้าทรงจำได้ (เทวดาจำได้)
     โล. ดูกรท่านผู้มีอายุ ก็ท่านทรงจำได้อย่างไรเล่า

             [๕๖๗] จ. ดูกรภิกษุ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณปัณฑุกัมพล ศิลาอาสน์ ที่ควงไม้ปาริจฉัตตกะ ในหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสอุเทศและวิภังค์ ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ แก่เทวดาชั้น ดาวดึงส์ว่า

             บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใด ล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใด เห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึง เจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่า จะพึงรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติเป็นอยู่อย่างนี้ มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวัน และกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ

             [๕๖๘] ดูกรภิกษุ ข้าพเจ้าทรงจำคาถาแสดงราตรีหนึ่งเจริญได้อย่างนี้แล ขอท่านจงร่ำเรียน และทรงจำอุเทศและวิภังค์ของบุรุษผู้มีราตรีหนึ่งเจริญเถิด เพราะอุเทศ และวิภังค์ ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ จันทนเทวบุตรกล่าวดังนี้แล้ว จึงหายไป ณ ที่นั้นเอง

----------------------------------------------------------------------------------------------
3
(โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๓๑๗-๓๒๒)
(ท่านพระโลมสกังคิยะ เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค)

             [๕๖๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระโลมสกังคิยะ พอล่วงราตรีนั้นไปแล้วจึงเก็บ เสนาสนะ ถือบาตรจีวรมุ่งจาริกไปยังพระนครสาวัตถี เมื่อจาริกไปโดยลำดับ ถึงพระนครสาวัตถี ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี

             ครั้นแล้ว จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยหนึ่ง ข้าพระองค์อยู่ที่พระวิหารนิโครธารามเขตพระนครกบิลพัสดุ์ ในสักกชนบท ขณะนั้น ล่วงปฐมยามไปแล้ว เทวบุตรตนหนึ่ง มีรัศมีงามยิ่ง ส่องพระวิหารนิโครธารามให้สว่างทั่ว เข้าไปหาข้าพระองค์ยังที่อยู่ แล้วได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอยืนเรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวกะข้าพระองค์ดังนี้ว่า

             ดูกรภิกษุ ท่านทรงจำอุเทศและวิภังค์ ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญได้ไหม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเทวบุตรนั้นกล่าวแล้วอย่างนี้ ข้าพระองค์ได้กล่าวกะ เทวบุตร นั้น ดังนี้ว่า

             ดูกรท่านผู้มีอายุ เราทรงจำไม่ได้ ก็ท่านทรงจำได้หรือ เทวบุตรนั้นกล่าวว่า ดูกรภิกษุ แม้ข้าพเจ้าก็ทรงจำไม่ได้ และท่านทรงจำคาถาแสดงราตรีหนึ่งเจริญได้ไหม ข้าพระองค์ตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เราทรงจำไม่ได้ ก็ท่านทรงจำได้หรือ เทวบุตรนั้น กล่าวว่า ดูกรภิกษุข้าพเจ้าทรงจำได้ ข้าพระองค์ถามว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ท่านทรงจำ ได้อย่างไรเล่าเทวบุตรนั้นกล่าวว่า

             ดูกรภิกษุ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ที่ควงไม้ปาริจฉัตตกะ ในหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์ ณ ที่นั้นแลพระผู้มีพระภาคได้ตรัสอุเทศ และวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ แก่เทวดาชั้นดาวดึงส์ว่า

             บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯลฯ พระมุนีผู้สงบย่อม เรียกบุคคล...นั้น แลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ

             ดูกรภิกษุ ข้าพเจ้าทรงจำคาถา แสดงราตรีเจริญได้อย่างนี้แล ท่านจงร่ำ เรียน และทรงจำอุเทศ และวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญเถิด เพราะอุเทศและวิภังค์ ของบุคคล ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เทวบุตรนั้นกล่าวดังนี้แล้ว จึงหายไปณ ที่นั้นเอง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดแสดงอุเทศ และวิภังค์ของบุคคล ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ แก่ข้าพระองค์เถิด

             [๕๗๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ก็เธอรู้จักเทวดานั้นหรือไม่

             ท่านพระโลมสกังคิยะกราบทูลว่า ไม่รู้จักเลย พระพุทธเจ้าข้า

             พ. ดูกรภิกษุ เทวบุตรนั้นชื่อว่า จันทนะ จันทนเทวบุตร ย่อมมุ่งประโยชน์ ใส่ใจ เอาใจฝักใฝ่สิ่งทั้งปวง เงี่ยโสตลงฟังธรรม ดูกรภิกษุ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจ ให้ดี เราจักกล่าวต่อไป ภิกษุนั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่าชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า

             [๕๗๑] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้วสิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ ยังไม่มาถึงก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆได้ บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะพึงรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่า ความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบ ย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวัน และ กลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ

----------------------------------------------------------------------------------------------
4
(โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๓๑๗-๓๒๒)
(บุคคลย่อมคำนึง ถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร)

             [๕๗๒] ดูกรภิกษุ ก็บุคคลย่อมคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร คือรำพึงถึงความ เพลิดเพลิน ในเรื่องนั้นๆ ว่า
เราได้มีรูป อย่างนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว
ได้มีเวทนา อย่างนี้ ในกาล ที่ล่วงแล้ว
ได้มีสัญญา อย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว
ได้มีสังขาร อย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว
ได้มีวิญญาณ อย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว
              ดูกรภิกษุอย่างนี้แล ชื่อว่าคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว

             [๕๗๓] ดูกรภิกษุ ก็บุคคลไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร คือ ไม่รำพึงถึง ความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า เราได้มีรูปอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีเวทนาอย่างนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีสัญญาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีสังขารอย่างนี้ในกาล ที่ล่วงแล้ว ได้มีวิญญาณอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว

              ดูกรภิกษุ อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่คำนึงถึง สิ่งที่ล่วงแล้ว

----------------------------------------------------------------------------------------------
5
(โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๓๑๗-๓๒๒)
(บุคคลย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างไร )

             [๕๗๔] ดูกรภิกษุ ก็บุคคลย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างไร คือรำพึงถึง ความ เพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า ขอเราพึงมีรูปอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีเวทนาอย่างนี้ ในกาลอนาคต พึงมีสัญญาอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีสังขารอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีวิญญาณนี้ในกาลอนาคต ดูกรภิกษุ อย่างนี้แล ชื่อว่ามุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง

             [๕๗๕] ดูกรภิกษุ ก็บุคคลจะไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างไร คือไม่รำพึงถึง ความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า ขอเราพึงมีรูปอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีเวทนาอย่างนี้ ในกาลอนาคต พึงมีสัญญาอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีสังขารอย่างนี้ ในกาลอนาคต พึงมีวิญญาณอย่างนี้ในกาลอนาคต

             ดูกรภิกษุ อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่มุ่งหวัง สิ่งที่ยังไม่มาถึง

----------------------------------------------------------------------------------------------
6
(โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๓๑๗-๓๒๒)
(บุคคลง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน อย่างไร)

             [๕๗๖] ดูกรภิกษุ ก็บุคคลย่อมง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร คือปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้ฝึกในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้ฝึกในธรรมของสัตบุรุษ

ย่อมเล็งเห็นรูป โดยความเป็นอัตตาบ้าง
เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง
เล็งเห็นรูปในอัตตาบ้าง
เล็งเห็นอัตตาในรูปบ้าง
ย่อมเล็งเห็น
เวทนาโดยความเป็นอัตตาบ้าง ฯลฯ
ย่อมเล็งเห็น
สัญญาโดยความเป็นอัตตาบ้าง ฯลฯ
ย่อมเล็งเห็นสังขารโดยความเป็นอัตตาบ้าง ฯลฯ
ย่อมเล็งเห็นวิญญาณ โดยความเป็นอัตตาบ้าง
เล็งเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง
เล็งเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง


              ดูกรภิกษุ อย่างนี้แล ชื่อว่าง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน

----------------------------------------------------------------------------------------------
7
(โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๓๑๗-๓๒๒)
(บุคคลไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน อย่างไร)

             [๕๗๗] ดูกรภิกษุ ก็บุคคลย่อมไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร คืออริยสาวกผู้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ได้เห็นพระอริยะ ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ฝึกดีแล้วในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ฝึกดีแล้วใน ธรรมของสัตบุรุษ

ย่อมไม่เล็งเห็นรูปโดยความเป็นอัตตาบ้าง
ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง
ไม่เล็งเห็นรูปในอัตตาบ้าง
ไม่เล็งเห็นอัตตาในรูปบ้าง
ย่อมไม่เล็งเห็นเวทนาโดยความ เป็นอัตตาบ้าง ฯลฯ
ย่อมไม่เล็งเห็นสัญญา โดยความเป็นอัตตาบ้าง ฯลฯ
ย่อมไม่เล็งเห็นสังขาร
โดยความเป็นอัตตาบ้าง ฯลฯ
ย่อมไม่เล็งเห็นวิญญาณ
โดยความเป็นอัตตาบ้าง
ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง
ไม่เล็งเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง
ไม่เล็งเห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง

             ดูกรภิกษุ อย่างนี้แลชื่อว่าไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน

             [๕๗๘] บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯลฯ พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคล ... นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ

             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระโลมสกังคิยะ จึงชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล

จบ โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร ที่ ๔



 





หนังสือพุทธวจน ธรรมะของพระศาสดา
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์