พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๖๒-๑๗๓
๘. สิงคาลกสูตร (๑๓)
[๑๗๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อ แก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ สมัยนั้น สิงคาลกคฤหบดีบุตรลุกขึ้นแต่เช้า ออกจาก กรุงราชคฤห์ มีผ้าชุ่ม มีผมเปียก ประคองอัญชลี นอบน้อมทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้า ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบน
[๑๗๓] ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาค ทรงครองอันตรวาสก แล้วทรงถือ บาตร และจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ ได้ทอดพระเนตรเห็น สิงคาลก คฤหบดีบุตร ซึ่งลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าชุ่ม มีผมเปียก ประคอง อัญชลี นอบน้อมทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบน อยู่ แล้วได้ตรัสถามว่า
ดูกรคฤหบดีบุตร ท่านลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าชุ่ม มีผมเปียก ประคอง อัญชลี นอบน้อมทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบนอยู่ เพราะเหตุอะไรหนอ
สิงคาลกคฤหบดีบุตรทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คุณพ่อของข้าพระพุทธเจ้า เมื่อใกล้ จะตาย ได้สั่งไว้อย่างนี้ว่า ดูกรพ่อ เจ้าพึงนอบน้อมทิศทั้งหลาย ข้าพระพุทธเจ้า สักการะ เคารพ นับถือ บูชาคำของคุณพ่อ จึงลุกขึ้นแต่เช้าออกจาก กรุงราชคฤห์ มีผ้าชุ่ม มีผมเปียก ประคองอัญชลี นอบน้อมทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบนอยู่
ภ. ดูกรคฤหบดีบุตร ในวินัยของพระอริยเจ้า เขาไม่นอบน้อมทิศ ๖ กันอย่างนี้
สิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในวินัยของพระอริยเจ้าท่านนอบน้อมทิศ ๖ กันอย่างไร ขอประทานโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ตามที่ในวินัยของ พระอริยเจ้าท่านนอบน้อมทิศ ๖ กันนั้นเถิด
[๑๗๔] ดูกรคฤหบดีบุตร ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงตั้งใจให้ดี เราจักกล่าว
สิงคาลกคฤหบดีบุตร ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสว่า ดูกรคฤหบดีบุตร อริยสาวกละกรรมกิเลสทั้ง ๔ ได้แล้ว ไม่ทำบาปกรรม โดยฐานะ ๔ และไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ อริยสาวกนั้นเป็นผู้ปราศจากกรรม อันลามก ๑๔ อย่างนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ปกปิดทิศ ๖ ย่อมปฏิบัติเพื่อชำนะโลกทั้งสอง และเป็นอันอริยสาวกนั้นปรารภแล้ว ทั้งโลกนี้และโลกหน้าเบื้องหน้า แต่ตาย เพราะกายแตก อริยสาวกนั้นย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
กรรมกิเลส ๔ เป็นไฉน ที่อริยสาวกละได้แล้ว ดูกรคฤหบดีบุตร กรรมกิเลส คือ ปาณาติบาต ๑ อทินนาทาน ๑ กาเมสุมิจฉาจาร ๑ มุสาวาท ๑ กรรมกิเลส ๔ เหล่านี้ ที่อริยสาวกนั้น ละได้แล้ว
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๑๗๕] ปาณาติบาต อทินนาทาน มุสาวาท และการคบหาภรรยาผู้อื่น เรากล่าวว่า เป็นกรรมกิเลส บัณฑิตไม่สรรเสริญ
[๑๗๖] อริยสาวกไม่กระทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ เป็นไฉน ปุถุชน
ถึง ฉันทาคติ ย่อมทำกรรม อันลามก
ถึง โทสาคติ ย่อมทำกรรม อันลามก
ถึง โมหาคติ ย่อมทำกรรม อันลามก
ถึง ภยาคติ ย่อมทำกรรม อันลามก
ดูกรคฤหบดีบุตร ส่วนอริยสาวกย่อมไม่ถึงฉันทาคติ ย่อมไม่ถึงโทสาคติ ย่อม ไม่ถึงโมหาคติ ย่อมไม่ถึงภยาคติ ท่านย่อมไม่ทำกรรมอันลามกโดยฐานะ ๔ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ ต่อไปอีกว่า
[๑๗๗] ผู้ใดประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชัง ความกลัวความหลง ยศของผู้นั้นย่อมเสื่อม ดังดวงจันทร์ในข้างแรม ผู้ใดไม่ประพฤติล่วงธรรมเพราะ ความรัก ความชัง ความกลัวความหลง ยศย่อมเจริญแก่ผู้นั้น ดุจดวงจันทร์ในข้างขึ้น
[๑๗๘] อริยสาวกย่อมไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ เป็นไฉน ดูกรคฤหบดีบุตร
การประกอบเนืองๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่ง ความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑
การประกอบเนืองๆ ซึ่ง การเที่ยวไป ในตรอกต่างๆในกลางคืน เป็นทางเสื่อมแห่ง โภคะประการ ๑
การเที่ยวดูมหรสพ เป็นทางเสื่อมแห่ง โภคะประการ ๑
การประกอบเนืองๆซึ่งการพนัน อันเป็นที่ตั้งแห่ง ความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะ ประการ ๑
การประกอบเนืองๆ ซึ่ง การคบคนชั่ว เป็นมิตร เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑
การประกอบเนืองๆ ซึ่ง ความเกียจคร้าน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑
|