(1)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๒๖
เห็นความเกิดขึ้น ความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ อนุสัยก็เพิกถอนได้
ข. ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ผมไม่กล่าวรูปว่า เรามี ทั้งไม่กล่าวว่าเรามีนอกจากรูป ไม่กล่าวเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่า เรามี ทั้งไม่กล่าวว่า เรามีนอกจากวิญญาณ แต่ผมเข้าใจว่า เรามีในอุปาทานขันธ์ ๕ และผมไม่พิจารณาเห็นว่า นี้เป็นเรา.
สังโยชน์ส่วนเบื้องต่ำ ๕ พระอริยสาวกละได้แล้วก็จริง แต่ท่านก็ยังถอน มานะ ฉันทะ อนุสัยอย่างละเอียดในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า เรามีไม่ได้.
สมัยต่อมา ท่านพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไป ในอุปาทาน ขันธ์ ๕ ว่า รูปดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปดังนี้ ความดับแห่งรูปดังนี้เวทนา ดังนี้ สัญญา ดังนี้ สังขารดังนี้ วิญญาณดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณ ดังนี้.
เมื่อท่านพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไป ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้อยู่ แม้ท่านยังถอนมานะ ฉันทะ อนุสัยอย่างละเอียด ในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า เรามี ไม่ได้ แต่มานะ ฉันทะ และอนุสัยนั้น ก็ถึงการเพิกถอนได้.
ดูกรอาวุโสทั้งหลาย เปรียบเหมือนผ้าเปื้อนเปรอะด้วยมลทิน เจ้าของ ทั้งหลาย มอบผ้านั้นให้แก่ช่างซักฟอก ช่างซักฟอกขยี้ผ้านั้นในน้ำด่างขี้เถ้า ในน้ำ ด่างเกลือ หรือในโคมัยแล้ว เอาซักในน้ำใสสะอาด ผ้านั้นเป็นของสะอาดขาวผ่อง ก็จริง แต่ผ้านั้นยังไม่หมดกลิ่นน้ำด่างขี้เถ้า กลิ่นน้ำด่างเกลือ หรือกลิ่นโคมัยที่ละเอียด ช่างซักฟอกมอบผ้านั้น ให้แก่เจ้าของทั้งหลาย เจ้าของทั้งหลายเก็บผ้านั้น ใส่ไว้ ใน หีบ อบกลิ่น แม้ผ้านั้นยังไม่หมดกลิ่นน้ำด่างขี้เถ้า กลิ่นน้ำด่างเกลือ หรือกลิ่นโคมัย ที่ละเอียด แม้กลิ่นนั้นก็หายไปฉันใด.
ดูกรอาวุโสทั้งหลาย สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ พระอริยสาวกละได้แล้วก็จริง แต่ท่านก็ยังถอนมานะ ฉันทะ อนุสัยอย่างละเอียดในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า เรามี ไม่ได้ สมัยต่อมา ท่านพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า รูปดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปดังนี้ ความดับแห่งรูปดังนี้ เวทนาดังนี้ สัญญาดังนี้ สังขารดังนี้ วิญญาณดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณดังนี้.
เมื่อท่านพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้อยู่ แม้ท่านยังถอนมานะ ฉันทะ อนุสัยอย่างละเอียด ในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า เรามี ไม่ได้ แต่มานะ ฉันทะ และอนุสัยนั้น ก็ถึงการเพิกถอนได้ฉันนั้น
[๒๓๐] เมื่อท่านพระเขมกะ กล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ได้กล่าว กะท่านพระเขมกะว่า ผมทั้งหลายไม่ได้ถามมุ่งหมายเบียดเบียน ท่านเขมกะเลย แต่ว่า ท่านเขมกะสามารถพอจะบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ตื้น ซึ่งคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคนั้น โดยพิสดาร ตามที่ท่านเขมกะบอกแล้ว แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แต่งตั้งแล้ว เปิดเผยแล้วจำแนกแล้ว ทำให้ตื้นแล้ว โดยพิสดาร
ท่านพระเขมกะได้กล่าวคำนี้แล้ว. ภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ชื่นชมยินดีภาษิต ของท่านพระเขมกะ. ก็เมื่อท่านพระเขมกะ กล่าวคำไวยากรณภาษิตอยู่ จิตของภิกษุ ผู้เถระประมาณ ๖๐ รูป และของท่านพระเขมกะ พ้นแล้วจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น
(2)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๐
อนุสัยสูตรที่ ๒
บุคคลรู้อยู่เห็นอยู่ในจักษุ...โดยความเป็นอนัตตา อนุสัยย่อมถูกเพิกถอน
[๖๒] ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่ อย่างไร อนุสัยจึงจะถึงความเพิกถอน
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลรู้อยู่ เห็นอยู่ซึ่งจักษุ โดยความเป็น อนัตตา อนุสัยจึงจะถึงความเพิกถอน ฯลฯ เมื่อบุคคลรู้อยู่ เห็นอยู่ซึ่งหู จมูกลิ้น กาย ใจ ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย โดยความเป็น อนัตตา อนุสัยจึงจะถึงความ เพิกถอน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล อนุสัยจึงจะถึง ความเพิกถอน
(3)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๕๖
เจริญอินทรีย์ ๕ เพื่อถอนอนุสัย
[๑๐๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ เหล่านี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำ ให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อถอนอนุสัย อินทรีย์ ๕ เป็นไฉน? คือ สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ เหล่านี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำ ให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อถอนอนุสัย
(4)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๔๒
เจริญอานาปานสติสมาธิเพื่อถอนอนุสัย
[๑๔๐๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุ เจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อถอนอนุสัย ฯลฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อถอนอนุสัย.
(5)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๕๒
เจริญมรรค ๘ เจริญสมถะ เจริญวิปัสสนา อนุสัยย่อมสิ้นสุด
[๑๗๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี ณ ที่นั้นแลท่านพระอานนท์ เรียกภิกษุทั้งหลายว่า อาวุโสภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น รับคำท่านพระอานนท์แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย บุคคลผู้ใด ผู้หนึ่งเป็นภิกษุ หรือภิกษุณีก็ตาม ย่อมพยากรณ์การบรรลุอรหัต ในสำนัก ของเราด้วยมรรค ๔ โดยประการทั้งปวง หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดามรรค ๔ ประการนี้
มรรค ๔ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญวิปัสสนา มีสมถะเป็น เบื้องหน้า เมื่อเธอเจริญวิปัสสนา มีสมถะเป็นเบื้องหน้า มรรคย่อมเกิด เธอย่อมเสพ ย่อมเจริญ ย่อมกระทำให้มาก ซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่ง มรรคนั้น ย่อมละ สังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด
อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเจริญสมถะ มีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า เมื่อเธอเจริญ สมถะ มีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า มรรคย่อมเกิด เธอย่อมเสพ ย่อมเจริญย่อมกระทำ ให้มาก ซึ่งมรรคนั้นเมื่อเธอเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด
อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเจริญสมถะ และวิปัสสนาควบคู่กันไป เมื่อเธอ เจริญสมถะ และวิปัสสนาควบคู่กันไป มรรคย่อมเกิด เธอย่อมเสพ เจริญกระทำ ให้มาก ซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ ทั้งหลาย ได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด
อีกประการหนึ่ง ใจของภิกษุ ปราศจากอุทธัจจะในธรรม สมัยนั้น จิตนั้นย่อม ตั้งมั่นสงบ ณ ภายใน เป็นจิตเกิดดวงเดียว ตั้งมั่นอยู่ มรรคย่อมเกิดขึ้นแก่เธอ เธอย่อม เสพ เจริญกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพเจริญ กระทำ ให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด
ดูกรอาวุโส ทั้งหลาย บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม ย่อม พยากรณ์การบรรลุอรหัต ในสำนักของเรา ด้วยมรรค ๔ ประการนี้ โดยประการ ทั้งปวง หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดามรรค ๔ ประการนี้
(6)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖๔
อนุสัยย่อมสิ้นไป เมื่อพิจารณาเห็นว่า ความเจ็บ ความตาย...เป็นเรื่องธรรมดา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกนั้น ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ไม่ใช่เรา แต่ผู้เดียวเท่านั้น ที่มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
โดยที่แท้ สัตว์ทั้งปวงบรรดาที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ล้วนม ีความแก่ เป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ เมื่ออริยสาวกนั้นพิจารณาฐานะนั้น อยู่เนืองๆ มรรคย่อมเกิดขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมเสพ อบรม ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเสพ อบรม ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป อริยสาวกนั้น ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ไม่ใช่เราแต่ผู้เดียวเท่านั้น ที่มีความเจ็บไข้ เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้
โดยที่แท้ สัตว์ทั้งปวงบรรดา ที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ล้วนมี ความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ เมื่ออริยสาวกนั้น พิจารณา ฐานะนั้นอยู่เนืองๆ มรรคย่อมเกิดขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมเสพ อบรม ทำให้มากซึ่ง มรรคนั้น เมื่อเสพ อบรม ทำให้มากซึ่งมรรค นั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อม สิ้นไป อริยสาวกนั้นย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ไม่ใช่เราแต่ผู้เดียวเท่านั้น ที่มีความตาย เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
โดยที่แท้ สัตว์ทั้งปวงบรรดาที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ล้วนมี ความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ เมื่ออริยสาวกนั้น พิจารณาฐานะนั้น อยู่เนืองๆ มรรคย่อมเกิดขึ้น อริยสาวกนั้น ย่อมเสพ อบรม ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเสพ อบรมทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป อริยสาวกนั้น ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ไม่ใช่เราแต่ผู้เดียวเท่านั้น ที่จะต้องพลัดพราก จากของรัก ของชอบใจทั้งสิ้น
โดยที่แท้ สัตว์ทั้งปวงบรรดาที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ล้วนจะต้อง พลัดพรากจากของรัก ของชอบใจทั้งสิ้น เมื่ออริยสาวกนั้นพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ มรรคย่อมเกิดขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมเสพ อบรม ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเสพ อบรม ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป อริยสาวกนั้นย่อม พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ไม่ใช่เราแต่ผู้เดียวเท่านั้น ที่มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่ง กรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใดดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
โดยที่แท้สัตว์ทั้งปวงบรรดาที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ล้วนมีกรรม เป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็น ที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น เมื่ออริยสาวกนั้น พิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ มรรคย่อมเกิดขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมเสพ อบรม ทำให้มาก ซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป
สัตว์ทั้งหลาย ย่อมมีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา สัตว์ทั้งหลาย ย่อมเป็นไปตามธรรมดา พวกปุถุชนย่อมเกลียด ถ้าเราพึงเกลียดธรรมนั้น ในพวกสัตว์ผู้มีอย่างนั้น เป็นธรรมดาข้อนั้น ไม่สมควรแก่เรา ผู้เป็นอยู่อย่างนี้ เรานั้นเป็นอยู่อย่างนี้ ทราบธรรมที่หาอุปธิมิได้ เห็นการออกบวช โดยเป็นธรรม เกษมครอบงำความมัวเมาทั้งปวง ในความไม่มีโรค ในความเป็น หนุ่มสาว และในชีวิต ความอุตสาหะได้มีแล้ว แก่เราผู้เห็นเฉพาะซึ่งนิพพาน บัดนี้ เราไม่ควรเพื่อเสพกามทั้งหลาย จักเป็นผู้ประพฤติไม่ถอยหลัง ตั้งหน้าประพฤติพรหมจรรย์
(7)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๘๘ ข้อที่ ๓๔๑-๓๔๒
อนุสยสูตร
อนุสัย ๗ หรือ สังโยชน์ ๗
[๓๔๑] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุสัย ๗ อย่างนี้ ๗ อย่างเป็นไฉน ? ได้แก่
๑.อนุสัยคือกามราคะ
ความเคยชินที่นอนเนื่องในสันดาน คือความกำหนัด ความพอใจในกามคุณทั้ง5 ตา หู จมูก ลิ้น กาย
๒.อนุสัยคือปฏิฆะ
ความเคยชินที่นอนเนื่องในสันดาน คือความกระทบกระทั่งแห่งจิต ความหงุดหงิด ความไม่พอใจ คือโทสะ
๓.อนุสัยคือทิฏฐิ
ความเคยชินที่นอนเนื่องในสันดาน คือความเห็นที่เป็นสัมมาทิฏฐิ เห็นอย่างถูกต้อง ตามหลักธรรม และมิจฉาทิฏฐิ คือเห็นผิดไปจากหลักธรรม
๔.อนุสัยคือวิจิกิจฉา
ความเคยชินที่นอนเนื่องในสันดาน คือความสงสัย ในมรรคของพระศาสดา ว่าจะเป็น หนทางหลุดพ้นได้หรือไม่
๕.อนุสัยคือมานะ
ความเคยชินที่นอนเนื่องในสันดาน คือความถือตัว เย่อหยิ่ง คิดว่าเราดีกว่าเขา เขาดีกว่าเรา สิ่งนี้เลิศกว่าสิ่งนั้น สิ่งนั้นเลิศกว่าสิ่งนี้
๖.อนุสัยคือภวราคะ
ความเคยชินที่นอนเนื่องในสันดาน คือความกำหนัดในภพ เช่นพอใจที่จะเกิดเป็น เทวดา รวมทั้งการพอใจในความเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ในปัจจุบันนี้ด้วย
๗.อนุสัยคืออวิชชา
ความเคยชินที่นอนเนื่องในสันดาน คือความไม่รู้ ในทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุสัย ๗ อย่างนี้แล.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละอนุสัย ๗ อย่างนี้แล ฯลฯ
(8)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๐
อนุสยสูตรที่ ๒
ภิกษุละอนุสัย ๗ เสียได้ เรากล่าวว่าเป็นผู้ตัดตัณหาได้แล้ว
[๑๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อละ เพื่อตัด อนุสัย ๗ ประการ ๗ ประการเป็นไฉน คือ อนุสัย คือ กามราคะ ๑ อนุสัย คือ ปฏิฆะ ๑ อนุสัยคือ ทิฏฐิ ๑ อนุสัย คือ วิจิกิจฉา ๑ อนุสัยคือ มานะ ๑ อนุสัย คือ ภวราคะ ๑ อนุสัย คืออวิชชา ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อละ เพื่อตัดอนุสัย ๗ ประการนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล
ภิกษุละอนุสัย คือกามราคะเสียได้ ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาล ยอดด้วน ไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไป เป็นธรรมดา
ละอนุสัย คือ ปฏิฆะ ... อนุสัย คือ ทิฏฐิ ... อนุสัย คือ วิจิกิจฉา ...อนุสัย คือ มานะ ... อนุสัย คือ ภวราคะ ... อนุสัย คืออวิชชาเสียได้ ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็น เหมือนตาล ยอดด้วน ไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา เมื่อนั้น ภิกษุนี้ เรากล่าวว่า ตัด ตัณหาได้แล้ว เพิกถอนสังโยชน์ได้แล้ว กระทำที่สุดทุกข์ได้แล้ว เพราะตรัสรู้คือละ มานะ เสียได้ โดยชอบ
(9)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๕๕
ผู้ไม่มีอนุสัย ย่อมละฝั่งใน-ฝั่งนอก เสียได้
ภิกษุใดไม่มีอนุสัยอะไรๆ ถอนอกุศลมูลได้แล้ว ภิกษุนั้นชื่อว่าย่อมละฝั่งใน และฝั่งนอก* เสียได้ เหมือนงูละคราบเก่าที่คร่ำคร่าแล้ว ฉะนั้น
* ฝั่งในคืออายตนะภายใน ๖ ฝั่งนอกคืออายตนะภายนอก ๖
(10)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๐๓
ภิกษูถอนอกุศลมูลได้แล้ว ย่อมไม่มีอนุสัย
ภิกษุใดไม่มีอนุสัย ถอนอกุศลมูลอะไรๆ ขึ้นได้แล้ว ภิกษุนั้นไม่มีความหวัง ไม่มีตัณหา พึงเว้นรอบโดยชอบในโลก ภิกษุผู้สิ้นอาสวะ ละมานะได้แล้ว ก้าวล่วง ธรรมชาติ อันเป็นทางแห่งราคะได้หมด ฝึกฝนตน ดับกิเลสได้แล้ว มีจิตตั้งมั่น พึงเว้นรอบ โดยชอบในโลก ภิกษุผู้มีศรัทธาได้สดับแล้ว เห็นมรรค ไม่แล่นไปด้วย อำนาจทิฐิในสัตว์ทั้งหลาย ผู้ไปแล้วด้วยทิฐิ
ภิกษุนั้นเป็นนักปราชญ์ กำจัดเสียซึ่งโลภะ โทสะ และปฏิฆะ พึงเว้นรอบ โดยชอบในโลกภิกษุนั้น ชนะกิเลสด้วยอรหัตมรรค อันหมดจดดี มีกิเลสดุจหลังคา เปิดแล้ว มีความชำนาญในธรรมทั้งหลาย ถึงนิพพาน ไม่มีความหวั่นไหวฉลาด ในญาณ อันเป็นที่ดับสังขาร พึงเว้นรอบโดยชอบในโลก
ภิกษุล่วงความกำหนดว่า เราว่าของเรา ในปัญจขันธ์ ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็น อนาคต มีปัญญาบริสุทธิ์ก้าวล่วงทั้ง ๓ กาล หลุดพ้นแล้วจากอายตนะ ทั้งปวง พึงเว้นรอบ โดยชอบในโลก ภิกษุผู้รู้บท แห่งสัจจะทั้งหลาย ตรัสรู้ธรรม เห็นการละ อาสวะทั้งหลายเป็นวิวฏะ (นิพพาน) ไม่ข้องอยู่ในภพไหนๆ เพราะความหมดสิ้นไป แห่งอุปธิทั้งปวง พึงเว้นรอบโดยชอบ ในโลก
|