เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 (ชุด3/5) รวมเรื่องมารผู้มีบาป ทั้งมารที่เป็นสัตว์ และมารที่ทรงอุปมา 1293
 

(โดยย่อ)

23) มารดลใจชาวบ้านไม่ไห้ใส่บาตรพระผู้มีพระภาค
24) มารแปลงร่างเป็นชาวนาแบกคันไถ เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
25) มาร ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงเสวยรัชสมบัติ เถิด
26) มารแปลงร่างเป็นพราหมณ์ เข้าพบภิกษุวัยหนุ่ม โน้มน้าวภิกษุเหล่านั้นให้บริโภคกาม
27) มารทราบวาระจิตของพระ สมิทธิ ว่า กำลังวิตก จึงแกล้งทำเสียงดัง
28) มารเข้าเฝ้าฯ แจ้งว่ามีภิกษุชื่อโคธิกะ เตรียมฆ่าตัวตาย
29) มารถามพระผู้มีพระภาคว่า ท่านถูกความโศกทับถมหรือ จึงได้มาอยู่ในป่า
30) มารแกล้งถาม อาฬวิกาภิกษุณี ว่าในโลกนี้ ไม่มีทางออกไปจากทุกข์ได้

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
รวมเรื่อง มาร ชุด3/5


23)
มารดลใจชาวบ้านไม่ไห้ใส่บาตร พระผู้มีพระภาค
(ปิณฑิกสูตรที่ ๘)

        [๔๖๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บ้านพราหมณ์ใน  ปัญจสาลคามแคว้นมคธ

        ก็สมัยนั้นแล ที่บ้านพราหมณ์ ในปัญจสาลคาม มีนักขัตฤกษ์ แจกของแก่พวก เด็กๆ ครั้นรุ่งเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปสู่ บ้านพราหมณ์ ในปัญจสาลคามเพื่อบิณฑบาต  

ก็โดยสมัยนั้นแล พราหมณ์ผู้คฤหบดี ชาวปัญจสาลคาม ถูก มารผู้มีบาป เข้าดลใจด้วยประสงค์ว่า พระสมณโคดม อย่าได้บิณฑบาตเลย

        พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าสู่บ้านพราหมณ์ในปัญจสาลคามเพื่อบิณฑบาต ด้วยบาตรเปล่าอย่างใด ก็เสด็จกลับมาด้วยบาตรเปล่าอย่างนั้น

        [๔๖๘] ลำดับนั้น มารผู้มีบาป เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ 
ครั้นแล้ว จึงกล่าวกะพระผู้มีพระภาคว่าสมณะ ท่านได้บิณฑบาตบ้างไหม

        พระผู้มีพระภาคตรัสว่า แน่ะ มารผู้มีบาป ท่านได้กระทำให้เราไม่ได้ บิณฑบาต มิใช่หรือ

        มารผู้มีบาป กราบทูลว่า ถ้าอย่างนั้น ขอพระผู้มีพระภาคจง เสด็จเข้าไป สู่บ้าน พราหมณ์ในปัญจสาลคาม เพื่อบิณฑบาตครั้งที่สองอีกเถิด พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ จักกระทำให้พระผู้มีพระภาคได้บิณฑบาต

        [๔๖๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่ามาร มาขัดขวางตถาคต ได้ประสพสิ่งมิใช่บุญ แล้ว ดูกรมารผู้มีบาปท่านเข้าใจว่า บาปย่อมไม่ให้ผลแก่เรา ฉะนั้นหรือพวกเราไม่มี ความกังวล ย่อมอยู่เป็นสุขสบายหนอ พวกเราจักมีปีติเป็นภักษา ดุจอาภัสสรเทพ ฉะนั้น

        ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจ ว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคต ทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง



24)

มารแปลงร่างเป็นชาวนาแบกคันไถ เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
(กัสสกสูตรที่ ๙)

        [๔๗๐] สาวัตถีนิทาน ฯ
ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาเกี่ยวด้วยพระนิพพาน และภิกษุเหล่านั้น ทำในใจให้สำเร็จประโยชน์น้อมนึกมาด้วยความเต็มใจ เงี่ยโสตลงสดับธรรมอยู่

    ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาป ได้มีความคิดว่า พระสมณโคดมนี้แล ทรงยัง ภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาเกี่ยวด้วย พระนิพพาน ถ้ากระไรเราพึงเข้าไปใกล้พระสมณโคดม ถึงที่ประทับ เพื่อการกำบัง ตาเถิด

        [๔๗๑] ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาป จึงนิรมิตเพศ เป็นชาวนาแบกไถใหญ่ ถือปะฏัก มีด้ามยาวมีผมยาวรุงรัง ปกหน้าปกหลัง นุ่งผ้าเนื้อหยาบ มีเท้าทั้งสอง เปื้อนโคลน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่สมณะ ท่านได้ เห็นโคทั้งหลายบ้างไหม

    พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า แน่ะ มารผู้มีบาป ท่านจะต้องการอะไรด้วย  โคทั้งหลาย เล่า

    มาร กราบทูลว่า

ข้าแต่พระสมณะ (๑) จักษุเป็นของเราแท้ รูปก็เป็นของเรา อายตนะ คือ วิญญาณอันเกิดแก่จักษุสัมผัสก็เป็นของเรา ท่านจะหนีเรา ไปไหนพ้น 

ข้าแต่สมณะ (๒) โสตเป็นของเราเสียงเป็นของเรา อายตนะคือวิญญาณอันเกิดแต่ โสตสัมผัส ก็เป็นของเรา ท่านจะหนีเราไปไหนพ้น

ข้าแต่สมณะ(๓) จมูกเป็นของเรา  กลิ่นเป็นของเรา อายตนะคือวิญญาณ อันเกิด แต่ฆาน สัมผัส ก็เป็นของเรา ท่านจะ หนีเราไปไหนพ้น

ข้าแต่สมณะ(๔) ลิ้นเป็นของเรา รสเป็นของเรา อายตนะคือ วิญญาณอันเกิดแต่ ชิวหา สัมผัสก็เป็นของเรา ท่านจะหนีเราไปไหนพ้น

ข้าแต่สมณะ (๕) กายเป็นของเราโผฏฐัพพะ เป็นของเรา อายตนะคือวิญญาณอันเกิด แต่กาย สัมผัสก็เป็นของเรา ท่านจะหนีเราไป ไหนพ้น

ข้าแต่สมณะ (๖) ใจเป็นของเรา ธรรมารมณ์เป็นของเรา อายตนะคือวิญญาณ อันเกิด แต่มโนสัมผัสก็เป็นของเรา ท่านจะหนีเราไปไหนพ้น

        [๔๗๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมารผู้มีบาป
(๑) จักษุเป็นของท่าน รูปเป็นของ ท่าน อายตนะ คือวิญญาณ อันเกิดแต่จักษุสัมผัส ก็เป็นของท่านแท้ ดูกรมารผู้มีบาป แต่ในที่ใด ไม่มีจักษุ ไม่มีรูป ไม่มีอายตนะ คือวิญญาณ อันเกิดแต่ จักษุสัมผัส ที่นั้นมิใช่ทางดำเนินของท่าน

(๒) โสตเป็นของท่าน เสียงเป็นของ ท่าน อายตนะคือวิญญาณ อันเกิดแต่โสตสัมผัส ก็เป็นของท่าน แต่ในที่ใด ไม่มีโสต ไม่มีเสียง ไม่มีอายตนะคือวิญญาณ อันเกิดแต่ โสตสัมผัส ที่นั้นมิใช่ทางดำเนิน ของ ท่าน จมูกเป็นของท่าน

(๓) กลิ่นเป็นของท่าน อายตนะคือวิญญาณอันเกิดแต่ ฆานสัมผัสเป็นของท่าน ฯลฯ ลิ้นเป็นของท่าน

(๔) รสเป็นของท่าน อายตนะคือวิญญาณ อันเกิดแต่ชิวหาสัมผัส เป็นของท่าน ฯลฯ

(๕) กายเป็นของท่าน โผฏฐัพพะเป็นของท่าน อายตนะคือวิญญาณ อันเกิดแต่กาย สัมผัส เป็นของท่าน ฯลฯ

(๖) ใจเป็นของท่าน ธรรมารมณ์ทั้งหลาย เป็นของท่าน อายตนะคือวิญญาณ อันเกิด แต่มโนสัมผัสก็เป็น ของท่าน แต่ในที่ใด ไม่มีใจ ไม่มีธรรมารมณ์ ไม่มีอายตนะคือ วิญญาณ อันเกิดแต่ มโนสัมผัส ที่นั้นมิใช่ทางดำเนินของท่าน ฯ

        [๔๗๓] มารกราบทูลว่าชนเหล่าใดกล่าวถึงสิ่งใดว่านี้ของเรา และกล่าวว่า นี้เป็นเรา ถ้าใจของท่านมีอยู่ในสิ่งนั้น ข้าแต่สมณะ ท่านก็จะไม่พ้นเราไปได้

        [๔๗๔] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชนเหล่าใดกล่าวถึงสิ่งใด สิ่งนั้น ไม่มีแก่เรา ชนเหล่าใดกล่าว ชนเหล่านั้นไม่ใช่เรา

ดูกรมารผู้มีบาป ท่านจงรู้อย่างนี้ ท่านย่อมไม่เห็น แม้ทางของเรา

    ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจ ว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคต
ทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง



25)
มาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงเสวยรัชสมบัติ เถิด
(รัชชสูตรที่ ๑๐)

 

        [๔๗๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กระท่อมอันตั้งอยู่ในป่า ในประเทศหิมวันต์ แคว้นโกศล ฯ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับ ทรงพักผ่อน อยู่ในที่ลับได้ทรงปริวิตกว่า เราจะสามารถเสวยรัชสมบัติโดยธรรม โดยที่ไม่เบียด เบียนเอง ไม่ใช่ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ไม่ทำผู้อื่นให้เสื่อมเอง ไม่ใช้ให้เขาทำผู้อื่น ให้เสื่อม ไม่เศร้าโศกเอง ไม่ทำให้ผู้อื่นเศร้าโศกได้หรือไม่ ฯ

        [๔๗๖] ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาป ทราบความปริวิตกแห่งพระหฤทัย ของ พระผู้มีพระภาคด้วยจิตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว จึงกราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงเสวยรัชสมบัติ เถิด พระเจ้าข้า ขอพระสุคต จงเสวยรัชสมบัติโดยธรรม โดยที่ไม่เบียดเบียนเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่น เบียดเบียน ไม่ทำให้ผู้อื่นเสื่อมเอง ไม่ใช้ให้เขาทำคนอื่นให้เสื่อม ไม่เศร้าโศกเอง ไม่ทำให้ผู้อื่นเศร้าโศก ฯ

        พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมารผู้มีบาป ท่านเห็นอะไรของเรา ทำไมจึง ได้พูด กะเราอย่างนี้ว่า ขอพระผู้มีพระภาคจงเสวยรัชสมบัติเถิด พระเจ้าข้า ขอพระสุคต จงเสวยรัชสมบัติโดยธรรม โดยที่ไม่เบียดเบียนเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่น เบียดเบียน ไม่ทำให้ผู้อื่นเสื่อมเอง ไม่ใช้ให้เขาทำผู้อื่นให้เสื่อม ไม่เศร้าโศกเอง ไม่ทำให้ผู้อื่น เศร้าโศก ฯ

        มารกราบทูลว่า พระเจ้าข้า อิทธิบาททั้ง ๔ พระองค์ทรงบำเพ็ญให้เจริญ กระทำ ให้มากกระทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นวัตถุที่ตั้ง กระทำไม่หยุดสั่งสม ปรารภด้วยดี แล้ว พระเจ้าข้าก็เมื่อพระองค์ทรงพระประสงค์ ทรงอธิษฐานภูเขา หลวงชื่อหิมพานต์ ให้เป็นทองคำล้วน ภูเขานั้นก็พึงเป็นทองคำล้วน ฯ

        [๔๗๗] พระผู้มีพระภาคตรัสกะ มาร ด้วยพระคาถา ว่าภูเขาทองคำล้วนมี สีสุก ถึงสองเท่าก็ยังไม่พอแก่บุคคลคนหนึ่ง บุคคลทราบดังนี้แล้ว พึงประพฤติสงบ ผู้ใดได้เห็นทุกข์มีกามเป็นเหตุแล้ว ไฉนผู้นั้นจะพึงน้อมใจไปในกามเล่า บุคคลทราบ อุปธิว่า เป็นเครื่องข้องในโลกแล้ว พึงศึกษาเพื่อกำจัดอุปธินั้นเสีย ฯ

        ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจ ว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคต ทรงรู้จักเราดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง



26)
มารแปลงร่างเป็นพราหมณ์ เข้าพบภิกษุวัยหนุ่ม โน้มน้าว ภิกษุเหล่านั้นให้บริโภคกาม
(สัมพหุลสูตรที่๑ )


        [๔๗๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่นครศิลาวดี ในแคว้นสักกะ ฯ

    ก็สมัยนั้นแล ภิกษุมากด้วยกัน เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตน อันส่งไปแล้ว อยู่ ในที่ใกล้พระผู้มีพระภาค ฯ

        [๔๗๙] ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาป นิรมิตเพศเป็นพราหมณ์ มุ่นชฎาใหญ่ นุ่ง หนังเสือ เป็นคนแก่หลังโกง หายใจเสียงดังครืดคราด ถือไม้เท้าทำด้วยไม้มะเดื่อ เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น ถึงที่อยู่ ครั้นแล้วจึงกล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า ท่านบรรพชิต ผู้เจริญทั้งหลาย ล้วนแต่เป็นคนหนุ่ม กระชุ่มกระชวยมีผมดำ ประกอบด้วยความหนุ่ม แน่น ยังไม่เบื่อในกามารมณ์ทั้งหลาย ด้วยปฐมวัย ขอท่านจงบริโภคกามอันเป็น  ของมนุษย์ อย่าละผลอันเห็นเอง วิ่งไปสู่ผลชั่วคราวเลย ฯ

        ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า ดูกรพราหมณ์ พวกเราย่อมไม่ละผลอันเห็นเอง วิ่งไปสู่ ผลชั่วคราว แต่เราทั้งหลายละผลชั่วคราว วิ่งไปสู่ผลอันเห็นเอง ดูกรพราหมณ์ เพราะว่า กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นของชั่วคราว มีทุกข์มาก มีความ คับแค้นมาก โทษในกามทั้งหลายมีโดยยิ่งธรรมนี้ มีผลอันเห็นเอง ให้ผลไม่จำกัด
กาล เป็นของควรเรียกกันมาดู ควรน้อมมาไว้ในตน อันวิญญูชน ทั้งหลายพึงรู้ได้ เฉพาะตน

        เมื่อภิกษุเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว มารผู้มีบาป จึงสั่นศีรษะ แลบลิ้น ทำหน้า ขมวด เป็นสามรอย จดจ้องไม้เท้าหลีกไป

        [๔๘๐] ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวาย
อภิวาท ระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ภิกษุเหล่านั้นครั้นนั่งแล้ว จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาท บำเพ็ญ ความเพียร มีตนอัน ส่งไปแล้ว อยู่ในที่ใกล้พระองค์ ณ ที่นี้ พระเจ้าข้า มีพราหมณ์คนหนึ่ง มุ่นชฎาใหญ่ นุ่งหนังเสือ เป็นคนแก่ หลังโกง หายใจเสียงดัง ครืดคราด ถือไม้เท้า ทำด้วยไม้มะเดื่อ เข้าไปหาข้าพระองค์ยังที่อยู่

        ครั้นแล้วได้กล่าวกะข้าพระองค์ว่า ท่านบรรพชิตผู้เจริญทั้งหลาย ล้วนแต่เป็น คนหนุ่ม กระชุ่มกระชวย มีผมดำ ประกอบด้วยความหนุ่มแน่น ยังไม่เบื่อใน กามารมณ์ ทั้งหลาย ด้วยปฐมวัย ขอท่านจงบริโภคกามอันเป็นของมนุษย์ อย่าละผล อันเห็นเอง วิ่งไปสู่ผล ชั่วคราวเลยพระเจ้าข้า เมื่อพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว พวกข้าพระองค์ ได้กล่าว กะ พราหมณ์นั้นว่า ดูกรพราหมณ์พวกเราย่อม ไม่ละผล 
อันเห็นเอง วิ่งไปสู่ผล ชั่วคราว แต่พวกเราละผลชั่วคราว วิ่งไปสู่ผลอันเห็นเอง

        ดูกรพราหมณ์ เพราะกามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นของชั่วคราว มี ทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามทั้งหลายนั้นมีโดยยิ่ง ธรรมนี้มีผลอันเห็น เอง ให้ผลไม่จำกัดกาล เป็นของควรเรียกมาดู ควรน้อมไว้ในตน อันวิญญูชน ทั้งหลาย พึงรู้เฉพาะตน พระเจ้าข้า เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้ แล้ว พราหมณ์นั้น สั่นศีรษะ แลบลิ้น ทำหน้าขมวดเป็นสามรอย จดจ้องไม้เท้าหลีกไป

        [๔๘๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นั้นมิใช่พราหมณ์ นั้นเป็นมารผู้มีบาป มาเพื่อกำบังตาเธอทั้งหลาย

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงภาษิตพระคาถา นี้ ในเวลา นั้น ว่า ผู้ใดได้เห็นทุกข์มีกามเป็นเหตุแล้ว ไฉนผู้นั้นจะพึงน้อมใจ ไปในกาม เล่า บุคคลผู้ทราบ อุปธิว่า เป็นเครื่องข้องอยู่ในโลกแล้ว พึงศึกษาเพื่อกำจัด อุปธิ นั้นเสีย
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๑๔๖



27)
มารทราบวาระจิตของพระ สมิทธิ ว่า กำลังวิตก จึงแกล้งทำเสียงดัง
(สมิทธิสูตรที่ ๒)

        [๔๘๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กรุงศิลาวดี ในแคว้นสักกะ

         ก็สมัยนั้นแล ท่านสมิทธิเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนอัน ส่งไปแล้ว อยู่ในที่ใกล้พระผู้มีพระภาค

    ครั้งนั้นแล ท่านสมิทธิผู้พักผ่อนอยู่ในที่ลับ มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้น อย่างนี้ ว่า เป็นลาภของเราดีแท้ ที่เราได้พระอรหันต์ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นพระศาสดา ของเรา เป็นลาภของเรา ดีแท้ที่เราได้บวชในพระธรรมวินัย อัน พระศาสดาตรัส ดีแล้ว อย่างนี้ เป็นลาภของเราดีแท้ที่เราได้ เพื่อนพรหมจรรย์อันมี ศีลมีกัลยาณธรรม

        [๔๘๓] ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาป ทราบความปริวิตกแห่งจิตของ ท่านสมิทธิ ด้วยจิต แล้วเข้าไปหาท่านสมิทธิถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว จึงทำเสียงดังน่ากลัวน่า หวาดเสียว ประดุจแผ่นดินจะถล่ม ณ ที่ใกล้ท่านสมิทธิ

        [๔๘๔] ลำดับนั้น ท่านสมิทธิเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายอภิวาท พระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ท่านสมิทธิครั้นนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่งแล้วแล จึงได้กราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนอันส่งไปแล้ว อยู่ในที่ใกล้พระองค์ ณ ที่นี้ พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ อยู่ในที่ลับเร้น มีความปริวิตกแห่งจิต เกิดขึ้นอย่างนี้ว่า เป็นลาภของ เราดีแท้ที่เรา ได้พระอรหันต์ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นพระศาสดาของเราเป็นลาภของเราดีแท้ ที่เราได้บวชในพระธรรมวินัย อันพระศาสดา ตรัสดีแล้วอย่างนี้ เป็นลาภของเราดีแท้ ที่เราได้เพื่อนพรหมจรรย์ อันมีศีล มีกัลยาณธรรม พระเจ้าข้า ขณะนั้น ก็ได้มีเสียงดัง น่ากลัว น่าหวาดเสียวประดุจแผ่นดิน จะถล่มเกิดขึ้นใน ที่ใกล้ข้าพระองค์

        [๔๘๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สมิทธิ นั้นไม่ใช่แผ่นดินจะถล่ม นั้น เป็น มารผู้มีบาป มาเพื่อกำบังตาเธอ เธอจงไปเถิด สมิทธิ จงเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตน อันส่งไปแล้ว อยู่ในที่นั้นตามเดิมเถิด

        ท่านสมิทธิรับพระดำรัสแล้วลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ แล้วหลีกไป

        [๔๘๖] แม้ครั้งที่สอง ท่านสมิทธิเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตน อันส่งไปแล้ว อยู่ในที่นั้นนั่นเอง แม้ในครั้งที่สอง ท่านสมิทธิไปในที่ลับเร้นอยู่ มีความปริวิตกเกิดขึ้น อย่างนี้ฯลฯ แม้ในครั้งที่สอง มารผู้มีบาป ทราบความปริวิตก แห่งจิต ของท่านสมิทธิด้วย จิตแล้ว ฯลฯ จึงทำเสียงดังน่ากลัว น่าหวาดเสียว  ประดุจแผ่นดินจะถล่ม ณ ที่ใกล้ ท่านสมิทธิ

        [๔๘๗] ลำดับนั้น ท่านสมิทธิทราบว่า ผู้นี้เป็นมารผู้มีบาป จึงกล่าวกะมาร ผู้มีบาป ด้วยคาถาว่าเราหลีกออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีเรือนด้วยศรัทธา สติและ ปัญญาของเรา เรารู้แล้ว อนึ่ง จิตของเราตั้งมั่นดีแล้ว ท่านจักบันดาลรูปต่างๆ อันน่ากลัวอย่างไร ก็จักไม่ยังเราให้หวาดกลัวได้เลยโดยแท้     

ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า ภิกษุสมิทธิรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไป ในที่นั้น นั่นเอง



28)
มารเข้าเฝ้าฯ แจ้งว่ามีภิกษุชื่อโคธิกะ เตรียมฆ่าตัวตาย (โคธิกสูตรที่ ๓)

        [๔๘๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นสถานที่พระราชทาน เหยื่อแก่กระแต เขตกรุงราชคฤห์

        ก็สมัยนั้นแล ท่านโคธิกะ อยู่ที่กาลศิลา ข้างภูเขา อิสิคิลิ

        [๔๘๙] ครั้งนั้นแล ท่านโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีจิตมั่นคงอยู่ ได้บรรลุเจโตวิมุติ อันเป็นโลกีย์ ภายหลังท่านโคธิกะได้เสื่อมจาก เจโตวิมุติ อันเป็นโลกีย์นั้น

แม้ครั้งที่ ๒ ท่านโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีจิตมั่นคงอยู่ ได้บรรลุ เจโตวิมุติ อันเป็นโลกีย์แม้ในครั้งที่ ๒ ก็ได้เสื่อมจาก เจโตวิมุติอันเป็นโลกีย์นั้น

แม้ครั้งที่ ๓ ท่านโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีจิตมั่นคงอยู่ ได้บรรลุ เจโตวิมุติ อันเป็นโลกีย์ แม้ในครั้งที่ ๓ ก็ได้เสื่อม จากเจโตวิมุติอันเป็นโลกีย์นั้น

แม้ครั้งที่ ๔ ท่านโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีจิตมั่นคงอยู่ ได้บรรลุ
เจโตวิมุติอันเป็นโลกีย์ แม้ในครั้งที่ ๔ ก็ได้เสื่อม จากเจโตวิมุติอันเป็นโลกีย์นั้น

แม้ครั้งที่ ๕ ท่านโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีจิตมั่นคงอยู่ ได้บรรลุ เจโตวิมุติอันเป็นโลกีย์ แม้ในครั้งที่ ๕ ก็ได้เสื่อม จากเจโตวิมุติอันเป็นโลกีย์นั้น

แม้ครั้งที่ ๖ ท่านโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีจิตมั่นคงอยู่ ได้บรรลุ
เจโตวิมุติอันเป็นโลกีย์ แม้ในครั้งที่ ๖ ก็ได้เสื่อม จากเจโตวิมุติอันเป็นโลกีย์นั้น

แม้ครั้งที่ ๗ ท่านโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรมีจิตมั่นคงอยู่ ก็ได้บรรลุ เจโตวิมุติ อันเป็นโลกีย์อีก

    ครั้งนั้นแล ท่านโคธิกะได้เกิดความคิดอย่างนี้ว่า เราได้เสื่อมจากเจโตวิมุติ อันเป็นโลกีย์ถึง ๖ ครั้งแล้ว ถ้ากระไรเราพึงนำศัสตรามา

        [๔๙๐] ลำดับนั้นแล มารผู้มีบาป ทราบความปริวิตกแห่งจิตของท่าน โคธิกะ ด้วยจิต แล้วจึงเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ

        ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้มีจักษุ มีเพียรใหญ่ มีปัญญามาก รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์และยศ ก้าวล่วงเวรและภัยทั้งปวง ข้าพระองค์ ขอถวายบังคม พระบาททั้งคู่ข้าแต่พระองค์ ผู้มีเพียรใหญ่ สาวกของ พระองค์ อันมรณะ ครอบงำแล้ว ย่อมคิดจำนงหวังความตาย ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงไว้ ซึ่งความรุ่งเรือง ขอพระองค์ จงห้ามสาวก ของพระองค์นั้นเสียเถิด

        ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ปรากฏในหมู่ชน สาวกของพระองค์ยินดีในพระศาสนา ยังไม่ได้บรรลุ พระอรหันต์ อันตัดเสียซึ่งมานะ ยังเป็นพระเสขะอยู่ ไฉนจะพึงกระทำ กาลเสียเล่าฯ ก็เวลานั้น ท่านโคธิกะได้นำศัสตรามาแล้ว

        [๔๙๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ผู้นี้เป็นมารผู้มีบาป จึงได้ตรัส กะ มารผู้มีบาป ด้วยพระคาถาว่าปราชญ์ทั้งหลาย ย่อมทำอย่างนี้แล ย่อมไม่ห่วงใย ชีวิต โคธิกะภิกษุ ถอนตัณหาพร้อมด้วยราก นิพพานแล้ว

        [๔๙๒] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย มาแล้วตรัส ว่า ภิกษุทั้งหลาย เรามาไปสู่กาลศิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ อันเป็นที่โคธิกกุลบุตรนำศัสตรา มาแล้ว

    ภิกษุเหล่านั้น กราบทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว

        ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยภิกษุหลายรูป ได้เข้าไปยังกาลศิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ

    พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็น โคธิกะ มีคออันพลิกแล้ว นอนอยู่บนเตียง ที่ไกลเทียว ก็เวลานั้นแล ควันหรือหมอกพลุ่งไปสู่ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และอนุทิศ

        [๔๙๓] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นไหม ควันหรือหมอกนั้น พลุ่งไปสู่ทิศตะวันออก ทิศ ตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และอนุทิศ เมื่อภิกษุเหล่านั้น กราบทูลรับพระดำรัสแล้วจึงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นั่น มารผู้มีบาป เที่ยว แสวงหาวิญญาณ ของโคธิกกุลบุตร ด้วยคิดว่า วิญญาณของโคธิกกุลบุตร ตั้งอยู่ ณ ที่ไหน ดูกรภิกษุทั้งหลาย โคธิกกุลบุตร มีวิญญาณอันไม่ตั้งอยู่แล้ว ปรินิพพานแล้ว

        [๔๙๔] ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาป ถือพิณมีสีเหลืองเหมือนมะตูมสุก เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค ด้วยคาถาว่า ข้าพระองค์ได้ ค้นหาวิญญาณของโคธิกกุลบุตร ทั้งในทิศเบื้องบน ทั้งทิศเบื้องต่ำ ทั้งทางขวาง ทั้งทิศใหญ่ ทิศน้อยทั่วแล้ว มิได้ประสบโคธิกะนั้นไป ณ ที่ไหน

        [๔๙๕] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นักปราชญ์ผู้ใดสมบูรณ์ด้วยธิติ มีปรกติเพ่ง พินิจ ยินดีแล้วในฌานทุกเมื่อ พากเพียรอยู่ตลอดวันและคืน ไม่มีความอาลัยในชีวิต ชนะเสนา ของมัจจุราชแล้ว ไม่กลับมาสู่ภพใหม่ นักปราชญ์นั้นคือโคธิกกุลบุตร ได้ถอนตัณหา พร้อมด้วยราก ปรินิพพานแล้ว

พิณได้พลัดตกจากรักแร้ ของมาร ผู้มีความเศร้าโศก ในลำดับนั้น ยักษ์  นั้นมีความโทมนัส หายไปในที่นั้นนั่นเอง


29)
มารถามพระผู้มีพระภาคว่า ท่านถูกความโศกทับถมหรือ จึงได้มาอยู่ในป่า
(สัตตวัสสสูตรที่ ๔)


        [๔๙๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับที่ต้นอชปาลนิโครธ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ณ ตำบลอุรุ เวลา

    ก็สมัยนั้นแล มารผู้มีบาป ติดตามพระผู้มีพระภาค คอยมุ่งหาช่องโอกาส สิ้น ๗ ปี ก็ยังไม่ได้ช่อง

        [๔๙๗] ภายหลัง มารผู้มีบาป จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า ท่านถูกความโศกทับถมหรือ จึงได้มา ซบเซา อยู่ในป่าอย่างนี้ ท่านเสื่อมจากทรัพย์ เครื่องปลื้มใจแล้วหรือ หรือว่ากำลัง ปรารถนาอยู่ ท่านได้ทำความชั่วอะไรๆ ไว้ในบ้านหรือ เหตุไรท่าน จึงไม่ทำมิตรภาพ กับชนทั้งปวง เล่า หรือว่า ท่านทำมิตรภาพกับใครๆ ไม่สำเร็จ

        [๔๙๘] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรมาร ผู้เป็นเผ่าของบุคคลผู้ประมาท แล้ว เราขุดรากของความเศร้าโศก ทั้งหมดแล้ว ไม่มีความชั่ว ไม่เศร้าโศก เพ่งอยู่ เราชนะความติดแน่นกล่าว คือความโลภในภพทั้งหมด เป็นผู้ไม่มีอาสวะ เพ่งอยู่

        [๔๙๙] มาร ทูลว่าถ้าใจของท่าน ยังข้องอยู่ในสิ่งที่ชนทั้งหลาย กล่าวว่า สิ่งนี้เป็นของเราแลว่า สิ่งนี้เป็นเราแล้ว สมณะ ท่านจักไม่พ้นเราไปได ฯ

        [๕๐๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่าสิ่งที่ชนทั้งหลาย กล่าวว่าเป็นของเรานั้น ย่อมไม่เป็นของเรา และสิ่งที่ชนทั้งหลายกล่าวว่า เป็นเรา ก็ไม่เป็นเราเหมือนกัน แนะ มารผู้มีบาป ท่านจงทราบอย่างนี้เถิด แม้ท่านก็จักไม่เห็นทางของเรา

        [๕๐๑] มาร ทูลว่าถ้าท่านรู้จักทางอันปลอดภัย เป็นที่ไปสู่อมตมหานิพพาน ก็จงหลีกไปแต่คนเดียวเถิด จะพร่ำสอนคนอื่นทำไมเล่า

        [๕๐๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่าชนเหล่าใดมุ่งไปสู่ฝั่ง ย่อมถึงพระนิพพาน อันมิใช่โอกาสของมาร เราถูกชนเหล่านั้นถามแล้ว จักบอกว่า สิ่งใดเป็นความจริง สิ่งนั้นหาอุปธิกิเลสมิได้

        [๕๐๓] มาร ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหมือนอย่างว่ามีสระโบกขรณี ในที่ ไม่ไกล แห่งบ้านหรือนิคม ในสระนั้นมีปูอยู่ ครั้งนั้นพวกเด็กชาย หรือพวก เด็กหญิง
เป็นอันมาก ออกจากบ้าน หรือนิคมนั้นแล้ว เข้าไปถึงที่สระโบกขรณีนั่นตั้งอยู่

        ครั้นแล้ว จึงจับปูนั้นขึ้น จากน้ำให้อยู่บนบก พระเจ้าข้า ก็ปูนั้นยังก้ามทุกๆ ก้ามให้ยื่นออก พวกเด็กชาย หรือ เด็กหญิงเหล่านั้น พึงริดพึงหักพึงทำลายก้ามนั้น เสียทุกๆ ก้ามด้วยไม้ หรือก้อนหิน พระเจ้าข้า ก็เมื่อเป็นอย่างนั้น ปูนั้นมีก้ามถูกริด ถูกหัก ถูกทำลายเสียหมดแล้ว ย่อมไม่อาจก้าวลงไป สู่สระโบกขรณีนั้น อีกเหมือนแต่ก่อน ฉันใด

        อารมณ์แม้ทุกชนิด อันเป็นวิสัยของมาร อันให้สัตว์ เสพผิด ทำให้สัตว์ดิ้นรน อารมณ์นั้น ทั้งหมด อันพระผู้มีพระภาค ตัดรอน หักรานย่ำยีเสียหมดแล้ว บัดนี้ ข้าพระองค์ ผู้คอยหาโอกาส ย่อมไม่อาจเข้าไปใกล้ พระผู้มีพระภาคได้อีก ฉันนั้น

        [๕๐๔] ครั้นแล้ว มารผู้มีบาป ได้ภาษิตคาถา อันเป็นที่ตั้งแห่งความ เบื่อหน่าย เหล่านี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า ฝูงกาเห็นก้อนหินมีสีดุจมันข้น จึงบินเข้าไปใกล้ ด้วยเข้าใจว่า เราทั้งหลายพึงประสบอาหารในที่นี้เป็นแน่ ความยินดี พึงมีโดยแท้

        เมื่อพยายามอยู่ไม่ได้อาหารสมประสงค์ในที่นั้น จึงบินหลีกไป ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ก็เหมือนกามาพบศิลา ฉะนั้นขอหลีกไป

       ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาป ครั้นกล่าวคาถา อันเป็นที่ตั้งแห่งความเบื่อหน่าย เหล่านี้ใน สำนัก พระผู้มีพระภาคแล้ว จึงหลีกจากที่นั้น ไปนั่งขัดสมาธิที่พื้นดิน ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค เป็นผู้นิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมด ปฏิภาณ เอาไม้ขีดแผ่นดินอยู่



30)
มารแกล้งอาฬวิกาภิกษุณีให้เกิดความกลัว ภิกษุณีจึง กล่าวว่า ในโลกนี้ ไม่มีทางออกไปจากทุกข์ได้ 
อาฬวิกาสูตรที่ ๑         


        [๕๒๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี

        ครั้งนั้น เวลาเช้า อาฬวิกาภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไป  บิณฑบาต ยังพระนครสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตไปในพระนครสาวัตถีแล้ว เวลา ปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาต มีความต้องการด้วยวิเวก จึงเข้าไปในป่าอันธวัน

        [๕๒๓] ลำดับนั้น มารผู้มีบาป ใคร่จะให้อาฬวิกาภิกษุณี บังเกิดความกลัว ความ หวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากวิเวก จึงเข้าไปหา อาฬวิกา ภิกษุณีถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะอาฬวิกาภิกษุณี ด้วยคาถาว่าในโลก ไม่มีทางออกไป จากทุกข์ได้ ท่านจักทำอะไรด้วย วิเวก จงเสวยความยินดีในกามเถิด อย่าได้มี ความเดือดร้อนในภายหลังเลย

        [๕๒๔] ลำดับนั้น อาฬวิกาภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่ใครหนอกล่าว คาถา จะเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์

    ทันใดนั้น อาฬวิกาภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่คือ มารผู้มีบาป ใคร่จะให้เรา
บังเกิด ความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อน จากวิเวก จึงกล่าวคาถา

    ครั้นอาฬวิกาภิกษุณีทราบว่า นี่คือ มารผู้มีบาป แล้ว จึงได้กล่าวกะ มารผู้มีบาป ด้วยคาถา ว่าในโลกนี้ มีทางออกไปจากทุกข์ได้ เรารู้ชัดดีแล้วด้วยปัญญา  ดูกรมารผู้มีบาป ซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์ของผู้ประมาท ท่านไม่รู้จักทางนั้น กามทั้งหลาย เปรียบด้วยหอกและหลาว กองกามทั้งหลายนั้นประหนึ่งว่าผีร้าย เราไม่ใยดีถึงความ ยินดีในกาม ที่ท่านกล่าวถึงนั้น

     ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจ ว่า อาฬวิกาภิกษุณีรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้ อันตรธานไป ในที่นั้นเอง

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๑๕๘






พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์