พระไตรปิฎกมาสู่ประเทศไทย
การจะพิจารณาว่า พระไตรปิฎกภาษาบาลีมาสู่ประเทศไทยเมื่อไร จำเป็นต้องศึกษาว่า พระพุทธศาสนามาสู่ประเทศไทยเมื่อไร
กล่าวตามประวัติที่พอสืบค้นได้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรง ราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือเรื่อง ตำนานพระพุทธเจดีย์ พอสรุปได้ว่า พระพุทธศาสนามาสู่ประเทศไทย รวม ๔ ครั้งด้วยกัน คือ
ครั้งแรก
ก่อน พ.ศ. ๕๐๐ พระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมมาสู่ประเทศไทยที่นครปฐมตามหลักฐาน ที่ว่า พระเถระชื่อ พระโสณะ และพระอุตตระ เป็นหัวหน้าคณะ นำพระพุทธศาสนา มาสู่สุวรรณภูมิ เป็นสมณทูตจากประเทศอินเดีย
ครั้งที่สอง
ประมาณ พ.ศ. ๑๓๐๐ พระพุทธศาสนา แบบมหายาน มาสู่ประเทศไทย ทางภายใต้ จาก อาณาจักรศรีวิชัย
ครั้งที่สาม
ประมาณ พ.ศ. ๑๖๐๐ พระพุทธศาสนาแพร่เข้ามาสู่ภาคเหนือ ของประเทศไทย จากประเทศพม่า
ครั้งที่สี่
ประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐ พระพุทธศาสนามาสู่ประเทศไทยทางนครศรีธรรมราช จาก ประเทศศรีลังกา
จากหลักฐานดังกล่าวข้างต้น ทำให้สันนิษฐานว่า ในครั้งแรก และครั้งที่สอง ที่พระพุทธศาสนา มาสู่ประเทศไทยนั้น ยังไม่มีพระไตรปิฎกมาด้วย เพราะในครั้งแรก ยังไม่มีการจารึกพระไตรปิฎก ส่วนครั้งที่สองเป็นพระพุทธศาสนาแบบ มหายาน พระพุทธศาสนาแบบที่ไทยนับถือ เป็นพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม ที่เรียกว่า เถรวาท
พระไตรปิฎกภาษาบาลี ที่มาสู่ประเทศไทย น่าจะมาในสมัยที่พระพุทธศาสนา แพร่ มาจากประเทศพม่า สู่ภาคเหนือ ประมาณ พ.ศ. ๑๖๐๐ กับในสมัยที่แพร่มาจาก ประเทศศรีลังกา สู่นครศรีธรรมราช ประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐ แล้วทางกรุงสุโขทัยรับมา
เมื่อเป็นเช่นนี้พระไตรปิฎกที่ไทยเรารับมา และถ่ายทอดเป็นอักษรที่ใช้กันอยู่ใน ท้องถิ่นนั้นๆ จึงน่าจะเป็นอักษรลานนา หรือล้านนา ในกรณีที่รับมาจากประเทศพม่า ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๖๐๐ และน่าจะเป็นอักษรขอม ในกรณีที่รับมาจากลังกา ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๐๐
สภาพการปกครองประเทศในสมัยนั้น เชียงใหม่กับสุโขทัยมิได้ปกครองรวมกัน ต่างมี เจ้าผู้ครองนครเป็นอิสระของตนในแต่ละเมือง โดยเฉพาะในเมืองเชียงใหม่ พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองสูงสุด ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๐๐๐ เป็นต้นมา มีการทำ สังคายนา ชำระพระไตรปิฎก เมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๐ ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ ของพระเจ้า ติโลกราช
หลังจากนั้น ก็มีนักปราชญ์ภาษาบาลีผู้ยิ่งใหญ่ คือ พระสิริมังคลาจารย์* แต่งตำรา ภาษาบาลี อธิบายพระพุทธศาสนาไว้หลายเล่ม เช่น คำอธิบายมงคลสูตร ที่เรียกว่า "มังคลัตถทีปนี" เป็นต้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังการทำสังคายนาครั้งนั้น ประมาณ ๒๐-๔๐ ปี ส่วนในกรุงสุโขทัย ตั้งแต่ก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหง มาถึงสมัย สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท
* ภิกษุชาวเชียงใหม่ มีชีวิตอยู่ราว พ.ศ. 2020–2100 มีผลงานวรรณกรรม 4 เรื่อง 1.เวสสันตรทีปนี 2.สังขยาปกาสกฎีกา 3.มังคลัตถปนี 4.จักกวาฬทีปนี คลิก
พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง มีการแต่งหนังสือเรื่อง ไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง * อ้างอิงเรื่องราวจากพระไตรปิฎก และคำอธิบายพระไตรปิฎก มีการให้รายชื่อหนังสือ อ้างอิงไว้หลายสิบเรื่อง อันแสดงให้เห็นความคิดนำสมัยของ พระมหาธรรมราชาลิไท ในการแต่งหนังสือ แล้วแสดงรายชื่อหนังสือที่ได้ค้นคว้า อ้างอิงไว้ เป็นเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นเมื่อ ๖๐๐-๘๐๐ ปีมาแล้ว
* พระราชนิพนธ์ของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (สมัยสุโขทัย) พ.ศ.1864 คลิก
ความเป็นมาของพระไตรปิฎก
แต่เดิมมาไม่มีการจัดหมวดหมู่คำสอนของพระพุทธเจ้า เพียงแต่พระสงฆ์ช่วยกัน ท่องจำคำสั่งสอน และสาระสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากมีจำนวนมาก จึงต้องแบ่งกลุ่มท่องจำเป็นเรื่องๆ ไป
ต่อมาประมาณ ๒๐๐ ปี หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระสงฆ์จึงประชุมปรึกษากัน จัดคำสอนออกเป็นสามหมวดหมู่ เรียกว่า พระไตรปิฎก แต่ยังใช้วิธีท่องจำเช่นเดิม
ภาษาพระไตรปิฎก
เมื่อชาวอินเดีย และชาวลังการู้จักการเขียนตัวหนังสือแทนการท่องจำ จึงมีการเขียน พระไตรปิฎกเป็นตัวหนังสือ และภาษาที่ใช้เขียนเป็นตัวหนังสือนั้น ใช้ภาษามคธ ซึ่งเป็นภาษาของชาวอินเดีย ในแคว้นมคธ แคว้นนี้เป็นแคว้นใหญ่ และสำคัญมาก ในสมัยพุทธกาล และสมัยต่อมา
การศึกษาพระพุทธศาสนาแพร่หลายไปหลายประเทศ มีผู้เรียกภาษามคธว่า ภาษา บาลี ซึ่งหมายถึง ภาษาของพระไตรปิฎก
ความจำเป็นที่ต้องศึกษาบาลี
เวลาล่วงมาหลายร้อยปี ไม่มีผู้พูดภาษามคธได้ แต่เนื่องจากได้จารึกพระไตรปิฎกเป็น ภาษามคธ หรือที่เรียกกันภายหลังว่า ภาษาบาลี ทำให้ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา จำเป็น จะต้องเรียนภาษาบาลี ทั้งอ่านและเขียน
ประเทศต่างๆ ที่พลเมืองส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา เช่น ประเทศศรีลังกา ประเทศพม่า และประเทศไทย นักศึกษา และพระสงฆ์ในประเทศเหล่านั้น จึงจำเป็น ต้องเรียนรู้ภาษาบาลี
แม้แต่ประเทศตะวันตก ซึ่งมีนักศึกษาพระพุทธศาสนา เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ และอีกหลายประเทศในยุโรป นักศึกษาเหล่านั้นต้องศึกษาการอ่าน และเขียนภาษาบาลี ดังนั้นภาษาบาลี จึงเป็นภาษากลางของผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา
พระไตรปิฎกภาษาไทย
จากประวัติพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ปรากฏว่า มีผู้แปลพระไตรปิฎกบางส่วน จากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ในกาลต่อมา การแปลพระไตรปิฎกก็คงทำต่อเนื่องกันในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และ กรุงเทพมหานคร เป็นราชธานี แต่ยังไม่ครบถ้วนทุกฉบับของพระไตรปิฎก
พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมีคำอธิบาย
ถึงแม้ว่าเมื่อประเทศไทยได้เฉลิมฉลองวาระ ที่พระพุทธศาสนาครบ ๒,๕๐๐ ปี ที่กรุงเทพมหานคร ได้มีการแปลและพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยด้วย
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ ในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ มหากุฎราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แปลพระไตรปิฎก และคำอธิบายภาษาบาลีเป็นภาษาไทยรวม ๙๑ เล่ม
อนึ่ง เพื่อให้คำอธิบายพระไตรปิฎก ที่เรียกว่า อรรถกถาภาษาบาลี ซึ่งยังไม่สมบูรณ์ ครบชุด มหาเถรสมาคมจึงได้ดำเนินการตรวจชำระ และจัดพิมพ์ให้เสร็จ เพื่อเฉลิม พระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕
นับว่าในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นระยะกาล ที่พระไตรปิฎกภาษาบาลี และที่แปลเป็นไทย รวมทั้งคำอธิบายพระไตรปิฎก ที่เรียกว่า อรรถกถา ทั้งภาษาบาลี และภาษาไทย ได้จัดพิมพ์ขึ้นโดยสมบูรณ์
|